เทศกาลถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ต เป็นความเชื่อขนบธรรมเนียม และประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา กว่า 200 ปีแล้ว! โดยมิได้ขาด มักเริ่มในวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีน ซึ่งก็มักตรงกับช่วง ปลายเดือนกันยายนถึงต้นเดือนตุลาคมของทุกปีนั่นเอง ช่วงดังกล่าวตัวเมืองภูเก็ตจะดูมีสีสันเป็นพิเศษ เพราะจะมีการประดับริ้วผ้าธงทิวปลิวไสว บ่งบอกถึงเทศกาลถือศีลกินผักที่มาถึงแล้ว เป็นสัญญาณให้ผู้คน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งคนหนุ่มสาวและผู้เฒ่า พร้อมใจกันนุ่งขาวห่มขาว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ไปถือศีล สวดมนต์ งดเว้นการเบียดเบียนสัตว์ ไม่กินเนื้อสัตว์ทุกชนิด บรรยากาศตลอดเทศกาลนี้จึงทำให้เกาะภูเก็ต เต็มไปด้วยมนต์ขลังของกลิ่นธูปควันเทียนอบอวล และเคล้าด้วยเสียงสวดมนต์ตามศาลเจ้าต่างๆ อย่างคึกคัก เช่นเดียวกับที่บริเวณวงเวียนหอนาฬิกา ในตอนกลางคืนจะมีการประดับโคมไฟมังกรอย่างสว่างไสวสวยงาม
น้องๆ ชาวภูเก็ตออกมาร่วมขบวนแห่ม้าทรง (แห่พระ) จากศาลเจ้าต่างๆ กันอย่างสนุกสนานเอิกเริก
สาวน้อยหน้าใสในขบวนแห่ม้าทรงไปรอบเมืองภูเก็ต ดูไว้เลย กินเจแล้วหน้าใสแบบนี้ล่ะ
สาวภูเก็ตน่ารักๆ อีกคน ยืนรอรับขบวนแห่ม้าทรง ซึ่งจัดสลับสับเปลี่ยนกันตลอดสิบวันของเทศกาลถือศีลกินผัก
ศูนย์กลางของเทศกาลถือศีลกินผักภูเก็ตอยู่ที่ศาลเจ้าน้อยใหญ่ทั่วเกาะ ที่มีทั้งโรงทาน การสักการะบูชา และเป็นจุดเริ่มต้นของการเชิญเจ้ามาประทับทรงยังร่างทรง ที่เรียกันว่า “ม้าทรง” หรือ “พระ” อันเป็นตัวแทนของเทพ หรือพระโพธิสัตว์องค์ต่างๆ ผู้ลงมาโปรดสัตว์ให้อยู่สงบร่มเย็นในช่วงนี้ ทว่าก็มีเทพเจ้าปางดุหลายองค์ที่เมื่อประทับทรงแล้ว ก็จะใช้เหล็กแหลมเสียบแทงตามร่างกาย สร้างความหวาดเสียว เป็นอีกมุมอีกภาพหนึ่งของงานเทศกาลถือศีลกินผัก ในเชิงอิทธฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ซึ่งเราต้องเข้าใจให้ถ่องแท้ แต่ก็ต้องไม่ลืมหัวใจของเทศกาลนี้ นั่นคือการทำกายใจให้บริสุทธิ์ เคร่งอยู่ในศีลในธรรมตลอดเวลา ทว่าใครที่ไม่สามารถถือศีลกินเจได้ครบทั้ง 9 วัน ก็ไม่ต้องกังวล เพราะเราสามารถทำได้ตามความสะดวก แค่มีเจตนาบริสุทธิ์ก็ได้บุญกุศลล้นเหลือแล้วล่ะ
ม้าทรง หรือพระ ที่ประทับทรงเทพองค์ต่างๆ กำลังให้พรกับผู้ศรัทธาที่มารอขบวนแห่กันแต่เช้า
เมื่อม้าทรงมีองค์เทพลงประทับแล้ว ก็จะมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป ไม่เป็นตัวของตัวเอง และสามารถพูดภาษาจีนได้อย่างคล่องแคล่ว ทั้งๆ ที่ปกติพูดภาษาจีนไม่ได้เลย!
คุณประเสริฐ ฟักทองผล ประธานชมรมอ๊ามภูเก็ต (อ๊าม แปลว่า “ศาลเจ้า”) ได้ให้ความรู้ว่า นอกจากงานเทศกาลถือศีลกินผักจะจัดขึ้นเพื่อเอาบุญแล้ว ยังเป็นการสานความสามัคคีของคนภูเก็ต ทั้งเอกชน และภาครัฐ ที่มาร่วมจับมือกันจัดงานนี้ทุกปี ที่พิเศษสุดๆ คือ ปี 2557 นี้ จะมีเดือน 9 ถึง 2 ครั้ง ซึ่งนับว่าหาได้ยากยิ่งในช่วงชีวิตของคนๆ หนึ่ง โดยครั้งแรกตรงกับวันที่ 24 กันยายน-2 ตุลาคม 2557 และครั้งที่ 2 ตรงกับวันที่ 24 ตุลาคม-1 พฤศจิกายน 2557 จึงนับว่าเป็นปีมหามงคล ที่เราสามารถร่วมบุญ งดเว้นการเบียดเบียนชีวิตสัตว์ได้อย่างเต็มที่ เพราะกว่าจะมีเดือน 9 สองหนแบบนี้ต้องรอนานมาก โดยก่อนหน้านี้มีเมื่อ 182 ปีที่แล้ว และครั้งต่อไปต้องรออีก 95 ปีข้างหน้าโน่นเลย! ปีนี้เกาะภูเก็ตจึงจัดงานครั้งแรกอย่างยิ่งใหญ่เหมือนเดิม ส่วนครั้งที่สองจะจัดกันเฉพาะในอ๊าม (ศาลเจ้า) ไม่ได้มีขบวนแห่ยิ่งใหญ่ แต่เน้นไปที่การถือศีลปฏิบัติธรรม มาร่วมกินเจกันที่อ๊ามมากกว่า
เทพบางองค์ที่มาลงประทับในร่างม้าทรง ก็เป็นเทพเด็ก หรือเทพหญิงสาว จึงต้องหาม้าทรงที่มีความเหมาะสมกัน
อ๊ามใหญ่ๆ ของภูเก็ตมีอยู่นับสิบแห่ง ล้วนสร้างขึ้นจากแรงศรัทธาและทุนทรัพย์ของผู้คนบนเกาะ อาทิ ศาลเจ้ากะทู้ (ศาลเจ้าแห่งแรกที่จัดให้มีงานเทศกาลถือศีลกินผักบนเกาะภูเก็ต), ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ย เต้าโบ้เก้ง, ศาลเจ้าบางเหนียว, ศาลเจ้าบ้านท่าเรือ, ศาลเจ้าสามกอง, ศาลเจ้าสะปำ, ศาลเจ้าชุ่ยบุ่นต๋อง, ศาลเจ้าเจ่งอ๋อง และศาลเจ้าบ้านดอน เป็นต้น ประวัติการเริ่มต้นงานเทศกาลถือศีลกินผักที่ศาลเจ้ากะทู้เมื่อ 200 ปีก่อน เล่าสืบต่อกันมาว่า ในยุคนั้นบริเวณอำเภอกะทู้เรียกว่า ไล่ทู หรือ ในทู เป็นย่านทำเหมืองแร่ดีบุกที่เฟื่องฟูมาก เต็มไปด้วยร้านค้าและบ้านเรือนนับร้อยหลัง มีการว่าจ้างคณะงิ้วจากเมืองจีนให้มาเล่นประจำที่ศาลเจ้านี้ทั้งปี ทว่าต่อมาเกิดโรคระบาดขึ้น หัวหน้าคณะงิ้วจึงนึกขึ้นได้ว่าอาจเป็นเพราะตนลืมทำพิธีเจี๊ยะฉ่าย (กินผัก) ซึ่งตนเคยปฏิบัติเป็นประจำทุกปีที่เมืองจีน หลังจากมีการจัดพิธีนี้แล้ว โรคระบาดก็ลดน้อยจนหายไปหมดสิ้น! เป็นที่อัศจรรย์ จึงมีการจัดงานเทศกาลถือศีลกินผักบนเกาะภูเก็ตสืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้
ม้าทรงในชุดเต็มยศ แบบนี้หาดูได้เพียงปีละครั้งในช่วงปลายเดือนกันยายน-ต้นเดือนตุลาคม และมีให้ชมเพียงที่เดียวที่ภูเก็ต
ในช่วงเทศกาลถือศีลกินผัก ศาลเจ้าทั่วเกาะภูเก็ตจะได้รับการประดับประดาให้สวยงามเป็นพิเศษ
อย่างไรก็ตาม การจะเข้าร่วมถือศีลกินผักให้สมบูรณ์ มิใช่อยู่ที่การสวมชุดขาวเพียงอย่างเดียว เขามีหลักปฏิบัติอันเคร่งครัด 10 ข้อ คือ ห้ามฆ่าสัตว์และบริโภคเนื้อสัตว์, ห้ามกล่าวเท็จ, ห้ามเล่นการพนัน, ห้ามดื่มสุราและของมึนเมา, ห้ามลักขโมย, ห้ามีเพศสัมพันธ์, ห้ามสวมใส่เครื่องประดับและเครื่องหนัง, ควรสวมชุดขาว, ผู้ที่อยู่ระหว่างไว้ทุกข์ หญิงมีครรภ์ หญิงมีประจำเดือน ไม่ควรร่วมพิธีกรรมใดๆ และประการสุดท้ายคือ ให้ทำความสะอาดเครื่องครัว และแยกเครื่องใช้คนละส่วนกับคนที่ไม่ได้ถือศีลกินผักด้วย นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่ควรปฏิบัติอย่างยิ่ง 3 อย่างคือ กินผัก สวดมนต์ถือศีล และอยู่ในอาการสงบนิ่ง
งานเทศกาลถือศีลกินผักที่สมบูรณ์ประกอบด้วยพิธีต่างๆ มากมาย สุดแล้วแต่ว่าใครจะมีเวลาพอ เข้าร่วมหรือไม่ก็ได้ เขาไม่บังคับกัน เริ่มตั้งแต่พิธีป้างกุ้น (พิธีเชิญเทพทหารเพื่อรักษาปริมณฑลงาน), พิธีโข้กุ้น (พิธีเลี้ยงอาหารเทพทหารที่รักษาบริเวณงานกินผัก), พิธีส่งเก๊ง (พิธีสวดมนต์), พิธีป่ายชิดแช (พิธีบูชาดาว), การเล่นประทัดเพื่อต้อนรับขบวนแห่, พิธีอิ้วเก้ง (พิธีแห่พระ), พิธีโก้ยโห้ย (พิธีลุยไฟ), พิธีโก้ยห่าน (พิธีสะเดาะเคราะห์) และพิธีส่งพระในวันสุดท้าย โดยถือว่าช่วง 3 วันสุดท้ายของงาน จะจัดกันอย่างยิ่งใหญ่คึกคักที่สุด ขบวนแห่ของศาลเจ้าใหญ่ๆ ก็จะแห่รอบเมืองกันในช่วงท้ายๆ นี่เอง บางขบวนแห่กันตั้งแต่หกโมงเช้าถึงเที่ยงเพิ่งจะสุดขบวน! มีการจุดประทัดรับเทพกันเป็นล้านๆ นัด เสียงดังกึกก้องควันตลบฟุ้งไปทั่วตัวเมืองภูเก็ต พร้อมด้วยพิธีลุยไฟ ปีนบันไดมีด เคล้าเสียงกลองจีนรัวไม่หยุด
ตลอดสิบวันในช่วงเทศกาลถือศีลกินผัก จะมีขบวนแห่จากศาลเจ้าต่างๆ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันออกเดินไปรอบเมือง
เมื่อได้ยินเสียงกลองโหมระทึก และแลเห็นธงทิวสีสันสดใสแบบนี้มาแต่ไกล ก็เป็นสัญญาณว่าขบวนแห่ม้าทรงจากศาลเจ้าต่างๆ ได้มาถึงแล้ว
เมื่อเจ้าประทับทรงองค์ในร่างม้าทรงแล้ว ก็จะถูกพี่เลี้ยงแต่งองค์ทรงเครื่องให้ จากนั้นท่านก็จะเดินลงมาโปรดลูกศิษย์ที่เกี้ยวซึ่งจะเดินแห่กันต่อไป
ม้าทรงของเทพแต่ละองค์จะมีพฤติกรรมต่างกันไป บางองค์เต้นเหมือนลิง บางองค์เดินเหมือนคนแก่ แต่องค์นี้เหมือนจะเต้นรำไปมา
ขณะขบวนแห่พระ (แห้ม้าทรง) เริ่มออกจากศาลเจ้า จะมีการจุดประทัดเป็นพันๆ นัด เพื่อเป็นสัญญาณ ขอบอกว่ากว่าจะได้ภาพนี้มาหูดับไปเลย! แถมสะเก็ดประทัดยังปลิดว่อนไปทั่ว ต้องคอยระวังให้ดีด้วย
สิ่งหนึ่งที่ทำให้หลายคนอยากมาชมขบวนแห่ในเทศกาลถือศีลกินผัก ภูเก็ต ก็เพราะอยากมาชมม้าทรง อย่างท่านนี้ใช้เข็มฉีดยาหลายร้อยอันแทงตัวเอง ประดับให้เหมือนหนวดเคราของคนแก่ ซึ่งก็คือองค์เทพที่ลงมาประทับทรงนั่นเอง
มีคนบอกว่า ถ้าม้าทรงคนใดมีดวงตาเหลือกมองขึ้นไปด้านบนแบบนี้ แสดงว่าเป็นของจริง ตัวจริง เหมือนกับเขากำลังสื่อสารกับเทพบนสวรรค์อยู่!
ม้าทรงในสภาวะจิตว่าง ไม่เจ็บไม่ปวด ไม่เป็นตัวของตัวเอง ภาพหวาดเสียวแบบนี้คงทำให้หลายคนทนดูไม่ได้ แต่ก็เป็นอีกแง่ของความศรัทธา และความเชื่อ ส่วนหนึ่งของเทศกาลถือศีลกินผัก
ศาลเจ้าต่างๆ ในเกาะภูเก็ต ต่างก็มีความศรัทธา ความเชื่อ ในเทพเจ้าหรือเซียนองค์ต่างๆ กันไป
แสงสีสดใสในยามค่ำคืน บริเวณวงเวียนหอนาฬิกากลางเมืองภูเก็ต กลายเป็นจุดนับพบของหนุ่มสาวนับร้อย ที่ออกมาเก็บเกี่ยวช่วงเวลาอันน่าจดจำ ของเทศกาลถือศีลกินผัก 2014
ปีนี้ทางเทศบาลจังหวัดภูเก็ต ได้เนรมิตวงเวียนหอนาฬิกากลางเมือง ให้กลายเป็นลานแสดงโคมไฟมังกร สร้างความตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างมาก
เห็นโคมไฟจีนแบบนี้ อย่าเข้าใจผิดคิดว่ากำลังอยู่ที่จีนแผ่นดินใหญ่นะ ที่แท้คือเกาะภูเก็ต แหล่งของชาวจีนฮกเกี๊ยนนี่เอง
ผู้คนมากมายพากันมารวมตัวที่วงเวียนหอนาฬิกา เพื่อชมแสงสีของโคมไฟตุ๊กตาจีนน่ารักๆ
ในช่วงเทศกาลถือศีลกินผัก เมืองภูเก็ตจะดูมีสีสันมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการประดับประดาแสงสีหลากหลายในยามราตรี คนที่ชอบถ่ายภาพไม่ควรพลาดนะจ๊ะ
รับรองว่าช่วงเทศกาลถือศีลกินผักที่ภูเก็ตทุกปี จะมีเมนูอาหารเจ อาหารสุขภาพ ที่ไม่เบียดเบียนสัตว์ ไว้คอยให้ชิมกันจนละลานตา
ดูขบวนแห่เหนื่อยแล้ว ก็แวะพักเข้าไปหาอาหารเจอร่อยๆ ชิมกัน ช่วงนี้หาง่าย มีขายกันทั้งเมือง โดยเฉพาะที่ถนนเส้นด้านหลังศาลเจ้าจุ้ยตุ่ย จะจัดเป็นถนนอาหารเจยาวเหยียดกว่าครึ่งกิโลเมตร หรือจะเข้าไปนั่งในห้องแอร์เย็นฉ่ำ สั่งอาหารเจแสนอร่อยมาชิม ภูเก็ตเขาก็มีหลายร้าน อย่างร้านดอกบัว รับรองว่าบรรยากาศชิลมาก ช่วยให้การถือศีลกินผักของเราง่าย สะดวก และน่าประทับใจไปอีกนานแสนนาน
ร้านน้อยใหญ่ในภูเก็ต ต่างแข่งกันปรุงอาหารเจอย่างสุดฝีมือ เพื่อต้อนรับเทศกาลแห่งการทำกายใจให้บริสุทธิ์
เดินไปแถวด้านหลังศาลเจ้าจุ้ยตุ่ย จะมีถนนคนเดินสายอาหารเจ เปิดขายกันตลอดวันตลอดคืน ไม่ต้องกลัวจะอดหรือหิวเลย
ลูกค้าเนืองแน่น ดาหน้ากันเข้ามาชิมอาหารเจอร่อยๆ ตลอดสิบวันของช่วงเทศกาลถือศีลกินผัก 2014
Special Thanks : ขอขอบคุณ กองประชาสัมพันธ์ในประเทศ ฝ่ายโฆษณาและประชาสัมพันธ์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ ททท. สำนักงานภูเก็ต สนับสนุนการเดินทางทริปนี้เป็นอย่างดี
Traveler’s Guide
When to go : เกาะภูเก็ต จัดงานเทศกาลกินเจเป็นประจำทุกปี ช่วงปลายเดือนกันยายน ถึงต้นเดือนตุลาคม รวม 10 วัน กำหนดการที่แน่นนอนในแต่ละปี โทรสอบถามที่ ททท. สำนักงานภูเก็ต ได้
How to go : สะดวกรวดเร็วสุด แนะนำให้บินตรงกรุงเทพฯ-ภูเก็ต มีบริการทุกวัน เช่น สายการบิน Thai Smile (www.thaismileair.com) และ Airasia (www.airasia.com) ฯลฯ
Where to stay : แนะนำ โรงแรม The Metropole โทร. 0-7621-4020-9 เว็บไซต์ www.metropolephuket.com เพราะโรงแรมนี้ตั้งอยู่ติดกับวงเวียนหอนาฬิกากลางเมืองภูเก็ต ซึ่งขบวนแห่ของศาลเจ้าต่างๆ จะผ่าน
What to eat : แนะนำ ร้านอาหารเจอร่อยๆ ในภูเก็ต เช่น ร้านดอกบัว ถนนหงษ์หยกอุทิศ โทร. 0-7635-5246 / ร้านอาหารเจร่วมใจ ถนนระนอง โทร. 0-7622-2821 / ร้านอาหารเจเหอซั่น ถนนระนอง โทร. 0-7625-6611 / ร้านโยโภชนา ถนนเยาวราช โทร. 08-4063-7051
More info : ททท. สำนักงานภูเก็ต โทร. 0-7621-2213, 0-7621-1036, 0-7621-7138