นางลอยข้ามสมุทร ที่สุดแห่ง Thai-Fusion!

นานๆ ทีจะได้มีโอกาสออกมาสังสรรค์กับเพื่อนสนิท และได้ชิมอาหารสไตล์ Private Chef Table ที่มีเชฟมืออาชีพชื่อดัง มาปรุงให้ทานในห้องส่วนตัว เพราะตอนนี้เป็นยุคโควิด เราเลยไม่ต้องการไปนั่งกินอาหารกับคนเยอะๆ ในที่แออัด พอได้ข่าวว่าเว็บไซต์ Potioneer เขาเปิดตัว เป็นสื่อกลาง platform ในการจอง Private Dining ที่ซอยสุขุมวิท 24 เราเลยไม่รอช้า ลองกดจองเข้าไปชิมอาหารไทยที่ชอบ โดยเลือกเป็นมื้อเย็นกินกับเพื่อนๆ รวม 12 คน สถานที่คือชั้นสองของอาคาร Curator ที่มีบรรยากาศอบอุ่นเหมือนอยู่บ้าน
จริงๆ แล้ว Potioneer ก็เป็นเหมือน Hub หรือสื่อกลางที่นำเชฟชื่อดังตามโรงแรมต่างๆ รวมถึงเชฟหน้าใหม่ที่มีความสามารถ มาพบกับลูกค้า โดยเลือกเชฟที่ชอบ อาหารที่ชอบ เวลาที่ใช่ ในราคาจับต้องได้ และที่สำคัญคือสามารถกดจองทุกอย่างผ่าน online ได้อย่างสะดวกง่ายดาย ไม่ว่าจะเป็นทาง App บนมือถือ หรือจะเข้าเว็บไซต์ Potioneer ก็ได้ นี่คือประสบการณ์พิเศษที่เหมาะสำหรับคนรุ่นใหม่ ที่อยากมี Once in a life time กับ Chef Table Dining อันน่าจดจำวันนี้ เราเลือกชิมอาหารไทยฟิวชั่นที่แปลกใหม่ไม่เหมือนใคร และอัดแน่นด้วยความคิดสร้างสรรค์ ของ เชฟฮูโต๋ (Chef Huto) หรือคุณเชฏฐ์ภูชิชย์ เถกิงศักดิ์ เชฟรุ่นใหม่ผู้โด่งดังจากรายการ Top Chef Thailand มีความสามารถพิเศษในการนำวัตถุดิบของอาหารไทยหลากหลายท้องถิ่น มารังสรรค์เป็นเมนูแปลกใหม่ได้อย่างลงตัวสุดๆ เชฟ Huto เป็นคนเกาะเกร็ด จ.นนทบุรี โดยกำเนิด จึงคุ้นเคยกับอาหารไทยมาตั้งแต่เล็ก และความภาคภูมิใจมากๆ อย่างหนึ่งของเขาก็คือ ได้เคยดูแลพระกระยาหารของราชวงศ์จิ๊กมี่ แห่ง Bhutan คราวเสด็จเยือนประเทศไทยมาแล้ว
หลายๆ คนคงจะเข้าใจว่าการรับประทานอาหารแบบ Chef  Table เป็นอะไรที่ต้องจ่ายเงินแพงหูฉี่ แต่วันนี้ Potioneer ได้ทำให้ความฝันของใครหลายคนเป็นจริง ในงบประมาณที่เอื้อมถึง แต่ยังคงกลิ่นอายของ ความเป็นส่วนตัว (Private) และความ Luxury เล็กๆ จนทำให้เรายิ้มได้ ในแว่บแรกที่เห็นห้องจัดเลี้ยง การจัดโต๊ะอาหาร และความตั้งใจของทีมงานเชฟ Huto ที่ขมักเขม้นจัดเตรียมอาหารอร่อยๆ รอเราอยู่ ถือว่าบรรยากาศแบบนี้เหมาะทั้งการนั่งสังสรรค์กับเพื่อนๆ เลี้ยงวันเกิด มานั่งทำซึ้งกับคนรัก หรือพาลูกค้ามาเลี้ยงก็ได้ เพราะไม่ว่าจะมากันแค่ 1-2 คนเขาก็พร้อมต้อนรับ โดยรับสูงสุดครั้งละไม่เกิน 20 คน เพื่อคงคอนเซปต์ Private เอาไว้ ก่อนเร่ิมรับประทานอาหารค่ำกัน ทางทีมงานก็มีกิมมิคเก๋ๆ ให้เล่นสนุกก่อน โดยให้เรา load App บนมือถือ แล้ว scan ส่วนต่างๆ ของ Menu Card, ที่รองจาน, ที่รองแก้ว ก็จะเกิดภาพ AR สามมิติเคลื่อนไหวได้ ลอยขึ้นมาบนหน้าจอมือถือ WOW Amazing! คอนเซปต์ของภาพ 3D ที่ว่าก็เกี่ยวข้องกับชื่อเมนูสำรับอาหารไทยในวันนี้ด้วยคือ “นางลอยข้ามสมุทร” โดยภาพ 3D จะขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวไปบนภาพคลื่นน้ำในมหาสมุทร ที่มีลายเส้นแบบไทยผสมผสานตะวันตก น่ารักเก๋ไก๋สไลเดอร์สุดติ่งไปเลยฮะ 555555 พระเอกของวันนี้ที่เราจะมาชิมกัน คือสำรับอาหารไทยชื่อเก๋ไก๋ “นางลอยข้ามสมุทร” ที่เชฟ Huto บรรจงรังสรรค์ขึ้นด้วยความตั้งใจ โดยคอนเซปต์คือเป็นอาหาร Thai Fusion ที่มีความ Sexy เพราะเป็นการนำวัตถุดิบจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และสมุทรสงคราม มาผสานผสมให้กลมกลืนลงตัว ทั้งรสชาติ เครื่องปรุง และหน้าตา โดยรสชาติของนางลอยข้ามสมุทร จะมีความเป็นไทยสูง เผ็ดลึกและหวานซ่อนเปรี้ยวในทุกเมนู และต้องบอกเลยว่าวัตถุดิบจากทั้ง 2 จังหวัดดังกล่าว ถือว่ามีความรักจืด รักเค็ม เพราะเป็นพื้นที่ 3 น้ำ (น้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม) ที่บ่มเพาะให้วัตถุดิบต่างๆ มีรสเลิศเกินจะห้ามใจ

แรงบันดาลใจในการรังสรรค์สำรับ “นางลอยข้ามสมุทร” ของเชฟ Huto มาจากหนึ่งในวรรณกรรมของรามเกียรติ์ชื่อ “นางลอย” โดยมีเรื่องราวที่น่าสนใจจากการที่ นางลอยใช้อิทธิฤทธิ์จำแลงตัวเป็นศพนางสีดา ลอยข้ามสมุทรผ่านแม่น้ำ  เพื่อให้พระรามเข้าใจผิดคิดว่านางสีดาตายแล้ว แต่พระรามเกิดจับได้ จากร่างที่ยังคงกลิ่นหอม ยังสวยอยู่ แตกต่างจากร่างของมนุษย์ทั่วไป แถมนางลอยก็ยังลอยทวนน้ำด้วย อีกความหมายของ “นางลอย” ในพุทธชาดก คือนางเมขลาลอยมาจากฟ้า ช่วยให้พระมหาชนกข้ามมหาสมุทรได้ ที่มาของ “นางลอย” ทั้ง 2 ไอดอล จากภาคพื้นทะเลและแผ่นดิน จึงนำมาสู่ไอเดียการคัดเลือกวัตถุดิบในคอร์สอย่าง ปู ปลา กุ้ง ปลาวง ปลาหวาน เครื่องปรุงรส และผลไม้ประจำฤดูกาล ทีนี้ก็ได้เวลาชิมกันแล้วล่ะ

เมนูแรก “จับไม้ปู” ซึ่งมีความต่างจากจับไม้ (ทอดมันเสียบไม้ย่าง) ทั่วไปโดยสิ้นเชิง เพราะเชฟ Huto ใช้เนื้อปูนิ่ม คลุกเคล้าเครื่องแกงเผ็ดร้อนกำลังดี หอมเตะจมูก และกรอบนอกนุ่มใน ทานกับซอสกระเทียมใช้แทนน้ำอาจาดสไตล์ครีมมี่ ชูกลิ่นกระเทียมได้ดีมาก ส่วนตัวจับไม้แทนที่จะใช้ไม้ไผ่ธรรมดา เชฟใช้หน่อกะลาเกาะเกร็ดกินแกล้มกันได้ ร่วมกับใบติ้วผักอีสาน ถือว่าเป็นการ Mix and Match ที่ดีงามซะจริงๆ

 เมนูที่สอง “แกงคั่วลิ้นจี่เนื้อย่าง กับปลาหวาน” เป็นจานที่เต็มไปด้วยความ Creative เพราะเชฟ Huto ใช้น่องลายตุ๋น กินแกล้มกับลิ้นจี่สมุทรสาครซึ่งออกมากในช่วงเดือนพฤษภาคม เมื่อใช้มีดตัดลงไปตรงกลางจะเป็นเนื้อตุ๋นเย็นๆ โดยใช้เอ็นตุ๋นของน่องลายล้วนๆ เลย เจลาตินที่เกิดขึ้นมาจากน่องลายของเนื้อวัวเอง และเนื้อวัวเป็นของวิทยาลัยเกษตรกำแพงแสน จ.นครปฐม หลังจากชิมเลเยอร์แรกของน่องลายไปแล้ว เชฟจะเอาซอสแกงคั่วสีเหลืองหอมกรุ่นมาราดเพิ่มให้ จนเกิดเป็น texture การกินที่แตกต่าง และวิเศษอย่างยิ่ง บอกเลยว่าเนื้อวัวนุ่มสุดๆ แทบไม่ต้องออกแรงเคี้ยว กินคู่กับไวน์แดงดีๆ สักแก้ว ก็ถือว่าเข้าคู่ Pairing กันได้อย่างแนบเนียน แต่สำหรับคนที่กินเผ็ดไม่ค่อยได้ ก็ต้องราดซอสแกงคั่วน้อยๆ เพราะกินไปสักพักจะรู้สึกเผ็ดร้อนลิ้นอยู่พอสมควร (คนที่ไม่กินเนื้อวัว แจ้งเชฟล่วงหน้าทาง App Potioneer ตอนทำ Booking เขาจะเปลี่ยนเป็นเนื้อหมูให้ ไม่มีปัญหา)

เมนูที่ 3 “ต้มสับปะรดหมึกแห้งมะพร้าวอ่อน” เป็นเมนูซดคล่องคอที่เกินความคาดหมาย ทีแรกเห็นหน้าตาธรรมดาๆ แต่รสชาติทำให้ทุกคนเอ่ยปากชมกันไม่หยุด เมนูนี้เชฟ Huto ใช้หัวและก้นสับปะรด มาต้มเคี่ยวกับหมึกจนนุ่ม เชฟเลือกใช้หมึกแดดเดียวที่มีไข่ เราว่าความโดดเด่นจริงๆ ของเมนูนี้คือการได้ลิ้มลองสัมผัสความจัดจ้านของน้ำซุป ที่มาจากการเคี่ยว สับปะรดพันธุ์ Siam Gold (หรือ พันธุ์หอมสุวรรณ) ถือเป็นสับปะรดที่ปลูกมากในอำเภอหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และได้รับความนิยม จึงได้น้ำซุปหวานอมเปรี้ยวลงตัว ซดร้อนๆ ชื่นใจมาก

เมนูที่ 4 “ยำไตกุ้ง กับปลาวง” ชื่อแปลกๆ จนเชฟ Huto ต้องอธิบายให้ฟังว่า “ไตกุ้ง” จริงๆ แล้วก็คือน้ำเคย โดยชาวบ้านจะเอากุ้งมาตากแดด จนกว่าจะแห้งกลายเป็นกะปิอย่างที่เราคุ้นกัน น้ำที่ออกมาระหว่างขั้นตอนดังกล่าวนี้เอง ชาวบ้านจะเก็บไว้ใช้ในครัวเรือนแทนน้ำปลา รสชาติจะหวานและเค็มอ่อนๆ กำลังดี เชฟเอามาเคี่ยว แล้วหมักกับส่า คือเนื้อข้าวหมาก ซึ่งใช้ในการทำกุ้งสะดุ้งของภาคกลาง กิบแกล้มกับผักเคียงของอีสาน อย่างยอดกระโดน และตาลปัตรฤาษี ที่เข้ากันได้อย่างวิเศษ ตักกินไปเป็นชั้นๆ มีรสหวานซ่อนเปรี้ยว ตบท้ายด้วยเค็มนิดๆ ไม่เคยชิมที่ไหนมาก่อน ส่วนเนื้อกุ้งก็สดสู้ปากดีแท้

เมนูที่ 5 “ข้าวมันกะทิ กับน้ำดอกดาหลา” เป็นเมนูข้าวจานน้ำ ภูมิปัญญาของคนไทยนิยมกินกันมาตั้งแต่โบราณ ในช่วงรอยต่อฤดูร้อน-ฝน ซึ่งคนมักจะปรับตัวกับสภาพอากาศไม่ทันจนป่วยบ่อย เพราะเกิดอาการ Heat Stroke เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาว เมนูข้าวจานน้ำจริงๆ คล้ายข้าวแช่ชาววัง โดยกินกับปลาสลิด ปลาแห้ง น้ำพริก หรือเครื่องยำที่เหลือในสำรับ ใส่น้ำเย็นลงไป กินแล้วย่อยง่าย มีฤทธิ์ทำให้ร่างกายเย็นลง ข้าวสวยใช้หางกะทิในการหุง จึงมีความหอม หวาน มัน กินคู่กับปลาวง ปลาหวาน กระเทียมโทนดอง ใช้ตัดแกล้มตัดเลี่ยนได้เหมาะเจาะลงตัว ส่วนน้ำที่ใช้เทลงไปในข้าวจานน้ำ เชฟ Huto ใช้ “น้ำดอกดาหลา” ที่สกัดเอง กลิ่นรสเป็นน้ำดอกไม้หอมชื่นใจ อ่อนโยน บางเบา ไม่ต่างจากการกินข้าวแช่ชาววังเลย

น้ำดอกดาหลา สไตล์เชฟ Huto

กินคาวกันไป 5 เมนูแล้ว ก็ได้เวลาล้างปากกับของหวานที่ไม่ธรรมดา “ส้มฉุนน้ำข้าวหมาก” ซึ่งต้องบอกเลยว่าจัดจานมาดู Inter สีสันเย้ายวนชวนให้ตักเข้าปากซะจริงๆ

            ต้องอธิบายก่อนว่า จริงๆ แล้ว “ส้มฉุน” เป็นเมนูของเปรี้ยวที่คนไทยสมัยก่อนนิยมนำมาแช่อิ่มเก็บไว้ ช่วงเวลาที่ร้อนๆ กระหายน้ำ หรือเหงาปาก ก็มักจะเอามากินแทนเมี่ยง โดยเอาการบูรโรยกินกับขนมแช่อิ่ม ให้ความสดชื่นในฤดูร้อน หรือวันที่อบอ้าว ทว่าปัจจุบันการบูรไม่สามารถกินได้แล้ว เพราะเป็นการบูรสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ เชฟ Huto จึงใช้ความสดชื่นจากการแช่เย็นก่อนเสิร์ฟแทนการบูร และใช้ผลไม้แช่อิ่มตามฤดูกาล ทั้งมะม่วงสุก มะยงชิด และลูกพีช (ของภาคเหนือที่กำลังล้นตลาด) เมนูนี้พอดีเป็นช่วงที่มะยงชิดวายไปแล้ว เชฟ Huto จึงใช้ลูกพีช กินคู่กับเจลลี่ข้าวหมาก แกล้มกับเม็ดทับทิม ขิงอ่อนซอย และผิวส้มฉุนฝาน Topping มาอย่างจุ๋มจิ๋มน่ารัก

ส้มฉุน (Bitter Orange) พืชวงศ์ส้มที่หายากราคาสูงในปัจจุบัน แต่ครัวไทยนิยมนำผิวมาแต่งกลิ่นอาหาร ส้มฉุนมีกลิ่นเฉพาะตัว อยู่กึ่งกลางระหว่างมะกรูดกับมะนาว ทางจังหวัดเพชรบุรีนิยมใช้ใบอ่อนส้มฉุนใส่แกงคั่วหัวตาล ปัจจุบันถือว่าส้มฉุนเป็นพืชหายาก เพราะปลูกค่อนข้างยาก ชอบขึ้นอยู่ในบริเวณน้ำกึ่งแห้งกึ่งแฉะPrivate Dining ของเราในวันนั้น เต็มไปด้วยความสนุกสนานและอิ่มอร่อย เป็นประสบการณ์ดีๆ ครั้งหนึ่งที่ยากจะลืม โดยเฉพาะรอยยิ้มและมิตรไมตรีจากเพื่อนสนิท เคล้าเคียงกับรสชาติอาหารได้อย่างวิเศษ จนเวลาล่วงเลยไปดึกดื่นก็ต้องร่ำลา แต่สัญญากันไว้ว่าจะกลับมาพบกันอีกแน่นอน

สนใจจองรับประทานอาหาร และสอบถามข้อมลูเพิ่มเติมได้ที่
บริษัท โพชั่นเนียร์ (ประเทศไทย) จํากัด

Paparitk@potioneer.com  Instagram.com/potioneerth. Facebook.com/potioneer

คุณพาพฤทธิ์ กาญจน์เกียรติกุล (แน็ก) โทร. 081-424-7887  Yanisat@potioneer.com
คุณญาณิศา ธรี กีรติกุล (เจ) โทร. 062-447-4249

“Potioneer” Private Dining New Experience!

เมื่อวันเสาร์ที่ 28 พฤษภาคม 2565 บริษัท โพชั่นเนียร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้จัดงาน Soft Opening platform ใหม่ “Potioneer” ที่ Potioneer House Curator ซอยสุขุมวิท 24

บริษัท โพชั่นเนียร์ (ประเทศไทย) จํากัด ก่อตั้งโดย คุณพิตนิตสันติ์ สันติวราคม (พล) คุณถาวร กมลสิทธุ์ (อาร์ม)

คุณพาพฤทธิ์ กาญจน์เกียรติกุล (แน็ก) และ คุณปีติภัทร คูตระกูล (แบม) ร่วมสร้างนวัตกรรมเพื่อพลิกโฉมวงการอาหาร Gastronomy ในประเทศไทยให้ก้าวสู่ระดับสากล

Potioneer มีวิสัยทัศน์ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนวงการอาหารไทย สู่ความเป็นผู้นําระดับภูมิภาค และระดับสากล โดยเป็นศูนย์กลางการเสริมสร้างและต่อยอดวิชาชีพให้เชฟทุกระดับ

Potioneer เป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยอํานวยความสะดวกให้กับคนรักอาหาร ทั้งฝ่ายเชฟและผู้รับประทาน

ด้วยระบบการจองมื้ออาหารส่วนตัว (Private Dining) ที่ง่ายและสะดวกรวดเร็ว

นอกจากนั้นยัง เป็นแพลตฟอร์มที่ส่งเสริมวงการอาหารผ่านพื้นที่ที่เปิดกว้างให้เชฟได้แสดงความสามารถ และความคิด สร้างสรรค์ของตน เสมือนศูนย์กลางที่เชฟสามารถใช้สร้างอาชีพ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เพื่อการพัฒนาศักยภาพสู่ ระดับสากล

Potioneer เป็นระบบการจองมื้ออาหารส่วนตัว (Private Dining Booking Platform)

ที่เปิดโอกาสให้เชฟเข้ามารังสรรค์คอร์สเมนู เพื่อนําเสนอเอกลักษณ์ของเชฟแต่ละท่าน การจองลักษณะนี้เหมาะสําหรับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการความเป็นส่วนตัว ต้องการเฉลิมฉลองโอกาสพิเศษ

หรือต้องการสัมผัสประสบการณ์การรับประทานอาหารที่แปลกใหม่จากเดิม โดยลูกค้าสามารถเลือกสถานที่รับประทานอาหารได้ทั้งที่ Potioneer House Curator สุขุมวิท 24 ร้านอาหารของเชฟ บ้านของลูกค้า หรือพื้นที่อื่นๆ ตามที่ลูกค้าต้องการ

นอกจากนี้ทาง Potioneer ยังได้ร่วมมือกับ พระราชวังพญาไท เพื่อมอบประสบการณ์สุดพิเศษให้ผู้รับประทานอาหาร

Potioneer ไม่ได้เป็นเพียงแค่ระบบการจองมื้ออาหารเท่านั้น แต่เรายังมีความตั้งใจสร้างสังคม ของเชฟ หรือ Chef Community ให้เป็นเวทีสําหรับเชฟทุกรูปแบบ ทั้งเชฟที่มีร้านอาหารเป็นของตนเองและเชฟอิสระ โดยเชฟทุกท่านจะได้มีโอกาสแสดงศิลปะการทําอาหาร ความเชี่ยวชาญ และความเป็น เอกลักษณ์ของแต่ละท่าน พร้อมทั้งสร้างพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ถ่ายทอดองค์ความรู้ระหว่างเชฟมืออาชีพและเชฟหน้าใหม่ เปิดโอกาสในการสร้างความร่วมมือใหม่ๆ เช่น Chef Collaboration ที่เหล่าเชฟ สามารถผสมผสานความคิดสร้างสรรค์ ฝีมือ และเอกลักษณ์ของตนเอง เพื่อบุกเบิกศิลปะการทําอาหารรูปแบบ ใหม่ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย

นอกจากนี้ Potioneer ยังมีการจัดสัมมนา Masterclass โดยเชิญชวนวิทยากร ที่มีความเชี่ยวชาญ เฉพาะทาง

และมีประสบการณ์มาถ่ายทอดความรู้ให้กับเชฟ ไม่ว่าจะเป็น วิธีการจัดอาหารให้สวยงาม การสร้างคอนเซ็ปต์และความเป็นเอกลักษณ์ของเชฟแต่ละท่าน การตลาด รวมถึง แนะแนวทางการสร้างอาชีพ ฯลฯ

สอบถามข้อมลูเพิ่มเติมได้ที่
บริษัท โพชั่นเนียร์ (ประเทศไทย) จํากัด

Paparitk@potioneer.com

Instagram.com/potioneerth

Facebook.com/potioneer

คุณพาพฤทธิ์ กาญจน์เกียรติกุล (แน็ก) โทร. 081-424-7887  Yanisat@potioneer.com
คุณญาณิศา ธรี กีรติกุล (เจ) โทร. 062-447-4249

เสน่ห์อีสานใต้ สุขใจเมื่อไป สุรินทร์

“อีสาน” ดินแดนแห่งความงดงามในวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และธรรมชาติอันสวยสดงดงาม ทริปนี้เราจะไปเที่ยว “จังหวัดสุรินทร์” ถิ่นอีสานใต้ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นถึงแง่มุมใหม่ๆในสไตล์เที่ยวตัวปลิวชิลอีสานแสนสุขใจ เมื่อพูดถึงสุรินทร์ คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงภาพหมู่บ้านช้างเลี้ยงที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ บ้านตากลาง นึกถึงข้าวหอมมะลิพันธุ์ดี และแน่นอนว่าต้องนึกถึงภาพวิถีชีวิตการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เพื่อนำมาทอผ้าไหมชั้นเลิศ ที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ เนื้อบางเบาเงางาม สวมใส่แล้วสบายระบายความร้อนได้ดี ผ้าไหมสุรินทร์จึงเป็นหนึ่งในหัตถกรรมเลื่องชื่อมาช้านาน ณ หมู่ 3 ตำบลเขวาสินรินทร์ อำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ เราได้พบกับกลุ่ม “สิบธันวาทำมือ” (โทร. 09-8119-2389) แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่นำเอาเสน่ห์ของผ้าไหมออกมาให้เราสัมผัสอย่างใกล้ชิด ก่อกำเนิดขึ้นจาก คุณคณิศร ชาวนา ผู้นำกลุ่มสิบธันวาทำมือ โดยตั้งชื่อตามวันเกิดของตัวเอง คือ 10 ธันวาคม เริ่มต้นจากการรวมกลุ่มเล็กๆ พอมีรายได้ในชุมชน ต่อมาจึงขยายเป็นแหล่งสาธิตให้คนทั่วไปได้เรียนรู้เรื่องผ้าไหมอย่างครบวงจร พร้อมกิจกรรม DIY ให้ลองทำกันด้วยภายในศูนย์เรียนรู้มีชาวบ้านที่เชี่ยวชาญช่ำชองในการทอผ้าไหม มานั่งสาธิตขั้นตอนต่างๆ ให้เราชม สร้างความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างเจ้าบ้านกับผู้มาเยือน ตั้งแต่การเลี้ยงไหม สาวไหม ผูกลายก่อนนำไปย้อม ย้อมสีธรรมชาติ กรอเส้นไหมเข้ากระสวย และการทอผ้าไหมมัดหมี่ที่วิจิตรงดงาม การผูกลายก่อนนำไปย้อมและทอ จนเกิดผ้าไหมมัดหมี่ที่สวยงามของเขวาสิรินทร์ รังไหมที่มีตัวดักแด้อยู่ภายใน นำมาต้มเพื่อดึงเส้นไหมบอบบางออกมากรอรวมกันก่อนนำไปย้อมและทอ ขั้นตอนนี้ชาวบ้านจะไม่ทำในวันพระ เพื่อละเว้นชีวิตเจ้าดักแด้น้อยผู้เสียสละให้เกิดผ้าไหมผืนงาม เส้นไหมและฝ้ายของกลุ่มสิบธันวาทำมือ ย้อมด้วยสีธรรมชาติล้วนๆ จึงน่าสวมใส่และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยนำวัสดุธรรมชาติอย่างเปลือกไม้ใบไม้ในท้องถิ่นมาใช้ได้อย่างครบคุณค่า
ชมขั้นตอนการทำผ้าไหมมัดหมี่เสร็จแล้ว ก็ได้เวลาเข้าไปช้อปปิ้งผ้าไหมงามๆ ในร้านเพื่ออุดหนุนกระจายรายได้และเป็นกำลังใจให้ชาวบ้านกันด้วย เหล่านี้คืองานศิลปะบนผืนผ้าแพรพรรณที่ต้องใช้ทักษะเวลาและความอุตสาหะอย่างสูง ดังนั้นเวลาซื้อก็อย่าไปต่อราคาชาวบ้านเลยนะจ๊ะ สุขใจทุกครั้งเมื่อได้มาเยือนสุรินทร์ ถิ่นผ้าไหมงาม ที่น้ำใจไมตรีของผู้คนก็งดงามไม่แพ้กัน สุรินทร์ไม่ได้มีดีแค่ช้างและผ้าไหมนะจ๊ะ แต่ชาวบ้านเขายังมีทักษะการสานหวายได้อย่างประณีตงดงาม และทนทนานน่าใช้ ลองเดินทางไปที่ “บ้านบุทม” ตำบลเมืองที อำเภอเมืองสุรินทร์ สัมผัสชุมชนน่ารักที่มีสินค้าหัตถกรรมชั้นเลิศ และยังได้เป็นชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีด้วยนะ (ติดต่อหมู่บ้านหัตถกรรมจักสานบุทม โทร. 0-4454-9044, 08-1065-2397, 08-1660-9714)

บ้านบุทม (เบาะทม) เป็นภาษาเขมร เบาะ” แปลว่า ที่ดอนซึ่งเต็มไปด้วยป่า” แต่ถูกถากถางทำไร่ และ ทม” แปลว่า “ใหญ่” รวมความว่า ป่ารกชัฏและมีการถากถางทำไร่ขนาดใหญ่

ชาวบ้านส่วนใหญ่ของบ้านบุทม ทำจักสานหวายเกือบทุกครัวเรือน โดยทำนาเป็นอาชีพหลักและทำจักสานเป็นอาชีพเสริม การจักสานนี้ทำกันมากว่า 60 ปีแล้ว จุดเริ่มต้นคือเมื่อปี พ.ศ. 2473 นายลีง เลิศล้ำ นายเหลี่ยม ภาสวัสดี และนายพัน กล้ายิ่ง ได้เรียนรู้การจักสานหวายมาจากเรือนจำจังหวัดสุรินทร์ หลังจากนั้นก็นำมาทำจักสานตะกร้าหวายเลี้ยงครอบครัว ภายหลังจึงได้ถ่ายทอดความรู้สู่ชาวบ้านจุดเด่นงานจักสานของบ้านบุทม คือใช้ลวดลายดั้งเดิม คือ “ลายลูกกรง” เป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้ผลิตภัณฑ์สวยงาม แข็งแรง เพราะใช้หวายทั้งต้น เหมาะกับการใช้งาน รูปแบบดั้งเดิมได้พัฒนามาสู่ตลาดสากล ใช้หวายเส้นเล็ก (หวายหางหนู) ที่เหนียวและผิวมัน ปัจจุบันหวายบ้านบุทม ได้รับรองมาตรฐานชุมชนจากกระทรวงอุตสาหกรรมเรียบร้อยแล้ว
ชาวบ้านบอกว่า เครื่องหวายเหล่านี้เมื่อใช้ไปนานๆ ถ้ารู้สึกว่ามันเก่า ให้ลองนำไปแช่น้ำมะนาวผสมน้ำทิ้งไว้สักพัก ล้างน้ำเปล่าให้สะอาด ผึ่งแดดให้แห้ง ก็จะกลับมาดูใหม่เหมือนเดิม ใช้ไปได้อีกนานมากๆประณีตศิลป์อีกอย่างหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงมากของสุรินทร์มาช้านาน ก็คือ “การทำเครื่องเงิน” ใช้ใส่เป็นเครื่องประดับชุดผ้าไหมเนื้อเนียนละเอียดได้เข้าคู่เหมาะเจาะสุดๆ โดยเฉพาะที่ บ้านโชค ตำบลเขวาสิรินทร์ อำเภอเขวาสิรินทร์  “ร้านเครื่องเงิน ลุงป่วน เจียวทอง” แหล่งผลิตเครื่องเงินด้วยวิธีดั้งเดิม และยังอนุรักษ์ลายโบราณ 13 ลายไว้เป็นมรดกของแผ่นดิน แหล่งจำหน่ายเครื่องเงินและสินค้า OTOP ของสุรินทร์มีอยู่ทั่วไป ที่ใกล้ๆ หมู่บ้านช้างก็มีหลายแห่ง เราสามารถไปเดินเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากงาช้าง, แหวนจากขนหางช้าง,​ ไม้แกะสลัก, ผ้าทอ ฯลฯ หลังจากช่วงเกี่ยวข้าวแล้ว ใครมาเที่ยวสุรินทร์ในเดือนมกราคม-มีนาคม ก็จะได้ยลภาพงดงามน่าประทับใจของ “ทุ่งดอกปอเทืองสีเหลืองอร่าม” ซึ่งชาวบ้านปลูกสลับกับช่วงเว้นว่างจากนาข้าว เพื่อให้ต้นปอเทืองดึงไนโตรเจนในอากาศลงไปบำรุงดินเพิ่มเติมธาตุอาหาร และได้กลายเป็นจุดถ่ายภาพใหม่ให้นักท่องเที่ยวด้วย ไม่ต้องไปดูทุ่งดอกไม้ไกลถึงต่างประเทศเลยจ้า
สำหรับนักปั่นจักรยาน การเที่ยวชมทุ่งดอกปอเทืองในจังหวัดสุรินทร์ ก็น่าจะเป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ สุรินทร์ยังมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร หรือ Agro-Tourism ด้วย ไม่ไปเห็นกับตาคงไม่รู้ ที่นี่ชื่อ “ตั้งถาวรฟาร์ม” (Tangtaworn Farm) อยู่หมู่ 2 ตำบลยะวึก อำเภอชุมพลบุรี (โทร. 06-1029-6557) หน้าฟาร์มและร้านอาหารของที่นี่เปิดทุกวัน อีกทั้งอยู่ห่างจากสนามบินบุรีรัมย์แค่สิบกว่ากิโลเมตรเท่านั้น เที่ยวง่ายเที่ยวสบาย Happy กันทั้งครอบครัว
ตั้งถาวรฟาร์ม มีชื่อเสียงที่สุดในเรื่องเมล่อนรสเลิศหลากหลายสายพันธุ์ ที่นำมาปลูกได้งอกงามดีในดินทุ่งกุลาร้องไห้ของจังหวัดสุรินทร์ นอกจากนี้ยังมีพืชผักปลอดสารพิษในโรงเรือน นำออกมาจำหน่ายและปรุงเป็นอาหารเมนูต่างๆ เสิร์ฟให้ชิมกันทุกวันในร้านอาหารติดแอร์เย็นฉ่ำ
ตั้งถาวรฟาร์ม คือแหล่งปลูกเมล่อนเมืองช้างกลางทุ่งกุลาร้องไห้ นอกจากนี้ยังมีน้ำเมล่อนปั่น สมูทตี้เมล่อน ไอศครีมเมล่อน กาแฟสด ก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋น ฯลฯ เดินทางกันมาเหนื่อยๆ แวะพักชิมผลไม้และอาหารสดอร่อยที่ดีต่อสุขภาพกันนะ เมล่อนของตั้งถาวรฟาร์มมีทั้งแบบเนื้อกรอบและเนื้อนิ่ม ความหวานก็เป็นธรรมชาติมากๆ ไม่มีการเร่งหรือเพิ่มเติม เหมาะสำหรับคนรักสุขภาพเป็นที่สุด ชิมเมล่อนเสร็จก็ต่อกันด้วยแตงโมไร้เมล็ดที่ชื่นใจ ช่วยคลายร้อนได้เป็นอย่างดี มะเขือเทศ Organic ของตั้งถาวรฟาร์ม หวานกรอบอร่อย ดีต่อสุขภาพสุดๆ
ข้าวโพดหวานแบบกินสด ปอกเปลือกออกกินได้ทันที เนื้อมีความกรอบและหวานน้อยๆ กำลังดีส้มตำเมล่อน ของตั้งถาวรฟาร์ม มาแล้วต้องชิม ไม่ชิมถือว่ามาไม่ถึงเนอะ
ไปกินกันต่อที่ “ฟาร์มเห็ดลุงกะทิ” บ้านบุทม ตำบลเมืองที อำเภอเมืองสุรินทร์ (โทร. 08-9881-5040) ร้านอาหารเล็กๆ แต่คุณภาพคับจานคับแก้ว เพราะเป็นร้านแรกที่เสิร์ฟก๋วยเตี๋ยวที่ทำจากเส้นเห็ดสุขภาพให้เราได้ชิมกัน ร้านนี้เปิดขายทุกวัน ตั้งแต่เวลา 9.00-17.00 น. อยู่ที่ กม.14 ถนนสุรินทร์-ศีขรภูมิ ใกล้โรงเรียนรามวิทยารัชมังคลาภิเษก อยู่ริมถนนมองเห็นได้ชัดเจนเลย ฟาร์มเห็ดแห่งนี้เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของ คุณฉัตรชัย ชัยวงษ์ และคุณสาวสายฝน ดวงคำ สองสามีภรรยาที่พลิกชีวิตจากอาชีพวิศวกรโรงงาน มาทำเกษตรอย่างยั่งยืนโดยเน้นไปที่การเพาะเห็ดสายพันธุ์ต่างๆ ทั้งเห็ดนางฟ้าภูฐาน, เห็ดนางรมฮังการี, เห็ดนางนวล, เห็ดขอนขาว, เห็ดนางรมทอง, เห็ดหลินจือ และเห็ดโคนน้อย เป็นต้นเส้นก๋วยเตี๋ยวทำจากเห็ดสดๆ ซึ่งทำกันแบบชามต่อชาม จึงไว้ใจได้ในเรื่องคุณภาพและความสะอาด นอกจากเห็ดสดและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเห็ดในราคาย่อมเยาว์แล้ว ต้องไม่พลาดสั่ง “ก๋วยเตี๋ยวเส้นเห็ด”  น้ำซุปหอมอร่อย ชามละ 40 บาท ต่อด้วย ส้มตำเห็ด จานละ 60 บาท เห็ดทอดกรอบและเกี๊ยวเห็ดเข็มทอง จานละ 40 บาทเท่านั้น เห็ดทอดฟาร์มลุงกะทิหน้าตาเป็นแบบนี้เองจ้า ชิมกันให้อิ่มแปล้ไปเลย กับเห็ดสุขภาพหลากหลายเมนูที่ฟาร์มลุงกะทิ จ.สุรินทร์
อิ่มแล้ว ก็ได้เวลาเข้าไปชมโรงเรือนเพาะเห็ด เผื่อใครได้แรงบันดาลใจจะกลับไปทำเป็นอาชีพได้นะ

ก่อนโบกมือลาสุรินทร์ เราลองมาสัมผัสร้านกาแฟเก๋ๆ ชิลๆ กันบ้าง รับรองว่าถูกใจวัยโจ๋แน่นอน ร้านแรกชื่อ “Craft Cafe” อยู่เลขที่ 139 ถนนสุรนิทร์ภักดี ในเทศบาลเมืองสุรินทร์ (โทร. 09-5605-4281) นอกจากความน่ารักของการตกแต่งร้านให้ดูเหมือนบ้าน และห้องนั่งเล่นที่เต็มไปด้วยหนังสือน่าอ่านแล้ว เรายังมีความสุขกับรอยยิ้มของเจ้าของร้าน ที่พร้อมเสิร์ฟเครื่องดื่มและเค้กต่างๆ ให้ชิมกันได้ทุกวัน สามารถมานั่ง Hangout พูดคุยสรวนเสเฮฮากับเพื่อนๆ ได้นานๆ อย่างไม่น่าเบื่อเลย ร้านกาแฟสุดฮิปในสไตล์เหมือนอยู่บ้านอีกแห่ง คือ “Life Coffee @Home” เลขที่ 267 ถนนศรีพัฒนา อำเภอเมืองสุรินทร์ (โทร. 08-6866-5503) จุดนัดพบใหม่ของคนรุ่นใหม่ ซึ่งเราไม่ควรพลาด ภายในร้านมีมุมน่ารักๆ ให้นั่งชิลได้นานๆ ตกแต่งด้วยแสงไฟสีอุ่น มองออกไปด้านนอกเห็นสวนสวยสีเขียวเย็นตาอยู่ใกล้แค่เอื้อม แค่มีหนังสือดีๆ สักเล่ม และเครื่องดื่มที่ถูกใจสักแก้ว ก็สุขเกินใครแล้ว สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงาน จ.สุรินทร์ โทร. 0-4451-4447

แต่งงานบนหลังช้าง จ.สุรินทร์ พิธีซัตเต แห่งเดียวในโลก (ตอน 2)

หลังจาก “พิธีฮาวปลึงจองได” หรือ “พิธีบายศรีสู่ขวัญ” เจ้าบ่าวเจ้าสาวทั้ง 60 คู่ เมื่อวันที่ 13 กุมพาพันธ์ 2563 เสร็จเรียบร้อยแล้ว ในวันถัดมาซึ่งเป็นวันแห่งความรัก 14 กุมภาพันธ์ งานใหญ่อีกงาน ณ บ้านตากลาง อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ก็รออยู่ คือ “การแต่งงานและจดทะเบียนสมรสบนหลังช้าง” แห่งเดียวในโลกคุณธมนวรรณ เจริญวงศ์พิสิฐ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสุรินทร์  พร้อมด้วยผู้มีเกียรติหลายท่าน เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในวันแห่งความรักอันยิ่งใหญ่นี้ ยามเช้าอากาศกำลังดี ขบวนแห่เจ้าบ่าวบนหลังช้างทั้ง 60 เชือก อันคึกคักเปี่ยมสีสัน ก็เริ่มเคลื่อนขบวนผ่านศูนย์คชศึกษา ไปสู่ Elephant World เพื่อพบกับเจ้าสาวแสนสวยที่รออยู่
ความงดงามและความยิ่งใหญ่ของขบวนแห่เจ้าบ่าวบนหลังช้างทั้ง 60 เชือก ภาพนี้คือภาพประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง เพราะมีเพียงแห่งเดียวในโลก ที่บ้านตากลาง อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ช้างของเจ้าบ่าวหมายเลข 1 เป็นช้างพลายแก่งายาว ซึ่งหาได้ยากยิ่งแล้วในปัจจุบันช้างของเจ้าบ่าวหมายเลข 12 ก็เป็นช้างพลายที่มีขนาดใหญ่มากเช่นกัน ความสวยงามน่าประทับใจของขบวนช้าง ที่ทยอยนำเจ้าบ่าวเข้าสู่ Elephant World บ้านตากลาง เจ้าสาวทั้ง 60 คน นั่งรอขบวนเจ้าบ่าวด้วยใจระทึกเจ้าสาวในชุดชาวกูยอันวิจิตรงดงาม จุดเด่นอยู่ที่ “จะลอม” หรือมงกุฎใบตาลเอกลักษณ์เฉพาะ เจ้าสาวชาวกัมพูชา ในพิธีซัตเต 2563 สวยงามเปี่ยมด้วยอัตลักษณ์ของชาวกูย โบกมือให้ขบวนเจ้าบ่าวที่เดินเข้าสู่ Elephant World ความรักอบอวลไปทั่วบริเวณงานซัตเต
เจ้าบ่าวในชุดชาวกูย คาดหัวด้วยด้ายสามสี (แดง น้ำเงิน และขาว) ส่วนเจ้าสาวแต่งกายชุดชาวกูย สวมมงกุฎใบตาล ทำให้เรียกกันว่า “เจ้าสาวมงกุฎใบตาล”

เมื่อสวมแหวนหางช้างให้กันแล้ว เจ้าบ่าวก็มอบดอกกุหลาบสีแดงเป็นตัวแทนแห่งความรักให้เจ้าสาว จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายเรียบร้อยแล้ว สำหรับคู่เบอร์ 14 ในวันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ พอดิบพอดีเลยนะจ๊ะ ยินดีด้วยจริงๆ พ่อหมอช้างชาวกูยรุ่นสุดท้าย ซึ่งครั้งหนึ่งในอดีตเคยเข้าป่าไปคล้องช้างจับช้างป่าจริงๆ บัดนี้เหลือเพียงเรื่องเล่าอันทรงคุณค่า และวันนี้ท่านได้มาเป็นผู้นำประกอบพิธีซัตเต 2563 พ่อหมอช้างชาวกูยแห่งบ้านตากลาง เดินไปรับขบวนบ่าวสาวเข้าสู่ปรัมพิธีซัตเต แม่เฒ่าชาวกูยแห่งบ้านตากลาง ยืนรอรับขบวนบ่าวสาวที่ซุ้มดอกไม้สวยงาม โดยมีการกั้นประตูเงินประตูทองก่อนเข้าสู่ปรัมพิธีซัตเต พ่อหมอช้างนำขบวนผ่านซุ้มดอกไม้ประตูเงินประตูทอง ตามแบบวัฒนธรรมชาวกูย ผู้เฒ่าผู้แก่ เดินนำเจ้าบ่าวเจ้าสาวเข้าสู่ปรัมพิธีซัตเต ใน Elephant World บ้านตากลาง

“ซัตเต” คือการผูกข้อไม้ข้อมือเพื่อบายศรีสู่ขวัญในวันแต่งงานตามวัฒนธรรมชาวกูย การแต่งกายฝ่ายเจ้าสาวนุ่งผ้าซิ่นลายไหมของชาวกูย เสื้อแขนกระบอกสีอ่อน ผ้าสไบสีแดง สวมศีรษะด้วย “จะลอม” ซึ่งเป็นมงกุฎทำจากใบตาล ส่วนเจ้าบ่าวนุ่งโสร่งไหมผ้ากระเนียว เสื้อแขนยาว ผ้าไหมพาดบ่า มีด้ายมงคล 3 สี สวมศีรษะ

เมื่อประกอบพิธีซัดเตเสร็จแล้ว ก็จะมีการเลี้ยงอาหารช้างด้วย

พิธีซัตเต มีด้วยกัน 4 ขั้นตอน

ขั้นที่ 1 “จีเจาะกะมอล”  การไปทาบทาม บอกเล่าว่าลูกชายมารักชอบลูกสาว

ขั้นที่ 2 “จีเมาะกะมอล”  การที่ฝ่ายเจ้าบ่าวไปตกลงค่าสินสอดทองหมั้นกับฝ่ายเจ้าสาว

ขั้นที่ 3 “จีโต๊ะ”  การไปหมั้นหมาย มีอุปกรณ์ คือ หมาก พลู เหล้า บุหรี่ ทองหมั้น หรือเงิน ถ้าตกลงค่าสินสอดทองหมั้นเท่าไหร่ ให้นำมาวางในวันหมั้น ส่วนที่ขาดให้นำมาในวันซัตเต หรือวันแต่งงาน

ขั้นที่ 4 “ซัตเต”  คือพิธีแต่งงาน

อุปกรณ์ประกอบ “พิธีซัตเต” มีดังนี้

– อะลิเครื่องมาด  คือหมูที่ฆ่าแล้วแต่ยังไม่ชำแหละ เมื่อเจ้าบ่าวนำมาส่งจะต้องแบ่งปันกัน
– อะลิกะมูย  คือ หมูเครื่องเซ่น ทางฝ่ายเจ้าบ่าวนำมาเซ่นผีบรรพบุรุษ โดยไม่ต้องแบ่งฝ่ายเจ้าสาว
– น้ำตาลอ้อย  ทำจากน้ำอ้อยบรรจุในใบตาล ใช้ไหว้ญาติผู้ใหญ่
– กระบุง 1 คู่  ในกระบุงบรรจุข้าวเปลือก มีหินลับมีดวางอยู่ข้างข้าวเปลือก
– เต่าน้ำจืด 1 ตัว 
– ปลาแห้ง  (พอสมควร)
– พานบายศรี  (มีด้ายมงคลไว้ผูกข้อมือ)
– ไก่ต้มทั้งตัว  (ใช้เซ่นผีบรรพบุรุษ)
– ผ้าไหมใหม่  (สำหรับไหว้พ่อแม่เจ้าบ่าว คนละชุด และผลัดเปลี่ยนในพิธีอาบน้ำ 1 ชุด

ความสุขและความชื่นมื่นในพิธีซัตเต 2563 พิธีฮาวปลึงจองได และพิธีซัตเต ตามวิถีวัฒนธรรมชาวกูยบ้านตากลาง จังหวัดสุรินทร์  คือการสืบสานวัฒนธรรมอันดีของชาติไทยไว้มิให้สูญหาย และช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวในเขตอีสานใต้แห่งนี้ ให้คึกคัก มั่งคั่ง ยืนยืน ตลอดไป
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงาน จ.สุรินทร์ โทร. 0-4451-4447

แต่งงานบนหลังช้าง จ.สุรินทร์ พิธีฮาวปลึงจองได แห่งเดียวในโลก (ตอน 1)

“ช้าง” คือสัตว์ประจำชาติไทย ที่เราทุกคนภาคภูมิใจ และ “จังหวัดสุรินทร์” ก็คือดินแดนของช้างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดบนผืนดินสยามในปัจจุบัน “บ้านตากลาง” ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ถือเป็นชุมชนเก่าแก่หลายร้อยปีที่มีชาวกูย (หรือชาวกวย) อาศัยอยู่ อีกทั้งยังลือชื่อในฐานะ “หมู่บ้านช้างเลี้ยงที่ใหญ่ที่สุดในโลก” โดยมีช้างอยู่กว่า 300 เชือก

ทุกปีในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ วันแห่งความรัก จังหวัดสุรินทร์ร่วมกับพันธมิตรหลายหน่วยงาน ได้จัด “งานแต่งงานและจดทะเบียนสมรสบนหลังช้าง” ขึ้นอย่างตื่นตาตื่นใจ โดยปีนี้ถือเป็นการครบรอบ 60 ปี งานช้างสุรินทร์ จึงมีเจ้าบ่าวเจ้าสาวเข้าร่วมแต่งงานมากถึง 60 คู่ เป็นประวัติศาสตร์
งานปี 2563 นี้ แบ่งออกเป็น 2 วัน โดยวันแรกในช่วงเย็นของ 13 กุมภาพันธ์ ณ ลานกิจกรรมสวนเฉลิมพระเกียรติ อำเภอเมืองสุรินทร์ ได้จัดให้มี “พิธีฮาวปลึงจองได” หรือ “การบายศรีสู่ขวัญ” เจ้าบ่าวเจ้าสาวทั้ง 60 คู่ ซึ่งถือเป็นพิธีเก่าแก่ของชาวของกูยเขมร ที่จะนำพาศิริมงคลชีวิตมาสู่ทุกคนที่เข้าร่วม บรรยากาศในงานเต็มไปด้วยความชื่นมื่นและอบอวลด้วยความรัก บ่าวสาวทั้ง 60 คู่ แต่งกายสวยงามแบบชาวกูยโบราณ พร้อมด้วยเพื่อนฝูงและญาติสนิท ที่มาร่วมกินเลี้ยงกันในค่ำคืนนี้ หลังจากพิธีบายศรีสู่ขวัญผูกข้อไม้ข้อมือแล้ว โดยในปีนี้มีชาวต่างประเทศเข้าร่วมหลายคู่ ทั้งจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และกัมพูชา เป็นต้น บ่งบอกได้เลยว่าความรักนั้นไร้พรมแดนจริงๆ นุ่งผ้าไหมใส่ปะเกือม (เครื่องเงิน) ตามแบบชาวกูยสุรินทร์แท้ๆ คู่นี้น่ารักไม่แพ้ใครเลยจ้า เจ้าบ่าวชาวไทยและเจ้าสาวชาวกัมพูชา ควงคู่เข้าสู่พิธีฮาวปลึงจองได พิธีฮาวปลึงจองไดปีนี้พิเศษกว่าทุกปี เพราะจัดยิ่งใหญ่ฉลองครบรอบ 60 ปี งานช้างสุรินทร์ จึงประดับไฟแสงสีฟรุ้งฟริ้งกันอย่างตื่นตาตื่นใจเลย รักไร้พรมแดน ถ้าหัวใจเราเต้นเป็นจังหวะเดียวกัน ก็ใช้ชีวิตคู่ด้วยกันได้ล่ะก่อนเริ่มพิธีฮาวปลึงจองได บ่าวสาวก็เข้ามาประจำอยู่ที่ภาพถ่ายของตนเอง เพื่อให้เพื่อนฝูง ญาติมิตร และสื่อมวลชน เก็บภาพน่ารักๆ กันอย่างเต็มอิ่ม ได้เวลาฤกษ์งามยามดี ขบวนแห่เจ้าบ่าวทั้ง 60 คน ที่นำโดยพานพุ่มหมากเบงและนางรำ ก็เริ่มเคลื่อนตัว เพื่อให้เจ้าบ่าวไปรับเจ้าสาวของตนเอง แล้วเดินเคียงคู่กันเข้าสู่ปรัมพิธี ฮาวปลึงจองได เจ้าบ่าวเดินเรียงแถวเข้าไปรับเจ้าสาวที่รออยู่ เจ้าบ่าวเจ้าสาวกิตติมศักดิ์ เดินนำขบวนเข้าสู่ปรัมพิธีฮาวปลึงจองไดเป็นคู่แรก ค่ำคืนแห่งความสุข “ฮาวปลึงจองได” เจ้าบ่าวเจ้าสาวทั้ง 60 คู่ ได้รับการผูกข้อไม้ข้อมือเป็นที่เรียบร้อย ต่อด้วยงานกินเลี้ยงกันอย่างอิ่มเอมเปรมปรี รอวันพรุ่งนี้ 14 กุมภาพันธ์ จะได้เดินทางสู่หมู่บ้านช้าง แล้วเข้าร่วม “พิธีซัตเต” และ “พิธีจดทะเบียนสมรสบนหลังช้าง” อย่างยิ่งใหญ่ต่อไปคุณธมนวรรณ เจริญวงศ์พิสิฐ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสุรินทร์  ร่วมเป็นเกียรติ ในพิธีฮาวปลึงจองได 2563สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงาน จ.สุรินทร์ โทร. 0-4451-4447

เที่ยวศรีสะเกษ อาณาเขตแห่งความสุข

“แดนปราสาทขอม หอมกระเทียมดี มีสวนสมเด็จ เขตดงลำดวล หลากล้วนวัฒนธรรม เลิศล้ำสามัคคี” นี่คือคำขวัญประจำจังหวัด “ศรีสะเกษ” หนึ่งในจังหวัดอีสานใต้ ที่สามารถเที่ยวเชื่อมโยงกับจังหวัดสุรินทร์-บุรีรัมย์ ได้อย่างง่ายดาย ที่ผ่านมาศรีสะเกษถูกมองว่าเป็นเมืองรองที่คนผ่านเลย แต่ถ้าใครได้ไปสัมผัสรับรองว่าต้องหลงรักแน่นอน
กลางเมืองศรีสะเกษในวันนี้ มีวงเวียน “อนุสาวรีย์แม่ศรีสระผม” เป็นสัญลักษณ์สื่อถึงที่มาของชื่อจังหวัดได้อย่างดี โดยตำนานหนึ่งเล่าว่า พระยาแกรกเจ้าเมืองเขมรพบเนื้อคู่เป็นธิดาเจ้าเมืองลาว ชื่อพระนางศรี ต่อมาพระยาแกรกเดินทางกลับเขมรทิ้งนางศรีไว้ที่เมืองลาว พระนางศรีจึงออกเสด็จตามพระสวามีไปขณะที่ยังทรงพระครรภ์ ระหว่างเดินทางทรงพบทำเลแห่งหนึ่งเป็นสระน้ำใส พระนางจึงได้ประสูติพระโอรส และทรงชำระล้างพระวรกายที่นี่ สระนั้นจึงได้ชื่อว่า “ศรีสะเกษ” มาจนทุกวันนี้

เดิมศรีษะเกษชื่อ “เมืองขุขันธ์” ได้เจริญสืบเนื่องมาจนกลายเป็นที่อยู่อาศัยของ 4 ชนเผ่า คือ ลาว เขมร กวย และเยอ นับเป็นดินแดนเก่าแก่ที่รุ่มรวยด้วยศิลปะวัฒนธรรม และมีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ให้ชมมากมายศรีสะเกษมีแหล่งท่องเที่ยว Unseen อีสาน อยู่แห่งหนึ่งซึ่งไม่ควรพลาดชมด้วยประการทั้งปวง คือ “วัดป่าศรีมงคลรัตนาราม” อยู่ที่บ้านสิม หมู่ 8  ตำบลโคกจาน อำเภออุทุมพรพิสัย วัดนี้มีความพิเศษสุดๆ เพราะภายในวิหารหลักมีการสร้างเป็นถ้ำวังบาดาลของพญานาค ที่อยู่เคียงคู่คุ้มครองและคอยค้ำจุนพระพุทธศาสนา ด้วยความศรัทธาเลื่อมใสในคำสอนของพระพุทธองค์มาแต่ครั้งพุทธกาล นอกจากองค์พระประธานสีขาวผ่องน่าเลื่อมใสควรค่าแก่การกราบไหว้แล้ว เรายังได้ตื่นตากับความวิจิตรอลังการของสถาปัตยกรรม และความเพียรของช่างที่เนรมิตให้เกิดถ้ำวังบาดาลจำลอง เต็มไปด้วยหินงอกหินย้อยน้อยใหญ่ประดับไฟแสงสีต่างๆ อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ อีกทั้งยังมีรูปปั้นพญานาคราชหลายตนเลื้อยพันอยู่ตามส่วนต่างๆ ของโถงถ้ำด้วยความละเอียดประณีตของรูปปั้นพญานาคาราชในวัดป่าศรีมงคลรัตนาราม ทำให้รูปปั้นเหล่านี้เหมือนมีชีวิตจริงๆ พุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธา หลั่งไหลกันเข้ามาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัดป่าศรีมงคลรัตนาราม นับพันนับหมื่นคนทุกวัน
ภายในวัดป่าศีมงคลรัตนาราม ยังมีองค์พระปางสมาธิขนาดมหึมาประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง ให้เราได้สักการะด้วย เดินทางต่อไปในดินแดนที่อวลด้วนกลิ่นอายพระพุทธศาสนาอันร่มเย็นของศรีสะเกษ ณ “วัดสระกำแพงใหญ่” ตำบลสระกำแพงใหญ่ อำเภออุทุมพรพิสัย ชื่นชมพระอารามโอ่โถงงามตา อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของโบราณสถานสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในเขตอีสานใต้ คือ “ปราสาทสระกำแพงใหญ่” ปราสาทสระกำแพงใหญ่เป็นปราสาทลึกลับ ที่ยังไม่รู้วันเดือนปีที่สร้าง แต่ก็คงความสำคัญในฐานะเทวสถานพราหมณ์ ซึ่งได้กลายเป็นวัดพุทธลัทธิมหายานในกาลต่อมา องค์ประกอบสำคัญของปราสาทมีด้วยกัน 4 ส่วน คือ “บาราย” (สระน้ำ) อยู่ห่างออกไปราว 500 เมตร แต่ปัจจุบันไม่เหลือสภาพแล้ว, ถัดมาคือ “ระเบียงคต” เป็นกำแพงศาสนสถานล้อมรอบสี่ด้าน พร้อมด้วยซุ้มประตูเข้าออก, มี “บรรณาลัย หรือ วิหาร” 2 หลัง ใช้เป็นที่เก็บคัมภีร์ทางศาสนา ซึ่งถือว่าสำคัญไม่น้อยกว่ารูปเคารพ, และส่วนสุดท้าย คือ “ปรางค์” สร้างด้วยหินศิลาแลง 4 หลังเมื่อปี พ.ศ. 2532 มีการค้นพบปฏิมากรรมสำริดกะไหล่ทอง ขนาดใหญ่ สูง 140 เซนติเมตร ซึ่งนักโบราณคดีสันนิษฐานว่าเป็นรูปของ นันทิเกศวร หรือ นันทีศวร  ซึ่งปัจจุบันได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมายแล้วปราสาทสระกำแพงใหญ่ ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2478ภายในวัดสระกำแพงใหญ่ ยังมีวิหารต่างๆ ให้เข้าไปกราบไหว้ และเก็บภาพพุทธศิลป์งามล้ำอีกนับไม่ถ้วน องค์พระประธานสไตล์พม่าในวัดสระกำแพงใหญ่ จำลองแบบมาจากพระมหามัยมุนี หุ้มทองคำน่าเลื่อมในศรัทธา โบราณสถานสำคัญอีกแห่งหนึ่งของศรีสะเกษ คือ “ปราสาทบ้านปราสาท” ตั้งอยู่ที่หมู่ 12 วัดปราสาทพนาราม บ้านปราสาท อำเภอห้วยทับทัน แม้จะมีขนาดไม่ใหญ่โต ทว่าก็เป็นปราสาทขอมที่สวยงามไม่แพ้ที่ใดๆ สร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 16 สมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ตัวปราสาทมีปรางค์อิฐ 3 องค์ ใช้ประดิษฐานเทพตรีมูรติ คือ พระพรหม (ผู้สร้าง) พระวิษณุ (ผู้ปกป้องรักษา) และพระศิวะ (ผู้ทำลายเพื่อการเกิดใหม่) ทุกปีในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 จะมีงานไหว้พระธาตุที่นี่ด้วย
ศรีสะเกษเป็นเมืองเกษตร ซึ่งปลูกพืชผักผลได้หลากหลายไม่แพ้จังหวัดใดๆ ในเมืองไทย พูดแบบนี้ไม่ได้โม้! เพราะเขามีทั้งสุดยอดทุเรียน สุดยอดกระเทียม สุดยอดไม้มะดัน และพืชผักผลไม้อีกนานาชนิด จึงมี “ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ” ของกรมวิชาการเกษตร ตั้งอยู่ นอกจากจะเป็นแหล่งศึกษาวิจัยพืชพรรณใหม่ๆ แล้ว ยังเป็น แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Agro-Tourism) ที่น่าสนใจมาก เพราะมีดอกไม้สวยๆ ผลไม้อร่อยๆ และเส้นทางปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพพร้อมสรรพ สุขใจเมื่อได้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติที่ ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษอาหารในเมืองศรีสะเกษ เป็นเสน่ห์อีกอย่างที่ช่วยเติมเต็มการท่องเที่ยวของเราให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น จากเช้าจรดค่ำจึงมีเมนูอร่อยๆ ให้เลือกชิมกันเพียบ เริ่มตั้งแต่มื้อเช้าที่ “ร้านจรวด” (โทร. 08-4833-9099) ตั้งอยู่ที่วงเวียนแม่ศรี ติดทางเข้าวัดพระโต ในเทศบาลเมืองศรีสะเกษเลยร้านจรวด เปิดตั้งแต่เวลา 6.00-14.00 น.ทุกวัน เน้นขายอาหารเช้าหลากหลายเมนู Signature ของร้าน คือ โจ๊กต่างๆ กินคู่กับชากาแฟ ไข่กระทะ และปาท่องโก๋ ทำให้ร้านนี้มีชื่อเสียงมานาน ได้ชิมทีไรอิ่มทั้งใจอิ่มทั้งท้องเมนูเด็ดอีกอย่างของร้านจรวดที่คนสั่งกันเยอะ คือ เนื้อปลากะพงลวกจิ้ม และข้าวต้มปลากะพง มีน้ำจิ้มเต้าเจี้ยวกินคู่กัน เนื้อปลาจัดว่าสด นุ่มละลายในปาก ถ้าจานเดียวไม่พอ ก็ต่อจานสองได้เลยจ้าร้านอาหารอีกแห่งที่ทำให้ศรีสะเกษวันนี้ดูมีสีสันขึ้นอย่างผิดหูผิดตาก็คือ “Cafe De Tree”  ร้านน่านั่งที่ตกแต่งด้วยสไตล์วินเทจย้อนยุคแบบยุโรป พร้อมด้วยอาหารคาวหวาน เค้กอร่อยๆ และเครื่องดื่มหนักเบาครบครัน อีกทั้งยังเหมาะกับคนชอบถ่ายภาพเป็นที่สุด เพราะมีมุมกิ๊ปเก๋ให้ชักภาพกันได้ไม่หยุด
ร้าน Cafe De Tree เปิดตั้งแต่เวลา 7.00-22.00 น. ติดต่อโทร. 08-1280-8388
ร้านอาหารไทยพื้นบ้าน ที่มีชื่อเสียงน่าไปลิ้มลองแห่งหนึ่งในอำเภอเมืองศรีสะเกษ คือ “ร้านสีเขียว” อยู่เลขที่ 54/831 หมู่ 10 ถนนมหาราช เทศบาลเมืองศรีสะเกษ เปิดเวลา 10.00-22.00 น. ร้านสีเขียวเปิดมากว่า 30 ปีแล้ว เจ้าของ คือ คุณป้าพวงแก้ว อาชวินรุจิรดา (ป้าเขียว) ซึ่งได้แนะนำว่าเมนูที่ใครมาร้านต้องสั่งมาทาน คือเมนูเด็ด 5 จาน ได้แก่ 1. แจ่วฮ้อน 2. อุหน่อไม้สด 3. ป่นปลาทู 4. ปลาเนื้ออ่อนนึ่งแจ่ว และ 5. ออร์เดิร์ฟอีสาน

อย่างเมนู ปลาเนื้ออ่อนนึ่งแจ่ว จะใช้เฉพาะปลาเนื้ออ่อนสดๆ จากแม่น้ำ ทานคู่กับเครื่องเคียง คือ ดอกแค บวบ ฟักทอง และดอกสลิด ในจังหวัดศรีสะเกษมีร้านสีเขียวแห่งเดียวที่ขายเมนูนี้ เพราะเป็นปลาหายากและราคาแพงนั่นเองอุหน่อไม้สด แบบพื้นบ้านแท้ๆเมี่ยงคำในแก้วช๊อตน่ารักๆ กินพอดีคำ เรียกน้ำย่อยได้ดีเยี่ยมป่นปลาทู กินคู่กับผักดองและผักสดต่างๆออร์เดิร์ฟอีสาน เหมาะทานเล่นเรียกน้ำย่อย คู่กับเครื่องดื่มที่เราชอบปิดท้ายทริปศรีสะเกษสุดอิ่มแปล้กันที่ร้านอาหารพื้นบ้านขึ้นชื่อลือชาในอำเภอห้วยทับทัน “กี่ไก่ย่าง” พิเศษที่เป็นไก่ย่างไม้มะดัน ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือนแน่นอน ไก่ย่างไม้มะดันห้วยทับทัน ทำจากไก่พื้นเมืองสามสายเลือด ใช้ไม้มะดันเป็นไม้เสียบไก่ รสชาติจึงออกเปรี้ยวหวานพอเหมาะเข้ากับสูตรเครื่องปรุง เนื่องจากเมื่อปิ้งไฟได้ความร้อนกำลังดี ความเปรี้ยวหวานของไม้มะดันจะซึมซาบเข้าสู่เนื้อไก่ ทำให้ได้รสชาติเป็นเอกลักษณ์มาก จะกินเปล่าๆ หรือกินคู่กับน้ำจิ้มแจ่วรสเด็ด ก็อร่อยเหาะไปเลยจ้าสอบถามเพิ่มเติม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานศรีสะเกษ-สุรินทร์ โทร. 0-4451-4447-8