แต่งงานบนหลังช้าง จ.สุรินทร์ พิธีซัตเต แห่งเดียวในโลก (ตอน 2)

หลังจาก “พิธีฮาวปลึงจองได” หรือ “พิธีบายศรีสู่ขวัญ” เจ้าบ่าวเจ้าสาวทั้ง 60 คู่ เมื่อวันที่ 13 กุมพาพันธ์ 2563 เสร็จเรียบร้อยแล้ว ในวันถัดมาซึ่งเป็นวันแห่งความรัก 14 กุมภาพันธ์ งานใหญ่อีกงาน ณ บ้านตากลาง อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ก็รออยู่ คือ “การแต่งงานและจดทะเบียนสมรสบนหลังช้าง” แห่งเดียวในโลกคุณธมนวรรณ เจริญวงศ์พิสิฐ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสุรินทร์  พร้อมด้วยผู้มีเกียรติหลายท่าน เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในวันแห่งความรักอันยิ่งใหญ่นี้ ยามเช้าอากาศกำลังดี ขบวนแห่เจ้าบ่าวบนหลังช้างทั้ง 60 เชือก อันคึกคักเปี่ยมสีสัน ก็เริ่มเคลื่อนขบวนผ่านศูนย์คชศึกษา ไปสู่ Elephant World เพื่อพบกับเจ้าสาวแสนสวยที่รออยู่
ความงดงามและความยิ่งใหญ่ของขบวนแห่เจ้าบ่าวบนหลังช้างทั้ง 60 เชือก ภาพนี้คือภาพประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง เพราะมีเพียงแห่งเดียวในโลก ที่บ้านตากลาง อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ช้างของเจ้าบ่าวหมายเลข 1 เป็นช้างพลายแก่งายาว ซึ่งหาได้ยากยิ่งแล้วในปัจจุบันช้างของเจ้าบ่าวหมายเลข 12 ก็เป็นช้างพลายที่มีขนาดใหญ่มากเช่นกัน ความสวยงามน่าประทับใจของขบวนช้าง ที่ทยอยนำเจ้าบ่าวเข้าสู่ Elephant World บ้านตากลาง เจ้าสาวทั้ง 60 คน นั่งรอขบวนเจ้าบ่าวด้วยใจระทึกเจ้าสาวในชุดชาวกูยอันวิจิตรงดงาม จุดเด่นอยู่ที่ “จะลอม” หรือมงกุฎใบตาลเอกลักษณ์เฉพาะ เจ้าสาวชาวกัมพูชา ในพิธีซัตเต 2563 สวยงามเปี่ยมด้วยอัตลักษณ์ของชาวกูย โบกมือให้ขบวนเจ้าบ่าวที่เดินเข้าสู่ Elephant World ความรักอบอวลไปทั่วบริเวณงานซัตเต
เจ้าบ่าวในชุดชาวกูย คาดหัวด้วยด้ายสามสี (แดง น้ำเงิน และขาว) ส่วนเจ้าสาวแต่งกายชุดชาวกูย สวมมงกุฎใบตาล ทำให้เรียกกันว่า “เจ้าสาวมงกุฎใบตาล”

เมื่อสวมแหวนหางช้างให้กันแล้ว เจ้าบ่าวก็มอบดอกกุหลาบสีแดงเป็นตัวแทนแห่งความรักให้เจ้าสาว จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายเรียบร้อยแล้ว สำหรับคู่เบอร์ 14 ในวันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ พอดิบพอดีเลยนะจ๊ะ ยินดีด้วยจริงๆ พ่อหมอช้างชาวกูยรุ่นสุดท้าย ซึ่งครั้งหนึ่งในอดีตเคยเข้าป่าไปคล้องช้างจับช้างป่าจริงๆ บัดนี้เหลือเพียงเรื่องเล่าอันทรงคุณค่า และวันนี้ท่านได้มาเป็นผู้นำประกอบพิธีซัตเต 2563 พ่อหมอช้างชาวกูยแห่งบ้านตากลาง เดินไปรับขบวนบ่าวสาวเข้าสู่ปรัมพิธีซัตเต แม่เฒ่าชาวกูยแห่งบ้านตากลาง ยืนรอรับขบวนบ่าวสาวที่ซุ้มดอกไม้สวยงาม โดยมีการกั้นประตูเงินประตูทองก่อนเข้าสู่ปรัมพิธีซัตเต พ่อหมอช้างนำขบวนผ่านซุ้มดอกไม้ประตูเงินประตูทอง ตามแบบวัฒนธรรมชาวกูย ผู้เฒ่าผู้แก่ เดินนำเจ้าบ่าวเจ้าสาวเข้าสู่ปรัมพิธีซัตเต ใน Elephant World บ้านตากลาง

“ซัตเต” คือการผูกข้อไม้ข้อมือเพื่อบายศรีสู่ขวัญในวันแต่งงานตามวัฒนธรรมชาวกูย การแต่งกายฝ่ายเจ้าสาวนุ่งผ้าซิ่นลายไหมของชาวกูย เสื้อแขนกระบอกสีอ่อน ผ้าสไบสีแดง สวมศีรษะด้วย “จะลอม” ซึ่งเป็นมงกุฎทำจากใบตาล ส่วนเจ้าบ่าวนุ่งโสร่งไหมผ้ากระเนียว เสื้อแขนยาว ผ้าไหมพาดบ่า มีด้ายมงคล 3 สี สวมศีรษะ

เมื่อประกอบพิธีซัดเตเสร็จแล้ว ก็จะมีการเลี้ยงอาหารช้างด้วย

พิธีซัตเต มีด้วยกัน 4 ขั้นตอน

ขั้นที่ 1 “จีเจาะกะมอล”  การไปทาบทาม บอกเล่าว่าลูกชายมารักชอบลูกสาว

ขั้นที่ 2 “จีเมาะกะมอล”  การที่ฝ่ายเจ้าบ่าวไปตกลงค่าสินสอดทองหมั้นกับฝ่ายเจ้าสาว

ขั้นที่ 3 “จีโต๊ะ”  การไปหมั้นหมาย มีอุปกรณ์ คือ หมาก พลู เหล้า บุหรี่ ทองหมั้น หรือเงิน ถ้าตกลงค่าสินสอดทองหมั้นเท่าไหร่ ให้นำมาวางในวันหมั้น ส่วนที่ขาดให้นำมาในวันซัตเต หรือวันแต่งงาน

ขั้นที่ 4 “ซัตเต”  คือพิธีแต่งงาน

อุปกรณ์ประกอบ “พิธีซัตเต” มีดังนี้

– อะลิเครื่องมาด  คือหมูที่ฆ่าแล้วแต่ยังไม่ชำแหละ เมื่อเจ้าบ่าวนำมาส่งจะต้องแบ่งปันกัน
– อะลิกะมูย  คือ หมูเครื่องเซ่น ทางฝ่ายเจ้าบ่าวนำมาเซ่นผีบรรพบุรุษ โดยไม่ต้องแบ่งฝ่ายเจ้าสาว
– น้ำตาลอ้อย  ทำจากน้ำอ้อยบรรจุในใบตาล ใช้ไหว้ญาติผู้ใหญ่
– กระบุง 1 คู่  ในกระบุงบรรจุข้าวเปลือก มีหินลับมีดวางอยู่ข้างข้าวเปลือก
– เต่าน้ำจืด 1 ตัว 
– ปลาแห้ง  (พอสมควร)
– พานบายศรี  (มีด้ายมงคลไว้ผูกข้อมือ)
– ไก่ต้มทั้งตัว  (ใช้เซ่นผีบรรพบุรุษ)
– ผ้าไหมใหม่  (สำหรับไหว้พ่อแม่เจ้าบ่าว คนละชุด และผลัดเปลี่ยนในพิธีอาบน้ำ 1 ชุด

ความสุขและความชื่นมื่นในพิธีซัตเต 2563 พิธีฮาวปลึงจองได และพิธีซัตเต ตามวิถีวัฒนธรรมชาวกูยบ้านตากลาง จังหวัดสุรินทร์  คือการสืบสานวัฒนธรรมอันดีของชาติไทยไว้มิให้สูญหาย และช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวในเขตอีสานใต้แห่งนี้ ให้คึกคัก มั่งคั่ง ยืนยืน ตลอดไป
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงาน จ.สุรินทร์ โทร. 0-4451-4447

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *