เที่ยวในประเทศ

TEATA BCG Mini Caravan สบ๊าย สบาย สไตล์ราย็องฮิ

เมื่อพูดถึง “การท่องเที่ยว” และ “การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” หลายคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่แท้จริงแล้วทั้ง 2 เรื่องนี้อยู่ใกล้ตัวเรามาก หากเราท่องเที่ยวเดินทางอย่างห่วงใยใส่ใจสิ่งแวดล้อม ก็จะได้รับทั้งความสนุกและสุขใจอย่างครบรส ยิ่งปัจจุบันแนวคิด Low Carbon Tourism (การท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ) และแนวคิด BCG หรือโมเดลเศรษฐกิจสีเขียว ที่เน้นการหมุนเวียนนำทรัพยากรมาต่อยอดใช้อย่างคุ้มค่า ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น จนกลายเป็นวาระแห่งชาติ เราจึงควรเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกันสร้างสรรค์กิจกรรมดีๆ
สมาคมไทยท่องเที่ยวเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) จับมือร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ สมาคมการค้าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอีสาน จัดมินิคาราวาน ขับรถยนต์ไฟฟ้า EV เที่ยวภาคตะวันออก “BCG Mini Caravan สบ๊าย สบาย สไตล์ราย็องฮิ” เดินทางจากกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ-ระยอง ระหว่างวันที่ 22-24 กันยายน 2556 นำสมาชิกร่วมเดินทางสัมผัสเรียนรู้แหล่งท่องเที่ยวสีเขียว และทำกิจกรรมรักษ์โลก โดยปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral Tourism) มีการวัดผล และซื้อคาร์บอนเครดิตชดเชยให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม
คุณวสุมน เนตรกิจเจริญ (เสื้อสีดำยืนกลางภาพ) นายกสมาคม TEATA และ คุณศิรินุช สุทธิรัตน์ ผู้อำนวยการกองตลาดภาคตะวันออก ททท. (เสื้อสีเขียวยืนกลางภาพ) และพันธมิตรเพื่อนพ้องน้องพี่จากภาคอีสาน ร่วมกันปล่อยตัวคาราวานรถยนต์ไฟฟ้า EV ที่หน้าตึกสำนักงานใหญ่ ททท. ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ คุณศิรินุช สุทธิรัตน์ ผู้อำนวยการกองตลาดภาคตะวันออก ททท.โบกธงปล่อยตัวคาราวานรถยนต์ไฟฟ้า EV เที่ยวแบบ Low Carbon Tourism รถยนต์ EV หรือ Electronic Vehicle ที่ใช้ในครั้งนี้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า 100 เปอร์เซนต์ ไม่ปล่อยควันพิษออกสู่ชั้นบรรยากาศเลยแม้แต่นิดเดียว (Zero Emission) ตลอดการเดินทางจึงต้องมีการวางแผนในด้านเส้นทาง (Routing) ระยะทางที่จะไปในแต่ละวัน (Distance) และจุดช๊าตไฟฟ้าเพิ่ม (Electric Chatrging Station) นับเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม (Responsible Tourism)สถานที่แรกในการท่องเที่ยวแบบ Low Carbon ในทริปนี้ คือ “สถานตากอากาศบางปู” จังหวัดสมุทรปราการ  ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนชายทะเลแห่งแรกๆ ของไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2480  นับถึงปัจจุบันก็เกือบ 80 ปี แล้ว จุดเด่นของบางปูคือเป็นแนวชายฝั่งที่มีป่าชายเลนทอดยาว และจะมีฝูงนกนางนวลนับหมื่นตัวบินอพยพมาหากินในช่วงฤดูหนาว อากาศปลอดโปร่งสดชื่น และโรแมนติกมากๆบริเวณทางเข้าสะพานสุขตา  มีรถตุ๊กตุ๊กไว้บริการด้วยเผื่อใครเดินไม่ไหวสะพานสุขตา และศาลาสุขใจ คือจุดท่องเที่ยวหลักสำหรับผู้มาเยือนบางปู โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวจะคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวและนกนางนวลอพยพศาลาสุขใจ ตั้งอยู่ที่ปลายสะพานสุขตา เป็นร้านอาหารวิวดี ที่มีลานเต้นลีลาศย้อนยุคในวันเสาร์อาทิตย์ด้วยในช่วงฤดูหนาวบางปูจะมีทั้ง นกนางนวลธรรมดา (Brown-headed Gull) นกนางนวลขอบปีขาว (Common Black-headed Gull) นกนางนวลแกลบธรรมดา (Common Tern) นกนางนวลแกลบเคราขาว (Whiskered  Tern) นกนางนวลปากเรียว (Slender-billed Gull) และ นกนางนวลหลังดำพันธุ์รัสเซีย (Heuglin’s Gull) บินอพยพจากตอนเหนือที่เป็นเขตหนาวของโลก มาหากินอยู่ร่วมกันนับหมื่นตัว โดยนกบางกลุ่มบินมาไกลกว่า 3,000 ไมล์ เลยทีเดียวความน่ารักของนกนางนวลที่บางปู  ซึ่งเราสามารถสัมผัสได้อย่างใกล้ชิด
รถตุ๊กตุ๊กบริการฟรี  ที่สะพานสุขตาสะพานสุขตา ศาลาสุขใจ ไฮไลท์ของการท่องเที่ยวแบบสบายๆ ที่บางปูพอชมวิวสวยๆ และทักทายนกนางนวลกันเต็มอิ่มแล้ว ก็ได้เวลาเข้าไปหาความรู้ด้านธรรมชาติและระบบนิเวศชายฝั่งกันที่ “ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบกบางปู” (Bangpu Nature Education Center)สมาชิก BCG Mini Caravan รับฟังข้อมูลเกี่ยวกับความสำคัญของป่าชายเลนระบบนิเวศชายฝั่งบางปู และเล่นเกมส์สนุกๆ ที่ได้ความรู้ เช่น นกชนิดใดมีมากที่สุดในบางปู? ต้นไม้ชนิดใดมีมากที่สุดในป่าชายเลนบางปู? ปลาตีนมีกี่ชนิด? ปูอะไรมีนิกเนมว่าปูผู้แทน? นับว่าทั้งสนุกและได้ความรู้ดีๆ ไปพร้อมๆ กันเกมส์สร้างความสามัคคี  และได้ความรู้เรื่องระบบนิเวศป่าชายเลนบางปูในเวลาเดียวกันหลังจากนั้นก็ได้เวลาออกมาเดินศึกษาธรรมชาติชองจริง ในเส้นทางเดินที่ลัดเลาะเข้าไปในป่าชายเลนของบางปู (Mangrove Forest Trail) โดยในช่วงแรกจะเห็นเลยว่ามีขยะทะเลจำนวนมากลอยเข้ามาติดอยู่ เพราะรากของต้นโกงกางทำหน้าที่ดักจับขยะเหล่านี้ไว้ มิให้ลอยออกสู่ทะเลเปิด ป้องกันไม่ให้สัตว์ทะเลกินขยะเข้าไปจนเกิดอันตรายได้
ต้นโกงกางของบางปู มีทั้งโกงกางใบใหญ่ และโกงกางใบเล็ก แต่ทั้งสองชนิดมีระบบรากคำ้ยันเหมือนกัน ให้ลำต้นสามารถยืนอยู่บนดินเลนนิ่มๆ ได้ และทนต่อวงจรน้ำขึ้นน้ำลงประจำวัน นอกจากนี้ยังเป็นที่หลบภัยอาศัยหากินของสัตว์นับไม่ถ้วน ทั้งกุ้งหอยปูปลา โดยเฉพาะเมื่อน้ำลง เราจะเห็นทั้งปลาตีน ปูก้ามดาบ กุ้งดีดขัน และหอยต่างๆ มากมายปูก้ามดาบ (Fiddler Crab) ตัวผู้  ขึ้นจากรูมาเดินหากินเศษอินทรีย์วัตถุบนหน้าดินเลนเวลาน้ำลด ปูก้ามดาบตัวผู้จะมีก้ามข้างหนึ่งใหญ่มากเพื่อใช้แสดงอำนาจประกาศอาณาเขต ใช้ดึงดูดความสนใจตัวเมีย และใช้ต่อสู้กันเมื่อต้องแย่งตัวเมียในฤดูผสมพันธุ์โพธิ์ทะเล (Indian Tulip Tree หรือ Pacific Rosewood) เป็นพืชเด่นชนิดหนึ่งในป่าชายเลน ใบคล้ายใบโพธิ์ เด่นตรงดอกมีสองสีในต้นเดียว คือดอกอ่อนสีเหลืองสดใส และดอกแก่สีแดงเข้ม ชาวบ้านนำไปใช้ประโยชน์หลายอย่าง อาทิ เปลือกใช้ทำเชือก และใบใช้ทำยารักษาแผลได้ เป็นต้นในเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติบางปู เราจะได้ใช้ประสาทสัมผัสทุกส่วนในการเรียนรู้ธรรมชาติ ทั้งตา หู จมูก ลิ้น และผิวกายสัมผัส อย่างเช่น เราจะได้ชิม ใบชะครามสด ซึ่งใบอ่อนสีเขียวสามารถนำมายำกินได้ให้รสเค็มอ่อนๆ แต่ถ้าใบแก่ที่เป็นสีแดงอมม่วงจะเค็มจัดเกินไป ไม่นิยมกินกัน นอกจากนี้พืชอีกหลายชนิดในป่าชายเลนยังมีใบที่ให้รสเค็ม เพราะหลังใบมีต่อมขับเกลือออกมาเดินมาจนถึง “เรือนสกุณา” เป็นหอซุ่มดูนกที่สร้างกลมกลืนกับธรรมชาติ ข้างในมีกล้องส่องนกแบบเลนส์เดี่ยว (Telescpoe) ไว้ให้ด้วยป่าชายเลนรอบเรือนสกุณามี ปลาตีน (Blue-spotted Mudskipper) หรือปลาจุมพรวด  ตัวใหญ่ยาวกว่า 20 เซนติเมตร ออกมาอวดโฉม ลายบนลำตัวของมันสามารถบ่งบอกอารมณ์ได้ เพราะถ้าเห็นลายจุดสีบนตัวชัดแสดงว่ามันอารมณ์ดี แต่ถ้าลายจุดสีจางลงแสดงว่ามันกำลังอารมณ์ไม่ดีแล้วล่ะจากเรือนสกุณาสามารถมองเห็นนกน้ำหลายชนิดลงหากินในป่าชายเลน อย่างในภาพนี้คือ ฝูงนกกาบบัว (Painted Stork) ซุ่มส่องดูนกน้ำจากระยะไกลด้วยกล้อง Telescope ที่มีกำลังขยายสูง เป็นกิจกรรม Eco-Tourism ที่ไม่รบกวนธรรมชาตินอกจากต้นโกงกางใบใหญ่และโกงกางใบเล็กแล้ว ป่าชายเลนบางปูยังมี ต้นแสมทะเล (Avicennia marina) เป็นพืชเด่นอีกด้วย ในภาพนี้จะเห็นได้ชัดเจนเลยว่าบนพื้นดินเลนรอบต้นแสมจะมีรากอากาศเป็นแท่งแหลมๆ นับไม่ถ้วนผุดขึ้นมา เพื่อให้ต้นไม้ใช้หายใจ ดึงออกซิเจนเข้าสู่กระบวนการสังเคราะห์แสง พวกมันจึงทนน้ำท่วมและน้ำขึ้นน้ำลงทุกวันได้อย่างน่าอัศจรรย์ได้เวลาทำกิจกรรมรักษ์โลก ร่วมกันปลูกต้นลำพูทะเลเสริมสร้างแนวป่าชายเลนบางปูให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น แม้จะต้องเดินอย่างยากลำบากในดินเลน แต่สมาชิกของเราก็สนุกและมีความสุขถ้วนหน้าเหล่าสมาชิก BCG Mini Caravan สบ๊าย สบาย สไตล์ราย็องฮิ  ร่วมกันปลูกต้นลำพูด้วยความชื่นมื่นสุขใจ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมรักษ์โลก ปลูกต้นลำพูเสริมสร้างระบบนิเวศป่าชายเลนบางปูให้สมบูรณ์แข็งแรงยิ่งขึ้น เพราะป่าชายเลนทำหน้าที่เป็นเสมือนกำแพงธรรมชาติสีเขียวป้องกันคลื่นลมแรง ดักขยะทะเล ช่วยดักตะกอนอินทรีย์ให้กลายเป็นแผ่นดินใหม่งอกออกไปในทะเลได้ในอนาคต แถมยังเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ เพิ่มความอุดมให้ห่วงโซ่อาหารของอ่าว ก ไก่ (อ่าวไทยตอนบน) ได้เป็นอย่างดี

ที่สำคัญคือ ป่าชายเลนสามารถดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้มากกว่าป่าบกถึง 3 เท่าคุณวสุมน เนตรกิจเจริญ นายกสมาคม TEATA และ คุณศิรินุช สุทธิรัตน์ ผู้อำนวยการกองตลาดภาคตะวันออก ททท. ร่วมกันปลูกต้นลำพูในป่าชายเลนบางปูผลงานน่าภาคภูมิใจของเหล่าสมาชิก BCG Mini Caravan สบ๊าย สบาย สไตล์ราย็องฮิหลังจากปลูกต้นลำพูเสร็จก็เที่ยงพอดี เราจึงทานอาหารเที่ยงกันที่บางปู โดยมีการจัดเป็นอาหารจานเดียวที่ประหยัดและลดการใช้ทรัพยากรต่างๆ ลงได้มาก เพื่อให้เป็นการท่องเที่ยวที่สมดุล และปลดปล่อยคาร์บอนน้อยที่สุด ตามหลักบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism) 3ล  คือ ลดทรัพยากร (ต้นน้ำ) ลดพลังงาน (กลางน้ำ) และลดขยะ (ปลายน้ำ) ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งแนวคิดนี้ทั้งตัวนักท่องเที่ยว (Demand Side) และผู้ประกอบการ (Supply Side) สามารถปฏิบัติได้จริงเย็นวันแรกเราเดินทางมาถึงจังหวัดระยองก่อนพระอาทิตย์ตก แวะชมชุมชนประมงปากน้ำระยอง และกินอาหารมื้อเย็นกันที่ ร้านแหลมเจริญซีฟู้ด มีเมนูขึ้นชื่อคือ “ปลากะพงทอดราดน้ำปลา” ต้นตำรับ ที่ใช้น้ำปลาแท้อย่างดีของระยอง ราดบนปลากะพงทอดกรอบนอกนุ่มใน กินกับข้าวสวยร้อนๆ นั่งรับลมทะเลไปด้วย นับเป็นอาหารท้องถิ่นที่ไม่ต้องขนส่งทางไกล เข้าหลัก Low Carbon Menu อีกต่างหากปลากะพงทอดราดน้ำปลา ร้านแหลมเจริญซีฟู้ดวันที่สองของทริป ขบวนรถยนต์ไฟฟ้า EV ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ เคลื่อนขบวนออกจากโรงแรม Kameo Grand ระยอง มุ่งหน้าสู่จุดหมายต่อไปจุดหมายแรกของวันที่สอง คือ “ศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนพระเจดีย์กลางน้ำ” ที่เดินทางได้ง่ายมาก เพราะอยู่ในเขตเมืองระยองนั่นเอง ในอดีตจุดนี้เป็นเกาะในแม่น้ำระยอง เข้าถึงได้ด้วยเรือเท่านั้น ทว่าภายหลังมีการสร้างสะพานเชื่อมเข้าไป ทำให้ขับรถยนต์ไปถึงได้เลย มีการพัฒนาให้เป็นสวนสาธารณะเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ (Recreation Garden) และมีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนอย่างดี (Mangrove Trail) พร้อมอาคารนิทรรศการให้ความรู้ (Learning Center) ระบบนิเวศและความสำคัญของป่าชายเลนในแม่น้ำระยอง เรียกว่ามาจุดเดียวครบเลย
คุณวัชรพล สารสอน ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานระยอง ให้การต้อนรับคณะอย่างอบอุ่นด้านข้างอาคารนิทรรศการมีป่าชายเลนผืนใหญ่ และพื้นที่สำหรับกิจกรรมปล่อยปูคืนสู่ธรรมชาติปูดำ หรือ ปูทะเล (Serrated Mud Crab) ตัวเขื่อง ที่ทางศูนย์ฯ รับซื้อมาจากชาวบ้าน เพื่อนำมาปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในวันนี้ เพื่อนพ้องน้องพี่ร่วมกันปล่อยปูดำคืนสู่ป่าชายเลนพระเจดีย์กลางน้ำระยอง ตอกย้ำแนวคิดการท่องเที่ยวแบบ Low Carbon Tourism และ BCG Modelท่านนายกสมาคม TEATA, ท่าน ผอ. ททท. สำนักงานระยอง และท่าน ผอ. กองตลาดภาคตะวันออก ททท. ร่วมกันปล่อยปูดำคืนสู่ป่าชายเลนพระเจดีย์กลางน้ำระยองในบริเวณเดียวกันนั้นเองเมื่อเดินมานิดเดียวก็จะพบกับ แม่น้ำระยอง และสะพานงาช้าง ที่ต่อเนื่องไปยังเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติยาวที่สุดเส้นหนึ่งในเมืองไทย คือเมื่อสร้างเสร็จจะยาวกว่า 7 กิโลเมตร สามารถเดินต่อเนื่องเข้าไปชมระบบนิเวศป่าชายเลน มีหอดูนก เส้นทางเดินริมน้ำ และป้ายสื่อความหมายธรรมชาติต่างๆ ให้ความรู้ในแนว Eco-Tourism และ Green-Tourism เพื่อให้ผู้คนเห็นความสำคัญของป่าชายเลน คอนโดปูแบบดั้งเดิมของชาวระยอง คือการนำเศษไม้ต่างๆ มากองสุมกันไว้แบบง่ายๆ เพื่อให้ปูดำเข้ามาหลบภัยอาศัยหากิน ออกลูกออกหลานให้จับกินจับขายได้อย่างไม่หมดสิ้น นับเป็นการใช้สอยธรรมชาติอย่างเข้าใจ ควบคู่กับการอนุรักษ์ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ลุ่มลึกและน่าชื่นชมเส้นทางเดินขึ้นสู่สะพานงาช้าง จัดทำไว้อย่างดี พื้นทางเดินเรียบ และมีราวกันตกสองข้างด้านบนของสะพานงาช้าง เป็นจุดชมวิวมุมสูงที่ห้ามพลาดจากด้านบนของสะพานงาช้าง  มองลงมาเห็นเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนเลียบแม่น้ำระยองสถานที่สำคัญที่สุดจุดหนึ่งของบริเวณนี้คือ “พระเจดีย์กลางน้ำ”  ซึ่งมีรูปลักษณ์คล้ายคู่แฝดของพระสมุทรเจดีย์เมืองสมุทรปราการ สร้างขึ้นมานานหลายชั่วอายุคนแล้ว เพื่อใช้เป็น Landmark ให้คนเรือได้สักการระ และสังเกตว่าแล่นเรือมาถึงเมืองระยองแล้ว เดิมทีพระเจดีย์องค์นี้ตั้งอยู่บนเกาะกลางแม่น้ำระยอง เข้าถึงได้เฉพาะทางเรือเท่านั้น แต่ภายหลังได้มีการสร้างสะพานเชื่อมเข้ามาทำให้ขับรถยนต์เข้าถึงได้ ปัจจุบันด้านหน้าพระเจดีย์กลางน้ำ มีท่าเรือเล็กๆ ให้นักท่องเที่ยวได้เหมาเรือท้องแบนล่องเที่ยวแม่น้ำระยอง ค่าบริการลำละ 300 บาท/1 ชั่วโมงวันนี้เรามีโอกาสชิมขนมพื้นบ้านหายากของชาวระยองคือ “ขนมนิ่มนวล”  ให้รสสัมผัสนิ่มนวลสมชื่อ ชิ้นก็พอดีคำ ทำจากข้าวเหนียวคั่วจนสุก นำมาโม่เป็นแป้ง นวดกับน้ำเชื่อมที่เคี่ยวจนเข้มข้นจนแป้งนิ่ม สอดไส้ด้วยมะพร้าว เพิ่มความหอมละมุนด้วยกลิ่นดอกมะลิสด ลักษณะคล้ายขนมถั่วแปบ กินคู่กับเครื่องดื่มเย็นๆ ใส่ในภาชนะพื้นบ้านเรียกว่า “ติหมา” ทำด้วยกาบหมาก หรือใบจาก นับเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ

ติหมา ภาชนะใส่น้ำแบบพื้นบ้านดั้งเดิมของชาวระยองเดินทางต่อไปถึงจุดหมายที่สองของวันนี้คือ “อุทยานการเรียนรู้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” วัดลุ่มมหาชัยชุมพล (พระอารามหลวง) หรือเรียกสั้นๆ ว่า “วัดลุ่ม”วัดลุ่มเคยเป็นที่ตั้งประทับแรมของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อครั้งเป็นพระยาตาก  ทรงนำทหารกล้า 500 คน ตีฝ่าวงล้อมพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยา มุ่งสู่หัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันออก โดยผ่านเส้นทางจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี จนมาถึงเมืองระยอง ตั้งค่ายชุมพลบริเวณวัดลุ่ม ซึ่งบริเวณนี้มี “ต้นสะตือใหญ่ อายุ 300 ปี” ที่ใช้ผูกช้างศึกประจำพระองค์ ชื่อ “พังคีรีบัญชร” พระองค์ยังได้ประทับนั่งใต้ต้นสะตือนี้ เรียกประชุมคณะกรรมการเมืองและราษฎรชาวระยอง ประกาศเจตจำนงในการกอบกู้เอกราชคืนจากพม่า ต้นสะดือวัดลุ่มจึงเป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญของประวัติศาสตร์ชาติไทย และของเมืองระยองด้วยภายในวัดลุ่มมี “ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน” สร้างเป็นศาลาทรงจัตุรมุข ด้านในมีพระบรมรูปหล่อขนาดเท่าองค์จริง นั่งประทับและยืนถือดาบ จากศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินวัดลุ่ม เดินออกมาทางประตูหลังวัดก็ถึง “อุทยานการเรียนรู้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” หรือ TKF Park เป็นอาคารสองชั้นด้านในติดแอร์เย็นฉ่ำ“อุทยานการเรียนรู้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช”  เป็นอาคารจัดแสดงพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อครั้งทรงตั้งกองทัพที่จังหวัดระยอง เพื่อหมายกอบกู้เอกราชของชาติไทย หลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ให้พม่า (พ.ศ. 2310) ท่ีนี่เราจะได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระปรีชาสามารถของพระองค์ โดยมีห้องนิทรรศการ 6 โซน คือ โซน 1 โหมโรงเจ้าตากสิน, โซน 2 อวสานสิ้นอโยธยา, โซน 3 มุ่งบูรพาสรรหาไพร่พล, โซน 4 ประกาศตนองค์ราชันย์, โซน 5 สร้างเขตขันธ์กรุงธนบุรี และโซน 6 ถิ่นคนดีเมืองระยอง “อุทยานการเรียนรู้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช”  เปิดให้เข้าชมทุกวันอังคาร-วันอาทิตย์  วันละ 4 รอบ ตั้งแต่เวลา 09.00 -16:00 น. หยุดทุกวันจันทร์  เข้าชมได้ฟรี  ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ในการเข้าชมแต่ละรอบจะมีวิทยากรนำชม ให้ความรู้เกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชอย่างละเอียด รวมเวลาชมครบทุกห้องประมาณ 45 นาที ที่ไม่น่าเบื่อเลยแม่แต่น้อยรูปหล่อเท่าพระองค์จริง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชห้องฉายภาพยนตร์สั้นเหตุการณ์ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยา ชาวระยองได้ยินข่าวการมาถึงของพระยาตากผู้มากความสามารถ และหมายรวบรวมไพร่พลกลับไปกอบกู้กรุงศรีอยุธยาห้องฉายภาพยนตร์เหตุการณ์ที่ชาวระยองเข้าสวามิภักดิ์กับพระยาตาก และพระองค์สถาปนาตนเองขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ เพื่อกอบกู้เอกราชและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนสืบไป ขอบอกว่าห้องนี้มีพื้นที่นั่งสั่นได้และมีลมพ่นเข้าใส่ผู้ชม ทำให้เรารู้สึกฮึกเหิมเหมือนอยู่ในเหตุการณ์จริง อีกทั้งอาวุธจำลองที่จัดแสดงไว้ ก็เป็นการนำอาวุธจริงในสมัยนั้นมาจำลองด้วยแบบและขนาดเท่าของจริงด้วยห้องสุดท้ายจำลองท้องพระโรงสมัยกรุงธนบุรี ให้เราได้หมอบกราบเข้าเฝ้าพระองค์ท่าน บรรยากาศดูขรึมหลังสุดๆ ใกล้เที่ยงแล้วคณะ BCG Mini Carava สบ๊าย สบาย สไตล์ราย็องฮิ  ด้วยรถยนต์ไฟฟ้า EV เดินทางต่อไปที่ “วิสาหกิจชุมชนเกาะกก” ถนนกรอกยายชา ตำบนเนินพระ อำเภอเมืองระยอง เพื่อสัมผัสการท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT หรือ Community-based Tourism) ที่ประสบความสำเร็จในระดับประเทศ จนได้เป็นต้นแบบศึกษาเรียนรู้ดูงานในนาม “เกาะกก Model” เกาะกกวันนี้ชูประเด็นการท่องเที่ยว “สวน นา ป่า เล” เพราะสภาพภูมิศาสตร์ของชุมชนมีความหลากหลาย ทั้ง “สวนผลไม้” โดยเฉพาะสวนมะม่วงอกร่องปลูกบนพื้นทราย ผลผลิตออกในเดือนมีนาคม ถัดมาคือ “นาข้าวออร์แกนิก” ที่ไม่ใช้สารเคมี และคัดเลือกพันธุ์ข้าวพิเศษที่อุดมคุณค่าทางอาหารเพื่อผู้บริโภค ส่วนป่าก็คือ “ป่ากลางเมือง” ที่มีการอนุรักษ์ป่าชุมชนเต็มไปด้วยไม้ใหญ่และพืชสมุนไพรเพื่อการเรียนรู้ อีกทั้งสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนได้ และสุดท้าย “ทะเล” คือพื้นที่เกาะกกมีบางส่วนติดต่อกับทะเล ชายหาด ป่าชายเลน และชุมชนประมงพื้นบ้าน ที่ทำประมงในระยะไม่เกิน 3 กิโลเมตรจากชายฝั่ง เกิดการท่องเที่ยวเชื่อมโยงเติมเต็มความหลากหลายของ Tourism Eco System ตอบสนองการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ BCG ได้อย่างครบวงจรป่ากลางเมือง แหล่งท่องเที่ยวเชื่อมโยงของวิสาหกิจชุมชนเกาะกก ที่เป็นทั้งแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ไม้ท้องถิ่น และแหล่งปลูกพืชสมุนไพรนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนวิถีสวน นา ป่า เล ของชาวเกาะกก จึงนำเราสู่ร้านอาหารกลางทุ่งนาวิวหลักล้าน “ก๋วยเตี๋ยวเรือชาวนา ณ ระยอง”  ที่เปิดดำเนินการโดยคนเกาะกกแท้ๆ อาหารเที่ยงมื้อนี้จึงหลากหลาย และสะท้อนความเป็นพื้นบ้านระยองอย่างแท้จริง ไม่ต้องขนส่งทางไกลในคอนเซปต์ Low Carbon Menu ทั้งต้มไก่กระวาน น้ำพริกกะปิแท้ หมูผัดใบชะมวง ปลาช่อนผัดพริกขิง รวมถึงมีกุ้ง ปูม้า และหมึกย่าง จิ้มน้ำจิ้มซีฟู้ดอร่อยสุดฟินอิ่มท้องกันแล้ว ก็ได้เวลารับฟังข้อมูลการดำเนินงานและการแปรรูปผลิตภัณฑ์มากมายของ วิสาหกิจชุมชนเกาะกก ซึ่งแท้จริงแล้วคือการนำ แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพ่อหลวงรัชกาลที่ 9  มาปฏิบัติใช้จริงอย่างเป็นรูปธรรม จนทำให้มีชื่อเสียงระดับประเทศ คว้ารางวัลมากมาย รวมถึงนำพาชุมชนผ่านวิกฤตโควิต-19 ได้อย่างปลอดภัย และอีกหัวใจสำคัญ คือการจับมือกับพันธมิตรหน่วยง่านต่างๆ เข้ามาช่วยพัฒนาสินค้าชุมชน นำวัตถุดิบที่มี ทั้งข้าวออร์แกนิกและพืชสมุนไพร สร้างสรรค์เป็นสินค้าแปลกใหม่ ที่มี Packaging สวยงาม ดูทันสมัย เข้ากับวิถีคนรุ่นใหม่ได้ดีเยี่ยม
Rice Me หรือ Snack Bar คือสินค้าโด่งดังที่สุดและขายดีที่สุดอย่างหนึ่งของวิสาหกิจชุมชนเกาะกก พัฒนาขึ้นจากกระยาสารทพื้นบ้านให้มีรูปแบบทันสมัย รวมถึงปรับสูตรใส่ข้าวไรซ์เบอร์รี่ น้ำผึ้ง ถั่ว และธัญพืชที่อุดมคุณค่าทางอาหารมากมายลงไป กวนให้เข้ากันตอนร้อนๆ แล้วปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง ตัดเป็นแท่งบรรจุห่ออย่างสะอาด ทั้งให้พลังงานสูงและมีคุณค่าทางอาหารมากมายเข้าชมการสาธิตทำ Rice Me Snack Bar ของชาวเกาะกกRice Me Snack Bar มีส่วนผสมอุดมคุณค่าทางอาหารหลายอย่าง หลักๆ ใช้ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ผสมกับน้ำผึ้ง แอปปริคอต ข้าวโอ๊ต และเม็ดมะม่วงหิมพานต์ เป็นขนมกินเล่นที่หนักท้องอิ่มนาน ปัจจุบันสายวิ่งนิยมกินกันมาก หรือจะกินแบบราดนม หรือ topping ต่างๆ ก็ยิ่งดี
ไอศครีมข้าวไรซ์เบอร์รี่ของเกาะกก รสหวานนุ่มนวล อุดมคุณค่าทางอาหาร เวลารับประทานสามารถโรยหน้าด้วยข้าวไรซ์เบอร์รี่คั่วได้ด้วยนอกจาก Rice Me Snack Bar แล้ว เกาะกกยังมีผลิตภัณฑ์ชุมชนอีกมากมายที่ขายดิบขายดี  ทั้งคุกกี้ข้าวไรซ์เบอร์รี่, หมอนสมุนไพร HORM HERB, ข้าวกล้องไรซ์เบอร์รี่, ข้าวกล้องหอมนิล, ข้าวกล้องสังข์หยด, ข้าวหอมมะลิ และลูกประคบสมุนไพรสด ซึ่งอย่างสุดท้ายนี้นักท่องเที่ยวสามารถ DIY ทดลองทำเอง เพื่อนำกลับบ้านได้เลยช้อปป้ิงช่วยกระจายรายได้ให้ชุมชนเกาะกก
จากชุมชนเกาะกกที่มีทั้ง สวน นา และป่า ได้เวลาขับรถ EV ต่อไปชมทะเลที่อยู่ใกล้แค่นิดเดียว คือ “กลุ่มประมงพื้นบ้าน บ้านตากวน” ตำบลเนินพระ อำเภอเมืองระยอง ซึ่งถือเป็นกลุ่มประมงชายฝั่ง ที่ทำประมงด้วยเรือเล็ก  ในระยะไม่เกิน 3 กิโลเมตรจากชายฝั่ง อาหารทะเลที่ได้จึงสดใหม่ทุกวัน ไม่ต้องแช่น้ำยารักษาความสด ปลอดภัยต่อทั้งชาวประมงและผู้บริโภค นับเป็นการสนับสนุนวิถีประมงพื้นบ้านให้คงอยู่
ที่กลุ่มประมงพื้นบ้าน บ้านตากวน มีชายฝั่งทะเลเงียบสงบเป็นธรรมชาติ เหมาะมาพักผ่อนและขับรถยนต์เลียบชายหาด แวะนั่งกินอาหารทะเลสดอร่อยในร้านริมหาด โดยจากตลาดประมงพื้นบ้าน บ้านตากวน เราสามารถขับรถต่อไปยัง หาดแสงจันทร์ หาดสุชาดา ที่สวยงามไม่แพ้กันวิถีการซ่อมเรือประมงตามแบบพื้นบ้าน ณ บ้านตากวนตลาดอาหารทะเลสดบ้านตากวน  จะซื้อใส่ลังน้ำแข็งกลับบ้าน หรือโทรให้เขาส่งถึงบ้านเลยก็ได้ มีกุ้ง หอย ปู ปลา หมึก และของทะเลสดๆ หลากหลายขายกันทุกวัน ขับรถ EV จากชุมชนประมงพื้นบ้าน บ้านตากวน ผ่านหาดแสงจันทร์และหาดสุชาดา ไม่นานเราก็มาถึง “เส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน เทศบาลตำบลเนินพระ” เป็นการอนุรักษ์ป่าชายเลนผืนสุดท้ายในบริเวณนี้เอาไว้ สภาพป่าด้านในจัดว่ารกชัฏและดิบทึบ ร่มครึ้ม ให้ความรู้สึกลึกลับ สัมผัสได้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ โดยเฉพาะต้นโกงกางยักษ์ที่นี้มีความใหญ่โตสูงนับสิบเมตร มีอายุนับร้อยปี ถือเป็นป่าต้นโกงกางที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดระยอง มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร นำเราเข้าไปยังหอชมวิว สูงประมาณ 16 เมตร ซึ่งด้านบนสุดจะมองเห็นภูมิทัศน์ผืนป่าชายเลนและท้องทะเลระยอง
ระบบนิเวศป่าชายเลนที่ยังบริสุทธิ์และอุดมสมบูรณ์  จะมีพรรณไม้หลายชั้นเจริญเติบโตทับซ้อนกันไป ทั้งไม้พื้นล่าง ไม้ชั้นกลาง และไม้ขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่เป็นหลังคาของป่า ซึ่งการสังเคราะห์แสงของพืชเหล่านี้จะต้องดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่ต้นพืช (เหมือนการดูดซับก๊าซเรือนกระจก) และผลที่ได้อย่างหนึ่งคือการปล่อยก๊าซออกซิเจนออกมาให้สิ่งมีชีวิตหายใจอีกด้วย หอชมวิวสูง 16 เมตร ใหม่เอี่ยมยังไม่เปิดอย่างเป็นทางการจากด้านบนสุดของหอชมวิวมองลงมาเห็นเรือนยอดของต้นโกงกางยักษ์ และเส้นทางเดินเป็น Platform ไม้ยกระดับอย่างดีความงามแปลกตาของผืนป่าโกงกางเมื่อมองจากมุมสูงเย็นย่ำของวันที่สอง หลังจากตระเวนเที่ยวทำกิจกรรมรักษ์โลกมากมายในระยอง เราก็ได้เวลาพักผ่อนทานอาหารเย็นกันที่ “ร้าน Wooden Spoon” เป็นร้านเปิดใหม่เสิร์ฟอาหารสไตล์ฟิวชั่นในบรรยากาศโมเดิร์นน่านั่ง โดยการ renovate บ้านสไตล์วินเทจให้กลายเป็นร้านอาหารสวยหรูริมแม่น้ำระยอง มีทั้งโซน Indoor และ Outdoor ให้เลือกนั่งได้ตามใจชอบเลย ฟิวชั่นเมนูน่าชิมของที่นี่มีให้เลือกเพียบ อาทิ สลัดผลไม้, สลัดเต้าหู้นิ่ม, ข้าวผัดกิมจิ, ซี่โครงย่าง, Fruit Cake และอื่นๆ อีกมากมายวันที่สามของการเดินทางในแนวรักษ์โลก ขบวน Mini Caravan สบ๊าย สบาย สไตล์ราย็องฮิ ยังคงมุ่งหน้าสู่จุดหมายปลายทางที่เข้มข้นด้วยแนวคิด Low Carbon Tourism นั่นคือ “สวนพฤกษศาสตร์ระยอง” (Rayong Botanic Garden) ตำบลชากพง อำเภอแกลง จังหวัดระยอง

(ขอบคุณภาพจาก ททท. สำนักงานระยอง)
สวนพฤกษศาสตร์ระยองอยู่ในความดูแลขององค์การสวนพฤกษศาสตร์  ซึ่งมีอยู่หลายแห่งในเมืองไทย สภาพภูมิประเทศของที่นี่เป็น พื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetland) มีความสำคัญในระดับประเทศ และอยู่ภายใต้การดูแลของสนธิสัญญาพื้นที่ชุ่มน้ำโลก (Ramsar Convention) ที่ไทยได้เซ็นต์สัญญาเข้าร่วม ทำให้บึงน้ำธรรมชาติขนาด 3,800 ไร่ แห่งนี้ ซึ่งเดิมทีชาวบ้านเรียกว่า “บึงสำนักใหญ่” ได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดี จนสามารถทำหน้าที่เป็นแหล่งเก็บกักน้ำธรรมชาติ ใช้ในการประมง เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (Eco-Tourism) และที่สำคัญคือเก็บรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์ท้องถิ่นเอาไว้ได้อย่างยอดเยี่ยม

(ขอบคุณภาพจาก ททท. สำนักงานระยอง)ไฮไลท์ที่ห้ามพลาดชมของสวนพฤกษศาสตร์ระยอง คือบริเวณที่เป็นป่าเสม็ดขาวยืนต้นอยู่กลางบึงน้ำ ให้ความรู้สึกลึกลับจนได้ฉายาว่า “ป่าอะเมซอนแห่งภาคตะวันออก”

(ขอบคุณภาพจาก ททท. สำนักงานระยอง)กิจกรรมท่องเที่ยวที่นี่มีมากมาย ตั้งแต่การล่องเรือยนต์เที่ยวศึกษาธรรมชาติ, พายเรือคายัค พายซับบอร์ดชมธรรมชาติ, ปั่นจักรยานและเดินในเส้นทางศึกษาธรรมชาติ (Nature Trail) ซึ่งมีทั้งการดูนกและศึกษาพรรณไม้ แถมยังจัดว่ามีจุดถ่ายภาพสวยๆ แสนโรแมนติก ให้คู่รักมาเก็บภาพประทับใจร่วมกันด้วย

(ขอบคุณภาพจาก ททท. สำนักงานระยอง)นกปากห่าง (Openbill Stork) เป็นนกน้ำขนาดใหญ่ที่พบเห็นได้ไม่ยากในสวนพฤกษศาสตร์ระยอง อาหารหลักของมันคือหอยชนิดต่างๆ นกปากห่างจึงช่วยควบคุมประชากรหอยในธรรมชาติ ไม่ให้มีมากเกินไป

(ขอบคุณภาพจาก ททท. สำนักงานระยอง)มาถึงสวนพฤกษศาสตร์ระยองแล้วก็ต้องนั่งฟังข้อมูลความน่าสนใจของที่นี่กันหน่อยทดลองชิม “สมูทตี้ใบชะมวง” ซึ่งชาวบ้านในแถบนี้คิดพัฒนาขึ้นมาเสิร์ฟนักท่องเที่ยว ใครที่เคยกินแกงหมูใบชะมวงลองเปลี่ยนมาดื่มสมูทตี้ใบชะมวงดูบ้าง แปลกดี แต่มีคำเตือนว่าถ้าดื่มน้อยๆ พอดีๆ จะเป็นยาระบาย แต่ถ้าดื่มมากเกินไป จะกลายเป็นยาถ่ายท้อง!จากสวนพฤกษศาสตร์ระยอง เราขับรถ EV เที่ยวต่อเนื่องไปยัง 4 ชุมชนที่อยู่รอบๆ ซึ่งได้อาศัยความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติในบึงสำนักใหญ่ หากินกันมาหลายชั่วอายุคน อย่างเช่นที่ “กลุ่มจักสานกระจูดบ้านกวี” บ้านมาบเหลาชะโอน ตำบลชากพง อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เป็นหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว (OTOP Village Champion – OVC) สืบสานวิถีการทอกระจูดมากว่า 200 ปี โดยนำวัตถุดิบเป็นต้นกระจูดที่ขึ้นอยู่ดาษดื่นในบึงน้ำแถบนี้ มาสานเป็นเสื่อ กระบุง ตะกร้า กระเป๋า ฯลฯ ด้วยภูมิปัญญาที่สืบสานส่งต่อกันมา
เที่ยงแล้ว ขบวนคาราวานของเราเดินทางมาถึง “กลุ่มเกษตรผลิตไม้กฤษณา” (สวนหอมมีสุข) ตำบลกระเฉด อำเภอเมืองระยอง เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Agro-Tourism) ที่โด่งดัง เพราะโดดเด่นด้วยสวนไม้กฤษณา (Agarwood) นับหมื่นต้น ที่สามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม ได้กว่า 40 ชนิด ส่งขายไปทั้งในและต่างประเทศ ทำรายได้มหาศาล อย่างน้ำมันกฤษณาสกัดบริสุทธิ์ก็ขายได้ถึงราคากิโลกรัมละ 500,000 บาทแต่ก่อนจะไปชมกิจการของสวนหอมมีสุข เราก็ต้องไปชิมอาหารอร่อยๆ ในมื้อเที่ยงเพื่อเติมพลังกันก่อน ร้านอาหารของเขาตั้งอยู่ในสวนร่มรื่นอยู่ติดกับบึงน้ำใหญ่ ให้ความรู้สึกโปร่งโล่งสบายดีแท้ ชุดอาหาร Low Carbon ของท้องถิ่น มียำผักกูดเป็นพระเอก ตามมาด้วยปลาทะเลต้มเค็มหวาน ตบท้ายด้วยข้าวเหนียวสังขยาอร่อยๆน้องหมาพันธุ์ซามอยด์ (Samoyed) ของสวนหอมมีสุข ที่แสนเป็นมิตรและสุดน่ารัก ออกมารับแขกที่กำลังช้อปปิ้งสินค้าผลิตภัณฑ์แปรรูปจากไม้กฤษณาผลิตภัณฑ์แปรรูปกว่า 40 ชนิด จากไม้กฤษณา เน้นไปในด้านสุขภาพและความงาม มีตั้งแต่โฟมล้างหน้า, เซรั่มบำรุงผิวหน้า, น้ำมันกฤษณาเข้มข้น, น้ำมันนวดแก้ปวดเมื่อย, สบู่กฤษณา, ครีมบำรุงผิวกฤษณา, ยาหม่องกฤษณา ฯลฯ นับเป็นการใช้ทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ มาต่อยอดสร้างมูลค่าได้มหาศาล ตามหลัก BCG Bio-Circular Economyบ่ายวันสุดท้ายของการเดินทาง ก่อนกลับบ้านเราแวะเข้าไปช๊าตไฟฟ้าเพิ่มให้รถยนต์ EV กันที่ “สถานีอัดประจุไฟฟ้า Elex by EGAT” ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่ด้านหน้าโรงพยาบาลกรุงเทพ สาขาพัทยา เพื่อตอกย้ำและสนับสนุนการเติบโตของการใช้รถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงความพยายามในการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ในอนาคต ซึ่งเป้าหมายที่แท้จริงคือการเดินไปให้ถึงวิถีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Carbon Neutral นั่นเอง สิ่งนี้ไม่ไกลเกินฝันถ้าเราช่วยกันอย่างจริงจัง ในทริปนี้แม้จะเป็นการเดินทางสั้นๆ เพียง 3 วัน 2 คืน แต่เราก็ได้เรียนรู้สิ่งใหม่มากมายเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ “หลัก 4จ” หรือ 4 จุดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีผลต่อภาวะโลกรวน คือ การเดินทาง, ที่พัก, อาหาร และขยะ เพราะในการเดินทางแต่ละครั้ง 4 ปัจจัยหลักนี้เองที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ถ้าตัวนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการมีจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม ปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการท่องเที่ยว วิธีการกิน และลดปริมาณขยะตั้งแต่ต้นทาง สังคม Low Carbon ก็จะเกิดขึ้นได้จริง และโลกเราก็จะน่าอยู่ขึ้นกว่านี้มาก เพราะการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของทุกคนสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.) หรือ TEATA โทร. 08-3250-9394 และ www.teata.or.th

จังหวัดสระแก้วหลากสไตล์ มุมมองใหม่ 2022

“ชายแดนเบื้องบูรพา ป่างามน้ำตกสวย มากด้วยรอยอารยธรรมโบราณ ย่านการค้าไทย-เขมร” นี่คือคำขวัญของ จังหวัดสระแก้ว เมืองชายแดนภาคตะวันออกที่อุดมสมบูรณ์ และหลากหลายด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิถีชีวิตผู้คน กิจกรรม และอาหารการกิน ผสมผสานกลายเป็นเสน่ห์ให้ไปเยือน ในฐานะเมืองรองที่มีศักยภาพสูงสามารถพัฒนาได้อีกมากในอนาคต
เชื่อหรือไม่ว่า จังหวัดสระแก้ว เป็นจังหวัดซึ่งมีเนื้อที่มากที่สุดในภาคตะวันออก (ประมาณ 7,195.43 ตารางกิโลเมตร) มีชาติพันธุ์อาศัยอยู่ร่วมกันเหมือนพี่น้องไม่น้อยกว่า 6 เชื้อชาติ ทั้ง ญ้อ ลาว ญวน เขมร จีน และไทย
แถมยังเป็นเมืองหน้าด่าน ที่เหมือน HUB มาตั้งแต่ยุคอดีต คือเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางตะวันตก-ตะวันออก (ระหว่างเมืองชายฝั่งทะเลอ่าวไทย-กัมพูชา) และเหนือ-ใต้ (ระหว่างเมืองในลุ่มน้ำโขง ชี มูล กับเมืองชายฝั่งทางจันทบุรี) จังหวัดสระแก้ว จึงกลายเป็นเบ้าหลอมทางอารยธรรมไปโดยปริยายทริปนี้เราร่วมเดินทางไปกับ สำนักงานท่องเท่ียวและกีฬา จังหวัดสระแก้ว สำรวจแหล่งท่องเที่ยวใน 8 อำเภอ (จากทั้งหมด 9 อำเภอ คือ อำเภอเมืองสระแก้ว, อำเภอคลองหาด, อำเภอตาพระยา, อำเภอวังน้ำเย็น, อำเภอวัฒนานคร, อำเภออรัญประเทศ, อำเภอเขาฉกรรจ์, อำเภอโคกสูง และอำเภอวังสมบูรณ์) ค้นหามุมมองใหม่อันน่าประทับใจ นำร่องเพื่อผู้รักการเดินทางทุกท่านเริ่มต้นทักทายจังหวัดสระแก้วกันด้วยธรรมชาติสวยๆ สดชื่น ถ่ายภาพได้น่าตื่นตา กับ “อุทยานแห่งชาติปางสีดา” อำเภอเมืองสระแก้ว เป็นผืนป่าอนุรักษ์ขนาดใหญ่ เนื้อที่กว่า 527,500 ไร่ ให้กำเนิดต้นน้ำลำธาร และมีชื่อเสียงเรื่องการดูผีเสื้อที่มีอยู่ถึง 500 ชนิด ทั้งผีเสื้อกลางวัน (Butterfly) และผีเสื้อกลางคืน (Moth) จัดว่าพบง่าย มากมาย และหลากหลาย โดยเฉพาะช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคมทุกปี ที่นี่ยังมีเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ ศึกษาพรรณไม้ และมีน้ำตกปางสีดา ที่แสนติดตาตรึงใจ
ปางสีดายังเป็นส่วนหนึ่งของมรดกโลกทางธรรมชาติของ UNESCO เพราะอยู่ในกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ประกอบด้วย ป่าเขาใหญ่, ป่าตาพระยา, ป่าทับลาน, ป่าดงใหญ่ และป่าปางสีดา ประกาศเป็นมรดกโลกเมื่อ พ.ศ. 2548
น้ำตกปางสีดา เป็นน้ำตกเล็กๆ ที่สวยงามลงตัว สายน้ำทิ้งตัวลดหลั่นลงมาเป็นขั้นบันไดตามหน้าผาหิน สูงประมาณ 8 เมตร สายน้ำชุ่มฉ่ำเย็นตลอดปี แวดล้อมด้วยผืนป่าเขียวครึ้ม ร่มรื่น เหมาะไปลงเล่นน้ำหรือนั่งพักผ่อนไฮไลท์ของการมาเยือนอุทยานแห่งชาติปางสีดา ในช่วงฤดูฝนเดือนสิงหาคมเช่นนี้ คือการดูผีเสื้อในงานเทศกาลดูผีเสื้อปางสีดา ปี 2565 แม้จะมีเวลาไม่มากแต่เราก็ได้พบเห็นผีเสื้อหลายสิบชนิดออกมาบินต้อนรับ พวกมันมักมารวมตัวกันอยู่ในที่ที่มีดอกไม้ป่าให้ดูดน้ำหวาน หรือจะไปลงเกาะอยู่ตามโป่งดิน โป่งน้ำ ซึ่งมีแร่ธาตุเจือปนอยู่ โดยเฉพาะวันที่มีแดดออก จะพบเห็นผีเสื้อได้มากเป็นพิเศษผีเสื้อปางสีดา กำลังเพลิดเพลินกับน้ำหวานจากดอกพนมสวรรค์ การถ่ายภาพผีเสื้อ โดยให้รบกวนผีเสื้อน้อยที่สุด เป็นการเคารพธรรมชาติ นักถ่ายภาพควรมี Lens Macro 105 mm. หรือใช้ Lens 70-200 mm. ก็ได้ แต่สำคัญที่สุดคือต้องรู้ว่าจะมีผีเสื้อลงบริเวณใดและเมื่อไหร่? ข้อนี้ให้ถามเจ้าหน้าที่ของอุทยานฯ ได้ครับ
ฝูงผีเสื้อสะพายฟ้า ลงมารวมตัวกันที่โป่งใกล้ลำธารอย่าดูผีเสื้อกันจนเพลิน ที่อุทยานแห่งชาติปางสีดายังมีพรรณไม้น่าสนใจมากมาย อาทิ เห็ดถ้วยแชมเปญ ที่มักงอกขึ้นจากขอนไม้ชื้นๆ ผุๆ ในฤดูฝนงานเทศกาลดูผีเสื้อปางสีดา สิงหาคม 2565 จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 17 แล้ว ตัวกิจกรรมหลักคือการดูผีเสื้อจะอยู่ที่ผืนป่าอุทยานแห่งชาติปางสีดา ส่วนในอำเภอเมืองสระแก้ว ก็มีกิจกรรมบนเวทีเปิดตัวงานอย่างยิ่งใหญ่
ความงามของแสงสีในงานผีเสื้อราตรี
อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว (เทศกาลดูผีเสื้อปางสีดา สิงหาคม 2565)
เดินทางต่อไปสู่แหล่งท่องเที่ยวมหัศจรรย์ธรรมชาติของจังหวัดสระแก้ว ละลุ อำเภอตาพระยาจริงๆ แล้วละลุมีพื้นที่กว้างขวางถึง 2,000 ไร่ บางส่วนอยู่ในพื้นที่สาธารณะ บางส่วนอยู่ในที่ของชาวบ้าน การเที่ยวชมให้เหนื่อยน้อยสุดจึงต้องนั่งรถอีแต๋นเข้าไป ชาวบ้านเจ้าของพื้นที่ก็จะได้แบ่งส่วนรายได้ด้วย ทำให้เกิดความรักความหวงแหนทรัพยากรท่องเที่ยวของท้องถิ่น ละลุในฤดูฝนสวยเป็นพิเศษ ​เพราะแลเห็นทุ่งนาเขียวๆ ของชาวบ้านอยู่ใกล้ๆ มีจุดชมวิวมุมสูงให้ปีนขึ้นไปดูภูมิทัศน์มหัศจรรย์จากด้านบนด้วย
ละลุ เกิดจากการกัดกร่อนพังทลายของชั้นดินต่างๆ ที่มีความแข็งไม่เท่ากัน ตัวกระทำหลักคือ น้ำฝน ลม และแสงแดด ลักษณะเป็นดินลูกรังสีส้มอมแดงเข้มที่มีแร่เหล็กเจือปนอยู่มาก ทุกปีรูปลักษณ์ของละลุจะเปลี่ยนไป เพราะเกิดการผุกร่อนพังทลายลงเรื่อยๆ เราจึงเห็นเม็ดกรวดทรายเล็กๆ ผุกร่อนลงมากองอยู่บนพื้น เหลือไว้เพียงรูปร่างของแท่งดินที่ชวนให้พิศวง จนได้ฉายาว่า “สโตนเฮนจ์เมืองไทย” ละลุ จังหวัดสระแก้ว มีกระบวนการเกิดขึ้นคล้ายๆ กับแพะเมืองผี จังหวัดแพร่ และเสาดินนาน้อย-คอกเสือ จังหวัดน่านการถ่ายภาพละลุให้ได้สวยสุดคงหนีไม่พ้นตอนเย็นย่ำ พระอาทิตย์คล้อยตำ่แสงอาทิตย์กลายเป็นสีส้ม ยิ่งทำให้สีของละลุดูเข้มข้นขึ้นไปอีกใครสนใจไปเที่ยวละลุ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มละลุโฮมสเตย์ โทร. 0-3724-9708-9, 08-9098-0772อีกหนึ่งความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติของจังหวัดสระแก้ว ที่รอการเข้าไปสัมผัส โดยซุ่มซ่อนตัวเองอยู่อย่างเงียบเชียบลึกลงไปใต้พื้นพิภพ คือ “เขาศิวะ” อำเภอคลองหาด (หรือ เขาพระศิวะ, ถ้ำศิวะ, ถ้ำน้ำเขาศิวะ) ลักษณะเป็นเทือกเขาหินปูนขนาดใหญ่ ซึ่งมีส่วนหนึ่งเป็นแท่งหินขนาดยักษ์ยืนเด่นอยู่ แลคล้ายศิวะลึงค์ ใต้ภูเขานี้มีถ้ำน้ำที่ลึกถึง 500 เมตร เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่ชอบผจญภัยในแนว Adventure หรือ Eco-Tourismการผจญภัยเข้าสู่ถ้ำน้ำเขาศิวะ เหมาะในฤดูร้อนและฤดูหนาว ส่วนฤดูฝนปริมาณน้ำในถ้ำอาจมากเกินไปจนเป็นอันตรายได้ การเข้าไปท่องเที่ยวต้องติดต่อชาวบ้านให้นำทางเข้าไป โดยมีไฟฉาย ถุงกันน้ำ (Dry Bag สำหรับใส่กล้องกันเปียกน้ำ) และสวมเสื้อชูชีพเข้าไปด้วย เพราะระดับน้ำลึกประมาณ 10-220 เซนติเมตร บางช่วงสามารถเดินลุยน้ำ แต่บางช่วงก็ต้องว่ายน้ำเข้าไป ภายในถ้ำมีหินงอก หินย้อย ม่านหินปูน (Flow Stone) และโพรงลึกที่มีขั้นบันไดหินปูนลดหลั่นสวยงามมาก นับเป็นแหล่งท่องเที่ยว Unseen ที่ท้าทายสุดๆ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ ททท. สำนักงานสระแก้ว-นครนายก-ปราจีนบุรี โทร. 0-3731-2284 เขาฉกรรจ์ อำเภอเขาฉกรรจ์  เป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสระแก้ว เพราะเป็นเทือกเขาหินปูนขนาดใหญ่ที่สวยงามแปลกตา 3 ลูกเรียงต่อกัน โดยมีเขาฉกรรจ์เป็นเขาลูกใหญ่สุดตั้งอยู่ตรงกลาง เขามิ่งอยู่ด้านซ้าย และเขาฝาละมีอยู่ด้านขวา มีถ้ำที่สำรวจพบแล้วมากถึง 72 แห่ง อาทิ ถ้ำเขาทะลุ ซึ่งเป็นช่องเขาสองด้านทะลุถึงกัน รอบๆ เขาฉกรรจ์ปัจจุบันยังมีผืนป่าร่มรื่น รวมถึงสวนสาธารณะ และร้านกาแฟวิวหลักล้าน น่าไปนั่งจิบเครื่องดื่ม พร้อมกับชมสวนดอกไม้กับคนรู้ใจ ไฮไลท์อย่างหนึ่งของการมาเที่ยวเขาฉกรรจ์ คือการได้ดูฝูงค้างคาวนับล้านตัวบินออกจากถ้ำไปหากิน โดยพวกมันจะพากันบินออกมาเป็นสายต่อเนื่องนานนับชั่วโมง และจะบินกลับเข้าถ้ำในตอนใกล้เช้าของวันใหม่ จุดชมค้างคาวแบบเจ๋งๆ คือที่ร้านกาแฟรอบๆ เขาฉกรรจ์ ซึ่งได้สร้างหอชมค้างคาวไว้ให้โดยเฉพาะ รวมถึงที่วัดเขาฉกรรจ์ด้วยค้างคาวเขาฉกรรจ์เป็นจำพวกที่ตัวไม่ค่อยใหญ่นัก มองจากระยะไกลคล้ายฝูงนก
เปลี่ยนบรรยากาศไปล่องแพชมธรรมชาติเพลินๆ พร้อมกับกินปลาเขื่อนกันที่ “เขื่อนพระปรง” อำเภอวัฒนานคร  เขาบอกว่าทุกเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม จะมี นกอ้ายงั่ว อันแสนหายากมาหากินอยู่ที่นี่ด้วยเขื่อนพระปรง  เป็นพื้นที่กักเก็บน้ำทางชลประทานที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดสระแก้ว  ความจุมากถึง 97 ล้านลูกบาศ์กเมตร มีพระราชดำริให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2521 โดยพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในการชลประทานหล่อเลี้ยงการเพาะปลูกของชาวบ้าน ตัวเขื่อนสร้างกั้นลำห้วยพระปรงที่ไหลลงมาจากป่าปางสีดา ตัวอ่างเก็บน้ำทั้งหมดจึงเป็นผืนป่าในอุทยานแห่งชาติปางสีดาที่ถูกน้ำท่วม เหมาะไปล่องแพชมธรรมชาติเพลินๆในระยะเวลา 1-2 ชั่วโมง พร้อมกับสั่งอาหารเมนูปลามานั่งกินบนแพอย่างมีความสุข หรือจะล่องเรือตกปลาก็ได้นะริมเขื่อนพระปรงมีที่จอดรถกว้างขวาง พร้อมกับซุ้มนั่งกินอาหารในแบบลูกทุ่ง
ล่องแพชมธรรมชาติอย่างมีความสุขที่เขื่อนพระปรงอาหารเมนูปลาที่เขื่อนพระปรงเปลี่ยนบรรยากาศมาเที่ยวในแบบวิถีชุมชนกันบ้างที่ “ชุมชนมิตรสัมพันธ์” อำเภออรัญประเทศ เป็นชุมชนชาวญวน หรือชาวเวียดนาม ที่อพยพเข้าสู่ประเทศไทยผ่านทางด่านชายแดนปอยเปต ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2489 เพราะต้องหนีภัยสงครามเวียดนาม เมื่อสงครามสงบลง พวกเขาจึงตั้งถิ่นฐานถาวรอยู่ในอำเภออรัญประเทศ ทุกวันนี้ในชุมชนมิตรสัมพันธ์เราจึงเห็นสถาปัตยกรรมการก่อสร้างที่มีกลิ่นอายจีนและเวียดนาม เข้ามาผสานผสมอย่างกลมกลืน โดยเฉพาะที่ วัดมิตรสัมพันธ์ที่วัดมิตรสัมพันธ์ ภายในชุมชน มีพระอุโบสถไสตล์จีน รวมถึงหอระฆังสถาปัยกรรมจีน และหอไตรเสาเดี่ยวกลางน้ำ ที่แปลกตาหาชมยากลูกหลานของชุมชนมิตรสัมพันธ์ในวันนี้ ยังไม่ลืมรากเหง้าถิ่นกำเนิดเดิมของตนเองในประเทศเวียดนาม ยังคงมีการสวมชุดอ๋าวหญ่าย หมวกทรงแหลม และในโรงเรียนยังอนุรักษ์การแสดงแบบเวียดนามด้วยความน่ารักของน้องๆ เชื้อสายญวนในชุมชนมิตรสัมพันธ์ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้วมาถึงชุมชนชาวญวนแท้ๆ ทั้งทีก็ต้องขอลองชิมอาหารเวียดนามอร่อยๆ กันที่ “ร้านยายต๊าม” เป็นร้านอาหารเวียดนามเจ้าแรกของอำเภออรัญประเทศ  เปิดมานานกว่า 60 ปี เมนูน่าลิ้มลองมีเพียบ เช่น แหนมเนือง, จ้างหล่อง, บั๋นหอย (หมี่หน้าหมู), ยำหมูยอ, ส้มตำเวียดนาม, หว๋อนก๊วน (เปาะเปี๊ยะสด), ข้าวต้มญวน (ข้าวต้มเลือดหมู), ก๊าจ๋า, จ๋าเจียง, ขนมเบื้องญวน, ข้าวเกรีบบปากหม้อ, กุ้งพันอ้อย และอีกมากมาย
(ร้านยายต๊าม ชุมชนมิตรสัมพันธ์ อำเภออรัญประเทศ โทร. 08-1559-8664, 0-3723-1794)
ข้าวต้มเลือดหมูสไตล์ญวน ว่ากันว่าหาชิมได้เฉพาะที่อำเภออรัญประเทศเท่านั้น เช้าๆ มีขายในตลาดแค่ไม่กี่เจ้า
ไปท่องเที่ยวกันต่อที่ “หมู่บ้านทับทิมสยาม 05” อำเภอคลองหาด
เป็นหมู่บ้านที่จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2536 บนพื้นที่ค่ายอพยพเดิม (ศูนย์อพยพที่ 8) ชายแดนไทย-กัมพูชา โดยมีลำคลองน้ำใสกั้นพรมแดนเอาไว้ ภัยสงครามทำให้ผู้อพยพหลั่งไหลเข้ามา และเมื่อเหตุการณ์สงบลง จึงมีการจัดตั้งเป็นหมู่บ้านทับทิมสยาม 05 พร้อมด้วยการนำโครงการพระราชดำริเข้ามา ทั้งเกษตรกรรมและเลี้ยงโคนม ปัจจุบันหมู่บ้านมีเนื้อที่กว่า 9,960 ไร่ รวม 150 หลังคาเรือน และมีคนอาศัยอยู่เกือบ 800 คน นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาขับรถเที่ยวชม จะเห็นแบบแปลนบ้านที่เหมือนกันทุกหลัง เพราะสร้างขึ้นโดยทุนบริจาคโครงการความร่วมมือไทย-เยอรมนีบังเกอร์หลบระเบิดในอดีต หมู่บ้านทับทิมสยาม 05
ภายในหมู่บ้านทับทิมสยาม 05 มีจุดชมวิวที่ได้นิกเนมว่า “สวิตเซอร์แลนด์เมืองไทย” เพราะมีเทือกเขาล้อมรอบตัวเราทั้ง 360 องศา
พร้อมด้วยร้านกาแฟเปิดใหม่ชื่อ “ร้าน Marugo Park” (โทร. 09-3321-2977) มีทุ่งดอกทานตะวันและแปลงกุหลาบหลากสี ให้ถ่ายภาพอย่างเพลิดเพลิน แถมยังมีลานกางเต็นท์นอนค้างคืนรับลมธรรมชาติด้วย
สวนกุหลาบ ที่ร้านกาแฟ Marugo Park หมู่บ้านทับทิมสยาม 05
ร้านกาแฟ Marugo Park หมู่บ้านทับทิมสยาม 05แปลงดอกไม้ ที่ร้านกาแฟ Marugo Park ค่าเข้าชมครั้งละ 30 บาท/คน
(ขอบคุณภาพจาก : คุณสุเทพ ช่วยปัญญา เว็บไซต์ The Way News)
ไหนๆ เที่ยวเชิงเกษตร Argo-Tourism กันแล้ว ก็เที่ยวต่อเนื่องที่ “สวนวังน้ำฟ้า” อำเภอวังสมบูรณ์ (โทร. 06-2398-9922, 08-1864-7629) เลยดีกว่า เพราะที่นี่มีอินทผาลัมสดอร่อยให้ชิมสวนไม้ดอกไม้ใบร่มรื่นสวยงาม เข้าชมได้ตลอดปี ที่สวนวังน้ำฟ้า
ความเขียวสดชื่น ของบรรยากาศธรรมชาติในสวนวังน้ำฟ้า
สวนอินทผาลัม สวนวังน้ำฟ้า เริ่มปลูกเมื่อ พ.ศ. 2555  ประมาณ 1,000 ต้น กระทั่งปัจจุบันมีพันธุ์ที่โดดเด่นคือ พันธุ์บาร์ฮี (Barhi) และพันธุ์อาเหม็ด ดาฮาน (Ahmed Dahan) โดยซื้อต้นพันธุ์เข้ามาจากประเทศ UAE แล้วนำมาเพาะเนื้อเยื่อต่อ จึงให้ผลดกดีมาก สวนนี้ขายเฉพาะผลสด ใครอยากชิมต้องมาที่สวนเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีส้มเวียดนาม ส้มโอ และส้มเขียวหวานให้ชิมด้วยอินทผาลัมพันธุ์อาเหม็ด ดาฮาน ของสวนวังน้ำฟ้า ใกล้สุกได้ที่อินทผาลัมพันธุ์อาเหม็ด ดาฮาล  กินผลสดเนื้อหวานกรอบกำลังดีนอกจากอินทผาลัมสดแล้ว ที่สวนวังน้ำฟ้ายังมีน้ำอินทผาลัมให้ชิมด้วย เขาบอกว่าน้ำตาลในน้ำอินทผาลัมเป็น น้ำตาลฟรุกโตส (Fructose) ที่ดีต่อสุขภาพ  แต่ก็ไม่ควรบริโภคในปริมาณมากเกินควรแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร Agro-tourism ที่สำคัญมากอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดสระแก้วคือ “โรงเรียนกาสรกสิวิทย์” (หรือโรงเรียนสอนควาย) อำเภอเมืองสระแก้ว โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ.​ 2552โดยพระราชดำริของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  เพื่อสืบสานความผูกพันระหว่างควาย (กระบือ) และชาวนาไทย โดยเน้นการสอนควายให้ไถนาเป็น สอนชาวนาให้ทำนาอย่างถูกวิธี อีกทั้งเป็นศูนย์ศึกษาวิจัยสุขภาพควาย พืชอาหารควาย มีแปลงปลูกข้าวนาโยน และห้องวิจัยทางวิทยาศาสตร์ด้วยแปลงปลูกข้าวนาโยน ที่โรงเรียนกาสรกสิวิทย์เกวียนแบบโบราณ อนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลานดูที่โรงเรียนกาสรกสิวิทย์
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ทรงตั้งชื่อให้ร้านกาแฟในโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ว่า “ร้านควายคะนอง Coffee & Restaurant” เป็นชื่อเก๋ไก๋ มีกาแฟ Signature หลายตัวต้องชิม เช่น กาแฟควายเผือก หรือลาเต้เย็นเรียนรู้การไถนาร่วมกันระหว่างควายและคน
ควายด่อน หรือควายเผือก ตัวอ้วนพี ที่โรงเรียนกาสรกสิวิทย์มุมนั่งพักผ่อนชมธรรมชาติทุ่งนาสุดชิลที่ โรงเรียนกาสรกสิวิทย์สำหรับใครที่ชื่นชอบขนมพื้นบ้านของจังหวัดสระแก้ว ขอแนะนำให้ไปที่ชุมชนบ้านพร้าว ชิม “ข้าวหลามบ้านพร้าว” อำเภอวัฒนานคร  ของกินของฝากขึ้นชื่อ ที่มีมานานกว่า 50 ปีแล้วข้าวหลามบ้านพร้าวเจ้าแรกที่เป็นต้นตำรับคือ “ข้าวหลามป้าบาง”  ทำมาตั้งแต่ป้าบางอายุแค่ 19 ปี เริ่มจากการหาบขาย เผาด้วยไม้ฟืนแบบดั้งเดิม จนปัจจุบันทำข้าวหลามขายกันทั้งชุมชน ความพิเศษของข้าวหลามบ้านพร้าวคือ เป็นข้าวหลามไส้สังขยาตั้งแต่หัวจรดท้ายลำ มีทั้งข้าวเหนียวขาว ข้าวเหนียวดำ และหน้าสังขยา รสหวานมัน ชุ่มด้วยน้ำกะทิ ใครอยากดูขั้นตอนการเผาต้องตื่นเช้า เพราะชาวบ้านจะเผาข้าวหลามตั้งแต่ตีสามตี่สี่แล้ว  (ข้าวหลามป้าบาง ชุมชนบ้านพร้าว โทร. 08-4782-3377)มาถึงจังหวัดสระแก้วแล้ว ถ้าไม่ได้สัมผัสร่องรอยอารยธรรมขอมบนแผ่นดินสุวรรณภูมิก็ดูจะกะไรอยู่ ห้ามพลาด “ปราสาทสด๊กก๊อกธม” อำเภอโคกสูง เป็นปราสาทขอมขนาดใหญ่และสำคัญที่สุดของจังหวัดสระแก้ว และยังจัดเป็น ปราสาทหินขอมขนาดใหญ่ที่สุดของภาคตะวันออก สร้างขึ้นสมัยพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 ถึงปัจจุบันก็อายุพันกว่าปีแล้ว โดยทำหน้าที่เป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดู ก่อนที่อาณาจักรขอมโบราณจะเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธในภายหลัง
(ขอบคุณภาพจาก : คุณสุเทพ ช่วยปัญญา เว็บไซต์ The Way News)ปราสาทสด๊กก๊อกธม สร้างด้วยหินทรายและศิลาแลงตามศิลปะคลัง-บาปวน มีการค้นพบหลักศิลาจารึกสด๊กก๊อกธม (หลักที่ 2) จดบันทึกเรื่องราวของชนชาติขอมโบราณ ช่วงระยะเวลานานถึง 200 ปี อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในจำนวนปราสาทนับร้อยแห่งที่สร้างไว้บน “เส้นทางราชมรรคา” หรือ The Royal Roads เชื่อมโยงภาคอีสานของไทย เข้าสู่เมืองพระนครศูนย์กลางอาณาจักรขอมโบราณ
นอกจากนี้ ปราสาทสด๊กก๊อกธมยังเป็นปราสาทหินขอมแห่งแรกในเมืองไทย ที่ได้รับการบูรณะด้วย วิธีอนัสติโลซิส (Anastylosis) เป็นเทคนิคทางโบราณคดีของประเทศฝรั่งเศส คือถอดซากหินที่ปรักหักพัง ใส่หมายเลขกำกับ จากนั้นประกอบขึ้นใหม่ให้เหมือนเดิม ซึ่งวิธีนี้จะใช้ได้กับปราสาทหินเท่านั้น เพราะปราสาทที่สร้างขึ้นด้วยอิฐหากรื้อแล้วประกอบใหม่ อิฐก็จะหักพังหมด
(ขอบคุณภาพจาก : คุณสุเทพ ช่วยปัญญา เว็บไซต์ The Way News) ก่อนเข้าชมตัวปราสาทสด๊กก๊อกธม จะพบกับ “พิพิธภัณฑ์ปราสาทสด๊กก๊อกธม” (ศูนย์บริการข้อมูล) ที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่เอี่ยม รับผิดชอบดูแลโดยกรมศิลปากรภายในศูนย์บริการข้อมูลปราสาทสด๊กก๊อกธรม ให้เข้าชมแบบเดินทางเดียว (เวียนขวา) ห้องแรกเป็น Mini Theater หรือโรงภาพยนตร์ขนาดย่อม ฉายประวัติความเป็นมาอย่างย่อของปราสาทสด๊กก๊อกธม ให้เข้าใจได้อย่างกระชับรวดเร็วโมเดลจำลองเรื่องราวการก่อสร้างปราสาทสด๊กก๊อกธม ย้อนไปเมื่อกว่าพันปีก่อนห้องนิทรรศการให้ความรู้เรื่องปราสาทหินในประเทศไทย
ห้องจัดแสดงเศษซากหินปรักหักพังจาก ปราสาทสด๊กก๊อกธม โมเดลจำลองปราสาทสด๊กก๊อกธม เราตามรอยประวัติศาสตร์อารยธรรมขอมบนแผ่นดินจังหวัดสระแก้วมาที่ “ลานหินตัด” อำเภอตาพระยา หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “สระเพลง” เพราะในคืนวันพระมักได้ยินเสียงเพลงดนตรีไทยแว่วออกมาจากป่า อันเป็นจุดที่ตั้งของแหล่งหินตัดอายุนับพันปีนี้ลานหินตัดตาพระยา (สระเพลง) เป็นแหล่งหินทรายธรรมชาติที่มีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ ค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2523 โดยชาวบ้านที่อยู่ในแถบเทือกเขาพนมดงรัก (ชายแดนไทย-กัมพูชา) ปัจจุบันการเข้าไปชมต้องนั่งรถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อ จากหน่วยพิทักษ์อุทยานตาพระยา 1 เข้าไปประมาณ 10 นาที จากนั้นต้องเดินเท้าผ่านป่าไผ่และป่าเบญจพรรณรกทึบขึ้นลงเนิน เข้าไปประมาณ 500 เมตร ก็จะพบกับแนวหน้าผาหินสูง 4-5 เมตร ที่มีร่องรอยการตัดหินเป็นแนวตรงลึกลงในเนื้อหินประมาณ 5 นิ้ว แสดงถึงการใช้เครื่องมือโบราณตัดหินได้อย่างชาญฉลาดและละเอียด นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า เมื่อช่างตัดหินเป็นก้อนๆ เสร็จแล้ว ก็จะใช้ช้างชักลาก หรือล่องหินไปตามลำน้ำ สู่แหล่งสร้างปราสาทหินในเขมร
การท่องเที่ยวที่ลานหินตัดตาพระยา ปัจจุบันยังต้องใช้เจ้าหน้าที่นำทาง และเหมาะสำหรับคนที่มีสุขภาพแข็งแรง สามารถเดินป่าได้จังหวัดสระแก้วมีการท่องเที่ยวเชิงศาสนาด้วย หากใครสนใจกราบขอพรพระเกจิชื่อดัง เชิญที่ “วัดป่าใต้พัฒนาราม” อำเภอวัฒนานคร  กราบ “หลวงปู่บุดดา ปัญญาธโร” พระอริยสงฆ์ผู้มีอายุมากถึง 112 ปี แล้วพระอุโบสถวัดป่าใต้พัฒนาราม สร้างด้วยศิลปกรรมร่วมสมัย มีลวดลายปูนปั้นวิจิตรพิสดารหลวงปู่บุดดา เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2454 เป็นพระอริยสงฆ์ผู้มีเมตรบารมีธรรมสูงส่ง ใบหน้าของท่านจึงมีรอยยิ้มอยู่เสมอ ท่านดำรงตนเรียบง่าย ฉันอาหารพื้นบ้านธรรมดา และยังออกบิณฑบาตรโปรดสัตว์ ลงทำวัตรตามกิจของสงฆ์อย่างเคร่งครัด สิ่งที่ทำให้ท่านโด่งดังอีกอย่างคือ พระเครื่องอันมีฤทธิ์เข้มขลังจากการปลุกเสก แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่หลวงปู่บุดดามิได้เน้น เพราะท่านย้ำเสมอให้เชื่อในการทำดี ยึดถือศีล สมาธิ ปัญญา เป็นหลักสำหรับสายมูสายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ต้องไปต่อกันที่ “สำนักสงฆ์แม่ย่าซอม” อำเภอคลองหาดประวัติเล่าสืบต่อกันมาว่า แม่ย่าซอมเป็นชาวเขมรที่อาศัยอยู่ในอำเภอคลองหาดเมื่อครั้งอดีต กาลล่วงถึงปัจจุบันก็ยังมีชาวบ้านเห็นแม่ย่าซอมในชุดนุ่งขาวห่มขาวปรากฏกายเป็นประจำ ต่อมามีพระธุดงค์รูปหนึ่งมาปักกลดในที่นาชาวบ้าน กลางคืนฝันว่าแม่ย่าซอมประสงคฆ์ให้ท่านช่วยสร้างวัดไว้ตรงนี้ ตื่นเช้ามาก็มีชาวบ้านนำเงินมาถวาย และบริจาคที่ดินให้สร้างสำนักสงฆ์ขึ้นได้จริงๆ อย่างน่าอัศจรรย์
สำนักสงฆ์แม่ย่าซอม มีงานศิลป์สิ่งศักดิ์ให้สักการะมากมาย ทั้งปู่พญานาค, พระพิฆเนศวร, พระราหู และอื่นๆ อีกมากมายปิดท้ายทริปสำรวจแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดสระแก้ว อย่างมีความสุข ที่ร้านอาหารเวียดนามแสนอร่อย “ร้านยายเต็ม” อำเภอเมืองสระแก้ว (โทร. 08-0880-0090) 
ร้านยายเต็ม เป็นร้านอาหารเวียดนามที่ตกแต่งแปลกตาสวยงาม เน้นสไตล์ Vintage นำของสะสมเก่าๆ ชวนให้นึกถึงอดีต มาประดับตกแต่งได้อย่างลงตัว อาหารเวียดนาม และอาหารอีสานแสนอร่อยที่ ร้านยายเต็ม อำเภอเมืองสระแก้ว
สนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬา จังหวัดสระแก้ว

โทร. 037-425031 หรือ https://sakaeo.mots.go.th

บินไปเที่ยว เบตง หรอยแรง แหล่งใต้ 2022

 เบตง ใต้สุดแดนสยาม เมืองงามชายแดน  คำกล่าวนี้ยังจริงเสมอ เพราะแม้จะอยู่ไกล แต่ความงามด้านธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม และอาหารแสนอร่อย ยังสามารถดึงดูดผู้คนให้ไปเยือนเบตงได้อย่างไม่ขาดสาย และมีมิติใหม่ เมื่อสนามบินเบตงเปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อต้นปี พ.ศ. 2565 ร่วมกับสายการบินนกแอร์ ใช้เครื่องบินใบพัด 86 ที่นั่ง (เครื่อง Q400 NextGen) บินสัปดาห์ละ 3 เที่ยว ทุกวันอังคาร ศุกร์ และอาทิตย์ เวลา 10.00 – 11.45 น. และออกจากเบตงเวลา 12.15 – 14.00 น. ใช้เวลาบินประมาณ 1 ชั่วโมง 55 นาที ยิ่งทำให้การเดินทางสู่เบตงง่ายขึ้นไปอีก
สนามบินเบตง เป็นสนามบินลำดับที่ 29 ของกรมท่าอากาศยาน และเป็นสนามบินแห่งที่ 39 ของประเทศไทย อยู่ห่างจากตัวเมืองเบตงออกไปประมาณ 10 กิโลเมตร อาคารที่พักรับรองผู้โดยสารได้ 300 คน/ชั่วโมง และปัจจุบันมี Runway ยาว 2,500 เมตร จึงมีเฉพาะเครื่องบินขนาดเล็กเท่านั้นที่ขึ้นลงได้ใน อนาคตมีแผนต่อเติม Runway ให้ยาวเพิ่มขึ้นอีก 300 เมตร เพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่เอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครของสนามบินเบตงสนามบินเบตง ออกแบบให้มีความทันสมัยแต่ไม่ลืมกลิ่นอายท้องถิ่น คือยังมีการใช้ไม้ไผ่ตงมาประดับตกแต่งอย่างสวยงามน่ามองบินถึงเบตงแล้วไม่รอช้า ได้เวลาไปเที่ยวชมเสน่ห์อันหลากหลายของเมืองใต้สุดแดนสยาม โดยเริ่มต้นที่ธรรมชาติสุดอลังการ Skywalk ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง
ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง อยู่ที่ตำบลอัยเยอร์เวง บนถนนหมายเลข 410 ช่วง กม.33 เป็นทะเลหมอกที่ Amazing มาก เพราะเที่ยวได้เกือบตลอดปี โดยเฉพาะช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ เราสามารถชมทะเลหมอกสีขาวหนาแน่นราวกับปุยนุ่น ลอยอ้อยอิ่งอาบแสงอาทิตย์ยามเช้า ขอ Confirm เลยว่า นี่คือธรรมชาติ Unseen ที่สวยสู้ทะเลหมอกทางภาคเหนือได้สบายSkywalk ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง เป็น Skywalk ยาวที่สุดในเอเชีย เพราะมีสะพานยื่นออกจากตัวอาคารยาวถึง 50 เมตร แบ่งเป็น 6 ชั้น แต่ละชั้นมีวิวสวยงามต่างกันไป โดย Skywalk ยาว 50 เมตร อยู่ที่ชั้น 3  ลักษณะเป็นสะพานกระจกใส ซึ่งนักท่องเที่ยวต้องใส่ถุงผ้าคลุมรองเท้าไว้กันกระจกเป็นรอย ตอนที่ซื้อตั๋วก่อนขึ้นไปชม เราจะได้รับถุงผ้าคลุมรองเท้านี้มาครับ (ราคาคู่ละ 30 บาท ใช้เสร็จแล้วเอากลับบ้านได้เลย)ที่จุดชมทะเลหมอกเดิมของอัยเยอร์เวง อยู่ห่างจาก Skywalk แค่นิดเดียว ปัจจุบันมีการสร้างหอชมวิวเล็กๆ 2 ชั้นไว้ให้เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยประติมากรรมลอยตัวสามมิติรูปนกเงือก ที่พบในป่าฮาลา-บาลา จ.ยะลา มีทั้งนกเงือกหัวแรด นกเงือกกรามช้าง และนกกาฮัง (นกกก) สร้างไว้ข้างๆ หอคอย Skywalk อัยเยอร์เวง นับเป็นจุดถ่ายภาพใหม่ที่มีเอกลักษณ์มาก นั่งจิบกาแฟร้อนๆ ที่ ร้านกาแฟใต้หมอก ทะเลหมอกอัยเยอร์เวงชมทะเลหมอกอัยเยอร์เวงเสร็จแล้ว ลงเขามาก็เที่ยวน้ำตกต่อได้เลย ชื่อว่า น้ำตกเฉลิมพระเกียรติ ร.9 หรือ น้ำตกอัยเยอร์เค็ม ปากทางเข้าน้ำตกอยู่ริมถนนสาย 410 (ยะลา-เบตง) ช่วง กม.33 ขับรถเข้าไปไม่ไกล จอดรถไว้ แล้วเดินป่าเลียบธารน้ำตกอีกราวๆ 500 เมตร ก็จะพบกับน้ำตกยิ่งใหญ่อลังการจนต้องตะลึง เพราะสายน้ำสีขาวสะอาดไหลทิ้งตัวลงจากหน้าผาสูงไม่ต่ำกว่า 50 เมตร อากาศสดชื่นเย็นสบาย และผืนป่าโดยรอบก็บริสุทธ์เขียวชอุ่มชุ่มชื้นมาก ด้านหน้าน้ำตกมีโขดหินน้อยใหญ่ระเกะระกะ สลับกับวังน้ำให้ลงเล่นน้ำได้ แต่ก็ควรระวังหินลื่นๆ ด้วยล่ะ
ความงดงามตระการตาของ น้ำตกอัยเยอร์เค็ม หรือ น้ำตกเฉลิมพระเกียรติ ร.9 มีทั้งหมด 5 ชั้น

น้ำตกแห่งนี้เดิมชื่อว่า น้ำตก “วังเวง” หรือ “อัยเยอร์เค็ม” เพราะมีชาวจีนที่มาทำเหมืองกับฝรั่งในยุคมลายูเป็นอานานิคมอังกฤษ ชื่อ เข่ง ชาวบ้านเรียก “ไอเข่ง” “ไอเกง” เพี๊ยนเป็น “อัยเยอร์เค็ม” เริ่มมีการพัฒนาบุกเบิกเส้นทางเข้ามาเมื่อ พ.ศ. 2543 และ พ.ศ. 2546 ก็ได้พัฒนาอย่างจริงจัง ใครรักธรรมชาติและการถ่ายภาพมาเที่ยวน้ำตกนี้จะ Happy แน่นอนครับสวนหมื่นบุปผา (สวนดอกไม้เมืองหนาวเบตง) อยู่ที่หมู่บ้านปิยะมิตร 2 โครงการตามพระราชดำริของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  เป็นสวนดอกไม้นานาพันธุ์ตั้งอยู่บนเขา อากาศเย็นสบาย พาคนพิเศษของเราไปทำโรแมนติก ชวนกันถ่ายรูปกับดอกกุหลาบ ดอกฮอลีฮ้อค ดอกแอสเตอร์ สีสันสวยงามไม่แพ้ภาคเหนือ เสร็จแล้วจะนอนค้างในรีสอร์ทสวยได้สบาย ไม่น่าเชื่อเลยว่าสุดชายแดนใต้ของเราจะมีดอกไม้เมืองหนาวให้ชมกันด้วย Amazing!
บ่อน้ำร้อนเบตง อยู่ที่บ้านจะเราะปะไร ตำบลเนาะแม (ห่างจากตัวเมืองเบตง 5 กิโลเมตร บนถนนสาย 410) บ่อน้ำร้อนธรรมชาติแห่งนี้มีควันฉุยตลอดเวลา น้ำอุ่นกำลังดี ต้มไข่สุกได้ใน 7 นาที นักท่องเที่ยวนิยมลงมาอาบแช่แก้เมื่อย รักษาสุขภาพ บ้างก็แก้หนาว ปัจจุบันมีการสร้างรีสอร์ทเอาไว้ให้นักท่องเที่ยวได้นอนพักค้างคืนกันด้วย ใครที่มีเวลาน้อยจะแค่มานั่งแช่เท้าก็รู้สึกชิลแล้วล่ะทางเดินเข้าสู่บ่อน้ำร้อนเบตง สร้างใหม่สวยงาม บรรยากาศเหมือนอยู่ญี่ปุ่นเลยนิบ่อน้ำร้อนเบตงมีอุณหภูมิอยู่ที่ 80 องศาเซลเซียส แต่ในส่วนของบ่อแช่ตัวและแช่เท้า ได้มีการลดอุณหภูมิลงให้พอเหมาะเพื่อสุขภาพที่ดี คือไม่เกิน 40 องศาเซลเซียสบ่อน้ำร้อนเบตง เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจยอดนิยมของคนในท้องถิ่น เช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวที่ชอบมาแวะพักผ่อนอุโมงค์ปิยะมิตร อยู่ที่หมู่บ้านปิยะมิตร 1 ต.ตะเนาะแมเราะ ใช้เส้นทางเดียวกับที่จะไปบ่อน้ำร้อนเบตง (เลยบ่อน้ำร้อนไป 4 กิโลเมตร) ปัจจุบันบริเวณนี้เป็นที่อยู่ของพี่น้องชาวจีนผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ซึ่งเดิมในอดีตเคยเป็นฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา (เขต 2) เขาเหล่านั้นต้องขุดอุโมงค์ใต้ดินยาวกว่า 1 กิโลเมตร กว้าง 50-60 ฟุต เพื่อใช้อยู่อาศัยหลบซ่อนจากการตรวจจับของทางการ โดยสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2519บรรยากาศในอุโมงค์ปิยะมิตร ดูลึกลับดีนะ แต่ไม่ต้องกังวล อากาศถ่ายเทดีหายใจได้สะดวก มีป้ายบอกทางพร้อมลูกศรชี้เตาไร้ควันใช้ทำอาหาในป่า  เพื่อไม่ให้คนภายนอกเห็นออกจากอุโมงค์ปิยะมิตร ขากลับจะเดินผ่าน ต้นไทรยักษ์ 100 ปี ที่มีความสูงกว่า 40-50 เมตร  เป็นจุดถ่ายภาพสวยงามแปลกตา แสดงให้เห็นถึงต้นไทรในธรรมชาติ ที่ทอดรากเลื้อยพันโอบรัดต้นไม้เจ้าบ้านจนตายลง  สุดท้ายเหลือไว้เพียงต้นไทร ที่มีลักษณะเป็นพืชกาฝาก (Parasitic Plant) ออกดอกออกผลให้นกและสัตว์ต่างๆ ได้กินอีกทอดหนึ่งจุดท่องเที่ยวใหม่ที่น่าสนใจในเบตงวันนี้คือ สะพานแตปูซู สามารถจอดรถชมได้ง่าย เพราะอยู่ริมถนน 410 ช่วง กม.32 ไม่ห่างจากทะเลหมอกอัยเยอร์เวง และน้ำตกเฉลิมพระเกียรติ ร.9 มากนัก

ประวัติเล่าว่าในอดีตชาวบ้าน กม.32 ต้องข้ามแม่น้ำปัตตานีสายนี้ด้วยแพไม้ไผ่ ทุกปีมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น ชาวบ้านจึงร่วมแรงร่วมใจบริจาคเงินสร้างสะพานแขวนยาวกว่า 100 เมตร นี้กันเอง สะท้อนถึงความสามัคคีและกลายเป็น Landmark ใหม่ของเบตง ที่น่าไปเก็บภาพประทับใจไว้เบตงเป็นเมืองน่ารัก บรรยากาศสุดชิล เพราะตัวเมืองมีขนาดไม่ใหญ่ไม่เล็กเกินไปในการเที่ยวชม อีกทั้งตัวเมืองยังโอบล้อมด้วยภูเขาเขียวๆ อากาศเย็นสบาย แทบทุกเช้าตรู่จะมีสายหมอกโรยตัวลงห่มคลุม จนเบตงกลายเป็นเมืองในหมอกไม่แพ้ภาคเหนือ นอกจากนี้เบตงยังเป็นเมืองพหุวัฒนธรรม มีทั้งชาวมุสลิม ไทยพุทธ และจีน อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์มาช้านานแล้วสายหมอกยามเช้าตรู่อันหนาวเย็น ห่มคลุมตัวเมือง เบตง ไว้อย่างอ่อนโยนสีสันแต่งแต้มตัวเมือง เบตง ให้น่าเที่ยวน่ามองใกล้วงเวียนหอนาฬิกาเบตง มีซอยเล็กๆ ที่มีภาพ Street Art และโรตีเจ้าดังขายกันยามค่ำ สามารถซื้อใส่ถุงเดินกินเที่ยวแบบสนุกสนานเบิกบานใจหอนาฬิกาเบตง  (ขอบคุณภาพจาก : คุณสุเทพ ช่วยปัญญา เว็บไซต์ The Way News)

เป็นสิ่งก่อสร้างอันเก่าแก่อยู่เคียงคู่กับเมืองเบตงมาช้านาน เปรียบเสมือนสัญลักษณ์จุดศูนย์กลางเมือง สร้างด้วยหินอ่อนอย่างสวยงาม ในยามเย็นจะเห็นฝูงนกนางแอ่นนับพันตัวบินมาเกาะหลับอยู่บนสายไฟรอบๆ หอนาฬิกา กลายเป็นสัญลักษณ์คู่กันไปแล้ว คนเบตงเขามีอารมณ์ขัน บอกว่าถ้าใครมาเที่ยวเบตงแล้วถูกนกนางแอ่นอุจจาระใส่หัว จะต้องกลับมาเที่ยวที่นี่อีก! จะจริงหรือเปล่า คงต้องพิสูจน์ด้วยตัวเอง ฮาฮาฮา หอนามฬิกาเบตงในแต่ละช่วงของปีจะตกแต่งด้วยแสงไฟต่างกัน อย่างช่วงไหนตรงกับงานเทศกาลถือศีลอดของชาวมุสลิม ก็จะประดับประดาด้วยไฟสีรูปดาวและจันทร์เสี้ยว แต่ถ้าช่วงไหนตรงกับเทศกาลของชาวจีน ก็จะประดับประดาด้วยโคมไฟจีนสีแดงอย่างสวยสดงดงามตู้ไปรษณีย์ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย เบตง มีประวัติว่า นายสงวน จิรจินดา นายกเทศมนตรีเทศบาลเบตงคนแรก และเป็นอดีตนายไปรษณีย์โทรเลข เห็นว่าอำเภอเบตงอยู่ห่างไกล จะติดต่อสื่อสารโดยช่องทางอื่นกับโลกภายนอกไม่ได้เลย ยกเว้นทางจดหมาย เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของเมืองเบตงท่านจึงได้สร้างตู้ไปรษณีย์ยักษ์นี้ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2467 โดยสร้างขึ้นที่บริเวณสี่แยกหอนาฬิกาใจกลางเมืองเบตง

ตู้ไปรษณีย์ใหญ่ที่สุดในเมืองไทยของ เบตง ตั้งอยู่ที่ด้านหน้าอาคารสีเหลือง ติดกับวงเวียนหอนาฬิกาเลยครับอาคารเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา

อาคารเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (หรือศาลารับเสด็จ) เป็นแหล่งท่องเที่ยวใกล้เมืองเบตงที่ไม่ควรพลาด เพราะตั้งอยู่บนยอดเขาที่สามารถชมวิวพาโนรามาได้กว้างไกลสุดสายตา อีกทั้งสวยงามด้วยสถาปัตยกรรมไทย รอบๆ ตกแต่งด้วยสวนไม้ดอกไม้ประดับงดงาม ภายในจัดเป็นพิพิธภัณฑ์เก็บรักษางานศิลป์ล้ำค่า ทั้งเครื่องปั้นดินเผา งานเซรามิค งานไม้แกะสลัก และภาพวาดทรงคุณค่ามากมาย เปิดให้เข้าชมเวลา 8.30-16.30 น.จุดชมวิวจากอาคารเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เห็นตัวเมืองเบตงอยู่ไม่ไกลภาพวาดพระบรมสาทิสลักษณ์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในตัวเมืองเบตง

และภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ ในหลวง ร.9 Street Art King Bhumibolใหญ่ที่สุดในเมืองไทย  ขนาด 8×12 เมตร อยู่ที่โรงเรียนอนุบาลเบตง (สุภาพอนุสรณ์) หรือโรงเรียนบ้านเบตง

ภาพวาดในหลวง ร.9 Street Art King Bhumibol ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย วาดขึ้นเพื่อรำลึกถึงการเสด็จเยือนเบตง เมื่อปี พ.ศ.​ 2519 วาดโดย นายชวัส จำปาแสน  หรือ ครูอะไหล่  ครูสอนศิลปะ จากสถาบันสอนศิลปะ Viridian Academy of Art  ศิษย์เก่าจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมม์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พร้อมเพื่อนอาจารย์ อีก 2 ท่าน
Street Art หลากหลายในตัวเมืองเบตง  สะท้อนเอกลักษณ์โดดเด่น และวิถีชีวิตผู้คนอันมีเสน่ห์เบตงวันนี้ไม่ใช่เมืองชายแดนธรรมดาๆ แต่มีการนำศิลปะเข้าไปเติมแต่งจนมีชีวิตชีวาน่าเที่ยวชม ทั้งตึกรามบ้านช่องร้านค้าที่พร้อมใจกันทาสีสดใส มี ภาพ Street Art ตามตรอกซอกซอยต่างๆ น่ารัก โดยเริ่มมีมาตั้งแต่ตอนเมืองเบตงครบ 111 ปี (เมื่อ พ.ศ. 2560) จึงเชิญศิลปินและนักเรียนศิลปะมาช่วยกันเพนท์ภาพ Street Art ไว้ และมีการวาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ Street Art น้องเหมียวสุดน่ารักที่ เบตงภาพ Street Art นกเงือกชนิดต่างๆ ในป่าฮาลา-บาลา จ.ยะลาภาพ Street Art กระทิง ในป่าฮาลา-บาลา จ.ยะลา ภาพ Street Art เบตง สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตและของดีของเด่นของคนที่นี่ มีด้วยกันหลายสิบภาพแบ่งเป็นโซนๆ คือถ้าภาพอยู่ตรงโซนไหน ก็จะเกี่ยวเนื่องกับคนแถวนั้น เช่น ตรงตลาดสดก็จะมีภาพพืชผักผลไม้ต่างๆ และพอเดินเลยไปถึงโซนร้านน้ำชาติ่มซำ ก็จะมีภาพชุดม้านั่งที่มีคนกำลังนั่งจิบชาเปิดสภากาแฟกันอยู่ครับ น่ารักมาก Street Art และวิถีชีวิตที่เบตง หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว สะท้อนจิตวิญญาณซึ่งกันและกันตามตรอกซอกซอยต่างๆ ของตัวเมืองเบตง มีภาพ Street Art เก๋ๆ  ซ่อนอยู่เพียบ ขยันเดินหน่อยก็จะเจออุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์โฉมใหม่  เป็นอุโมงค์ลอดภูเขาแห่งแรกของประเทศไทย ตอนนี้ดู Modern ขึ้นเยอะ แต่เวลาไปถ่ายภาพ ต้องระวังรถที่แล่นไปมาด้วยนะจ๊ะอุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์ อยู่ที่ถนนอมฤทธิ์ตัดกับถนนภักดีดำรง ผ่านสวนสาธารณะออกสู่ถนน บริเวณหน้าสวนนกเชื่อมต่อกับถนนมงคลประจักษ์ ทะลุไปสู่ชุมชนเมืองใหม่หมู่บ้านแกรนด์วิว และเชื่อมต่อกับถนนอัยเยอร์เบอร์จัง ไปสู่ชุมชนธารน้ำทิพย์อีกทอดหนึ่ง เป็นอุโมงค์รถยนต์ลอดภูเขาแห่งแรกของไทย  สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กอย่างดี ยาว 268 เมตร กว้าง 9 เมตร สูง 7 เมตร ผิวจราจรคู่ กว้าง 7 เมตร ทางเท้าเดินกว้างข้างละ 1 เมตร ความเร็วรถวิ่งได้ 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง
สนามกีฬาเบตง เป็นสนามกีฬาท่ามกลางหุบเขาล้อมรอบ เนื้อที่กว่า 120 ไร่ ถือเป็นสนามกีฬามาตรฐานบนระดับความสูงที่สุดของเมืองไทย นอกจากฟุตบอลแล้ว คนเบตงยังนิยมมาเดินหรือวิ่งจ๊อกกิ้งออกกำลังกายกันทุกวันเพื่อรับอากาศบริสุทธิ์จากภูเขา ทำให้เบตงมีศักยภาพสามารถพัฒนาเป็น Sport City ได้ในอนาคตวัดพุทธาธิวาส เป็นวัดสำคัญตั้งเด่นอยู่บนเนินเขา มีพระประธานในอุโบสถเหมือนหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืดเท่าองค์จริง ผู้คนมาสักการะกันไม่ได้ขาด ส่วนภายนอกมี พระมหาธาตุเจดีย์พระพุทธธรรมประกาศ สีทองอร่ามงามเด่น กับพระพุทธรูปปางสมาธิขนาดยักษ์ตั้งอยู่กลางแจ้ง ชื่อ พระพุทธธรรมกายมงคลประยุรเกศานนท์สุพพิธาน  เป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์องค์ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย ให้กราบไหว้กันด้วย ด่านชายแดนอำเภอเบตง-รัฐเปรัก ประเทศมาเลเซีย  เปิดให้ข้ามไปมาได้ปกติแล้วเที่ยวเบตงแล้วถ้ายังไม่หนำใจ จะเที่ยวต่อเข้าไปในในมาเลเซียก็ได้ ด่านพรมแดนเบตงแห่งนี้ทำหน้าที่เหมือนประตูบ้านเชื่อมโยงสองประเทศเข้าหากัน จุดเด่นคือมีป้ายใต้สุดแดนสยามและหลักเขตแดนให้ถ่ายภาพเป็นที่ระลึก หรือจะเลยเข้าไปในมาเลเซียนิดนึง ช้อปปิ้งที่ร้าน Duty Free ปลอดภาษี  ซื้อขนม ช็อกโกแลต เครื่องดื่มต่างๆ รวมถึงกระเป๋า รองเท้า นาฬิกา กลับมาด้วยก็ได้ บ้านโบราณ 150 ปี ชาวจีนฮากกา (หมู่บ้าน กม.4) อยู่ที่หมู่ 1 ต.ตะเนาะแมเราะ อ.เบตง ปากทางเข้าอยู่บริเวณ กม.4 ถนนสาย 410 (ยะลา-เบตง) ไม่ห่างจากร้านวุ้นดำเบตงประวัติเล่าว่าเมื่อ พ.ศ. 2343 มีชาวจีนกลุ่มแรกเดินทางเข้าถึงบริเวณนี้ โดยมาจากมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน นั่งเรือมาขึ้นฝั่งที่มาเลเซีย แล้วเดินหรือนั่งเกวียนเข้ามาสู่อำเภอเบตง ครั้งนั้นมีประมาณ 10-20 คน เป็นคนหนุ่มสาว สภาพพื้นที่ในขณะนั้นยังคงเป็นป่าทึบที่อุดมด้วยสัตว์ป่านานาชนิด ต่อมาจึงมีชาวจีนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานเพิ่มขึ้น เนื่องจากทางการไทย ต้องการคนช่วยบุกเบิกป่า จึงเปิดโอกาสให้คนเข้ามาจับจองที่ดินได้ตามกำลังหมู่บ้าน กม.สี่ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา  ถือเป็นถิ่นอาศัยของชาวไทยเชื้อสาย จีนฮากกา หรือ จีนแคะ หนึ่งในกลุ่มพหุวัฒนธรรมของเบตง ได้แก่ ชาวมุสลิม ชาวจีน และชาวไทยพุทธ บ้านโบราณหลังนี้เป็นของต้นตระกูลแซ่ลู่  อพยพมาจากเมืองจีนและมาสร้างธุรกิจอยู่ที่เกาะปีนัง ประเทศมาเลเซีย ต่อมาขายธุรกิจแล้วมาอยู่ที่เบตง ทางราชการจึงจัดสรรที่ดินให้ทำกิน 20,000 ไร่ ชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกาจึงเรียกบริเวณนี้ว่า “ว่านหยี่ไร่” ในยุคนั้นยังเป็นป่าดงดิบ เริ่มบุกเบิกทำสวน ปลูกผัก ปลูกข้าว ทำโรงสีพลังน้ำตำข้าว ต้นตระกูลลู่สร้างบ้านหลังนี้โดยออกแบบมาจากตัวอักษรจีน ที่ออกเสียงว่า เกา หมายถึง สูง เนื่องจากตัวบ้านตั้งอยู่บนเนินสูง น้ำท่วมไม่ถึงนั่นเองบ้านโบราณหลังนี้เคยใช้เป็นที่หลบซ่อนจากทหารญี่ปุ่น ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2  ปัจจุบันยังพบเห็นช่องลับได้บนเพดานชั้น 2วุ้นดำเบตง กม.4 (เฉาก๊วยแท้) ขนมพื้นบ้านแสนอร่อย ที่ห้ามพลาดชิมเมื่อมาเยือนเบตง ทุกวันนี้ยังทำด้วยกรรมวิธีโบราณ

วุ้นดำเบตง เป็นขนมพื้นบ้านสไตล์จีนที่ใช้ภูมิปัญญาล้วนๆ รังสรรค์ขึ้นมา ทำจากหญ้าชนิดหนึ่งที่ปลูกในประเทศจีน (และอินโดนีเซีย) ปัจจุบันยังทำด้วยกรรมวิธีโบราณ คือใช้เตาไม้ฟืน เวลากินจึงได้กลิ่นหอมของไม้ด้วย กรรมวิธีคร่าวๆ คือ นำหญ้าเฉาก๊วยมาต้มกับส่วนผสมแล้วกรองเอาเฉพาะน้ำ เพื่อแยกหญ้าวุ้นดำออกจากกัน จากนั้นนำแป้งมันสำปะหลังผสมกับน้ำที่ได้จากการกรองในขณะร้อนๆ คนให้เข้ากัน ทิ้งไว้ประมาณ 1 คืน จนเย็นกลายเป็นวุ้น นิยมรับประทานกับน้ำเชื่อมเติมน้ำแข็ง มีสรรพคุณช่วยแก้ร้อนใน ให้ความรู้สึกชื่นใจดีนักแล

ปัจจุบันนี้นอกจากปลาจีนนึ่งซีอิ๊วที่นักท่องเที่ยวนิยมชมชอบกันที่เบตงแล้ว ยังมีเมนูใหม่ที่มาแรงแซงทางโค้ง คือ “ปลานิลสายน้ำไหล” ร้านโกหงิ่ว (โทร. 0-7329-9311, 09-5094-6153) โดยเลี้ยงปลานิลไว้ในบ่อที่ปล่อยให้สายน้ำธรรมชาติไหลผ่านตลอดเวลา จึงได้เนื้อปลานิลสด นุ่ม หวาน ไร้กลิ่นคาว นิยมนำมาลวกจิ้มได้อร่อยเด็ด! ทุเรียนพันธุ์มูซังคิง  (Musang King) ราชาแห่งทุเรียนจากมาเลเซีย ของแท้ต้องมีลายรูปดาวห้าแฉกที่ก้นลูก หาชิมได้ในเบตงประมาณเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม นอกจากนี้เบตงยังมีทุเรียนพันธุ์พวงมณี หมอนทอง ก้านยาว ชะนี และทุเรียนบ้านปักษ์ใต้ ให้ชิมด้วยมาถึงเบตงทั้งที ต้องไปชิมอาหารจีน Signature หลากหลายเมนูที่ ร้านต้าเหยิน (กิตติ) ร้านนี้เปิดมานานกว่า 50-60 ปี มีอาหารขึ้นชื่อของเบตงให้ชิมทุกเมนูครบ เปิดทุกวัน เวลา 10.00-22.00 น.ร้านต้าเหยิน ตั้งอยู่เลขที่ 253 ถนนสุขยางค์ อ.เบตง จ.ยะลา โทร. 0-7323-0461, 0-7324-5189, 08-1599-4654
ชิมอาหารรสเลิศที่ร้านต้าเหยิน โดยเฉพาะ “ไก่เบตง” ของแท้ต้องมาชิมที่อำเภอเบตงเท่านั้น เนื้อไก่เหนียวนุ่ม มันน้อย หวานในปาก เคี้ยวง่าย ส่วนหนังไก่เป็นสีเหลืองทอง กรอบ ไม่มีชั้นไขมันหนาอยู่ใต้ผิวหนังเหมือนไก่เลี้ยงสายพันธุ์อื่น เพราะไก่เบตงเวลาเลี้ยงต้องปล่อยให้วิ่งเล่นไปมาอย่างอิสระ ว่ากันว่าเมื่อร้อยกว่าปีก่อน มีชาวจีนนำพันธุ์ไก่เข้ามาจากจีนตอนใต้ เลี้ยงกันแพร่หลาย ทว่ากว่าจะจับขายได้แต่ละตัว ต้องรอนาย 6 เดือน หรือ 1 ปี จำนวนผู้เลี้ยงจึงลดลง ปัจจุบันเหลือเลี้ยงอยู่จริงไม่กี่เจ้า ไก่เบตงของร้านต้าเหยินอร่อยเป็นพิเศษ ​เพราะใช้ซีอิ๊วดำทำเองด้วย
เต้าหู้บ๊อก, ปลานิลน้ำไหลราดพริก, หมูย่างหมั่นโถว, ถั่วเจี๋ยน (ร้านต้าเหยิน)ผัดผักน้ำเบตง, ปลาจีนนึ่งซีอิ๊ว, หมูเต้าหู้ยี้, แกงจืดหมักชอย (ร้านต้าเหยิน)หมูย่างต้าเหยิน, กบภูเขาทอดกระเทียม, เคาหยก, ผัดต้นอ่อนทานตะวัน (ร้านต้าเหยิน)อาหารจีนในเบตงที่อยากแนะนำอีกร้าน คือ ร้านใบหยก หรือ Baiyok Restaurant (อยู่ติดกับวงเวียนหอนาฬิกา) เป็นร้านเก่าแก่ที่ห้ามพลาด เพราะทุกเมนูยังคงรสชาติดั้งเดิมแบบเบตงแท้ มิได้ผิดเพี้ยน ร้านเปิดทุกวัน เวลา 8.30-20.00 น. โทร. 08-6964-4692 / www.facebook.com/BaiyokBetong/ ก่อนไปกิน แนะนำให้โทร.จองโต๊ะก่อนนะ จะได้ไม่ผิวหวังยังไม่หมดนะครับ ยังมี ร้านก้งถง (อยู่ใกล้โรงแรม Grandview Landmark Hotel) เป็นร้านอาหารจีนเปิดใหม่ มีเมนูน่าชิมของเบตงครบ ทั้งไก่เบตง ไก่เก้าชั่ง ถั่วเจี๋ยน เคาหยก ฯลฯ ลองแวะไปชิมกันนะครับ

(ขอบคุณภาพจาก : คุณใหญ่ Thailand Fotobook)
ขอบอกว่าอาหารจีนยามเช้าในเมืองเบตงนั้นอลังการไม่ใช่เล่น เพราะที่นี่มีคนจีนอาศัยอยู่มาก เป็นชาวจีนกวางไสจากกว่างซีจ้วง และชาวจีนฮกเกี้ยน วัฒนธรรมการกินของพวกเขาสืบทอดกันมา อย่างติ่มซำยามเช้าที่มีให้เลือกเพียบ ในเบตงมีหลายร้าน เช่น ร้านไทซีฮี้ และร้านเซ้งติ่มซำ  Location อยู่แถวๆ หอนาฬิกาและตู้ไปรษณีย์ยักษ์ มองไปเห็นชัดเลย

ก่อนกลับบ้าน อย่าลืมแวะซื้อของฝากมากมายที่ ร้านสุมะโน (โทร.06-6156-6424) ร้านของฝากแบบดั้งเดิมของชาวเบตงโด่งดังมานานกว่า 65 ปี โดยเฉพาะขนมเปี๊ยะโบราณ และขนมไหว้พระจันทร์สูตรเบตงร้านรวมสินค้า OTOP หลากหลายของเบตงที่ One Stop Service โรงเรียนบ้านเบตง หรือ โรงเรียนอนุบาลเบตง (อยู่ใกล้กับภาพวาดในหลวง ร.9 ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย) ร้านนี้เน้นสินค้าจากท้องถิ่นจริงๆ ครับ รวมถึงนำผลงานฝีมือหัตถกรรมของนักเรียนมาจำหน่าย สร้างรายได้ ฝึกทักษะ เสริมกำลังใจให้เด็กๆ มีทุนการศึกษาเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีมุมกาแฟและอาหารจำหน่ายด้วย แนะนำที่พักเปิดใหม่ สะอาด โอ่โถง สะดวกสบาย โรงแรม Grandview Landmark Hotel (โทร. 0-7323-4888) ตั้งอยู่ใกล้จุดท่องเที่ยวต่างๆ ภายในตัวเมืองเบตง เดินทางง่าย และมีห้องพักหลายแบบให้เลือก อีกทั้งมีห้องประชุมขนาดใหญ่ ที่จอดรถกว้าง จากโรงแรมสามารถเดินไปแค่ไม่กี่ก้าว ก็ถึงร้านอาหารจีน ร้านก้งถง และอุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์

(ขอบคุณภาพจาก : คุณใหญ่ Thailand Fotobook)

สนใจซื้อแพ็กเกจทัวร์ “เบตง หรอยแรง แหล่งใต้ 2022”ได้ที่ บริษัท เมืองไทย ครีเอทีฟ แอนด์ ทัวร์ จำกัด

โทร. 081-251-2207, 085-065-8144, 064-232-2878

ถ้าใช้สิทธิ์โครงการทัวร์เที่ยวไทย รัฐจะช่วยจ่ายค่าแพ็กเกจทัวร์ให้ถึง 40 เปอร์เซนต์ สูงสุดไม่เกิน 5,000 บาท

เสน่ห์อีสานใต้ สุขใจเมื่อไป สุรินทร์

“อีสาน” ดินแดนแห่งความงดงามในวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และธรรมชาติอันสวยสดงดงาม ทริปนี้เราจะไปเที่ยว “จังหวัดสุรินทร์” ถิ่นอีสานใต้ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นถึงแง่มุมใหม่ๆในสไตล์เที่ยวตัวปลิวชิลอีสานแสนสุขใจ เมื่อพูดถึงสุรินทร์ คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงภาพหมู่บ้านช้างเลี้ยงที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ บ้านตากลาง นึกถึงข้าวหอมมะลิพันธุ์ดี และแน่นอนว่าต้องนึกถึงภาพวิถีชีวิตการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เพื่อนำมาทอผ้าไหมชั้นเลิศ ที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ เนื้อบางเบาเงางาม สวมใส่แล้วสบายระบายความร้อนได้ดี ผ้าไหมสุรินทร์จึงเป็นหนึ่งในหัตถกรรมเลื่องชื่อมาช้านาน ณ หมู่ 3 ตำบลเขวาสินรินทร์ อำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ เราได้พบกับกลุ่ม “สิบธันวาทำมือ” (โทร. 09-8119-2389) แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่นำเอาเสน่ห์ของผ้าไหมออกมาให้เราสัมผัสอย่างใกล้ชิด ก่อกำเนิดขึ้นจาก คุณคณิศร ชาวนา ผู้นำกลุ่มสิบธันวาทำมือ โดยตั้งชื่อตามวันเกิดของตัวเอง คือ 10 ธันวาคม เริ่มต้นจากการรวมกลุ่มเล็กๆ พอมีรายได้ในชุมชน ต่อมาจึงขยายเป็นแหล่งสาธิตให้คนทั่วไปได้เรียนรู้เรื่องผ้าไหมอย่างครบวงจร พร้อมกิจกรรม DIY ให้ลองทำกันด้วยภายในศูนย์เรียนรู้มีชาวบ้านที่เชี่ยวชาญช่ำชองในการทอผ้าไหม มานั่งสาธิตขั้นตอนต่างๆ ให้เราชม สร้างความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างเจ้าบ้านกับผู้มาเยือน ตั้งแต่การเลี้ยงไหม สาวไหม ผูกลายก่อนนำไปย้อม ย้อมสีธรรมชาติ กรอเส้นไหมเข้ากระสวย และการทอผ้าไหมมัดหมี่ที่วิจิตรงดงาม การผูกลายก่อนนำไปย้อมและทอ จนเกิดผ้าไหมมัดหมี่ที่สวยงามของเขวาสิรินทร์ รังไหมที่มีตัวดักแด้อยู่ภายใน นำมาต้มเพื่อดึงเส้นไหมบอบบางออกมากรอรวมกันก่อนนำไปย้อมและทอ ขั้นตอนนี้ชาวบ้านจะไม่ทำในวันพระ เพื่อละเว้นชีวิตเจ้าดักแด้น้อยผู้เสียสละให้เกิดผ้าไหมผืนงาม เส้นไหมและฝ้ายของกลุ่มสิบธันวาทำมือ ย้อมด้วยสีธรรมชาติล้วนๆ จึงน่าสวมใส่และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยนำวัสดุธรรมชาติอย่างเปลือกไม้ใบไม้ในท้องถิ่นมาใช้ได้อย่างครบคุณค่า
ชมขั้นตอนการทำผ้าไหมมัดหมี่เสร็จแล้ว ก็ได้เวลาเข้าไปช้อปปิ้งผ้าไหมงามๆ ในร้านเพื่ออุดหนุนกระจายรายได้และเป็นกำลังใจให้ชาวบ้านกันด้วย เหล่านี้คืองานศิลปะบนผืนผ้าแพรพรรณที่ต้องใช้ทักษะเวลาและความอุตสาหะอย่างสูง ดังนั้นเวลาซื้อก็อย่าไปต่อราคาชาวบ้านเลยนะจ๊ะ สุขใจทุกครั้งเมื่อได้มาเยือนสุรินทร์ ถิ่นผ้าไหมงาม ที่น้ำใจไมตรีของผู้คนก็งดงามไม่แพ้กัน สุรินทร์ไม่ได้มีดีแค่ช้างและผ้าไหมนะจ๊ะ แต่ชาวบ้านเขายังมีทักษะการสานหวายได้อย่างประณีตงดงาม และทนทนานน่าใช้ ลองเดินทางไปที่ “บ้านบุทม” ตำบลเมืองที อำเภอเมืองสุรินทร์ สัมผัสชุมชนน่ารักที่มีสินค้าหัตถกรรมชั้นเลิศ และยังได้เป็นชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีด้วยนะ (ติดต่อหมู่บ้านหัตถกรรมจักสานบุทม โทร. 0-4454-9044, 08-1065-2397, 08-1660-9714)

บ้านบุทม (เบาะทม) เป็นภาษาเขมร เบาะ” แปลว่า ที่ดอนซึ่งเต็มไปด้วยป่า” แต่ถูกถากถางทำไร่ และ ทม” แปลว่า “ใหญ่” รวมความว่า ป่ารกชัฏและมีการถากถางทำไร่ขนาดใหญ่

ชาวบ้านส่วนใหญ่ของบ้านบุทม ทำจักสานหวายเกือบทุกครัวเรือน โดยทำนาเป็นอาชีพหลักและทำจักสานเป็นอาชีพเสริม การจักสานนี้ทำกันมากว่า 60 ปีแล้ว จุดเริ่มต้นคือเมื่อปี พ.ศ. 2473 นายลีง เลิศล้ำ นายเหลี่ยม ภาสวัสดี และนายพัน กล้ายิ่ง ได้เรียนรู้การจักสานหวายมาจากเรือนจำจังหวัดสุรินทร์ หลังจากนั้นก็นำมาทำจักสานตะกร้าหวายเลี้ยงครอบครัว ภายหลังจึงได้ถ่ายทอดความรู้สู่ชาวบ้านจุดเด่นงานจักสานของบ้านบุทม คือใช้ลวดลายดั้งเดิม คือ “ลายลูกกรง” เป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้ผลิตภัณฑ์สวยงาม แข็งแรง เพราะใช้หวายทั้งต้น เหมาะกับการใช้งาน รูปแบบดั้งเดิมได้พัฒนามาสู่ตลาดสากล ใช้หวายเส้นเล็ก (หวายหางหนู) ที่เหนียวและผิวมัน ปัจจุบันหวายบ้านบุทม ได้รับรองมาตรฐานชุมชนจากกระทรวงอุตสาหกรรมเรียบร้อยแล้ว
ชาวบ้านบอกว่า เครื่องหวายเหล่านี้เมื่อใช้ไปนานๆ ถ้ารู้สึกว่ามันเก่า ให้ลองนำไปแช่น้ำมะนาวผสมน้ำทิ้งไว้สักพัก ล้างน้ำเปล่าให้สะอาด ผึ่งแดดให้แห้ง ก็จะกลับมาดูใหม่เหมือนเดิม ใช้ไปได้อีกนานมากๆประณีตศิลป์อีกอย่างหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงมากของสุรินทร์มาช้านาน ก็คือ “การทำเครื่องเงิน” ใช้ใส่เป็นเครื่องประดับชุดผ้าไหมเนื้อเนียนละเอียดได้เข้าคู่เหมาะเจาะสุดๆ โดยเฉพาะที่ บ้านโชค ตำบลเขวาสิรินทร์ อำเภอเขวาสิรินทร์  “ร้านเครื่องเงิน ลุงป่วน เจียวทอง” แหล่งผลิตเครื่องเงินด้วยวิธีดั้งเดิม และยังอนุรักษ์ลายโบราณ 13 ลายไว้เป็นมรดกของแผ่นดิน แหล่งจำหน่ายเครื่องเงินและสินค้า OTOP ของสุรินทร์มีอยู่ทั่วไป ที่ใกล้ๆ หมู่บ้านช้างก็มีหลายแห่ง เราสามารถไปเดินเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากงาช้าง, แหวนจากขนหางช้าง,​ ไม้แกะสลัก, ผ้าทอ ฯลฯ หลังจากช่วงเกี่ยวข้าวแล้ว ใครมาเที่ยวสุรินทร์ในเดือนมกราคม-มีนาคม ก็จะได้ยลภาพงดงามน่าประทับใจของ “ทุ่งดอกปอเทืองสีเหลืองอร่าม” ซึ่งชาวบ้านปลูกสลับกับช่วงเว้นว่างจากนาข้าว เพื่อให้ต้นปอเทืองดึงไนโตรเจนในอากาศลงไปบำรุงดินเพิ่มเติมธาตุอาหาร และได้กลายเป็นจุดถ่ายภาพใหม่ให้นักท่องเที่ยวด้วย ไม่ต้องไปดูทุ่งดอกไม้ไกลถึงต่างประเทศเลยจ้า
สำหรับนักปั่นจักรยาน การเที่ยวชมทุ่งดอกปอเทืองในจังหวัดสุรินทร์ ก็น่าจะเป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ สุรินทร์ยังมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร หรือ Agro-Tourism ด้วย ไม่ไปเห็นกับตาคงไม่รู้ ที่นี่ชื่อ “ตั้งถาวรฟาร์ม” (Tangtaworn Farm) อยู่หมู่ 2 ตำบลยะวึก อำเภอชุมพลบุรี (โทร. 06-1029-6557) หน้าฟาร์มและร้านอาหารของที่นี่เปิดทุกวัน อีกทั้งอยู่ห่างจากสนามบินบุรีรัมย์แค่สิบกว่ากิโลเมตรเท่านั้น เที่ยวง่ายเที่ยวสบาย Happy กันทั้งครอบครัว
ตั้งถาวรฟาร์ม มีชื่อเสียงที่สุดในเรื่องเมล่อนรสเลิศหลากหลายสายพันธุ์ ที่นำมาปลูกได้งอกงามดีในดินทุ่งกุลาร้องไห้ของจังหวัดสุรินทร์ นอกจากนี้ยังมีพืชผักปลอดสารพิษในโรงเรือน นำออกมาจำหน่ายและปรุงเป็นอาหารเมนูต่างๆ เสิร์ฟให้ชิมกันทุกวันในร้านอาหารติดแอร์เย็นฉ่ำ
ตั้งถาวรฟาร์ม คือแหล่งปลูกเมล่อนเมืองช้างกลางทุ่งกุลาร้องไห้ นอกจากนี้ยังมีน้ำเมล่อนปั่น สมูทตี้เมล่อน ไอศครีมเมล่อน กาแฟสด ก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋น ฯลฯ เดินทางกันมาเหนื่อยๆ แวะพักชิมผลไม้และอาหารสดอร่อยที่ดีต่อสุขภาพกันนะ เมล่อนของตั้งถาวรฟาร์มมีทั้งแบบเนื้อกรอบและเนื้อนิ่ม ความหวานก็เป็นธรรมชาติมากๆ ไม่มีการเร่งหรือเพิ่มเติม เหมาะสำหรับคนรักสุขภาพเป็นที่สุด ชิมเมล่อนเสร็จก็ต่อกันด้วยแตงโมไร้เมล็ดที่ชื่นใจ ช่วยคลายร้อนได้เป็นอย่างดี มะเขือเทศ Organic ของตั้งถาวรฟาร์ม หวานกรอบอร่อย ดีต่อสุขภาพสุดๆ
ข้าวโพดหวานแบบกินสด ปอกเปลือกออกกินได้ทันที เนื้อมีความกรอบและหวานน้อยๆ กำลังดีส้มตำเมล่อน ของตั้งถาวรฟาร์ม มาแล้วต้องชิม ไม่ชิมถือว่ามาไม่ถึงเนอะ
ไปกินกันต่อที่ “ฟาร์มเห็ดลุงกะทิ” บ้านบุทม ตำบลเมืองที อำเภอเมืองสุรินทร์ (โทร. 08-9881-5040) ร้านอาหารเล็กๆ แต่คุณภาพคับจานคับแก้ว เพราะเป็นร้านแรกที่เสิร์ฟก๋วยเตี๋ยวที่ทำจากเส้นเห็ดสุขภาพให้เราได้ชิมกัน ร้านนี้เปิดขายทุกวัน ตั้งแต่เวลา 9.00-17.00 น. อยู่ที่ กม.14 ถนนสุรินทร์-ศีขรภูมิ ใกล้โรงเรียนรามวิทยารัชมังคลาภิเษก อยู่ริมถนนมองเห็นได้ชัดเจนเลย ฟาร์มเห็ดแห่งนี้เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของ คุณฉัตรชัย ชัยวงษ์ และคุณสาวสายฝน ดวงคำ สองสามีภรรยาที่พลิกชีวิตจากอาชีพวิศวกรโรงงาน มาทำเกษตรอย่างยั่งยืนโดยเน้นไปที่การเพาะเห็ดสายพันธุ์ต่างๆ ทั้งเห็ดนางฟ้าภูฐาน, เห็ดนางรมฮังการี, เห็ดนางนวล, เห็ดขอนขาว, เห็ดนางรมทอง, เห็ดหลินจือ และเห็ดโคนน้อย เป็นต้นเส้นก๋วยเตี๋ยวทำจากเห็ดสดๆ ซึ่งทำกันแบบชามต่อชาม จึงไว้ใจได้ในเรื่องคุณภาพและความสะอาด นอกจากเห็ดสดและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเห็ดในราคาย่อมเยาว์แล้ว ต้องไม่พลาดสั่ง “ก๋วยเตี๋ยวเส้นเห็ด”  น้ำซุปหอมอร่อย ชามละ 40 บาท ต่อด้วย ส้มตำเห็ด จานละ 60 บาท เห็ดทอดกรอบและเกี๊ยวเห็ดเข็มทอง จานละ 40 บาทเท่านั้น เห็ดทอดฟาร์มลุงกะทิหน้าตาเป็นแบบนี้เองจ้า ชิมกันให้อิ่มแปล้ไปเลย กับเห็ดสุขภาพหลากหลายเมนูที่ฟาร์มลุงกะทิ จ.สุรินทร์
อิ่มแล้ว ก็ได้เวลาเข้าไปชมโรงเรือนเพาะเห็ด เผื่อใครได้แรงบันดาลใจจะกลับไปทำเป็นอาชีพได้นะ

ก่อนโบกมือลาสุรินทร์ เราลองมาสัมผัสร้านกาแฟเก๋ๆ ชิลๆ กันบ้าง รับรองว่าถูกใจวัยโจ๋แน่นอน ร้านแรกชื่อ “Craft Cafe” อยู่เลขที่ 139 ถนนสุรนิทร์ภักดี ในเทศบาลเมืองสุรินทร์ (โทร. 09-5605-4281) นอกจากความน่ารักของการตกแต่งร้านให้ดูเหมือนบ้าน และห้องนั่งเล่นที่เต็มไปด้วยหนังสือน่าอ่านแล้ว เรายังมีความสุขกับรอยยิ้มของเจ้าของร้าน ที่พร้อมเสิร์ฟเครื่องดื่มและเค้กต่างๆ ให้ชิมกันได้ทุกวัน สามารถมานั่ง Hangout พูดคุยสรวนเสเฮฮากับเพื่อนๆ ได้นานๆ อย่างไม่น่าเบื่อเลย ร้านกาแฟสุดฮิปในสไตล์เหมือนอยู่บ้านอีกแห่ง คือ “Life Coffee @Home” เลขที่ 267 ถนนศรีพัฒนา อำเภอเมืองสุรินทร์ (โทร. 08-6866-5503) จุดนัดพบใหม่ของคนรุ่นใหม่ ซึ่งเราไม่ควรพลาด ภายในร้านมีมุมน่ารักๆ ให้นั่งชิลได้นานๆ ตกแต่งด้วยแสงไฟสีอุ่น มองออกไปด้านนอกเห็นสวนสวยสีเขียวเย็นตาอยู่ใกล้แค่เอื้อม แค่มีหนังสือดีๆ สักเล่ม และเครื่องดื่มที่ถูกใจสักแก้ว ก็สุขเกินใครแล้ว สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงาน จ.สุรินทร์ โทร. 0-4451-4447

แต่งงานบนหลังช้าง จ.สุรินทร์ พิธีซัตเต แห่งเดียวในโลก (ตอน 2)

หลังจาก “พิธีฮาวปลึงจองได” หรือ “พิธีบายศรีสู่ขวัญ” เจ้าบ่าวเจ้าสาวทั้ง 60 คู่ เมื่อวันที่ 13 กุมพาพันธ์ 2563 เสร็จเรียบร้อยแล้ว ในวันถัดมาซึ่งเป็นวันแห่งความรัก 14 กุมภาพันธ์ งานใหญ่อีกงาน ณ บ้านตากลาง อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ก็รออยู่ คือ “การแต่งงานและจดทะเบียนสมรสบนหลังช้าง” แห่งเดียวในโลกคุณธมนวรรณ เจริญวงศ์พิสิฐ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสุรินทร์  พร้อมด้วยผู้มีเกียรติหลายท่าน เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในวันแห่งความรักอันยิ่งใหญ่นี้ ยามเช้าอากาศกำลังดี ขบวนแห่เจ้าบ่าวบนหลังช้างทั้ง 60 เชือก อันคึกคักเปี่ยมสีสัน ก็เริ่มเคลื่อนขบวนผ่านศูนย์คชศึกษา ไปสู่ Elephant World เพื่อพบกับเจ้าสาวแสนสวยที่รออยู่
ความงดงามและความยิ่งใหญ่ของขบวนแห่เจ้าบ่าวบนหลังช้างทั้ง 60 เชือก ภาพนี้คือภาพประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง เพราะมีเพียงแห่งเดียวในโลก ที่บ้านตากลาง อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ช้างของเจ้าบ่าวหมายเลข 1 เป็นช้างพลายแก่งายาว ซึ่งหาได้ยากยิ่งแล้วในปัจจุบันช้างของเจ้าบ่าวหมายเลข 12 ก็เป็นช้างพลายที่มีขนาดใหญ่มากเช่นกัน ความสวยงามน่าประทับใจของขบวนช้าง ที่ทยอยนำเจ้าบ่าวเข้าสู่ Elephant World บ้านตากลาง เจ้าสาวทั้ง 60 คน นั่งรอขบวนเจ้าบ่าวด้วยใจระทึกเจ้าสาวในชุดชาวกูยอันวิจิตรงดงาม จุดเด่นอยู่ที่ “จะลอม” หรือมงกุฎใบตาลเอกลักษณ์เฉพาะ เจ้าสาวชาวกัมพูชา ในพิธีซัตเต 2563 สวยงามเปี่ยมด้วยอัตลักษณ์ของชาวกูย โบกมือให้ขบวนเจ้าบ่าวที่เดินเข้าสู่ Elephant World ความรักอบอวลไปทั่วบริเวณงานซัตเต
เจ้าบ่าวในชุดชาวกูย คาดหัวด้วยด้ายสามสี (แดง น้ำเงิน และขาว) ส่วนเจ้าสาวแต่งกายชุดชาวกูย สวมมงกุฎใบตาล ทำให้เรียกกันว่า “เจ้าสาวมงกุฎใบตาล”

เมื่อสวมแหวนหางช้างให้กันแล้ว เจ้าบ่าวก็มอบดอกกุหลาบสีแดงเป็นตัวแทนแห่งความรักให้เจ้าสาว จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายเรียบร้อยแล้ว สำหรับคู่เบอร์ 14 ในวันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ พอดิบพอดีเลยนะจ๊ะ ยินดีด้วยจริงๆ พ่อหมอช้างชาวกูยรุ่นสุดท้าย ซึ่งครั้งหนึ่งในอดีตเคยเข้าป่าไปคล้องช้างจับช้างป่าจริงๆ บัดนี้เหลือเพียงเรื่องเล่าอันทรงคุณค่า และวันนี้ท่านได้มาเป็นผู้นำประกอบพิธีซัตเต 2563 พ่อหมอช้างชาวกูยแห่งบ้านตากลาง เดินไปรับขบวนบ่าวสาวเข้าสู่ปรัมพิธีซัตเต แม่เฒ่าชาวกูยแห่งบ้านตากลาง ยืนรอรับขบวนบ่าวสาวที่ซุ้มดอกไม้สวยงาม โดยมีการกั้นประตูเงินประตูทองก่อนเข้าสู่ปรัมพิธีซัตเต พ่อหมอช้างนำขบวนผ่านซุ้มดอกไม้ประตูเงินประตูทอง ตามแบบวัฒนธรรมชาวกูย ผู้เฒ่าผู้แก่ เดินนำเจ้าบ่าวเจ้าสาวเข้าสู่ปรัมพิธีซัตเต ใน Elephant World บ้านตากลาง

“ซัตเต” คือการผูกข้อไม้ข้อมือเพื่อบายศรีสู่ขวัญในวันแต่งงานตามวัฒนธรรมชาวกูย การแต่งกายฝ่ายเจ้าสาวนุ่งผ้าซิ่นลายไหมของชาวกูย เสื้อแขนกระบอกสีอ่อน ผ้าสไบสีแดง สวมศีรษะด้วย “จะลอม” ซึ่งเป็นมงกุฎทำจากใบตาล ส่วนเจ้าบ่าวนุ่งโสร่งไหมผ้ากระเนียว เสื้อแขนยาว ผ้าไหมพาดบ่า มีด้ายมงคล 3 สี สวมศีรษะ

เมื่อประกอบพิธีซัดเตเสร็จแล้ว ก็จะมีการเลี้ยงอาหารช้างด้วย

พิธีซัตเต มีด้วยกัน 4 ขั้นตอน

ขั้นที่ 1 “จีเจาะกะมอล”  การไปทาบทาม บอกเล่าว่าลูกชายมารักชอบลูกสาว

ขั้นที่ 2 “จีเมาะกะมอล”  การที่ฝ่ายเจ้าบ่าวไปตกลงค่าสินสอดทองหมั้นกับฝ่ายเจ้าสาว

ขั้นที่ 3 “จีโต๊ะ”  การไปหมั้นหมาย มีอุปกรณ์ คือ หมาก พลู เหล้า บุหรี่ ทองหมั้น หรือเงิน ถ้าตกลงค่าสินสอดทองหมั้นเท่าไหร่ ให้นำมาวางในวันหมั้น ส่วนที่ขาดให้นำมาในวันซัตเต หรือวันแต่งงาน

ขั้นที่ 4 “ซัตเต”  คือพิธีแต่งงาน

อุปกรณ์ประกอบ “พิธีซัตเต” มีดังนี้

– อะลิเครื่องมาด  คือหมูที่ฆ่าแล้วแต่ยังไม่ชำแหละ เมื่อเจ้าบ่าวนำมาส่งจะต้องแบ่งปันกัน
– อะลิกะมูย  คือ หมูเครื่องเซ่น ทางฝ่ายเจ้าบ่าวนำมาเซ่นผีบรรพบุรุษ โดยไม่ต้องแบ่งฝ่ายเจ้าสาว
– น้ำตาลอ้อย  ทำจากน้ำอ้อยบรรจุในใบตาล ใช้ไหว้ญาติผู้ใหญ่
– กระบุง 1 คู่  ในกระบุงบรรจุข้าวเปลือก มีหินลับมีดวางอยู่ข้างข้าวเปลือก
– เต่าน้ำจืด 1 ตัว 
– ปลาแห้ง  (พอสมควร)
– พานบายศรี  (มีด้ายมงคลไว้ผูกข้อมือ)
– ไก่ต้มทั้งตัว  (ใช้เซ่นผีบรรพบุรุษ)
– ผ้าไหมใหม่  (สำหรับไหว้พ่อแม่เจ้าบ่าว คนละชุด และผลัดเปลี่ยนในพิธีอาบน้ำ 1 ชุด

ความสุขและความชื่นมื่นในพิธีซัตเต 2563 พิธีฮาวปลึงจองได และพิธีซัตเต ตามวิถีวัฒนธรรมชาวกูยบ้านตากลาง จังหวัดสุรินทร์  คือการสืบสานวัฒนธรรมอันดีของชาติไทยไว้มิให้สูญหาย และช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวในเขตอีสานใต้แห่งนี้ ให้คึกคัก มั่งคั่ง ยืนยืน ตลอดไป
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงาน จ.สุรินทร์ โทร. 0-4451-4447

แต่งงานบนหลังช้าง จ.สุรินทร์ พิธีฮาวปลึงจองได แห่งเดียวในโลก (ตอน 1)

“ช้าง” คือสัตว์ประจำชาติไทย ที่เราทุกคนภาคภูมิใจ และ “จังหวัดสุรินทร์” ก็คือดินแดนของช้างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดบนผืนดินสยามในปัจจุบัน “บ้านตากลาง” ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ถือเป็นชุมชนเก่าแก่หลายร้อยปีที่มีชาวกูย (หรือชาวกวย) อาศัยอยู่ อีกทั้งยังลือชื่อในฐานะ “หมู่บ้านช้างเลี้ยงที่ใหญ่ที่สุดในโลก” โดยมีช้างอยู่กว่า 300 เชือก

ทุกปีในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ วันแห่งความรัก จังหวัดสุรินทร์ร่วมกับพันธมิตรหลายหน่วยงาน ได้จัด “งานแต่งงานและจดทะเบียนสมรสบนหลังช้าง” ขึ้นอย่างตื่นตาตื่นใจ โดยปีนี้ถือเป็นการครบรอบ 60 ปี งานช้างสุรินทร์ จึงมีเจ้าบ่าวเจ้าสาวเข้าร่วมแต่งงานมากถึง 60 คู่ เป็นประวัติศาสตร์
งานปี 2563 นี้ แบ่งออกเป็น 2 วัน โดยวันแรกในช่วงเย็นของ 13 กุมภาพันธ์ ณ ลานกิจกรรมสวนเฉลิมพระเกียรติ อำเภอเมืองสุรินทร์ ได้จัดให้มี “พิธีฮาวปลึงจองได” หรือ “การบายศรีสู่ขวัญ” เจ้าบ่าวเจ้าสาวทั้ง 60 คู่ ซึ่งถือเป็นพิธีเก่าแก่ของชาวของกูยเขมร ที่จะนำพาศิริมงคลชีวิตมาสู่ทุกคนที่เข้าร่วม บรรยากาศในงานเต็มไปด้วยความชื่นมื่นและอบอวลด้วยความรัก บ่าวสาวทั้ง 60 คู่ แต่งกายสวยงามแบบชาวกูยโบราณ พร้อมด้วยเพื่อนฝูงและญาติสนิท ที่มาร่วมกินเลี้ยงกันในค่ำคืนนี้ หลังจากพิธีบายศรีสู่ขวัญผูกข้อไม้ข้อมือแล้ว โดยในปีนี้มีชาวต่างประเทศเข้าร่วมหลายคู่ ทั้งจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และกัมพูชา เป็นต้น บ่งบอกได้เลยว่าความรักนั้นไร้พรมแดนจริงๆ นุ่งผ้าไหมใส่ปะเกือม (เครื่องเงิน) ตามแบบชาวกูยสุรินทร์แท้ๆ คู่นี้น่ารักไม่แพ้ใครเลยจ้า เจ้าบ่าวชาวไทยและเจ้าสาวชาวกัมพูชา ควงคู่เข้าสู่พิธีฮาวปลึงจองได พิธีฮาวปลึงจองไดปีนี้พิเศษกว่าทุกปี เพราะจัดยิ่งใหญ่ฉลองครบรอบ 60 ปี งานช้างสุรินทร์ จึงประดับไฟแสงสีฟรุ้งฟริ้งกันอย่างตื่นตาตื่นใจเลย รักไร้พรมแดน ถ้าหัวใจเราเต้นเป็นจังหวะเดียวกัน ก็ใช้ชีวิตคู่ด้วยกันได้ล่ะก่อนเริ่มพิธีฮาวปลึงจองได บ่าวสาวก็เข้ามาประจำอยู่ที่ภาพถ่ายของตนเอง เพื่อให้เพื่อนฝูง ญาติมิตร และสื่อมวลชน เก็บภาพน่ารักๆ กันอย่างเต็มอิ่ม ได้เวลาฤกษ์งามยามดี ขบวนแห่เจ้าบ่าวทั้ง 60 คน ที่นำโดยพานพุ่มหมากเบงและนางรำ ก็เริ่มเคลื่อนตัว เพื่อให้เจ้าบ่าวไปรับเจ้าสาวของตนเอง แล้วเดินเคียงคู่กันเข้าสู่ปรัมพิธี ฮาวปลึงจองได เจ้าบ่าวเดินเรียงแถวเข้าไปรับเจ้าสาวที่รออยู่ เจ้าบ่าวเจ้าสาวกิตติมศักดิ์ เดินนำขบวนเข้าสู่ปรัมพิธีฮาวปลึงจองไดเป็นคู่แรก ค่ำคืนแห่งความสุข “ฮาวปลึงจองได” เจ้าบ่าวเจ้าสาวทั้ง 60 คู่ ได้รับการผูกข้อไม้ข้อมือเป็นที่เรียบร้อย ต่อด้วยงานกินเลี้ยงกันอย่างอิ่มเอมเปรมปรี รอวันพรุ่งนี้ 14 กุมภาพันธ์ จะได้เดินทางสู่หมู่บ้านช้าง แล้วเข้าร่วม “พิธีซัตเต” และ “พิธีจดทะเบียนสมรสบนหลังช้าง” อย่างยิ่งใหญ่ต่อไปคุณธมนวรรณ เจริญวงศ์พิสิฐ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสุรินทร์  ร่วมเป็นเกียรติ ในพิธีฮาวปลึงจองได 2563สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงาน จ.สุรินทร์ โทร. 0-4451-4447

เที่ยวศรีสะเกษ อาณาเขตแห่งความสุข

“แดนปราสาทขอม หอมกระเทียมดี มีสวนสมเด็จ เขตดงลำดวล หลากล้วนวัฒนธรรม เลิศล้ำสามัคคี” นี่คือคำขวัญประจำจังหวัด “ศรีสะเกษ” หนึ่งในจังหวัดอีสานใต้ ที่สามารถเที่ยวเชื่อมโยงกับจังหวัดสุรินทร์-บุรีรัมย์ ได้อย่างง่ายดาย ที่ผ่านมาศรีสะเกษถูกมองว่าเป็นเมืองรองที่คนผ่านเลย แต่ถ้าใครได้ไปสัมผัสรับรองว่าต้องหลงรักแน่นอน
กลางเมืองศรีสะเกษในวันนี้ มีวงเวียน “อนุสาวรีย์แม่ศรีสระผม” เป็นสัญลักษณ์สื่อถึงที่มาของชื่อจังหวัดได้อย่างดี โดยตำนานหนึ่งเล่าว่า พระยาแกรกเจ้าเมืองเขมรพบเนื้อคู่เป็นธิดาเจ้าเมืองลาว ชื่อพระนางศรี ต่อมาพระยาแกรกเดินทางกลับเขมรทิ้งนางศรีไว้ที่เมืองลาว พระนางศรีจึงออกเสด็จตามพระสวามีไปขณะที่ยังทรงพระครรภ์ ระหว่างเดินทางทรงพบทำเลแห่งหนึ่งเป็นสระน้ำใส พระนางจึงได้ประสูติพระโอรส และทรงชำระล้างพระวรกายที่นี่ สระนั้นจึงได้ชื่อว่า “ศรีสะเกษ” มาจนทุกวันนี้

เดิมศรีษะเกษชื่อ “เมืองขุขันธ์” ได้เจริญสืบเนื่องมาจนกลายเป็นที่อยู่อาศัยของ 4 ชนเผ่า คือ ลาว เขมร กวย และเยอ นับเป็นดินแดนเก่าแก่ที่รุ่มรวยด้วยศิลปะวัฒนธรรม และมีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ให้ชมมากมายศรีสะเกษมีแหล่งท่องเที่ยว Unseen อีสาน อยู่แห่งหนึ่งซึ่งไม่ควรพลาดชมด้วยประการทั้งปวง คือ “วัดป่าศรีมงคลรัตนาราม” อยู่ที่บ้านสิม หมู่ 8  ตำบลโคกจาน อำเภออุทุมพรพิสัย วัดนี้มีความพิเศษสุดๆ เพราะภายในวิหารหลักมีการสร้างเป็นถ้ำวังบาดาลของพญานาค ที่อยู่เคียงคู่คุ้มครองและคอยค้ำจุนพระพุทธศาสนา ด้วยความศรัทธาเลื่อมใสในคำสอนของพระพุทธองค์มาแต่ครั้งพุทธกาล นอกจากองค์พระประธานสีขาวผ่องน่าเลื่อมใสควรค่าแก่การกราบไหว้แล้ว เรายังได้ตื่นตากับความวิจิตรอลังการของสถาปัตยกรรม และความเพียรของช่างที่เนรมิตให้เกิดถ้ำวังบาดาลจำลอง เต็มไปด้วยหินงอกหินย้อยน้อยใหญ่ประดับไฟแสงสีต่างๆ อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ อีกทั้งยังมีรูปปั้นพญานาคราชหลายตนเลื้อยพันอยู่ตามส่วนต่างๆ ของโถงถ้ำด้วยความละเอียดประณีตของรูปปั้นพญานาคาราชในวัดป่าศรีมงคลรัตนาราม ทำให้รูปปั้นเหล่านี้เหมือนมีชีวิตจริงๆ พุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธา หลั่งไหลกันเข้ามาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัดป่าศรีมงคลรัตนาราม นับพันนับหมื่นคนทุกวัน
ภายในวัดป่าศีมงคลรัตนาราม ยังมีองค์พระปางสมาธิขนาดมหึมาประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง ให้เราได้สักการะด้วย เดินทางต่อไปในดินแดนที่อวลด้วนกลิ่นอายพระพุทธศาสนาอันร่มเย็นของศรีสะเกษ ณ “วัดสระกำแพงใหญ่” ตำบลสระกำแพงใหญ่ อำเภออุทุมพรพิสัย ชื่นชมพระอารามโอ่โถงงามตา อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของโบราณสถานสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในเขตอีสานใต้ คือ “ปราสาทสระกำแพงใหญ่” ปราสาทสระกำแพงใหญ่เป็นปราสาทลึกลับ ที่ยังไม่รู้วันเดือนปีที่สร้าง แต่ก็คงความสำคัญในฐานะเทวสถานพราหมณ์ ซึ่งได้กลายเป็นวัดพุทธลัทธิมหายานในกาลต่อมา องค์ประกอบสำคัญของปราสาทมีด้วยกัน 4 ส่วน คือ “บาราย” (สระน้ำ) อยู่ห่างออกไปราว 500 เมตร แต่ปัจจุบันไม่เหลือสภาพแล้ว, ถัดมาคือ “ระเบียงคต” เป็นกำแพงศาสนสถานล้อมรอบสี่ด้าน พร้อมด้วยซุ้มประตูเข้าออก, มี “บรรณาลัย หรือ วิหาร” 2 หลัง ใช้เป็นที่เก็บคัมภีร์ทางศาสนา ซึ่งถือว่าสำคัญไม่น้อยกว่ารูปเคารพ, และส่วนสุดท้าย คือ “ปรางค์” สร้างด้วยหินศิลาแลง 4 หลังเมื่อปี พ.ศ. 2532 มีการค้นพบปฏิมากรรมสำริดกะไหล่ทอง ขนาดใหญ่ สูง 140 เซนติเมตร ซึ่งนักโบราณคดีสันนิษฐานว่าเป็นรูปของ นันทิเกศวร หรือ นันทีศวร  ซึ่งปัจจุบันได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมายแล้วปราสาทสระกำแพงใหญ่ ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2478ภายในวัดสระกำแพงใหญ่ ยังมีวิหารต่างๆ ให้เข้าไปกราบไหว้ และเก็บภาพพุทธศิลป์งามล้ำอีกนับไม่ถ้วน องค์พระประธานสไตล์พม่าในวัดสระกำแพงใหญ่ จำลองแบบมาจากพระมหามัยมุนี หุ้มทองคำน่าเลื่อมในศรัทธา โบราณสถานสำคัญอีกแห่งหนึ่งของศรีสะเกษ คือ “ปราสาทบ้านปราสาท” ตั้งอยู่ที่หมู่ 12 วัดปราสาทพนาราม บ้านปราสาท อำเภอห้วยทับทัน แม้จะมีขนาดไม่ใหญ่โต ทว่าก็เป็นปราสาทขอมที่สวยงามไม่แพ้ที่ใดๆ สร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 16 สมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ตัวปราสาทมีปรางค์อิฐ 3 องค์ ใช้ประดิษฐานเทพตรีมูรติ คือ พระพรหม (ผู้สร้าง) พระวิษณุ (ผู้ปกป้องรักษา) และพระศิวะ (ผู้ทำลายเพื่อการเกิดใหม่) ทุกปีในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 จะมีงานไหว้พระธาตุที่นี่ด้วย
ศรีสะเกษเป็นเมืองเกษตร ซึ่งปลูกพืชผักผลได้หลากหลายไม่แพ้จังหวัดใดๆ ในเมืองไทย พูดแบบนี้ไม่ได้โม้! เพราะเขามีทั้งสุดยอดทุเรียน สุดยอดกระเทียม สุดยอดไม้มะดัน และพืชผักผลไม้อีกนานาชนิด จึงมี “ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ” ของกรมวิชาการเกษตร ตั้งอยู่ นอกจากจะเป็นแหล่งศึกษาวิจัยพืชพรรณใหม่ๆ แล้ว ยังเป็น แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Agro-Tourism) ที่น่าสนใจมาก เพราะมีดอกไม้สวยๆ ผลไม้อร่อยๆ และเส้นทางปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพพร้อมสรรพ สุขใจเมื่อได้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติที่ ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษอาหารในเมืองศรีสะเกษ เป็นเสน่ห์อีกอย่างที่ช่วยเติมเต็มการท่องเที่ยวของเราให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น จากเช้าจรดค่ำจึงมีเมนูอร่อยๆ ให้เลือกชิมกันเพียบ เริ่มตั้งแต่มื้อเช้าที่ “ร้านจรวด” (โทร. 08-4833-9099) ตั้งอยู่ที่วงเวียนแม่ศรี ติดทางเข้าวัดพระโต ในเทศบาลเมืองศรีสะเกษเลยร้านจรวด เปิดตั้งแต่เวลา 6.00-14.00 น.ทุกวัน เน้นขายอาหารเช้าหลากหลายเมนู Signature ของร้าน คือ โจ๊กต่างๆ กินคู่กับชากาแฟ ไข่กระทะ และปาท่องโก๋ ทำให้ร้านนี้มีชื่อเสียงมานาน ได้ชิมทีไรอิ่มทั้งใจอิ่มทั้งท้องเมนูเด็ดอีกอย่างของร้านจรวดที่คนสั่งกันเยอะ คือ เนื้อปลากะพงลวกจิ้ม และข้าวต้มปลากะพง มีน้ำจิ้มเต้าเจี้ยวกินคู่กัน เนื้อปลาจัดว่าสด นุ่มละลายในปาก ถ้าจานเดียวไม่พอ ก็ต่อจานสองได้เลยจ้าร้านอาหารอีกแห่งที่ทำให้ศรีสะเกษวันนี้ดูมีสีสันขึ้นอย่างผิดหูผิดตาก็คือ “Cafe De Tree”  ร้านน่านั่งที่ตกแต่งด้วยสไตล์วินเทจย้อนยุคแบบยุโรป พร้อมด้วยอาหารคาวหวาน เค้กอร่อยๆ และเครื่องดื่มหนักเบาครบครัน อีกทั้งยังเหมาะกับคนชอบถ่ายภาพเป็นที่สุด เพราะมีมุมกิ๊ปเก๋ให้ชักภาพกันได้ไม่หยุด
ร้าน Cafe De Tree เปิดตั้งแต่เวลา 7.00-22.00 น. ติดต่อโทร. 08-1280-8388
ร้านอาหารไทยพื้นบ้าน ที่มีชื่อเสียงน่าไปลิ้มลองแห่งหนึ่งในอำเภอเมืองศรีสะเกษ คือ “ร้านสีเขียว” อยู่เลขที่ 54/831 หมู่ 10 ถนนมหาราช เทศบาลเมืองศรีสะเกษ เปิดเวลา 10.00-22.00 น. ร้านสีเขียวเปิดมากว่า 30 ปีแล้ว เจ้าของ คือ คุณป้าพวงแก้ว อาชวินรุจิรดา (ป้าเขียว) ซึ่งได้แนะนำว่าเมนูที่ใครมาร้านต้องสั่งมาทาน คือเมนูเด็ด 5 จาน ได้แก่ 1. แจ่วฮ้อน 2. อุหน่อไม้สด 3. ป่นปลาทู 4. ปลาเนื้ออ่อนนึ่งแจ่ว และ 5. ออร์เดิร์ฟอีสาน

อย่างเมนู ปลาเนื้ออ่อนนึ่งแจ่ว จะใช้เฉพาะปลาเนื้ออ่อนสดๆ จากแม่น้ำ ทานคู่กับเครื่องเคียง คือ ดอกแค บวบ ฟักทอง และดอกสลิด ในจังหวัดศรีสะเกษมีร้านสีเขียวแห่งเดียวที่ขายเมนูนี้ เพราะเป็นปลาหายากและราคาแพงนั่นเองอุหน่อไม้สด แบบพื้นบ้านแท้ๆเมี่ยงคำในแก้วช๊อตน่ารักๆ กินพอดีคำ เรียกน้ำย่อยได้ดีเยี่ยมป่นปลาทู กินคู่กับผักดองและผักสดต่างๆออร์เดิร์ฟอีสาน เหมาะทานเล่นเรียกน้ำย่อย คู่กับเครื่องดื่มที่เราชอบปิดท้ายทริปศรีสะเกษสุดอิ่มแปล้กันที่ร้านอาหารพื้นบ้านขึ้นชื่อลือชาในอำเภอห้วยทับทัน “กี่ไก่ย่าง” พิเศษที่เป็นไก่ย่างไม้มะดัน ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือนแน่นอน ไก่ย่างไม้มะดันห้วยทับทัน ทำจากไก่พื้นเมืองสามสายเลือด ใช้ไม้มะดันเป็นไม้เสียบไก่ รสชาติจึงออกเปรี้ยวหวานพอเหมาะเข้ากับสูตรเครื่องปรุง เนื่องจากเมื่อปิ้งไฟได้ความร้อนกำลังดี ความเปรี้ยวหวานของไม้มะดันจะซึมซาบเข้าสู่เนื้อไก่ ทำให้ได้รสชาติเป็นเอกลักษณ์มาก จะกินเปล่าๆ หรือกินคู่กับน้ำจิ้มแจ่วรสเด็ด ก็อร่อยเหาะไปเลยจ้าสอบถามเพิ่มเติม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานศรีสะเกษ-สุรินทร์ โทร. 0-4451-4447-8

ททท. พาเที่ยวตัวปลิว ชิลอีสาน @อุดรธานี

“อีสาน” ชื่อนี้คือดินแดนที่มีเสน่ห์ชวนให้ไปสัมผัส เพราะอีสานไม่ได้มีแต่ความแห้งแล้งอย่างที่บางคนเข้าใจ ทว่าในผืนดินอันกว้างใหญ่นั้น ยังมีความผสมกลมกลืนลงตัวของธรรมชาติ วิถีชีวิต ผู้คน และวัฒนธรรมประเพณี ที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน วันนี้เราจึงได้ไปเยือน “อุดรธานี” หนึ่งในจังหวัดอีสานเหนือ ซึ่งมีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีบ้านเชียงมรดกโลกอายุกว่า 5,000 ปี และประวัติศาสตร์สมัยรัชกาลที่ 5 เรียกแถบนี้ว่ามณฑลอุดร เป็นศูนย์กลางต่อสู้กับการล่าอาณานิคมของฝรั่งเศส จนเป็นเรื่องราวเล่าขานมาจนปัจจุบัน
จะว่าไปแล้ว อุดรธานีน่าเที่ยวในทุกฤดูกาล โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ ใครได้ไปเที่ยวชม “ทะเลบัวแดง หนองหานกุมภวาปี” ก็จะได้ตื่นตาตื่นใจไปกับผืนพรมสีชมพูกว้างใหญ่นับหมื่นๆ ไร่ของทะเลบัวแดง หรือบัวสายสีชมพูนับแสนๆ ดอกพากันสะพรั่งบานรับลมหนาว และฝูงนกอพยพนับหมื่นๆ ตัว พากันมาสร้างสีสันเติมชีวิตชีวาให้กับทะเลสาบธรรมชาติสุดอลังการนี้

หนองหานกุมภวาปี เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติเนื้อที่ถึง 22,500 ไร่ ได้รับการหล่อเลี้ยงน้ำจืดจากห้วย 6 สาย จึงชุ่มฉ่ำตลอดปี อีกทั้งเป็นต้นกำเนิดลำน้ำปาว เพราะเมื่อไหลลงใต้ผ่านจังหวัดกาฬสินธุ์แล้วก็จะบรรจบกับลำน้ำชี เกิดเป็นระบบนิเวศบึงน้ำจืดมหึมา ที่มีพืชพรรณ หมู่ปลา และนกน้ำ เข้ามาอาศัยหากินนับไม่ถ้วน

ท่าเรือบ้านเดียม ตำบลเชียงแหว อำเภอกุมภวาปี จุดเริ่มต้นการล่องเรือชมทะเลบัวแดงของนักท่องเที่ยว

การล่องเรือควรเริ่มตั้งแต่เช้าตรู่ ไม่เกิน 06.00 น. จะได้เห็นแสงแรกของตะวันเบิกฟ้าเปล่งรัศมีสีทองอาบทะเลบัว ขณะที่อากาศยามเช้าแช่มชื่นแจ่มใส นกนานาชนิดเริ่มออกหากิน ส่งเสียงร้องกันจ๊อกแจ๊ก ทะเลบัวที่หุบมาตลอดคืนจะค่อยๆ แย้มกลีบออกทีละน้อย จนเผยความงามเต็มที่ เรือนักท่องเที่ยวค่อยๆ ทยอยแล่นออกจากท่าบ้านเดียม มองเห็นนกนางแอ่นบ้าน นกยางโทน นกอุ้มบาตร นกกาน้ำเล็ก นกอีโก้ง นกอีลุ้ม นกอีล้ำ เริงร่าออกหากิน เป็ดแดงบางฝูงมีนับร้อยตัว เรือแล่นผ่านกอต้นหญ้าต้นกกที่ขึ้นอยู่เป็นแนว  กิ่งก้านโอนไกวตามลมอ่อนๆ มีเรือหาปลาและเรือเก็บสายบัวของชาวบ้าน ใช้ชีวิตผูกพันอยู่กับสายน้ำมาเนิ่นนาน

สาวน้อยเริงร่าท่ามกลางทะเลบัวแดงยามเช้า ดูแล้วตัดสินไม่ได้เลยว่าคนหรือดอกบัวอะไรจะสวยกว่ากัน? ฮาฮาฮา

ในฤดูหนาว ดอกบัวสายสีชมพูจะมีดอกสาหร่ายข้าวเหนียวสีเหลืองบานขึ้นแทรกแซมเหนือผิวน้ำด้วย ยิ่งมองยิ่งงดงามราวกับงานศิลป์ชิ้นเอกของศิลปินธรรมชาติผู้ยิ่งใหญ่ล่องเรือชมทะเลบัวแดงสุขใจในยามเช้า สูดอากาศบริสุทธิ์ท่ามกลางทะเลบัวยิ่งใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน นกยางโผร่อนไปเหนือทะเลบัวแดง ช่วยต่อเติมระบบนิเวศของทะเลสาบน้ำจืดแห่งนี้ให้อุดมสมบูรณ์และสมดุลย์นกอุ้มบาตรสีเหลืองสดใสกับดอกบัวแสนสวย นกชนิดนี้จะมาเยือนทะเลบัวแดงเฉพาะในช่วงฤดูหนาวเท่านั้นนกอีโก้ง (Purple Swamphen) เป็นนกรับแขกชนิดหนึ่งของทะเลทะเลบัวแดงหนองหานกุมภวาปี เพราะนอกจากจะพบเห็นได้ง่ายแล้ว ยังมีขนสวยสีน้ำเงินเหลือบม่วงสดใส ตัดกับปากและแผ่นหนังสีแดงตรงหน้าผาก เรามักพบพวกมันหากินอยู่เป็นคู่ๆโดยเดินอยู่บนกอพืชน้ำที่ลอยตุ๊บป่องๆ นั่นเองนกแซงแซวหางปลา (Black Drongo) เป็นนกประจำถิ่นที่พบได้มากในทะเลบัวแดง พวกมันชอบเกาะอยู่ตามพุ่มไม้หรือตอไม้เหนือน้ำ เพื่อโฉบไปจับแมลงมากินเป็นอาหาร แมลงปอตัวน้อยกับบัวสายที่เพิ่งแย้มกลีบออกรับแสงตะวันในยามเช้า ช่างเป็นภาพที่น่ารักน่าชมเหลือเกินธรรมชาติมีความเปลี่ยนแปรอยู่ตลอดเวลา วันนี้เราจึงพบ “บัวสองสี” ที่อาจเป็นการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างบัวสายสีชมพูและบัวสีขาว จนเกิดเป็นบัวสายพันธุ์ใหม่ขึ้นทะเลบัวแดงหนองหานกุมภวาปี เปิดตัวขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2555 โดยจัดงานวิวาห์ล้านบัวขึ้นในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ เป็นวันแห่งความรักอันหวานชื่น นำคู่รักไปจดทะเบียนสมรสกันกลางทะเลบัว ให้บัวสีชมพูนับแสนๆ ดอกเป็นสักขีพยานรัก และทุกปีต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน ททท. ร่วมมือกับหลายหน่วยงาน ก็ยังจัดงานวิวาห์ล้านบัวอย่างต่อเนื่อง หลังจากล่องเรือชมความยิ่งใหญ่ตระการตาของทะเลบัวแดงมาหลายชั่วโมง นี่ก็สายแล้ว เราจึงเริ่มหิว โชคดีที่วันนี้ตรงท่าเรือมีร้านอาหาร+ที่พักเปิดใหม่ให้บริการนักท่องเที่ยว ชื่อ “MA DER BUA” (มา เดอ บัว) ได้เวลาสั่งส้มตำไหลบัวและยำรากบัวมาชิม นับเป็นเมนูท้องถิ่นที่นำบัวธรรมชาติมาปรุงเป็นอาหารรสเลิศได้อย่างน่าชื่นชม

(สนใจสอบถาม MA DER BUA โทร. 08-1 974-3560)เปลี่ยนบรรยากาศจากการล่องเรือชมทะเลบัว มาเดินชมสวนดอกไม้สวยๆ กันบ้างที่ “สวนสิทธิกร” (หมู่.9 บ้านห้วยสำราญ ตำบลหนองไฮ อำเภอเมืองอุดรธานี โทร. 09-4529-9556, 09-2459-8525)แม้อุดรธานี จะมีสวนดอกไม้ไม่เยอะเหมือนทางภาคเหนือ แต่ แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Agro-Tourism) อย่าง สวนสิทธิกร ก็ช่วยสร้างสีสันให้วงการท่องเที่ยวอุดรธานีเป็นอย่างมาก สวนแห่งนี้อยู่ห่างจากตัวเมืองอุดรธานีประมาณ 23 กิโลเมตริเท่านั้น แม้จะไม่ใหญ่โต แต่ก็สดใสมีชีวิตชีวาด้วยดอกไม้หลากสีนานาพันธุ์ ทั้งดอกคลัสเตอร์, ดอกมัม, ดอกเบญจมาศ, ดอกดาวเรือง, ดอกพุด, ดอกกุหลาบ ฯลฯ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันให้ชมตลอดปี ยิ่งถ้าเป็นฤดูหนาวระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ ด้วยแล้วดอกไม้ยิ่งเยอะจ้า ใช้เป็นโลเกชั่นถ่ายรูปกันได้เพลินๆ ไม่เบื่อเลยแหละ สวนสิทธกร ค่าเข้าชมเพียง 30 บาท  มีพร๊อพเตรียมไว้ให้เราถ่ายภาพคู่อย่างมากมาย ทั้งซุ้มต่างๆ รวมถึงร่ม และกระเช้าดอกไม้เก๋ๆ เที่ยวสวนสิทธิกรเหมาะสุดในช่วงเช้าและบ่ายคล้อยที่แดดร่มลมตก ถ้ามาเที่ยวตอนกลางวันแดดจะร้อนสักหน่อย แต่ก็ถ่ายรูปได้สวยกระจ่างใสดีจ้าจากแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติอันเจริญตาเจริญใจของอุดรธานี บัดนี้ได้เวลามากราบพระขอพรกันที่ “วัดป่าศรีคุณาราม” แล้ว วัดแห่งนี้ตั้งอยู่ที่บ้านจีต ตำบลบ้านจีต อำเภอกู่แก้ว (เดินทางด้วยรถยนต์จากตัวเมืองอุดรธานี ประมาณ 1 ชั่วโมง) นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงศาสนาที่สำคัญ เพราะมีพระมหาเจดีย์มงคลประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ส่วนพระจักษุธาตุ ให้พุทธศาสนิกชนได้สักการะรำลึกถึงคุณพระรัตนไตรวัดป่าศรีคุณาราม เดิมชื่อ วัดป่าศรีคุณรัตนาราม ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้านจีต เดิมชาวบ้านเรียกว่าบริเวณนี้ว่า “เหล่าปลาฝา” (ตะพาบน้ำ) เพราะมีหินรูปปลาฝาครอบสี่เหลี่ยม เจาะเป็นโพรงสำหรับเก็บสิ่งของมีค่า ทว่าปัจจุบันหินนั้นได้สูญหายไปแล้ว คงเหลือแต่ฐานสี่เหลี่ยมเจาะเป็นโพรง อยู่ภายในวัดป่าศรีคุณารามนั่นเอง ส่วนองค์พระมหาเจดีย์มงคลก็สง่างามน่าศรัทธา สร้างขึ้นโดยมีองค์พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม เป็นแรงบันดาลใจ โดยสร้างให้มีความ Modern หรือร่วมสมัยมากขึ้น ภายในแบ่งเป็น 3 ชั้น เชื่อมถึงกันด้วยบันได เราสามารถเข้าไปสักการะได้ ภายในชั้นล่างขององค์พระเจดีย์ มีพระพุทธรูปหยกขาว และรอยพระพุทธบาทจำลองให้สักการะภายในชั้นสองขององค์พระเจดีย์  มีพระบรมสารีริกธาตุ และพระธาตุพระอรหันตสาวก ประดิษฐานให้สักการะอยู่เป็นจำนวนมาก พร้อมด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังบอกเล่าเรื่องราวพุทธประวัติ ฝีมือวาดงดงามเข้าขั้นเอกอุ
ก่อนกลับบ้านทริปนี้ เราไม่ลืมแวะชิมอาหารพื้นเมืองอร่อยๆ เพื่อเติมพลังกันสักหน่อย แน่นอนว่าต้องไม่พลาดร้าน “VT แหนมเนือง” เป็นอาหารเวียดนามที่เข้ามาผสมกลมกลืนจนกลายเป็น Signature ของอาหารอุดรธานีไปแล้ว วันนี้เขาเปิดสาขาใหม่ที่บ้านจั่น อำเภอเมืองอุดรธานี มีลักษณะเหมือนศูนย์อาหารขนาดใหญ่ ทันสมัย สะอาดสะอ้านสุดๆ จนลูกค้าต้องร้องว้าวกันเลยทีเดียว ปัจจุบันร้าน VT แหนมเนือง มีอยู่มากกว่า 15 สาขาทั่วประเทศ สามารถสั่งให้ส่งทางไปรษณีย์มากินที่บ้านได้สบายมาก นอกจากแหนมเนืองรสเด็ดที่ใช้วัตถุดิบอย่างดี สดใหม่ สะอาดแล้ว เขายังมีเมนูอาหารน่าชิมอื่นๆ อีกเพียบ (สอบถาม  สาขาโพศรี โทร. 0-4221-9555, 0-4221-9556, 0-4221-9557 / สาขามิตรภาพ โทร. 0-4211-1111, 0-4211-1999  )ร้าน VT แหนมเนือง เปิดมานานกว่า 5o ปีแล้ว สืบทอดสูตรมาจากคุณแม่วีและคุณพ่อตวน ชาวเวียดนามผู้อพยพเข้ามาตั้งรกรากในสยาม เริ่มต้นจากการหาบเร่ขายโดยคุณแม่วี ขายดิบขายดีจนสามารถเปิดเป็นร้านเล็กๆ ชื่อร้าน “แดงแหนมเนือง” ที่จังหวัดหนองคาย แล้วค่อยขยายสาขามายังอุดรธานีในปัจจุบัน

คำว่า “แหนมเนือง” จริงๆ แล้วเพี้ยนมาจากภาษาเวียดนามว่า “แนม เหนือง” ซึ่งแปลว่า “หมู + ปิ้ง” นั่นเอง
แหนมซี่โครงหมู ร้าน VT แหนมเนืองกุ้งพันอ้อย ร้าน VT แหนมเนือง ไส้กรอกอีสาน ร้าน VT แหนมเนืองปอเปี๊ยะทอด ร้าน VT แหนมเนืองหมูยอรสเด็ด ร้าน VT แหนมเนือง

ขอขอบคุณ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่สนับสนุนการเดินทางทริปนี้เป็นอย่างดี

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานอุดรธานี โทร. 0-4232-5407 

เที่ยวสุขใจ ซาลามัตชายแดนใต้ @เบตง จ.ยะลา

“เมืองในหมอก ดอกไม้งาม ใต้สุดสยามเมืองงามชายแดน”  คือนิยามเก๋ไก๋ของอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ที่ผมไปเที่ยวมาแล้วเกิดหลงรักหมดจิตหมดใจ

ก็เพราะเบตงมีสิ่งสวยๆ งามๆ แปลกใหม่แบบคิดไม่ถึง ให้เราได้เที่ยวชมกันอย่างตื่นตาตื่นใจมากมายเลยนะสิ  Shutter Explorer ขอบคุณ “โครงการซาลามัตชายแดนใต้” ของ ททท. ที่นำเราลงไปสู่เบตงในทริปนี้เบตงเป็นเมืองน่ารัก บรรยากาศสุดชิล เพราะตัวเมืองมีขนาดไม่ใหญ่ไม่เล็กเกินไปในการเที่ยวชม อีกทั้งตัวเมืองยังโอบล้อมรอบไว้ด้วยภูเขาเขียวๆ อากาศเย็นสบาย แทบทุกเช้าตรู่จะมีสายหมอกโรยตัวลงห่มคลุม จนเบตงกลายเป็นเมืองในหมอกไม่แพ้ภาคเหนือของไทย นอกจากนี้เบตงยังเป็นเมืองพหุวัฒนธรรม คือมีทั้งพี่น้องชาวมุสลิม ไทยพุทธ และคนจีน อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์มาช้านานแล้ว
ใครหลายคนอยากมาพักผ่อนตากอากาศ เนื่องจากเบตงเป็นเมืองในอ้อมกอดของเทือกเขาสันกาลาคีรีกั้นพรมแดนไทย-มาเลเซีย สูงจากระดับน้ำทะเลกว่า 1,590 เมตร อากาศของเบตงจึงเย็นสบายตลอดปี หน้าร้อนไม่ร้อนอบอ้าว ส่วนหน้าหนาวเย็นเจี๊ยบจับใจไม่แพ้ภาคเหนือ แถมยังมีทะเลหมอกสวยที่สุดในภาคใต้ให้ชมกันด้วย 1. อุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์ ‘อุโมงค์รถยนต์ลอดภูเขาแห่งแรกของไทย’

อยู่ที่ถนนอมฤทธิ์ตัดกับถนนภักดีดำรง ผ่านสวนสาธารณะออกสู่ถนน บริเวณหน้าสวนนกเชื่อมต่อกับถนนมงคลประจักษ์ ทะลุไปสู่ชุมชนเมืองใหม่หมู่บ้านแกรนด์วิว และเชื่อมต่อกับถนนอัยเยอร์เบอร์จัง ไปสู่ชุมชนธารน้ำทิพย์อีกทอดหนึ่ง เป็นอุโมงค์รถยนต์ลอดภูเขาแห่งแรกของไทย ที่ขุดทอดโค้งให้รถวิ่งไปมา สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กอย่างดี ยาว 268 เมตร กว้าง 9 เมตร สูง 7 เมตร ผิวจราจรคู่ กว้าง 7 เมตร ทางเท้าเดินกว้างข้างละ 1 เมตร ความเร็วรถวิ่งได้ 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง
อุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์  เปิดใช้เป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2544ในยามค่ำคืนจะมีการเปิดโคมไฟประดับประดาอย่างน่าตื่นตา ให้นักท่องเที่ยวได้ชักภาพเก็บไว้อย่างสนุกสนาน แต่เวลาถ่ายภาพอย่าลงไปบนผิวจราจรล่ะ ต้องคอยระวังรถยนต์ที่แล่นไปมาด้วยจ้า2. วงเวียนหอนาฬิกาเบตง 

เป็นสิ่งก่อสร้างอันเก่าแก่อยู่เคียงคู่กับเมืองเบตงมาช้านาน เปรียบเสมือนสัญลักษณ์จุดศูนย์กลางเมือง สร้างด้วยหินอ่อนอย่างสวยงาม ในยามเย็นจะเห็นฝูงนกนางแอ่นนับหมื่นตัวบินมาเกาะหลับอยู่บนสายไฟรอบๆ หอนาฬิกา จนกลายเป็นสัญลักษณ์คู่กันไปแล้วโดยปริยาย คนเบตงเขามีอารมณ์ขัน บอกว่าถ้าใครมาเที่ยวเบตงแล้วถูกนกนางแอ่นอุจจาระใส่หัว จะต้องกลับมาเที่ยวที่นี่อีก! จะจริงหรือเปล่า คงต้องพิสูจน์ด้วยตัวเอง ฮาฮาฮา
3. ตู้ไปรษณีย์ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย 

มีประวัติว่า นายสงวน จิรจินดา นายกเทศมนตรีเทศบาลเบตงคนแรก และเป็นอดีตนายไปรษณีย์โทรเลข เห็นว่าอำเภอเบตงอยู่ห่างไกล จะติดต่อสื่อสารโดยช่องทางอื่นกับโลกภายนอกไม่ได้เลย ยกเว้นทางจดหมาย เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของเมืองเบตงท่านจึงได้สร้างตู้ไปรษณีย์ยักษ์นี้ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2467 โดยสร้างขึ้นที่บริเวณสี่แยกหอนาฬิกาใจกลางเมืองเบตง
ปัจจุบันมีการสร้างตู้ใบใหม่ที่มีขนาดใหญ่เป็น 3.5 เท่าอยู่ริมถนนหน้าศาลาประชาคม ถือเป็นตู้ไปรษณีย์ที่มีขนาดใหญ่ที่ของไทยในปัจจุบัน ตู้ทั้งสองใบสามารถใช้ส่งจดหมายได้จริงซะด้วย เท่ห์ไหมล่ะ? นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่อยากทำเก๋ ก็นิยมเขียนโปสการ์ดหรือจดหมาย ส่งกลับไปหาตัวเองหรือญาติมิตรที่บ้าน เพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึกไงล่ะครับ ว่าครั้งหนึ่งเราเคยมาเยือนเมืองใต้สุดแดนสยามแล้ว ว้าว 4. WOW! Street Art เบตง
เบตงวันนี้ไม่ใช่เมืองชายแดนธรรมดาๆ อีกต่อไป แต่มีการนำศิลปะเข้าไปเติมแต่งจนมีชีวิตชีวาน่าเที่ยวชม ทั้งตึกรามบ้านช่องร้านค้าที่พร้อมใจกันทาสีสดใส พร้อมทั้งมี ภาพ Street Art หรือภาพเพนท์บนผนังอาคารตามตรอกซอกซอยต่างๆ อย่างน่ารักน่าชัง เขาบอกว่าเริ่มมีมาตั้งแต่ตอนเมืองเบตงครบ 111 ปี (เมื่อ พ.ศ. 2560) จึงเชิญศิลปินและนักเรียนศิลปะมาช่วยกันเพนท์ภาพ Street Art เหล่านี้ไว้ ภาพ Street Art เบตง สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตและของดีของเด่นของคนที่นี่ มีด้วยกันหลายสิบภาพแบ่งเป็นโซนๆ คือถ้าภาพอยู่ตรงโซนไหน ก็จะเกี่ยวเนื่องกับคนแถวนั้น เช่น ตรงตลาดสดก็จะมีภาพพืชผักผลไม้ต่างๆ และพอเดินเลยไปถึงโซนร้านน้ำชาติ่มซำ ก็จะมีภาพชุดม้านั่งที่มีคนกำลังนั่งจิบชาเปิดสภากาแฟกันอยู่ครับ น่ารักมาก ภาพ Street Art เบตง ที่เป็นไฮไลท์มีด้วยกันหลายโซน เช่น เริ่มต้นเดินจากหน้าร้านติ่มซำไทซีอี้ (ข้างวงเวียนหอนาฬิกา และตู้ไปรษณีย์ใหญ่ที่สุดของไทย) ข้ามถนนมาฝั่งตรงข้าม เดินเข้าตรอกเล็กๆ ตรงไป ก็จะมีภาพ Street Art มากมายอยู่สองฟากฝั่ง จนไปทะลุถนนอีกเส้น ข้ามถนนเข้าสู่ตรอกถัดไป เป็นตลาดสดที่มีแผงพืชผักผลไม้นานาชนิด ก็มีภาพ Street Art เช่นกัน หรืออีกโซนที่หน้าสนใจ คือข้ามถนนจากหน้าร้านอาหารต้าเหยิน ในตรอกฝั่งตรงข้ามมี Street Art สุดน่ารัก

แต่เราไม่เฉลยว่าเป็นภาพอะไร ให้ทุกท่านไปชมกันเองดีกว่าจ้า
5. ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง “รับอรุณก่อนใคร ที่ทะเลหมอกใต้สุดแดนสยาม”
ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง อยู่ที่ตำบลอัยเยอร์เวง บนถนนหมายเลข 410 ตรงช่วง กม. 33 เป็นทะเลหมอกที่ Amazing มาก เพราะเที่ยวได้เกือบตลอดปี โดยเฉพาะช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ ยิ่งถ้าเป็นวันแห่งความรัก 14 กุมภาพันธ์ ก็มักจะมีทะเลหมอกสีขาวหนาแน่นราวกับปุยนุ่น ลอยอ้อยอิ่งอาบแสงอาทิตย์ยามเช้าให้เราได้ตื่นตะลึงง! ขอ Confirm เลยว่า นี่คือธรรมชาติ Unseen ที่สวยสู้ทะเลหมอกทางภาคเหนือได้สบาย
แม้ว่าปัจจุบันที่เบตงจะเปิดจุดชมทะเลหมอกใหม่ๆ อีกหลายแห่ง เช่น ทะเลหมอกไต้ต๋ง และทะเลหมอกกูนุง ซีรีปัต แต่ว่าทะเลหมอกอัยเยอร์เวงก็ยังไม่เคยเสื่อมความนิยมไปจากใจของนักท่องเที่ยว อีกทั้งในปี 2563 นี้ ยังจะมีการเปิด Sky Walk ชมทะเลหมอกที่อัยเยอร์เวงเพิ่มด้วย เขาว่าจะเป็น Sky Walk ยาวที่สุดในเอเชีย คือมีสะพานที่ยื่นออกไปกว่า 50 เมตร!
6. บ่อน้ำร้อนเบตง “สปาธรรมชาติเพื่อสุขภาพ”

อยู่ที่บ้านจะเราะปะไร ตำบลเนาะแม (ห่างจากตัวเมืองเบตง 5 กิโลเมตร บนถนนสาย 410) บ่อน้ำร้อนธรรมชาติแห่งนี้มีควันฉุยตลอดเวลา น้ำอุ่นกำลังดี ต้มไข่สุกได้ใน 7 นาที นักท่องเที่ยวนิยมลงมาอาบแช่แก้เมื่อย รักษาสุขภาพ บ้างก็แก้หนาว ปัจจุบันมีการสร้างรีสอร์ทเอาไว้ให้นักท่องเที่ยวได้นอนพักค้างคืนกันด้วย ชิลมากๆ
7. สวนดอกไม้เมืองหนาว “อลังการพรรณไม้งามในหุบเขาหนาวเย็น” 

อยู่ที่หมู่บ้านปิยะมิตร 2 เป็นโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นสวนดอกไม้นานาพันธุ์ตั้งอยู่บนเขา อากาศเย็นสบาย พาคนพิเศษของเราไปทำโรแมนติก ชวนกันถ่ายรูปกับดอกกุหลาบ ดอกฮอลีฮ้อค ดอกแอสเตอร์ สีสันสวยงามไม่แพ้ภาคเหนือ เสร็จแล้วจะนอนค้างในรีสอร์ทสวยได้สบาย ไม่น่าเชื่อเลยว่าสุดชายแดนใต้ของเราจะมีดอกไม้เมืองหนาวให้ชมกันด้วย Amazing! 8. ด่านพรมแดนเบตง “มาเลเซียเที่ยวง่าย ใกล้แค่นี้เอง”
เที่ยวเบตงแล้วถ้ายังไม่หนำใจ จะเที่ยวต่อเข้าไปในในมาเลเซียก็ได้นะ ด่านพรมแดนเบตงแห่งนี้ทำหน้าที่เหมือนประตูบ้านเชื่อมโยงสองประเทศเข้าหากัน จุดเด่นคือมีป้ายใต้สุดแดนสยามและหลักเขตแดนให้ถ่ายภาพเป็นที่ระลึก หรือจะเลยเข้าไปในมาเลเซียนิดนึง ช้อปปิ้งที่ร้าน Duty Free ปลอดภาษี ซื้อขนมนมเนย หรือกระเป๋า รองเท้า นาฬิกาดีๆ กลับมาด้วยก็ได้ ด่านพรมแดนเบตงนี้ อยู่ติดกับประเทศมาเลเซียด้านกิ่งอำเภอปึงกาลันฮูลู รัฐเปรัค 9. พิพิธภัณฑ์เมืองเบตง “แหล่งเรียนรู้ประวัติวิถีเบตงที่ครบครัน”

พิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่บนเนินเขาสูง ตัวอาคารสร้างด้วยสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ มีสองชั้น แต่ละชั้นจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้โบราณๆ หาชมได้ยาก และประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันน่าสนใจของเบตงไว้ครบถ้วน โดยเฉพาะชั้นล่างมีการจัดแสดงกบภูเขา สัตว์หายากมากของเขตเทือกเขาสันกาลาคีรีให้ชมด้วย จากชั้นสองของพิพิธภัณฑ์ฯ เดินต่อขึ้นไปบนหอคอยชมวิวสูง มองเห็นตัวเมืองเบตงได้ทั่วถึง เต็มอิ่ม เต็มตา แบบพาโนรามาเลยล่ะ
10. มัสยิดกลางเบตง “ศาสนสถานแห่งศรัทธา”

เปรียบเสมือนศูนย์รวมใจของพี่น้องชาวมุสลิมเบตง สร้างด้วยสถาปัตยกรรมอิสลาม ทาสีฟ้าขาวเย็นตาเย็นใจ ส่วนบนสุดสร้างเป็นโดมทรงหัวหอม มีรูปจันทร์เสี้ยวและดาวห้าแฉกเป็นสัญลักษณ์ นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมได้ แต่ต้องแต่งกายให้เรียบร้อย สุภาพ ไม่ส่งเสียงดัง ถ่ายภาพห้ามใช้แฟลช และผู้หญิงควรหาผ้ามาคลุมศีรษะด้วย นักท่องเที่ยวนิยมเข้ามาชมการประกอบพิธีวันละ 5 ครั้ง ภายในมัสยิด
11. วัดพุทธาธิวาส “พระพุทธศาสนาปลายด้ามขวานทอง”

เป็นวัดสำคัญตั้งเด่นอยู่บนเนินเขา มีพระประธานในอุโบสถเหมือนหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืดเท่าองค์จริง ผู้คนมาสักการะกันไม่ได้ขาด ส่วนภายนอกมี พระมหาธาตุเจดีย์พระพุทธธรรมประกาศ สีทองอร่ามงามเด่น กับพระพุทธรูปปางสมาธิขนาดยักษ์ตั้งอยู่กลางแจ้ง ชื่อ พระพุทธธรรมกายมงคลประยุรเกศานนท์สุพพิธาน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์องค์ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย ให้กราบไหว้กันด้วย 12. อุโมงคปิยะมิตร “โลกใต้ดินที่ไม่สิ้นเรื่องเล่าประวัติศาสตร์”
อุโมงค์ปิยะมิตร อยู่ที่หมู่บ้านปิยะมิตร 1 ต.ตะเนาะแมเราะ ใช้เส้นทางเดียวกับที่จะไปบ่อน้ำร้อนเบตง (เลยบ่อน้ำร้อนไป 4 กิโลเมตร) ปัจจุบันบริเวณนี้เป็นที่อยู่ของพี่น้องชาวจีนผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ซึ่งเดิมในอดีตเคยเป็นฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา (เขต 2) เขาเหล่านั้นต้องขุดอุโมงค์ใต้ดินยาวกว่า 1 กิโลเมตร กว้าง 50-60 ฟุต เพื่อใช้อยู่อาศัยหลบซ่อนจากการตรวจจับของทางการ โดยสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2519 ทุกวันนี้เหตุการณ์สงบแล้ว อุโมงค์ปิยะมิตรกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้เราเข้าชมได้อย่างปลอดภัย ภายในปรับปรุงเป็นทางเดินเรียบและมีไฟฟ้าส่องสว่างอย่างดี ด้านในมีห้องหลบภัยห้องสะสมเสบียง เมื่อเดินทะลุกอีกฝั่งก็จะถึงทางออกในป่าทึบในบริเวณเดียวกันยังมี พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์มลายา พร้อมด้วยตู้จัดแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ พร้อมด้วย ต้นไม้ยักษ์ สูงหลายสิบเมตรที่ต้องเดินป่าเข้าไปชมอย่างสนุกสนาน13.ไก่เบตง “กรอบนอก นุ่มใน ละลายในปาก”

ไก่เบตงคืออาหารรสเลิศเลื่องชื่อไปทั่วประเทศ ของแท้ต้องมาชิมที่อำเภอเบตงเท่านั้น เนื้อไก่ของเขาเหนียวนุ่ม มันน้อย หวานในปาก เคี้ยวง่าย ส่วนหนังไก่เป็นสีเหลืองทอง กรอบ ไม่มีชั้นไขมันหนาอยู่ใต้ผิวหนังเหมือนไก่เลี้ยงสายพันธุ์อื่น เพราะไก่เบตงเวลาเลี้ยงต้องปล่อยให้วิ่งเล่นไปมาอย่างอิสระ ว่ากันว่าเมื่อร้อยกว่าปีก่อน มีชาวจีนนำพันธุ์ไก่เบตงเข้ามาจากจีนตอนใต้ จนเลี้ยงกันแพร่หลาย ทว่ากว่าจะจับขายได้แต่ละตัว ต้องรอถึง 6 เดือน หรือ 1 ปี จำนวนผู้เลี้ยงจึงลดลง ปัจจุบันเหลือเลี้ยงอยู่จริงไม่กี่เจ้า ถึงบอกไงล่ะ ว่าไก่เบตงของแท้หาชิมยากสุดๆ
14. ร้านต้าเหยิน “สุดยอดร้านอาหารจีนแดนใต้”

ตั้งอยู่เลขที่ 253 ถนนสุขยางค์ อ.เบตง จ.ยะลา โทร. 0-7323-0461, 0-7324-5189, 08-1599-4654
ต้าเหยิน ชื่อนี้คือตำนานความอร่อยสะท้านยุทธจักรการกิน ที่นักชิมทั้งมืออาชีพและมือใหม่ต่างยกนิ้วโป้งให้ เพราะเป็นร้านอาหารจีนชื่อดังที่สุดในเบตง เปิดมาไม่ต่ำกว่า 30-40 ปีแล้ว คนแน่นทุกวัน อย่าลืมโทรจอง
นอกจากจะหาชิมไก่เบตงของแท้ได้ที่ร้านต้าเหยินแล้ว เขายังมีสุดยอดเมนูที่ต้องสั่งต้องชิมอีกเพียบ ไม่ว่าจะเป็นกบภูเขาทอดกระเทียม, ปลาจีนนึ่งซีอิ๊ว, ซี่โครงสวรรค์, เคาหยก (หมูสามชั้นอบเผือก), ถั่วเจี๋ยน, ซุปปู, ผัดหมี่เบตง, ผักน้ำเบตงผัดน้ำมันหอย และอื่นๆ อีกมากมาย 15. ติ่มซำยามเช้าที่เบตง “เริ่มต้นวันใหม่อย่างราชา”
ขอบอกว่าอาหารจีนยามเช้าในเมืองเบตงนั้นอลังการไม่ใช่เล่น เพราะที่นี่มีคนจีนอาศัยอยู่มาก ป็นชาวจีนกวางไสจากกว่างซีจ้วง และชาวจีนฮกเกี้ยน วัฒนธรรมการกินของพวกเขาจึงสืบทอดกันมา อย่างติ่มซำยามเช้าที่มีให้เลือกนับร้อยอย่าง ในเบตงมีหลายร้าน ที่มีชื่อเสียง เช่น ร้านไทซีอี้ และร้านเซ้งติ่มซำ Location อยู่แถวๆ หอนาฬิกาและตู้ไปรษณีย์ยักษ์ มองไปเห็นได้ชัดเลย
จะกินติ่มซำเมืองนี้ต้องขยันตื่นเช้าหน่อย และต้องกินร้อนๆ จึงจะอร่อยครบรส และอย่าลืมสั่งบักกุ๊ดเต๋มาซดน้ำซุปยาจีนให้คล่องคอด้วยล่ะ 16.วุ้นดำเบตง”เจ้าสุดท้ายความอร่อยต้นตำรับ”วุ้นดำเบตง หรือ เฉาก๊วย กม.4 เจ้าแรก (โทร. 0-7323-0413)มาถึงเบตงแล้วถ้าไม่ได้ชิม ‘วุ้นดำเบตง’ สักหน่อย ก็ถือว่าทริปเที่ยวครั้งนี้คงไม่สมบูรณ์ เพราะเป็นขนมพื้นบ้านที่ใช้ภูมิปัญญาล้วนๆ รังสรรค์ขึ้นมา

วุ้นดำเบตง ทำจากหญ้าชนิดหนึ่งที่ปลูกในประเทศจีน (และอินโดนีเซีย) เจ้าแรกนี้บรรพบุรุษอพยพมาจากเมืองจีน เมื่อกว่า 30 กว่าปีมาแล้ว เป็นร้านสุดท้ายที่ยังทำด้วยกรรมวิธีโบราณ คือใช้เตาไม้ฟืน เวลากินจึงได้กลิ่นหอมของไม้ด้วย แต่เพราะกรรมวิธีที่ยุ่งยาก ใช้เวลานาน เจ้าอื่นจึงเปลี่ยนไปใช้เตาแก๊สกันหมด กรรมวิธีคร่าวๆ คือ เขาจะนำหญ้าเฉาก๊วยมาต้มกับส่วนผสมแล้วกรองเอาเฉพาะน้ำ เพื่อแยกหญ้าวุ้นดำออกจากกัน จากนั้นนำแป้งมันสำปะหลังผสมกับน้ำที่ได้จากการกรองในขณะร้อนๆ คนให้เข้ากัน ทิ้งไว้จนกว่าจะเย็นกลายเป็นวุ้น นิยมรับประทานกับน้ำเชื่อมแล้วเติมน้ำแข็ง มีสรรพคุณช่วยแก้ร้อนในดีนักแล
17. ผักน้ำเบตง “ผัก Signature กลางขุนเขา”
มาถึงเบตงแล้วต้องชิม ผักน้ำ หรือ Watercress กันสักหน่อย ผักชนิดนี้ถือเป็นผักดีต่อสุขภาพ เนื่องจากการปลูกโดยไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ต้องปลูกในธรรมชาติตามลำธารบนขุนเขา ที่น้ำใสสะอาดและเย็นเจี๊ยบเท่านั้น

ว่ากันว่าผักน้ำมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ต่อมามีการนำมาปลูกที่จีนและมาเลเซีย คนจีนจึงนำเข้ามาปลูกในภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะที่อำเภอเบตง ซึ่งตอนแรกคนจีนปลูกกินกันในครัวเรือน ไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ต่อมาทางราชการจึงส่งเสริมให้ปลูกกันแพร่หลาย เพราะเป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ปัจจุบันสวนผักน้ำเบตงจึงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวไปโดยปริยายธรรมชาติของผักน้ำชอบอากาศหนาวเย็น และน้ำที่ใสสอาดจากภูเขาไหลผ่านตลอดเวลา แปลงปลูกผักน้ำจึงทำเป็นขั้นบันไดลดหลั่นลงมา ยิ่งถ้าเป็นน้ำที่ไหลจากที่สูงใสเย็น และเป็นดินปนทรายด้วยจะทำให้ผักน้ำยิ่งเจริญเติบโตดี ต้นจะอวบน้ำ ก้านยาว ใบสีเขียวจัด เมื่อเลี้ยงไป 45-60 วัน ก็เก็บขายได้แล้ว ราคาขายกิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 80 บาทเลยทีเดียวส่วนใหญ่จะนำผักน้ำมาแกงจืด หรือต้มกับกระดูกหมูหรือไก่ นอกจากนี้ยังสามารถทำผักน้ำทรงเครื่อง, ผักน้ำมันหอย, ลวกจิ้มและสลัดผัก สรรพคุณช่วยคลายร้อน แก้ร้อนใน และลดความดันโลหิตสูงได้

18. ปลาจีนเบตง “ปลายักษ์แห่งลำธารบนขุนเขาสูง”

ติดต่อ สวนยายสวย (นางปานจิตร สายสวาท) โทร. 06-5682-4879
อีกหนึ่งความพิเศษของเมนูอาหารเมืองเบตงที่ขึ้นชื่อลือชาก็คือ ปลาจีน หรือ ปลาเฉาฮี้อ ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่มีต้นกำเนิดมาจากลุ่มน้ำแยงซีเกียงในประเทศจีน

ปลาจีน มีลำตัวทรงกระบอกสีขาวอมเขียว เกล็ดใหญ่ และเมื่อโตเต็มที่หนักได้หลายสิบกิโลกรัม แต่ที่ร้านอาหารจะรับซื้อไปทำอาหารจริงๆ ตัวจะไม่ใหญ่เกินไป แหล่งเพาะเลี้ยงที่ดีต้องอยู่ในลำธารบนขุนเขาที่อุดมสมบูรณ์ เงียบสงบปราศจากการรบกวน และที่สำคัญคือน้ำต้องเย็นและใสสะอาดมากด้วย ธรรมชาติป่าเขาของอำเภอเบตงจึงเหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเลี้ยงปลาชนิดนี้

เมนูอาหารที่นิยมนำปลาจีนมาทำ เช่น ปลาจีนนึ่งบ๊วย, ปลาจีนนึ่งซีอิ้ว, ปลาจีนนึ่งขิง, และปลาจีนแดดเดียว แหล่งเพาะเลี้ยงปลาจีนในเบตงบางแห่ง ยังทำสวนผลไม้อย่างทุเรียนหมอนทองปลูกควบคู่กันไปด้วย สนใจจะชิมต้องไปเที่ยวในเดือนสิงหาคมนะจ๊ะ

SPECIAL THANKS โครการ ‘ซาลามัตชายแดนใต้’ จ.นราธิวาส-ยะลา-ปัตตานี

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ททท สำนักงานนราธิวาส-ยะลา-ปัตตานี โทร. 0-7352-2411 , 0-7354-2345

เที่ยวสุขใจ ซาลามัตชายแดนใต้ @ยะลา

ยะลา ใต้สุดแดนสยาม เมืองงามชายแดน จังหวัดเดียวในภาคใต้ที่ไม่มีทางออกทะเล แต่มีชื่อเสียงในเรื่องแหล่งท่องเที่ยวอันหลากหลายงดงาม เป็นเมืองหน้าด่านเที่ยวต่อเนื่องเข้าสู่ประเทศมาเลเซียได้สบาย

วันนี้ Shutter Explorer ขอพาพวกเราไปตระเวนเที่ยว ตระเวนกิน กันในยะลาให้สนุกไปเลย กับโครงการดีๆ ของ ททท. “ซาลามัตชายแดนใต้”  จ้า
1. หมู่บ้านกาแป๊ะกอตอใน อ.เบตง ‘หมู่บ้านแห่งตำนานราชาสิยง’

“หมู่บ้านกาแป๊ะกอตอใน” ตั้งอยู่ในเขตเทศบาล ต.เบตง อ.เบตง จ.ยะลา ห่างไปทางตะวันออกเฉียงใต้ ตามเส้นทางที่จะออกไปด่านเบตง ประมาณ 4-5 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านดั้งเดิมที่มีตำนานซึ่งถูกเล่าขานโดยบรรพบุรุษ จากรุ่นสู่รุ่นมาถึงปัจจุบัน ความหมายของ “กาแป๊ะกอตอ” คำว่า “กาแป๊ะ” หมายถึง “ต้นไม้ชนิดหนึ่งดอกสีส้มคล้ายดอกเข็ม” ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่ใกล้แหล่งน้ำ ลำคลอง น้ำตก ส่วนคำว่า “กอตอ” หมายถึง “เมือง”

หมู่บ้านกาแป๊ะกอตอใน เป็นชุมชนที่ยังคงมีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม แต่ก็มีกลุ่มมุสลิมในหมู่บ้าน มีการรวมกลุ่มสตรีประกอบอาชีพสร้างรายได้เสริม ทั้งการทำผลิตภัณฑ์โอท้อป เช่น กาแฟคั่วแบบโบราณ สร้างรายได้ให้กลุ่มสตรีได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ แถมยังเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวได้ ให้คนเข้ามาชมขั้นตอนการผลิต และชิมกาแฟพันธุ์โรบัสต้ารสชาติเข้มข้นแสนอร่อย

ในหมู่บ้านมีอาคารพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็กน่ารัก นำวัตถุโบราณและข้าวของเครื่องใช้ดั้งเดิมภายในชุมชน มาจัดแสดงไว้อย่างเป็นระบบระเบียบ ทั้งถ้วยโถโอชาม อาวุธโบราณ กริช หินบดยา และชุดชาวมุสลิม เป็นต้นด้วยความที่หมู่บ้านนี้มีประวัติศาสตร์เกี่ยวเนื่องกับการเคยเป็นวังเก่า และมีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์จึงมีการทำ “สวนกาแฟวังเก่า” เพื่อปลูกขายปลูกกินสร้างรายได้ให้ชุมชนเมื่อหลายร้อยปีก่อน มีผู้นำกองทัพจากประเทศมาเลเซียผ่านมาบริเวณนี้ มีพระนามว่า ราชาสิยง ทรงตั้งกองทัพแล้วสร้างกำแพงกั้นล้อมรอบกองทัพไว้ ต่อมาจึงมีการตั้งรกรากเป็นหมู่บ้านขึ้น มีการประหารนักโทษที่กระทำผิดร้ายแรง โดยก่อนการประหารจะนำนักโทษไปอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด มี 2 บ่อ คือ บ่อน้ำสำหรับราชาสิยงและครอบครัว ส่วนอีกบ่อสำหรับประชากรและทหารในกองทัพ

เมื่อชำระล้างร่างกายนักโทษสะอาดแล้ว ก็จะให้กินอาหารมื้อสุดท้ายก่อนเข้าสู่หลักประหาร โดยมีเพชรฆาต 3 คน ใช้ดาบฟันคอจนเสียชีวิต กล่าวกันว่าก่อนคืนประหารจะได้ยินเสียงโอดครวญของเหล่าวิญญาณ และน้ำจะขึ้นเต็มบ่อทุกครั้งที่จะมีการประหารนักโทษ หลักไม้ที่ใช้ประหารเป็นไม้หลุมพอ ซึ่งในปัจจุบันหลักประหารเก่าแก่นั้นไม่มีอยูแล้ว จะมีเพียงหลักไม้จำลองที่ทำขึ้นมาแทน และตั้งปักไว้ในจุดที่เป็นลานประหารเดิมให้ชมกัน

ส่วนบ่อน้ำโบราณก็เรียกกันว่า บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่มีน้ำผุดขึ้นมาเองตามธรรมชาติ และมีชาวบ้านนำไปดื่ม อาบ รักษาโรคภัยไข้เจ็บ ส่วนราชาสิยงได้ดื่มเลือดจากนักโทษประหาร จนมีเขี้ยวงอกออกจากปาก จึงถูกชาวบ้าและทหารขับไล่ออกจากหมู่บ้าน จนต้องหนีเข้าไปในฝั่งมาเลเซียแถว ๆ บาลิง และได้สิ้นพระชนม์ที่นั่น จนมีการสร้างสัญลักษณ์รูปเขี้ยวไว้ที่บาลิงในปัจจุบันภายในหมู่บ้านกาแป๊ะกอตอในมี ต้นกาแฟร้อยปี ให้ชมกันด้วยจ้ากิจกรรมสนุกๆในการเที่ยวชมหมู่บ้าน คือการไปดูกลุ่มแม่บ้านทำกาแฟคั่วหอมกรุ่นแบบโบราณ ให้เราชิมกันเมล็ดกาแฟดิบสีขาวนวลเมื่อคั่วให้สุกบนเตาถ่านแล้ว ก็จะกลายร่างเป็นเมล็ดกาแฟสีดำปี๊แบบนี้ล่ะ แต่ยังกินไม่ได้นะยังมีอีกหลายขั้นตอนจ้าหลังจากนั้นก็นำน้ำตาลทรายขาวน้ำตาลทรายแดงมาคั่วบนกระทะ ให้ร้อนละลายกลายเป็นคาราเมล แล้วเทเมล็ดกาแฟลงไปคลุกเคล้าให้ทั่ว เสร็จแล้วผึ่งให้แห้ง ตำบดให้ละเอียดด้วยครกไม้โบราณ ก็พร้อมชงเสิร์ฟเป็นกาแฟดำพื้นบ้าน (โกปี้) แบบฉบับบ้านกาแป๊ะกอตอในที่ขายดิบขายดี ของกินเด่นดังอีกอย่างที่นี่คือ “ข้าวหลามยาว” หรือ “ข้าวหลามบาซุก้า” ที่กินอร่อยอิ่มนาน แถมแปลกไม่เหมือนใครด้วยก่อนลาจากชุมชนกาแป๊ะกอตอใน ก็ต้องลองชิมอาหารพื้นบ้านอร่อยๆ รสมือแม่กันหน่อย มีทั้งปลาทอดขมิ้น ผัดผักกูด น้ำพริกกะปิผักเหนาะ และต้มยำปลา แหมประทับใจจริงๆ

2. ผ้าสีมายา (SIMAYA) อ.เมืองยะลา “ผ้ามัดย้อมดินมายาหน้าถ้ำ”

เลขที่ 136 หมู่ 1 บ้านหน้าถ้ำ ต.หน้าถ้ำ อ.เมืองยะลา โทร. 0-9930-87252
กลุ่มผ้าสีมายา จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2558 โดยนำดินมายาซึ่งมีอยู่มากในภูเขาถ้ำและภูเขากำปั่น มาย้อมเป็นผ้าอันสวยงาม

ชาวบ้านได้สังเกตว่าเมื่อดินชนิดนี้ติดเสื้อผ้าจะล้างออกยาก จึงคิดค้นหาวิธีนำมาย้อมผ้าได้ผ้าสีส้มอมน้ำตาลสดใสอันเป็นเอกลัษณ์ อีกทั้งยังเพิ่มเติมคุณค่าให้ผืนผ้าแพรพรรด้วยการนำลายภาพเขียนสีในถ้ำอายุกว่า 1,000  ปี และลายศิลป์ช่องลมของศาลาการเปรียญ มาพิมพ์ลงบนผืนผ้า นอกจากนี้ยังเน้นการย้อมสีธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่น อย่างใบหูกวาง และใบมังคุดอีกด้วย สีย้อมผ้าธรรมชาติจากดินมายาหน้าถ้ำกิจกรรมสนุกๆ เมื่อเข้าไปเยี่ยมกลุ่มสีมายา คือเราจะได้ทดลองทำผ้ามัดย้อมฝีมือเราเอง ขั้นแรกก็ต้องนำเชือกหรือหนังสติ๊ก มามัดลงบนผืนผ้าให้เกิดลายตามต้องการ
ผ้าสีมายาลายภาพเขียนสีโบราณ 1,000 ปี 3. เขื่อนบางลาง อ.บันนังสตา “เขื่อนแห่งความชุ่มฉ่ำ และจุดชมวิวพาโนรามา”
เขื่อนบางลาง อยู่ที่บ้านบางลาง ต.เขื่อนบางลาง ห่างจากตัวจังหวัดยะลาไปตามทางหลวงหมายเลข 410 ประมาณ 50 กิโลเมตร แล้วแยกซ้ายไปอีก 12 กิโลเมตร เป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าและเขื่อนเอนกประสงค์แห่งแรกของภาคใต้ โดยสร้างกั้นแม่น้ำปัตตานี เป็นเขื่อนหินทิ้งแกนดินเหนียว สูง 85 เมตร สันเขื่อนยาว 422 เมตร นับเป็นจุดชมวิวธรรมชาติอันน่าตื่นตามาก4. ปั้มน้ำมันธารโต ‘จุดถ่ายภาพคู่กับแงะป่า และไก่เบตง” อ.ธารโต
ความสนุกในการขับรถท่องเที่ยวจากตัวเมืองยะลาสู่อำเภอเบตง ระหว่างทางแนะนำให้แวะพักยืดเส้นยืดสายในปั้มน้ำมันธารโตกันก่อน ถ่ายภาพคู่กับรูปปั้นคู่รักเงาะป่าที่เคยอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ และยังมีรูปปั้นไก่เบตงตัวเบ้อเริ่ม ยืนโพสต์ท่าพร้อมให้เราเก็บภาพไว้เป็นที่ระลึกจ้า5. สวนคุณชายโอ๊ค “ฟาร์มตัวอย่างที่น่าเอาเยี่ยงอย่าง” อ.ธารโต
สำหรับคนที่ชอบ ท่องเที่ยวชมวิถีเกษตร หรือ Agro-Tourism รับรองว่ามาเที่ยวยะลาแล้วจะติดใจ เพราะมีพืชผักผลไม้อุดมสมบูรณ์จริงๆ ที่อำเภอธารโตมีฟาร์มตัวอย่างสวนคุณชายโอ๊ค (ทางเข้าอยู่ติดปั๊มน้ำมันธารโต) ให้เราได้เที่ยวชมกันตลอดปี ยิ่งสำคัญถ้าตรงกับเดือนสิงหาคมก็จะมีผลไม้นานาชนิดให้ชิม โดยเฉพาะทุเรียนหมอนทองจะออกผลสุกพร้อมกินนับร้อยๆ ต้นที่สวนนี้ความสำเร็จของสวนคุณชายโอ๊คในวันนี้มิได้เกิดโดยบังเอิญ หากแต่เกิดจากการเดินตามรอยศาสตร์พระราชา ด้วยการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง และปลูกไร่ส้มจนสำเร็จโด่งดังนอกจากไม้ดอกไม้ผลต่างๆ แล้ว สวนคุณชายโอ๊คยังเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจหลายชนิดไว้ด้วย ทั้งนกยูง ไก่ฟ้า แพะเนื้อ แพะนม สามารถเที่ยวชมถ่ายภาพได้อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเหล่าแพะที่เราให้อาหารได้ด้วย
กิจกรรมที่ถือว่าเป็นไฮไลท์สุดๆ ของสวนคุณชายโอ๊คคือ การชิมน้ำผึ้งชันโรง (เป็นผึ้งจิ๋วซึ่งไม่มีเหล็กในที่ก้น หรือ Stingless Bee)โดยเขาจะเปิดรังเลี้ยงตัวชันโรง ให้เห็นอาณานิคมและส่วนเก็บน้ำผึ้งของมันอย่างเต็มตา จากนั้นก็ใช้หลอดจิ้มดูดกันสดๆ ตรงนั้นเลย ถือว่าได้คุณค่าวิตามินกันไปเต็มๆ สุดยอด!6. ศาลหลักเมืองยะลา “ศูนย์รวมใจรวมศรัทธาผู้คน”

ศาลหลักเมืองยะลา ตั้งอยู่กลางวงเวียนหน้าศาลากลางจังหวัด เป็นที่เคารพนับถือของชาวจังหวัดยะลา โดยประมาณปลายเดือนพฤษภาคมจะมีงานสมโภชนเจ้าพ่อหลักเมือง ซึ่งเป็นงานเทศกาลประจำปีสำคัญงานหนึ่งของภาคใต้ ศาลหลักเมืองยะลาถือเป็นจุดศูนย์กลางของผังเมืองรูปใยแมงมุม อันเป็นเมืองที่มีผังเมืองสวยที่สุดในประเทศไทย 7. สวนขวัญเมือง อ.เมืองยะลา “พักผ่อนหย่อนใจในสวนสวยกลางเมือง”

สวนขวัญเมือง หรือพรุบาโกย อยู่ที่ถนนเทศบาล 1 ห่างจากศาลหลักเมืองยะลาประมาณ 300 เมตร เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกายชองชาวเมือง มีทะเลสาบ ทิวสน สนามหญ้า ให้ได้ทอดกายคลายอารมณ์ อีกทั้งยังเป็นจุดที่ใช้จัดงานออกร้านต่างๆ ของจังหวัดด้วย การที่ยะลาไม่ติดทะเล แต่มีทะเลสาบจำลองในสวนนี้ก็สร้างความชุ่มชื่นหัวใจทดแทนกันได้พอสมควร
8. ร้านธารา Seafood อ.เมืองยะลา  “ชิมอาหารทะเลสดจริง ในเมืองที่ไม่ติดทะเล!”

ถนนพิพิธภักดี ตำบลสะเตง เทศบาลนครยะลา 95000 โทร. 0-7321-2356 เปิด 11.00 – 21.00 น.

ร้านนี้โด่งดังนานกว่า 30 ปี แม้ยะลาจะไม่ติดทะเล แต่เขาก็ยังสามารถขายอาหารทะเลสดๆ ที่นำมาจากปัตตานีและนราธิวาส เมนูเด็ดของร้านธารา Seafood คือ ปลาเผาสมุนไพรอันเป็นเอกลักษณ์  หอมกลิ่นสมุนไพรสีเขียวๆ ส่วนเนื้อปลาก็หวานนุ่ม กินคู่กับน้ำจิ้มรสเด็ด นอกจากนี้ยังมีกุ้งทอดกระเทียม หอยหวาน หอยแครงและกุ้งหอยปูปลาอื่นๆ อีกเพียบ 9. ร้านเรือนนพรัตน์ อ.เมืองยะลา “อาหารไทยรสเด็ด ที่พิเศษจนห้ามพลาด!”

เลขที่ 90-92-94-96 ถนนรวมมิตร ต.สะเตง อ.เมืองยะลา 95000 โทร. 0-7372-0088, 08-6749-5543 เปิดทุกวัน เวลา 10.00-22.00 น.
เรือนนพรัตน์ เป็นร้านอาหารรับแขกบ้านแขกเมืองยะลาได้อย่างไม่อายใคร ตกแต่งร้านหรูหราในสไตล์ไทยภาคกลาง ภายในร้านติดแอร์เย็นฉ่ำ ตกแต่งด้วยวัสดุไม้พร้อมการจัดแสงให้ความรู้สึกอบอุ่นน่านั่ง โดยมีทั้งส่วนนั่งอิงหมอนสามเหลี่ยมบนพื้น ส่วนนั่งโต๊ะ และห้องส่วนตัวอย่างครบครัน
อาหารเด็ดก็มีทั้ง ห่อหมกถ้วย, ยำหัวปลี, ยำผักกูด, ต้มส้มปลากระบอก, ปลากระบอกทอดกระเทียม, ไข่เจียวปูฟู, ผักเหลียงผัดไข่, แกงคั่วหอยขม, น้ำพริกกุ้งสดและอื่นๆ อีกเพียบ แค่ได้ยินชื่อเมนูก็น้ำลายสอแล้วล่ะ

SPECIAL THANKS โครการ ‘ซาลามัตชายแดนใต้’ จ.นราธิวาส-ยะลา-ปัตตานี

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ททท สำนักงานนราธิวาส-ยะลา-ปัตตานี โทร. 0-7352-2411 , 0-7354-2345