สมัยผมเป็นเด็ก พ่อเคยเอานิยายเรื่อง “ล่องไพร” มาให้อ่าน พอจำเรื่องเลาๆ ได้ว่า เมื่อสัก 50-100 ปีที่แล้ว สมัยที่เมืองไทยยังปกคลุมด้วยป่าทั้งประเทศ ยุคนั้นเต็มไปด้วยสิงห์สาราสัตว์ ต้นไม้แปลกๆ เรื่องเล่าผีๆ สางๆ และการผจญไพรในป่าลึกอันน่าตื่นเต้น ไม่มีที่สิ้นสุด
แต่พอพ้นยุคปี พ.ศ. 2500 มาแล้ว ป่าไม้เมืองไทยก็หดหายลงมาเหลือแค่ 30 เปอร์เซนต์ บ้านเราจึงเกิดภัยธรรมชาติน้ำท่วมสลับฝนแล้ง ฤดูกาลผิดเพี้ยน นี่คือผลจาการตัดไม้ทำลายป่าอย่างหนักมาหลายชั่วอายุคน!
ในผืนป่าปักษ์ใต้ แถบชุมพร ระนอง ซึ่งต่อเนื่องลงไปถึงป่าของพังงาและสุราษฎร์ธานี ถือเป็นกลุ่มป่าที่มีขนาดใหญ่สุด ซึ่งยังหลงเหลือของภาคใต้ในปัจจุบัน ทริปนี้ เราจะร่วมเดินทางไปสัมผัสส่วนเสี้ยวของป่าต้นน้ำเมืองใต้ ที่ยังมอบความชุ่มฉ่ำให้แก่สรรพชีวิตเสมอมา
เริ่มต้นการผจญไพรกันที่ “อำเภอพะโต๊ะ” จังหวัดชุมพร อำเภอแสนน่ารักที่มีคำขวัญชวนให้เที่ยวว่า “พะโต๊ะ ดินแดนแห่งภูเขาเขียว เที่ยวล่องแพ แลหมอกปก น้ำตกงาม ลือนามผลไม้” เพราะนอกจากจะเป็นอำเภอใต้สุดของชุมพร ซึ่งไม่มีทางออกทะเลแล้ว เกือบร้อยเปอร์เซนต์ของพะโต๊ะคือพื้นที่ภูเขาสลับซับซ้อน และผืนพรมของป่าไม้เขียวขจี ต้นน้ำลำธารสำคัญของภาคใต้ตอนบนเลยล่ะครับ โดยผืนป่าเหล่านี้ จะทอดตัวสลับกับสวนผลไม้ของชาวบ้าน ทั้งสวนกาแฟ สวนทุเรียน และสวนมังคุด
กิจกรรมที่สร้างชื่อให้กับอำเภอพะโต๊ะมานานหลายสิบปี และทำให้คนในภาคอื่นได้รู้จักอำเภอพะโต๊ะก็คือ “การล่องแพพะโต๊ะ” ซึ่งในอดีตเป็นการใช้แพไม้ไผ่ ทว่าต่อมามีการรณรงค์อนุรักษ์ธรรมชาติ ผู้ประกอบการจึงเปลี่ยนมาใช้แพท่อเอสล่อนขนาดใหญ่แทน ซึ่งเป็นวัสดุที่ทนทาน ยังคงรักษารูปแบบความสนุกของการล่องแพพะโต๊ะไว้ได้อย่างเต็มเปี่ยม เนื่องจากลำคลองพะโต๊ะมีสายน้ำไม่เชี่ยวกราก แก่งต่างๆ ก็มีความยากแค่ระดับ 1-2 ถือว่า ชิลชิล นั่งชมวิวกันได้สบาย
การล่องแพพะโต๊ะ ถือเป็นกิจกรรม Slow-Travel แบบเที่ยวเนิบช้า และเป็น Low-Carbon Tourism ที่ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศโลกในปริมาณต่ำๆๆๆๆๆๆ จริงๆ เพราะแพของเราจะใช้วิธีการถ่อเท่านั้น ไม่ใช้เครื่องยนต์เสียงดัง ระหว่างทางเราจึงมีโอกาสเห็นนก ลิง หรือนกเงือก ในป่าสองฟากฝั่งได้!
การล่องแพพะโต๊ะ เป็นการล่องแพไปตามน้ำ โดยผู้ประกอบการแต่ละเจ้า ก็จะมีจุดขึ้นลงแพเป็นของตนเอง ส่วนใหญ่จะเป็น แพ็กเกจครึ่งวัน เหมารวมอาหารเที่ยง 1 มื้อด้วย คุ้มค่ามากๆ
เพื่อความปลอดภัย ก็ต้องใส่เสื้อชูชีพกันทุกคนนะครับ ยกเว้นคนที่มีไซต์พิเศษ! อาจต้องใช้เสื้อชูชีพไซต์ BIG กว่าปกติ
บางช่วงของลำคลองพะโต๊ะ น้ำไม่ลึกและไม่เชี่ยว เราจึงโดดน้ำเล่นกันได้อย่างสนุกสนาน
ปล่อยตัวและหัวใจให้หลุดเข้าสู่อ้อมกอดของธรรมชาติ ป่าเขียว สายน้ำใสอยู่ใกล้แค่เอื้อม
ระยะทางในการล่องแพพะโต๊ะ จะอยู่ที่ประมาณ 6-10 กิโลเมตร แล้วแต่ผู้ประกอบการแต่ละราย
พี่โรจน์ พี่ชายใจดีแห่งเหวโหลม Homestay ที่พาเรามาล่องแพพะโต๊ะในครั้งนี้ พี่เขาลงทุนถ่อแพให้เองเลย เจ๋งอ่ะ
ในบางช่วง ลำน้ำพะโต๊ะจะขยายกว้างออก เปิดโอกาสให้เราได้เห็นทัศนียภาพสองฟากฝั่งน้ำ และทิวเขาเบื้องหน้า ที่มีป่าดิบปกคลุมแน่นทึบอุดมสมบูรณ์ นี่คือป่าต้นน้ำที่แท้จริงของปักษ์ใต้บ้านเรา
เมื่อการล่องแพจบลง ยังมีบรรยากาศควันหลงของการโหนเชือกโดดน้ำเล่นกันตูมตาม นับเป็นโมงยามแห่งความสุข ของการท่องเที่ยวอำเภอพะโต๊ะ ที่มีมาแล้วหลายสิบปี และจะยังคงดำเนินเช่นนี้ต่อไปได้อย่างยั่งยืน ตราบใดที่คนพะโต๊ะยังคงรักษาป่าต้นน้ำของพวกเขาไว้
พี่โรจน์ มาเผาข้าวหลามเตรียมไว้ให้เรากินหลังจากล่องแพเสร็จแล้ว กินกันแบบง่ายๆ ลูกทุ่งๆ อย่างนี้เราชอบ
หน้าตาของข้าวหลามที่สุกพร้อมกินแล้ว ข้าวนิ่ม กลิ่นหอมฉุย เพราะห่อด้วยใบตอง ผสานกับกลิ่นของกระบอกไม้ไผ่ และกลิ่นฟืน เป็นข้าวหลามธรรมชาติที่กินกันได้ไม่อั้น มื้อนั้นผมเลยซัดเข้าไป 4 ห่อ ทั้งจุก ทั้งอร่อย ฮาฮาฮา แต่พี่โรจน์เขาบอกว่ามีสถิติ คนกินสูงสุดได้ 7 ห่อ!
กับข้าวพื้นบ้านแสนอร่อย เติมพลังหลังจากล่องแพกันมาหลายชั่วโมง มีทั้งปลาทูทอด, น้ำพริกกะปิใส่กุ้งสด ผักเหนาะ, ข้าวหลาม, ใบเหรียงผัดไข่, ผักกูดราดกะทิ, แกงส้มหยวกกล้วย, ต้มตำลึง และไข่เจียวมหัศจรรย์ ฮาฮาฮา หรอยจังหู! (ภาษาใต้แปลว่า อร่อยมากเลยครับ)
นอกจากการล่องแพสุดมันส์แล้ว อำเภอพะโต๊ะยังเป็นดินแดนที่มีน้ำตกน้อยใหญ่อยู่นับสิบแห่ง โดยเฉพาะพระเอกของที่นี่คือ “น้ำตกเหวโหลม” (ชื่อเดิม น้ำตกเหวถล่ม) เป็นน้ำตกสวยกลางป่าดิบรกทึบ สายน้ำถาโถมลงมาจากหน้าผาหินแกรนิตสูงกว่า 40 เมตร กว้างกว่า 25 เมตร โดยเฉพาะในฤดูฝน สายน้ำจะไหลรุนแรงดังกึงก้อง ละอองน้ำปลิวว่อนไปทั่ว ด้านหน้ามีแอ่งน้ำสีมรกตให้ลงเล่นกันด้วย และถ้าไปเที่ยวในตอนเช้าตรู่ ก็อาจได้เห็นสายรุ้งพาดอยู่หน้าน้ำตกอย่างงดงาม น่าประทับใจ
สายรุ้งพาดอยู่หน้าน้ำตกเหวโหลมในยามเช้าตรู่
หน้าน้ำตกเหวโหลม มีวังน้ำใหญ่และสายน้ำไหลเย็น ให้ลงว่ายเล่นกันได้ แต่ถ้าใครว่ายน้ำไม่แข็ง ก็พยายามอย่าลงไปในจุดที่ล้ำลึกเกินเท้าหยั่งถึงละกันนะครับ ปลอดภัยไว้ก่อนดีที่สุด
การเข้าถึงนำ้ตกเหวโหลมนั้นไม่ยากเลย จากลานจอดรถ เดินป่าเข้าไปตามทางเลียบธารน้ำ ประมาณ 200 เมตรเท่านั้น โดยลักษณะเป็นทางปูน ที่มีขั้นบันไดและราวจับอย่างดี แต่ก็มีลื่นบ้างในบางจุด เพราะป่าดิบภาคใต้นั้นขึ้นชื่อเรื่องความชื้นฉ่ำ
ไม่ไกลจากน้ำตกเหวโหลม พี่โรจน์แห่งเหวโหลม Homestay ได้พาเราไปผจญไพรกันต่อในป่าต้นน้ำแท้ๆ ของ หน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำพะโต๊ะ ตำบลปากทรง ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานราชการที่เข้ามาช่วยดูแลพื้นที่ อนุรักษ์ป่าต้นน้ำผืนนี้ไว้ ควบคู่กับการทำความเข้าใจกับชาวบ้านรอบป่า ให้เห็นถึงความสำคัญในการคงอยู่ของป่า
วันนี้เส้นทางเดินป่าของเราไม่ธรรมดา! เพราะเป็นการบุกป่าฝ่าดงไปตามหา ดอกไม้ขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองไทย! นั่นคือ ดอกบัวผุด หรือชื่อวิทยาศาสตร์ Rafflesia kerrii เรียกง่ายๆ ว่า รัฟฟลีเซีย แต่ชาวบ้านในท้องถิ่นรู้จักบัวผุดในชื่อ ดอกบัวตูม ตั้งแต่สมัยโบราณมานิยมเก็บหัวของบัวผุดที่ยังไม่บาน เป็นหัวอวบอ้วนคล้ายกะหล่ำ ไปทำยา โดยเฉพาะการชงกับน้ำร้อน ดื่มเป็นชาที่เชื่อว่าช่วยบำรุงสุขภาพ!
ทว่าจริงๆ แล้วบัวผุดเป็นพืชหายากของโลก การถูกรบกวน หรือเก็บออกไปจากธรรมชาติ ก็จะทำให้มันลดจำนวน จนอาจสูญพันธุ์ไปได้ในอนาคต!!!!!
เส้นทางเดินป่าของเราในวันนี้ ผ่านเข้าไปในใจกลางป่าดิบชื้นแท้ๆ ระหว่างทางมีแต่ต้นไม้ใหญ่สูงหลายสิบเมตร โคนต้นใหญ่หลายคนโอบ บางต้นมีพูพอนขนาดใหญ่แผ่ออกไปด้านข้าง เพื่อช่วยพยุงคำ้ยันลำต้นไว้
เส้นทางบางช่วง จะต้องเดินเลียบไปตามธารน้ำเล็กๆ กลางป่าดิบ เราจึงได้พบเฟินขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ ปกคลุมเขียวครึ้ม จนเราสัมผัสได้ถึงความเย็นฉ่ำของอากาศในบริเวณนั้น
ดอกไม้เล็กๆ ในตระกูลเร่วและกระวาน หนึ่งในสมาชิกของพืชวงศ์ขิงข่า (Zingiberaceae) ซึ่งเป็นพืชพื้นล่างของป่า ช่วยปกคลุมดินรักษาความชุ่มชื้นไว้ แถมพืชในตระกูลนี้ยังใช้เป็นอาหารและยารักษาโรคได้หลากหลายมาก
เห็ดป่านานาชนิด งอกงามขึ้นจากซากต้นไม้กิ่งไม้ผุบนพื้นป่า นับเป็นกระบวนการย่อยสลายตามธรรมชาติ ให้สารอาหารต่างๆ กลับคืนสู่ระบบนิเวศอีกครั้ง
เห็ดขอน (บางคนเรียก เห็ดหลินจือป่า) ขนาดใหญ่ ขึ้นอยู่บนซากต้นไม้ที่ล้มพังพาบลงมาอยู่บนพื้น
ระหว่างเส้นทางล่องไพร เราพบ ดอกค้างคาวดำ (Tacca chantrieri) เบ่งบานอยู่เป็นจำนวนมาก พืชชนิดนี้นอกจากจะมีรูปทรงประหลาดแล้ว ชาวบ้านยังนิยมเก็บใบและยอดอ่อน ไปลวกกินเป็นผักแกล้ม หรือใช้หัวใต้ดินมาหั่นเป็นแว่น ดองกับเหล้า กินเป็นยาบำรุงกำลัง โดยในปัจจุบันนิยมนำมาปลูกเลี้ยงเป็นไม้ประดับสวนกันได้แล้วด้วย
ผ่านความยากลำบากของเส้นทางเดินป่าอันยาวไกล รกทึบ ขึ้นๆ ลงๆ ไปตามสันเขา ประมาณ 2 ชั่วโมงผ่านไป ในที่สุดเราก็มาถึงจุดที่ดอกบัวผุดขึ้นอยู่! พื้นที่เป็นสันเขาค่อนข้างลาดชัน โดยรอบเต็มไปด้วยเถาวัลย์ป่าชนิดหนึ่งชื่อ ย่านไก่ต้ม ซึ่งจริงๆ แล้วคือต้นกำเนิดของดอกบัวผุดนั่นเอง!
เพราะดอกบัวผุดมีชีวิตเป็น “พืชเบียน” หรือ Parasitic Plant ที่มีลักษณะเป็นเส้นใยรา อาศัยดูดกินน้ำเลี้ยงอยู่ในเถาย่านไก่ต้ม เมื่อบัวผุดต้องการสืบพันธุ์ จึงค่อยๆ มีหัวตูมผุดขึ้นมา โดยหัวบัวผุด (ชาวบ้านเรียก บัวตูม) จะมีลักษณะคล้ายหัวกะหล่ำสีส้มอมแดงเต่งอยู่ 9 เดือน แล้วบานออกเพียง 7 วัน เท่านั้นในรอบปี จุดที่เคยมีดอกบานออกมาจากย่านไก่ต้มแล้ว ก็จะไม่มีดอกซ้ำ แต่ดอกจะไปผุดขึ้นจากจุดอื่นแทน อัศจรรย์จริงๆ
วันที่เราไปถึง ดอกบัวผุดยังไม่บาน แต่ก็ถือว่ากำลังเต่งเต็มที่แล้ว
หลังจากนั้นอีกเพียง 2 วัน ดอกบัวผุดก็บานเต็มที่! มีเส้นผ่าศูนย์กลางเกือบ 100 เซนติเมตร หรือ 1 เมตร! เป็นราชาของดอกไม้ยักษ์กลางป่าดิบที่ไม่มีพืชชนิดใดเทียบได้ แม้ว่าผมจะเคยเดินป่าไปดูบัวผุดที่อุทยานแห่งชาติเขาสก จ.สุราษฎร์ธานี มาแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับเลยว่า บัวผุดพะโต๊ะสุดยอดไม่แพ้กัน แถมยังมีปริมาณเยอะมากๆๆ
บัวผุดเป็นพืชที่มีดอกตัวผู้ และดอกตัวเมีย อยู่แยกกันคนละที่ มันจึงต้องผลิตกลิ่นคล้ายเนื้อเน่าอ่อนๆ เพื่อล่อแมลงให้มาช่วยผสมพันธุ์ให้ แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่รู้แน่ชัดว่า เมล็ดที่ได้รับการผสมแล้ว กลับลงไปอยู่ในเถาย่านไก่ต้มได้อย่างไร? ยังเป็นปริศนาที่รอการไขต่อไป! หรือว่ามันกลับคืนสภาพเป็นลักษณะเส้นใยรา กลับลงไปอยู่ในย่านไก่ต้มดังเดิม ก็ไม่รู้เหมือนกันนะครับ?ทริปล่องป่าผจญไพรของเรายังไม่สิ้นสุด แต่ยังมี Surprise! อีกที่ ตำบลบางสน อำเภอปะทิว ชุมพร กับการเที่ยว “ถ้ำนางทอง” ถ้ำขนาดใหญ่ที่ยังไม่เปิดอย่างเป็นทางการ จึงมีรอยเท้าของมนุษย์เพียงไม่กี่คน เคยเข้าไปสำรวจถ้ำแห่งนี้!
การผจญภัยเที่ยวถ้ำนางทอง คงจะต้องมีร่างกายแข็งแรงสักหน่อย เพราะทางช่วงแรกต้องปีนเขาโหนเชือกขึ้นไป แล้วเดินป่าสู่ปากถ้ำที่มีปล่องแคบนิดเดียว เพื่อปีนบันไดชันลงสู่โถงยักษ์ภายในถ้ำ การเดินป่าทุกครั้งจำเป็นต้องมีไกด์ท้องถิ่น คราวนี้เราได้ พี่แตน พี่สาวใจดีแห่ง Homestay บ้านธรรมชาติ พาน้องๆ พลพรรคตัวจิ๋วไปเที่ยวถ้ำกัน
สิ่งสำคัญคือ ทุกคนต้องมีไฟฉายประจำกาย รวมถึงมีเทียนและไม้ขีดเอาไว้สำรองด้วย เพราะในถ้ำไม่มีไฟฟ้านะครับ
ปากถ้ำนางทอง มีรูแคบพอให้คนแค่ 1-2 คนมุดลงมาได้ จากนั้นก็ต้องไต่บันไดชันลงไปอย่างระมัดระวัง ข้าวของที่จะนำลงไปได้ จึงต้องเป็นอะไรที่จำเป็นจริงๆ ไม่งั้นคงพะรุงพะรังแย่
โถงแรกของถ้ำนางทอง มีความสูงและกว้างมากๆ โดยบนเพดานบนสุดมีปล่องทะลุออกสู่ป่าภายนอก ปล่อยให้แสงอาทิตย์ลอดเข้ามาได้บ้าง ตามผนังถ้ำมีเสาหินขนาดยักษ์ รวมถึงม่านหินย้อย และหลืบโพรงอีกนับไม่ถ้วน ในโถงแรกนี้อากาศถ่ายเทดี มีลมอ่อนๆ ไม่อึดอัด แถมไม่มีกลิ่นขี้ค้างคาวให้รำคาญใจด้วย
เมื่อเดินลึกเข้ามาในถ้ำ ก็ยังพบประติมากรรมธรรมชาติอีกหลายลักษณะ ซึ่งหลายคนจินตนาการไปเป็นรูปต่างๆ นาๆ โดยเฉพาะสาหินปูน หรือ Limestone Pillar นั้น แต่ละต้นน่าจะมีอายุเป็นแสนปี! เพราะกว่าหินงอกและหินย้อยจะเติบโตมารวมกันกันเป็นเสาหินได้ ต้องใช้เวลาหลายชั่วอายุคน!
กระบวนการเกิดถ้ำหินปูน จริงๆ แล้วเกิดจากน้ำฝนที่รวมตัวกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ เกิดเป็นกรดคาร์บอนิกอ่อนๆ ค่อยๆ กัดกร่อนเขาหินปูน จนทะลุเข้าไปเป็นโพรงถ้ำ แล้วขยายขนาดออกเรื่อยๆ ชาวบ้านเล่าว่า ถ้ำนางทองในฤดูฝนจะมีน้ำไหลลงมาหลายจุด เราจึงพบขั้นบันไดหินปูน ที่มีร่องรอยของแอ่งน้ำขัง
ความสวยงามมหัศจรรย์แห่งถ้ำนางทอง
เมื่อเดินเข้ามาถึงโถงใหญ่ในสุดของถ้ำนางทอง ก็ต้องตกตะลึงอีกรอบ เพราะมันมีขนาดใหญ่โตมโหฬารมาก เพดานบนสุดมีช่องโพรงทะลุประมาณ 3 โพรง ปล่อยให้แสงแดดจากภายนอกลอดเข้ามาได้ ถ้ำแห่งนี้จึงมีอากาศถ่ายเทตลอด ไม่ร้อนอบอ้าว หรือมีกลิ่นเหม็นใดๆ หินงอกหินย้อยและรากไม้ใหญ่ที่ชอนไชหินปูนลงมาในถ้ำ สร้างบรรยากาศสวยงาม ลึกลับ น่าขนลุก แต่ก็น่าค้นหาในเวลาเดียวกัน
ใช้เวลาอยู่ในถ้ำนางทองกันกว่า 2 ชั่วโมง ออกมาได้ น้องๆ ผู้นำเที่ยวท้องถิ่น ลูกๆ หลานๆ พี่แตน Homestay บ้านธรรมชาติ ก็เอามะพร้าวน้ำหอมมาเฉาะให้เราดื่มกันสดๆ ชื่นใจดีจริงๆ ครับ ต้องขอบคุณทุกคนมากสำหรับวันนี้
ในส่วนของจังหวัดชุมพร ถ้าใครมีเวลาเหลือ ต้องไม่พลาดการไปเที่ยวที่ เขตอนุรักษ์สัตว์ป่าถ้ำเขาพลู (วัดถ้ำเขาพลู) อำเภอปะทิว เพื่อชมความน่ารักของ “ค่างแว่นถิ่นใต้” (Dusky Langur) สัตว์ในตระกูลลิงอันซุกซน ที่จะใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตอยู่บนยอดไม้ เก็บกินใบไม้ผลไม้เป็นอาหารไปตามเรื่องตามราว พอดีช่วงนี้แม่ค่างแว่นมีลูกน้อยด้วย เราจึงได้เห็นลูกน้อยขนสีทองซุกอยู่กับอกแม่ หรือปีนป่ายโหนกิ่งไม้เล่นไปมาอย่างน่าชม
ทริปนี้ยอมรับว่าเหนื่อย แต่ก็คุ้มและสนุกมาก เพราะได้สัมผัสป่าต้นน้ำของชุมพรกันจนเต็มอิ่ม ก่อนกลับบ้าน พี่ปูแห่ง ททท. สำนักงานชุมพร-ระนอง เลยพาเราไปพักผ่อนแบบชิลชิล กันที่ “Farmstay บ้านไร่ ไออรุณ” ของคุณเบส สถาปนิกหนุ่มผู้จบการศึกษาจากเมืองกรุง แต่เดินตามฝันของตัวเอง กลับไปพัฒนาบ้านสวนของพ่อแม่ จนกลายเป็น Farmstay ที่ดู Modern กลมกลืนกับบรรยากาศสวนผลไม้แบบสมรมของอำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง ได้ดีเยี่ยม
ขอบอกว่า Farmsaty บ้านไร่ ไออรุณ เขาไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน เพราะมีความพิเศษหลายอย่าง ตั้งแต่การสร้างสะพานทางเดินยกระดับ เชื่อมโยงบ้านพักแต่ละหลังเข้าหากัน โดยทางเดินนี้ แท้จริงแล้วใช้เป็นเส้นทางชม “ดอกพลับพลึงธาร” หรือ “ดอกหอมน้ำ” ซึ่งเป็นพืชหายากของโลก! ตามธรรมชาติพบเฉพาะในลำธารน้ำใสกลางป่าดงดิบชื้น ของจังหวัดระนองเท่าน้ัน แต่เดิมเคยพบในคลองนาคา ทว่าได้สูญพันธุ์ไปแล้ว บ้านไร่ ไออรุณ จึงนำพันธุ์มาเพาะเลี้ยงจนสำเร็จ! น่าชื่นชมจริงๆ ครับ
ดูกันชัดๆ ครับ กับหน้าตาแสนน่ารักของ ดอกพลับพลึงธาร พืชหายากของโลก! ซึ่งตามธรรมชาติเธอชอบขึ้นอยู่ในลำธารเล็กๆ กลางป่าดงดิบชื้น เงียบสงบ ต้องเป็นลำธารที่สะอาด น้ำใสมาก ไม่ค่อยมีตะกอน น้ำไม่ไหลเชี่ยว และท้องลำธารต้องเป็นดินปนทราย ตามธรรมชาติหายากแล้วครับ มาชมที่บ้านไร่ ไออรุณ ก็ได้ ง่ายและชิลดี
ต้นอ่อนของพลับพลึงธาร ที่บ้านไร่ ไออรุณ พยายามหาวิธีฟูมฟักจนสำเร็จ ขอปรบมือให้ดังๆ เลยครับ
ความพิเศษมากๆ อีกอย่างของบ้านไร่ ไออรุณ คือเขามีที่พักให้ด้วย คนที่มาพักจะสัมผัสได้ตลอดเวลา ถึงกลิ่นอายของคำว่า ART & Design เพราะคุณเบส เจ้าของ Farmstay แห่งนี้ เป็นคนที่มีไอเดียสร้างสรรค์ ด้วยความรู้ที่รำ่เรียนมาด้านสถาปนิก จึงสรรค์สร้างที่พัก ห้องครัว ร้านอาหาร รวมถึงการจัด Lansdcape ให้ดู Modern มากๆ ถึงขนาดเคยขึ้นปกหนังสือชื่อดัง My Home มาแล้ว!
นี่ถ้าไม่บอกว่าอยู่ระนอง ผมคงนึกว่าต้องเป็นบ้านไร่แถวยุโรปแน่ๆ เลย
เราจบทริปผจญไพรในป่าใต้ ชุมพร ระนอง กันที่เก้าอี้และหมอนอิงนิ่มๆ ของบ้านไร่ ไออรุณ พร้อมกับภาพประทับใจ ในประสบกาณ์ดีๆ มากมาย ที่ทำให้เรารู้สึกรู้ซึ้งว่า จริงๆ แล้วเมืองไทยของเราช่างกว้างใหญ่นัก และยังมีแหล่งท่องเที่ยวอีกนับไม่ถ้วนให้เราไปสัมผัส คงจะดีไม่น้อยเลย ถ้าเราได้หยุดเวลาไว้ตรงนี้ ตลอดไป
Special Thanks : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานชุมพร – ระนอง เลขที่ 111/11-12 ถนนทวีสินค้า ตำบลท่าตะเภา อำเภอเมืองฯ จังหวัดชุมพร โทร. 0-7750-2775-6 สนับสนุนการเดินทางทำสารคดีเรื่องนี้เป็นอย่างดี
More info
- ล่องแพพะโต๊ะ สอบถาม ที่ว่าการอำเภอพะโต๊ะ ชุมพร โทร. 0-77 53-9040, มาลินล่องแพ โทร. 08-9592-8376
- เดินป่าดูบัวผุด อำเภอพะโต๊ะ ชุมพร ติดต่อ เหวโหลม Homestay โทร. 08-1968-3893 (คุณโรจน์)
- ชมรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศป่าต้นน้ำพะโต๊ะ โทร. 0-7752-0075, 08-4926-7007
- ถ้ำนางทอง ตำบลบางสน อำเภอปะทิว ชุมพระ ติดต่อ Homestay บ้านธรรมชาติ โทร. 08-9873-8535, 08-1273-0127 (คุณแตน)
- พลับพลึงธาร Farmstay บ้านไร่ ไออรุณ อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง โทร. 08-3051-1654 (คุณ Best)