ร่วมยินดี สมาคม TEATA ได้นายกสมาคมท่านใหม่
เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2560 สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.) หรือ The Ecotourism & Adventure Travel Association หรือ TEATA ได้จัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2559 ณ ห้องประชุมชั้น 5 โรงแรมใบหยกสวีท ประตูน้ำ โดยเป็นการรายงานผลการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมา รวมทั้งเพื่อเลือกตั้งนายกสมาคม และคณะทำงานชุดใหม่ ตามที่ชุดเก่าได้หมดวาระลง
เว็บไซต์ Shutter Explorer ขอแสดงความยินดีกับ คุณนีรชา วงศ์มาศา นายกสมาคม TEATA ท่านใหม่ ซึ่งได้รับเลือกและเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 18 มกราคม 2560สมาคม TEATA เป็นสมาคมที่ทำงานโดยไม่หวังผลกำไร ถือเป็นหนึ่งในสมาคมที่ทำงานด้านการท่องเที่ยว ซึ่งมีผลงานโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ ทั้งในแง่วิชาการ การอนุรักษ์ การผจญภัย และการทำงานกับชุมชนอย่างยั่งยืน โดยปัจจุบันสมาคมมีอายุครบ 20 ปีแล้ว ได้ร่วมงานกับหน่วยงานใหญ่ๆ ระดับประเทศหลายองค์กร อาทิ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ อพท. ฯลฯ ก่อให้เกิดเครือข่ายคนทำงานด้านการท่องเที่ยวแบบสร้างสรรค์ ไม่จำกัดอยู่เฉพาะในเมืองไทย ทว่า TEATA ได้ก้าวออกสู่เวทีโลกในหลายประเทศ เพื่อสร้างเครือข่าย และนำองค์ความรู้ใหม่ๆ มาพัฒนาการท่องเที่ยวไทยด้วย
ผลการเลือกตั้งคณะกรรมการสมาคม TEATA ชุดใหม่ ปี 2560-2562 มีดังนี้คือ
1. คุณนีรชา วงศ์มาศา นายกสมาคม
2. คุณศรีพิจิตต์ เติมชัยเจริญศักดิ์ อุปนายก 1 (องค์กรสัมพันธ์)
3. คุณวันชัย สุวัฒน์ศิริพล อุปนายก 2 (วิชาการ)
4. คุณวสุมน เนตรกิจเจริญ อุปนายก 3 (ตลาดนักท่องเที่ยวในประเทศ)
5. คุณชัชวาล ศูรางกูล อุปนายก 4 (ตลาดนักท่องเที่ยวต่างประเทศ)
6. คุณปาริชาต สุนทรารักษ์ (เลขาธิการสมาคม)
7. คุณสุวิมล งามศรีวิโรจน์ (เหรัญญิก)
8. คุณสราวุทธ์ เกวียกกุทัณฑ์ (นายทะเบียน)
9. คุณกฤติกา ผิวเกลี้ยง (ปฏิคม)
10. คุณบูรณาการ จตุพรไพศาล (ประชาสัมพันธ์)
11. คุณชฎาทิพย์ สุวัฒน์ศิริผล (กรรมการกลาง)
12. คุณกิติชัย ศรีประภานุรัตน์ (กรรมการกลาง)
13. คุณเผ่าพิพัธ เจริญพักตร์ (กรรมการกลาง)
14. คุณฐาปณี ณ พัทลุง (กรรมการกลาง)
15. คุณณัฐวัฒน์ วัฒนาประสิทธิ์ (กรรมการกลาง)
สำหรับที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ของสมาคม TEATA ได้แก่
- คุณดวงกมล จันสุริยวงศ์
- คุณสุมิตรา มัทธุรนนท์
- คุณสุภาภรณ์ ปราชญ์อำไพ
- คุณอุดม ชิดนายี
- คุณอรนุช ผการัตน์
- คุณสุภาวดี ฤตวิรุฬห์
ในการประชุมครั้งนี้ ดร.วีรศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธาน สสปน. (สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ) ได้ให้เกียรติมาบรรยายพิเศษในหัวข้อ ‘เทรนด์การท่องเที่ยวโลก และการท่องเที่ยวในประเทศไทย’
ดร.วีรศักดิ์ โควสุรัตน์ ได้บรรยายให้ความรู้และแนวคิดที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ทั้งในด้านนักท่องเที่ยว (Demand Side) และผู้ประกอบการ (Supply Side) เช่น ในอนาคตการท่องเที่ยวไทยต้องเน้นสินค้าและบริการคุณภาพ, ต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มนักท่องเที่ยวแบบ Serious Bussiness Traveller มากขึ้น เพราะคนกลุ่มนี้แม้จะเดินทางเข้ามาประชุม สัมมนา แต่ก็มีช่วงเวลาที่ท่องเที่ยวด้วย, การท่องเที่ยวจะต้องนำไปสู่ การเข้าถึงเชิงประสบการณ์กับชุมชน เพราะชุมชนคือชีวิต หรือ Community is Life, แนวโน้มการท่องเที่ยวต่อจากนี้ จะกลายเป็นแบบ Exotic Traveller มากขึ้น หมายถึง นักท่องเที่ยวจะค้นหาจุดหมายปลายทางแปลกใหม่ ซึ่งไม่ใครมีเคยเห็น หรือไปถึงมาก่อน เป็นต้น แต่ทั้งหมดนี้ ประเทศไทยต้องมีความพร้อมในการต้อนรับ และจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยความยั่งยืนนั้น แท้จริงแล้วคือ ‘ชุมชนยั่งยืน’ นั่นเอง
นอกจากนี้ ในอนาคตประเทศไทยสามารถสร้างสินค้าทางการตลาดท่องเที่ยวที่ยั่งยืน มีเอกลักษณ์ สร้างรายได้ และสร้างความภาคภูมิใจในตัวเองให้กับคนท้องถิ่นได้ ด้วยหลัก 5F คือ Food (อาหารท้องถิ่นไทย), Fruit (ผลไม้เมืองร้อนของไทย), Film (ภาพยนตร์และเพลงไทย), Fighting (มวยไทย) และ Festival (เทศกาลงานประเพณีไทย)คุณนีรชา วงศ์มาศา นายกสมาคม TEATA ท่านใหม่ มอบของที่ระลึกให้กับ ดร.วีรศักดิ์ โควสุรัตน์ หลังจากบรรยายเสร็จเรียบร้อยแล้ว
คุณยุวดี นิรัตน์ตระกูล จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้เกียรติมาบรรยายพิเศษ หัวข้อ ‘อนาคตการตลาดท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์’ โดยคุณยุวดีได้ให้แนวคิดที่น่าสนใจมากมาย อาทิ นับแต่นี้ต่อไป ผู้ประกอบการการท่องเที่ยว หรือฝั่ง Supply Side จำเป็นที่จะต้องปรับทัศนคติของตนเองในการสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะคน GEN Y (คนอายุ 18-35 ปี) เช่น การใช้คำโฆษณาประชาสัมพันธ์ทางการท่องเที่ยว จะมีคำว่า Culture (วัฒนธรรม), Responsible (ความรับผิดชอบ), Local Community (ชุมชนท้องถิ่น), Eco Friendly (เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม), Volunteer (อาสาสมัคร หรือจิตอาสา), Experience & Learning (ประสบการณ์ และการเรียนรู้), Ordinary (ความเป็นธรรมดาสามัญ), Minimal (ความต้องการปริมาณต่ำ), Bleasure (การเดินทางมาพักผ่อน และทำธุรกิจไปพร้อมๆ กัน) ฯลฯ โดยคำทั้งหมดนี้ สะท้อนถึงพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปนั่นเอง
คุณยุวดียังได้ให้ความรู้อีกว่า ในปี ค.ศ.2020 ประเทศไทยจะมีปริมาณนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 40-70 ล้านคน โดยในปัจจุบันไทยเราได้รายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มากเป็นอันดับ 6 ของโลก ทว่าในขณะเดียวกันเรากลับมีศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวเป็นอันดับ 35 ของโลก! ทั้งหมดนี้คือโจทย์ใหญ่ ที่เราต้องตั้งคำถามตัวเองว่า ประเทศไทยจะจัดวางตำแหน่งของตนเองไว้ ณ จุดใด จะเน้นการท่องเที่ยวเชิงปริมาณ กับ Mass Tourism หรือจะเน้นไปที่กลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีความสนใจเฉพาะด้าน หรือ Niche Market มากกว่า ทั้งนี้ทั้งนั้น เทรนด์การท่องเที่ยวของโลกกำลังมุ่งไปสู่ ‘การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ’ ทั้งสิ้นในส่วนของ นายกสมาคม TEATA คนใหม่ คุณนีรชา วงศ์มาศา ได้แถลง วิสันทัศน์ (Vision)ในการดำเนินงานของสมาคมต่อจากนี้ คือ “พัฒนาต่อยอดจุดแข็งด้านวิชาการ ด้วยการตลาดเชิงรุก ให้ทันยุคสมัย มุ่งสู่การสร้างประโยชน์ต่อสมาชิก”
มุมมองและทิศทางของสมาคม คือ
- ก้าวสู่ระดับนานาชาติ
- ผู้นำด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
- สร้างเครือข่ายภายในและต่างประเทศ
ภารกิจ (Mission) หลักการทำงานให้บรรลุเป้าหมาย คือ
- ผลักดันสมาชิกให้มีบทบาท ร่วมทำงาน ร่วมรับประโยชน์ (Win-Win)
- เผยแพร่ผลงานทางวิชาการให้เป็นที่รู้จัก และยอมรับทั้งในและต่างประเทศ
- ส่งเสริมกิจกรรมและผลงานของสมาชิกสู่ตลาดในและต่างประเทศ ด้วยการตลาดเชิงรุก
ท่านที่สนใจกิจกรรมด้านต่างๆ ของ สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.) หรือ TEATA สามารถไปค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.teata.or.th
10 มหัศจรรย์ ประจวบคีรีขันธ์
(1) ทะเลบัวเขาสามร้อยยอด ล่องเรือชมความบริสุทธิ์ของธรรมชาติในอ้อมกอดเขาหินปูนสุดอลังการริมอ่าวไทย เป็นทะเลบัวหลวงผืนใหญ่ในบึงน้ำชุ่มฉ่ำ ให้ความรู้สึกสดชื่นจริงๆ
(2) ชายฝั่งเขาแดง บนรอยต่อประจวบคีรัขันธ์-ชุมพร ประติมากรรมธรรมชาติบนรอยต่อของบกและทะเล หนึ่งเดียวในเมืองไทย
(3) เกาะทะลุ อำเภอบางสะพานน้อย เกาะส่วนตัวแสนโรแมนติก ที่เป็นเหมือนสวรรค์กลางอ่าวไทย
(4) ชายหาดบ้านกรูด ชายหาดเงียบสงบแห่งความโรแมนติก เงียบสงบเป็นส่วนตัว สะท้อนมนต์เสน่ห์ทะเลประจวบฯ อย่างแท้จริง
(5) ชายหาดสวนสน อำเภอหัวหิน หาดแห่งการพักผ่อนภายใต้ทิวสนทะเลเรียงราย ไปนอนฟังเสียงสนลู่ลมกระซิบรักกับเกลียวคลื่น
(6) ป่าชายเลนสิรินาถราชินี แห่งปรากน้ำปราณบุรี อาณาจักรแห่งสรรพชีวิต ที่กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศน์ป่าชายเลนสำหรับทุกคน
(7) คลองเขาแดง ตัวแทนความอุดมสมบูรณ์ของเขาสามร้อยยอด ล่องเรือชมลำคลองชุ่มฉ่ำ สัมผัสวิถีประมงพื้นบ้าน และดูนกที่อาศัยป่าชายเลนเป็นบ้านอันสงบ
(8) ช้างป่าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ชมช้างป่าราชาแห่งป่าดิบเทือกเขาตะนาวศรี สัตว์ใหญ่สัญลักษณ์แห่งชาติไทย ที่ช่วยต่อเติมระบบนิเวศน์ให้สมบูรณ์
(9) เขาธงชัย กราบพระมหาเจดีย์ภักดีประกาศ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และพระพุทธกิตติสิริชัย ศิลปะอินเดียอันงดงาม จากนั้นชมวิวหาดบ้านกรูดจากมุมสูงได้แบบกว้างไกลสุดสายตา
(10) ศูนย์สตรีทอผ้าหมู่บ้านเขาเต่า อำเภอหัวหิน พระราชทานไว้โดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เพื่อจัดเป็นอาชีพทางเลือกให้กับชาวบ้าน และชาวประมงในพื้นที่
เที่ยวชิลสุขใจไป สุราษฎร์ธานี
(1) อุทยานแห่งชาติเขาสก และล่องทะเลสาบเขื่อนเชี่ยวหลาน (เขื่อนรัชชประภา) มหัศจรรย์แห่งสุดยอดเทือกเขาหินปูนแดนใต้ ฉายา ‘กุ้ยหลินเมืองไทย’
(2) อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ล่องเรือเที่ยวหมู่เกาะสวรรค์แห่งอ่าวไทย ชื่นชมทะเลใน ลากูนสีมรกตอันซ่อนเร้นกลางเกาะหินปูน
(3) สินมานะ ฟาร์มสเตย์ โฮมสเตย์กลางทะเลอ่าวบ้านดอน ล่องเรือไปนอนกลางฟาร์มหอยนางรมกลางทะเล ชิมหอยนางรมใหญ่เท่าฝ่ามือ สด รสอร่อยสุดยอด
(4) ล่องเรือยามค่ำแม่น้ำตาปี ตื่นตาอาณาจักรหิ่งห้อยแสนตัว เหมือนแสงดาวพร่างพราวกะพริบตลอดสองฝั่งน้ำ
(5) วิทยาลัยฝึกลิงสุราษฎร์ธานี ชมความน่ารักของลิงเก็บมะพร้าว ภูมิปัญญาและความผูกพันของคนกับสัตว์แสนรู้
(6) วัดพระบรมธาตุไชยา ศูนย์รวมศรัทธาชาวสุาราษฎร์ธานี กราบขอพรพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ ในอดีตดินแดนศูนย์กลางอาณาจักรศรีวิชัย
(7) วัดสวนโมกขพลาราม ของท่านพุทธทาส หาเวลาไปเจริญสมาธิภาวนา ปฏิบัติธรรมให้จิตใจผ่องใส ภายในวัดป่าร่มรื่น เพื่อนำแก่นหลักธรรมมานำชีวิต
ล่องเรือดูนก เกาะ Langkawi Malaysia
อัญมณีแห่งรัฐเคดาห์ (The Jewel of Kedah) คือฉายาที่ใครๆ ยกย่องให้ เกาะลังกาวี (Langkawi) ในมาเลเซีย เกาะเพื่อนบ้านไม่ใกล้ไม่ไกลจากน่านน้ำอันดามันของไทยในจังหวัดสตูล ลังกาวีนี้เป็นหมู่เกาะใหญ่ รวมแล้วกว่า 99 เกาะ รวมเนื้อที่ถึง 477 ตารางกิโลเมตร ปกคลุมด้วยป่าดิบชื้นและป่าชายเลนอุดมสมบูรณ์มาก
ที่นี่คือแหล่งอาศัยของปักษากว่า 220 ชนิด โดยจะมีนกอพยพฤดูหนาวบินมาสมทบอีก 50 ชนิดทุกปี ช่วยเพิ่มมีชีวิตชีวา และกิจกรรมดูนกบนเกาะลังกาวีให้คึกคักตลอด ความง่ายของการสัมผัสธรรมชาติที่นี่คือ เราสามารถลงเรือยนต์ขนาดเล็กล่องไปตามป่าชายเลนร่มครึ้มเขียวขจี ค่อยๆ ซุ่มไปอย่างเงียบเชียบช้าๆ ใช้กล้องส่องทางไกลสังเกตการณ์ เฝ้าดูพฤติกรรมความน่ารักของนกป่าและนกชายเลนนานาชนิด เพื่อช่วยให้เราเกิดความรัก ความเข้าใจ และความหวงแหนในนิเวศน์ธรรมชาติอันแสนเปราะบางของโลกใบนี้
ระหว่างล่องเรือดูนกในป่าชายเลน เมื่อน้ำลด จะเห็นเหล่าปลาตีนโผล่จากรูออกมาคืบคลานหากิน
ในป่าชายเลนเต็มไปด้วยความดิบเถื่อนของธรรมชาติ อย่างปูกับงูคู่นี้
เทือกเขาหินปูนรูปทรงแปลกตา ที่เกาะลังกาวี
พายเรือคายัคล่องสัมผัสธรรมชาติป่าชายเลน เกาะลังกาวี
นกกระเต็นน้อยธรรมดา
นกกระเต็นใหญ่ธรรมดา
นอกจากเหยี่ยวแดง (Brahminy Kite) ที่ถือเป็นนกรับแขก และสัญลักษณ์ของเกาะลังกาวีแล้ว นกหายากสุด และในมาเลเซียพบได้เฉพาะที่เกาะลังกาวีเท่านั้น คือ นกกระเต็นใหญ่ปีกสีน้ำตาล (Brown-winged Kingfisher) ซึ่งอาศัยอยู่ตามริมน้ำในป่าชายเลน คอยดักจับปลาเล็กกินเป็นอาหาร
นกแก็ก หรือ Oriental Pied Hornbill (ชนิดย่อย นกแก็กใต้)นกจาบคาหางสีฟ้า
นกยางโทนใหญ่
นกหัวขวานสี่นิ้วหลังทอง
เหยี่ยวแดง นกรับแขกของเกาะลังกาวี
Getting There
– เครื่องบิน โดยสายการบิน Malaysia Airlines (www.malaysiaairlines.com) เส้นทางกรุงเทพฯ-กัวลาลัมเปอร์-ลังกาวี มีออกจากกรุงเทพฯ วันละ 3 เที่ยว เวลา 06.00, 11.05, 14.15 น.
– เรือ ลงเรือเฟร์รี่ได้ที่ท่าเรือตำมะลัง จังหวัดสตูล วิ่งตรงสู่เกาะลังกาวี ใช้เวลา 45 นาที ติดต่อ บริษัท Satun Inter Ferry โทร. 0-7421-0662, 08-6284-5552 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Tourism Malaysia สำนักงานกรุงเทพฯ โทร. 0-2636-3380 www.tourism.gov.my/th-th/th/
– ล่องเรือหรือเดินป่าดูนกที่ลังกาวี ติดต่อผู้เชี่ยวชาญ http://junglewalla.com
ตามล่าหา Big 5 ในป่าซาฟารี Africa
ที่นี่คือแอฟริกา กาฬทวีปซึ่งธรรมชาติและชีวิตหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นสวรรค์ของคนรักการผจญภัยใช้ชีวิตกลางแจ้ง รวมถึงคนที่ต้องการหาโอกาสสักครั้งในชีวิต ไปใกล้ชิดสัตว์ยิ่งใหญ่ที่สุด 5 ชนิดของแอฟริกาในฉายา “ผู้ยิ่งใหญ่ทั้ง 5” หรือ Big 5 คือ ช้าง, ควายป่า, แรด, เสือดาว และสิงโต แต่การจะเห็น Big 5 ให้ครบทั้งหมดในทริปเดียวนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะนอกจากจะต้องอาศัยโชคช่วยแล้ว ยังต้องอาศัยความชำนาญของไกด์ที่เรียกว่า เรนเจอร์ (Ranger) หรือผู้พิทักษ์ป่า ที่ทำหน้าที่เป็นนักแกะรอยสัตว์ (Tracker) ค่อยๆ ใช้ความชำนาญส่วนตัว ขับรถจี๊ปออกไปในทุ่งซาฟารี พาเราตระเวนค้นหากันตลอดวัน
มีคนบอกว่าในบรรดา Big 5 ทั้งหมด เสือดาวหาตัวได้ยากสุด! เพราะมันชอบนอนอยู่บนต้นไม้ และมีลายพรางกลืนไปกับสภาพแวดล้อม ทริปนี้ขอแนะนำว่าต้องปฏิบัติตามคำสั่งไกด์อย่างเคร่งครัด ไม่งั้นเราอาจกลายเป็นอาหารของ Big 5 ไปแทน!
กิจกรรมการตามล่าหา Big 5 สามารถทำได้ทุกฤดูในผืนป่าอันกว้างใหญ่ของแอฟริกา โดยหากต้องการใกล้ชิดกับธรรมชาติแนะนำให้เลือกพักในเขตป่าสงวน และแม้จะมีมาตรการรักษาความปลอดภัยเป็นอย่างดีแล้ว แต่ควรปฏิบัติตามกฎและคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญอย่างเข้มงวด เช่น ห้ามลงจากรถจี๊ปเด็ดขาด เป็นต้น
Getting There
South African Airways ให้บริการเที่ยวบินจากกรุงเทพฯ ตรงสู่กรุงโจฮันเนสเบิร์ก หรือโจเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ รายละเอียดเกี่ยวกับเที่ยวบินค้นหาได้ที่ www.sa-airlines.co.za โดยเราสามารถซื้อแพ็กเก็จทัวร์สำหรับท่องป่าซาฟารีได้ที่สนามบิน ตัวแทนจำหน่ายทัวร์ท้องถิ่น หรือเลือกซื้อแพ็กเก็จทัวร์จากบริษัทนำเที่ยวในเมืองไทยไปก่อนล่วงหน้าก็สะดวกดี มีให้เลือกหลายบริษัท โดยทริปนี้ถ้าจะให้เต็มอิ่มเต็มตา ควรใช้เวลาอย่างน้อย 7-10 วัน พร้อมด้วยอุปกรณ์กล้องใช้ถ่ายภาพสัตว์โดยเฉพาะนำไปให้ครบถ้วน
เกาะ Redang โอเอซิสแห่งท้องทะเลมาเลย์
เมื่อกล่าวถึงแหล่งท่องเที่ยวในมาเลเซีย เชื่อเหลือเกินว่าคนส่วนใหญ่จะนึกถึงแต่ธรรมชาติ ป่าเขา น้ำตก ถ้ำ อะไรทำนองนี้ ทว่าเมื่อพูดถึงท้องทะเลอันสวยงามของดินแดนเสือเหลืองล่ะก็ บอกได้เลยว่า ยังมีหมู่เกาะและท้องทะเลสีครามน้ำใสแจ๋ว ให้ไปสัมผัสอีกมากมาย ไปง่ายๆ แต่สวยจับใจคงต้องยกให้ “เกาะเรดัง” (Redang Island) เกาะใหญ่ 1 ใน 9 ของเขตอนุรักษ์ทางทะเลรัฐตรังกานู ความงามเด่นของเรดังเริ่มขึ้นตั้งแต่แวบแรกที่เห็น เพราะหาดทรายหน้าเกาะขาวจั๊วะ สะท้อนแดดเจิดจ้า เวลาถอดรองเท้าลงไปเดินย่ำรู้สึกนุ่มนวลราวปุยแป้งละเอียด! น้ำทะเลก็ใสแจ๋วราวแก้วเจียระไน! เลยออกไปนิดนึงเป็นแนวโขดปะการังใต้น้ำ ที่มีฝูงปลา ปะการังหลากสี และซากเรือจม ให้ดำน้ำตื้นน้ำลึก ผจญภัยชื่นชมกันอย่างสนุกสนาน และยังมีรีสอร์ทเรียบหรูกลืนไปกับธรรมชาติบนเกาะให้พักค้างแรมกันด้วย
อากาศดีที่สุด ท้องฟ้าปลอดโปร่ง คลื่นลมสงบ เหมาะแก่การออกเรือเที่ยวทะเลหรือดำน้ำ ที่หมู่เกาะเรดัง คือ เดือนมีนาคม-เมษายน อุณหภูมิประมาณ 30 องศาเซลเซียส ส่วนเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ เป็นฤดูมรสุม คลื่นลมแรง ฝนตกชุก รีสอร์ทบนเกาะเรดังจะปิดบริการ เพราะเรือหยุดวิ่งด้วย
หน้าเกาะเรดัง มีซากเรือจมให้ดำน้ำผจญภัยสำรวจโลกใต้ทะเลกันด้วย
น้ำใสแจ๋ว แทบไม่มีตะกอนในน้ำ ทำให้แสงส่องลงไปสร้างความกระจ่างตาแก่แนวปะการังหน้าเกาะเรดัง
ดำน้ำสำรวจซากเรือจม หน้าเกาะเรดัง
Getting There
– ไทย-กัวลาลัมเปอร์ ใช้เวลาประมาณ 1.58 ชั่วโมง แล้วเปลี่ยนเครื่องบินไปรัฐตรังกานู อีก 51 นาที แนะนำ Malaysian Airlines (www.malaysiaairlines.com) เพราะปัจจุบันยังไม่มีบินตรงไทย-รัฐตรังกานู
– จากท่าเรือเมรัง (Merang) เมือง Kuala Terengganu ลงเรือเฟอร์รี่ต่อไปเกาะเรดัง ระยะทาง 45 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ค่าตั๋วเรือไปเที่ยวเดียว 40 ริงกิต / ไปกลับ 80 ริงกิต