เป็นที่ทราบกันดีว่า หลังจากแคมเปญ 12 เมืองต้องห้ามพลาด ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในปี 2558 ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวของคนไทยภายในประเทศได้เป็นอย่างมาก มาวันนี้ ททท. เขามีแคมเปญใหม่เอี่ยมสำหรับปี 2559 ที่กำลังจะมาถึง 12 เมืองต้องห้ามพลาด PLUS ขยายขอบเขตการท่องเที่ยว ขอบเขตแห่งความสุขเพิ่มออกไปเป็น 24 เมืองต้องห้ามพลาดแล้ว!
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานแพร่ ได้จัดงานแถลงข่าว “น่านเมืองต้องห้าม…พลาด PLUS แพร่” ณ คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ อำเภอเมืองฯ จังหวัดแพร่ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2558 โดยมีการจัด Mini Caravan ร่วมกับบริษัท Win Win Smile เยือนดินแดนล้านนาตะวันออก น่าน-แพร่-อุตรดิตถ์ ขับรถแอ๋วเหนือม่วนใจ๋ พร้อมด้วยสื่อมวลชนจากหลายสำนัก ร่วมเดินทางสัมผัสเสน่ห์เมืองเหนือในครั้งนี้
Mini Caravan ของเราเร่ิมปล่อยตัวกันที่หน้าสถานที่สำคัญของน่าน คือ วัดภูมินทร์ สุดยอดวิหารศิลปะไทลื้อ ซึ่งมีภาพจิตรกรรมฝาผนังสุดคลาสสิก ปู่ม่าน ย่าม่าน อยู่ภายในด้วย โดย Mini Caravan ครั้งนี้จะเที่ยวในเส้นทาง น่าน-แพร่-อุตรดิตถ์ ท่ามกลางฟ้าใส และอากาศที่แสนเย็นสบายในต้นฤดูหนาว
จุดแรกที่เราได้ไปเยือน คือ ดอยเสมอดาว ในเขตอุทยานแห่งชาติศรีน่าน จุดชมทะเลหมอกยามเช้าสุดเจ๋ง ซึ่งสามารถมองลงไปเห็นลำน้ำน่านไหลลดคดโค้งอยู่เบื้องล่าง ท่ามกลางป่าเขียวสด
ตอนนี้ที่ดอยเสมอดาว มีเต็นท์ของอุทยานแห่งชาติศรีน่านมากางไว้รอรับนักท่องเที่ยวสำหรับฤดูหนาวนี้ อย่างเป็นระเบียบ แต่ด้วยเนื้อที่บนเขาอันจำกัด ใครไปช้าอาจจะอดนะจ๊ะ
จากตรงจุดชมวิวดอยเสมอดาว มองไปทางซ้ายจะเห็น “ผาหัวสิงห์” เป็นผาหินขนาดมหึมา รูปร่างเหมือนหัวสิงโตเลยล่ะ
แม้เราจะไปถึงดอยเสมอดาวกันสายโด่ง ไม่ได้ยลทะเลหมอก แต่ทุกคนใน Mini Caravan ก็มีความสุขสนุกสนาน
ลงจากดอยเสมอดาว จังหวัดน่าน เรานั่งรถยาวไปจนเข้าเขตจังหวัดแพร่ เมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการทำไม้สัก เคียงคู่กับจังหวัดลำปางมาแต่อดีต เมืองแพร่อาบอิ่มด้วยธรรมชาติ ขุนเขาลำเนาไพร และมีแหล่งธรรมชาติชวนพิศวงอยู่แห่งหนึ่ง คือ “แพะเมืองผี” ธรณีวิทยาอันเกิดจากการกัดเซาะของลมและน้ำเป็นเวลาหลายล้านปี! จนเราแอบตั้งฉายาให้เล่นๆ ว่าเป็น “สโตนเฮนจ์เมืองไทย” ฮาฮาฮา
ทุกวันนี้แพะเมืองผีได้รับการอนุรักษ์สภาพไว้ในรูปแบบของ วนอุทยานแพะเมืองผี มีเนื้อที่กว่า 500 ไร่ โดยมีการจัดทำเส้นทางเดินเข้าไปชมความมหัศจรรย์ได้อย่างใกล้ชิด
หลังจากเดินวนเวียนชมแพะเมืองผีจากด้านล่างกันจนหนำใจแล้ว เขายังมีจุดชมวิวจากมุมสูงด้วยนะ
วันแรกของการเดินทาง ยังไม่สิ้นสุดลง เพราะในตอนเย็นย่ำ ขบวนคาราวานของเราก็เข้าสู่ใจกลางเมืองแพร่ ณ คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ ซึ่งเป็นคุ้มหรือที่ประทับของเจ้าเมืององค์สุดท้ายแห่งเมืองแพร่ คือ เจ้าหลวงพิริยชัยเทพวงศ์ (พระยาพิริยวิไชย) ซึ่งประทับอยู่ที่นี่พร้อมกับพระอัครชายา คือ แม่เจ้าบัวไหล ผู้มีความสามารถในงานเย็บปักถักร้อยขั้นสูง โดยแม่เจ้าบัวไหลได้ปักผ้าทองคำแท้สำหรับคลุมรถเบนซ์ ถวายรัชกาลที่ 5 ถือเป็นผ้าคลุมรถทองคำผืนแรกของสยาม!
ปัจจุบันคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่เปลี่ยนโฉมเป็นพิพิธภัณฑ์ ตัวบ้านงามด้วยสถาปัตยกรรมขนมปังขิงแบบยุโรป
คุณธนภร พูลเพิ่ม (เสื้อขาว คนที่ 3 จากซ้ายในภาพ) ผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานแพร่ พร้อมด้วยแขกผู้มีเกียรติในเมืองแพร่ เดินทางมาร่วมงานแถลงข่าว “น่านเมืองต้องห้าม…พลาด PLUS แพร่” ณ คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่อย่างอบอุ่น
ขวนแห่ตุงอันยิ่งใหญ่อลังการ ณ คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ ต้อนรับโครงการ น่านเมืองต้องห้าม…พลาด PLUS แพร่
การฟ้อนตัวอ่อน เป็นนาฎศิลป์พื้นถิ่นแพร่ และน่าน บ้านพี่เมืองน้องอันใกล้ชิดมาแต่โบราณ
ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ พร้อมด้วยท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน และแขกผู้มีเกียรติจาก ททท. ร่วมกันแถลงข่าว “น่านเมืองต้องห้าม…พลาด PLUS แพร่” เพื่อช่วยกันส่งเสริมการท่องเที่ยวจากเมืองหลัก ที่อาจมีความคับคั่ง เมืองรองจึงมีบทบาทเพิ่มขึ้น โดยจังหวัดแพร่และน่าน ต่างก็มีแหล่งท่องเที่ยว วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี คล้ายคลึงเชื่อมโยงกันได้อย่างผสมกลมกลืน
ททท. สำนักงานแพร่ ได้จัดแคมเปญ “เส้นทางรักแท้” ภายใต้ธีม “รักแท้ รักนาน เที่ยวน่าน แพร่” เพื่อเชิญชวนให้ครอบครัว เพื่อนรัก และคู่รัก เดินทางมาสัมผัสเสน่ห์ของทั้งสองเมืองคู่แฝดนี้ “รักแท้ เที่ยว แพร่” เชิญเรามาสัมผัสรักนิรันดร์ของตำนานรักพระลอ อนุสรณ์สถานแห่งความเสียสละเพื่อรัก พร้อมมาถวายเทียนคู่ที่วัดพระธาตุช่อแฮ และกราบพระธาตุพันปีเพื่อเสริมสร้างบุญบารมี
เช่นเดียวกับ “รักนาน เที่ยว น่าน” เชิญมาถวายเทียนคู่ที่วัดพระธาตุแช่แห้ง แล้วมาสัญญากระซิบรักต่อหน้าภาพเขียนสีปู่ม่าน ย่าม่าน ที่วัดภูมินทร์ ให้รักกันยืนยาวจนแก่เฒ่า จากนั้นก็ไปบอกรักกันต่อในอุทยานแห่งรักแสนโรแมนติก ณ ดอยเสมอดาว อุทยานแห่งชาติศรีน่าน ทั้งหมดนี้คือเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงที่เต็มไปด้วยมนต์ขลังของแดนดินถิ่นล้านนาตะวันออก อย่างแท้จริง
การฟ้อนเทียนอันสวยสดงดงาม อ่อนช้อย ของสาวเมืองแพร่ ณ คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่
เสน่ห์สาวงามเมืองแพร่ งามไม่เป็นสองรองใครจริงๆ เลย
หลังจากงานแถลงข่าว “น่านเมืองต้องห้าม…พลาด PLUS แพร่” แล้ว แขกผู้มีเกียรติพร้อมด้วยคณะ Mini Caravan ม๋วนใจล้านนาตะวันออก ก็ร่วมกันรับประทานขันโตก อาหารแบบชาวเหนือ ที่ทั้งอร่อย และประทับใจไปกับบรรยากาศย้อนยุค ของเสียงสะล้อ ซอ ซึง และการฟ้อนงามๆ ของสาวแพร่
เช้าวันถัดมาของการเดินทาง ยามเช้าในเมืองแพร่อากาศเย็นสบาย ท้องฟ้าปลอดโปร่งแจ่มใส คงไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการเร่ิมต้นวันนี้ด้วยการไปเยือนกำแพงเมืองแพร่ และตักบาตรทำบุญให้สุขใจ
ชาวแพร่เขามีการตักบาตรทำบุญยามเช้าเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร เพราะเขามี “การตักบาตรบนสะพานเมฆ” ซึ่งอันที่จริงแล้ว ไม่ใช่ทะเลเมฆทะเลหมอกอย่างที่ใครหลายคนคิด ทว่าเป็นการตักบาตรบนกำแพงเมืองโบราณ อยู่ติดกับตลาดเทศบาลแพร่ เราตื่นมาตอนเช้า ไปซื้ออาหารคาวหวานและดอกไม้จากตลาดมาตักบาตรได้เลย โดยพระท่านจะเดินมารับบาตรประมาณ 7 โมงเช้าทุกวัน
ได้เวลาคณะ Mini Caravan ออกตระเวนซอกแซกเที่ยวต่อ เช้านี้เราจะเดินทางย้อนเวลาหาอดีต กลับไปสัมผัสส่วนเสี้ยวหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ 2 ณ “สถานีรถไฟบ้านปิน” อำเภอลอง เป็นสถานีรถไฟไม้สักที่ถือว่าสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของสยามเลยทีเดียว ว้าว! สถานีรถไฟแห่งนี้สร้างขึ้นด้วยสไตล์บาวาเรียนเยอรมันเป็นแห่งแรกของไทย มี 2 ชั้น งดงามด้วยลวดลายไม้และซุ้มประตูหน้าต่างโค้ง ฉลุฉลายสวยงามมาก อีกทั้งยังสร้างหลังคาแบบปั้นหยา ซึ่งเป็นไสตล์ที่นิยมกันมากในช่วงรัชกาลที่ 5-6 อันเป็นยุคที่สถานีรถไฟบ้านปินถือกำเนิดขึ้น
สถานีรถไฟบ้านปินเข้าไปเกี่ยวข้องกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้อย่างไร? นายสถานีเล่าให้ฟังว่า ทหารอเมริกันได้ขึ้นเครื่องบิน เอาระเบิดมาทิ้งที่สะพานรถไฟที่อยู่ใกล้ๆ เพื่อหยุดยั้งการลำเลียงทัพของทหารญี่ปุ่น ทว่ามีระเบิดจำนวนหนึ่งไม่ระเบิด ชาวบ้านจึงเข้าไปกู้ถอดสลักและดินปืนออก เหลือแต่เปลือกระเบิดขนาดใหญ่ ซึ่งชาวบ้านพบว่าใช้เหล็กอย่างดีมาก เมื่อเคาะดูมีเสียงก้องกังวาลเหมือนระฆัง จึงนำไปถวายวัด จนเกิดคำกล่าวที่ว่า “คนแพร่แห่ระเบิดขึ้น” ว้าว!
เมื่อเที่ยวชมสถานีรถไฟบ้านปินเสร็จแล้ว ก็ต้องไปซด กาแฟแห่ระเบิดเมืองแพร่ ซึ่งสมเด็จพระเทพฯ ท่านเคยเสด็จมาเสวยด้วย ร้านนี้อยู่ไม่ไกลจากสถานีรถไฟบ้านปิน ถามใครๆ ในอำเภอลองรู้จักแน่นอน โดยร้านนี้ตั้งอยู่ริมถนน มี Landmark เด่นเป็นลูกระเบิดสีทองขนาดใหญ่แขวนอยู่ให้สังเกตได้ ภายในร้านที่สร้างด้วยไม้ให้ความรู้สึกอบอุ่น จัดเป็น Art Gallery เล็กๆ น่านั่งชิลนานๆ ลองสั่งกาแฟมาซด เปิดอ่านหนังสือดีๆ สักเล่ม ปล่อยตัวและหัวใจไปพร้อมกับตำนานกาแฟแห่ระเบิดเมืองแพร่
หนึ่งในวัดสำคัญที่สุดของเมืองแพร่ปัจจุบัน คือ “วัดพระศรีดอนคำ” (หรือวัดห้วยอ้อ) อำเภอลอง ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองแพร่ไป 45 กิโลเมตร ที่ว่าสำคัญเพราะเก่าแก่นับพันปี สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 1078 สมัยพระนางจามเทวีเสด็จจากเมืองละโว้ไปเมืองหริภุญชัย ที่ว่าเป็นวัดสำคัญเพราะมีพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนหน้าอกของพระพุทธองค์แท้ๆ ให้สักการะ พร้อมด้วยระฆังระเบิด 1 ใน 2 ลูกของเมืองแพร่ เป็นระเบิดที่ทิ้งลงมาทำลายสะพานรถไฟข้ามห้วยแม่ต้า ช่ววปี พ.ศ. 2485-2488
วัดพระศรีดอนคำยังเป็นที่ประดิษฐาน พระเจ้าพร้าโต้ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ศิลปะพม่า อยู่ภายในพิพิธภัณฑ์ของวัด อันเป็นที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุแห่งล้านนาตะวันออกไว้อย่างละลานตา
ดูกันชัดๆ เลยจ้า นี่คือระฆังระเบิด 1 ใน 2 ลูกของเมืองแพร่ ที่มาของตำนาน คนแพร่แห่ระเบิด! (ก็คือแห่มาถวายวัด)
อำเภอลอง จังหวัดแพร่ แม้ดูเผินๆ จะเป็นอำเภอเล็กๆ แต่เชื่อไหมว่ามีความเป็นมายาวนานนับพันปี ตั้งแต่ยุคที่พระนางจามเทวีเสด็จโดยทางเรือขึ้นภาคเหนือ เมื่อผ่านบริเวณนี้เห็นว่าชัยภูมิดีเยี่ยม จึงตรัสว่าไหนลองขึ้นไปชมดูหน่อยซิ บริเวณนี้จึงได้ชื่อว่า “อำเภอลอง” มาจนปัจจุบัน
อำเภอลองมีวัดอายุพันปีชื่อ “วัดสะแล่ง” ที่แม้จะเคยถูกทิ้งร้างกว่า 300 ปี แต่ก็ได้รับการบูรณะจนสวยสดงดงาม มีสถาปัตยกรรมแบบล้านนาตะวันออกเด่นสง่า รวมถึงมีพระพุทธรูปไม้จันทน์ของพระเจ้าปดุงกษัตริย์พม่าในอดีต ประดิษฐานอยู่ด้วย วัดนี้มีพิพิธภัณฑ์รวมของเก่าแก่โบราณล้ำค่านับหมื่นชิ้นให้ชม นับเป็นอารามที่คนในท้องถิ่นเคารพบูชาอย่างยิ่ง
พิพิธภัณฑ์วัดสะแล่ง อำเภอลอง จังหวัดแพร่
อำเภอลองช่างมีเรื่องราวน่าสนใจให้ค้นหาไม่สิ้นสุดจริงๆ จากวัดวาอาราม เราเปลี่ยนบรรยากาศมาชื่นชมศิลปวัฒนธรรมและหัตถกรรมล้ำค่าของคนแพร่กันบ้าง ณ โกมลผ้าทอโบราณ เป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ของท้องถิ่น ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อกว่า 50 ปีก่อนโดย คุณโกมล พานิชพันธ์ ช่างภาพอำเภอลอง ที่เดินทางเก็บภาพวัดวาอารามและประเพณีต่างๆ ของคนแพร่มาจัดแสดงไว้
ปัจจุบันได้พัฒนาเพิ่มเติม กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ผ้าทอโบราณของคนแพร่ที่ถือว่าสมบูรณ์ที่สุด จุดเด่นอยู่ที่ห้องจัดแสดงผ้าล้ำค่านานาชนิด อาทิ พญาผ้า ซึ่งเป็นผ้าทอโบราณที่ใช้เทคนิคการทอทุกรูปแบบมารวมไว้ในผืนเดียวกันได้อย่างวิเศษ! รวมถึงผ้าทอทองคำอันประเมินค่ามิได้ ณ ที่นี้เราจะได้ยลผ้าซิ่นตีนจกลับแลอันลือชื่อไปทั่วผืนดินสยาม
ดาบเหล็กอำเภอลองอันโด่งดังในอดีต เป็นเหล็กกล้าไร้สนิม คมกริบ และสามารถม้วนพันไว้รอบเอวได้!
ซิ่นทองคำอายุหลายร้อยปี อันประเมินค่ามิได้
ซิ่นของคนแพร่มีเอกลักษณ์ด้วยการใช้สีแดง เหลือง ขาว เป็นหลัก โดยส่วนหัว (เอว) จะเป็นสีขาว ส่วนตัวซิ่นเป็นลายขวางสีเหลือง แดง เขียว ดำ สลับกัน และส่วนตีนซิ่นมีลวดลายวิจิตพิสดาร พร้อมด้วยปลายตีนสีแดงสด การใช้ลายขวางบนตัวซิ่นมิได้ทำให้ผู้สวมใส่ดูตัวเตี้ยลงแต่อย่างใด เพราะช่างทอโบราณมีการใช้ทฤษฎีสีต่างๆ เข้ามาแซมสลับ ทำให้เกิดความสวยงาม มีทัศนมิติที่ช่วยเสริมบุคลิกของผู้ใส่ได้อย่างวิเศษ นอกจากนี้ซิ่นโบราณอำเภอลองทุกผืน ยังมีการทอลายจำเพาะกำหนดไว้ที่ตีนซิ่น เปรียบเสมือลายเซ็นต์ หรือ Bar Code โบราณ ไม่มีผิดเลย
ก่อนโบกมืออำลาแพร่ เราแวะไปกราบพระกันที่ “วัดพระธาตุสุโทนมงคลคีรี” ที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2520 บนถนนสายแพร่-ลำปาง ช่วงอำเภอเด่นชัย เป็นวัดใหญ่ที่งดงามด้วยสถาปัตยกรรมอันน่าตื่นตา เพราะมีการนำสถาปัตยกรรมหลายสไตล์มาผสมผสานกัน ทั้งล้านนา ไทยใหญ่ ลาว พม่า และจีน โดยเฉพาะเจดีย์ใหญ่ 30 องค์ ผู้ที่ควบคุมการก่อสร้างคือ ครูบาน้อย (หรือหลวงพ่อมนตรี) ซึ่งท่านได้รวบรวมสุดยอดช่างฝีมือล้านนา ที่เรียกว่า “สล่า” มาก่อสร้างวัดนี้
สุดยอดของศิลปะล้านนา 11 แห่ง ที่นำมาประยุกต์สร้างโบสถ์วิหารภายในวัดพระธาตุสุโทน ได้แก่
• ซุ้มประตูด้านหน้าโบสถ์ จากวัดพระธาตุลำปางหลวง ลำปาง
• ซุ้มประตูด้านตะวันออก จากวัดพระธาตุดอยสุเทพ เชียงใหม่
• ซุ้มประตูด้านตะวันตก จากวัดพระธาตุหลวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว
• ฐานพระอุโบสถรูปซิกแซก จากวังประทับพระยามังราย เชียงราย
• ประตูและหน้าต่างลวดลายแกะสลัก จากวิหารลายคำวัดพระสิงห์ เชียงใหม่
• ปั้นลมลวดลายเก่าศิลปะทางเหนือ จากวัดต้นเกวน อำเภอสเมิง เชียงใหม่
• นาค 7 เศียร แบบขอมและนางอัปสรปูนปั้น จากวัดเจ็ดยอด เชียงใหม่
• หอไตร จากวัดพระสิงห์ เชียงใหม่
• หอระฆัง จากวัดพระธาตุหริภูญชัย ลำพูน
• กุฏิหลังใหญ่สร้างด้วยไม้สักทองจากบ้านไทยสิบสองปันนา ประเทศจีน
• พระบรมธาตุ 30 ทัส ศิลปะเชียงแสน จากวัดพระธาตุนอ (หน่อ) ของพระชนกพระเจ้าเม็งรายมหาราช จากแคว้นสิบสองปันนา ประเทศจีน
จากจังหวัดแพร่ ได้เวลาเดินทางมากล่าวทักทาย เมืองอุตรดิตถ์ เมืองเหล็กน้ำพี้ลือเลื่อง เมืองลางสาดหวาน บ้านพระยาพิชัยดาบหัก และถิ่นสักใหญ่ที่สุดของโลก
พิพิธภัณฑ์เมืองลับแล อุตรดิตถ์
ภายในพิพิธภัณฑ์เมืองลับแล ถือเป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ความเชื่อ ภาษา อาหาร และประเพณีวัฒนธรรมของชาวลับแลอุตรดิตถ์ไว้อย่างสมบูรณ์แบบ
นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ร่วมกับ คุณธนภร พูลเพิ่ม ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานแพร่ กล่าวต้อนรับ Mini Caravan 12 เมืองต้องห้าม…พลาด PLUS แพร่ อย่างอบอุ่น
สาวงามเมืองลับแลฟ้อนขันดอกให้เราชมอย่างน่าประทับใจใกล้ๆ กับพิพิธภัณฑ์เมืองลับแล มี ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ที่พร้อมให้ทั้งข้อมูล มีจักรยานให้เช่าขี่เล่น และเป็นจุดขึ้นลงรถพ่วงชมรอบเมือง วนเวียนไปตามสถานที่สำคัญต่างๆ อย่างเรือนไม้เก่าร้อยปี, พิพิธภัณฑ์ผ้าคุณโจ รวมถึงร้านของกินอร่อยนานาชนิด เช่น ขนมจีนทอด และของทอดร้านป้าณี ลับแล ฯลฯ
รถพ่วงชมเมืองลับแล
เรือนไม้เก่าร้อยปี ทั้งสวยงาม คลาสสิก เต็มไปด้วยมนต์ขลัง และเรื่องราวเก่าๆ ในทุกย่างก้าว ที่นี่เปิดเป็น Homestay ด้วย แค่คืนละ 300 บาทต่อคนเท่านั้น
พิพิธภัณฑ์ผ้าคุณโจ นอกจากจะเป็นแหล่งรวบรวมซิ่นตีนจกลับแล ทั้งโบราณและสมัยใหม่แล้ว ยังสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้ชาวบ้านโดยรอบเป็นกอบเป็นกำ เพราะผ้าเหล่านี้ถือเป็นงานประณีตศิลป์ล้ำค่าราคาสูง ผืนหนึ่งสนนราคาตั้งแต่หลักหมื่นถึงแสนบาท ปัจจุบันมียอดสั่งจองยาวเหยียด และจำหน่ายหมดอย่างรวดเร็ว!
การทอซิ่นตีนจกลับแล จะใช้เทคนิคคล้ายคลึงกับการจกผ้าที่หาดเสี้ยว สุโขทัย ทว่าลายสองด้านของลับแลจะละเอียดเรียบร้อยงามตากว่า งานแขนงนี้จึงเป็นการสืบสานภูมิปัญญาของท้องถิ่น ของชาติ ให้คงอยู่สืบไป
ของทอดร้านป้าณี ลับแล ใครมาก็ต้องแวะชิม โดยเฉพาะ “กระบองทอด” ทำจากหน่อไม้ใส่หมูชุบแป้งทอด อร่อยมากๆ
วันสุดท้ายของการเดินทางที่ทั้งยาวไกลและสนุกสนาน Mini Caravan ของเราไปแวะหม่ำอาหารเที่ยงแสนอร่อยสไตล์ Western Fusion กันที่ “ไร่องุ่น คานาอัน” อำเภอทองแสนขัน อุตรดิตถ์ บรรยากาศของไร่นี้ทำให้รู้สึกเหมือนกำลังนั่งอยู่ในอิตาลี หรือในฝรั่งเศสตอนใต้ ไม่มีผิดเลย ฮาฮาฮา
เดินชมไร่องุ่นแดงที่กำลังผลิผลสะพรั่ง มีทั้งองุ่นกินผลสด และองุ่นทำไวน์แดง
อากาศยามบ่ายอาจจะร้อนอบอ้าวนิดนึง แต่เมื่อได้ดื่มน้ำองุ่นสดเย็นชื่นใจ ก็ทำให้โลกสดชื่นขึ้นอีกครั้งเนอะ
ไม่มีงานเลี้ยงใดไม่เลิกรา ในที่สุดเราก็มาถึงแหล่งท่องเที่ยวสุดท้ายของทริปนี้กันแล้ว กับ “บ่อเหล็กน้ำพี้” อำเภอทองแสนขัน อุตรดิตถ์ ดินแดนแห่งตำนานดาบเหล็กน้ำพี้อันลือลั่น
เหล็กน้ำพี้ แท้จริงแล้วคือแร่เหล็กชนิดหนึ่งที่มีคุณภาพดีเยี่ยม สามารถนำมาถลุงตีเป็นอาวุธนานาชนิด มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แสดงให้เห็นว่าบรรพบุรุษไทยท่านได้นำเหล็กน้ำพี้มาใช้เป็นอาวุธ ต่อสู้รักษาผืนดินไทยไว้ให้ลูกหลานมาจนปัจจุบัน กล่าวกันว่าเหล็กน้ำพี้เป็นโลหะมหัศจรรย์และมีพลังเร้นลับ ผู้ที่ครอบครองสามารถป้องกันภูตผีปีศาจ มนต์ดำ เกิดเมตตามหานิยม และคงกระพันชาตรี สุดยอดจริงๆ!
หลังจากชมพิพิธภัณฑ์เหล็กน้ำพี้ และกราบสักการะเจ้าพ่อเหล็กน้ำพี้แล้ว ก็ได้เวลาสนุก ตกเหล็กน้ำพี้ ใครโชคดีอาจจะได้ก้อนใหญ่กลับบ้านไปบูชาด้วย
เหล็กน้ำพี้หน้าตาเป็นอย่างนี้เองนะ
การเดินทางอันยาวไกล บนเส้นทาง “น่าน เมืองต้องห้าม…พลาด PLUS แพร่” ของเราสิ้นสุดลงแล้ว แต่ภาพประทับใจและประสบการณ์ดีๆ ครั้งนี้ จะได้รับการบอกต่อไปไม่สิ้นสุด หน้าหนาวนี้ถ้าคุณยังไม่รู้จะไปเที่ยวไหนดี ขอบอกเลยว่า เส้นทางจาก น่าน-แพร่-อุตรดิตถ์ นั้น สวยงาม หลากหลาย เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ล้านนาตะวันออกจริงๆ จ้า
Special Thanks : ททท. สำนักงานแพร่ เลขที่ 2 ถนนบ้านใหม่ ตำบลในเวียง อำเภอเมืองฯ จังหวัดแพร่ 54000 โทร. 0-5452-1127 โทรสาร 0-5452-1110 www.tourismthailand.org/phrae , www.easternlanna.org , tatphrae@tat.or.th