เที่ยวในประเทศ

Life @เมืองเก่าตะกั่วป่า จ.พังงา

ในขณะที่โลกกำลังหมุนไปอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ใครบางคนกำลังถูกความรีบเร่งและสังคมเมืองกลืนกินวิถีชีวิตอันแสนสงบเรียบง่าย ให้หายไปอย่างไม่มีวันกลับ เราได้มาพบกับเมืองน้อยน่ารักนามว่า “เมืองเก่าตะกั่วป่า” แห่งจังหวัดพังงา เมืองเก่าอายุเกิน 100 ปี ที่เติบโตขึ้นในยุคเดียวกับภูเก็ต ด้วยธุรกิจทำเหมืองแร่ดีบุก

2

อาก๋งท่านนี้ เคยเป็นช่างตีเหล็กที่เก่งที่สุดคนหนึ่งของเมืองตะกั่วป่า นั่งเรืออพยพมาจากเมืองจีนแท้ๆ ตั้งแต่วัยหนุ่ม ทว่าหลังจากธุรกิจเมืองแร่ดีบุกยุติลง และร่างกายก็ล่วงเข้าวัยชรา ทุกวันนี้อาก๋งจึงไม่ได้ตีเหล็กอีกแล้ว อาชีพนี้ก็สูญหายไปจากตะกั่วป่าอย่างไม่มีวันกลับ เหลือเพียงคำบอกเล่าจากปากของท่าน

3

เมืองเก่าตะกั่วป่า มีชื่อเดิมว่า “ตะโกลา” เป็นเมืองโบราณที่มีความสำคัญยิ่งของภาคใต้ ทำหน้าที่เป็นเมืองท่ามาตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 500 ค้าขายกับอินเดีย อาหรับ จีน และชาติต่างๆ ที่ล่องเรือนำสินค้ามาขึ้นยังฝั่งทะเลอันดามัน จากตะโกลาปัจจุบันชื่อเพี้ยนเปลี่ยนเสียงมาเป็น “ตะกั่วป่า” เมืองน่ารัก Slow Town ที่เราหลงรัก

4

 อดีตที่ผันผ่าน ยังคงตราตรึงอยู่ในควาทรงจำของผู้คนที่นี่ คนที่เกิด เติบโต และไม่เคยจากเมืองเก่าตะกั่วป่าไปไหนไกล

5

 ทุกซอกมุมคืออดีตที่บรรจุเรื่องราวไว้นับไม่ถ้วน อิฐเก่าบอกเล่าอดีตอย่างเงียบเชียบ รอคนที่เปิดใจมาสัมผัสรับฟัง

6

7

 สำหรับคนที่โหยหาอดีต ประตูหน้าต่างเก่าหน้าบ้านที่เห็น มิได้เป็นเพียงสถาปัตยกรรมอายุร้อยปี ทว่าเป็นประตูสู่วิถีชีวิตผู้คนแดนใต้ฝั่งอันดามัน ที่พร้อมบอกเล่าเรื่องราวไม่รู้จบ

8

 แม้สังขารจะถูกกาลเวลาพาให้ร่วงโรย แต่รอยยิ้มของอาก๋งนักตีเหล็กก็ยังเปื้อนหน้าทุกครั้ง ที่แหงนหน้าขึ้นดูรูปถ่ายขาวดำเก่าๆ ทั้งของตัวเอง เมีย ลูกๆ และหลานๆ วันวานยังหวานอยู่จริงๆ นะ

9

10

11

 ทำอาชีพที่ตนเองรัก มีความสุข อยู่อย่างพอเพียง คือปรัชญาชีวิตของคุณป้าท่านนี้ แม้ไม่ได้เกิดที่เมืองเก่าตะกั่วป่า แต่เมื่อได้มาใช้ชีวิตอยู่จริงๆ ก็หลงรัก และไม่อยากจากไปไหน

12

 ซื่อสัตย์กับอาชีพที่ตัวเองรัก นั่งปักผ้า เย็บผ้าทุกวัน ตามออร์เดอร์ลูกค้า ค่อยๆ ทำตามที่มีแรง ไม่เร่งไม่ร้อน

13

25

 เดินเล่นไปในเมืองเก่าตะกั่วป่า พบเห็นเส้นสายลายศิลป์บนผืนผ้านุ่งผ้าโสร่ง ที่มีแหล่งผลิตจากทั้งในเมืองไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ช่างงดงามน่ามอง เป็นเอกลักษณ์ เหมาะจะซื้อไปฝากคนที่รู้คุณค่าและได้สวมใส่ใช้งานจริง

14

 ตัดผ้ามาตั้งแต่หนุ่มๆ โดยไม่เคยจากเมืองเก่าตะกั่วป่าไปไหน เทิดทูนในหลวงไว้เหนือเกล้า ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

15

 ศิลปะแห่งแสงสี ฉาบทาอยู่ในทุกอณูเนื้อของอาคารเก่า ผนังกำแพงที่ใครหลายคนมองว่าไร้ค่า แต่สำหรับเรานี่คือพิพิธภัณฑ์ศิลปะอันมีชีวิต Living Museum / Art Museum ของแท้แน่นอน

16

 แม้จะเป็นเพียงมุมเล็กๆ ที่เก่าคร่ำคร่า ทว่าก็เปรียบเสมือน Installation Art เป็นศิลปะการจัดวางอย่างไม่ตั้งใจ แต่ก็งามเกินบรรยาย

17

18

 เมืองเก่าตะกั่วป่า มีศาลเจ้าจีนอยู่หลายแห่ง และจัดงานเทศกาลใหญ่ๆ รวมถึงงานถือศีลกินผักพร้อมๆ กับภูเก็ตด้วยเหมือนกัน

19

20

 ภาพขรึมขลังของบรรพบุรุษชาวจีนรุ่นแรกๆ ที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ประกอบสัมมาอาชีพในเมืองเก่าตะกั่วป่า สืบทอดลูกหลานมาจนปัจจุบัน

21

22

 บ้านคุณป้าที่เห็นด้านหลัง เคยเป็นโรงตีเหล็ก แต่เมื่อเหมืองแร่ดีบุกหมดไป อาชีพนี้ก็สาบสูญ คุณป้าบอกว่า “เมืองกำลังจะหมดลมหายใจ!” เป็นประโยคสั้นๆ ที่กินใจเราเหลือเกิน!

23

 ร้านโกปี้ หรือร้านกาแฟแบบชาวใต้ เหมาะไปนั่งพักผ่อนสบายๆ ดูคนเมืองเก่าตะกั่วป่าเขาเปิดสภากาแฟ พูดคุยสรวนเสเฮฮากันในสยามเช้า

24

26

 อาคารโบราณอายุเกิน 100 ปีในเมืองเก่าตะกั่วป่า สร้างขึ้นในยุคเดียวกับเมืองเก่าภูเก็ต ด้วยสถาปัตยกรรมแบบ ชิโน-ยุโรเปียน (Chino-European) หรือจะเรียกว่า ตึกแบบจีนปนยุโรป ก็ไม่ผิด เขาบอกว่าถ้าอาคารหลังใดสร้างต่อกัน ด้วยแบบเหมือนกันหลายคูหา แสดงว่าเป็นญาติหรือครอบครัวเดียวกัน แต่ถ้าอาคารใดสร้างคนละแบบ หรือมีการเว้นช่องว่างไว้ ก็แสดงว่าไม่ใช่ญาติกันนั่นเอง

27

28

29

1841

 Special Thanks : ททท. ศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวจังหวัดพังงา (โทร. 0-7648-1900-2) และ คุณนครพจน์ ปิ่นมิ่ง ททท. ฝ่ายโฆษณาและประชาสัมพันธ์ (โครงการต้นกล้าตากล้อง ท่องเที่ยวไทย) สนับสนุนการเดินทางทำสารคดีเรื่องนี้

ลอยกระทงสายไหลประทีป ๑,๐๐๐ ดวง จังหวัดตาก

 

Processed with VSCOcam with f2 preset

ลอยกระทงสาย 5

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานตาก จัดงานประเพณี “ลอยกระทงสายไหลประทีป ๑,๐๐๐ ดวง ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” เมื่อวันที่ ๑-๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ บริเวณริมสายธารลานกระทงสาย เชิงสะพานกรุงสมโภชน์รัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี

กระทงสายถือเป็นเอกลักษณ์และมรดกตกทอดทางภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สะท้อนถึงความเชื่อ ความเคารพและศรัทธาที่มีต่อสายน้ำ ถือเป็นประเพณีสำคัญที่ชาวจังหวัดตากภาคภูมิใจยิ่ง และจัดสืบต่อกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล

กระทงสาย ตัวกระทงทำจากกะลา ส่วนตัวไส้เทียนทำจากด้ายฟั่นเป็นรูปตีนกา การทำตีนกาเป็นความเชื่อที่สืบทอดกันมาว่า แสงไฟจากตีนกาจะเป็นการบูชาแม่กาเผือกของพระพุทธเจ้า 5 พระองค์   ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาถึงทุกวันนี้ การจุดไฟที่ด้ายและตีนกาถือเป็นความเชื่อของชาวบ้านที่ว่า แสงไฟจะสร้างความสว่างไสวให้กับชีวิตของตนเอง

กระทงสาย 1

กระทงกะลา ตัวไส้ทำจากด้ายฟั่นเป็นรูปตีนกา

คืนวันแรกของการจัดงานจะมีขบวนแห่กระทงของชาวบ้าน แต่ละคนจะแต่งกายประจำชุมชนและอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย ขบวนแห่ประกอบด้วย กระทงขนาดใหญ่ เรียกว่า กระทงนำ พร้อมด้วยกระทงกะลา และกระทงปิดท้าย ซึ่งตกแต่งได้อย่างยิ่งใหญ่ วิจิตรงดงาม นอกจากนั้นยังมีการจัดประกวดทั้งกระทงนำ กระทงกะลา และกระทงปิดท้ายอีกด้วย

ประกวดกระทง 4

กระทงปิดท้ายที่ส่งเข้าประกวด

ประกวดกระทง 3

ประกวดปิดท้ายที่ส่งเข้าประกวด

ประกวดกระทง 2

กระทงที่ส่งเข้าประกวด

ประกวดกระทง 1

กระทงกะลาที่ตกแต่งอย่างสวยงามจากแต่ละชุมชนเพื่อส่งเข้าประกวด

ประกวดกระทง 5

กระทงกะลาที่ตกแต่งอย่างสวยงามจากแต่ละชุมชนเพื่อส่งเข้าประกวด

ขบวนแห่ 4

ขบวนแห่กระทง

ขบวนแห่ 2

ขบวนแห่กระทง

ขบวนแห่ 1

ขบวนแห่กระทง

ขบวนแห่ 3

เด็กน้อยแต่งตัวชาวเขาในขบวนแห่กระทง

ขบวนแห่ 5

สาวสวยแต่งกายอย่างไทยร่วมขบวนแห่กระทง

งานวันแรก (๑ พ.ย.) จะมีพิธีเปิดงานฯ และอัญเชิญกระทงพระราชทาน ๑๐ พระองค์ลงลอยเป็นปฐมฤกษ์และเป็นสิริมงคลในการจัดงาน จากนั้นจะมีการลอยกระทงสายโชว์จำนวน ๑,๐๐๐ ดวง

ลอยกระทงสาย 3

ก่อนเริ่มลอยกระทงสาย (กระทงกะลา) จะต้องกระทงนำก่อน

วันที่สองไปถึงวันสุดท้าย (๒-๖ พ.ย.) จะมีการทอดผ้าป่าน้ำ ณ เวทีกลางน้ำ ต่อจากนั้นก็จะเป็นแข่งขันลอยกระทงสายฯ วันละ ๒ ทีม

การแข่งขันจะประกอบด้วยการประกวดการแสดงบนเวที และการประกวดลอยกระทงสายไหลประทีป ๑,๐๐๐ ดวง ให้ทันตามเวลาที่กำหนด

ก่อนเริ่มลอยกระทงสายจะต้องลอยกระทงนำก่อนพร้อมๆ กับการแสดงบนเวทีที่เริ่มขึ้น จากนั้นเริ่มลอยกระทงสาย พอครบ ๑,๐๐๐ ดวง ก็จะทำการลอยกระทงปิดท้าย เป็นอันเสร็จสิ้นการแข่งขัน และในวันสุดท้ายจะมีการประกาศผล ทีมที่ชนะเลิศจะได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานฯ ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช โปรดเกล้าฯ พระราชทานถ้วยรางวัลสำหรับทีมชนะเลิศในการประกวดกระทงสาย ตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ มาจนถึงปัจจุบัน

กระทงสาย 2

แข่งขันลอยกระทงสาย ๑,๐๐๐ ดวง

 

ลอยกระทงสาย 7

แข่งขันลอยกระทงสายไหลประทีป ๑,๐๐๐ ดวง และการประกวดการแสดงบนเวที

ลอยกระทงสาย 6

การแสดงบนเวที

ลอยกระทงสาย 8

ลอยกระทงปิดท้าย หลังจากลอยกระทงประทีปตรบ ๑,๐๐๐ ดวงแล้ว

ลอยกระทงสาย 4

กระทงปิดท้าย หลังจากลอยกระทงประทีปตรบ ๑,๐๐๐ ดวงแล้ว

นอกจากชาวจังหวัดตากและนักท่องเที่ยวจะได้ชมการแข่งขันลอยกระทงสายและร่วมลอยกระทงเพื่อขอขมาและสักการะต่อพระแม่คงคาแล้ว ยังจะได้ช้อปชิมอาหารพื้นเมืองและเลือกซื้อสินค้าต่างๆ ที่มาออกร้านมากมายบริเวณสวนคนเดินการกระทงสาย มีทั้งสินค้า OTOP สินค้าพื้นเมือง และอาหารท้องถิ่นที่หาทานที่ไหนไม่ได้ ชมกระทงสายจำลองแกะสลักจากหินแกรนิต บริเวณถนนเลียบแม่น้ำปิง โดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดตาก นายสมชัยฐ์ หทยะตันย์ติ ได้พัฒนาถนนเลียบแม่น้ำนี้ให้กลายเป็นจุดชมทิวทัศน์ที่สวยงาม สะอาดตา และสามรถรองรับนักท่องเที่ยวได้ทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ เด็ก คนท้อง และผู้พิการอีกด้วย

งานประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป ๑,๐๐๐ ดวง ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยถึง ๒ ครั้งในปี ๒๕๕๔ และ ๒๕๕๖ ถือเป็ฯเครื่องเชิดชูเกียรติและเป็นที่ประจักษ์แก่สายตานักท่องเที่ยวทุกท่านที่เดินทางมายังจังหวัดตาก

ติดต่อสอบถามข้อมูลและเส้นทางท่องเที่ยวได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานตาก โทร. 0 5551 4341-3 อีเมล tattak@tat.or.th และ www.facebook.com/taktravel

 

ราตรีผ้าไหม สายใยข้าวหอมมะลิ 2557 จ.สุรินทร์

ผ้าไหม เป็นหนึ่งในหัตถกรรมสิ่งทอพื้นบ้านที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน แพรพรรณนี้มีความโดดเด่น ต่างจากเนื้อผ้าชนิดอื่นอย่างเห็นได้ชัด เพราะผ้าไหมมีเนื้ออันอ่อนนุ่ม มันวาวสะท้อนแสง เลอค่าน่าสวมใส่ จึงเป็นที่นิยมใช้กันทั้งในระดับราชสำนักชั้นสูง กระทั่งถึงระดับขุนนาง ข้าราชการ พ่อค้าวาณิชย์ และประชาชนทั่วไป ผ้าไหมจึงเป็นแพรพรรณอันทรงคุณค่าที่สะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นไทยได้ยอดเยี่ยม

ราตรีผ้าไหม 1

ราตรีผ้าไหม 2

แต่หากจะสืบสาวประวัติของผ้าไหมย้อนไปในอดีต ทำให้ทราบว่าผ้าไหมมีต้นกำเนิดขึ้นในอินเดีย และจีน จากนั้นจึงค่อยๆ แพร่เข้าสู่แผ่นดินสุวรรณภูมิผ่านทางการค้าขาย มีการค้นพบว่าตั้งแต่สมัยบ้านเชียง หรือประมาณ 3,000-5,000 ปีมาแล้ว ผู้คนบนผืนดินสุวรรณภูมิก็มีการใช้ผ้าไหมกันในชีวิตประจำวันแล้ว กระทั่งย่างเข้าสู่สมัยสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา ผ้าไหมก็ยิ่งเป็นที่นิยมแพร่หลายอย่างกว้างขวาง มีการพัฒนาลวดลายและเทคนิคการทอให้ซับซ้อนยิ่งขึ้น ตามการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับต่างชาตินั่นเอง กล่าวกันว่าผ้าไหมไทยมีวิวัฒนาการแบ่งเป็น 3 ยุค คือยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นช่วงรัชกาลที่ 1-3 (ซึ่งสยามยึดประเทศโดยรอบในแถบบอุษาคเนย์ไว้ได้เกือบทั้งหมด) ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และปัจจุบันเป็นยุคที่สาม ภายใต้พระบรมราชานุเคราะห์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชนินีนาถ ทรงจัดตั้งศูนย์ศิลปาชีพขึ้นเพื่ออนุรักษ์ผ้าไหมไทยมิให้สูญหาย สนับสนุนช่างทอให้มีงานทำมีรายได้ อีกทั้งยังเป็นการพัฒนารูปแบบลวดลายให้ร่วมสมัย น่าสวมใส่ จากไหมไทยบ้านๆ แบบเดิมๆ มาบัดนี้ก้าวไปสู่ต่างแดนได้อย่างสง่าผ่าเผย

ราตรีผ้าไหม 3

ราตรีผ้าไหม 4

 ดินแดนอีสานตอนล่างของสยามในบริเวณจังหวัดสุรินทร์ เป็นถิ่นที่มีผู้คนอพยพข้ามแดนมาตั้งรกราก จากฝั่งประเทศกัมพูชาเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ช่วงสมัยรัชกาลที่ 1-3 พวกเขาเหล่านี้ไม่ได้มาตัวเปล่า แต่นำความชำนิชำนาญการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าไหมติดตัวมาด้วย ช่างทอฝีมือยอดเยี่ยมนับไม่ถ้วน ช่วยกันรังสรรค์ผืนผ้าล้ำค่าด้วยลวดลายวิจิตรพิสดารจนลือเลื่องไปทั่วแดน จนบัดนี้ นอกจากสุรินทร์จะเป็นถิ่นสุดยอดข้าวหอมมะลิไทยแล้ว ยังถือเป็นสุดยอดแห่งดินแดนผ้าไหมอีกด้วย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสุรินทร์ ร่วมกับบัตรเครดิตกสิกรไทย จึงร่วมกันจัดงานกาล่าดินเนอร์สุดหรู “ราตรีผ้าไหม สายใยข้าวหอมมะลิ” เมื่อค่ำของวันที่ 12 กรกฎาคม 2557 ณ โรงแรมทองธารินทร์ อำเภอเมืองจังหวัดสุรินทร์ โดยมีแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก อาทิ นายสามพร มณีไมตรีจิต ผู้อำนวยการกองตลาดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, นายชูเกียรติ โพธิโต ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานสุรินทร์ และ อาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ผู้นำหมู่บ้านทอผ้าไหมยกทองจันทร์โสมา โดยท่านผู้นี้เป็นหนึ่งในกูรูผู้เชี่ยวชาญแนวหน้าเรื่องผ้าไหมไทย ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง เพราะท่านเคยทำงานรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคบาทสมเด็จพระนางเจ้าฯ อย่างใกล้ชิดในเรื่องผ้าไหมของศูนย์ศิลปาชีพมาอย่างช้านานแล้ว

ราตรีผ้าไหม 5

 งานกาล่าดินเนอร์ ราตรีผ้าไหม สายใยข้าวหอมมะลิ เป็นการจัดงานเพื่อเชิดชูคุณค่าความสำคัญ ของผ้าไหมและข้าวหอมมะลิ อันเป็นสุดยอดสองผลผลิตท้องถิ่นของสุรินทร์ให้เป็นที่ประจักษ์อีกครั้งหนึ่ง ข้าวหอมมะลิสุรินทร์ถือเป็นสินค้า OTOP ระดับพรีเมียม เพราะเติบโตขึ้นจากคุณค่าอุดมของดินภูเขาไฟ เป็นข้าวหอมมะลิที่อ่อนนุ่มน่าทาน กลิ่นหอม และมีวิตามินสูง ส่วนไหมสุรินทร์แบบดั้งเดิมของชาวเขมรนั้น นอกจากจะมีผ้าอัมปรมและหมี่โฮล ลักษณะเป็นผ้าไหมเนื้อบางนุ่มนิ่ม ทอเป็นลายตารางเล็กลายถี่ และใช้สีแดงสีส้มเป็นหลักแล้ว ปัจจุบันยังมีการพัฒนายกระดับขึ้นด้วยลวดลายโบราณ ยกดิ้นเงินดิ้นทอง ดังที่ปรากฏที่บ้านท่าสว่าง ตำบลท่าสว่าง อำเภอเมืองสุรินทร์ ซึ่งส่วนใหญ่ทอผ้าเฉพาะที่สั่งพิเศษ เพื่อส่งเข้าไปใช้ในสำนักพระราชวัง งานกาล่าดินเนอร์คืนนี้จึงนำผ้าไหมบ้านท่าสว่างมาเป็นนางเอกกว่า 10 ชุด โดยใช้นางแบบนายแบบสุดสวยสุดหล่อ ซึ่งเป็นชุดเดียวกับที่เคยเดินแบบให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทอดพระเนตรมาแล้ว อาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย แห่งบ้านท่าสว่าง จึงเข้ามาดูแลและให้ความรู้ด้วยตัวเอง

ราตรีผ้าไหม 6

 ก่อนโชว์ชุดผ้า มีการแสดงพื้นเมืองของสุรินทร์ให้ชมให้ฟังกันด้วย

ราตรีผ้าไหม 7

 วินาทีที่ทุกคนในงานรอคอยก็มาถึง เมื่อการโชว์นางแบบผ้าไหมไทยโบราณที่หาชมได้ยากยิ่งเริ่มขึ้น อาจารย์วีรธรรมค่อยๆ นำนางแบบพร้อมผู้ช่วยออกมาสาธิตวิธีการนุ่งห่มผ้าไหมไทย ตามอย่างแนวประเพณีโบราณให้เราได้ชมทีละขั้นทีละตอนอย่างละเอียด โดยอธิบายว่า แต่เดิมการนุ่งผ้าของชาวสยามเรียกว่า “การนุ่งห่ม” เนื่องจากในอดีตเรานิยมใช้ผ้าผืนที่ไม่มีการตัดเย็นเป็นชุด มาห่มคลุมร่างกายโดยตรง ท่อนบ่นใช้ผ้าห่มให้เข้ารูปแทนเสื้อ ส่วนท่อนล่างใช้ผ้าผืนนุ่งเป็นโจง (โจงกระเบน) ลักษณะเป็นผ้าสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว เนื้อผ้าและลวดลายต่างกันไปตามฐานะ บรรดาศักดิ์ และความชอบ ส่วนพระมหากษัตริย์และพระราชินีจะผ้าที่มีลวดลายเนื้อดีทอเป็นพิเศษ บางคนมองว่าการนุ่งห่มผ้าแบบไทยโบราณนั้นจะทำให้ใช้ชีวิตประจำวันไม่ค่อยสะดวก แต่จริงๆ แล้วไม่เป็นเช่นนั้น เพราะคนสยามมีวิธีนุ่งผ้าได้ในทุกโอกาส ทั้งเพื่อการทำงานที่ต้องการคล่องตัว นุ่งให้ทะมัดทะแมง นุ่งให้สวยงาม และการนุ่งผ้ามงคล

ราตรีผ้าไหม 8

ราตรีผ้าไหม 9

ราตรีผ้าไหม 10

การแต่งกายในสมัยรัตนโกสินทร์ช่วงรัชกาลที่ 1-3 สตรีนิยมนุ่งผ้าจีบและห่มสไบเฉียง ต่อมาช่วงรัชกาลที่ 4-5 นิยมนุ่งผ้าโจงกระเบนห่มสไบทับเสื้อแขนกระบอก สมัยรัชกาลที่ 6 นิยมนุ่งโจงกระเบนและนุ่งซิ่น แต่ในสมัยรัชกาลที่ 7 ผู้คนเริ่มนุ่งซิ่นกันอย่างแพร่หลาย และใส่เสื้อตัวยาว ไม่นิยมโจงกระเบนเท่าใดนัก ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 9 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงออกแบบเครื่องแต่งกายที่ประยุกต์มาจากโบราณ แต่ยังคงแสดงออกถึงความเป็นไทย และทรงพระราชทานนามว่า “ชุดไทยพระราชนิยม” ซึ่งปัจจุบันถือเป็นชุดไทยประจำชาติของสตรีด้วย

ราตรีผ้าไหม 12

ราตรีผ้าไหม 13

ราตรีผ้าไหม 14

 หน้างานกาล่าดินเนอร์ ราตรีผ้าไหม สายใยข้าวหอมมะลิ มีการออกร้าน และสาธิตทอผ้าไหมโบราณของสุรินทร์ อย่างผ้าหมักโคลนภูเขาไฟสีส้มอมน้ำตาล เนื้อนุ่มน่าใช้ สีติดทนนาน

ราตรีผ้าไหม 17

 ประวัติของชุดไทยพระราชนิยมนั้นน่าสนใจมาก คือในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรปและสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ เมื่อปี พ.ศ. 2503 ทรงพระราชทานพระราชดำริว่า สมควรที่จะสรรค์สร้างการแต่งกายชุดไทยให้เป็นไปตามประเพณีที่ดีงาม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศึกษาค้นคว้าเครื่องแต่งกายสมัยต่างๆ จากพระฉายาลักษณ์ของเจ้านายฝ่ายใน และปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์ ควบคู่กับการปรับปรุงพัฒนาให้เหมาะสมกับกาลสมัย ทรงเสนอรูปแบบที่หลากหลายและได้ฉลองพระองค์เป็นแบบอย่างด้วย ทั้งได้พระราชทานให้ผู้ใกล้ชิดแต่งและเผยแพร่ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น มี 8 ชุด คือ ชุดไทยเรือนต้น ชุดไทยจิตรลดา ชุดไทยอมรินทร์ ชุดไทยบรมพิมาน ชุดไทยจักรี ชุดไทยดุสิต ชุดไทยจักรพรรดิ์ และชุดไทยศิวาลัย ชุดไทยพระราชนิยมเหล่านี้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงใช้ในโอกาสและสถานที่ต่างๆ จนเป็นที่รู้จักแพร่หลายและชื่นชมไปทั่วทั้งในและต่างประเทศ

ราตรีผ้าไหม 18

ราตรีผ้าไหม 19

 คืนนี้เราได้ตื่นตาตื่นใจกับนางแบบโฉมงามในชุดไทยจักรพรรดิ์และชุดไทยศิวาลัย ที่มีเครื่องประดับสร้อยสังวาล ทับทรวง กำไล ต่างหู และเข็มขัดทองเหลืองอร่าม เนื้อผ้าไหมลายวิจิตรพิสดารสลับซับซ้อน หลากสี อวดลวดลายโบราณหลากหลาย เนื้อผ้าพลิ้วไหวไปตามจังหวะการเดินของนางแบบนายแบบ เมื่อผ้าต้องแสงไฟก็สะท้อนแวววาวอย่างน่ามอง นับเป็นความอัศจรรย์ของผ้าไหมไทยที่ไม่มีผ้าใดมาเทียบได้ เช่นเดียวกับผ้าสไบจีนผืนยาวที่ห่มพาดเฉวียงบ่าของนางแบบ ยามเดินเยื้องย่างไปอย่างแช่มช้า ก็พลิ้วไหวลู่ลมอย่างน่ามอง แต่ละชุดค่อยๆ เดินผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนออกมาโชว์อย่างจุใจ

ราตรีผ้าไหม 20

ราตรีผ้าไหม 21

Traveler’s Guide :

How to go : รถยนต์เดินทางจากกรุงเทพฯ-สุรินทร์ ไปได้ 2 เส้นทาง คือ ทางแรกใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) จนถึงสระบุรี เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ไปจนถึงนครราชสีมา แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 226 ผ่านบุรีรัมย์จนถึงสุรินทร์ รวมระยะทาง 434 กิโลเมตร หรืออีกเส้นทางหนึ่ง ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 ไปจนถึงสระบุรี เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2 ไปจนถึงอำเภอสีคิ้ว แล้วเข้าทางหลวงหมายเลข 24 (โชคชัย-เดชอุดม) ผ่านอำเภอโชคชัย อำเภอนางรอง อำเภอประโคนชัย เลี้ยวซ้ายเข้าเส้นทางหมายเลข 214 ที่อำเภอปราสาท ไปจนถึงจังหวัดสุรินทร์ รวมระยะทาง 450 กิโลเมตร

Where to stay : โรงแรมทองธารินทร์ โทร. 0-4451-4281-8 เว็บไซต์ www.thongtarinhotel.com

More info : ททท. สำนักงานสุรินทร์ โทร. 0-4451-4447-8 เฟสบุ๊ค www.facebook.com/tatsurin

เที่ยวบ้านท่าสว่าง ถิ่นผ้าไหม 1,416 ตะกอ! จ.สุรินทร์

บ้านท่าสว่าง 1

“กลุ่มทอผ้ายกทอง จันทร์โสมา” แห่งบ้านท่าสว่าง ตำบลท่าสว่าง อำเภอเมืองฯ จังหวัดสุรินทร์ เป็นหมู่อาคารเรือนไทยหลายหลังในสวนสวยแมกไม้ใหญ่ร่มรื่น ที่นี่มีทั้งส่วนอาคารพิพิธภัณฑ์ของสะสม ของท่านอาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย แกนนำกลุ่มจันทร์โสมา ที่มีจุดเด่นในการอนุรักษ์และฟื้นฟูผ้ายกทองชั้นสูงแบบราชสำนักไทยโบราณ โดยการนำใยไหมเส้นเล็กละเอียด (ไหมน้อย) มาย้อมสีธรรมชาติ ด้วยเทคนิคโบราณผสานกับการออกแบบลวดลายที่วิจิตรเหมือนในอดีต เช่น ลายเทพพนม ลายหิ่งห้อยชมสวน ลายก้านขดเต้นรำ ลายครุฑยุดนาค ฯลฯ ผสานกับลายผ้านุ่งที่คนสุรินทร์นิยมอยู่แล้ว คือ ลายอัมปรม ลายสาคู ลายสมอ ลายละเบิก ลายลูกแก้ว มีการใช้เส้นไหมกะไหล่ทองปั่นควบกับเส้นไหม ถักทอเป็นผ้าไหมยกทองอันวิจิตรงดงามอย่างเหลือเชื่อ ยิ่งกว่านั้นบ้านท่าสว่างยังได้รับการสนับสนุนจากสำนักพระราชวัง และมูลนิธิในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ จนได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ทอผ้าไหมมอบให้กับผู้นำเอเปค เมื่อปี พ.ศ. 2546 บ้านท่าสว่างจึงเป็นที่รู้จักนับแต่นั้น

บ้านท่าสว่าง 3

สาวน้อยแห่งบ้านท่าสว่าง วันนี้มาช่วยคุณป้าคุณน้าย้อมสีธรรมชาติสวยๆ ให้เราชมด้วย

บ้านท่าสว่าง 4

บ้านท่าสว่าง 5

 คุณยายใช้เส้นใยจากใบไม้มาเตรียมไว้มัดเส้นไหม เตรียมลงย้อมในหม้อสีที่ต้มไว้เดือดๆ โดยย้อมทีละมัดๆ อย่างประณีต

บ้านท่าสว่าง 6

บ้านท่าสว่าง 7

จากทางเข้าด้านหน้า เราค่อยๆ เดินชมนกชมไม้เข้ามาสู่โรงย้อมผ้าสีธรรมชาติ ที่มีชาวบ้านกำลังช่วยกันนำเส้นไหมลงย้อมในหม้อบนเตาฟืนควันฉุย หม้อสีครามให้สีน้ำเงินสดใส หม้อน้ำต้มครั่งได้สีแดงชาติเตะตา หม้อน้ำจากต้นเขให้สีเหลืองแจ่มกระจ่างตา สีส้มได้จากดอกคำแสด สีเขียวมะกอกได้จากแก่นขนุน สีดำได้จากผลมะเกลือ สีน้ำตาลได้จากต้นหมาก และสีม่วงได้จากต้นหว้า เป็นต้น เมื่อนำผืนผ้าสีธรรมชาติมาทอผสมผสานกับไหมยกทองโบราณ ด้วยลวดลายที่มีความพิเศษของ อาจารย์วีรธรรม แล้ว ก็ยิ่งทำให้ผ้าไหมบ้านท่าสว่างกลายเป็นแพรพรรณอันเล่อค่าจนไม่น่าเชื่อ

บ้านท่าสว่าง 8

 สีธรรมชาติจากพรรณไม้ต่างๆ นำมาจากมใบไม้, เปลือกไม้, แก่นไม้ แช่น้ำทิ้งไว้ค้างคืน แล้วนำมาเติมน้ำต้มให้เดือดควันฉุย จากนั้นนำมัดเส้นไหมหรือฝ้ายมาย้อมหลายครั้ง จนสีติดดี ได้สีเข้มตามต้องการ นี่คือเทคนิคการย้อมแบบร้อน

บ้านท่าสว่าง 9

 พอย้อมสีเส้นไหมเสร็จแล้ว ก็นำมาตากให้แห้งในที่ร่มลมโกรก

บ้านท่าสว่าง 10

บ้านท่าสว่าง 11

จากเรือนย้อมผ้า เราสาวเท้าเข้าไปที่เรือนทอผ้า และก็ต้องตื่นตาอีกครั้งกับกี่ทอผ้าขนาดยักษ์ของที่นี่ เพราะกี่ทอผ้าแต่ละอันของบ้านท่าสว่างนั้นมีความสูงกว่า 2-3 เมตร! สูงเท่าตึกเกือบสองชั้น! แต่ละกี่ต้องใช้คนช่วยกันทอ 4-5 คน! เพราะผ้าไหมบ้านท่าสว่างมีมากถึง 1,416 ตะกอ! จึงต้องอาศัยทักษะและทีมเวิร์กขั้นสูง เพราะต้องมีคนช่วยยกตะกอ 2-3 คน คนสอดไม้ 1 คน และคนทออีก 1คน เป็นความซับซ้อนทางด้านเทคนิคการทอ จนได้ผลงานเพียงวันละ 6-7 เซนติเมตรเท่านั้น! ช่างทอซึ่งเป็นคุณป้าคุณยายเล่าให้ฟังว่า ผ้าลายพิสดารที่อยู่บนกี่นี้ล้วนมีคนสั่งทอทั้งสิ้น ผืนหนึ่งยาว 3 เมตร ราคาก็ไม่ต่ำกว่า 1.5-2.5 แสนบาท! และต้องช่วยกันทุ่มเทแรงกายแรงใจทอนานหลายเดือนเลยทีเดียว เราสอบถามท่านว่ามีลูกหลานรุ่นใหม่มาร่ำเรียนสืบทอดวิชาทอผ้าบ้างหรือไม่? คุณป้ามองหน้ากันแล้วยิ้ม ตอบว่า “แทบไม่มีคนรุ่นใหม่มาสืบทอดวิชาทอผ้าเลย! สักวันมันคงสูญหายแน่นอน” เรื่องนี้จะจริงหรือไม่ เราไม่แน่ใจ แต่คงเป็นการบ้านที่ผู้รับผิดชอบต้องช่วยกันอนุรักษ์สืบสานมรดกของชาติแขนงนี้ไว้ให้ได้

บ้านท่าสว่าง 12

 กี่ทอผ้ายักษ์แห่งบ้านท่าสว่าง แต่ละอันสูงกว่า 3 เมตร! ไม่ต่างจากตึก 3 ชั้น ที่มีทั้งชั้นล่าง ชั้นกลาง ชั้นบน ใช้ช่างทอที่มีความชำนาญสูงช่วยกันกี่ละไม่ต่ำกว่า 4-5 คน นับเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านขนานแท้ ที่สร้างความซับซ้อนบนผืนผ้าขึ้นมาได้

บ้านท่าสว่าง 13

 เสน่ห์ของสีธรรมชาติ คือ Colour Variation เป็นความหลากหลาย ความต่างของสีที่ไม่เท่ากันเลยในการย้อมแต่ละครั้ง ได้สีเข้มอ่อนตามการย้อม การผสม และวัสดุธรรมชาติที่ก่อกำเนิดสี ยิ่งใช้ยิ่งสวย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาก

บ้านท่าสว่าง 14

 หม้อหมักคราม ต้องหมั่นดูแลเพื่อไม่ให้ครามเน่า ชาวบ้านเรียกว่าครามยังมีชีวิต ถ้าครามเน่าเสีย หรือครามตายแล้ว จะเรียกว่า ครามหนีไปแล้ว!

บ้านท่าสว่าง 16

บ้านท่าสว่าง 17

 ลวดลายอันสวยงาม สลับซับซ้อน และวิจิตรพิสดาร ของผ้าไหมยกดิ้นทองบ้านท่าสว่าง ส่วนใหญ่จะเป็นการทำตามออร์เดอร์ โดยเฉพาะส่งเข้าวัง

บ้านท่าสว่าง 18

 นี่คือความสลับซับซ้อนของกี่ทอผ้าบ้านท่าสว่าง จริงๆ ยังมีลึกลงไปใต้ดินอีก โดยมีช่างประจำอยู่ด้านล่าง ไม้ไผ่ซี่เล็กๆ ที่เห็นเรียกว่า “ตะกอ” ย่ิงมีจำนวนตะกอมาก ความซับซ้อนของลายก็ยิ่งสุดยอด!

บ้านท่าสว่าง 19

พอเดินชมสาธิตวิธีการทอผ้าไหมยกดิ้นทองในโรงทอแล้ว ก็ได้เวลาออกมาเดินช้อปปิ้งผ้าไหมบ้านท่าสว่าง อุดหนุนชาวบ้าน

สอบถามเพิ่มเติม ททท. สำนักงานจังหวัดสุรินทร์ โทร. 0-4451-4447-8

Traveler’s Guide :

การเดินทางสู่บ้านท่าสว่าง อยู่ในอำเภอเมืองจังหวัดสุรินทร์ โดยอยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศเหนือ 10 กิโลเมตร ใช้ถนนสายเกาะลอย-เมืองลิง (ทางหลวงชนบท สร.4026) จากตัวเมืองสุรินทร์ เป็นถนนลาดยางตลอด

เปิดให้เข้าชมเวลา 08.00-17.00 น. โทร. 08-9202-7009, 0-4455-8489-90 (อาจารย์วีระธรรม ตระกูลเงินไทย, คุณสุมาลี ติดใจดี)

บ้านคำปุน ร้อยใจสืบงานงานศิลป์ จ.อุบลราชธานี

บ้านคำปุน 6

บ้านคำปุน อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านการอนุรักษ์ผ้าไหมไทยโบราณ ซึ่งมีความพิเศษสุดๆ เพราะจะเปิดให้คนทั่วไปได้เข้าชมเพียงปีละ 3 วันเท่านั้น ในช่วงวันเข้าพรรษา ใครที่เคยชมภาพยนตร์ยิ่งใหญ่ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรทุกภาค ผ้าไทยที่ใช้ในการถ่ายทำล้วนสั่งทอมาจากบ้านคำปุนทั้งสิ้น

บ้านคำปุน 1

บ้านคำปุน 7

บ้านคำปุนเป็นหมู่เรือนไทยในพื้นที่กว่า 6 ไร่ สร้างขึ้นโดยคุณมีชัย แต้สุริยา อดีตสจ๊วตการบินไทย ผู้มีความรักความชอบผ้าไทยเป็นทุนเดิมมาตั้แต่เด็กๆ แล้ว มาวันนี้เขาได้สร้างอาณาจักรผ้าไทยของตัวเองขึ้นมา โดยนำชาวบ้านที่มีฝีมือทอผ้าเข้าสู่โรงทอผ้าบ้านคำปุน ผลิตผ้าทอยกเส้นเงินเส้นทองลายโบราณ ทั้งเพื่อการสะสม ใช้งานจริง และใช้ในพระราชพิธีสำคัญ ในเรือนแต่ละหลังมีกิจกรรมย้อนยุคแบบไทยๆ ให้เราได้มีส่วนร่วมหรือชื่นชม ทั้งขั้นตอนการสาวไหม การทอผ้า การร้อยพวงมาลัย การจัดพุ่มบายศรี ฯลฯ แต่ที่ดูจะได้รับความสนใจมากที่สุด คือเสียงดนตรีจากวงกันตรึม พร้อมด้วยการฟ้อนประกอบอย่างน่ามอง

บ้านคำปุน 8

 ก่อนผ้าไหมจะกลายเป็นผืนสวยงามน่าสวมใส่ ก็ต้องเกิดจากจุดนี้ คือเริ่มสาวไหมออกจากรังไหม ไปม้วนไว้ในหลอดด้าย

บ้านคำปุน 9

 เส้นไหมที่ได้รับการร้อยเรียงอย่างดี มีทั้งเส้นพุ่งและเส้นยืน ตัดกันไปมาจากการทออันเชี่ยวชาญของช่างที่มีประสบการณ์ ซึ่งได้มารวมตัวกันอยู่ ณ บ้านคำปุนแห่งนี้

บ้านคำปุน 11

 ไหมในหลอดด้าย จากเส้นเดี่ยวๆ ค่อยๆ รวมตัวกลายเป็นผืนผ้าอันเลอค่า

บ้านคำปุน 12

บ้านคำปุน 13

หนอนไหมที่โตเต็มที่ แต่ยังกินใบหม่อนไม่หยุด เพื่อสะสมอาหารไว้ในระยะเข้าดักแด้ สร้างรังไหม แต่ละตัวตั้งหน้าตั้งตากินกันทั้งวันเลย

บ้านคำปุน 16

บ้านคำปุน 17

 บ้านคำปุนมีร้านขายผลิตภัณฑ์ผ้าไหมอยู่ในตัวเมืองอุบลราชธานีด้วย มีทั้งผ้าผืน และชุดตัดสำเร็จ สำหรับท่านหญิง และท่านชาย

บ้านคำปุน 2

 ในช่วงที่เปิด 3 วัน บ้านคำปุนจะนำการแสดงเด่นๆ จากหลายจังหวัดในภาคอีสานมาโชว์ให้ชมด้วย เพื่อเป็นการสืบสานงานศิลป์แขนงนี้ให้คงอยู่ต่อไป

บ้านคำปุน 3

 แม้แต่การฟ้อน และเล่นลาวกระทบไม้แบบสุรินทร์ ก็มีแสดงให้ชมที่นี่ด้วย

บ้านคำปุน 4

 ฟ้อนสุรินทร์ ณ บ้านคำปุน งามอ่อนช้อย น่าชม

บ้านคำปุน 5

 สอบถามเพิ่มเติม ที่ ททท. สำนักงานอุบลราชธานี โทร. 0-4524-3770, 0-4525-0714

Traveler’s Guide :

บ้านคำปุน เปิดให้เข้าชมปีละ 1 ครั้ง ในช่วงเทศกาลแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี ประมาณ 3 วัน ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ถึงต้นเดือนสิงหาคม (แต่ละปีไม่แน่นอน) เวลา 09.00-17.00 น. โดยจำหน่ายบัตรเข้าชม คนละ 100 บาท เพื่อจัดหารายได้ในการบริจาค เพื่อสาธารณะกุศล สอบถามเพิ่มเติมที่ บ้านคำปุน โทร. 0-4532-3452 หรือที่ร้านคำปุน Fmi. โทร. 0-4525-4830

เที่ยวญี่ปุ่นได้ในวันเดียว! J-Park ชลบุรี

2

3

J-Park ศรีราชา เป็นช็อปปิ้งมอลล์แห่งใหม่ที่ให้บรรยากาศเหมือนอยู่ญี่ปุ่นมากๆ เพราะสิ่งก่อสร้างสถาปัตยกรรมต่างๆ ล้วนจำลองมาจากแดนปลาดิบแท้ๆ ตั้งแต่สไตล์ของอาคารร้านรวง ลำธารสีมรกตสายน้อย น้ำใสแจ๋ว ที่มีปลาคาร์พแหวกว่ายไปมา และที่เด็ดสุดคือร้านขายของกับร้านอาหารญี่ปุ่นนับสิบๆ ร้าน ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของคนศรีราชาไปแล้ว รวมถึงชุมชนคนญี่ปุ่นที่อาศัยหรือทำงานอยู่แถบนี้ ก็มาเดินอุดหนุนกันอุ่นหนาฝาคั่ง ทำให้ J-Park มีชีวิตชีวา โดยเฉพาะเสาร์-อาทิตย์ คนที่ชอบถ่ายรูปยิ่งไม่ควรพลาด เพราะเขามีมุม Photo Point นับไม่ถ้วน!

4

 ปราสาทคินคาคูจิจำลอง เหมือนที่เราเคยเห็นกันในการ์ตูนเรื่องอิ๊กคิวซัง เณรน้อยเจ้าปัญญา ถือเป็นหนึ่งใน Landmark สำคัญของ J-Park ศรีราชา ที่ถูกถ่ายรูปมากที่สุดล่ะ

5

6

 เห็นการจัดสวยเรียบๆ โล่งๆ แบบนี้ นึกว่าอยู่ในญี่ปุ่นจริงๆ ซะอีก!

7

8

9

10

11

 ร้านขายของสไตล์ญี่ปุ่นเปิดให้ช็อปกันทุกวัน เดินได้เพลิน โดยเฉพาะร้าน 100 เยน หรือร้าน Daiso ที่หลายคนคุ้นเคยกันดี

12

13

14

15

16

17

18

19

 เดินช็อปจนหอบหิ้วกันแทบไม่ไหวแล้ว ก็ได้เวลาหาอาหารญี่ปุ่นแนวสุขภาพเติมพลังสักหน่อย มื้อนี้ขอเน้นกินปลา จะได้เพิ่มโอเมก้า 3 และโปรตีนย่อยง่าย กินคู่กับสลัดผัก และมิโซะซุปสไตล์ญี่ปุ่น อิ่มแบบเบาๆ สบายท้องดีจัง

20

21

22

 แซลมอนซาชิมิ ดูความฉ่ำสดเอาเองละกัน!

23

 สองคำนี้ขอเลย ใครห้ามแย่ง เพราะเป็นของชอบที่สุด! ข้าวปั้นหน้าไข่แซลมอน ต้องกินทั้งคำ ค่อยๆ ให้ไข่แซลมอนแตกในปาก น้ำมันโอเมก้า 3 จะได้ค่อยๆ ไหลลงคอไปช้าๆ สุดยอด!

24

25

 

Traveler’s Guide

Address : J-Park ศรีราชา ตั้งอยู่ที่ ถนนอัสสัมชัญ – หนองค้อ ตำบลสุรศักดิ์ เทศบาลนครแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี 20230

How to go : รถยนต์

1. จากถนนสุขุมวิท (ทางหลวงหมายเลข 3) มาถึงอำเภอศรีราชา ตรงมาสังเกตด้านขวามือเป็นห้างโรบินสัน เลยไปอีกประมาณ 180 เมตรพบสี่แยก (แยกอัสสัมชัญ) เลี้ยวซ้ายเข้าถนนอัสสัมชัญ (ทางหลวงหมายเลข 3214) ไปทางโรงเรียนอัสสัมชัญ ตรงไปจนเจอแยกตัววาย (Y) ให้วิ่งเลาะด้านซ้ายมือตามกำแพงโรงเรียนไปเรื่อยๆ เข้าถนนสายศรีราชา-หนองค้อ ก่อนถึงทางหลวงพิเศษสาย 7 จะเห็น J-Park ศรีราชา อยู่ด้านขวา ดั้งนั้นต้องตรงไปขึ้นสะพานข้ามทางหลวงพิเศษสาย 7 พอลงสะพานจะเห็นทางกลับรถด้านขวามือ กลับรถเสร็จแล้ว วิ่งข้ามสะพานกลับมาอีกทีแล้วเลี้ยวซ้ายเข้า ช็อปปิ้งมอลล์ เจปาร์ค ศรีราชา

2. จากทางหลวงพิเศษสาย 7 กรุงเทพ-ชลบุรี ออกจากด่านเก็บเงินพานทอง ตรงไปประมาณ 26 กิโลเมตร ออกมาทางถนนเลียบหลวงพิเศษสาย 7 วิ่งไปจะสังเกตเห็นสะพานข้ามทางหลวงพิเศษสาย 7 ด้ายซ้ายมือมีป้าย เลี้ยวซ้ายไปห้างโรบินสันศรีราชา เลี้ยวซ้ายตามป้ายนี้ จากนั้นชิดขวากลับรถขึ้นสะพานข้ามทางหลวงพิเศษสาย 7 ลงสะพานจะเห็น J-Park ช็อปปิ้งมอลล์

More info : www.saha-jpark.com  Facebook : https://www.facebook.com/jpark.nihonmura

สวนน้ำ Cartoon Network ประเทศไทยแห่งแรกของโลก!!!

2

เปิดตัวแล้วอย่างยิ่งใหญ่ กับสวนน้ำธีม Cartoon Network แห่งแรกของโลกในประเทศไทย ที่จังหวัดชลบุรี  จุดเด่นที่ไม่เหมือนใครคือ เป็นสวนน้ำแบบอินเทอร์ แอคทีฟ ที่ต่างจากสวนน้ำอื่นๆ ทั่วโลก มีสุดยอดเครื่องเล่นและสไลเดอร์มากถึง 30 อย่าง รวมถึงการแสดงการ์ตูนเน็ทเวิร์ค มาสคอต ซึ่งเป็นเหล่าการ์ตูนเน็ทเวิร์คฮีโร่ อาทิ Powerpuff Girls, Ben 10, Adventure Time ที่เด็กๆ และคนทั่วโลกชื่นชอบ! สวนน้ำแห่งนี้มีพื้นที่กว้างขวางถึง 35 ไร่ ในลักษณะ Daycation (พักผ่อนวันเดียวเที่ยวสบาย) ที่มาสัมผัสกันได้ทั้งครอบครัว และในอนาคตจะมีการเปิดที่พักในบริเวณใกล้ๆ กันด้วย

3

ยืนรอสักพัก ถังน้ำด้านบนที่แกว่งไปแกว่งมา ก็จะมีน้ำเติมเต็มลงไปจนล้น แล้วหมุนเคว้งเทน้ำซ่าใหญ่ลงมาเบื้องล่าง!

4

 วินาทีแห่งความสนุกที่ SURFARENA กระดานโต้คลื่นจำลองอันแสนสนุก

5

 สาวน้อยน่ารัก กับการทรงตัวอย่างยอดเยี่ยมราวกับมืออาชีพ! บนกระดานโต้คลื่นจำลอง SURFARENA

6ครูฝึกกระดานโต้คลื่นจำลอง โชว์ลีลาลอยตัวกลางอากาศ เล่นเอาคนดูอึ้งไปตามๆ กัน!!!

7

 เห็นเครื่องเล่นของเขาแล้วบอกได้คำเดียวว่า สวนน้ำ Cartoon Network สร้างได้ยิ่งใหญ่อลังการกว่าสวนน้ำไหนๆ ที่เคยเห็นจริงๆ!

8

ทะเลจำลอง และคลื่นที่เหมือนกับทะเลจริงๆ มาก! สิ่งสำคัญคือต้องมีห่วงยางหรือเสื้อชูชีพติดตัวไว้ตลอด เพื่อความปลอดภัย
9

10

11

12

 RIPTIDE RAPIDS เครื่องเล่นสุดมันที่พุ่งทะลุผ่านปล่องคดเคี้ยวบนหอคอยสูงนับสิบเมตร ลงสู่สายน้ำฟู่เบื้องล่าง!

13

14

15

16

17

 

Traveler’s Guide

How to go : สวนน้ำ Cartoon Network ตั้งอยู่ที่ ตำบลนาจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยอยู่ห่างจากตัวเมืองพัทยาเพียงแค่ 20 นาที และใช้เวลาเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิแค่ 90 นาที

Opening Time : เปิด 10.00-18.00 น. วันจันทร์-อาทิตย์

Contact : โทร. 0-3823-7 707 (ภาษาไทย / อังกฤษ), 09-3008-5690 (ภาษารัสเซีย) เว็บไซต์ http://cartoonnetworkamazone.com

บัตรผ่านประตู : สำหรับบัตรรายวัน ผู้ใหญ่ (คนไทย) 1,290 บาท/วัน, เด็ก (คนไทย) 890 บาท/วัน ราคานี้เล่นได้ตลอดวัน ทุกเครื่องเล่น ยกเว้นค่าอาหารที่ต้องเสียเพิ่มเอง ส่วนบัตรรายปี ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ราคาเริ่มต้นที่ 6,000 บาท

ดูสายหมอกหยอกล้อทุ่งกระเจียวบาน ป่าหินงาม จ.ชัยภูมิ

T2

เมื่อสายฝนเย็นฉ่ำพร่างพรมลงบนทุ่งหญ้าบนเทือกเขาพังเหย แห่งอำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ก็จะเกิดปรากฏการณ์มหัศจรรย์ธรรมชาติ ทุ่งดอกกระเจียวบานรับสายฝน นับแสนๆ ดอก แข่งกันอวดความงาม!T3

ในอุทยานแห่งชาติป่าหินงาม อำเภอเทพสถิต มีการจัดทำเป็นสะพานยกระดับเตี้ยๆ ให้นักท่องเที่ยวเดินชมทุ่งกระเจียว จะได้ไม่ลงไปเดินมั่ว เหยียบย่ำทุ่งกระเจียวจนเสียหาย

T4

 ดอกกระเจียว หรือบัวสวรรค์ เป็นพรรณไม้ในวงศ์ขิงข่าที่สวยงาม กลีบสีชมพูที่เห็นแท้จริงไม่ใช่ดอก แต่เป็นใบประดับ (ภาษาวิชาการพรรณไม้เรียกว่า Bract) ส่วนดอกจริงๆ เป็นดอกเล็กๆ สีขาวนั่นเอง กระเจียวในป่าหินงาม จะขึ้นอยู่คู่กับหญ้าเพ็กในป่าเต็งรังบนเขาพังเหย

T5

T6

 แอบสังเกตใกล้ๆ จะมีแมลงหลายชนิดแอบมาดูดกินน้ำหวานจากดอกกระเจียวด้วย น่ารักมากๆ

T7

T8

T9

 ดอกข่าลิงสีเหลือง เป็นพรรณไม้ในวงศ์ขิงข่าอีกชนิด ที่มักจะออกดอกในฤดูฝนเมื่อความชุ่มชื้นพอเพียง พบมากตามเส้นทางจากทุ่งกระเจียวไปสู่ผาสุดแผ่นดิน

T10

ผาสุดแผ่นดิน เป็นจุดสูงสุดของเทือกเขาพังเหยในอำเภอเทพสถิต สูงประมาณ 846 เมตรจากน้ำทะเล ถือเป็นจุดแบ่งภาคกลางและภาคอีสานออกจากกัน

T11

นั่งชมสายหมอกขาวลอยฟุ้งขึ้นมาจากหุบเขาเบื้องล่าง สู่ผาสุดแผ่นดิน

T12

 มาทำซึ้งกันที่ผาสุดแผ่นดิน น่าอิจฉาจัง!

T19

 หินรูปถ้วยฟุตบอลโลก ในป่าหินงาม มองจากมุมนี้เหมือนมากๆ เลย

T13

อีกมึมหนึ่งของหินถ้วยฟุตบอลโลก กับเด็กๆ ที่เข้าไปเดินเที่ยวศึกษาธรรมชาติในป่าหินงาม

T14

T15

T16

T17

T18

 หินรูปจานเรด้าห์ในป่าหินงาม

T20

T21

 จากลานจอดรถ เวลาจะเข้าไปเที่ยวทุ่งกระเจียวและป่าหินงาม ต้องนั่งรถพ่วงของทางอุทยานต่อเข้าไป เพื่อไม่ให้เกิดจราจรติดขัด ความวุ่นวาย และควันพิษรบกวนธรรมชาติ

T22

Traveler’s Guide

Best season : ดอกกระเจียวบานเยอะและสวยที่สุดช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ทุกปี

How to go : รถยนต์ส่วนตัว จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 ผ่านจังหวัดสระบุรีไปทางสามแยกพุแค แล้วเลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 21 สู่บ้านลำนารายณ์ จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 205 เส้นทางลำนารายณ์-ลำสนธิ-เทพสถิต-หนองบัวโคก-นครราชสีมา ระยะทางประมาณ 48 กิโลเมตร ก่อนถึงที่ว่าการอำเภอเทพสถิตประมาณ 1 กิโลเมตร ให้เลี้ยวซ้ายไปอำเภอหนองบัวระเหวตามทางหลวง หมายเลข 2354 ไป 15 กิโลเมตร แล้วแยกซ้ายเข้าบ้านไร่เป็นระยะทางอีก 14 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติป่าหินงาม และทุ่งกระเจียวบาน

Where to stay : แนะนำ บ้านทุ่งดอกกระเจียว ไฮแลนด์รีสอร์ท จองผ่าน www.booking.com หรือ www.agoda.co.th / เทพสถิตวิวล์ รีสอร์ท โทร. 08-0372-8811, 0-4485-5255 www.thepsatitview.com

What to eat : ใกล้ๆ กับทุ่งกระเจียวมีร้านอาหารเยอะมาก เลือกชิมได้ตามสะดวก อาทิ ครัวป่ากระเจียว, ครัวบุญพร้อม, และครัวอีสาน ฯลฯ ตามริมทางมักมี “ข้าวโพดตักหงาย” ต้มขายอยู่ อย่าลืมแวะซื้อกิน อร่อยมาก หวานมัน หาชิมได้เฉพาะช่วงฤดูฝนนี้เท่านั้น

Souvenirs : ที่ปากทางเข้าทุ่งกระเจียว มีของที่ระลึกเก๋ๆ เป็นดอกกระเจียวประดิษฐ์สำหรับตั้งโชว์ ทำโดยกลุ่มแม่บ้านอำเภอเทพสถิต นอกจากนี้ยังมีพันธุ์ดอกกระเจียวบ้านใส่กระถางหรือถุงเพาะชำวางขาย ราคาไม่แพง ส่วนงานหัตถกรรมพื้นบ้านน่าสนใจของจังหวัดชัยภูมิ แนะนำ “ผ้าไหมบ้านเขว้า” เป็นผ้าไหมแน่นเนียน มันวาว เมื่อนำมาซักเนื้อผ้าไม่ยุบซึ่งถือเป็นลักษณะพิเศษของผ้าไหมที่นี่ ผ้าไหมมัดหมี่ลายขอน้อยเป็นงานที่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยสีที่นิยม คือ สีน้ำเงิน สีน้ำทะเล และสีเทา

More info : อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ โทร. 0-4489-0105 / อุทยานแห่งชาติไทรทอง อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ โทร. 0-4473-8428, 08-9282-3437 / การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานชัยภูมิ-นครราชสีมา โทร. 0-4421-3030, 04421-3666 อีเมลล์ tatsima@tat.or.th

Thailand International Balloon Festival 2013

2

3

ในชีวิตคนเดินดินธรรมดาๆ อย่างเรา จะมีโอกาสสักกี่ครั้งที่ได้ขึ้นไปบินอยู่บนท้องฟ้า มองโลกกลับลงมาจากมุมมองของวิหค การนั่งเครื่องบินก็ถือว่าใช่ แต่ยังมีกระจกหน้าต่างเครื่องบินเป็นอุปสรรคขวางกั้นเรากับท้องฟ้าภายนอก จะมีพาหนะใดรึเปล่านะ ที่พาเราขึ้นไปลอยละลิ่วอยู่บนฟากฟ้า โดยไม่มีอะไรกั้นตัวเรากับมวลอากาศเบื้องบนไว้เลย? นี่คงเป็นความฝันของใครหลายๆ คน เช่นเดียวกับตัวผมที่ฝันว่าอยากบินได้เหมือนนกมาตั้งแต่เด็กแล้ว

4

เมื่อเวลาผ่านไปหลายสิบปี ในที่สุดความฝันของผมก็เป็นจริง! เมื่อ บริษัท เอิร์ท วินด์ แอนด์ ไฟร์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการบินบอลลูนเพื่อการท่องเที่ยวหนึ่งเดียวในเมืองไทย มีฐานอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยพันธมิตรหลายภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชน ร่วมกันจัดงาน Thailand International Balloon Festival 2013 ขึ้น ณ จังหวัดเชียงใหม่ อันเป็นโลเกชั่นที่มีภูมิประเทศสวยงาม อากาศเย็นสบาย โดยในปีนี้เป็นการจัดงานบอลลูนนานาชาติในเมืองไทยครั้งที่ 7 แล้ว เช่นเดียวกับ 6 ครั้งที่ผ่านไป นับว่าประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยม ได้รับการตอบรับอย่างดี ทั้งในส่วนของผู้เข้าร่วมจัดงาน นักท่องเที่ยวไทยและเทศ รวมถึงนักบินบอลลูนมืออาชีพจากทั่วโลก ซึ่งในครั้งที่ 7 นี้ มีนักบินบอลลูนจาก 8 ประเทศเข้าร่วม ทั้งสเปน, รัสเซีย, โครเอเชีย, อังกฤษ, มาเลเซีย, เยอรมนี, เบลเยี่ยม และไทย พร้อมด้วยบอลลูนกว่า 15 ลูก เป็นบอลลูนลูกใหญ่ 10 ลูก และบอลลูนลูกเล็กอีก 5 ลูก มาช่วยกันสร้างสีสัน ให้น่านฟ้าเชียงใหม่มีชีวิตชีวา พาให้ชาวเมืองเชียงใหม่ตื่นเต้น ขานรับการมาถึงของพาหนะลอยฟ้าแสนน่ารัก

5

การบินบอลลูนเริ่มต้นขึ้นในเวลาเช้าตรู่ประมาณ 05.30 น. เมื่อนักบินและลูกทีมเร่งนำบอลลูนของตน มากางออกบนพื้นสนามหญ้า จากนั้นใช้พัดลมขนาดใหญ่เป่าลมเย็นเข้าไปให้บอลลูนพองตัวออกพอเป็นรูปทรง เมื่อพองได้ที่ ก็ถึงเวลาเป่าลมร้อนเข้าไปให้ลูกบอลลูนพองเต็มที่แล้วเริ่มตั้งขึ้น โดยก๊าซที่ใช้เป่าเข้าไปในลูกบอลลูนคือ ก๊าซ LPG (Liquid Petroleum Gas) หรือก๊าซหุงต้ม เหมือนที่ใช้กันอยู่ในครัวบ้านเรานี่เองครับ ซึ่งเขาวิจัยกันมาแล้วว่าปลอดภัย

6

“บอลลูนลมร้อน” หรือ Hot Air Balloon” ถือเป็นพาหนะเก่าแก่ที่สุดซึ่งสามารถพามนุษย์บินขึ้นสู่ท้องฟ้าได้สำเร็จอย่างปลอดภัย ก่อนที่จะมีการประดิษฐ์ปีกและเครื่องบิน โดยการบินบอลลูนครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1783 เหนือน่านฟ้ามหานครปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดย 2 นักบิน คือ Jean-François Pilâtre de Rozier และ François Laurent d’Arlandes ต่อมาการบินบอลลูนก็ได้พัฒนากลายเป็นกีฬา, ภารกิจเพื่อการทหาร, การขนส่ง, การท่องเที่ยว, เพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์ และอื่นๆ อีกหลายจุดประสงค์ เราต้องถือว่าบอลลูนลมร้อนเป็นพาหนะที่พิเศษสุดๆ เพราะเป็นพาหนะชนิดเดียวในโลก ที่เมื่อขึ้นบินแล้ว ไม่สามารถบอกได้ว่าจะร่อนลงจอดที่ใด!? เนื่องจากต้องอาศัยกระแสลมเป็นตัวพัดพาไปเท่านั้น การเลือกสถานที่และฤดูกาลในการบินบอลลูนลมร้อน จึงต้องพิถีพิถันสรรหากันอย่างถี่ถ้วนเพื่อความปลอดภัย

7

8

9

เมื่อก๊าซร้อนอัดเข้าไปในลูกบอลลูนจนเต็มพิกัด ก็ไม่มีอะไรมาหยุดยั้งบอลลูนไม่ให้ลอยขึ้นได้อีกต่อไป ลูกบอลลูนของผมค่อยๆ ลอยสูงขึ้นจากพื้นโลกอย่างช้าๆ จาก 5 เมตร เป็น 10 เมตร เป็น 100 เมตร จนกลายเป็นหลายร้อยเมตรในที่สุด! เรามองเห็นยอดไม้ทอดต่อเนื่องไปเป็นผืนพรมสีเขียวอยู่เบื้องล่าง มองเห็นตัวคน วัดวาอาราม บ้านเรือน รถยนต์ กลายเป็นขนาดเล็กจิ๋วราวกับของเล่นเด็ก ตอนบอลลูนลอยสูงขึ้นทีแรกใจเริ่มหวิวๆ แต่สัก 10 นาที ก็ปรับตัวได้ ผมตื่นเต้นสุดๆ กับวิวพาโนรามา 360 องศารอบตัวที่มองเห็น ตัวเมืองเชียงใหม่ยามเช้าช่างสงบงาม แลเห็นสายหมอกขาวลอยคลอเคลียดอยสุเทพ วัด เจดีย์ แม่น้ำปิง บ้านเรือน   ป่าไม้ และทุ่งข้าวสีทองที่เก็บเกี่ยวไปแล้วบางส่วน เมื่อมองไปทางทิศตะวันออก อาทิตย์ดวงกลมโตค่อยๆ ลอยเด่นขึ้น เห็นกลุ่มบอลลูนน้อยใหญ่ลอยละลิ่วไปตามแรงลม ช่างเป็นภาพมหัศจรรย์จริงๆ

10

ใช้เวลาบินอยู่เหนือน่านฟ้าเชียงใหม่กว่า 1 ชั่วโมง ผมก็ร่อนลงในทุ่งข้าวอำเภอสารภีอย่างปลอดภัย แต่ที่สนุกมากอีกอย่างคือ การช่วยนักบินเก็บบอลลูนขึ้นรถกลับนี่สิ ทั้งสนุกทั้งเหนื่อยมาก ได้รสชาติของชีวิต   นี่คือหนึ่งประสบการณ์ที่ผมจะต้องจดจำไป อีกนานแสนนาน

11

12

13

14

15

16

17

18

19

ไฮไลท์ของงานไม่ได้อยู่ที่การขึ้นบินบอลลูนชมเมืองเชียงใหม่เท่านั้น ทว่าในบริเวณงาน ช่วงเย็นยังมีการจัดแสดงบอลลูนเรืองแสง (Balloon Night Glow) ประกอบแสงสีเสียงและการจุดพลุสุดอลังการ พร้อมด้วยการคัดเลือกผู้โชคดี 100 คนในงาน ให้ได้ขึ้นบอลลูนผูกยึดอยู่กับที่ (Tethered Balloon) โดยลอยสูงขึ้นจากพื้นประมาณ 5-10 เมตร นอกจากนี้ยังมีการแสดงมินิคอนเสิร์ตจากศิลปินชั้นนำ ปาล์มมี่, ฮิวโก้, การ์ธ เทย์เลอร์ จากเมืองโจฮันเนสเบิร์ก แอฟริกาใต้ ฯลฯ สร้างสรรค์ให้งานทั้งสนุกและน่าชม

20

21

22

23

24

25

Traveler’s Guide

When to go : งานบอลลูนนานาชาติในประเทศไทย จัดเป็นประจำทุกปีช่วงฤดูหนาว ประมาณเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม โดยเปลี่ยนสถานที่จัดงานไปเรื่อยๆ ตามความเหมาะสม แต่ดูเหมือนว่าจะจัดที่เชียงใหม่บ่อยสุด สนใจเข้าร่วมงานกรุณาโทรสอบถามล่วงหน้า

Contact : บริษัท เอิร์ท วินด์ แอนด์ ไฟร์ จำกัด หมู่ที่ 6 158/60 ตำบลเชิงดอย อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ 50220 โทร. 0-5329-2224 / การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเชียงใหม่ โทร. 0-5327-6141

Balloon International Festival 2010 @นครนายก

2

สำหรับโลกยุคปัจจุบันที่ทุกอย่างจะดูทันสมัยไปซะหมด และเทคโนโลยีล้ำยุคได้เข้ามาชี้นำชีวิตของเรา การเดินทางด้วยพาหนะต่างๆจึงรวดเร็ว ไม่ต้องเสียเวลาเหมือนในอดีต แต่เราก็ต้องแลกมาด้วยการใช้พลังงานที่ปลดปล่อยก๊าซเรือกระจกออกมาสร้างภาวะโลกร้อน ถ้ามานั่งคิดดูให้ดี ก็เหลือพาหนะอยู่ไม่กี่แบบที่ยังคงใช้พลังงานธรรมชาติอย่างแท้จริง โดยเฉพาะพลังงานลม “บอลลลูน” (Balloon) คือหนึ่งในพาหนะชนิดนั้น ที่มนุษย์ตัวเล็กๆอย่างเราคิดค้นขึ้นมา ด้วยความหวังว่าจะบินได้เหมือนนก !

3

สำหรับคนไทย บอลลูนอาจเป็นพาหนะแปลกประหลาดราวกับจานบินแห่งฟากฟ้า ทว่าสำหรับประเทศในแถบยุโรปและอเมริกา เขารู้จักพาหนะชนิดนี้มาตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1700 แล้ว กระทั่งล่วงเข้าถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 บอลลูนจึงมีการพัฒนาให้ล้ำยุค สามารถใช้ขนส่งคน ส่ิงของ สอดแนมทางทหาร และใช้เพื่อการพาณิชย์หรือท่องเที่ยวในเวลาต่อมา แต่ถ้าจะถามว่าชาติใดสามารถคิดค้นบอลลูนได้เป็นชาติแรกของโลก คำตอบคือ “จีน” นั่นเอง ส่วนพี่ไทยก็คงจะมีโคมลอยแถวภาคเหนือเท่านั้นล่ะที่พอจะใกล้เคียงบอลลูนบินได้ของยุโรปมากที่สุด

            บอลลูนแบ่งเป็นหลายประเภท อาทิ บอลลูนลมร้อน (Hot Air Balloon) ที่เติมลมร้อนเข้าไปจึงบินได้ แต่บินไม่ค่อยสูงนัก ส่วนที่บินได้สูงจริงๆ และมีการปรับระดับความสูงขึ้นลงได้ อีกทั้งยังบินได้ไกลมากก็คือ บอลลูนก๊าซ (Gas Balloon) ที่ใช้ก๊าซฮีเลียม (ปัจจุบันไม่ค่อยนิยมเนื่องจากติดไฟง่ายเกินไป) ไฮโดรเจน (ได้รับความนิยมสูง แต่ราคาแพง) โพรเพน (เป็นก๊าซเติมบอลลูนที่ปลอดภัยกว่าสองชนิดแรก) ฯลฯ อัดเข้าไปในลูกบอลลูนเส้นใยสังเคราะห์ ซึ่งเจ้าพวกนี้เองที่มาทำการบินอยู่ในจังหวัดนครนายกของเรา

4

5

6

7

8

การบินบอลลูนในเมืองไทยยังรู้จักกันในหมู่คนจำกัด ไม่แพร่หลาย เพราะผู้ที่จะเป็นเจ้าของและทำการบินได้ต้องมีงบประมาณส่วนตัวสูงลิบ เข้าขั้นสิบล้านบาท ส่วนนักท่องเที่ยวที่อยากได้รับประสบการณ์บินบอลลูนสักครั้งในชีวิต ก็ต้องควักกระเป๋าจ่ายครั้งละไม่ต่ำกว่า 6,000-8,800 บาท ต่อการบินบอลลูนเพียง 1 ชั่วโมง ด้วยเหตุนี้เองงานเทศกาลบอลลูนนานาชาติจึงเปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้สัมผัสบอลลูนของจริงอย่างใกล้ชนิด

9

ในเช้าตรู่วันที่อากาศดี ฟ้าปลอดโปร่ง ลมไม่แรงจัด นักบินบอลลูนจะทำการตรวจข่าวพยากรณ์อากาศ จากนั้นก็ปล่อยบอลลูนตรวจอากาศลูกเล็กๆ เรียกว่า Spy Ball ขึ้นสู่ท้องฟ้า เพื่อดูว่าลมบนแรงแค่ไหนและพัดไปทางทิศใด เมื่อเห็นว่าเหมาะสมแล้ว นักบินพร้อมทีมลูกเรือก็จะช่วยกันกางบอลลูนขึ้น โดยบอลลูนแต่ละลูกจะแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ ส่วนของลูกโป่งอัดก๊าซหรือลมร้อน และส่วนตะกร้าผู้โดยสารที่ห้อยอยู่ด้านใต้ การเตรียมการทั้งสองส่วนนี้จะทำพร้อมกันอย่างรวดเร็วตั้งแต่เช้าตรู่ เพื่อแข่งกับอุณหภูมิอากาศที่ร้อนขึ้นเรื่อยๆ เพราะหากปล่อยให้สาย เที่ยง หรือบ่ายแล้ว อากาศเมืองไทยเราจะร้อนเกินไป บอลลูนจะลอยไม่ค่อยขึ้น หรือถ้าลอยขึ้นก็บินไปไหนไม่ได้ไกล เนื่องจากการที่บอลลูนบินได้ก็ด้วยเหตุที่มีความต่างของอุณหภูมิภายนอกและในบอลลูนนั่นเอง พูดง่ายๆคือ บอลลูนเบากว่าอากาศภายนอก มันจึงล่องลอยไปไหนมาไหนได้พร้อมกระแสลม

10

11

เมื่อตะกร้าถูกติดสลิงขึงไว้กับลูกบอลลูนที่พองตัวขึ้นเต็มที่แล้ว กัปตันก็จะเติมก๊าซร้อนเข้าไปจนเต็ม ทำให้บอลลูนสีสดใสค่อยๆลอยขึ้นอย่างช้าๆ ผู้โดยสารที่มาคอยอยู่แล้วจึงต้องรีบขึ้นบอลลูนให้ทัน วันนี้โชคไม่ดี เราไม่สามารถปล่อยตัวบอลลูนจากหน้าเขื่อนขุนด่านปราการชลได้ เนื่องจากเกิดลมหมุนในอากาศ จึงต้องมาปล่อยตัวกันบริเวณสนามกีฬาจังหวัดนครนายก เมื่อลูกโป่งยักษ์ค่อยๆลอยขึ้นเหนือพื้นอย่างเชื่องช้า ทีแรกจะเกิดความรู้สึกหวิวเล็กน้อย แต่เมื่อผ่านไปสักพักเราก็จะชินกับสายลมอ่อนๆ บนท้องฟ้าใส ได้เห็นวิวภูเขา ทุ่งนา บ้านเรือนผู้คน มีฝูงนกออกบินหากินในยามเช้า พร้อมกับแสงอาทิตย์อ่อนๆ สาดส่องมาอาบบอลลลูนและตัวเราจนอบอุ่น ขณะที่บอลลูนถูกพัดพาไปตามกระแสลม ดูวิวไปเพลินๆ และถ่ายภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึก ก็ลองมาสำรวจในตะกร้าผู้โดยสารกันบ้าง ตะกร้าของบอลลูนสานขึ้นจากหวายเส้นใหญ่เป็นทรงสี่เหลี่ยม สูงประมาณ 150 เซนติเมตร ถ้าเป็นตะกร้าเล็กจะจุคนได้ไม่เกิน 4 คน แต่ถ้าเป็นตะกร้าใหญ่ก็ไม่เกิน 6 คน

12

13

14

15

16

17

การบินระยะทางใกล้ๆ จะใช้ก๊าซ 2 ถัง ส่วนการบินไกลๆ อย่างการบินข้ามเทือกเขาแอลป์ในยุโรป ก็ต้องใช้ถังก๊าซไม่น้อยกว่า 4 ถัง และมีการสำรวจจุดลงไว้ล่วงหน้า บนบอลลูนของเรายังมีเครื่องวัดความสูง และความเร็วลมอยู่ด้วย บวกกับประสบการณ์ของกัปตัน จึงไม่ต้องกังวล เพราะเขาคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ทำให้เราสนุกกับการล่องลอยไปพร้อมกระแสลมครั้งนี้ สิ่งที่รู้สึกได้ก็คือ “ความอิสระเสรี” มีเพียงตัวเรากับความสูงและความเวิ้งว้างของอากาศรอบๆตัว ไม่มีกระจกกั้นเหมือนนั่งเครื่องบิน ได้สูดอากาศบริสุทธิ์เบื้องบน ผิวหนังได้สัมผัสความเย็นของอากาศ อีกทั้งได้ชมวิวรอบตัวแบบ 360 องศา สุดสายตาพาโนรามา สุดยอดจริงๆเลย

18

ก่อนจะลงจอดบนพื้น กัปตันบอลลูนชาวอเมริกาที่ไปอาศัยอยู่ในอิตาลีมกว่าสิบปี และปัจจุบันเป็นครูสอนบินบอลลูนด้วยบอกว่า ในโลกปัจจุบันนี้มีพาหนะอยู่เพียง 2 อย่างที่ยังอาศัยพลังธรรมชาติเพื่อการเดินทางอย่างแท้จริง คือ เรือใบและบอลลูน โดยทั้งสองอย่างนี้พึ่งพลังงานลมด้วยกันทั้งคู่ ถ้าเราสามารถนำพลังงานสะอาดชนิดนี้มาทดแทนน้ำมันได้ก็คงดี

19

20

ประมาณ 1 ชั่วโมงที่ล่องลอยอยู่บนท้องฟ้า ไปพร้อมกับบอลลูนอีกเกือบยี่สิบลูก และเพื่อนๆที่ขึ้นบินบอลลูนพร้อมกัน มันช่างรวดเร็วเหมือนฝัน ทำไมนะ เวลาแห่งความสุขจึงหมดไปอย่างรวดเร็วเช่นนี้ แต่มันก็เป็นสุดยอดประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิต ที่ลืมไม่ลงจริงๆ

21

1841

 

Traveller’s Guide

Best season : ปัจจุบันบินได้ตลอดปีในช่วงเากาศเหมาะสม แต่ดีที่สุดคือฤดูหนาว-ต้นฤดูร้อน ประมาณปลายเดือนตุลาคม-ต้นเดือนมีนาคม โดยเทศกาลงานบอลลูนนานาชาติ จะหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันไปตามจังหวัดต่างๆ ที่มี location เหมาะสม โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่

More info : บริษัท เอิร์ท วินด์ แอนด์ ไฟร์ จำกัด โทร. 0-5329-2224 เว็บไซต์ www.thailandadventuresports.com