ราตรีผ้าไหม สายใยข้าวหอมมะลิ 2557 จ.สุรินทร์

ผ้าไหม เป็นหนึ่งในหัตถกรรมสิ่งทอพื้นบ้านที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน แพรพรรณนี้มีความโดดเด่น ต่างจากเนื้อผ้าชนิดอื่นอย่างเห็นได้ชัด เพราะผ้าไหมมีเนื้ออันอ่อนนุ่ม มันวาวสะท้อนแสง เลอค่าน่าสวมใส่ จึงเป็นที่นิยมใช้กันทั้งในระดับราชสำนักชั้นสูง กระทั่งถึงระดับขุนนาง ข้าราชการ พ่อค้าวาณิชย์ และประชาชนทั่วไป ผ้าไหมจึงเป็นแพรพรรณอันทรงคุณค่าที่สะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นไทยได้ยอดเยี่ยม

ราตรีผ้าไหม 1

ราตรีผ้าไหม 2

แต่หากจะสืบสาวประวัติของผ้าไหมย้อนไปในอดีต ทำให้ทราบว่าผ้าไหมมีต้นกำเนิดขึ้นในอินเดีย และจีน จากนั้นจึงค่อยๆ แพร่เข้าสู่แผ่นดินสุวรรณภูมิผ่านทางการค้าขาย มีการค้นพบว่าตั้งแต่สมัยบ้านเชียง หรือประมาณ 3,000-5,000 ปีมาแล้ว ผู้คนบนผืนดินสุวรรณภูมิก็มีการใช้ผ้าไหมกันในชีวิตประจำวันแล้ว กระทั่งย่างเข้าสู่สมัยสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา ผ้าไหมก็ยิ่งเป็นที่นิยมแพร่หลายอย่างกว้างขวาง มีการพัฒนาลวดลายและเทคนิคการทอให้ซับซ้อนยิ่งขึ้น ตามการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับต่างชาตินั่นเอง กล่าวกันว่าผ้าไหมไทยมีวิวัฒนาการแบ่งเป็น 3 ยุค คือยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นช่วงรัชกาลที่ 1-3 (ซึ่งสยามยึดประเทศโดยรอบในแถบบอุษาคเนย์ไว้ได้เกือบทั้งหมด) ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และปัจจุบันเป็นยุคที่สาม ภายใต้พระบรมราชานุเคราะห์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชนินีนาถ ทรงจัดตั้งศูนย์ศิลปาชีพขึ้นเพื่ออนุรักษ์ผ้าไหมไทยมิให้สูญหาย สนับสนุนช่างทอให้มีงานทำมีรายได้ อีกทั้งยังเป็นการพัฒนารูปแบบลวดลายให้ร่วมสมัย น่าสวมใส่ จากไหมไทยบ้านๆ แบบเดิมๆ มาบัดนี้ก้าวไปสู่ต่างแดนได้อย่างสง่าผ่าเผย

ราตรีผ้าไหม 3

ราตรีผ้าไหม 4

 ดินแดนอีสานตอนล่างของสยามในบริเวณจังหวัดสุรินทร์ เป็นถิ่นที่มีผู้คนอพยพข้ามแดนมาตั้งรกราก จากฝั่งประเทศกัมพูชาเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ช่วงสมัยรัชกาลที่ 1-3 พวกเขาเหล่านี้ไม่ได้มาตัวเปล่า แต่นำความชำนิชำนาญการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าไหมติดตัวมาด้วย ช่างทอฝีมือยอดเยี่ยมนับไม่ถ้วน ช่วยกันรังสรรค์ผืนผ้าล้ำค่าด้วยลวดลายวิจิตรพิสดารจนลือเลื่องไปทั่วแดน จนบัดนี้ นอกจากสุรินทร์จะเป็นถิ่นสุดยอดข้าวหอมมะลิไทยแล้ว ยังถือเป็นสุดยอดแห่งดินแดนผ้าไหมอีกด้วย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสุรินทร์ ร่วมกับบัตรเครดิตกสิกรไทย จึงร่วมกันจัดงานกาล่าดินเนอร์สุดหรู “ราตรีผ้าไหม สายใยข้าวหอมมะลิ” เมื่อค่ำของวันที่ 12 กรกฎาคม 2557 ณ โรงแรมทองธารินทร์ อำเภอเมืองจังหวัดสุรินทร์ โดยมีแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก อาทิ นายสามพร มณีไมตรีจิต ผู้อำนวยการกองตลาดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, นายชูเกียรติ โพธิโต ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานสุรินทร์ และ อาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ผู้นำหมู่บ้านทอผ้าไหมยกทองจันทร์โสมา โดยท่านผู้นี้เป็นหนึ่งในกูรูผู้เชี่ยวชาญแนวหน้าเรื่องผ้าไหมไทย ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง เพราะท่านเคยทำงานรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคบาทสมเด็จพระนางเจ้าฯ อย่างใกล้ชิดในเรื่องผ้าไหมของศูนย์ศิลปาชีพมาอย่างช้านานแล้ว

ราตรีผ้าไหม 5

 งานกาล่าดินเนอร์ ราตรีผ้าไหม สายใยข้าวหอมมะลิ เป็นการจัดงานเพื่อเชิดชูคุณค่าความสำคัญ ของผ้าไหมและข้าวหอมมะลิ อันเป็นสุดยอดสองผลผลิตท้องถิ่นของสุรินทร์ให้เป็นที่ประจักษ์อีกครั้งหนึ่ง ข้าวหอมมะลิสุรินทร์ถือเป็นสินค้า OTOP ระดับพรีเมียม เพราะเติบโตขึ้นจากคุณค่าอุดมของดินภูเขาไฟ เป็นข้าวหอมมะลิที่อ่อนนุ่มน่าทาน กลิ่นหอม และมีวิตามินสูง ส่วนไหมสุรินทร์แบบดั้งเดิมของชาวเขมรนั้น นอกจากจะมีผ้าอัมปรมและหมี่โฮล ลักษณะเป็นผ้าไหมเนื้อบางนุ่มนิ่ม ทอเป็นลายตารางเล็กลายถี่ และใช้สีแดงสีส้มเป็นหลักแล้ว ปัจจุบันยังมีการพัฒนายกระดับขึ้นด้วยลวดลายโบราณ ยกดิ้นเงินดิ้นทอง ดังที่ปรากฏที่บ้านท่าสว่าง ตำบลท่าสว่าง อำเภอเมืองสุรินทร์ ซึ่งส่วนใหญ่ทอผ้าเฉพาะที่สั่งพิเศษ เพื่อส่งเข้าไปใช้ในสำนักพระราชวัง งานกาล่าดินเนอร์คืนนี้จึงนำผ้าไหมบ้านท่าสว่างมาเป็นนางเอกกว่า 10 ชุด โดยใช้นางแบบนายแบบสุดสวยสุดหล่อ ซึ่งเป็นชุดเดียวกับที่เคยเดินแบบให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทอดพระเนตรมาแล้ว อาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย แห่งบ้านท่าสว่าง จึงเข้ามาดูแลและให้ความรู้ด้วยตัวเอง

ราตรีผ้าไหม 6

 ก่อนโชว์ชุดผ้า มีการแสดงพื้นเมืองของสุรินทร์ให้ชมให้ฟังกันด้วย

ราตรีผ้าไหม 7

 วินาทีที่ทุกคนในงานรอคอยก็มาถึง เมื่อการโชว์นางแบบผ้าไหมไทยโบราณที่หาชมได้ยากยิ่งเริ่มขึ้น อาจารย์วีรธรรมค่อยๆ นำนางแบบพร้อมผู้ช่วยออกมาสาธิตวิธีการนุ่งห่มผ้าไหมไทย ตามอย่างแนวประเพณีโบราณให้เราได้ชมทีละขั้นทีละตอนอย่างละเอียด โดยอธิบายว่า แต่เดิมการนุ่งผ้าของชาวสยามเรียกว่า “การนุ่งห่ม” เนื่องจากในอดีตเรานิยมใช้ผ้าผืนที่ไม่มีการตัดเย็นเป็นชุด มาห่มคลุมร่างกายโดยตรง ท่อนบ่นใช้ผ้าห่มให้เข้ารูปแทนเสื้อ ส่วนท่อนล่างใช้ผ้าผืนนุ่งเป็นโจง (โจงกระเบน) ลักษณะเป็นผ้าสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว เนื้อผ้าและลวดลายต่างกันไปตามฐานะ บรรดาศักดิ์ และความชอบ ส่วนพระมหากษัตริย์และพระราชินีจะผ้าที่มีลวดลายเนื้อดีทอเป็นพิเศษ บางคนมองว่าการนุ่งห่มผ้าแบบไทยโบราณนั้นจะทำให้ใช้ชีวิตประจำวันไม่ค่อยสะดวก แต่จริงๆ แล้วไม่เป็นเช่นนั้น เพราะคนสยามมีวิธีนุ่งผ้าได้ในทุกโอกาส ทั้งเพื่อการทำงานที่ต้องการคล่องตัว นุ่งให้ทะมัดทะแมง นุ่งให้สวยงาม และการนุ่งผ้ามงคล

ราตรีผ้าไหม 8

ราตรีผ้าไหม 9

ราตรีผ้าไหม 10

การแต่งกายในสมัยรัตนโกสินทร์ช่วงรัชกาลที่ 1-3 สตรีนิยมนุ่งผ้าจีบและห่มสไบเฉียง ต่อมาช่วงรัชกาลที่ 4-5 นิยมนุ่งผ้าโจงกระเบนห่มสไบทับเสื้อแขนกระบอก สมัยรัชกาลที่ 6 นิยมนุ่งโจงกระเบนและนุ่งซิ่น แต่ในสมัยรัชกาลที่ 7 ผู้คนเริ่มนุ่งซิ่นกันอย่างแพร่หลาย และใส่เสื้อตัวยาว ไม่นิยมโจงกระเบนเท่าใดนัก ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 9 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงออกแบบเครื่องแต่งกายที่ประยุกต์มาจากโบราณ แต่ยังคงแสดงออกถึงความเป็นไทย และทรงพระราชทานนามว่า “ชุดไทยพระราชนิยม” ซึ่งปัจจุบันถือเป็นชุดไทยประจำชาติของสตรีด้วย

ราตรีผ้าไหม 12

ราตรีผ้าไหม 13

ราตรีผ้าไหม 14

 หน้างานกาล่าดินเนอร์ ราตรีผ้าไหม สายใยข้าวหอมมะลิ มีการออกร้าน และสาธิตทอผ้าไหมโบราณของสุรินทร์ อย่างผ้าหมักโคลนภูเขาไฟสีส้มอมน้ำตาล เนื้อนุ่มน่าใช้ สีติดทนนาน

ราตรีผ้าไหม 17

 ประวัติของชุดไทยพระราชนิยมนั้นน่าสนใจมาก คือในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรปและสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ เมื่อปี พ.ศ. 2503 ทรงพระราชทานพระราชดำริว่า สมควรที่จะสรรค์สร้างการแต่งกายชุดไทยให้เป็นไปตามประเพณีที่ดีงาม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศึกษาค้นคว้าเครื่องแต่งกายสมัยต่างๆ จากพระฉายาลักษณ์ของเจ้านายฝ่ายใน และปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์ ควบคู่กับการปรับปรุงพัฒนาให้เหมาะสมกับกาลสมัย ทรงเสนอรูปแบบที่หลากหลายและได้ฉลองพระองค์เป็นแบบอย่างด้วย ทั้งได้พระราชทานให้ผู้ใกล้ชิดแต่งและเผยแพร่ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น มี 8 ชุด คือ ชุดไทยเรือนต้น ชุดไทยจิตรลดา ชุดไทยอมรินทร์ ชุดไทยบรมพิมาน ชุดไทยจักรี ชุดไทยดุสิต ชุดไทยจักรพรรดิ์ และชุดไทยศิวาลัย ชุดไทยพระราชนิยมเหล่านี้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงใช้ในโอกาสและสถานที่ต่างๆ จนเป็นที่รู้จักแพร่หลายและชื่นชมไปทั่วทั้งในและต่างประเทศ

ราตรีผ้าไหม 18

ราตรีผ้าไหม 19

 คืนนี้เราได้ตื่นตาตื่นใจกับนางแบบโฉมงามในชุดไทยจักรพรรดิ์และชุดไทยศิวาลัย ที่มีเครื่องประดับสร้อยสังวาล ทับทรวง กำไล ต่างหู และเข็มขัดทองเหลืองอร่าม เนื้อผ้าไหมลายวิจิตรพิสดารสลับซับซ้อน หลากสี อวดลวดลายโบราณหลากหลาย เนื้อผ้าพลิ้วไหวไปตามจังหวะการเดินของนางแบบนายแบบ เมื่อผ้าต้องแสงไฟก็สะท้อนแวววาวอย่างน่ามอง นับเป็นความอัศจรรย์ของผ้าไหมไทยที่ไม่มีผ้าใดมาเทียบได้ เช่นเดียวกับผ้าสไบจีนผืนยาวที่ห่มพาดเฉวียงบ่าของนางแบบ ยามเดินเยื้องย่างไปอย่างแช่มช้า ก็พลิ้วไหวลู่ลมอย่างน่ามอง แต่ละชุดค่อยๆ เดินผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนออกมาโชว์อย่างจุใจ

ราตรีผ้าไหม 20

ราตรีผ้าไหม 21

Traveler’s Guide :

How to go : รถยนต์เดินทางจากกรุงเทพฯ-สุรินทร์ ไปได้ 2 เส้นทาง คือ ทางแรกใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) จนถึงสระบุรี เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ไปจนถึงนครราชสีมา แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 226 ผ่านบุรีรัมย์จนถึงสุรินทร์ รวมระยะทาง 434 กิโลเมตร หรืออีกเส้นทางหนึ่ง ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 ไปจนถึงสระบุรี เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2 ไปจนถึงอำเภอสีคิ้ว แล้วเข้าทางหลวงหมายเลข 24 (โชคชัย-เดชอุดม) ผ่านอำเภอโชคชัย อำเภอนางรอง อำเภอประโคนชัย เลี้ยวซ้ายเข้าเส้นทางหมายเลข 214 ที่อำเภอปราสาท ไปจนถึงจังหวัดสุรินทร์ รวมระยะทาง 450 กิโลเมตร

Where to stay : โรงแรมทองธารินทร์ โทร. 0-4451-4281-8 เว็บไซต์ www.thongtarinhotel.com

More info : ททท. สำนักงานสุรินทร์ โทร. 0-4451-4447-8 เฟสบุ๊ค www.facebook.com/tatsurin

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *