ตามรอยศาสตร์พระราชา มุ่งหน้าสู่อีสานใต้ จ.บุรีรัมย์
ทิพยประกันภัย ร่วมกับศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และมูลนิธิธรรมดี นำคณะครูจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ เรียนรู้การเกษตรแบบยั่งยืนควบคู่การอนุรักษ์ธรรมชาติ ในกิจกรรม “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ท่องป่าไร่นาสวนผสมมหาชีวาลัยอีสาน สู่อุทยานการเรียนรู้” ณ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 9 เส้นทาง 81 แหล่งเรียนรู้มีชีวิตตามรอยพ่อ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการร่วมกันสานต่อพระราชปณิธาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา “ศาสตร์พระราชา” พร้อมร่วมกันสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้และปลูกฝังคุณธรรม 4 ประการ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา ให้กับเยาวชนต่อไป
กิจกรรมครั้งนี้พาคณะครูเดินทางสู่ “มหาชีวาลัยอีสาน” อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นสถาบันภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน ฟังการบรรยายจากปราชญ์ชาวบ้าน “แม่ฉวี ปรัชญพฤทธิ์” ผู้สานต่ออุดมการณ์ของครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ ปราชญ์ชาวบ้านนักทดลองด้านการเกษตรแห่งอีสานใต้ ผู้นำศาสตร์พระราชามาปรับใช้ในการปลูกป่าแบบไร่นาสวนผสมบนพื้นที่ 400 ไร่ และส่งต่อความรู้สู่ชุมชนด้วยวิถีพอเพียงมายาวนานกว่า 40 ปี มหาชีวาลัยอีสานของครูบาสุทธินันท์นอกจากจะมีแปลงเกษตรประณีตแล้ว ยังมีแปลงสมุนไพร สวนป่ายูคาลิปตัส โรงเผาถ่าน บ่อเลี้ยงปลา โรงเรือนเลี้ยงวัว เลี้ยงนกกระจอกเทศ เลี้ยงไก่ ไปจนถึงเลี้ยงปลวก เพื่อต่อยอดไปสู่การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร
ก่อนออกไปชมพื้นที่จริง ก็ต้องมาฟังบรรยายสรุปประวัติและความเป็นมาของมหาชีวาลัยอีสานกันก่อน คณะครูจากทั่วประเทศที่ได้รับการคัดเลือกมากันอุ่นหนาฝาคั่ง อบอุ่นมากๆ
จากผืนดินที่เคยแห้งแล้งไร้พืชพรรณ ด้วยการสั่งสมภูปัญญาของครูบาสุทธินันท์ ในที่สุดสภาพป่าอันอุดสมบูรณ์ก็บังเกิด
คณะครูยังได้รับประสบการณ์ใหม่จากการร่วมฐานกิจกรรม อย่างการเดินเล่นท่องป่าไร่นาสวนผสม เรียนรู้การแบ่งพื้นที่สำหรับปลูกป่า ปลูกพืชที่หลากหลาย ทั้งไม้ผล ไม้ติดแผ่นดิน ไม้เศรษฐกิจ เลี้ยงสัตว์ ทำนา รวมทั้งพื้นที่สำหรับบ่อปลา แหล่งน้ำ และพื้นที่สำหรับพักอาศัยอย่างเหมาะสม และทำน้ำมะสัง ซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นที่มีสรรพคุณหลายอย่าง เช่น บำรุงร่างกาย แก้ท้องเดิน ท้องอืดท้องเฟ้อ สมานแผล แก้ไข้ อีกทั้งนำมาใช้ได้หลายส่วนทั้งใบ ราก ผลอ่อน แก่น
นายแพทย์จักรธรรม ธรรมศักดิ์ ประธานกรรมการ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “การเดินทางตามรอยพ่อ ศึกษาคุณธรรมศาสตร์พระราชา ณ แห่งเรียนรู้มีชีวิต จังหวัดบุรีรัมย์ ในครั้งนี้ เป็นการตามรอยพระราชา เรียนรู้พิพิธภัณฑ์มีชีวิต ณ มหาชีวาลัยอีสาน ศูนย์การเรียนรู้พ่อคำเดื่อง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นสองเส้นทางศึกษาการเรียนรู้ ในเส้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างจากหนังสือโครงการตามรอยพระราชาที่คัดสรรเป็นจำนวน 9 เส้นทาง 81 แหล่งการเรียนรู้ เพื่อให้คณะครูอาจารย์ ลงพื้นที่เรียนรู้ศึกษาศาสตร์พระราชา พร้อมทำกิจกรรมเสริมทักษะเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาให้ทุกท่านได้สัมผัส เรียนรู้ เข้าใจ และเข้าถึงคุณธรรม 4.0 คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา นอกจากนั้นยังมีส่วนในการปลูกจิตสำนึกคนไทยให้มีความศรัทธา ความจงรักภักดี สำนึกรู้ในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ท่านพระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยทุกคน จนก่อเกิดเป็น “ศาสตร์พระราชา” ที่ชาวบ้านนำมาปฏิบัติตามจนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และมีความสุขมากขึ้น”ที่มหาชีวาลัยอีสานมีเตาเผาถ่านขนาดใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน โดยนำเศษไม้หักพังล้มตายในป่ามาเผาถ่านด้วยอุณหภูมิสูงถึง 500 องศาเซลเซียส อยู่นานถึง 15 วัน จึงได้ถ่านไม้คุณภาพดี นำไปแจกจ่ายให้ผู้ที่ต้องการอย่างไม่คิดมูลค่า
ความอุดมของผืนดินและความชุ่มชื้นของผืนป่าที่มีพืชพรรณหลากหลาย เป็นทั้งแหล่งเรียนรู้ อาหาร และยารักษาโรคได้
ฐานการเรียนรู้การผลิตไฟฟ้าด้วยแผงโซล่าเซลล์ในมหาชีวาลัยอีสาน เพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริง
มาเยี่ยมมหาชีวาลัยอีสานแล้ว ต้องชิมน้ำกระเจี๊ยบและน้ำมะสังจากธรรมชาติ เย็นชื่นใจแถมบำรุงสุขภาพด้วย
คุณเอ๋ พรทิพย์ อัษฎาธร แห่งอุทยานดอกไม้ เพลา เพลิน พร้อมด้วยหมู่มิตรในจังหวัดบุรีรัมย์ มาร่วมกันพร้อมหน้า
จากนั้นผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ไปเยี่ยมชมและทำกิจกรรมที่ “ศูนย์การเรียนรู้บ้านพ่อคำเดื่อง” อำเภอแคนดง อาณาจักรสีเขียวพื้นที่ 200 ไร่ ที่พ่อคำเดื่อง ภาษี ปราชญ์ชาวบ้าน ได้นำศาสตร์พระราชามาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตและทำเกษตรกรรมอย่างได้ผล โดยยึดแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจนสามารถปลดหนี้ได้ และประสบความสำเร็จในวิถีเกษตรกรรมแบบธรรมชาติ ไม่ใช้ยาปราบศัตรูพืชหรือสารเคมีใดๆ อีกทั้งได้ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้กับเกษตรกรที่สนใจอย่างต่อเนื่องในแบบ “ชาวบ้านสอนชาวบ้าน”
พ่อคำเดื่องนำคณะเดินชมไร่นาสวนผสม ที่มีดอกผลให้เก็บกินตลอดปีอย่างพอเพียง ตามศาสตร์พระราชาอันชาญฉลาด
ลองเปรียบเทียบกันดู ระหว่างการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพียงชนิดเดียวอย่างยางพารา กับการปลูกป่าแบบผสมผสานที่มีพืชพรรณหลายชนิดหมุนเวียนกันออกดอกออกผลให้เก็บกินตลอดปี เหมือนซุปเปอร์มาเก็ตข้างบ้าน แบบไหนจะดีกว่า?
นี่ไม่ใช่การปลูกป่า 3 อย่าง ให้ประโยชน์ 4 อย่าง แต่พ่อคำเดื่องบอกว่าเป็นการให้ประโยชน์ทุกอย่างกับชีวิตเลยก็ว่าได้
จากนั้นคณะเดินทางสู่ อุทยานดอกไม้ เพ ลา เพลิน อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ ร่วมในพิธีเปิดงาน “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา” ท่องป่าไร่นาสวนผสมมหาชีวาลัยอี
ผู้มีเกียรติจากหน่วยงานภาคีเข้าร่วมในพิธีเปิดอย่างพร้อมเพรียง
ร่วมกันยืนตรงร้องเพลงสรรญเสริญพระบารมี แด่พ่อหลวงรัชกาลที่ 9 ผู้ทรงพระราชทานศาสตร์พระราชาไว้ให้ปวงชนชาวไทย ด้วยทรงห่วงใยในสุขทุกข์ของทวยราษฎร์อย่างแท้จริงเสมอมา ตลอด 70 แห่งการทรงครองราชย์
นางวิชชุดา ไตรธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ทิพยประกันภัยมีความมุ่งมั่นในการสืบสานศาสตร์พระราชาผ่านการจัดกิจกรรม ‘ตามรอยพระราชา’ อย่างต่อเนื่องในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 6 ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนตลอด 70 ปีที่ทรงครองราชย์ และสอดคล้องกับปณิธานของบริษัทฯ ในการดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรม ควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการส่งเสริมความเจริญอย่างยั่งยืนของสังคมไทยในทุกมิติ ที่สำคัญ ในเดือนตุลาคม ยังเป็นเดือนที่เราจะได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ของพระมหากษัตริย์ไทยอีก 2 พระองค์คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวเดียวกันด้วย”
บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้มอบของที่ระลึกและอุปกรณ์กีฬาให้กับโรงเรียนต่างๆ ในจังหวัดบุรีรัมย์ด้วย
คณะได้ร่วมกันพับดอกบัวเพื่อนำไปถวายความจงรักภักดีและถวายความรำลึกถึงพระมหากษัตริย์ 3 รัชกาล ที่ทรงห่วงใยอาณาประชาราษฎร์ และปกครองแผ่นดินโดยธรรม ทำให้สยามเป็นแผ่นดินธรรมแผ่นดินทองมาจนทุกวันนี้
สำหรับภาคค่ำ เรายังไม่ปล่อยคณะครูให้ไปพักผ่อนกันง่ายๆ แต่ยังมีกิจกรรมสนุกๆ เพื่อถอดบทเรียนจากการไปศึกษาดูงานใน 2 แหล่งเรียนรู้ของภาคกลางวัน เกมส์เหล่านี้มิได้ให้เพียงความสนุกเท่านั้น ทว่ายังประเทืองปัญญา และนำไปสู่การสะท้อนสังคมที่มีคุณธรรมได้ในอนาคต
ดร.พีระ รัตนวิจิตร รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวเปิดกิจกรรมถอดบทเรียนสำหรับคณะครู โดยท่านได้กล่าวสรุปให้เห็นถึงภาพรวมในความสำคัญของศาสตร์พระราชา, ระบบการศึกษาไทยที่ต้องปรับปรุง และความสำคัญของคุณธรรม จริยธรรม วินัย และความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในสังคมไทย
กิจกรรมถอดบทเรียน นำโดย นายอดุลย์ ดาราธรรม วิทยากรจิตอาสาจากสมาคมนักเรียนเก่าเอเอฟเอส (TRAFS) ผ่านเกมกระดานสื่อการเรียนรู้ 3 แบบ ได้แก่ “Game of Our Nation” ที่สอดแทรกคุณธรรม 4 ประการ คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา “The Medici Effect 9” ถอดบทเรียนและต่อยอดสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมจากกิจกรรมตามรอยพระราชา และ “The King’s Journey Learn English an Example of an Invention” เรียนรู้ภาษาอังกฤษจากหนังสือชุด King Bhumibol Adulyadej of Thailand
ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี กล่าวว่า “ผู้ร่วมกิจกรรมตามรอยพระราชาทุกคนจะได้รับชุดหนังสือภาษาอังกฤษ “King Bhumibol Adulyadej of Thailand” จำนวน 3 เล่ม ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับพระราชประวัติ พระราชจริยวัตร และพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นำไปถ่ายทอดแก่นักเรียนผ่านหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ให้เยาวชนรุ่นหลังได้รู้จักพระองค์ท่านและสามารถสื่อสารให้ชาวต่างชาติฟังได้ว่า ทำไมคนไทยถึงรักในหลวงรัชกาลที่ 9 ทั้งยังให้ข้อคิดในการใช้ชีวิตเพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เต็มเปี่ยมด้วยคุณธรรม”
องค์กรภาคีในการจัดโครงการเดินทางตามรอยพระราชา มีความปีติเป็นอย่างยิ่งที่คณะครูอาจารย์ทั่วประเทศไทย ให้การตอบรับเข้าร่วมตามรอยพ่ออย่างต่อเนื่องตลอด 6 ครั้งที่ได้จัดโครงการ เริ่มตั้งแต่ เดือนตุลาคม 2561 จวบจนปัจจุบัน และตั้งใจจะสานต่อโครงการนี้ต่อเนื่องในปีถัดไป เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสานต่อปณิธานตามรอยในหลวง รัชกาลที่ 9 อันเป็นความรู้ที่ไม่มีวันล้าสมัยสู่สังคมต่อไป
ก่อนกลับบ้านเราไม่ลืมเดินชม อุทยานดอกไม้ เพลา เพลิน ให้ทั่ว เพื่อชื่นชมมวลพฤกษามาลีดอกไม้นับร้อยชนิดที่กำลังเบ่งบานอวดความงาม เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับพันธุ์พฤกษชาติที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสานเลยล่ะ
โรงเรือนเฟินและไดโนเสาร์ ให้บรรยากาศย้อนยุคเมื่อหลายสิบล้านปีก่อนในยุคจูราสสิก
แปลงดอกกุหลาบและอาคารห้องสมุด ที่ออกแบบได้สุด Modern จนได้รับรางวัลการออกแบบดีเด่น ปัจจุบันใช้เป็นที่ทำกิจกรรมต่างๆ สำหรับผู้เข้าชมสวน
อาคารเทิดพระเกียรติพ่อหลวง ที่สถิตอยู่เหนือเศียรเกล้าของเราชาวไทยทุกผู้ทุกนาม
อุทยานดอกไม้ เพลา เพลิน จะมีดอกไม้ชนิดต่างๆ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันให้ชมตลอดปี โดยเฉพาะฤดูหนาวที่มีไฮไลท์เป็นดอกทิวลิปและลิลี่สีสดใส กลิ่นหอมฟุ้งชื่นใจมาก
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ บริษัท ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด
คุณดิศรณ์ เสนามนตรี โทร. 0-2610-2392, 09-1997-9459 / คุณอาทิตยา สุจิรสกุล โทร. 0-2610-2372, 08-7675-2365
เพ ลา เพลิน อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ โทร. 0-4463-4736-8, 08-7798-1039 / www.playlaploen.com
มหาชีวาลัยอีสาน (สถาบันภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน) บ้านปากช่อง ต.สนามชัย อ.สตึก โทร. 08-1760-1337
ศูนย์การเรียนรู้พ่อคำเดื่อง บ้านโนนขวา ต.หัวฝาย อ.แคนดง จ.บุรีรัมย์ โทร. 08-1876-5906
โครงการสานรักของเ อไอเอส ส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีของครอบครัว
ภายใต้ โครงการสานรัก สนับสนุนสถาบันครอบครัว ด้วยความเชื่อมั่นว่า “ครอบครัว” เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาไปสู่สังคมที่ดี เพราะหากครอบครัวไทยแข็งแรง ย่อมส่งผลให้ประเทศชาติแข็งแรงไปด้วย
เอไอเอส ได้ริเริ่มโครงการ “สานรัก” ขึ้น https://www.facebook.com/sarnrak.ais/ ซึ่งนับเป็นนโยบายหลักของบริษัทฯ ในด้านกิจกรรมเพื่อสังคม ด้วยเล็งเห็นว่าสถาบันครอบครัวเป็นลักษณะเด่นของสังคมไทยมาแต่โบราณกาล และครอบครัวเป็นสถานบันแห่งแรกที่เป็นรากฐานของการสร้างคนเป็นคนดี
ปัจจุบันสถาบันครอบครัวไทยค่อนข้างอ่อนแอ ความใกล้ชิดและความอบอุ่นในครอบครัวลดน้อยลงอันเนื่อง มาจากวิถีการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะเศรษฐกิจ สังคมไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันสูงขึ้น พ่อแม่จำนวนมากต้องทุ่มเทเวลาให้กับงานจนไม่มีเวลาให้คู่สมรสและลูก เป็นเหตุให้ครอบครัวตึงเครียด ขาดความเข้าใจกัน และนำไปสู่ความแตกแยกในที่สุด เมื่อสภาพครอบครัวไม่แข็งแรงจึงส่งผลให้เกิดปัญหาสังคมตามมา
ด้วยความปรารถนาดีต่อสังคมไทย เอไอเอส มีความเข้าใจและห่วงใยในความเข้มแข็งของสังคมไทยที่เติบโตด้วยความรัก ความอาทร ความเกื้อกูล และความเข้าใจภายในครอบครัว
บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ในฐานะผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ชั้นนำของประเทศ จึงมุ่งหวังที่จะส่งเสริม และสนับสนุนครอบครัวของคนไทยให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น และพร้อมที่จะเป็นรากฐานที่ดีของสังคมไทย
โครงการ “สานรัก” จึงกำเนิดขึ้น โดย เอไอเอส มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสื่อกลางสร้างให้คนไทยทุกคนตระหนักในความสำคัญของครอบครัว และร่วมใจกันสานสายใยแห่งความรัก ความผูกพันของครอบครัวให้มีความแน่นแฟ้นตลอดไป
เอไอเอสเพื่อสังคม สานรัก สนับสนุนสถาบันครอบครัว สานรัก คนเก่งหัวใจแกร่ง สานรัก สานสังคมไทย สานรัก หัวใจอาสา
แอพพลิเคชั่น ฟาร์มสุข ช่องทางออนไลน์เกษตรกร
https://play.google.com/store/apps/details?id=th.co.mimotech.android.farmconsumer&hl=th และ http://www.ais.co.th/farmsuk/
เอไอเอส มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมไทย ภายใต้แนวคิด Digital For Thais หนึ่งในนั้นมีเป้าหมายสร้างเกษตรกรไทยรุ่นใหม่ให้เกิดขึ้น สร้างชุมชนออนไลน์ของเกษตรกรไทยให้เข้มแข็ง สร้างตลาดออนไลน์ให้กับผลผลิตของเกษตรกรไทย ผ่านแพลตฟอร์มฟาร์มสุข มีส่วนประกอบหลักๆ คือ แอปพลิเคชัน “ฟาร์มสุข” เป็นแอปฯ เพื่อให้เกษตรกรไทยเข้าถึงข้อมูลสำคัญในการทำการเกษตร คลังความรู้และภูมิปัญญาต่างๆ ทั้งในรูปแบบของวิดีโอ บทความ และเทคโนโลยีต่างๆ อาทิเช่น ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในแปลงเพาะปลูกจากอุปกรณ์ NB-IOT ข้อมูลราคาซื้อ-ขายผลผลิตทางการเกษตร องค์ความรู้เกี่ยวกับการเกษตรจากผู้เชี่ยวชายและปราชญ์ชาวบ้าน รวมไปถึงข้อมูลด้านการพยากรณ์อากาศที่มีความแม่นยำสูง ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิตของเกษตรกรให้สูงขึ้น รวมทั้งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาทางการเกษตร จัดการปัจจัยการผลิตอย่างแม่นยำ เสริมด้วยการแบ่งปันความรู้ของกลุ่มเกษตรกร สภาพอากาศ และราคาตลาดที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร
แอปพลิเคชัน “ร้านฟาร์มสุข” เอไอเอส ได้สร้างช่องทางออกไลน์ให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป รวมถึงสินค้าที่เป็นภูมิปัญญาของชุมชนหรือ OTOP และพันธุ์พืช เครื่องมือเกษตรต่างๆ โดยเกษตรกรเป็นผู้กำหนดราคาได้เองตามความเหมาะสม เพื่อยกระดับเกษตรกรไทยสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอีกช่องทางหนึ่ง โดยเอไอเอสมีทีมงานที่ช่วยบริหารจัดการให้เข้าถึงเทคโนโลยีและช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าออนไลน์ผ่านระบบร้านฟาร์มสุข ทั้งการแนะนำการทำตลาดออนไลน์ การปรับปรุงผลิตภัณฑ์ การถ่ายภาพสินค้าให้น่าสนใจ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า
ซึ่งแพลทฟอร์ม ร้านฟาร์มสุข จะเป็นแหล่งรวบรวมสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูป ที่ผู้ซื้อสามารถเข้ามาเลือกซื้อสินค้าวิสาหกิจชุมชน ผลิตผล พันธุ์พืช และอุปกรณ์ทางการเกษตร ที่หลากหลายจากทั่วประเทศได้ที่นี่เพียงที่เดียว ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนและช่วยเหลือเกษตรกรโดยตรง
เอไอเอส นำนวัตกรรมดิจิทัลอสม.ออนไลน์ ช่วยงานด้านสาธารณสุขชุมชนเชิงรุก
เอไอเอส โดย อสม.ออนไลน์ ร่วมกับกรมควบคุมโรค และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือการบูรณาการข้อมูลเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง ด้านการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อนำโดยยุงลาย ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล
วิถีดูแลสุขภาพ หรืออาการเจ็บป่วยของคนในหมู่บ้าน ตำบลต่าง ๆ มักจะคุ้นเคยกับ “โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล” หรือ รพ.สต. เช่นเดียวกับ “อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน” หรือ อสม. ที่มีจำนวน 1,200,000 คน ทั่วประเทศ
ทั้ง 2 ส่วนถือเป็นด่านหน้าด้านสุขภาพ ที่จะต้องรายงานให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขส่วนกลางทราบว่า ขณะนี้ สถานการณ์ด้านสุขภาพของชุมชนที่รับผิดชอบเป็นอย่างไร มีใครเจ็บไข้ได้ป่วย และมีวิธีการรักษาอย่างไร มีโรคระบาดหรือไม่ ซึ่งก่อนปี 2559 อสม.ทำหน้าที่รายงานสถานการณ์เหล่านี้ ก็จะใช้การจดรายละเอียดลงในกระดาษ ใช้โทรศัพท์แจ้งข่าว แจ้งข้อมูล และใช้มอเตอร์ไซด์ หรือรถยนต์ เป็นยานพาหนะ เพื่อไปให้ถึงบ้าน แล้วนำข้อมูลกลับมาแจ้งที่รพ.สต.นั้น ๆ ซึ่งในระหว่างทาง อาจเกิดเหตุไม่คาดคิด เช่น กระดาษที่จดบันทึกข้อมูลปลิวหล่นหาย ส่วนการสื่อสารก็อาจจะมีการตกหล่น ไม่ครบถ้วน รวมถึง มีความล่าช้าในการแจ้งเตือนข้อมูลการระบาดของโรคต่าง ๆ เนื่องจากใช้เวลาในการเดินทางค่อนข้างไกล และมีลักษณะการกระจายข่าวแบบ 1 ต่อ 1 บอกต่อ ๆ กัน
สมชัย เลิศสุทธิวงศ์ CEO และ วีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์และองค์กร เอไอเอส ร่วมทดสอบแอปฯ อสม.ออนไลน์
ด้วยวิธีการทำงานดังกล่าวข้างต้น บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เล็งเห็นถึงปัญหา และเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาด้วยนวัตกรรมดิจิทัลผ่าน แอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ เข้ามาเป็น Platform ในรูปแบบเครือข่ายสังคมออนไลน์เฉพาะกลุ่ม โดยมุ่งหวังให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใช้เป็นเครื่องมือการทำงานด้านสาธารณสุขชุมชนเชิงรุก ช่วยให้เข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพของประชาชนได้อย่างรวดเร็วและครอบคลุมเพื่อจัดบริการสุขภาพที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนระบบสุขภาพในแต่ละพื้นที่ให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม
“แอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ ถือเป็นหนึ่งในหลายเรื่องภายใต้แนวคิด Digital For Thais ที่เอไอเอสพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลเพื่อสังคม และเราทำเป็น CSR จริงๆ ไม่ได้หวังผลกำไร แต่ต้องการให้ อสม.มีการใช้งานอย่างทั่วถึง และเกิดประโยชน์ตามความต้องการของผู้ใช้ ซึ่งมีผลต่อพัฒนาการของแอปฯ อสม.ออนไลน์ เช่นเดียวกับฟีเจอร์รายงานสำรวจลูกน้ำยุงลาย ที่เพิ่มเข้ามาในแอปฯ ก็มาจากความต้องการ และ Paint Point ของผู้ใช้โดยตรง สอดคล้องกับมาตรการเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกในประเทศไทยที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น”
วีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์และองค์กร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ขยายข้อมูลถึง ฟีเจอร์รายงานสำรวจลูกน้ำยุงลาย ตั้งแต่เปิดเมื่อเดือนมิถุนายน 2562 จนถึงเดือนกันยายนนี้ มีผู้ใช้งานทั้งหมด 300,000 Transactions และคาดว่าจะมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งปริมาณการส่งข้อมูลจำนวนนี้ จะช่วยให้มีการวิเคราะห์สถานการณ์เฝ้าระวังโรคติดต่อได้อย่างแม่นยำมากขึ้น
ทั้งนี้ เอไอเอส และกรมควบคุมโรค จะนำข้อมูลที่ได้จากแอปฯ อสม.ออนไลน์ และ ชุดซอฟต์แวร์ “ทันระบาด” มาบูรณาการร่วมกัน เพื่อนำไปประมวลผลและวิเคราะห์สถานการณ์ของโรคติดต่อนำโดยยุงลายร่วมกัน ทำให้หน่วยงานสาธารณสุขระดับต่าง ๆ สามารถเข้าถึงสถานการณ์ได้อย่างครอบคลุมและแม่นยำยิ่งขึ้น พร้อมทั้งนำเสนอมาตรการจัดการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อนำโดยยุงลาย ไปยังหน่วยบริการสุขภาพโดยตรง ผ่านระบบการทำงานของแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์
อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือครั้งสำคัญ
“แอปฯ อสม.ออนไลน์ สามารถใช้ได้กับทุกเครือข่าย หากใช้เอไอเอส จะไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ซึ่ง อสม.หลายคนที่แม้จะไม่คุ้นเคยกับสมาร์ทโฟน ก็ให้ลูกหลานสอนก่อนได้ เป็นฟังก์ชั่นที่ไม่ยาก ปัจจุบัน มีอสม.ใช้งานแล้ว 1 แสนคนทั่วประเทศ และจากวันนี้ พร้อมขยายเครือข่าย อสม.ออนไลน์ ไปยังพื้นที่ต่างๆ สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของหน่วยงานภาครัฐที่ต้องการให้อสม.ใช้เครื่องมือสื่อสารออนไลน์ และเอไอเอส ถือเป็นภาคเอกชนที่มาช่วยให้เกิดการใช้งานมากขึ้น ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างยิ่งกับการเฝ้าระวังควบคุมโรคระบาด เพราะเมื่อส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบ เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องจะเห็นว่าหมู่บ้านใดต้องเฝ้าระวังแบบเรียลไทม์ทันที ซึ่งแอปฯ ถูกออกแบบมาให้ อสม. สามารถใช้ส่งผลการสำรวจได้ง่าย และรวดเร็ว ทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสามารถเข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็วและครอบคลุมยิ่งขึ้น มีส่วนช่วยให้การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อนำโดยยุงลายมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
นอกจากนี้ เอไอเอส ยังร่วมกับกรมควบคุมโรค และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับโรคติดต่อนำโดยยุงลาย ผ่านแอปฯ อสม.ออนไลน์ และ Smart อสม. ของกรม สนับสนุนบริการสุขภาพ ไปยังกลุ่ม อสม. ทั่วประเทศ อีกด้วย
ปัจจุบัน แอปฯ อสม.ออนไลน์ สามารถกระจายข่าวได้ทันที ทุกที่ ทุกเวลาเพียงครั้งเดียว ส่งผลให้ อสม. ทุกคนรับทราบข่าวสาร ความเคลื่อนไหว กิจกรรมต่างๆ ตลอดจน วางแผนป้องกันโรคได้อย่างทันถ่วงทีหากเกิดโรคระบาดในพื้นที่ โดยการลงพื้นที่ของอสม. แต่ละหมู่บ้าน จะมีการแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน ถือเป็นการนำเทคโนโลยีมาช่วยกระตุ้นการทำงานของอสม. ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
พร้อมกันนี้ จุดเด่นของ แอปฯ อสม.ออนไลน์ คือ ฟีเจอร์ภาพประกอบการส่งรายงาน เช่น สภาพร่างกาย ลักษณะของบาดแผล รวมถึง การบันทึกและส่งวิดีโอในกรณีช่วยผู้ป่วยออกกำลังกายเพื่อกายภาพบำบัด ฯลฯ จะช่วยให้โรงพยาบาล หรือ รพ.สต. ได้ข้อมูลที่แม่นยำ และสามารถแนะนำดูแลผู้ป่วยได้ เช่นเดียวกับกายถ่ายรูปพื้นที่จุดเสี่ยงต่างๆ ในบ้าน ที่คาดว่าจะเกิดโรคระบาดจากยุงลาย
วีรวัฒน์ กล่าวในท้ายที่สุดว่า แอปฯ อสม.ออนไลน์ และความร่วมมือกับกรมควบคุมโรค และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ตอกย้ำแนวคิด Digital For Thais ที่มุ่งส่งเสริมการทำงานด้านสาธารณสุขชุมชนเชิงรุก ขยายองค์ความรู้ความเข้าใจให้ อสม. ช่วยดูแลสุขภาพคนไทยอย่างเต็มประสิทธิภาพ ทั่วถึง และเท่าเทียมกันทุกพื้นที่
ต้องการใช้ อสม.ออนไลน์ ทำอย่างไร ?
ขั้นตอนที่ 1 รพ.สต. สมัครใช้งาน ที่่ http://www.ais.co.th/aorsormor/RegisterForm.aspx
ขั้นตอนที่ 2 รพ.สต. ได้รับรหัสผ่านสำหรับเจ้าหน้าที่
ขั้นตอนที่ 3 รพ.สต. เพิ่มชื่อ – เบอร์โทร ของ อสม. เข้าระบบ พร้อมกำหนดรหัสผ่าน 4 หลัก ในระบบเวปแอดมิน
ขั้นตอนที่ 4 รพ.สต. แจ้งรหัสผ่าน 4 หลักแก่ อสม.
ขั้นตอนที่ 5 อสม. ดาวน์โหลดแอปฯ และลงชื่อเข้าใช้งานแอปฯ ด้วยเบอร์โทรศัพท์ของตนเอง และรหัสผ่านที่ได้รับจาก รพ.สต.
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถโทรสอบถามได้ที่ โทร. 06 2520 1999
เที่ยวสุขใจ ซาลามัตชายแดนใต้ @เบตง จ.ยะลา
“เมืองในหมอก ดอกไม้งาม ใต้สุดสยามเมืองงามชายแดน” คือนิยามเก๋ไก๋ของอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ที่ผมไปเที่ยวมาแล้วเกิดหลงรักหมดจิตหมดใจ
ก็เพราะเบตงมีสิ่งสวยๆ งามๆ แปลกใหม่แบบคิดไม่ถึง ให้เราได้เที่ยวชมกันอย่างตื่นตาตื่นใจมากมายเลยนะสิ Shutter Explorer ขอบคุณ “โครงการซาลามัตชายแดนใต้” ของ ททท. ที่นำเราลงไปสู่เบตงในทริปนี้เบตงเป็นเมืองน่ารัก บรรยากาศสุดชิล เพราะตัวเมืองมีขนาดไม่ใหญ่ไม่เล็กเกินไปในการเที่ยวชม อีกทั้งตัวเมืองยังโอบล้อมรอบไว้ด้วยภูเขาเขียวๆ อากาศเย็นสบาย แทบทุกเช้าตรู่จะมีสายหมอกโรยตัวลงห่มคลุม จนเบตงกลายเป็นเมืองในหมอกไม่แพ้ภาคเหนือของไทย นอกจากนี้เบตงยังเป็นเมืองพหุวัฒนธรรม คือมีทั้งพี่น้องชาวมุสลิม ไทยพุทธ และคนจีน อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์มาช้านานแล้ว
ใครหลายคนอยากมาพักผ่อนตากอากาศ เนื่องจากเบตงเป็นเมืองในอ้อมกอดของเทือกเขาสันกาลาคีรีกั้นพรมแดนไทย-มาเลเซีย สูงจากระดับน้ำทะเลกว่า 1,590 เมตร อากาศของเบตงจึงเย็นสบายตลอดปี หน้าร้อนไม่ร้อนอบอ้าว ส่วนหน้าหนาวเย็นเจี๊ยบจับใจไม่แพ้ภาคเหนือ แถมยังมีทะเลหมอกสวยที่สุดในภาคใต้ให้ชมกันด้วย
1. อุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์ ‘อุโมงค์รถยนต์ลอดภูเขาแห่งแรกของไทย’
อยู่ที่ถนนอมฤทธิ์ตัดกับถนนภักดีดำรง ผ่านสวนสาธารณะออกสู่ถนน บริเวณหน้าสวนนกเชื่อมต่อกับถนนมงคลประจักษ์ ทะลุไปสู่ชุมชนเมืองใหม่หมู่บ้านแกรนด์วิว และเชื่อมต่อกับถนนอัยเยอร์เบอร์จัง ไปสู่ชุมชนธารน้ำทิพย์อีกทอดหนึ่ง เป็นอุโมงค์รถยนต์ลอดภูเขาแห่งแรกของไทย ที่ขุดทอดโค้งให้รถวิ่งไปมา สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กอย่างดี ยาว 268 เมตร กว้าง 9 เมตร สูง 7 เมตร ผิวจราจรคู่ กว้าง 7 เมตร ทางเท้าเดินกว้างข้างละ 1 เมตร ความเร็วรถวิ่งได้ 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง
อุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์ เปิดใช้เป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2544ในยามค่ำคืนจะมีการเปิดโคมไฟประดับประดาอย่างน่าตื่นตา ให้นักท่องเที่ยวได้ชักภาพเก็บไว้อย่างสนุกสนาน แต่เวลาถ่ายภาพอย่าลงไปบนผิวจราจรล่ะ ต้องคอยระวังรถยนต์ที่แล่นไปมาด้วยจ้า
2. วงเวียนหอนาฬิกาเบตง
เป็นสิ่งก่อสร้างอันเก่าแก่อยู่เคียงคู่กับเมืองเบตงมาช้านาน เปรียบเสมือนสัญลักษณ์จุดศูนย์กลางเมือง สร้างด้วยหินอ่อนอย่างสวยงาม ในยามเย็นจะเห็นฝูงนกนางแอ่นนับหมื่นตัวบินมาเกาะหลับอยู่บนสายไฟรอบๆ หอนาฬิกา จนกลายเป็นสัญลักษณ์คู่กันไปแล้วโดยปริยาย คนเบตงเขามีอารมณ์ขัน บอกว่าถ้าใครมาเที่ยวเบตงแล้วถูกนกนางแอ่นอุจจาระใส่หัว จะต้องกลับมาเที่ยวที่นี่อีก! จะจริงหรือเปล่า คงต้องพิสูจน์ด้วยตัวเอง ฮาฮาฮา
3. ตู้ไปรษณีย์ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย
มีประวัติว่า นายสงวน จิรจินดา นายกเทศมนตรีเทศบาลเบตงคนแรก และเป็นอดีตนายไปรษณีย์โทรเลข เห็นว่าอำเภอเบตงอยู่ห่างไกล จะติดต่อสื่อสารโดยช่องทางอื่นกับโลกภายนอกไม่ได้เลย ยกเว้นทางจดหมาย เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของเมืองเบตงท่านจึงได้สร้างตู้ไปรษณีย์ยักษ์นี้ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2467 โดยสร้างขึ้นที่บริเวณสี่แยกหอนาฬิกาใจกลางเมืองเบตง
ปัจจุบันมีการสร้างตู้ใบใหม่ที่มีขนาดใหญ่เป็น 3.5 เท่าอยู่ริมถนนหน้าศาลาประชาคม ถือเป็นตู้ไปรษณีย์ที่มีขนาดใหญ่ที่ของไทยในปัจจุบัน ตู้ทั้งสองใบสามารถใช้ส่งจดหมายได้จริงซะด้วย เท่ห์ไหมล่ะ? นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่อยากทำเก๋ ก็นิยมเขียนโปสการ์ดหรือจดหมาย ส่งกลับไปหาตัวเองหรือญาติมิตรที่บ้าน เพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึกไงล่ะครับ ว่าครั้งหนึ่งเราเคยมาเยือนเมืองใต้สุดแดนสยามแล้ว ว้าว
4. WOW! Street Art เบตง
เบตงวันนี้ไม่ใช่เมืองชายแดนธรรมดาๆ อีกต่อไป แต่มีการนำศิลปะเข้าไปเติมแต่งจนมีชีวิตชีวาน่าเที่ยวชม ทั้งตึกรามบ้านช่องร้านค้าที่พร้อมใจกันทาสีสดใส พร้อมทั้งมี ภาพ Street Art หรือภาพเพนท์บนผนังอาคารตามตรอกซอกซอยต่างๆ อย่างน่ารักน่าชัง เขาบอกว่าเริ่มมีมาตั้งแต่ตอนเมืองเบตงครบ 111 ปี (เมื่อ พ.ศ. 2560) จึงเชิญศิลปินและนักเรียนศิลปะมาช่วยกันเพนท์ภาพ Street Art เหล่านี้ไว้
ภาพ Street Art เบตง สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตและของดีของเด่นของคนที่นี่ มีด้วยกันหลายสิบภาพแบ่งเป็นโซนๆ คือถ้าภาพอยู่ตรงโซนไหน ก็จะเกี่ยวเนื่องกับคนแถวนั้น เช่น ตรงตลาดสดก็จะมีภาพพืชผักผลไม้ต่างๆ และพอเดินเลยไปถึงโซนร้านน้ำชาติ่มซำ ก็จะมีภาพชุดม้านั่งที่มีคนกำลังนั่งจิบชาเปิดสภากาแฟกันอยู่ครับ น่ารักมาก
ภาพ Street Art เบตง ที่เป็นไฮไลท์มีด้วยกันหลายโซน เช่น เริ่มต้นเดินจากหน้าร้านติ่มซำไทซีอี้ (ข้างวงเวียนหอนาฬิกา และตู้ไปรษณีย์ใหญ่ที่สุดของไทย) ข้ามถนนมาฝั่งตรงข้าม เดินเข้าตรอกเล็กๆ ตรงไป ก็จะมีภาพ Street Art มากมายอยู่สองฟากฝั่ง จนไปทะลุถนนอีกเส้น ข้ามถนนเข้าสู่ตรอกถัดไป เป็นตลาดสดที่มีแผงพืชผักผลไม้นานาชนิด ก็มีภาพ Street Art เช่นกัน หรืออีกโซนที่หน้าสนใจ คือข้ามถนนจากหน้าร้านอาหารต้าเหยิน ในตรอกฝั่งตรงข้ามมี Street Art สุดน่ารัก
แต่เราไม่เฉลยว่าเป็นภาพอะไร ให้ทุกท่านไปชมกันเองดีกว่าจ้า
5. ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง “รับอรุณก่อนใคร ที่ทะเลหมอกใต้สุดแดนสยาม”
ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง อยู่ที่ตำบลอัยเยอร์เวง บนถนนหมายเลข 410 ตรงช่วง กม. 33 เป็นทะเลหมอกที่ Amazing มาก เพราะเที่ยวได้เกือบตลอดปี โดยเฉพาะช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ ยิ่งถ้าเป็นวันแห่งความรัก 14 กุมภาพันธ์ ก็มักจะมีทะเลหมอกสีขาวหนาแน่นราวกับปุยนุ่น ลอยอ้อยอิ่งอาบแสงอาทิตย์ยามเช้าให้เราได้ตื่นตะลึงง! ขอ Confirm เลยว่า นี่คือธรรมชาติ Unseen ที่สวยสู้ทะเลหมอกทางภาคเหนือได้สบาย
แม้ว่าปัจจุบันที่เบตงจะเปิดจุดชมทะเลหมอกใหม่ๆ อีกหลายแห่ง เช่น ทะเลหมอกไต้ต๋ง และทะเลหมอกกูนุง ซีรีปัต แต่ว่าทะเลหมอกอัยเยอร์เวงก็ยังไม่เคยเสื่อมความนิยมไปจากใจของนักท่องเที่ยว อีกทั้งในปี 2563 นี้ ยังจะมีการเปิด Sky Walk ชมทะเลหมอกที่อัยเยอร์เวงเพิ่มด้วย เขาว่าจะเป็น Sky Walk ยาวที่สุดในเอเชีย คือมีสะพานที่ยื่นออกไปกว่า 50 เมตร!
6. บ่อน้ำร้อนเบตง “สปาธรรมชาติเพื่อสุขภาพ”
อยู่ที่บ้านจะเราะปะไร ตำบลเนาะแม (ห่างจากตัวเมืองเบตง 5 กิโลเมตร บนถนนสาย 410) บ่อน้ำร้อนธรรมชาติแห่งนี้มีควันฉุยตลอดเวลา น้ำอุ่นกำลังดี ต้มไข่สุกได้ใน 7 นาที นักท่องเที่ยวนิยมลงมาอาบแช่แก้เมื่อย รักษาสุขภาพ บ้างก็แก้หนาว ปัจจุบันมีการสร้างรีสอร์ทเอาไว้ให้นักท่องเที่ยวได้นอนพักค้างคืนกันด้วย ชิลมากๆ
7. สวนดอกไม้เมืองหนาว “อลังการพรรณไม้งามในหุบเขาหนาวเย็น”
อยู่ที่หมู่บ้านปิยะมิตร 2 เป็นโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นสวนดอกไม้นานาพันธุ์ตั้งอยู่บนเขา อากาศเย็นสบาย พาคนพิเศษของเราไปทำโรแมนติก ชวนกันถ่ายรูปกับดอกกุหลาบ ดอกฮอลีฮ้อค ดอกแอสเตอร์ สีสันสวยงามไม่แพ้ภาคเหนือ เสร็จแล้วจะนอนค้างในรีสอร์ทสวยได้สบาย ไม่น่าเชื่อเลยว่าสุดชายแดนใต้ของเราจะมีดอกไม้เมืองหนาวให้ชมกันด้วย Amazing!
8. ด่านพรมแดนเบตง “มาเลเซียเที่ยวง่าย ใกล้แค่นี้เอง”
เที่ยวเบตงแล้วถ้ายังไม่หนำใจ จะเที่ยวต่อเข้าไปในในมาเลเซียก็ได้นะ ด่านพรมแดนเบตงแห่งนี้ทำหน้าที่เหมือนประตูบ้านเชื่อมโยงสองประเทศเข้าหากัน จุดเด่นคือมีป้ายใต้สุดแดนสยามและหลักเขตแดนให้ถ่ายภาพเป็นที่ระลึก หรือจะเลยเข้าไปในมาเลเซียนิดนึง ช้อปปิ้งที่ร้าน Duty Free ปลอดภาษี ซื้อขนมนมเนย หรือกระเป๋า รองเท้า นาฬิกาดีๆ กลับมาด้วยก็ได้
ด่านพรมแดนเบตงนี้ อยู่ติดกับประเทศมาเลเซียด้านกิ่งอำเภอปึงกาลันฮูลู รัฐเปรัค
9. พิพิธภัณฑ์เมืองเบตง “แหล่งเรียนรู้ประวัติวิถีเบตงที่ครบครัน”
พิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่บนเนินเขาสูง ตัวอาคารสร้างด้วยสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ มีสองชั้น แต่ละชั้นจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้โบราณๆ หาชมได้ยาก และประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันน่าสนใจของเบตงไว้ครบถ้วน โดยเฉพาะชั้นล่างมีการจัดแสดงกบภูเขา สัตว์หายากมากของเขตเทือกเขาสันกาลาคีรีให้ชมด้วย จากชั้นสองของพิพิธภัณฑ์ฯ เดินต่อขึ้นไปบนหอคอยชมวิวสูง มองเห็นตัวเมืองเบตงได้ทั่วถึง เต็มอิ่ม เต็มตา แบบพาโนรามาเลยล่ะ
10. มัสยิดกลางเบตง “ศาสนสถานแห่งศรัทธา”
เปรียบเสมือนศูนย์รวมใจของพี่น้องชาวมุสลิมเบตง สร้างด้วยสถาปัตยกรรมอิสลาม ทาสีฟ้าขาวเย็นตาเย็นใจ ส่วนบนสุดสร้างเป็นโดมทรงหัวหอม มีรูปจันทร์เสี้ยวและดาวห้าแฉกเป็นสัญลักษณ์ นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมได้ แต่ต้องแต่งกายให้เรียบร้อย สุภาพ ไม่ส่งเสียงดัง ถ่ายภาพห้ามใช้แฟลช และผู้หญิงควรหาผ้ามาคลุมศีรษะด้วย นักท่องเที่ยวนิยมเข้ามาชมการประกอบพิธีวันละ 5 ครั้ง ภายในมัสยิด
11. วัดพุทธาธิวาส “พระพุทธศาสนาปลายด้ามขวานทอง”
เป็นวัดสำคัญตั้งเด่นอยู่บนเนินเขา มีพระประธานในอุโบสถเหมือนหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืดเท่าองค์จริง ผู้คนมาสักการะกันไม่ได้ขาด ส่วนภายนอกมี พระมหาธาตุเจดีย์พระพุทธธรรมประกาศ สีทองอร่ามงามเด่น กับพระพุทธรูปปางสมาธิขนาดยักษ์ตั้งอยู่กลางแจ้ง ชื่อ พระพุทธธรรมกายมงคลประยุรเกศานนท์สุพพิธาน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์องค์ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย ให้กราบไหว้กันด้วย
12. อุโมงคปิยะมิตร “โลกใต้ดินที่ไม่สิ้นเรื่องเล่าประวัติศาสตร์”
อุโมงค์ปิยะมิตร อยู่ที่หมู่บ้านปิยะมิตร 1 ต.ตะเนาะแมเราะ ใช้เส้นทางเดียวกับที่จะไปบ่อน้ำร้อนเบตง (เลยบ่อน้ำร้อนไป 4 กิโลเมตร) ปัจจุบันบริเวณนี้เป็นที่อยู่ของพี่น้องชาวจีนผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ซึ่งเดิมในอดีตเคยเป็นฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา (เขต 2) เขาเหล่านั้นต้องขุดอุโมงค์ใต้ดินยาวกว่า 1 กิโลเมตร กว้าง 50-60 ฟุต เพื่อใช้อยู่อาศัยหลบซ่อนจากการตรวจจับของทางการ โดยสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2519
ทุกวันนี้เหตุการณ์สงบแล้ว อุโมงค์ปิยะมิตรกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้เราเข้าชมได้อย่างปลอดภัย ภายในปรับปรุงเป็นทางเดินเรียบและมีไฟฟ้าส่องสว่างอย่างดี ด้านในมีห้องหลบภัยห้องสะสมเสบียง เมื่อเดินทะลุกอีกฝั่งก็จะถึงทางออกในป่าทึบ
ในบริเวณเดียวกันยังมี พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์มลายา พร้อมด้วยตู้จัดแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ พร้อมด้วย ต้นไม้ยักษ์ สูงหลายสิบเมตรที่ต้องเดินป่าเข้าไปชมอย่างสนุกสนาน
13.ไก่เบตง “กรอบนอก นุ่มใน ละลายในปาก”
ไก่เบตงคืออาหารรสเลิศเลื่องชื่อไปทั่วประเทศ ของแท้ต้องมาชิมที่อำเภอเบตงเท่านั้น เนื้อไก่ของเขาเหนียวนุ่ม มันน้อย หวานในปาก เคี้ยวง่าย ส่วนหนังไก่เป็นสีเหลืองทอง กรอบ ไม่มีชั้นไขมันหนาอยู่ใต้ผิวหนังเหมือนไก่เลี้ยงสายพันธุ์อื่น เพราะไก่เบตงเวลาเลี้ยงต้องปล่อยให้วิ่งเล่นไปมาอย่างอิสระ ว่ากันว่าเมื่อร้อยกว่าปีก่อน มีชาวจีนนำพันธุ์ไก่เบตงเข้ามาจากจีนตอนใต้ จนเลี้ยงกันแพร่หลาย ทว่ากว่าจะจับขายได้แต่ละตัว ต้องรอถึง 6 เดือน หรือ 1 ปี จำนวนผู้เลี้ยงจึงลดลง ปัจจุบันเหลือเลี้ยงอยู่จริงไม่กี่เจ้า ถึงบอกไงล่ะ ว่าไก่เบตงของแท้หาชิมยากสุดๆ
14. ร้านต้าเหยิน “สุดยอดร้านอาหารจีนแดนใต้”
ตั้งอยู่เลขที่ 253 ถนนสุขยางค์ อ.เบตง จ.ยะลา โทร. 0-7323-0461, 0-7324-5189, 08-1599-4654
ต้าเหยิน ชื่อนี้คือตำนานความอร่อยสะท้านยุทธจักรการกิน ที่นักชิมทั้งมืออาชีพและมือใหม่ต่างยกนิ้วโป้งให้ เพราะเป็นร้านอาหารจีนชื่อดังที่สุดในเบตง เปิดมาไม่ต่ำกว่า 30-40 ปีแล้ว คนแน่นทุกวัน อย่าลืมโทรจอง
นอกจากจะหาชิมไก่เบตงของแท้ได้ที่ร้านต้าเหยินแล้ว เขายังมีสุดยอดเมนูที่ต้องสั่งต้องชิมอีกเพียบ ไม่ว่าจะเป็นกบภูเขาทอดกระเทียม, ปลาจีนนึ่งซีอิ๊ว, ซี่โครงสวรรค์, เคาหยก (หมูสามชั้นอบเผือก), ถั่วเจี๋ยน, ซุปปู, ผัดหมี่เบตง, ผักน้ำเบตงผัดน้ำมันหอย และอื่นๆ อีกมากมาย
15. ติ่มซำยามเช้าที่เบตง “เริ่มต้นวันใหม่อย่างราชา”
ขอบอกว่าอาหารจีนยามเช้าในเมืองเบตงนั้นอลังการไม่ใช่เล่น เพราะที่นี่มีคนจีนอาศัยอยู่มาก ป็นชาวจีนกวางไสจากกว่างซีจ้วง และชาวจีนฮกเกี้ยน วัฒนธรรมการกินของพวกเขาจึงสืบทอดกันมา อย่างติ่มซำยามเช้าที่มีให้เลือกนับร้อยอย่าง ในเบตงมีหลายร้าน ที่มีชื่อเสียง เช่น ร้านไทซีอี้ และร้านเซ้งติ่มซำ Location อยู่แถวๆ หอนาฬิกาและตู้ไปรษณีย์ยักษ์ มองไปเห็นได้ชัดเลย
จะกินติ่มซำเมืองนี้ต้องขยันตื่นเช้าหน่อย และต้องกินร้อนๆ จึงจะอร่อยครบรส และอย่าลืมสั่งบักกุ๊ดเต๋มาซดน้ำซุปยาจีนให้คล่องคอด้วยล่ะ
16.วุ้นดำเบตง”เจ้าสุดท้ายความอร่อยต้นตำรับ”
วุ้นดำเบตง หรือ เฉาก๊วย กม.4 เจ้าแรก (โทร. 0-7323-0413)
มาถึงเบตงแล้วถ้าไม่ได้ชิม ‘วุ้นดำเบตง’ สักหน่อย ก็ถือว่าทริปเที่ยวครั้งนี้คงไม่สมบูรณ์ เพราะเป็นขนมพื้นบ้านที่ใช้ภูมิปัญญาล้วนๆ รังสรรค์ขึ้นมา
วุ้นดำเบตง ทำจากหญ้าชนิดหนึ่งที่ปลูกในประเทศจีน (และอินโดนีเซีย) เจ้าแรกนี้บรรพบุรุษอพยพมาจากเมืองจีน เมื่อกว่า 30 กว่าปีมาแล้ว เป็นร้านสุดท้ายที่ยังทำด้วยกรรมวิธีโบราณ คือใช้เตาไม้ฟืน เวลากินจึงได้กลิ่นหอมของไม้ด้วย แต่เพราะกรรมวิธีที่ยุ่งยาก ใช้เวลานาน เจ้าอื่นจึงเปลี่ยนไปใช้เตาแก๊สกันหมด กรรมวิธีคร่าวๆ คือ เขาจะนำหญ้าเฉาก๊วยมาต้มกับส่วนผสมแล้วกรองเอาเฉพาะน้ำ เพื่อแยกหญ้าวุ้นดำออกจากกัน จากนั้นนำแป้งมันสำปะหลังผสมกับน้ำที่ได้จากการกรองในขณะร้อนๆ คนให้เข้ากัน ทิ้งไว้จนกว่าจะเย็นกลายเป็นวุ้น นิยมรับประทานกับน้ำเชื่อมแล้วเติมน้ำแข็ง มีสรรพคุณช่วยแก้ร้อนในดีนักแล
17. ผักน้ำเบตง “ผัก Signature กลางขุนเขา”
มาถึงเบตงแล้วต้องชิม ผักน้ำ หรือ Watercress กันสักหน่อย ผักชนิดนี้ถือเป็นผักดีต่อสุขภาพ เนื่องจากการปลูกโดยไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ต้องปลูกในธรรมชาติตามลำธารบนขุนเขา ที่น้ำใสสะอาดและเย็นเจี๊ยบเท่านั้น
ว่ากันว่าผักน้ำมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ต่อมามีการนำมาปลูกที่จีนและมาเลเซีย คนจีนจึงนำเข้ามาปลูกในภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะที่อำเภอเบตง ซึ่งตอนแรกคนจีนปลูกกินกันในครัวเรือน ไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ต่อมาทางราชการจึงส่งเสริมให้ปลูกกันแพร่หลาย เพราะเป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ปัจจุบันสวนผักน้ำเบตงจึงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวไปโดยปริยายธรรมชาติของผักน้ำชอบอากาศหนาวเย็น และน้ำที่ใสสอาดจากภูเขาไหลผ่านตลอดเวลา แปลงปลูกผักน้ำจึงทำเป็นขั้นบันไดลดหลั่นลงมา ยิ่งถ้าเป็นน้ำที่ไหลจากที่สูงใสเย็น และเป็นดินปนทรายด้วยจะทำให้ผักน้ำยิ่งเจริญเติบโตดี ต้นจะอวบน้ำ ก้านยาว ใบสีเขียวจัด เมื่อเลี้ยงไป 45-60 วัน ก็เก็บขายได้แล้ว ราคาขายกิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 80 บาทเลยทีเดียว
ส่วนใหญ่จะนำผักน้ำมาแกงจืด หรือต้มกับกระดูกหมูหรือไก่ นอกจากนี้ยังสามารถทำผักน้ำทรงเครื่อง, ผักน้ำมันหอย, ลวกจิ้มและสลัดผัก สรรพคุณช่วยคลายร้อน แก้ร้อนใน และลดความดันโลหิตสูงได้
18. ปลาจีนเบตง “ปลายักษ์แห่งลำธารบนขุนเขาสูง”
ติดต่อ สวนยายสวย (นางปานจิตร สายสวาท) โทร. 06-5682-4879
อีกหนึ่งความพิเศษของเมนูอาหารเมืองเบตงที่ขึ้นชื่อลือชาก็คือ ปลาจีน หรือ ปลาเฉาฮี้อ ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่มีต้นกำเนิดมาจากลุ่มน้ำแยงซีเกียงในประเทศจีน
ปลาจีน มีลำตัวทรงกระบอกสีขาวอมเขียว เกล็ดใหญ่ และเมื่อโตเต็มที่หนักได้หลายสิบกิโลกรัม แต่ที่ร้านอาหารจะรับซื้อไปทำอาหารจริงๆ ตัวจะไม่ใหญ่เกินไป แหล่งเพาะเลี้ยงที่ดีต้องอยู่ในลำธารบนขุนเขาที่อุดมสมบูรณ์ เงียบสงบปราศจากการรบกวน และที่สำคัญคือน้ำต้องเย็นและใสสะอาดมากด้วย ธรรมชาติป่าเขาของอำเภอเบตงจึงเหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเลี้ยงปลาชนิดนี้
เมนูอาหารที่นิยมนำปลาจีนมาทำ เช่น ปลาจีนนึ่งบ๊วย, ปลาจีนนึ่งซีอิ้ว, ปลาจีนนึ่งขิง, และปลาจีนแดดเดียว แหล่งเพาะเลี้ยงปลาจีนในเบตงบางแห่ง ยังทำสวนผลไม้อย่างทุเรียนหมอนทองปลูกควบคู่กันไปด้วย สนใจจะชิมต้องไปเที่ยวในเดือนสิงหาคมนะจ๊ะ
SPECIAL THANKS โครการ ‘ซาลามัตชายแดนใต้’ จ.นราธิวาส-ยะลา-ปัตตานี
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ททท สำนักงานนราธิวาส-ยะลา-ปัตตานี โทร. 0-7352-2411 , 0-7354-2345