ภาคอีสาน

ราตรีผ้าไหม สายใยข้าวหอมมะลิ 2557 จ.สุรินทร์

ผ้าไหม เป็นหนึ่งในหัตถกรรมสิ่งทอพื้นบ้านที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน แพรพรรณนี้มีความโดดเด่น ต่างจากเนื้อผ้าชนิดอื่นอย่างเห็นได้ชัด เพราะผ้าไหมมีเนื้ออันอ่อนนุ่ม มันวาวสะท้อนแสง เลอค่าน่าสวมใส่ จึงเป็นที่นิยมใช้กันทั้งในระดับราชสำนักชั้นสูง กระทั่งถึงระดับขุนนาง ข้าราชการ พ่อค้าวาณิชย์ และประชาชนทั่วไป ผ้าไหมจึงเป็นแพรพรรณอันทรงคุณค่าที่สะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นไทยได้ยอดเยี่ยม

ราตรีผ้าไหม 1

ราตรีผ้าไหม 2

แต่หากจะสืบสาวประวัติของผ้าไหมย้อนไปในอดีต ทำให้ทราบว่าผ้าไหมมีต้นกำเนิดขึ้นในอินเดีย และจีน จากนั้นจึงค่อยๆ แพร่เข้าสู่แผ่นดินสุวรรณภูมิผ่านทางการค้าขาย มีการค้นพบว่าตั้งแต่สมัยบ้านเชียง หรือประมาณ 3,000-5,000 ปีมาแล้ว ผู้คนบนผืนดินสุวรรณภูมิก็มีการใช้ผ้าไหมกันในชีวิตประจำวันแล้ว กระทั่งย่างเข้าสู่สมัยสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา ผ้าไหมก็ยิ่งเป็นที่นิยมแพร่หลายอย่างกว้างขวาง มีการพัฒนาลวดลายและเทคนิคการทอให้ซับซ้อนยิ่งขึ้น ตามการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับต่างชาตินั่นเอง กล่าวกันว่าผ้าไหมไทยมีวิวัฒนาการแบ่งเป็น 3 ยุค คือยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นช่วงรัชกาลที่ 1-3 (ซึ่งสยามยึดประเทศโดยรอบในแถบบอุษาคเนย์ไว้ได้เกือบทั้งหมด) ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และปัจจุบันเป็นยุคที่สาม ภายใต้พระบรมราชานุเคราะห์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชนินีนาถ ทรงจัดตั้งศูนย์ศิลปาชีพขึ้นเพื่ออนุรักษ์ผ้าไหมไทยมิให้สูญหาย สนับสนุนช่างทอให้มีงานทำมีรายได้ อีกทั้งยังเป็นการพัฒนารูปแบบลวดลายให้ร่วมสมัย น่าสวมใส่ จากไหมไทยบ้านๆ แบบเดิมๆ มาบัดนี้ก้าวไปสู่ต่างแดนได้อย่างสง่าผ่าเผย

ราตรีผ้าไหม 3

ราตรีผ้าไหม 4

 ดินแดนอีสานตอนล่างของสยามในบริเวณจังหวัดสุรินทร์ เป็นถิ่นที่มีผู้คนอพยพข้ามแดนมาตั้งรกราก จากฝั่งประเทศกัมพูชาเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ช่วงสมัยรัชกาลที่ 1-3 พวกเขาเหล่านี้ไม่ได้มาตัวเปล่า แต่นำความชำนิชำนาญการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าไหมติดตัวมาด้วย ช่างทอฝีมือยอดเยี่ยมนับไม่ถ้วน ช่วยกันรังสรรค์ผืนผ้าล้ำค่าด้วยลวดลายวิจิตรพิสดารจนลือเลื่องไปทั่วแดน จนบัดนี้ นอกจากสุรินทร์จะเป็นถิ่นสุดยอดข้าวหอมมะลิไทยแล้ว ยังถือเป็นสุดยอดแห่งดินแดนผ้าไหมอีกด้วย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสุรินทร์ ร่วมกับบัตรเครดิตกสิกรไทย จึงร่วมกันจัดงานกาล่าดินเนอร์สุดหรู “ราตรีผ้าไหม สายใยข้าวหอมมะลิ” เมื่อค่ำของวันที่ 12 กรกฎาคม 2557 ณ โรงแรมทองธารินทร์ อำเภอเมืองจังหวัดสุรินทร์ โดยมีแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก อาทิ นายสามพร มณีไมตรีจิต ผู้อำนวยการกองตลาดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, นายชูเกียรติ โพธิโต ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานสุรินทร์ และ อาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ผู้นำหมู่บ้านทอผ้าไหมยกทองจันทร์โสมา โดยท่านผู้นี้เป็นหนึ่งในกูรูผู้เชี่ยวชาญแนวหน้าเรื่องผ้าไหมไทย ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง เพราะท่านเคยทำงานรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคบาทสมเด็จพระนางเจ้าฯ อย่างใกล้ชิดในเรื่องผ้าไหมของศูนย์ศิลปาชีพมาอย่างช้านานแล้ว

ราตรีผ้าไหม 5

 งานกาล่าดินเนอร์ ราตรีผ้าไหม สายใยข้าวหอมมะลิ เป็นการจัดงานเพื่อเชิดชูคุณค่าความสำคัญ ของผ้าไหมและข้าวหอมมะลิ อันเป็นสุดยอดสองผลผลิตท้องถิ่นของสุรินทร์ให้เป็นที่ประจักษ์อีกครั้งหนึ่ง ข้าวหอมมะลิสุรินทร์ถือเป็นสินค้า OTOP ระดับพรีเมียม เพราะเติบโตขึ้นจากคุณค่าอุดมของดินภูเขาไฟ เป็นข้าวหอมมะลิที่อ่อนนุ่มน่าทาน กลิ่นหอม และมีวิตามินสูง ส่วนไหมสุรินทร์แบบดั้งเดิมของชาวเขมรนั้น นอกจากจะมีผ้าอัมปรมและหมี่โฮล ลักษณะเป็นผ้าไหมเนื้อบางนุ่มนิ่ม ทอเป็นลายตารางเล็กลายถี่ และใช้สีแดงสีส้มเป็นหลักแล้ว ปัจจุบันยังมีการพัฒนายกระดับขึ้นด้วยลวดลายโบราณ ยกดิ้นเงินดิ้นทอง ดังที่ปรากฏที่บ้านท่าสว่าง ตำบลท่าสว่าง อำเภอเมืองสุรินทร์ ซึ่งส่วนใหญ่ทอผ้าเฉพาะที่สั่งพิเศษ เพื่อส่งเข้าไปใช้ในสำนักพระราชวัง งานกาล่าดินเนอร์คืนนี้จึงนำผ้าไหมบ้านท่าสว่างมาเป็นนางเอกกว่า 10 ชุด โดยใช้นางแบบนายแบบสุดสวยสุดหล่อ ซึ่งเป็นชุดเดียวกับที่เคยเดินแบบให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทอดพระเนตรมาแล้ว อาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย แห่งบ้านท่าสว่าง จึงเข้ามาดูแลและให้ความรู้ด้วยตัวเอง

ราตรีผ้าไหม 6

 ก่อนโชว์ชุดผ้า มีการแสดงพื้นเมืองของสุรินทร์ให้ชมให้ฟังกันด้วย

ราตรีผ้าไหม 7

 วินาทีที่ทุกคนในงานรอคอยก็มาถึง เมื่อการโชว์นางแบบผ้าไหมไทยโบราณที่หาชมได้ยากยิ่งเริ่มขึ้น อาจารย์วีรธรรมค่อยๆ นำนางแบบพร้อมผู้ช่วยออกมาสาธิตวิธีการนุ่งห่มผ้าไหมไทย ตามอย่างแนวประเพณีโบราณให้เราได้ชมทีละขั้นทีละตอนอย่างละเอียด โดยอธิบายว่า แต่เดิมการนุ่งผ้าของชาวสยามเรียกว่า “การนุ่งห่ม” เนื่องจากในอดีตเรานิยมใช้ผ้าผืนที่ไม่มีการตัดเย็นเป็นชุด มาห่มคลุมร่างกายโดยตรง ท่อนบ่นใช้ผ้าห่มให้เข้ารูปแทนเสื้อ ส่วนท่อนล่างใช้ผ้าผืนนุ่งเป็นโจง (โจงกระเบน) ลักษณะเป็นผ้าสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว เนื้อผ้าและลวดลายต่างกันไปตามฐานะ บรรดาศักดิ์ และความชอบ ส่วนพระมหากษัตริย์และพระราชินีจะผ้าที่มีลวดลายเนื้อดีทอเป็นพิเศษ บางคนมองว่าการนุ่งห่มผ้าแบบไทยโบราณนั้นจะทำให้ใช้ชีวิตประจำวันไม่ค่อยสะดวก แต่จริงๆ แล้วไม่เป็นเช่นนั้น เพราะคนสยามมีวิธีนุ่งผ้าได้ในทุกโอกาส ทั้งเพื่อการทำงานที่ต้องการคล่องตัว นุ่งให้ทะมัดทะแมง นุ่งให้สวยงาม และการนุ่งผ้ามงคล

ราตรีผ้าไหม 8

ราตรีผ้าไหม 9

ราตรีผ้าไหม 10

การแต่งกายในสมัยรัตนโกสินทร์ช่วงรัชกาลที่ 1-3 สตรีนิยมนุ่งผ้าจีบและห่มสไบเฉียง ต่อมาช่วงรัชกาลที่ 4-5 นิยมนุ่งผ้าโจงกระเบนห่มสไบทับเสื้อแขนกระบอก สมัยรัชกาลที่ 6 นิยมนุ่งโจงกระเบนและนุ่งซิ่น แต่ในสมัยรัชกาลที่ 7 ผู้คนเริ่มนุ่งซิ่นกันอย่างแพร่หลาย และใส่เสื้อตัวยาว ไม่นิยมโจงกระเบนเท่าใดนัก ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 9 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงออกแบบเครื่องแต่งกายที่ประยุกต์มาจากโบราณ แต่ยังคงแสดงออกถึงความเป็นไทย และทรงพระราชทานนามว่า “ชุดไทยพระราชนิยม” ซึ่งปัจจุบันถือเป็นชุดไทยประจำชาติของสตรีด้วย

ราตรีผ้าไหม 12

ราตรีผ้าไหม 13

ราตรีผ้าไหม 14

 หน้างานกาล่าดินเนอร์ ราตรีผ้าไหม สายใยข้าวหอมมะลิ มีการออกร้าน และสาธิตทอผ้าไหมโบราณของสุรินทร์ อย่างผ้าหมักโคลนภูเขาไฟสีส้มอมน้ำตาล เนื้อนุ่มน่าใช้ สีติดทนนาน

ราตรีผ้าไหม 17

 ประวัติของชุดไทยพระราชนิยมนั้นน่าสนใจมาก คือในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรปและสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ เมื่อปี พ.ศ. 2503 ทรงพระราชทานพระราชดำริว่า สมควรที่จะสรรค์สร้างการแต่งกายชุดไทยให้เป็นไปตามประเพณีที่ดีงาม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศึกษาค้นคว้าเครื่องแต่งกายสมัยต่างๆ จากพระฉายาลักษณ์ของเจ้านายฝ่ายใน และปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์ ควบคู่กับการปรับปรุงพัฒนาให้เหมาะสมกับกาลสมัย ทรงเสนอรูปแบบที่หลากหลายและได้ฉลองพระองค์เป็นแบบอย่างด้วย ทั้งได้พระราชทานให้ผู้ใกล้ชิดแต่งและเผยแพร่ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น มี 8 ชุด คือ ชุดไทยเรือนต้น ชุดไทยจิตรลดา ชุดไทยอมรินทร์ ชุดไทยบรมพิมาน ชุดไทยจักรี ชุดไทยดุสิต ชุดไทยจักรพรรดิ์ และชุดไทยศิวาลัย ชุดไทยพระราชนิยมเหล่านี้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงใช้ในโอกาสและสถานที่ต่างๆ จนเป็นที่รู้จักแพร่หลายและชื่นชมไปทั่วทั้งในและต่างประเทศ

ราตรีผ้าไหม 18

ราตรีผ้าไหม 19

 คืนนี้เราได้ตื่นตาตื่นใจกับนางแบบโฉมงามในชุดไทยจักรพรรดิ์และชุดไทยศิวาลัย ที่มีเครื่องประดับสร้อยสังวาล ทับทรวง กำไล ต่างหู และเข็มขัดทองเหลืองอร่าม เนื้อผ้าไหมลายวิจิตรพิสดารสลับซับซ้อน หลากสี อวดลวดลายโบราณหลากหลาย เนื้อผ้าพลิ้วไหวไปตามจังหวะการเดินของนางแบบนายแบบ เมื่อผ้าต้องแสงไฟก็สะท้อนแวววาวอย่างน่ามอง นับเป็นความอัศจรรย์ของผ้าไหมไทยที่ไม่มีผ้าใดมาเทียบได้ เช่นเดียวกับผ้าสไบจีนผืนยาวที่ห่มพาดเฉวียงบ่าของนางแบบ ยามเดินเยื้องย่างไปอย่างแช่มช้า ก็พลิ้วไหวลู่ลมอย่างน่ามอง แต่ละชุดค่อยๆ เดินผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนออกมาโชว์อย่างจุใจ

ราตรีผ้าไหม 20

ราตรีผ้าไหม 21

Traveler’s Guide :

How to go : รถยนต์เดินทางจากกรุงเทพฯ-สุรินทร์ ไปได้ 2 เส้นทาง คือ ทางแรกใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) จนถึงสระบุรี เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ไปจนถึงนครราชสีมา แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 226 ผ่านบุรีรัมย์จนถึงสุรินทร์ รวมระยะทาง 434 กิโลเมตร หรืออีกเส้นทางหนึ่ง ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 ไปจนถึงสระบุรี เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2 ไปจนถึงอำเภอสีคิ้ว แล้วเข้าทางหลวงหมายเลข 24 (โชคชัย-เดชอุดม) ผ่านอำเภอโชคชัย อำเภอนางรอง อำเภอประโคนชัย เลี้ยวซ้ายเข้าเส้นทางหมายเลข 214 ที่อำเภอปราสาท ไปจนถึงจังหวัดสุรินทร์ รวมระยะทาง 450 กิโลเมตร

Where to stay : โรงแรมทองธารินทร์ โทร. 0-4451-4281-8 เว็บไซต์ www.thongtarinhotel.com

More info : ททท. สำนักงานสุรินทร์ โทร. 0-4451-4447-8 เฟสบุ๊ค www.facebook.com/tatsurin

เที่ยวบ้านท่าสว่าง ถิ่นผ้าไหม 1,416 ตะกอ! จ.สุรินทร์

บ้านท่าสว่าง 1

“กลุ่มทอผ้ายกทอง จันทร์โสมา” แห่งบ้านท่าสว่าง ตำบลท่าสว่าง อำเภอเมืองฯ จังหวัดสุรินทร์ เป็นหมู่อาคารเรือนไทยหลายหลังในสวนสวยแมกไม้ใหญ่ร่มรื่น ที่นี่มีทั้งส่วนอาคารพิพิธภัณฑ์ของสะสม ของท่านอาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย แกนนำกลุ่มจันทร์โสมา ที่มีจุดเด่นในการอนุรักษ์และฟื้นฟูผ้ายกทองชั้นสูงแบบราชสำนักไทยโบราณ โดยการนำใยไหมเส้นเล็กละเอียด (ไหมน้อย) มาย้อมสีธรรมชาติ ด้วยเทคนิคโบราณผสานกับการออกแบบลวดลายที่วิจิตรเหมือนในอดีต เช่น ลายเทพพนม ลายหิ่งห้อยชมสวน ลายก้านขดเต้นรำ ลายครุฑยุดนาค ฯลฯ ผสานกับลายผ้านุ่งที่คนสุรินทร์นิยมอยู่แล้ว คือ ลายอัมปรม ลายสาคู ลายสมอ ลายละเบิก ลายลูกแก้ว มีการใช้เส้นไหมกะไหล่ทองปั่นควบกับเส้นไหม ถักทอเป็นผ้าไหมยกทองอันวิจิตรงดงามอย่างเหลือเชื่อ ยิ่งกว่านั้นบ้านท่าสว่างยังได้รับการสนับสนุนจากสำนักพระราชวัง และมูลนิธิในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ จนได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ทอผ้าไหมมอบให้กับผู้นำเอเปค เมื่อปี พ.ศ. 2546 บ้านท่าสว่างจึงเป็นที่รู้จักนับแต่นั้น

บ้านท่าสว่าง 3

สาวน้อยแห่งบ้านท่าสว่าง วันนี้มาช่วยคุณป้าคุณน้าย้อมสีธรรมชาติสวยๆ ให้เราชมด้วย

บ้านท่าสว่าง 4

บ้านท่าสว่าง 5

 คุณยายใช้เส้นใยจากใบไม้มาเตรียมไว้มัดเส้นไหม เตรียมลงย้อมในหม้อสีที่ต้มไว้เดือดๆ โดยย้อมทีละมัดๆ อย่างประณีต

บ้านท่าสว่าง 6

บ้านท่าสว่าง 7

จากทางเข้าด้านหน้า เราค่อยๆ เดินชมนกชมไม้เข้ามาสู่โรงย้อมผ้าสีธรรมชาติ ที่มีชาวบ้านกำลังช่วยกันนำเส้นไหมลงย้อมในหม้อบนเตาฟืนควันฉุย หม้อสีครามให้สีน้ำเงินสดใส หม้อน้ำต้มครั่งได้สีแดงชาติเตะตา หม้อน้ำจากต้นเขให้สีเหลืองแจ่มกระจ่างตา สีส้มได้จากดอกคำแสด สีเขียวมะกอกได้จากแก่นขนุน สีดำได้จากผลมะเกลือ สีน้ำตาลได้จากต้นหมาก และสีม่วงได้จากต้นหว้า เป็นต้น เมื่อนำผืนผ้าสีธรรมชาติมาทอผสมผสานกับไหมยกทองโบราณ ด้วยลวดลายที่มีความพิเศษของ อาจารย์วีรธรรม แล้ว ก็ยิ่งทำให้ผ้าไหมบ้านท่าสว่างกลายเป็นแพรพรรณอันเล่อค่าจนไม่น่าเชื่อ

บ้านท่าสว่าง 8

 สีธรรมชาติจากพรรณไม้ต่างๆ นำมาจากมใบไม้, เปลือกไม้, แก่นไม้ แช่น้ำทิ้งไว้ค้างคืน แล้วนำมาเติมน้ำต้มให้เดือดควันฉุย จากนั้นนำมัดเส้นไหมหรือฝ้ายมาย้อมหลายครั้ง จนสีติดดี ได้สีเข้มตามต้องการ นี่คือเทคนิคการย้อมแบบร้อน

บ้านท่าสว่าง 9

 พอย้อมสีเส้นไหมเสร็จแล้ว ก็นำมาตากให้แห้งในที่ร่มลมโกรก

บ้านท่าสว่าง 10

บ้านท่าสว่าง 11

จากเรือนย้อมผ้า เราสาวเท้าเข้าไปที่เรือนทอผ้า และก็ต้องตื่นตาอีกครั้งกับกี่ทอผ้าขนาดยักษ์ของที่นี่ เพราะกี่ทอผ้าแต่ละอันของบ้านท่าสว่างนั้นมีความสูงกว่า 2-3 เมตร! สูงเท่าตึกเกือบสองชั้น! แต่ละกี่ต้องใช้คนช่วยกันทอ 4-5 คน! เพราะผ้าไหมบ้านท่าสว่างมีมากถึง 1,416 ตะกอ! จึงต้องอาศัยทักษะและทีมเวิร์กขั้นสูง เพราะต้องมีคนช่วยยกตะกอ 2-3 คน คนสอดไม้ 1 คน และคนทออีก 1คน เป็นความซับซ้อนทางด้านเทคนิคการทอ จนได้ผลงานเพียงวันละ 6-7 เซนติเมตรเท่านั้น! ช่างทอซึ่งเป็นคุณป้าคุณยายเล่าให้ฟังว่า ผ้าลายพิสดารที่อยู่บนกี่นี้ล้วนมีคนสั่งทอทั้งสิ้น ผืนหนึ่งยาว 3 เมตร ราคาก็ไม่ต่ำกว่า 1.5-2.5 แสนบาท! และต้องช่วยกันทุ่มเทแรงกายแรงใจทอนานหลายเดือนเลยทีเดียว เราสอบถามท่านว่ามีลูกหลานรุ่นใหม่มาร่ำเรียนสืบทอดวิชาทอผ้าบ้างหรือไม่? คุณป้ามองหน้ากันแล้วยิ้ม ตอบว่า “แทบไม่มีคนรุ่นใหม่มาสืบทอดวิชาทอผ้าเลย! สักวันมันคงสูญหายแน่นอน” เรื่องนี้จะจริงหรือไม่ เราไม่แน่ใจ แต่คงเป็นการบ้านที่ผู้รับผิดชอบต้องช่วยกันอนุรักษ์สืบสานมรดกของชาติแขนงนี้ไว้ให้ได้

บ้านท่าสว่าง 12

 กี่ทอผ้ายักษ์แห่งบ้านท่าสว่าง แต่ละอันสูงกว่า 3 เมตร! ไม่ต่างจากตึก 3 ชั้น ที่มีทั้งชั้นล่าง ชั้นกลาง ชั้นบน ใช้ช่างทอที่มีความชำนาญสูงช่วยกันกี่ละไม่ต่ำกว่า 4-5 คน นับเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านขนานแท้ ที่สร้างความซับซ้อนบนผืนผ้าขึ้นมาได้

บ้านท่าสว่าง 13

 เสน่ห์ของสีธรรมชาติ คือ Colour Variation เป็นความหลากหลาย ความต่างของสีที่ไม่เท่ากันเลยในการย้อมแต่ละครั้ง ได้สีเข้มอ่อนตามการย้อม การผสม และวัสดุธรรมชาติที่ก่อกำเนิดสี ยิ่งใช้ยิ่งสวย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาก

บ้านท่าสว่าง 14

 หม้อหมักคราม ต้องหมั่นดูแลเพื่อไม่ให้ครามเน่า ชาวบ้านเรียกว่าครามยังมีชีวิต ถ้าครามเน่าเสีย หรือครามตายแล้ว จะเรียกว่า ครามหนีไปแล้ว!

บ้านท่าสว่าง 16

บ้านท่าสว่าง 17

 ลวดลายอันสวยงาม สลับซับซ้อน และวิจิตรพิสดาร ของผ้าไหมยกดิ้นทองบ้านท่าสว่าง ส่วนใหญ่จะเป็นการทำตามออร์เดอร์ โดยเฉพาะส่งเข้าวัง

บ้านท่าสว่าง 18

 นี่คือความสลับซับซ้อนของกี่ทอผ้าบ้านท่าสว่าง จริงๆ ยังมีลึกลงไปใต้ดินอีก โดยมีช่างประจำอยู่ด้านล่าง ไม้ไผ่ซี่เล็กๆ ที่เห็นเรียกว่า “ตะกอ” ย่ิงมีจำนวนตะกอมาก ความซับซ้อนของลายก็ยิ่งสุดยอด!

บ้านท่าสว่าง 19

พอเดินชมสาธิตวิธีการทอผ้าไหมยกดิ้นทองในโรงทอแล้ว ก็ได้เวลาออกมาเดินช้อปปิ้งผ้าไหมบ้านท่าสว่าง อุดหนุนชาวบ้าน

สอบถามเพิ่มเติม ททท. สำนักงานจังหวัดสุรินทร์ โทร. 0-4451-4447-8

Traveler’s Guide :

การเดินทางสู่บ้านท่าสว่าง อยู่ในอำเภอเมืองจังหวัดสุรินทร์ โดยอยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศเหนือ 10 กิโลเมตร ใช้ถนนสายเกาะลอย-เมืองลิง (ทางหลวงชนบท สร.4026) จากตัวเมืองสุรินทร์ เป็นถนนลาดยางตลอด

เปิดให้เข้าชมเวลา 08.00-17.00 น. โทร. 08-9202-7009, 0-4455-8489-90 (อาจารย์วีระธรรม ตระกูลเงินไทย, คุณสุมาลี ติดใจดี)

บ้านคำปุน ร้อยใจสืบงานงานศิลป์ จ.อุบลราชธานี

บ้านคำปุน 6

บ้านคำปุน อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านการอนุรักษ์ผ้าไหมไทยโบราณ ซึ่งมีความพิเศษสุดๆ เพราะจะเปิดให้คนทั่วไปได้เข้าชมเพียงปีละ 3 วันเท่านั้น ในช่วงวันเข้าพรรษา ใครที่เคยชมภาพยนตร์ยิ่งใหญ่ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรทุกภาค ผ้าไทยที่ใช้ในการถ่ายทำล้วนสั่งทอมาจากบ้านคำปุนทั้งสิ้น

บ้านคำปุน 1

บ้านคำปุน 7

บ้านคำปุนเป็นหมู่เรือนไทยในพื้นที่กว่า 6 ไร่ สร้างขึ้นโดยคุณมีชัย แต้สุริยา อดีตสจ๊วตการบินไทย ผู้มีความรักความชอบผ้าไทยเป็นทุนเดิมมาตั้แต่เด็กๆ แล้ว มาวันนี้เขาได้สร้างอาณาจักรผ้าไทยของตัวเองขึ้นมา โดยนำชาวบ้านที่มีฝีมือทอผ้าเข้าสู่โรงทอผ้าบ้านคำปุน ผลิตผ้าทอยกเส้นเงินเส้นทองลายโบราณ ทั้งเพื่อการสะสม ใช้งานจริง และใช้ในพระราชพิธีสำคัญ ในเรือนแต่ละหลังมีกิจกรรมย้อนยุคแบบไทยๆ ให้เราได้มีส่วนร่วมหรือชื่นชม ทั้งขั้นตอนการสาวไหม การทอผ้า การร้อยพวงมาลัย การจัดพุ่มบายศรี ฯลฯ แต่ที่ดูจะได้รับความสนใจมากที่สุด คือเสียงดนตรีจากวงกันตรึม พร้อมด้วยการฟ้อนประกอบอย่างน่ามอง

บ้านคำปุน 8

 ก่อนผ้าไหมจะกลายเป็นผืนสวยงามน่าสวมใส่ ก็ต้องเกิดจากจุดนี้ คือเริ่มสาวไหมออกจากรังไหม ไปม้วนไว้ในหลอดด้าย

บ้านคำปุน 9

 เส้นไหมที่ได้รับการร้อยเรียงอย่างดี มีทั้งเส้นพุ่งและเส้นยืน ตัดกันไปมาจากการทออันเชี่ยวชาญของช่างที่มีประสบการณ์ ซึ่งได้มารวมตัวกันอยู่ ณ บ้านคำปุนแห่งนี้

บ้านคำปุน 11

 ไหมในหลอดด้าย จากเส้นเดี่ยวๆ ค่อยๆ รวมตัวกลายเป็นผืนผ้าอันเลอค่า

บ้านคำปุน 12

บ้านคำปุน 13

หนอนไหมที่โตเต็มที่ แต่ยังกินใบหม่อนไม่หยุด เพื่อสะสมอาหารไว้ในระยะเข้าดักแด้ สร้างรังไหม แต่ละตัวตั้งหน้าตั้งตากินกันทั้งวันเลย

บ้านคำปุน 16

บ้านคำปุน 17

 บ้านคำปุนมีร้านขายผลิตภัณฑ์ผ้าไหมอยู่ในตัวเมืองอุบลราชธานีด้วย มีทั้งผ้าผืน และชุดตัดสำเร็จ สำหรับท่านหญิง และท่านชาย

บ้านคำปุน 2

 ในช่วงที่เปิด 3 วัน บ้านคำปุนจะนำการแสดงเด่นๆ จากหลายจังหวัดในภาคอีสานมาโชว์ให้ชมด้วย เพื่อเป็นการสืบสานงานศิลป์แขนงนี้ให้คงอยู่ต่อไป

บ้านคำปุน 3

 แม้แต่การฟ้อน และเล่นลาวกระทบไม้แบบสุรินทร์ ก็มีแสดงให้ชมที่นี่ด้วย

บ้านคำปุน 4

 ฟ้อนสุรินทร์ ณ บ้านคำปุน งามอ่อนช้อย น่าชม

บ้านคำปุน 5

 สอบถามเพิ่มเติม ที่ ททท. สำนักงานอุบลราชธานี โทร. 0-4524-3770, 0-4525-0714

Traveler’s Guide :

บ้านคำปุน เปิดให้เข้าชมปีละ 1 ครั้ง ในช่วงเทศกาลแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี ประมาณ 3 วัน ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ถึงต้นเดือนสิงหาคม (แต่ละปีไม่แน่นอน) เวลา 09.00-17.00 น. โดยจำหน่ายบัตรเข้าชม คนละ 100 บาท เพื่อจัดหารายได้ในการบริจาค เพื่อสาธารณะกุศล สอบถามเพิ่มเติมที่ บ้านคำปุน โทร. 0-4532-3452 หรือที่ร้านคำปุน Fmi. โทร. 0-4525-4830

ดูสายหมอกหยอกล้อทุ่งกระเจียวบาน ป่าหินงาม จ.ชัยภูมิ

T2

เมื่อสายฝนเย็นฉ่ำพร่างพรมลงบนทุ่งหญ้าบนเทือกเขาพังเหย แห่งอำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ก็จะเกิดปรากฏการณ์มหัศจรรย์ธรรมชาติ ทุ่งดอกกระเจียวบานรับสายฝน นับแสนๆ ดอก แข่งกันอวดความงาม!T3

ในอุทยานแห่งชาติป่าหินงาม อำเภอเทพสถิต มีการจัดทำเป็นสะพานยกระดับเตี้ยๆ ให้นักท่องเที่ยวเดินชมทุ่งกระเจียว จะได้ไม่ลงไปเดินมั่ว เหยียบย่ำทุ่งกระเจียวจนเสียหาย

T4

 ดอกกระเจียว หรือบัวสวรรค์ เป็นพรรณไม้ในวงศ์ขิงข่าที่สวยงาม กลีบสีชมพูที่เห็นแท้จริงไม่ใช่ดอก แต่เป็นใบประดับ (ภาษาวิชาการพรรณไม้เรียกว่า Bract) ส่วนดอกจริงๆ เป็นดอกเล็กๆ สีขาวนั่นเอง กระเจียวในป่าหินงาม จะขึ้นอยู่คู่กับหญ้าเพ็กในป่าเต็งรังบนเขาพังเหย

T5

T6

 แอบสังเกตใกล้ๆ จะมีแมลงหลายชนิดแอบมาดูดกินน้ำหวานจากดอกกระเจียวด้วย น่ารักมากๆ

T7

T8

T9

 ดอกข่าลิงสีเหลือง เป็นพรรณไม้ในวงศ์ขิงข่าอีกชนิด ที่มักจะออกดอกในฤดูฝนเมื่อความชุ่มชื้นพอเพียง พบมากตามเส้นทางจากทุ่งกระเจียวไปสู่ผาสุดแผ่นดิน

T10

ผาสุดแผ่นดิน เป็นจุดสูงสุดของเทือกเขาพังเหยในอำเภอเทพสถิต สูงประมาณ 846 เมตรจากน้ำทะเล ถือเป็นจุดแบ่งภาคกลางและภาคอีสานออกจากกัน

T11

นั่งชมสายหมอกขาวลอยฟุ้งขึ้นมาจากหุบเขาเบื้องล่าง สู่ผาสุดแผ่นดิน

T12

 มาทำซึ้งกันที่ผาสุดแผ่นดิน น่าอิจฉาจัง!

T19

 หินรูปถ้วยฟุตบอลโลก ในป่าหินงาม มองจากมุมนี้เหมือนมากๆ เลย

T13

อีกมึมหนึ่งของหินถ้วยฟุตบอลโลก กับเด็กๆ ที่เข้าไปเดินเที่ยวศึกษาธรรมชาติในป่าหินงาม

T14

T15

T16

T17

T18

 หินรูปจานเรด้าห์ในป่าหินงาม

T20

T21

 จากลานจอดรถ เวลาจะเข้าไปเที่ยวทุ่งกระเจียวและป่าหินงาม ต้องนั่งรถพ่วงของทางอุทยานต่อเข้าไป เพื่อไม่ให้เกิดจราจรติดขัด ความวุ่นวาย และควันพิษรบกวนธรรมชาติ

T22

Traveler’s Guide

Best season : ดอกกระเจียวบานเยอะและสวยที่สุดช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ทุกปี

How to go : รถยนต์ส่วนตัว จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 ผ่านจังหวัดสระบุรีไปทางสามแยกพุแค แล้วเลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 21 สู่บ้านลำนารายณ์ จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 205 เส้นทางลำนารายณ์-ลำสนธิ-เทพสถิต-หนองบัวโคก-นครราชสีมา ระยะทางประมาณ 48 กิโลเมตร ก่อนถึงที่ว่าการอำเภอเทพสถิตประมาณ 1 กิโลเมตร ให้เลี้ยวซ้ายไปอำเภอหนองบัวระเหวตามทางหลวง หมายเลข 2354 ไป 15 กิโลเมตร แล้วแยกซ้ายเข้าบ้านไร่เป็นระยะทางอีก 14 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติป่าหินงาม และทุ่งกระเจียวบาน

Where to stay : แนะนำ บ้านทุ่งดอกกระเจียว ไฮแลนด์รีสอร์ท จองผ่าน www.booking.com หรือ www.agoda.co.th / เทพสถิตวิวล์ รีสอร์ท โทร. 08-0372-8811, 0-4485-5255 www.thepsatitview.com

What to eat : ใกล้ๆ กับทุ่งกระเจียวมีร้านอาหารเยอะมาก เลือกชิมได้ตามสะดวก อาทิ ครัวป่ากระเจียว, ครัวบุญพร้อม, และครัวอีสาน ฯลฯ ตามริมทางมักมี “ข้าวโพดตักหงาย” ต้มขายอยู่ อย่าลืมแวะซื้อกิน อร่อยมาก หวานมัน หาชิมได้เฉพาะช่วงฤดูฝนนี้เท่านั้น

Souvenirs : ที่ปากทางเข้าทุ่งกระเจียว มีของที่ระลึกเก๋ๆ เป็นดอกกระเจียวประดิษฐ์สำหรับตั้งโชว์ ทำโดยกลุ่มแม่บ้านอำเภอเทพสถิต นอกจากนี้ยังมีพันธุ์ดอกกระเจียวบ้านใส่กระถางหรือถุงเพาะชำวางขาย ราคาไม่แพง ส่วนงานหัตถกรรมพื้นบ้านน่าสนใจของจังหวัดชัยภูมิ แนะนำ “ผ้าไหมบ้านเขว้า” เป็นผ้าไหมแน่นเนียน มันวาว เมื่อนำมาซักเนื้อผ้าไม่ยุบซึ่งถือเป็นลักษณะพิเศษของผ้าไหมที่นี่ ผ้าไหมมัดหมี่ลายขอน้อยเป็นงานที่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยสีที่นิยม คือ สีน้ำเงิน สีน้ำทะเล และสีเทา

More info : อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ โทร. 0-4489-0105 / อุทยานแห่งชาติไทรทอง อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ โทร. 0-4473-8428, 08-9282-3437 / การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานชัยภูมิ-นครราชสีมา โทร. 0-4421-3030, 04421-3666 อีเมลล์ tatsima@tat.or.th

Green Circle เลย-เพชรบูรณ์-พิษณุโลก

2

สีเขียว เป็นสีที่ดูแล้วสบายตาที่สุด โดยเฉพาะแมกไม้เขียวร่มครึ้ม ทุ่งหญ้าเขียวชอุ่ม และผืนป่าอุดม เหล่านี้ล้วนสะท้อนถึงความมั่งคั่งทางทรัพยากรธรรมชาติที่บ้านเรามีอยู่ เส้นทางท่องเที่ยวสาย “Green Circle” จากจังหวัดเลย-เพชรบูรณ์-พิษณุโลก เป็นหนึ่งในเส้นทางสีเขียวที่หลากหลายและสวยงามที่สุดของไทย ใครชื่นชอบป่าเขาลำเนาไพร สายน้ำ กิจกรรมสนุกๆ หรือต้องการชื่นชมวิถีวัฒนธรรมชุมชนก็มีพร้อม

9

“อุทยานแห่งชาติภูสวนทราย”  (อุทยานแห่งชาตินาแห้ว) ภูมิทัศน์ยามเช้าในขุนเขาช่างแสนคลาสสิก มีสายหมอกขาวค่อยๆ ลอยลงคลอเคลียผืนป่ารกชัฏเขียวครึ้ม ซึ่งก็คือหนึ่งในผืนป่าที่มีต้นค้อเหลืออยู่มากที่สุด เนื่องจากอดีตพื้นที่แถบนี้เคยมีการสู้รบ ป่าต้นค้อจึงถูกทำลายไปเกือบหมด ประกอบกับชาวบ้านนิยมเก็บลูกค้อมารับประทาน ทำให้ต้นค้อขยายพันธุ์ได้ยากยิ่งตามธรรมชาติ โชคดีที่ภูสวนทรายอนุรักษ์ป่าค้อผืนนี้ไว้ให้เราได้ยล พอเพ่งพินิจดีๆ ที่แท้เจ้าต้นค้นก็คือไม้วงศ์ปาล์มนั่นเอง มันมีลำต้นสูงชะลูดหลายสิบเมตร ยอดเป็นพุ่มกลมสูงเด่นจากยอดไม้ชนิดอื่นขึ้นมาเห็นได้ชัด

3

4

21

16

“พระธาตุศรีสองรัก” ศูนย์รวมศรัทธาคนเมืองเลยทั้งมวล นี่คือตัวแทนแห่งสัมพันธไมตรีระหว่างกรุงศรีอยุธยา และกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) ที่สืบต่อมาให้ลูกหลานได้สืบสานสมานฉัน แต่ผู้ที่จะขึ้นไปนมัสการ ต้องไม่สวมเสื้อผ้าสีแดง หรือนำวัตถุใดๆ ที่มีสีแดงขึ้นไปโดยเด็ดขาด เป็นธรรมเนียมมาแต่โบราณ บรรยากาศรอบองค์พระธาตุศรีสองรักสงบร่มเย็น กลิ่นอายอบอวลด้วยศรัทธาและกลิ่นธูปควันเทียน

17

“พิพิธภัณฑ์ผีตาโขนวัดโพนชัย” ซึ่งมีลักษณะเป็นบ้านทรงไทยสร้างด้วยไม้อย่างดี ภายในมีห้องจัดแสดงหุ่นผีตาโขนหลากสีหลายขนาด  ทั้งผีตาโขนเล็กที่คนทั่วไปเล่นกัน และผีตาโขนใหญ่ที่อนุญาตให้ทำได้ปีละ 2 ตัว เพื่อแห่ไปในวันพิธี จริงๆ แล้วงานผีตาโขนเป็นส่วนหนึ่งของงานบุญหลวง หรือบุญผะเหวด ที่รวมเอางานเทศมหาชาติ งานแห่พระเวสสันดร (แห่ผีตาโขน) และงานบุญบั้งไฟ ไว้ในงานเดียวกัน ปกติจัดขึ้นช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม มักตรงกับวันเสาร์-อาทิตย์ หลังขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ทุกปี หลังงานนมัสการพระธาตุศรีสองรักแล้ว

18

19

“วัดโพธิ์ชัย” อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย เก่าแก่กว่า 400 ปี สร้างแบบศิลปกรรมล้านนาผสมล้านช้าง (ลาว) ภายในโบสถ์ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวพุทธประวัติ และวิถีชีวิตท้องถิ่นอันน่าชม นับเป็นจุดที่น่าไหว้พระขอพรอย่างยิ่ง

14

“พระธาตุวัดผาแก้ว” มหาเจดีย์สีทองที่ทำให้เราตื่นตา ในความวิจิตรของลวดลาย และตะลึงกับขนาดอันใหญ่โตโอฬาร ซึ่งมีทั้งสถานปฏิบัติธรรม สวนสวย และองค์พระธาตุที่มีลวดลายไม่เหมือนใคร คือใช้ทองคำ เงิน และเพชรนิลจินดาแท้ๆ มาประดับ ส่วนภายนอกก็ใช้กระเบื้องหลากสี ถ้วยชามสังคโลก และสร้อยหินสีล้ำค่ามาตกแต่ง งามราวเทพนฤมิตร

15

5

6

7

“อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง” บริเวณหน่วยหนองแม่นา จังหวัดพิษณุโลก มีสภาพเป็นทุ่งหญ้าสะวันนาเมืองไทย ในท้องทุ่งสีเขียวผืนใหญ่ที่มีต้นไม้งอกงามอยู่เป็นกลุ่มๆ ชวนให้นึกถึงภาพสัตว์ป่าพวกเก้งกวางที่ออกมากิน ถ้ามีเวลาพอต้องช่วยกันทำโป่งเทียม เพื่อให้สัตว์กินพืชที่ต้องการสารอาหารเพิ่มเติมแก่ร่างกายมากินกัน เราเดินจากที่ทำการหน่วยหนองแม่นาไป 500 เมตร จนถึงแหล่งดินโป่ง จึงช่วยกันขุดหลุม แล้วนำเกลือโรยลงไป รดน้ำ กลบดิน

8

14

ความสนุกคงยังไม่สิ้นสุด เสียงสายน้ำซัดซ่าในลำน้ำเข็ก อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก กำลังร้องเรียกเราอยู่ อดรนทนไม่ไหวเลยพากันเปลี่ยนชุดไปล่องแก่ง แต่ขอบอกว่าพิเศษกว่าทุกครั้ง เนื่องจากเป็นการ “ล่องแก่งเก็บขยะ” โดยชมรมรักษ์ลำน้ำเข็ก

12

เส้นทาง Green Circle สีเขียวเย็นตาในเขตเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ฉายาเก๋ไก๋ว่า “สวิตเซอร์แลนด์แดนสยาม” จะจริงหรือไม่? เราจะได้ชมทิวเขาสีเขียวสลับซับซ้อน ทอดยาว พร้อมด้วยสายหมอกขาวลอยเรี่ยละเมียดละไม อากาศที่เย็นฉ่ำตลอดปี ทำให้บนเขาค้อมีต้นสนงอกงามเป็นทิว มองๆ ไปคล้ายวิตเซอร์แลนด์จริงๆ ด้วย บนเขาค้อมีร้านกาแฟช่วง กม. 95 ของถนนพิษณุโลก-หล่มสัก ชื่อร้าน Route 12 จากจุดนี้สามารถชมทัศนียภาพขุนเขาได้กว้างไกลสุดลูกหูลูกตา ชวนกันไปนั่งจิบกาแฟ ชิมเค็กอร่อยๆ หรือดูดดื่มกาแฟลาเต้เย็นๆ แล้วเข้าไปนอนค้างแรมในรถบ้าน Camper Van ในสนามหญ้ากว้างของ Route 12 แสนคลาสสิกจริงๆ

11

Traveler’s Guide

How to go : เส้นทาง Green Circle เลย-เพชรบูรณ์-พิษณุโลก จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางอยุธยา-สระบุรี เข้าทางหลวงหมายเลข 21, 203, 2113, 2168 สู่อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย จากนั้นกลับลงมาอำเภอหล่มสัก ใช้ทางหลวงหมายเลข 12 เที่ยวบนเขาค้อ ป่าสนทุ่งแสลงหลวง ล่องแก่งลำน้ำเข็ก ขากลับแวะเมืองพิษณุโลกไหว้พระพุทธชินราช แล้วกลับกรุงเทพฯ โดยใช้เส้นทางพิษณุโลก-นครสวรรค์-อุทัยธานี-ชัยนาท-สิงห์บุรี-อ่างทอง-พระนครศรีอยุธยา-ปทุมธานี-กทม.

Where to stay : จังหวัดเลย PhuNaCome Resort โทร. 0-4289-2005-6 www.phunacomeresort.com / Phu Pha Nam Resort & Spa โทร. 0-4207-8078-9, 08-1407-7577 www.phuphanamresort.com / Rungyen Resort โทร. 0-4280-9511-3 www.rungyenresort.com สำหรับที่เขาค้อเพชรบูรณ์ แนะนำ Maethaneedol Resort & Restaurant โทร. 0-5675-0503-5 www.maethaneedolresort.com พิษณุโลก แนะนำ Rain Forest Resort โทร. 0-5529-3085-6 www.rainforestthailand.com

What to eat : ร้านอาหารที่เลย แนะนำ ร้านบ้านยาย เมนูเด็ด หมี่ผัดกะทิ โทร. 0-4283-3361, 08-5457-3573 ที่เพชรบูรณ์ แนะนำ ร้าน Eating Out Route 12 มีอาหารหนัก เค็ก และเครื่องดื่มเย็นๆ บริการ โทร. 08-1206-7211, 08-9527-1723 ที่พิษณุโลก แนะนำ Rain Forest มีแกงคั่วอกเป็ดรมควัน น้ำพริกป่าฝน หมูพันตะไคร้ ไอศกรีมเรนฟอเรสท์ ฯลฯ โทร. 0-5529-3085-6

Info : ชมรมรักษ์ลำน้ำเข็ก โทร. 08-1395-9575, 0-5529-3085-6 / อุทยานแห่งชาติภูสวนทราย โทร. 0-4280-7616 / อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง โทร. 0-5526-8019, 08-6208-2473

 

เขาใหญ่มรดกโลก อาณาจักรแห่งสรรพชีวิต

ณ มุมหนึ่งของพงไพรอันแสนลึกลับ รกชัฏ และกว้างใหญ่ไพศาล ดอกไม้ป่ายังคงเบ่งบาน ต้นไม้ใหญ่ยังคงยืนตระหง่านชูเรือนยอดขึ้นหาแสง เถาวัลย์ยังคงเกี่ยวกระหวัดเลื้อยพันทอดยาวไปในป่า อย่างมิมีที่สิ้นสุด ที่นั่นสรรพสัตว์น้อยใหญ่ยังคงออกดุ่มเดินหากินได้อย่างเสรี มีนกเงือก ชะนี ค่าง บ่าง กระรอก และนกป่าอีกนานาชนิด ครองความเป็นใหญ่บนเรือนยอดไม้สูงลิบ พวกมันส่งเสียงระงม สร้างสีสัน และความคึกคักให้ป่าผืนนี้มานับร้อยชั่วอายุคน ต่ำเตี้ยลงมาใกล้พื้นป่า ช้าง เสือ กระทิง วัวแดง เก้ง กวาง สมเสร็จ และส่ำสัตว์อีกนานาชนิด ยังคงบุกฝ่าลัดเลาะพงไพรหากินและผสมพันธุ์สืบทอดเผ่าพงศ์ จะหาป่าใดในยุคปี พ.ศ. นี้ในเมืองสยาม ที่อุดมเทียบผืนป่านี้ได้อีกเล่า

            นี่คือ “ป่าเขาใหญ่” หรือผืนป่าดงพญาเย็น ส่วนเสี้ยวแห่งตำนานป่าดงพงพีของอีสานใต้

2

ป่าเขาใหญ่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในผืนป่าที่คงความสมบูรณ์ที่สุดในปัจจุบัน ขณะที่ผืนป่าอื่นๆ หลายแห่งได้ถูกรุกล้ำทำลายแผ้วถางลงเกือบหมดแล้ว เนื้อที่ขนาด 1.3 ล้านไร่ กินอาณาเขตจังหวัดนครราชสีมา ปราจีนบุรี นครนายก และสระบุรี คืออาณาเขตไพศาลที่สามารถเก็บรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ของพืชและสัตว์นับไม่ถ้วนชนิด ดุจดังขุมขลังทางทรัพยากรธรรมชาติล้ำค่าที่ใช้ได้ไม่มีวันหมด หากเราเข้าใจและรู้จักใช้อย่างยั่งยืน

จะเรียกว่า “ป่าเขาใหญ่” คือปฐมบทแห่งการอนุรักษ์ผืนป่าไทยก็คงไม่ผิด เพราะเขาใหญ่เป็นอุทยานแห่งชาติแรกของไทย จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2505   ทุกวันนี้เราสามารถขับรถขึ้นเขาใหญ่ได้ใน 2 เส้นทาง คือจากทางด้านจังหวัดปราจีนบุรี ขึ้นเขาใหญ่ทางด่านตรวจเนินยายหอม ส่วนอีกทางหนึ่งขึ้นเขาใหญ่ทางด่าน กม. 23 (ศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่) ในด้านจังหวัดนครราชสีมา แต่ต้องขับช้าๆ นิดนะ เพราะอาจมีช้างเดินข้ามถนนไปมาได้เสมอ!

3

4

มาเขาใหญ่เขาทำอะไรกันนะ? คำถามนี้ตอบได้ง่ายดายซะเหลือเกิน เพราะบนเขาใหญ่มีกิจกรรมสำหรับคนรักธรรมชาติให้ทำชนิดที่เรียกว่า ตั้งแต่เช้าจรดเย็น และต่อเนื่องไปถึงค่ำคืนได้อย่างไม่น่าเบื่อ ถึงขนาดบางคนมาอยู่บนเขาใหญ่เป็นสัปดาห์ๆ เพื่อเดินป่า ส่องสัตว์ ดูผีเสื้อ หรือดูนกที่ตนเองชื่นชอบ เส้นทางเดินป่ายอดฮิตบนเขาใหญ่มีหลายเส้นทาง อาทิ ลานกางเต็นท์ผากล้วยไม้-น้ำตกเหวสุวัต, น้ำตกกองแก้ว-สนามกอล์ฟ, ที่ทำการอุทยานฯ-มอสิงโต, ที่ทำการอุทยานฯ-หนองผักชี, กม 33 – หนองผักชี, หน่วยพิทักษ์ป่าคลองปลากั้ง-น้ำตกวังเหว และที่ท้าทายมากกว่านั้นคือ เส้นทางเดินป่าขึ้นเขาสมอปูน ที่ต้องใช้เวลากว่า 3 วัน 2 คืน รอนแรมบุกป่าฝ่าดงขึ้นไปสัมผัสลานหินปูนชุ่มน้ำบนเขาสูง ซึ่งมีดอกไม้และพืชนานาชนิดงอกงามดารดาษ

5

6

ที่หนองผักชีมีหอดูสัตว์และโป่งให้เราเข้าไปซุ่มดูสัตว์ต่างๆ ที่จะออกมากินน้ำและเลียกินดินโป่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสัตว์กินพืช อย่างช้าง เก้ง กวาง กระทิง วัวแดง ฯลฯ เพราะสัตว์เหล่านี้กินแต่ใบไม้ จึงต้องการสารอาหารจากเกลือในดินเพิ่มความแข็งแรงให้ร่างกาย แต่ก็มักมีสัตว์ผู้ล่าแอบย่องออกมาจับสัตว์เหล่านี้กินอยู่เสมอๆ ไม่ว่าจะเป็นเสือโคร่งและหมาใน เคยมีคนจับภาพเสือโคร่งกินลิงได้มาแล้ว! การซุ่มดูสัตว์จริงๆ ต้องใช้เวลา ขึ้นอยู่กับจังหวะ โอกาส และความโชคดีของเรา ส่วนเครื่องแต่งกายก็ควรเป็นสีกลืนกับธรรมชาติ อย่างสีเขียวทึบๆ สีเทา และสีน้ำตาล ซุ่มดูกันเงียบๆ ไม่ส่งเสียงดัง ไม่ใส่น้ำหอม และควรมีกล้องส่องทางไกล

7

ถ้ายังไม่จุใจ เขาใหญ่ยังมีกิจกรรมส่องสัตว์ในยามราตรีให้ด้วย รถส่องสัตว์เป็นรถกระบะท้ายเปิด พร้อมไกด์และไฟสปอร์ตไลท์แรงสูงอย่างดี เส้นทางก็อยู่บนถนนเท่านั้น นักท่องเที่ยวห้ามลงจากรถเด็ดขาด เมื่อความมืดโรยตัวห่มคลุมจนทั่วอย่างสมบูรณ์แล้ว เวลาสักประมาณทุ่มหรือสองทุ่ม บนเขาใหญ่ก็มืดสนิท แสงไฟสาดส่องเป็นลำกวาดทะลุความมืด อากาศรอบตัวเย็นฉ่ำ เราอาจได้เห็นฝูงกวางป่านับสิบๆ ตัว กำลังยืนเกาะกลุ่มแทะเล็มหญ้าระบัดเขียวสดอยู่กลางทุ่งโล่ง พอไฟสาดไปโดนมันเข้า มันก็จะชูคอขึ้นมอง เห็นแววตาสะท้อนไฟพราวอยู่ในความมืดอันลึกเร้น ถัดมาไม่ไกล เราอาจเห็นหมาในและหมาป่ากำลังวิ่งไล่จับกระต่ายอยู่ เช่นเดียวกับเม่นใหญ่ที่เดินต้วมเตี้ยม ยักย้ายรูปร่างอ้วนๆ ของมันซึ่งเต็มไปด้วยหนามแหลม ดุ่มเดินอยู่ข้างถนน หากินรากไม้ รากไผ่ และเศษอาหาร แต่ที่น่าตื่นเต้นสุดคงต้องยกให้การพบเห็นโขลงช้างป่าออกมาหากินริมถนนบริเวณน้ำตกเหวนรก ภาพนั้นอาจทำให้หัวใจเต้นระส่ำไม่เป็นจังหวะเลยก็ว่าได้!

8

9

2 ชีวิตกลางป่าใหญ่ cha

10

ในช่วงกลางวัน กิจกรรมยอดฮิตของนักท่องเที่ยวก็คือการไปเที่ยวชมน้ำตกหลายแห่งบนเขาใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นน้ำตกเหวนรกอันน่าเกรงขาม น้ำตกเหวสุวัตที่มีสายน้ำไหลแรงซู่ซ่ากลางป่าเขียวตลอดปี น้ำตกผากล้วยไม้ ที่มีกล้วยไม้หวายแดงอันแสนหายากออกดอกให้ดูในฤดูร้อน รวมถึงน้ำตกอีกหลายแห่งทางด้านใต้ของอุทยานฯ ไม่ว่าจะเป็นน้ำตกผาตะแบก น้ำตกผากระจาย น้ำตกผาชมพู น้ำตกห้วยระย้า น้ำตกตาดตาภู่ และน้ำตกมะนาว เป็นต้น ตลอดทางเดินป่าสู่น้ำตกเหล่านี้ เราสามารถศึกษาพรรณไม้ อย่างเฟิน หวาย ปาล์ม เถาวัลย์ พืชวงศ์ขิงข่า และสภาพป่าที่มีทั้งป่าดงดิบชื้น ป่าดงดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณที่มีไผ่ขึ้นหนาแน่น บ่งบอกถึงความหลากหลายของระบบนิเวศเขาใหญ่

11

 น้ำตกเหวสุวัต เป็นน้ำตกที่มีชื่อเสียงเป็นรองก็แต่น้ำตกเหวนรกเท่านั้น

12

 น้ำตกผากล้วยไม้ แห่งเขาใหญ่

13

 รอบป่าเขาใหญ่มีน้ำตกหลายแห่ง เปิดโอกาสให้นักผจญภัยแบบ Extreme ไปพิสูจน์ฝีมือกัน!

15

พรรณไม้ที่น่าพิศวงและหายากมากของเขาใหญ่มีด้วยกันหลายชนิด ทั้ง “พิศวง” พืชกินซากรูปร่างพิลึก ที่ไม่มีคลอโรฟิลด์สีเขียวสังเคราะห์แสงสร้างอาหารเองได้ จึงชอบขึ้นอยู่ตามซากกองใบไม้ทับถมเน่าเปื่อยชื่นๆ เจ้านี่ไม่ธรรมดา เพราะค้นพบไม่กี่แห่งในโลกเท่านั้น เขาใหญ่จึงเป็นหนึ่งในบ้านอันปลอดภัยที่พิศวงเลือกอาศัย พืชมหัศจรรย์อีกชนิดคือ “กระโถนฤาษี” ญาติใกล้ชิดของบัวผุดทางภาคใต้ แต่กระโถนฤาษีมีดอกเล็กกว่า มีสิบกลีบสีแดง มันเป็นพืชกาฝากที่ดูดกินน้ำเลี้ยงจากเถาวัลย์ป่า ฝังตัวอยู่ในเถาวัลย์หรือรากไม้นั้น ดูดกินน้ำเลี้ยงและธาตุอาหารจากพืชเจ้าบ้าน รอวันส่งดอกขึ้นมาเบ่งบานเพื่อผสมพันธุ์ปีละไม่กี่วันเท่านั้น

17

 เขาใหญ่คือบ้านของนกเงือกที่อุดมสมบูรณ์มาก ในภาพนี้เป็นช่วงฤดูผสมพันธุ์ของนกเงือกผัวเมีย โดยตัวผู้ตาจะเป็นสีแดง ตัวเมียตาสีขาว

18

 ตามริมลำธารใสในป่าเขาใหญ่ มีโป่งผีเสื้อสวยๆ ให้ชมกันทั่วไป

19

 ชะนีมือขาว เป็นสัตว์ที่หากินอยู่บนยอดไม้ โดยตลอดชีวิตของมันจะไม่ลงมาที่พื้นเลย เพราะมันกินผลไม้ใบไม้เป็นหลัก และได้รับน้ำจากผลไม้หรือน้ำค้างที่มันดื่มกินอยู่แล้ว

21

 หวายแดง ที่น้ำตกผากล้วยไม้ เป็นพรรณไม้ป่าหายากชนิดหนึ่งของไทยในปัจจุบัน

22

เขาใหญ่วันนี้ได้รับการประกาศให้เป็น “ป่ามรดกโลก” เรียบร้อยแล้ว เราในฐานะคนไทยคนหนึ่ง จึงควรเข้าไปท่องเที่ยวอย่างรู้ค่า เพื่อให้เขาใหญ่ทำหน้าที่เป็นขุมขลังแห่งทรัพยากรธรรมชาติอันล้ำค่าได้ตลอดไป สมกับชื่อผืนป่าดงพญาเย็น ที่สร้างความร่มเย็นให้สรรพชีวิตมาแสนเนิ่นนาน

ong 0005

Traveler’s Guide

How to go : รถยนต์ จากปากช่องนครราชสีมา มาจากกรุงเทพฯ แยกขวามช้ทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ที่สระบุรีก่อนถึงปากช่อง เลี้ยวขวาตรงทางต่างระดับไปตามทางหลวงหมายเลข 2090 (ถนนธนะรัชต์) ประมาณ 25 กิโลเมตร จะถึงด่านตรวจหน่วยพิทักษ์ฯ ขญ. 1   ควรแวะซื้ออาหารและเติมน้ำมันรถให้เต็มถังที่ปากช่องก่อนเข้าถนนธนะรัชต์ เมื่อผ่านด่านตรวจเป็นถนนไต่ระดับลดเลี้ยวขึ้นเขาชัน ควรขับขี่ด้วยความระมัดระวัง

Where to stay : บนเขาใหญ่มีทั้งบ้านพักอย่างดี บริเวณบ้านพักธนะรัชต์ รวมถึงลานกางเต็นท์จำนวนมาก ที่ลานกางเต็นท์ผากล้วยไม้และลำตะคอง โทร.จองโด้โดยตรงที่อุทยานฯ โทร. 0-4424-9305, 08-6092-6529 (30, 31) หรือจองที่พักผ่านเว็บไซต์ของกรมอุทานแห่งชาติ www.dnp.go.th

What to eat : บนเขาใหญ่มีร้านอาหารอยู่ในทุกลานกางเต็นท์ และมีร้านอาหารใหญ่ใกล้ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว สามารถซื้ออาหารกินได้ทั้งสามมื้อ แต่เวลาเดินป่าต้องคดห่อไป

More info : ททท. สำนักงานจังหวัดนครราชสีมา โทร. 0-4421-3030, 0-4421-3666

เที่ยวสานสายใยสองแผ่นดิน นครพนม-คำม่วน ลาว

2

เมื่อวันที่ 11 เดือน 11 (พฤศจิกายน) ค.ศ. 2011 เวลา 11 นาฬิกา 11 นาที คือวันหนึ่งที่คนไทยต้องจดจำ เพราะเป็นวันสำคัญยิ่งที่ “สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3” จะเปิดอย่างเป็นทางการ เชื่อมโยงผู้คน วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว ของไทย-ลาว-เวียดนาม-จีน เข้าด้วยกัน จังหวัดที่ดูเหมือนจะเงียบๆ อย่างนครพนมจึงกลายเป็น HUB หรือเมืองหน้าด่านสำคัญขึ้นมาทันที  และเมื่อโฟกัสจุดสนใจลงไปที่ “การท่องเที่ยว” แล้ว ก็นับว่าสดใสมากๆ คนจากทั้ง 4 ประเทศ จะได้ไปมาหาสู่กันอย่างสะดวกโยธิน เช่นเดียวกับสินค้าไทยที่คนลาว เวียดนาม จีน ชื่นชอบในคุณภาพ ก็จะส่งออกได้เพิ่มขึ้นทวีคูณ ส่วนอาหารทะเลสดๆ จากชายทะเลเวียดนามกลาง ก็จะส่งตรงสู่นครพนมทุกวัน

10

สมัยโบราณตัวเมืองนครพนมเดิมตั้งอยู่ทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงของไทย-ลาว ชื่อ “อาณาจักรศรีโคตรบูร” กระทั่งเจ้าเมืองคนสุดท้ายย้ายเมืองกลับไปฝั่งลาวทั้งหมด ต่อมาถึงยุคฝรั่งเศสบุกยึดนครพนมเป็นอาณานิคม จึงวางผังเมืองอันสวยงาม และสร้างตึกทรงโคโลเนียลไว้ให้ชมกันจนทุกวันนี้ พร้อมกับมีชาวเวียดนามที่นับถือคริสตศาสนาย้ายเข้ามาด้วย กระทั่งถึงยุคสงครามเวียดนาม ทหารอเมริกันใช้นครพนมเป็นฐานทัพ และใช้ย่านชุมชนริมน้ำโขงเป็นที่พักผ่อน มีร้านนั่งดื่มสไตล์อเมริกันเพียบ เมื่อสงครามเวียดนามสงบนครพนมจึงค่อยๆ พัฒนาจนมีหน้าตาเฉกเช่นปัจจุบัน จึงสรุปได้ชัดเจนว่า นครพนมมีความเป็น “เมืองหน้าด่านสำคัญ” มาทุกยุคสมัยไม่เคยเปลี่ยน

3

ริมโขงนครพนมในยามฤดูแล้งช่างสวยงามเหมือนสวรรค์สรรค์สร้าง น้ำโขงลดระดับ เผยให้เห็นเนินทราย และริ้วทรายสวยงาม เรียกว่า หาดทรายทองศรีโคตรบูร

9

วัดนักบุญอันนาหนองแสง เป็นโบสถ์คริสต์ขนาดใหญ่ริมโขงในเมืองนครพนม ที่นี่เป็นศูนย์รวมใจของชาวไทยคริสต์ในแถบนี้ล่ะครับ ซึ่งส่วนหนึ่งมีเชื้อสายญวน หรือเวียดนาม นั่นเอง

11

 แม้ว่ามุกปีนครพนมจะมีประเพณีไหลเรือไฟใหญ่ อันยิ่งใหญ่อลังการ แต่เขาก็ยังอนุรักษ์การไหลเรือไฟโบราณลำเล็กๆ น่ารัก เพื่อสะเดาะเคราะห์ และขอขมาลาโทษพระแม่คงคาในลำน้ำโขง

12

งานประเพณีไหลเรือไฟนครพนม ยิ่งใหญ่อลังการ ปลุกท้องน้ำโขงยามราตรีให้สว่างไสว มีชีวิตชีวา โดยเขาจะจัดกันในช่วงวันออกพรรษา (เดือนตุลาคม) นั่นเอง

13

สาวหนุ่มชาวผู้ไทนครพนม แข่งกันดูดอุ สานสัมพันธ์ให้แนบแน่น

4

เมืองเก่านครพนม ตั้งเรียงรายอยู่ริมโขง ปัจจุบันได้รับการปรับปรุงเป็นร้านน่านั่งบรรยากาศชิลสุดๆ

5

หอนาฬิกาในเมืองเก่านครพนม วันเสาร์ อาทิตย์ จะปิดเป็นถนนคนเดินน่ารักๆ

6

ตลาดยามค่ำที่เมืองนครพนม เต็มไปด้วยจังหวะแห่งชีวิตและสีสันพรรณไม้ไหว้พระ

7

พระธาตุนคร ตั้งอยู่ริมโขงหน้าเมืองนครพนมในวัดมหาธาตุ เป็นพระธาตุประจำคนเกิดวันเสาร์

8

นครพนมเป็นเพียงจังหวัดเดียวในเมืองไทย ที่มีพระธาตุประจำคนเกิดครบ 7 วัน จึงสามรถเช่ารถสามล้อสกายแลป ให้วิ่งพาไปสักการะได้ทั่วถึง

14

สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 นครพนม-คำม่วน

15

นั่งเรือข้ามโขง จากนครพนมไปคำม่วน เชื่อมความสัมพันธ์สองแผ่นดิน

16

ถ้ามีเวลาค้างคืนในแขวงคำม่วน ขอแนะนำให้ตื่นแต่เช้า ไปรอใส่บาตรข้าวเหนียว สัมผัสวิถีอันเรียบง่าย งดงาม และเนิบช้าของเมืองที่ยังบริสุทธิ์แห่งนี้

17

แหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่ห้ามพลาดในเมืองท่าแขกคือ “พระธาตุศรีโคตรบอง” (คนไทยเรียก พระธาตุศรีโคตรบูร) พระธาตุองค์สำคัญที่สุดของแขวงนี้ สันนิษฐานว่าสร้างสมัยเดียวกับพระธาตุอิงฮัง แขวงสะหวันนะเขตของลาว พระธาตุศรีโคตรบองมีความงดงามมาก ส่วนฐานสีขาว ส่วนปลียอดสีทองอร่าม ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตพระพุทธเจ้า 4 พระองค์ คือ พระกะกุสันโท พระโกนาคะมะโน พระกัดสะโบ และพระโคตะโม การสักการะที่ถูกต้อง ควรซื้อดอกไม้ธูปเทียนและหมากเบง (พุ่มบายศรี) ที่แม่ค้าลาวนำมาขาย แล้วนำขึ้นไปสักการะองค์พระธาตุ โดยต้องแต่งกายให้สุภาพ ห้ามนุ่งกางเกงขาสั้น ผู้ชายยังพออนุโลม แต่สุภาพสตรีที่นุ่งสั้นมา จำเป็นต้องเช่าผ้าถุงของทางวัดนุ่งให้เรียบร้อยก่อน

19

ร้านอาหารส่วนใหญ่เมืองท่าแขก พอกินเสร็จแล้ว สาวเสิร์ฟจะเริ่มเปลี่ยนหน้าที่มาเต้นบาสโลบ แล้วก็จะชวนเราเข้าไปร่วมวงด้วย

20

ตลาดในเมืองท่แขกแขวงคำม่วน มีสินค้าให้ช้อปปิ้งเพียบ โดยเฉพาะซิ่นของแม่หญิงลาวหลากสีหลายลาย ละลานตา!

21

ถนนหนทางในเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน ร่มรื่นมาก ยิ่งถ้าเป็นฤดูฝนด้วยยิ่งเขีนวสดชื่นสุดๆ

22

“กำแพงยักษ์” (The Great Wall) แหล่งท่องเที่ยวใหม่ Unseen เมืองลาว ที่ใครเห็นก็ต้องตะลึง กับกำแพงหินยักษ์ยาว 15 กิโลเมตร สูงกว่า 5-6 เมตร สร้างด้วยหินล้วนๆ บางก้อนใหญ่เท่ารถสิบล้อทั้งคัน! สร้างขึ้นสมัยอาณาจักรศรีโคตรบองราวๆ พุทธศตวรรษที่ 9 ปัจจุบันตั้งอยู่กลางป่ารกลึกลับมาก

23

ถ้ำนางแอ่น เป็นถ้ำขนาดใหญ่แห่งหนึ่งจนติดอันดับในเอเชีย ยิ่งเดินลึกเข้าไปในถ้ำก็ยิ่งตื่นตา เพราะแต่ละโถงแต่ละห้องหับช่างใหญ่โตอลังการซะจริงๆ

Traveler’s Guide

How to go : เส้นทางนครพนม สะพานมิตรภาพไทย ลาว 3 – เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน (ลาว) สามารถใช้ได้ทั้งรถเก๋ง รถตู้ และรถบัส เพราะถนนหนทางสะดวกแล้ว

Where to stay : ไทย แนะนำ โรงแรมนครพนมริเวอร์วิว โทร. 0-4252-2333-40 และ iHotel โทร. 08-6450-9693, 0-4254-3355 ลาว (เมืองท่าแขก) Hotel Riveria โทร. 008-856-51250000

More info : ททท. จังหวัดนครพนม-สกลนคร-มุกดาหาร โทร. 0-4251-3490, คุณธารินทร์ พันธุมัย ผู้เชี่ยวชาญการท่องเที่ยว จ.นครพนม โทร. 08-1380-4673, ล่องเรือลำโขงนครพนม โทร. 08-6230-5560

บุกโลกไดโนเสาร์ล้านปี ขอนแก่น-กาฬสินธุ์

02

ภาคอีสานตอนกลางเป็นบริเวณที่มีเอกลักษณ์น่าเที่ยว ต่างจากอีสานตอนเหนือบริเวณริมลำน้ำโขง หรืออีสานตอนใต้ที่ได้รับอิทธิพลจากอาณาจักรเขมรในอดีต ทว่าอีสานภาคกลางบริเวณขอนแก่น-กาฬสินธุ์ มีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบ สลับกับเนินเขาที่ไม่สูงมาก มักเป็นภูเขาลูกเดี่ยวๆ โดดๆ แหล่งท่องเที่ยวของเขาจึงเน้นไปที่วัดวาอาราม ประเภทวัดป่า รวมถึงแหล่งโบราณคดีไดโนเสาร์ล้านปี ซึ่งเคยมีชีวิตครองความเป็นใหญ่ในบริเวณนี้เมื่อหลายสิบล้านปีก่อน ลองหลับตานึกจินตนาการตามฉันดูซิ ว่าในยุคหนึ่งเคยมีไดโนเสาร์ทั้งตัวใหญ่ตัวเล็ก ทั้งพวกกินเนื้อและกินพืช เดิมท่อมๆ หากิน ฝากรอยเท้าไว้แถวนี้ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เพราะปัจจุบันยังมีหลักฐานทางบรรพชีววิทยา (สิ่งมีชีวิตในอดีต) ปรากฏเป็นซากฟอสซิล มีการขุดค้นพบมากมาย และไดโนเสาร์หลายชนิดที่พบบริเวณนี้ก็ถือเป็นชนิดใหม่ของโลกซะด้วย!

03

กล่าวกันว่าไดโนเสาร์พวกแรกปรากฏกายขึ้นเมื่อ 225 ล้านปีก่อน มีชีวิตอยู่ วิวัฒนาการ และแพร่พันธุ์ครอบครองโลกนานถึง 165 ล้านปี ก่อนจะสูญพันธุ์ไปหมดโลกเมื่อ 65 ล้านปีที่แล้ว สันนิษฐานว่าด้วยสาเหตุอุกาบาตยักษ์ชนโลก แล้วทำให้ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงกะทันหัน ส่วนในเมืองไทยเรา มีการขุดค้นพบซากไดโนเสาร์ดึกดำบรรพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2519 ที่อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ตั้งแต่นั้นมาก็มีการค้นพบไดโนเสาร์ที่อยู่ในช่วงยุคจูราสสิกแล้วถึง 16 ชนิด โดย 6 ชนิด ถือเป็นชนิดใหม่ของโลก และอีก 5 ชนิด อยู่ในกลุ่มสกุลใหม่ของโลก เห็นไหมล่ะว่าภาคอีสานตอนกลางของไทยเราไม่ธรรมดาจริงๆ

เมื่อฉันมาเที่ยวถึงขอนแก่นแล้ว ก็ไม่พลาดไปชม “พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง” อำเภอเวียงเก่า ซึ่งขุดพบซากไดโนเสาร์ดึกดำบรรพ์จำนวนมาก และเป็นอุทยานไดโนเสาร์แห่งแรกในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีการค้นพบซากไดโนเสาร์ที่ได้รับการตั้งชื่อตระกูลใหม่หลายชนิด เช่น สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส (Siamotyrannus isanensis) ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน (Phuwiangosaurus suteethorni) และกินรีมิมัส ขอนแก่นเอนซิส (Kinnareemimus Khonkaenensis) ฯลฯ โดยเฉพาะพันธุ์ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน ได้รับการตั้งชื่อขึ้นตามพระนามของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นชนิดที่โด่งดัง เพราะเป็นชนิดใหม่ของโลก

ภายในพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียงเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวทั่วไปเข้าชม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 จัดแสดงไดโนเสาร์ขนาดเท่าจริงแสดงไว้หลายสิบชนิด ภายในห้องนิทรรศการติดแอร์เย็นฉ่ำ ส่วนบริเวณอุทยานแห่งชาติภูเวียง เราก็สามารถเดินไปดูหลุมขุดค้นจริงได้ใกล้ชิด

ระหว่างทางกลับจากพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง ที่อำเภอเวียงเก่า ฉันแวะที่ สวนไดโนเสาร์ศรีเวียงเป็นสวนสาธารณะสวยกว้างถึง 25 ไร่ โดยเขามีการจำลองไดโนเสาร์พันธุ์ต่างๆ ให้ชมอย่างใกล้ชิด ในลักษณะสวนกลางแจ้งที่มีเทือกเขาภูเวียงเป็นฉากหลังอยู่ไกลลิบๆ

04

ฉันเลยตามรอยไดโนเสาร์ต่อไปยังจังหวัดกาฬสินธุ์ที่ พิพิธภัณฑ์สิรินธร บริเวณภูกุ้มข้าว อำเภอสหัสขันธ์ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ถือเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องไดโนเสาร์ที่สมบูรณ์ที่สุดของไทย และในอาเซียน โดยเป็นแหล่งไดโนเสาร์กินพืชที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย มีการขุดค้นพบซากฟอสซิลกระดูกมากกว่า 700 ชิ้น! เป็นไดโนเสาร์กินพืชไม่น้อยกว่า 7 ตัว และไม่ทราบชนิด 1 ตัว คาดว่าอาจจะเป็นสกุลและชนิดใหม่ของโลก! พิพิธภัณฑ์สิรินธรทำเอาฉันตื่นเต้นไม่น้อย เพราะห้องโถงแรกที่เดินเข้าไป ก็เจอเข้ากับเจ้าตัวกินเนื้อ เป็นไดโนเสาร์ทีเร็กจำลองตัวสูงใหญ่ หน้ายาว ฟันแหลมคม เหมือนกับที่ดูในหนังฮอลลีวู๊ดเรื่อง Jurassic Park ไม่มีผิด ตอนนี้มันยืนแยกเขี้ยวอยู่ตรงหน้าฉันจริงๆ แล้วน่ะสิ!

05

06

07

หลังจากกลับเข้ามานอนที่ขอนแก่นอย่างสบายอารมณ์แล้ว วันที่สองฉันจัดให้เป็นวันทัวร์ไหว้พระ โดยมี อาจารย์คฑา ชินบัญชร เป็นไกด์กิตติมศักดิ์ให้ เริ่มจากการไปกราบ พระมหาธาตุแก่นนคร ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับบึงแก่นนครกลางเมืองขอนแก่น ความพิเศษคือเป็นพระธาตุทรงสี่เหลี่ยม สูงมากถึง 80 เมตร แบ่งเป็น 9 ชั้น ฉันก้มลงกราบพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ส่วนอุรังคธาตุ (ส่วนอก) และพระธาตุของพระสาวกประมาณ 100 องค์ ที่บรรจุอยู่ในโถแก้ว พร้อมกับอธิษฐานให้ชีวิตมีแต่สุขสวัสดี จากนั้นก็นั่งรถต่อไปยัง พระธาตุขามแก่นเพื่อเวียนเทียนและห่มผ้าพระธาตุเพื่อสิริมงคลในชีวิต

08

09

พระธาตุขามแก่นเป็นหนึ่งในพระธาตุสำคัญคู่บ้านคู่เมืองขอนแก่นมานานกว่า 2,000 ปีแล้ว ตำนานเล่าว่าในครั้งที่กำลังมีการก่อสร้างพระธาตุพนมอยู่นั้น โมริยกษัตริย์แห่งเขมรเกิดความศรัทธา ต้องการจะนำฝุ่นพระธาตุที่ตนมีไปร่วมบรรจุไว้ในพระธาตุพนมด้วย จึงจัดขบวนเดินทางไกลมา แต่ไปไม่ทัน องค์พระธาตุพนมสร้างเสร็จไปก่อน ขากลับได้แวะพักในป่ามะขาม พบว่าตอมะขามที่ตายแล้ว ซึ่งพระองค์ได้นำโถบรรจุฝุ่นพระธาตุไปวางไว้ในตอนขาไป บัดนี้ได้ฟื้นคืนชีวิตงอกแตกใบขึ้นใหม่เป็นอัศจรรย์ จึงได้สร้างพระธาตุคร่อมตอมะขามนั้น จนกลายเป็นพระธาตุขามแก่นอันศักดิ์สิทธิ์มาตราบทุกวันนี้ ใครที่ตั้งใจไปกราบไหว้อธิษฐานขอพรให้ฟื้นคืนหายจากโรคภัยต่างๆ ก็มักจะได้สมดังหวังอย่างไม่น่าเชื่อ!

010

011

“วัดไชยศรี” บ้านสะวี อำเภอเมืองขอนแก่น เพื่อชม “สิม” หรือโบสถ์แบบอีสาน ที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2408 ทำไมต้องมาชม? เพราะสิมแห่งนี้ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน เนื่องจากทั้งภายในและภายนอกมี “ฮูปแต้ม” หรือภาพจิตรกรรมฝาผนัง วาดไว้แทบทุกซอกทุกมุม โดยจิตกรพื้นบ้านนามว่า นายทอง ทิพย์ชา ชาวมหาสารคาม ส่วนใหญ่วาดเป็นรูปพุทธประวัติ พระเวสสันดรชาดก และนิทานพื้นบ้านเรื่องสังข์สินไชย อันเป็นนิทานพื้นบ้านยอดฮิตของอีสานมาแต่โบราณ นายทองได้ใช้สีธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่น คือสีน้ำเงินจากต้นคราม สีเหลืองจากต้นเข และสีขาวจากปูนขาว ทำให้ภาพมองสบายตา ที่พิเศษอีกอย่างคือตรงประตูทางเข้าโบสถ์นายทองได้วาดเป็นรูปนรกภูมิ ดูน่าขนลุก!

012

013

“Farm View” อยู่ในโรงแรงแรมเมเจอร์แกรนด์ อำเภอชุมแพ ต้องบอกเสียงดังๆ เลยว่า ตอนนี้ขอนแก่นเขาก็มีน้องแกะเอาไว้ให้ไปถ่ายภาพคู่แล้วเหมือนกันนะ ความน่ารักของน้องแกะฝูงเล็กๆ ที่วิ่งเล่นอยู่ในทุ่งหญ้าสีเขียวๆ ด้านหลังสร้างเป็นโรงนาสีแดงสดสไตล์ American Farm House ทำให้บรรยากาศขอนแก่นวันนี้ดูสวยผิดหูผิดตาไปจริงๆ

014

015

016

“วัดภูค่าว” (หรือวัดพุทธนิมิต) อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอบอกว่าวัดนี้ไม่ธรรมดาเช่นกัน เพราะนอกจากจะมีโบสถ์ไม้สักใหญ่โตมโหฬาร แกะสลักอย่างวิจิตรแล้ว ยังมีพระมหาธาตุเจดีย์สถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธนิมิตเหล็กไหลสีดำสนิท น่าศรัทธาเลื่อมใสอย่างยิ่ง ฉันเดินชมภายนอกพระมหาธาตุเจดีย์ถึงกับตะลึง เพราะด้วยขนาดอันใหญ่โต จนต้องมองคอตั้งบ่า ส่วนภายนอกนั้นบุไว้ด้วยแผ่นดินเผาสีน้ำตาลเป็นลวดลายต่างๆ อย่างน่าทึ่งจริงๆ

017

018

ศาลาไหมไทย แหล่งรวมผ้าไหมของอำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น อุตส่าห์เตรียมตังค์มาซื้อผ้าไหมฝากแม่แล้วทั้งที ก็ต้องแวะให้ถึงแหล่งผลิต จะได้ชมสาธิตวิธีการทอ การทำ การสาวไหมด้วย เห็นแล้วต้องยอมควักเงินซื้อเลยเต็มที่ เพราะกว่าจะได้ผ้าไหมมัดหมี่มาแต่ละผืน ต้องทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจ ใส่ฝีมือ บวกกับความชอบ ลงไปแบบเต็มๆ เรียกว่างานทอผ้าไหมนี่นะ ใครไม่รักไม่ชอบจริงคงนั่งทออยู่เป็นวันๆ ไม่ได้แน่ ฉันกับเพื่อนๆ เลยช่วยกระจายรายได้ให้กลุ่มแม่บ้านไป จนกระเป๋าตังค์เบาหวิว แต่ก็ดีใจที่ได้ช่วยอุดหนุนเป็นกำลังใจให้ผ้าไหมอำเภอชนบทสามารถเดินหน้าต่อไปได้

019

020

Special Thanks : ขอขอบคุณ คุณสามพร มณีไมตรีจิต ผู้อำนวยการกองตลาดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ ททท. สำนักงานขอนแก่น-กาฬสินธุ์ สนับสนุนการเดินทางเป็นอย่างดี

 Traveler’s Guide

When to go : เส้นทางอีสานตอนกลาง ขอนแก่น-กาฬสินธุ์ เที่ยวได้ตลอดปี โดยเฉพาะฤดูฝนและหนาว อากาศเย็นสบาย ถ่ายรูปได้สวย ที่พักที่กิน รวมถึงถนนหนทางสะดวกมาก

How to go : เดินทางสะดวกรวดเร็ว และประหยัด แนะนำบินตรงกรุงเทพฯ-ขอนแก่น จากนั้นเช่ารถตู้ หรือรถยนต์ขับเที่ยวได้สบาย เส้นทางเชื่อมโยงขอนแก่น-กาฬสินธุ์-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด เที่ยวได้หลากหลาย

Where to stay : แนะนำ โรงแรม Pullman อยู่กลางเมืองขอนแก่น โทร. 0-4332-2155 www.pullmanhotels.com หรือถ้าอยากได้ที่อยู่ติดสนามบินขอนแก่น ราชาวดี รีสอร์ท แอนด์ โฮเทล โทร. 0-4346-8222 www.rachawadeehotel.com เดินทางต่อเข้าเมืองได้สบายด้วยบริการแท็กซี่ 24 ชั่วโมง

What to eat : มาขอนแก่นอย่าลืมชิมอาหารพื้นเมือง พวกไข่กระทะ ขนมปังบาแกตต์, ส้มตำไก่ย่าง, โจ๊กจั๊บเส้น, ข้าวเปียกเส้น, หมูยอ ฯลฯ แนะนำ ร้านไอยรา คอฟฟี่ & คิชเช่น ถนนอนามัย โทร. 08-7263-7288

Souvenirs : ผ้าไหมมัดหมี่ อำเภอชนบท, หมูยอขอนแก่น, เสื้อยืดและตุ๊กตาไดโนเสาร์, ผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์

More info : ททท. สำนักงานขอนแก่น-กาฬสินธุ์-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด โทร. 0-4322-7714-6 / บริษัท ฟูจิ ทัวร์ โทร. 09-8273-4435 ,08-7695-9582