ภาคอีสาน

เสน่ห์อีสานใต้ สุขใจเมื่อไป สุรินทร์

“อีสาน” ดินแดนแห่งความงดงามในวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และธรรมชาติอันสวยสดงดงาม ทริปนี้เราจะไปเที่ยว “จังหวัดสุรินทร์” ถิ่นอีสานใต้ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นถึงแง่มุมใหม่ๆในสไตล์เที่ยวตัวปลิวชิลอีสานแสนสุขใจ เมื่อพูดถึงสุรินทร์ คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงภาพหมู่บ้านช้างเลี้ยงที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ บ้านตากลาง นึกถึงข้าวหอมมะลิพันธุ์ดี และแน่นอนว่าต้องนึกถึงภาพวิถีชีวิตการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เพื่อนำมาทอผ้าไหมชั้นเลิศ ที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ เนื้อบางเบาเงางาม สวมใส่แล้วสบายระบายความร้อนได้ดี ผ้าไหมสุรินทร์จึงเป็นหนึ่งในหัตถกรรมเลื่องชื่อมาช้านาน ณ หมู่ 3 ตำบลเขวาสินรินทร์ อำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ เราได้พบกับกลุ่ม “สิบธันวาทำมือ” (โทร. 09-8119-2389) แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่นำเอาเสน่ห์ของผ้าไหมออกมาให้เราสัมผัสอย่างใกล้ชิด ก่อกำเนิดขึ้นจาก คุณคณิศร ชาวนา ผู้นำกลุ่มสิบธันวาทำมือ โดยตั้งชื่อตามวันเกิดของตัวเอง คือ 10 ธันวาคม เริ่มต้นจากการรวมกลุ่มเล็กๆ พอมีรายได้ในชุมชน ต่อมาจึงขยายเป็นแหล่งสาธิตให้คนทั่วไปได้เรียนรู้เรื่องผ้าไหมอย่างครบวงจร พร้อมกิจกรรม DIY ให้ลองทำกันด้วยภายในศูนย์เรียนรู้มีชาวบ้านที่เชี่ยวชาญช่ำชองในการทอผ้าไหม มานั่งสาธิตขั้นตอนต่างๆ ให้เราชม สร้างความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างเจ้าบ้านกับผู้มาเยือน ตั้งแต่การเลี้ยงไหม สาวไหม ผูกลายก่อนนำไปย้อม ย้อมสีธรรมชาติ กรอเส้นไหมเข้ากระสวย และการทอผ้าไหมมัดหมี่ที่วิจิตรงดงาม การผูกลายก่อนนำไปย้อมและทอ จนเกิดผ้าไหมมัดหมี่ที่สวยงามของเขวาสิรินทร์ รังไหมที่มีตัวดักแด้อยู่ภายใน นำมาต้มเพื่อดึงเส้นไหมบอบบางออกมากรอรวมกันก่อนนำไปย้อมและทอ ขั้นตอนนี้ชาวบ้านจะไม่ทำในวันพระ เพื่อละเว้นชีวิตเจ้าดักแด้น้อยผู้เสียสละให้เกิดผ้าไหมผืนงาม เส้นไหมและฝ้ายของกลุ่มสิบธันวาทำมือ ย้อมด้วยสีธรรมชาติล้วนๆ จึงน่าสวมใส่และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยนำวัสดุธรรมชาติอย่างเปลือกไม้ใบไม้ในท้องถิ่นมาใช้ได้อย่างครบคุณค่า
ชมขั้นตอนการทำผ้าไหมมัดหมี่เสร็จแล้ว ก็ได้เวลาเข้าไปช้อปปิ้งผ้าไหมงามๆ ในร้านเพื่ออุดหนุนกระจายรายได้และเป็นกำลังใจให้ชาวบ้านกันด้วย เหล่านี้คืองานศิลปะบนผืนผ้าแพรพรรณที่ต้องใช้ทักษะเวลาและความอุตสาหะอย่างสูง ดังนั้นเวลาซื้อก็อย่าไปต่อราคาชาวบ้านเลยนะจ๊ะ สุขใจทุกครั้งเมื่อได้มาเยือนสุรินทร์ ถิ่นผ้าไหมงาม ที่น้ำใจไมตรีของผู้คนก็งดงามไม่แพ้กัน สุรินทร์ไม่ได้มีดีแค่ช้างและผ้าไหมนะจ๊ะ แต่ชาวบ้านเขายังมีทักษะการสานหวายได้อย่างประณีตงดงาม และทนทนานน่าใช้ ลองเดินทางไปที่ “บ้านบุทม” ตำบลเมืองที อำเภอเมืองสุรินทร์ สัมผัสชุมชนน่ารักที่มีสินค้าหัตถกรรมชั้นเลิศ และยังได้เป็นชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีด้วยนะ (ติดต่อหมู่บ้านหัตถกรรมจักสานบุทม โทร. 0-4454-9044, 08-1065-2397, 08-1660-9714)

บ้านบุทม (เบาะทม) เป็นภาษาเขมร เบาะ” แปลว่า ที่ดอนซึ่งเต็มไปด้วยป่า” แต่ถูกถากถางทำไร่ และ ทม” แปลว่า “ใหญ่” รวมความว่า ป่ารกชัฏและมีการถากถางทำไร่ขนาดใหญ่

ชาวบ้านส่วนใหญ่ของบ้านบุทม ทำจักสานหวายเกือบทุกครัวเรือน โดยทำนาเป็นอาชีพหลักและทำจักสานเป็นอาชีพเสริม การจักสานนี้ทำกันมากว่า 60 ปีแล้ว จุดเริ่มต้นคือเมื่อปี พ.ศ. 2473 นายลีง เลิศล้ำ นายเหลี่ยม ภาสวัสดี และนายพัน กล้ายิ่ง ได้เรียนรู้การจักสานหวายมาจากเรือนจำจังหวัดสุรินทร์ หลังจากนั้นก็นำมาทำจักสานตะกร้าหวายเลี้ยงครอบครัว ภายหลังจึงได้ถ่ายทอดความรู้สู่ชาวบ้านจุดเด่นงานจักสานของบ้านบุทม คือใช้ลวดลายดั้งเดิม คือ “ลายลูกกรง” เป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้ผลิตภัณฑ์สวยงาม แข็งแรง เพราะใช้หวายทั้งต้น เหมาะกับการใช้งาน รูปแบบดั้งเดิมได้พัฒนามาสู่ตลาดสากล ใช้หวายเส้นเล็ก (หวายหางหนู) ที่เหนียวและผิวมัน ปัจจุบันหวายบ้านบุทม ได้รับรองมาตรฐานชุมชนจากกระทรวงอุตสาหกรรมเรียบร้อยแล้ว
ชาวบ้านบอกว่า เครื่องหวายเหล่านี้เมื่อใช้ไปนานๆ ถ้ารู้สึกว่ามันเก่า ให้ลองนำไปแช่น้ำมะนาวผสมน้ำทิ้งไว้สักพัก ล้างน้ำเปล่าให้สะอาด ผึ่งแดดให้แห้ง ก็จะกลับมาดูใหม่เหมือนเดิม ใช้ไปได้อีกนานมากๆประณีตศิลป์อีกอย่างหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงมากของสุรินทร์มาช้านาน ก็คือ “การทำเครื่องเงิน” ใช้ใส่เป็นเครื่องประดับชุดผ้าไหมเนื้อเนียนละเอียดได้เข้าคู่เหมาะเจาะสุดๆ โดยเฉพาะที่ บ้านโชค ตำบลเขวาสิรินทร์ อำเภอเขวาสิรินทร์  “ร้านเครื่องเงิน ลุงป่วน เจียวทอง” แหล่งผลิตเครื่องเงินด้วยวิธีดั้งเดิม และยังอนุรักษ์ลายโบราณ 13 ลายไว้เป็นมรดกของแผ่นดิน แหล่งจำหน่ายเครื่องเงินและสินค้า OTOP ของสุรินทร์มีอยู่ทั่วไป ที่ใกล้ๆ หมู่บ้านช้างก็มีหลายแห่ง เราสามารถไปเดินเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากงาช้าง, แหวนจากขนหางช้าง,​ ไม้แกะสลัก, ผ้าทอ ฯลฯ หลังจากช่วงเกี่ยวข้าวแล้ว ใครมาเที่ยวสุรินทร์ในเดือนมกราคม-มีนาคม ก็จะได้ยลภาพงดงามน่าประทับใจของ “ทุ่งดอกปอเทืองสีเหลืองอร่าม” ซึ่งชาวบ้านปลูกสลับกับช่วงเว้นว่างจากนาข้าว เพื่อให้ต้นปอเทืองดึงไนโตรเจนในอากาศลงไปบำรุงดินเพิ่มเติมธาตุอาหาร และได้กลายเป็นจุดถ่ายภาพใหม่ให้นักท่องเที่ยวด้วย ไม่ต้องไปดูทุ่งดอกไม้ไกลถึงต่างประเทศเลยจ้า
สำหรับนักปั่นจักรยาน การเที่ยวชมทุ่งดอกปอเทืองในจังหวัดสุรินทร์ ก็น่าจะเป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ สุรินทร์ยังมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร หรือ Agro-Tourism ด้วย ไม่ไปเห็นกับตาคงไม่รู้ ที่นี่ชื่อ “ตั้งถาวรฟาร์ม” (Tangtaworn Farm) อยู่หมู่ 2 ตำบลยะวึก อำเภอชุมพลบุรี (โทร. 06-1029-6557) หน้าฟาร์มและร้านอาหารของที่นี่เปิดทุกวัน อีกทั้งอยู่ห่างจากสนามบินบุรีรัมย์แค่สิบกว่ากิโลเมตรเท่านั้น เที่ยวง่ายเที่ยวสบาย Happy กันทั้งครอบครัว
ตั้งถาวรฟาร์ม มีชื่อเสียงที่สุดในเรื่องเมล่อนรสเลิศหลากหลายสายพันธุ์ ที่นำมาปลูกได้งอกงามดีในดินทุ่งกุลาร้องไห้ของจังหวัดสุรินทร์ นอกจากนี้ยังมีพืชผักปลอดสารพิษในโรงเรือน นำออกมาจำหน่ายและปรุงเป็นอาหารเมนูต่างๆ เสิร์ฟให้ชิมกันทุกวันในร้านอาหารติดแอร์เย็นฉ่ำ
ตั้งถาวรฟาร์ม คือแหล่งปลูกเมล่อนเมืองช้างกลางทุ่งกุลาร้องไห้ นอกจากนี้ยังมีน้ำเมล่อนปั่น สมูทตี้เมล่อน ไอศครีมเมล่อน กาแฟสด ก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋น ฯลฯ เดินทางกันมาเหนื่อยๆ แวะพักชิมผลไม้และอาหารสดอร่อยที่ดีต่อสุขภาพกันนะ เมล่อนของตั้งถาวรฟาร์มมีทั้งแบบเนื้อกรอบและเนื้อนิ่ม ความหวานก็เป็นธรรมชาติมากๆ ไม่มีการเร่งหรือเพิ่มเติม เหมาะสำหรับคนรักสุขภาพเป็นที่สุด ชิมเมล่อนเสร็จก็ต่อกันด้วยแตงโมไร้เมล็ดที่ชื่นใจ ช่วยคลายร้อนได้เป็นอย่างดี มะเขือเทศ Organic ของตั้งถาวรฟาร์ม หวานกรอบอร่อย ดีต่อสุขภาพสุดๆ
ข้าวโพดหวานแบบกินสด ปอกเปลือกออกกินได้ทันที เนื้อมีความกรอบและหวานน้อยๆ กำลังดีส้มตำเมล่อน ของตั้งถาวรฟาร์ม มาแล้วต้องชิม ไม่ชิมถือว่ามาไม่ถึงเนอะ
ไปกินกันต่อที่ “ฟาร์มเห็ดลุงกะทิ” บ้านบุทม ตำบลเมืองที อำเภอเมืองสุรินทร์ (โทร. 08-9881-5040) ร้านอาหารเล็กๆ แต่คุณภาพคับจานคับแก้ว เพราะเป็นร้านแรกที่เสิร์ฟก๋วยเตี๋ยวที่ทำจากเส้นเห็ดสุขภาพให้เราได้ชิมกัน ร้านนี้เปิดขายทุกวัน ตั้งแต่เวลา 9.00-17.00 น. อยู่ที่ กม.14 ถนนสุรินทร์-ศีขรภูมิ ใกล้โรงเรียนรามวิทยารัชมังคลาภิเษก อยู่ริมถนนมองเห็นได้ชัดเจนเลย ฟาร์มเห็ดแห่งนี้เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของ คุณฉัตรชัย ชัยวงษ์ และคุณสาวสายฝน ดวงคำ สองสามีภรรยาที่พลิกชีวิตจากอาชีพวิศวกรโรงงาน มาทำเกษตรอย่างยั่งยืนโดยเน้นไปที่การเพาะเห็ดสายพันธุ์ต่างๆ ทั้งเห็ดนางฟ้าภูฐาน, เห็ดนางรมฮังการี, เห็ดนางนวล, เห็ดขอนขาว, เห็ดนางรมทอง, เห็ดหลินจือ และเห็ดโคนน้อย เป็นต้นเส้นก๋วยเตี๋ยวทำจากเห็ดสดๆ ซึ่งทำกันแบบชามต่อชาม จึงไว้ใจได้ในเรื่องคุณภาพและความสะอาด นอกจากเห็ดสดและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเห็ดในราคาย่อมเยาว์แล้ว ต้องไม่พลาดสั่ง “ก๋วยเตี๋ยวเส้นเห็ด”  น้ำซุปหอมอร่อย ชามละ 40 บาท ต่อด้วย ส้มตำเห็ด จานละ 60 บาท เห็ดทอดกรอบและเกี๊ยวเห็ดเข็มทอง จานละ 40 บาทเท่านั้น เห็ดทอดฟาร์มลุงกะทิหน้าตาเป็นแบบนี้เองจ้า ชิมกันให้อิ่มแปล้ไปเลย กับเห็ดสุขภาพหลากหลายเมนูที่ฟาร์มลุงกะทิ จ.สุรินทร์
อิ่มแล้ว ก็ได้เวลาเข้าไปชมโรงเรือนเพาะเห็ด เผื่อใครได้แรงบันดาลใจจะกลับไปทำเป็นอาชีพได้นะ

ก่อนโบกมือลาสุรินทร์ เราลองมาสัมผัสร้านกาแฟเก๋ๆ ชิลๆ กันบ้าง รับรองว่าถูกใจวัยโจ๋แน่นอน ร้านแรกชื่อ “Craft Cafe” อยู่เลขที่ 139 ถนนสุรนิทร์ภักดี ในเทศบาลเมืองสุรินทร์ (โทร. 09-5605-4281) นอกจากความน่ารักของการตกแต่งร้านให้ดูเหมือนบ้าน และห้องนั่งเล่นที่เต็มไปด้วยหนังสือน่าอ่านแล้ว เรายังมีความสุขกับรอยยิ้มของเจ้าของร้าน ที่พร้อมเสิร์ฟเครื่องดื่มและเค้กต่างๆ ให้ชิมกันได้ทุกวัน สามารถมานั่ง Hangout พูดคุยสรวนเสเฮฮากับเพื่อนๆ ได้นานๆ อย่างไม่น่าเบื่อเลย ร้านกาแฟสุดฮิปในสไตล์เหมือนอยู่บ้านอีกแห่ง คือ “Life Coffee @Home” เลขที่ 267 ถนนศรีพัฒนา อำเภอเมืองสุรินทร์ (โทร. 08-6866-5503) จุดนัดพบใหม่ของคนรุ่นใหม่ ซึ่งเราไม่ควรพลาด ภายในร้านมีมุมน่ารักๆ ให้นั่งชิลได้นานๆ ตกแต่งด้วยแสงไฟสีอุ่น มองออกไปด้านนอกเห็นสวนสวยสีเขียวเย็นตาอยู่ใกล้แค่เอื้อม แค่มีหนังสือดีๆ สักเล่ม และเครื่องดื่มที่ถูกใจสักแก้ว ก็สุขเกินใครแล้ว สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงาน จ.สุรินทร์ โทร. 0-4451-4447

แต่งงานบนหลังช้าง จ.สุรินทร์ พิธีซัตเต แห่งเดียวในโลก (ตอน 2)

หลังจาก “พิธีฮาวปลึงจองได” หรือ “พิธีบายศรีสู่ขวัญ” เจ้าบ่าวเจ้าสาวทั้ง 60 คู่ เมื่อวันที่ 13 กุมพาพันธ์ 2563 เสร็จเรียบร้อยแล้ว ในวันถัดมาซึ่งเป็นวันแห่งความรัก 14 กุมภาพันธ์ งานใหญ่อีกงาน ณ บ้านตากลาง อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ก็รออยู่ คือ “การแต่งงานและจดทะเบียนสมรสบนหลังช้าง” แห่งเดียวในโลกคุณธมนวรรณ เจริญวงศ์พิสิฐ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสุรินทร์  พร้อมด้วยผู้มีเกียรติหลายท่าน เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในวันแห่งความรักอันยิ่งใหญ่นี้ ยามเช้าอากาศกำลังดี ขบวนแห่เจ้าบ่าวบนหลังช้างทั้ง 60 เชือก อันคึกคักเปี่ยมสีสัน ก็เริ่มเคลื่อนขบวนผ่านศูนย์คชศึกษา ไปสู่ Elephant World เพื่อพบกับเจ้าสาวแสนสวยที่รออยู่
ความงดงามและความยิ่งใหญ่ของขบวนแห่เจ้าบ่าวบนหลังช้างทั้ง 60 เชือก ภาพนี้คือภาพประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง เพราะมีเพียงแห่งเดียวในโลก ที่บ้านตากลาง อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ช้างของเจ้าบ่าวหมายเลข 1 เป็นช้างพลายแก่งายาว ซึ่งหาได้ยากยิ่งแล้วในปัจจุบันช้างของเจ้าบ่าวหมายเลข 12 ก็เป็นช้างพลายที่มีขนาดใหญ่มากเช่นกัน ความสวยงามน่าประทับใจของขบวนช้าง ที่ทยอยนำเจ้าบ่าวเข้าสู่ Elephant World บ้านตากลาง เจ้าสาวทั้ง 60 คน นั่งรอขบวนเจ้าบ่าวด้วยใจระทึกเจ้าสาวในชุดชาวกูยอันวิจิตรงดงาม จุดเด่นอยู่ที่ “จะลอม” หรือมงกุฎใบตาลเอกลักษณ์เฉพาะ เจ้าสาวชาวกัมพูชา ในพิธีซัตเต 2563 สวยงามเปี่ยมด้วยอัตลักษณ์ของชาวกูย โบกมือให้ขบวนเจ้าบ่าวที่เดินเข้าสู่ Elephant World ความรักอบอวลไปทั่วบริเวณงานซัตเต
เจ้าบ่าวในชุดชาวกูย คาดหัวด้วยด้ายสามสี (แดง น้ำเงิน และขาว) ส่วนเจ้าสาวแต่งกายชุดชาวกูย สวมมงกุฎใบตาล ทำให้เรียกกันว่า “เจ้าสาวมงกุฎใบตาล”

เมื่อสวมแหวนหางช้างให้กันแล้ว เจ้าบ่าวก็มอบดอกกุหลาบสีแดงเป็นตัวแทนแห่งความรักให้เจ้าสาว จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายเรียบร้อยแล้ว สำหรับคู่เบอร์ 14 ในวันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ พอดิบพอดีเลยนะจ๊ะ ยินดีด้วยจริงๆ พ่อหมอช้างชาวกูยรุ่นสุดท้าย ซึ่งครั้งหนึ่งในอดีตเคยเข้าป่าไปคล้องช้างจับช้างป่าจริงๆ บัดนี้เหลือเพียงเรื่องเล่าอันทรงคุณค่า และวันนี้ท่านได้มาเป็นผู้นำประกอบพิธีซัตเต 2563 พ่อหมอช้างชาวกูยแห่งบ้านตากลาง เดินไปรับขบวนบ่าวสาวเข้าสู่ปรัมพิธีซัตเต แม่เฒ่าชาวกูยแห่งบ้านตากลาง ยืนรอรับขบวนบ่าวสาวที่ซุ้มดอกไม้สวยงาม โดยมีการกั้นประตูเงินประตูทองก่อนเข้าสู่ปรัมพิธีซัตเต พ่อหมอช้างนำขบวนผ่านซุ้มดอกไม้ประตูเงินประตูทอง ตามแบบวัฒนธรรมชาวกูย ผู้เฒ่าผู้แก่ เดินนำเจ้าบ่าวเจ้าสาวเข้าสู่ปรัมพิธีซัตเต ใน Elephant World บ้านตากลาง

“ซัตเต” คือการผูกข้อไม้ข้อมือเพื่อบายศรีสู่ขวัญในวันแต่งงานตามวัฒนธรรมชาวกูย การแต่งกายฝ่ายเจ้าสาวนุ่งผ้าซิ่นลายไหมของชาวกูย เสื้อแขนกระบอกสีอ่อน ผ้าสไบสีแดง สวมศีรษะด้วย “จะลอม” ซึ่งเป็นมงกุฎทำจากใบตาล ส่วนเจ้าบ่าวนุ่งโสร่งไหมผ้ากระเนียว เสื้อแขนยาว ผ้าไหมพาดบ่า มีด้ายมงคล 3 สี สวมศีรษะ

เมื่อประกอบพิธีซัดเตเสร็จแล้ว ก็จะมีการเลี้ยงอาหารช้างด้วย

พิธีซัตเต มีด้วยกัน 4 ขั้นตอน

ขั้นที่ 1 “จีเจาะกะมอล”  การไปทาบทาม บอกเล่าว่าลูกชายมารักชอบลูกสาว

ขั้นที่ 2 “จีเมาะกะมอล”  การที่ฝ่ายเจ้าบ่าวไปตกลงค่าสินสอดทองหมั้นกับฝ่ายเจ้าสาว

ขั้นที่ 3 “จีโต๊ะ”  การไปหมั้นหมาย มีอุปกรณ์ คือ หมาก พลู เหล้า บุหรี่ ทองหมั้น หรือเงิน ถ้าตกลงค่าสินสอดทองหมั้นเท่าไหร่ ให้นำมาวางในวันหมั้น ส่วนที่ขาดให้นำมาในวันซัตเต หรือวันแต่งงาน

ขั้นที่ 4 “ซัตเต”  คือพิธีแต่งงาน

อุปกรณ์ประกอบ “พิธีซัตเต” มีดังนี้

– อะลิเครื่องมาด  คือหมูที่ฆ่าแล้วแต่ยังไม่ชำแหละ เมื่อเจ้าบ่าวนำมาส่งจะต้องแบ่งปันกัน
– อะลิกะมูย  คือ หมูเครื่องเซ่น ทางฝ่ายเจ้าบ่าวนำมาเซ่นผีบรรพบุรุษ โดยไม่ต้องแบ่งฝ่ายเจ้าสาว
– น้ำตาลอ้อย  ทำจากน้ำอ้อยบรรจุในใบตาล ใช้ไหว้ญาติผู้ใหญ่
– กระบุง 1 คู่  ในกระบุงบรรจุข้าวเปลือก มีหินลับมีดวางอยู่ข้างข้าวเปลือก
– เต่าน้ำจืด 1 ตัว 
– ปลาแห้ง  (พอสมควร)
– พานบายศรี  (มีด้ายมงคลไว้ผูกข้อมือ)
– ไก่ต้มทั้งตัว  (ใช้เซ่นผีบรรพบุรุษ)
– ผ้าไหมใหม่  (สำหรับไหว้พ่อแม่เจ้าบ่าว คนละชุด และผลัดเปลี่ยนในพิธีอาบน้ำ 1 ชุด

ความสุขและความชื่นมื่นในพิธีซัตเต 2563 พิธีฮาวปลึงจองได และพิธีซัตเต ตามวิถีวัฒนธรรมชาวกูยบ้านตากลาง จังหวัดสุรินทร์  คือการสืบสานวัฒนธรรมอันดีของชาติไทยไว้มิให้สูญหาย และช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวในเขตอีสานใต้แห่งนี้ ให้คึกคัก มั่งคั่ง ยืนยืน ตลอดไป
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงาน จ.สุรินทร์ โทร. 0-4451-4447

แต่งงานบนหลังช้าง จ.สุรินทร์ พิธีฮาวปลึงจองได แห่งเดียวในโลก (ตอน 1)

“ช้าง” คือสัตว์ประจำชาติไทย ที่เราทุกคนภาคภูมิใจ และ “จังหวัดสุรินทร์” ก็คือดินแดนของช้างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดบนผืนดินสยามในปัจจุบัน “บ้านตากลาง” ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ถือเป็นชุมชนเก่าแก่หลายร้อยปีที่มีชาวกูย (หรือชาวกวย) อาศัยอยู่ อีกทั้งยังลือชื่อในฐานะ “หมู่บ้านช้างเลี้ยงที่ใหญ่ที่สุดในโลก” โดยมีช้างอยู่กว่า 300 เชือก

ทุกปีในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ วันแห่งความรัก จังหวัดสุรินทร์ร่วมกับพันธมิตรหลายหน่วยงาน ได้จัด “งานแต่งงานและจดทะเบียนสมรสบนหลังช้าง” ขึ้นอย่างตื่นตาตื่นใจ โดยปีนี้ถือเป็นการครบรอบ 60 ปี งานช้างสุรินทร์ จึงมีเจ้าบ่าวเจ้าสาวเข้าร่วมแต่งงานมากถึง 60 คู่ เป็นประวัติศาสตร์
งานปี 2563 นี้ แบ่งออกเป็น 2 วัน โดยวันแรกในช่วงเย็นของ 13 กุมภาพันธ์ ณ ลานกิจกรรมสวนเฉลิมพระเกียรติ อำเภอเมืองสุรินทร์ ได้จัดให้มี “พิธีฮาวปลึงจองได” หรือ “การบายศรีสู่ขวัญ” เจ้าบ่าวเจ้าสาวทั้ง 60 คู่ ซึ่งถือเป็นพิธีเก่าแก่ของชาวของกูยเขมร ที่จะนำพาศิริมงคลชีวิตมาสู่ทุกคนที่เข้าร่วม บรรยากาศในงานเต็มไปด้วยความชื่นมื่นและอบอวลด้วยความรัก บ่าวสาวทั้ง 60 คู่ แต่งกายสวยงามแบบชาวกูยโบราณ พร้อมด้วยเพื่อนฝูงและญาติสนิท ที่มาร่วมกินเลี้ยงกันในค่ำคืนนี้ หลังจากพิธีบายศรีสู่ขวัญผูกข้อไม้ข้อมือแล้ว โดยในปีนี้มีชาวต่างประเทศเข้าร่วมหลายคู่ ทั้งจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และกัมพูชา เป็นต้น บ่งบอกได้เลยว่าความรักนั้นไร้พรมแดนจริงๆ นุ่งผ้าไหมใส่ปะเกือม (เครื่องเงิน) ตามแบบชาวกูยสุรินทร์แท้ๆ คู่นี้น่ารักไม่แพ้ใครเลยจ้า เจ้าบ่าวชาวไทยและเจ้าสาวชาวกัมพูชา ควงคู่เข้าสู่พิธีฮาวปลึงจองได พิธีฮาวปลึงจองไดปีนี้พิเศษกว่าทุกปี เพราะจัดยิ่งใหญ่ฉลองครบรอบ 60 ปี งานช้างสุรินทร์ จึงประดับไฟแสงสีฟรุ้งฟริ้งกันอย่างตื่นตาตื่นใจเลย รักไร้พรมแดน ถ้าหัวใจเราเต้นเป็นจังหวะเดียวกัน ก็ใช้ชีวิตคู่ด้วยกันได้ล่ะก่อนเริ่มพิธีฮาวปลึงจองได บ่าวสาวก็เข้ามาประจำอยู่ที่ภาพถ่ายของตนเอง เพื่อให้เพื่อนฝูง ญาติมิตร และสื่อมวลชน เก็บภาพน่ารักๆ กันอย่างเต็มอิ่ม ได้เวลาฤกษ์งามยามดี ขบวนแห่เจ้าบ่าวทั้ง 60 คน ที่นำโดยพานพุ่มหมากเบงและนางรำ ก็เริ่มเคลื่อนตัว เพื่อให้เจ้าบ่าวไปรับเจ้าสาวของตนเอง แล้วเดินเคียงคู่กันเข้าสู่ปรัมพิธี ฮาวปลึงจองได เจ้าบ่าวเดินเรียงแถวเข้าไปรับเจ้าสาวที่รออยู่ เจ้าบ่าวเจ้าสาวกิตติมศักดิ์ เดินนำขบวนเข้าสู่ปรัมพิธีฮาวปลึงจองไดเป็นคู่แรก ค่ำคืนแห่งความสุข “ฮาวปลึงจองได” เจ้าบ่าวเจ้าสาวทั้ง 60 คู่ ได้รับการผูกข้อไม้ข้อมือเป็นที่เรียบร้อย ต่อด้วยงานกินเลี้ยงกันอย่างอิ่มเอมเปรมปรี รอวันพรุ่งนี้ 14 กุมภาพันธ์ จะได้เดินทางสู่หมู่บ้านช้าง แล้วเข้าร่วม “พิธีซัตเต” และ “พิธีจดทะเบียนสมรสบนหลังช้าง” อย่างยิ่งใหญ่ต่อไปคุณธมนวรรณ เจริญวงศ์พิสิฐ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสุรินทร์  ร่วมเป็นเกียรติ ในพิธีฮาวปลึงจองได 2563สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงาน จ.สุรินทร์ โทร. 0-4451-4447

เที่ยวศรีสะเกษ อาณาเขตแห่งความสุข

“แดนปราสาทขอม หอมกระเทียมดี มีสวนสมเด็จ เขตดงลำดวล หลากล้วนวัฒนธรรม เลิศล้ำสามัคคี” นี่คือคำขวัญประจำจังหวัด “ศรีสะเกษ” หนึ่งในจังหวัดอีสานใต้ ที่สามารถเที่ยวเชื่อมโยงกับจังหวัดสุรินทร์-บุรีรัมย์ ได้อย่างง่ายดาย ที่ผ่านมาศรีสะเกษถูกมองว่าเป็นเมืองรองที่คนผ่านเลย แต่ถ้าใครได้ไปสัมผัสรับรองว่าต้องหลงรักแน่นอน
กลางเมืองศรีสะเกษในวันนี้ มีวงเวียน “อนุสาวรีย์แม่ศรีสระผม” เป็นสัญลักษณ์สื่อถึงที่มาของชื่อจังหวัดได้อย่างดี โดยตำนานหนึ่งเล่าว่า พระยาแกรกเจ้าเมืองเขมรพบเนื้อคู่เป็นธิดาเจ้าเมืองลาว ชื่อพระนางศรี ต่อมาพระยาแกรกเดินทางกลับเขมรทิ้งนางศรีไว้ที่เมืองลาว พระนางศรีจึงออกเสด็จตามพระสวามีไปขณะที่ยังทรงพระครรภ์ ระหว่างเดินทางทรงพบทำเลแห่งหนึ่งเป็นสระน้ำใส พระนางจึงได้ประสูติพระโอรส และทรงชำระล้างพระวรกายที่นี่ สระนั้นจึงได้ชื่อว่า “ศรีสะเกษ” มาจนทุกวันนี้

เดิมศรีษะเกษชื่อ “เมืองขุขันธ์” ได้เจริญสืบเนื่องมาจนกลายเป็นที่อยู่อาศัยของ 4 ชนเผ่า คือ ลาว เขมร กวย และเยอ นับเป็นดินแดนเก่าแก่ที่รุ่มรวยด้วยศิลปะวัฒนธรรม และมีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ให้ชมมากมายศรีสะเกษมีแหล่งท่องเที่ยว Unseen อีสาน อยู่แห่งหนึ่งซึ่งไม่ควรพลาดชมด้วยประการทั้งปวง คือ “วัดป่าศรีมงคลรัตนาราม” อยู่ที่บ้านสิม หมู่ 8  ตำบลโคกจาน อำเภออุทุมพรพิสัย วัดนี้มีความพิเศษสุดๆ เพราะภายในวิหารหลักมีการสร้างเป็นถ้ำวังบาดาลของพญานาค ที่อยู่เคียงคู่คุ้มครองและคอยค้ำจุนพระพุทธศาสนา ด้วยความศรัทธาเลื่อมใสในคำสอนของพระพุทธองค์มาแต่ครั้งพุทธกาล นอกจากองค์พระประธานสีขาวผ่องน่าเลื่อมใสควรค่าแก่การกราบไหว้แล้ว เรายังได้ตื่นตากับความวิจิตรอลังการของสถาปัตยกรรม และความเพียรของช่างที่เนรมิตให้เกิดถ้ำวังบาดาลจำลอง เต็มไปด้วยหินงอกหินย้อยน้อยใหญ่ประดับไฟแสงสีต่างๆ อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ อีกทั้งยังมีรูปปั้นพญานาคราชหลายตนเลื้อยพันอยู่ตามส่วนต่างๆ ของโถงถ้ำด้วยความละเอียดประณีตของรูปปั้นพญานาคาราชในวัดป่าศรีมงคลรัตนาราม ทำให้รูปปั้นเหล่านี้เหมือนมีชีวิตจริงๆ พุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธา หลั่งไหลกันเข้ามาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัดป่าศรีมงคลรัตนาราม นับพันนับหมื่นคนทุกวัน
ภายในวัดป่าศีมงคลรัตนาราม ยังมีองค์พระปางสมาธิขนาดมหึมาประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง ให้เราได้สักการะด้วย เดินทางต่อไปในดินแดนที่อวลด้วนกลิ่นอายพระพุทธศาสนาอันร่มเย็นของศรีสะเกษ ณ “วัดสระกำแพงใหญ่” ตำบลสระกำแพงใหญ่ อำเภออุทุมพรพิสัย ชื่นชมพระอารามโอ่โถงงามตา อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของโบราณสถานสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในเขตอีสานใต้ คือ “ปราสาทสระกำแพงใหญ่” ปราสาทสระกำแพงใหญ่เป็นปราสาทลึกลับ ที่ยังไม่รู้วันเดือนปีที่สร้าง แต่ก็คงความสำคัญในฐานะเทวสถานพราหมณ์ ซึ่งได้กลายเป็นวัดพุทธลัทธิมหายานในกาลต่อมา องค์ประกอบสำคัญของปราสาทมีด้วยกัน 4 ส่วน คือ “บาราย” (สระน้ำ) อยู่ห่างออกไปราว 500 เมตร แต่ปัจจุบันไม่เหลือสภาพแล้ว, ถัดมาคือ “ระเบียงคต” เป็นกำแพงศาสนสถานล้อมรอบสี่ด้าน พร้อมด้วยซุ้มประตูเข้าออก, มี “บรรณาลัย หรือ วิหาร” 2 หลัง ใช้เป็นที่เก็บคัมภีร์ทางศาสนา ซึ่งถือว่าสำคัญไม่น้อยกว่ารูปเคารพ, และส่วนสุดท้าย คือ “ปรางค์” สร้างด้วยหินศิลาแลง 4 หลังเมื่อปี พ.ศ. 2532 มีการค้นพบปฏิมากรรมสำริดกะไหล่ทอง ขนาดใหญ่ สูง 140 เซนติเมตร ซึ่งนักโบราณคดีสันนิษฐานว่าเป็นรูปของ นันทิเกศวร หรือ นันทีศวร  ซึ่งปัจจุบันได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมายแล้วปราสาทสระกำแพงใหญ่ ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2478ภายในวัดสระกำแพงใหญ่ ยังมีวิหารต่างๆ ให้เข้าไปกราบไหว้ และเก็บภาพพุทธศิลป์งามล้ำอีกนับไม่ถ้วน องค์พระประธานสไตล์พม่าในวัดสระกำแพงใหญ่ จำลองแบบมาจากพระมหามัยมุนี หุ้มทองคำน่าเลื่อมในศรัทธา โบราณสถานสำคัญอีกแห่งหนึ่งของศรีสะเกษ คือ “ปราสาทบ้านปราสาท” ตั้งอยู่ที่หมู่ 12 วัดปราสาทพนาราม บ้านปราสาท อำเภอห้วยทับทัน แม้จะมีขนาดไม่ใหญ่โต ทว่าก็เป็นปราสาทขอมที่สวยงามไม่แพ้ที่ใดๆ สร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 16 สมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ตัวปราสาทมีปรางค์อิฐ 3 องค์ ใช้ประดิษฐานเทพตรีมูรติ คือ พระพรหม (ผู้สร้าง) พระวิษณุ (ผู้ปกป้องรักษา) และพระศิวะ (ผู้ทำลายเพื่อการเกิดใหม่) ทุกปีในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 จะมีงานไหว้พระธาตุที่นี่ด้วย
ศรีสะเกษเป็นเมืองเกษตร ซึ่งปลูกพืชผักผลได้หลากหลายไม่แพ้จังหวัดใดๆ ในเมืองไทย พูดแบบนี้ไม่ได้โม้! เพราะเขามีทั้งสุดยอดทุเรียน สุดยอดกระเทียม สุดยอดไม้มะดัน และพืชผักผลไม้อีกนานาชนิด จึงมี “ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ” ของกรมวิชาการเกษตร ตั้งอยู่ นอกจากจะเป็นแหล่งศึกษาวิจัยพืชพรรณใหม่ๆ แล้ว ยังเป็น แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Agro-Tourism) ที่น่าสนใจมาก เพราะมีดอกไม้สวยๆ ผลไม้อร่อยๆ และเส้นทางปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพพร้อมสรรพ สุขใจเมื่อได้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติที่ ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษอาหารในเมืองศรีสะเกษ เป็นเสน่ห์อีกอย่างที่ช่วยเติมเต็มการท่องเที่ยวของเราให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น จากเช้าจรดค่ำจึงมีเมนูอร่อยๆ ให้เลือกชิมกันเพียบ เริ่มตั้งแต่มื้อเช้าที่ “ร้านจรวด” (โทร. 08-4833-9099) ตั้งอยู่ที่วงเวียนแม่ศรี ติดทางเข้าวัดพระโต ในเทศบาลเมืองศรีสะเกษเลยร้านจรวด เปิดตั้งแต่เวลา 6.00-14.00 น.ทุกวัน เน้นขายอาหารเช้าหลากหลายเมนู Signature ของร้าน คือ โจ๊กต่างๆ กินคู่กับชากาแฟ ไข่กระทะ และปาท่องโก๋ ทำให้ร้านนี้มีชื่อเสียงมานาน ได้ชิมทีไรอิ่มทั้งใจอิ่มทั้งท้องเมนูเด็ดอีกอย่างของร้านจรวดที่คนสั่งกันเยอะ คือ เนื้อปลากะพงลวกจิ้ม และข้าวต้มปลากะพง มีน้ำจิ้มเต้าเจี้ยวกินคู่กัน เนื้อปลาจัดว่าสด นุ่มละลายในปาก ถ้าจานเดียวไม่พอ ก็ต่อจานสองได้เลยจ้าร้านอาหารอีกแห่งที่ทำให้ศรีสะเกษวันนี้ดูมีสีสันขึ้นอย่างผิดหูผิดตาก็คือ “Cafe De Tree”  ร้านน่านั่งที่ตกแต่งด้วยสไตล์วินเทจย้อนยุคแบบยุโรป พร้อมด้วยอาหารคาวหวาน เค้กอร่อยๆ และเครื่องดื่มหนักเบาครบครัน อีกทั้งยังเหมาะกับคนชอบถ่ายภาพเป็นที่สุด เพราะมีมุมกิ๊ปเก๋ให้ชักภาพกันได้ไม่หยุด
ร้าน Cafe De Tree เปิดตั้งแต่เวลา 7.00-22.00 น. ติดต่อโทร. 08-1280-8388
ร้านอาหารไทยพื้นบ้าน ที่มีชื่อเสียงน่าไปลิ้มลองแห่งหนึ่งในอำเภอเมืองศรีสะเกษ คือ “ร้านสีเขียว” อยู่เลขที่ 54/831 หมู่ 10 ถนนมหาราช เทศบาลเมืองศรีสะเกษ เปิดเวลา 10.00-22.00 น. ร้านสีเขียวเปิดมากว่า 30 ปีแล้ว เจ้าของ คือ คุณป้าพวงแก้ว อาชวินรุจิรดา (ป้าเขียว) ซึ่งได้แนะนำว่าเมนูที่ใครมาร้านต้องสั่งมาทาน คือเมนูเด็ด 5 จาน ได้แก่ 1. แจ่วฮ้อน 2. อุหน่อไม้สด 3. ป่นปลาทู 4. ปลาเนื้ออ่อนนึ่งแจ่ว และ 5. ออร์เดิร์ฟอีสาน

อย่างเมนู ปลาเนื้ออ่อนนึ่งแจ่ว จะใช้เฉพาะปลาเนื้ออ่อนสดๆ จากแม่น้ำ ทานคู่กับเครื่องเคียง คือ ดอกแค บวบ ฟักทอง และดอกสลิด ในจังหวัดศรีสะเกษมีร้านสีเขียวแห่งเดียวที่ขายเมนูนี้ เพราะเป็นปลาหายากและราคาแพงนั่นเองอุหน่อไม้สด แบบพื้นบ้านแท้ๆเมี่ยงคำในแก้วช๊อตน่ารักๆ กินพอดีคำ เรียกน้ำย่อยได้ดีเยี่ยมป่นปลาทู กินคู่กับผักดองและผักสดต่างๆออร์เดิร์ฟอีสาน เหมาะทานเล่นเรียกน้ำย่อย คู่กับเครื่องดื่มที่เราชอบปิดท้ายทริปศรีสะเกษสุดอิ่มแปล้กันที่ร้านอาหารพื้นบ้านขึ้นชื่อลือชาในอำเภอห้วยทับทัน “กี่ไก่ย่าง” พิเศษที่เป็นไก่ย่างไม้มะดัน ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือนแน่นอน ไก่ย่างไม้มะดันห้วยทับทัน ทำจากไก่พื้นเมืองสามสายเลือด ใช้ไม้มะดันเป็นไม้เสียบไก่ รสชาติจึงออกเปรี้ยวหวานพอเหมาะเข้ากับสูตรเครื่องปรุง เนื่องจากเมื่อปิ้งไฟได้ความร้อนกำลังดี ความเปรี้ยวหวานของไม้มะดันจะซึมซาบเข้าสู่เนื้อไก่ ทำให้ได้รสชาติเป็นเอกลักษณ์มาก จะกินเปล่าๆ หรือกินคู่กับน้ำจิ้มแจ่วรสเด็ด ก็อร่อยเหาะไปเลยจ้าสอบถามเพิ่มเติม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานศรีสะเกษ-สุรินทร์ โทร. 0-4451-4447-8

ททท. พาเที่ยวตัวปลิว ชิลอีสาน @อุดรธานี

“อีสาน” ชื่อนี้คือดินแดนที่มีเสน่ห์ชวนให้ไปสัมผัส เพราะอีสานไม่ได้มีแต่ความแห้งแล้งอย่างที่บางคนเข้าใจ ทว่าในผืนดินอันกว้างใหญ่นั้น ยังมีความผสมกลมกลืนลงตัวของธรรมชาติ วิถีชีวิต ผู้คน และวัฒนธรรมประเพณี ที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน วันนี้เราจึงได้ไปเยือน “อุดรธานี” หนึ่งในจังหวัดอีสานเหนือ ซึ่งมีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีบ้านเชียงมรดกโลกอายุกว่า 5,000 ปี และประวัติศาสตร์สมัยรัชกาลที่ 5 เรียกแถบนี้ว่ามณฑลอุดร เป็นศูนย์กลางต่อสู้กับการล่าอาณานิคมของฝรั่งเศส จนเป็นเรื่องราวเล่าขานมาจนปัจจุบัน
จะว่าไปแล้ว อุดรธานีน่าเที่ยวในทุกฤดูกาล โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ ใครได้ไปเที่ยวชม “ทะเลบัวแดง หนองหานกุมภวาปี” ก็จะได้ตื่นตาตื่นใจไปกับผืนพรมสีชมพูกว้างใหญ่นับหมื่นๆ ไร่ของทะเลบัวแดง หรือบัวสายสีชมพูนับแสนๆ ดอกพากันสะพรั่งบานรับลมหนาว และฝูงนกอพยพนับหมื่นๆ ตัว พากันมาสร้างสีสันเติมชีวิตชีวาให้กับทะเลสาบธรรมชาติสุดอลังการนี้

หนองหานกุมภวาปี เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติเนื้อที่ถึง 22,500 ไร่ ได้รับการหล่อเลี้ยงน้ำจืดจากห้วย 6 สาย จึงชุ่มฉ่ำตลอดปี อีกทั้งเป็นต้นกำเนิดลำน้ำปาว เพราะเมื่อไหลลงใต้ผ่านจังหวัดกาฬสินธุ์แล้วก็จะบรรจบกับลำน้ำชี เกิดเป็นระบบนิเวศบึงน้ำจืดมหึมา ที่มีพืชพรรณ หมู่ปลา และนกน้ำ เข้ามาอาศัยหากินนับไม่ถ้วน

ท่าเรือบ้านเดียม ตำบลเชียงแหว อำเภอกุมภวาปี จุดเริ่มต้นการล่องเรือชมทะเลบัวแดงของนักท่องเที่ยว

การล่องเรือควรเริ่มตั้งแต่เช้าตรู่ ไม่เกิน 06.00 น. จะได้เห็นแสงแรกของตะวันเบิกฟ้าเปล่งรัศมีสีทองอาบทะเลบัว ขณะที่อากาศยามเช้าแช่มชื่นแจ่มใส นกนานาชนิดเริ่มออกหากิน ส่งเสียงร้องกันจ๊อกแจ๊ก ทะเลบัวที่หุบมาตลอดคืนจะค่อยๆ แย้มกลีบออกทีละน้อย จนเผยความงามเต็มที่ เรือนักท่องเที่ยวค่อยๆ ทยอยแล่นออกจากท่าบ้านเดียม มองเห็นนกนางแอ่นบ้าน นกยางโทน นกอุ้มบาตร นกกาน้ำเล็ก นกอีโก้ง นกอีลุ้ม นกอีล้ำ เริงร่าออกหากิน เป็ดแดงบางฝูงมีนับร้อยตัว เรือแล่นผ่านกอต้นหญ้าต้นกกที่ขึ้นอยู่เป็นแนว  กิ่งก้านโอนไกวตามลมอ่อนๆ มีเรือหาปลาและเรือเก็บสายบัวของชาวบ้าน ใช้ชีวิตผูกพันอยู่กับสายน้ำมาเนิ่นนาน

สาวน้อยเริงร่าท่ามกลางทะเลบัวแดงยามเช้า ดูแล้วตัดสินไม่ได้เลยว่าคนหรือดอกบัวอะไรจะสวยกว่ากัน? ฮาฮาฮา

ในฤดูหนาว ดอกบัวสายสีชมพูจะมีดอกสาหร่ายข้าวเหนียวสีเหลืองบานขึ้นแทรกแซมเหนือผิวน้ำด้วย ยิ่งมองยิ่งงดงามราวกับงานศิลป์ชิ้นเอกของศิลปินธรรมชาติผู้ยิ่งใหญ่ล่องเรือชมทะเลบัวแดงสุขใจในยามเช้า สูดอากาศบริสุทธิ์ท่ามกลางทะเลบัวยิ่งใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน นกยางโผร่อนไปเหนือทะเลบัวแดง ช่วยต่อเติมระบบนิเวศของทะเลสาบน้ำจืดแห่งนี้ให้อุดมสมบูรณ์และสมดุลย์นกอุ้มบาตรสีเหลืองสดใสกับดอกบัวแสนสวย นกชนิดนี้จะมาเยือนทะเลบัวแดงเฉพาะในช่วงฤดูหนาวเท่านั้นนกอีโก้ง (Purple Swamphen) เป็นนกรับแขกชนิดหนึ่งของทะเลทะเลบัวแดงหนองหานกุมภวาปี เพราะนอกจากจะพบเห็นได้ง่ายแล้ว ยังมีขนสวยสีน้ำเงินเหลือบม่วงสดใส ตัดกับปากและแผ่นหนังสีแดงตรงหน้าผาก เรามักพบพวกมันหากินอยู่เป็นคู่ๆโดยเดินอยู่บนกอพืชน้ำที่ลอยตุ๊บป่องๆ นั่นเองนกแซงแซวหางปลา (Black Drongo) เป็นนกประจำถิ่นที่พบได้มากในทะเลบัวแดง พวกมันชอบเกาะอยู่ตามพุ่มไม้หรือตอไม้เหนือน้ำ เพื่อโฉบไปจับแมลงมากินเป็นอาหาร แมลงปอตัวน้อยกับบัวสายที่เพิ่งแย้มกลีบออกรับแสงตะวันในยามเช้า ช่างเป็นภาพที่น่ารักน่าชมเหลือเกินธรรมชาติมีความเปลี่ยนแปรอยู่ตลอดเวลา วันนี้เราจึงพบ “บัวสองสี” ที่อาจเป็นการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างบัวสายสีชมพูและบัวสีขาว จนเกิดเป็นบัวสายพันธุ์ใหม่ขึ้นทะเลบัวแดงหนองหานกุมภวาปี เปิดตัวขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2555 โดยจัดงานวิวาห์ล้านบัวขึ้นในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ เป็นวันแห่งความรักอันหวานชื่น นำคู่รักไปจดทะเบียนสมรสกันกลางทะเลบัว ให้บัวสีชมพูนับแสนๆ ดอกเป็นสักขีพยานรัก และทุกปีต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน ททท. ร่วมมือกับหลายหน่วยงาน ก็ยังจัดงานวิวาห์ล้านบัวอย่างต่อเนื่อง หลังจากล่องเรือชมความยิ่งใหญ่ตระการตาของทะเลบัวแดงมาหลายชั่วโมง นี่ก็สายแล้ว เราจึงเริ่มหิว โชคดีที่วันนี้ตรงท่าเรือมีร้านอาหาร+ที่พักเปิดใหม่ให้บริการนักท่องเที่ยว ชื่อ “MA DER BUA” (มา เดอ บัว) ได้เวลาสั่งส้มตำไหลบัวและยำรากบัวมาชิม นับเป็นเมนูท้องถิ่นที่นำบัวธรรมชาติมาปรุงเป็นอาหารรสเลิศได้อย่างน่าชื่นชม

(สนใจสอบถาม MA DER BUA โทร. 08-1 974-3560)เปลี่ยนบรรยากาศจากการล่องเรือชมทะเลบัว มาเดินชมสวนดอกไม้สวยๆ กันบ้างที่ “สวนสิทธิกร” (หมู่.9 บ้านห้วยสำราญ ตำบลหนองไฮ อำเภอเมืองอุดรธานี โทร. 09-4529-9556, 09-2459-8525)แม้อุดรธานี จะมีสวนดอกไม้ไม่เยอะเหมือนทางภาคเหนือ แต่ แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Agro-Tourism) อย่าง สวนสิทธิกร ก็ช่วยสร้างสีสันให้วงการท่องเที่ยวอุดรธานีเป็นอย่างมาก สวนแห่งนี้อยู่ห่างจากตัวเมืองอุดรธานีประมาณ 23 กิโลเมตริเท่านั้น แม้จะไม่ใหญ่โต แต่ก็สดใสมีชีวิตชีวาด้วยดอกไม้หลากสีนานาพันธุ์ ทั้งดอกคลัสเตอร์, ดอกมัม, ดอกเบญจมาศ, ดอกดาวเรือง, ดอกพุด, ดอกกุหลาบ ฯลฯ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันให้ชมตลอดปี ยิ่งถ้าเป็นฤดูหนาวระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ ด้วยแล้วดอกไม้ยิ่งเยอะจ้า ใช้เป็นโลเกชั่นถ่ายรูปกันได้เพลินๆ ไม่เบื่อเลยแหละ สวนสิทธกร ค่าเข้าชมเพียง 30 บาท  มีพร๊อพเตรียมไว้ให้เราถ่ายภาพคู่อย่างมากมาย ทั้งซุ้มต่างๆ รวมถึงร่ม และกระเช้าดอกไม้เก๋ๆ เที่ยวสวนสิทธิกรเหมาะสุดในช่วงเช้าและบ่ายคล้อยที่แดดร่มลมตก ถ้ามาเที่ยวตอนกลางวันแดดจะร้อนสักหน่อย แต่ก็ถ่ายรูปได้สวยกระจ่างใสดีจ้าจากแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติอันเจริญตาเจริญใจของอุดรธานี บัดนี้ได้เวลามากราบพระขอพรกันที่ “วัดป่าศรีคุณาราม” แล้ว วัดแห่งนี้ตั้งอยู่ที่บ้านจีต ตำบลบ้านจีต อำเภอกู่แก้ว (เดินทางด้วยรถยนต์จากตัวเมืองอุดรธานี ประมาณ 1 ชั่วโมง) นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงศาสนาที่สำคัญ เพราะมีพระมหาเจดีย์มงคลประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ส่วนพระจักษุธาตุ ให้พุทธศาสนิกชนได้สักการะรำลึกถึงคุณพระรัตนไตรวัดป่าศรีคุณาราม เดิมชื่อ วัดป่าศรีคุณรัตนาราม ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้านจีต เดิมชาวบ้านเรียกว่าบริเวณนี้ว่า “เหล่าปลาฝา” (ตะพาบน้ำ) เพราะมีหินรูปปลาฝาครอบสี่เหลี่ยม เจาะเป็นโพรงสำหรับเก็บสิ่งของมีค่า ทว่าปัจจุบันหินนั้นได้สูญหายไปแล้ว คงเหลือแต่ฐานสี่เหลี่ยมเจาะเป็นโพรง อยู่ภายในวัดป่าศรีคุณารามนั่นเอง ส่วนองค์พระมหาเจดีย์มงคลก็สง่างามน่าศรัทธา สร้างขึ้นโดยมีองค์พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม เป็นแรงบันดาลใจ โดยสร้างให้มีความ Modern หรือร่วมสมัยมากขึ้น ภายในแบ่งเป็น 3 ชั้น เชื่อมถึงกันด้วยบันได เราสามารถเข้าไปสักการะได้ ภายในชั้นล่างขององค์พระเจดีย์ มีพระพุทธรูปหยกขาว และรอยพระพุทธบาทจำลองให้สักการะภายในชั้นสองขององค์พระเจดีย์  มีพระบรมสารีริกธาตุ และพระธาตุพระอรหันตสาวก ประดิษฐานให้สักการะอยู่เป็นจำนวนมาก พร้อมด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังบอกเล่าเรื่องราวพุทธประวัติ ฝีมือวาดงดงามเข้าขั้นเอกอุ
ก่อนกลับบ้านทริปนี้ เราไม่ลืมแวะชิมอาหารพื้นเมืองอร่อยๆ เพื่อเติมพลังกันสักหน่อย แน่นอนว่าต้องไม่พลาดร้าน “VT แหนมเนือง” เป็นอาหารเวียดนามที่เข้ามาผสมกลมกลืนจนกลายเป็น Signature ของอาหารอุดรธานีไปแล้ว วันนี้เขาเปิดสาขาใหม่ที่บ้านจั่น อำเภอเมืองอุดรธานี มีลักษณะเหมือนศูนย์อาหารขนาดใหญ่ ทันสมัย สะอาดสะอ้านสุดๆ จนลูกค้าต้องร้องว้าวกันเลยทีเดียว ปัจจุบันร้าน VT แหนมเนือง มีอยู่มากกว่า 15 สาขาทั่วประเทศ สามารถสั่งให้ส่งทางไปรษณีย์มากินที่บ้านได้สบายมาก นอกจากแหนมเนืองรสเด็ดที่ใช้วัตถุดิบอย่างดี สดใหม่ สะอาดแล้ว เขายังมีเมนูอาหารน่าชิมอื่นๆ อีกเพียบ (สอบถาม  สาขาโพศรี โทร. 0-4221-9555, 0-4221-9556, 0-4221-9557 / สาขามิตรภาพ โทร. 0-4211-1111, 0-4211-1999  )ร้าน VT แหนมเนือง เปิดมานานกว่า 5o ปีแล้ว สืบทอดสูตรมาจากคุณแม่วีและคุณพ่อตวน ชาวเวียดนามผู้อพยพเข้ามาตั้งรกรากในสยาม เริ่มต้นจากการหาบเร่ขายโดยคุณแม่วี ขายดิบขายดีจนสามารถเปิดเป็นร้านเล็กๆ ชื่อร้าน “แดงแหนมเนือง” ที่จังหวัดหนองคาย แล้วค่อยขยายสาขามายังอุดรธานีในปัจจุบัน

คำว่า “แหนมเนือง” จริงๆ แล้วเพี้ยนมาจากภาษาเวียดนามว่า “แนม เหนือง” ซึ่งแปลว่า “หมู + ปิ้ง” นั่นเอง
แหนมซี่โครงหมู ร้าน VT แหนมเนืองกุ้งพันอ้อย ร้าน VT แหนมเนือง ไส้กรอกอีสาน ร้าน VT แหนมเนืองปอเปี๊ยะทอด ร้าน VT แหนมเนืองหมูยอรสเด็ด ร้าน VT แหนมเนือง

ขอขอบคุณ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่สนับสนุนการเดินทางทริปนี้เป็นอย่างดี

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานอุดรธานี โทร. 0-4232-5407 

เที่ยวสนุกถิ่นอีสานใต้ ในบุรีรัมย์

ได้มาเที่ยว บุรีรัมย์ ก็หลายครั้ง ส่วนใหญ่จะได้ดูแต่สนามฟุตบอลกับสนามแข่งรถระดับโลก แต่จริงๆ เขาน่าจะมีที่เที่ยวเจ๋งๆ อื่นอีกแน่นอน

ทริปนี้โชคดีได้เดินทางไปกับ ททท. สำนักงานบุรีรัมย์ พาไปชมความน่าสนใจของสัตว์โลกในธรรมชาติเมืองไทยที่แสนหายากอย่าง ‘นกกระเรียนพันธุ์ไทย’ หรือ Sarus Crane นั่นเอง

แหล่งเรียนรู้นี้ชื่อเต็มว่า ‘ศูนย์อนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำและนกกระเรียนพันธุ์ไทย จังหวัดบุรีรัมย์’ ต.สะแกโพรง อ.เมืองบุรีรัมย์ (ทางเข้าเดียวกับอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก) เป็นแหล่งเรียนรู้ใหม่เอี่ยมที่เพิ่งเปิดตัวได้แค่ 1 เดือน แต่ก็มีการออกแบบตัวอาคารไว้อย่างสวยงาม ดู Modern และที่สำคัญคือโปร่งโล่งสบาย อากาศถ่ายเทดี จึงประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้เยอะสมความตั้งใจของสถาปนิกครับทำไมเราต้องมาดูนกกระเรียนพันธุ์ไทยกันที่นี่ด้วย? คำตอบง่ายๆ คือ นกกระเรียนพันธุ์ไทยในธรรมชาติได้สูญพันธุ์ไปกว่า 50-70 ปีแล้ว เนื่องจากมันเป็นนกขนาดใหญ่ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มฉ่ำน้ำและนาข้าว จึงตกเป็นเป้าล่าของชาวบ้าน ที่ล่าทั้งกินเนื้อและไข่ของมัน อีกทั้งที่อยู่อาศัยคือนาข้าวได้แปรสภาพไปเป็นบ้านจัดสรรหรือสิ่งก่อสร้างอื่น นกกระเรียนพันธุ์ไทยจึงสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติอย่างน่าเศร้า!

โชคดีที่มีการนำนกกระเรียนพันธุ์ไทยจากสวนสัตว์โคราช มาเพาะเลี้ยง แล้วปล่อยคืนสู่ธรมชาติของจังหวัดบุรีรัมย์ อันเป็นพื้นที่ดั้งเดิมที่เคยมีนกกระเรียนพันธุ์ไทยอาศัยอยู่ เพราะเป็นทุ่งราบฉ่ำน้ำและนาข้าว Organic หลังจากปล่อยนกกระเรียนคืนสู่ธรรมชาติไปแล้ว มันก็ค่อยๆ เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังถือว่ามีน้อย เพราะปีนึงจะออกไข่แค่ไม่กี่ฟองเองครับ
หลักฐานหนึ่งที่ยืนยันได้ดีที่สุดว่าบุรีรัมย์เคยมีนกกระเรียนพันธุ์ไทยอาศัยอยู่ ก็คือรูปถ่ายจากยุคโบราณของครอบครัวหนึ่งที่เลี้ยงนกกระเรียนไว้เป็นเพื่อนด้านในของศูนย์ฯ มีความโปร่งโล่งสบาย ประกอบด้วยห้องบรรยายและห้องนิทรรศการ รวมถึงทางเดินไปยังหอคอยชมวิว และมีกรงเลี้ยงนกกระเรียนพันธุ์ไทยไว้คู่หนึ่ง เพื่อศึกษาและให้ได้ชมกัน โดยนกคู่นี้เลี้ยงไว้ตั้งแต่ยังเล็ก จึงไม่สามารถปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้ เพราะมันจะหาอาหารกินเองไม่ได้ครับ
หอคอยชมวิวและส่องดูนก มองออกไปจากหอนี้จะเห็นทุ่งนาของชาวบ้านกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา กรงเลี้ยงนกกระเรียนพันธุ์ไทยไว้ให้เราได้ชมนกกระเรียนพันธุ์ไทยเป็นนกขนาดใหญ่ที่สง่างามมาก จุดเด่นคือบนหัวและคอมีแผ่นหนังสีแดง พร้อมด้วยจุดสีขาวที่ข้างหัว ปากยาวใช้จิกกินกุ้งหอยปูปลาสัตว์เล็กในทุ่งหรือในน้ำ ตัวผู้และตัวเมียมีขนาดใกล้เคียงกันจนยากจะแยกเพศได้ในช่วงเวลาปกติ แต่เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ตัวผู้จะเข้าเกี้ยวพาราสีตัวเมีย โดยกางปีกเต้นรำไปรอบๆ และใช้ลำคอเกี่ยวกระหวัดกันไปมาอย่างน่ารักมาก โดยมันเป็นนกผัวเดียวเมียเดียวตลอดชีวิต เมื่อจับคู่กันแล้วก็จะไม่เปลี่ยนคู่อีก จนกว่าจะตายจากกันไป น่าสรรเสริญจริงๆ ครับ!ปัจจุบันนกกระเรียนพันธุ์ไทยของศูนย์ฯ ที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติของบุรีรัมย์แล้ว มีเหลือรอดชีวิตประมาณ 70 ตัว อาศัยอยู่ในทุ่งหญ้าฉ่ำน้ำ แนวชายป่า และนาข้าว Organic ของชาวบ้าน ปีไหนฝนตกดีอากาศไม่ร้อนจัด มันก็จะผสมพันธุ์กันเยอะหน่อย นาข้าวผืนใดมีนกไปทำรังวางไข่แล้วมาแจ้งศูนย์ฯ ก็จะมีเงินอุดหนุนช่วยดูแลให้เจ้าของนาด้วย นกกระเรียนที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาตินั้นหากินอยู่ในระยะไกลในนาข้าวของชาวบ้าน จึงต้องใช้กล้อง Tele Scope กำลังขยายสูงๆ ส่องดูครับ
จุดที่ห้ามพลาดชมของศูนย์ฯ นี้ คือ ห้องนิทรรศการ ซึ่งบอกเล่าชีวิตและนิเวศวิทยาของนกกระเรียนพันธุ์ไทยไว้อย่างละเอียดมาก ทางรอดหนึ่งของนกกระเรียนพันธุ์ไทย คือการคืนพื้นที่อาศัยอันสงบ ปลอดภัย และมีอาหารอุดมสมบูรณ์ให้นก จึงเกิดโครงการแปลงนาข้าวอินทรีย์กับวิถีอนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทยขึ้นที่บุรีรัมย์ ปัจจุบันมีเครือข่ายเกษตรกรผลิตข้าวอินทรีย์ แล้วปล่อยให้นกเข้ามาอาศัยได้เหมือนเพื่อนปัจจุบันเกิดเครือข่ายเกษตรอินทรีย์กับการอนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทย คือ กลุ่มข้าวอินทรีย์บ้านสวายสอ ต.สะแกโพรง อ.เมืองบุรีรัมย์, กลุ่มข้าวอินทรีย์บ้านเกียรติเจริญ ต.โคกม้า อ.ประโคนชัย และกลุ่มโครงการระบบส่งสเริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ต.สะแกซำ อ.เมืองบุรีรัมย์ ร่วมกันผลิตข้าวแบรนด์ ‘SARUS RICE’ หรือ ‘ข้าวสารัช’ ข้าวหอมนกกระเรียน ซึ่งเป็นข้าว Organic แท้ๆ
หลังจากช่วงกลางวันเราได้ไปเที่ยวศูนย์อนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทยสุดน่ารักกันมาแล้ว ยามค่ำวันเสาร์-อาทิตย์ในตัวเมืองบุรีรัมย์ อย่าพลาดเดินช้อปปิ้งกันที่ ‘ถนนคนเดินเซาะกราว’ เป็นถนนคนเดินยาวเหยียดกว่า 1 กิโลเมตร กลางเมือง ที่รวมเอาของกินอร่อยๆ ผักสดผลไม้ ของใช้ และผ้าทอพื้นเมืองสวยๆ มาไว้ในที่เดียว แค่เตรียมตัวกับเงินไปพอ ฮาฮาฮา อีกหนึ่ง Signature ของบุรีรัมย์ ซึ่งเรายังไม่เห็นว่ามีที่ไหนเหมือนก็คือ ‘ลูกชิ้นยืนกิน’ หน้าสถานีรถไฟบุรีรัมย์

ลูกชิ้นยืนกินมีขายตั้งแต่เช้าจดเย็น เป็นรถเข็นหลายสิบเจ้ามาจอดเรียงต่อกันตรงถนนทางเข้าหน้าสถานีรถไฟบุรีรัมย์ แต่ละเจ้ามีลูกชิ้นนานาชนิดละลานตาต่างกันไป รวมถึงผักสดไว้กินแกล้มด้วย ความเจ๋งคืนน้ำจิ้มแต่ละร้านมีสูตรเรียกลูกค้าต่างกัน เวลากินก็ไปหยิบมาจิ้มน้ำจิ้ม ยืนกินหน้าร้านเลยจนกว่าจะอิ่ม พอจะจ่ายตังค์ก็นับไม้ (ไม้ละ 3 บาท) สุดยอดไปเลย! หรือถ้าจะซื้อกลับบ้านก็ได้ไม่ว่ากันครับ แนะนำอีกร้านก่อนกลับบ้านคือ ‘เป็ดย่างคูเมือง’ อาหารขึ้นชื่อที่แขกไปใครมาก็นิยมแวะชิม ลักษณะเป็นเป็ดย่างตัวเล็กพอดีๆ ย่างมาเนื้อแห้งกรอบนอกนุ่มใน กินคู่กับน้ำจิ้มรสเผ็ดอมเปรี้ยวซอสมะขาม

แซ่บอีหลีเด้อ! เป็ดย่างคูเมืองส้มตำรสเด็ด สั่งได้ตามชอบสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานบุรีรัมย์ โทร. 0-4463-4722-3

https://www.facebook.com/TATBuriram8/

https://i-san.tourismthailand.org

เที่ยวสุรินทร์ ถิ่นข้าว Organic ไทย

ไปเที่ยวสุรินทร์มาก็หลายครั้ง เพราะหลงใหลในชื่อเสียงของ ‘ข้าวหอมมะลิสุรินทร์’ ซึ่งทุกวันนี้มีปลูกไม่น้อยกว่า 3 ล้านไร่ที่นี่ อีกทั้งยังเป็นจังหวัดผู้บุกเบิกการปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ด้วย จึงมีคุณภาพดีเด่นระดับโลก ส่งออกแบบเทน้ำเทท่า ความเจ๋งของเขาคือข้าวหุงขึ้นหม้อ เมล็ดสวย และมีกลิ่นหอมหวนชวนรับประทานสมชื่อจริงๆ คงเพราะดินของสุรินทร์เป็นดินภูเขาไฟ อันเป็นส่วนหนึ่งของทุ่งกุลาร้องไห้ จึงอุดมด้วยแร่ธาตุต่างๆ เพียบเรามาเที่ยวสุรินทร์รอบนี้ กับ ททท. ได้เปิดมุมมองใหม่กันที่ ‘หอมมะลิ Factory’ ร้านกาแฟออร์แกนิคที่ต่อยอดมากจากโรงสีข้าว ตกแต่งสไตล์ Factory มีบริการเครื่องดื่มร้อน-เย็น อาหาร และเบเกอร์รี่ต่างๆ

หอมมะลิ Factory เลขที่ 84 หมู่ 6 ถนนปัทมานนท์ ต.จอมพระ อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ / เปิดเวลา 7.30-18.00 น. / โทร. 08-7255-5657, 08-8884-5252
ภายในจัดเป็นบรรยากาศแบบ Chill Out Factory ที่น่านั่งชิลกันนานๆ รับรองถูกใจวัยรุ่นครับ
มีมุมช้อปปิ้งสินค้าข้าวหอมมะลิตราช้างชูรวงข้าว ในรูปแบบแพ็กเกจเก๋ๆ ต่างกันมากมาย กินข้าว Organic แล้วสบายใจ ปลอดภัยต่อสุขภาพครับ อีกหนึ่งไฮไลท์ของ หอมมะลิ Factory คือ ‘กาแฟข้าวหอมมะลิ’ คอกาแฟทุกคนห้ามพลาด เพราะกลิ่นหอมหวนจริงๆ รสชาติก็ไม่เข้มเกินไป ถือว่ามีความละมุนเป็นเลิศ อีกหนึ่งสถานที่เที่ยว ซึ่งสะท้อนวิถีชีวิตการกินอยู่ และความผูกพันกับเกษตรกรรมของคนสุรินทร์ ก็คือ ‘ตลาดเขียว’ ซึ่งมีเฉพาะช่วงเช้าวันเสาร์-อาทิตย์ ในตัวเมืองสุรินทร์เท่านั้นครับ
จุดเด่นของตลาดเขียว คือการนำสินค้าเกษตรพวกพืชผักผลไม้พื้นบ้านนานาชนิด มาจำหน่ายกันสดๆ ในราคาไม่แพง นอกจากนี้ยังมีของกินพื้นบ้าน ข้าวหอมมะลิ ของใช้และผ้าไหมสุรินทร์ให้เลือกกันอย่างจุใจ

ใครขยันตื่นเช้าก็จะได้สัมผัสความคึกคักแบบนี้ล่ะจ้า หนึ่งในเมนูอาหารท้องถิ่นห้ามพลาดของสุรินทร์ก็คือ ‘อังแก๊บบ๊อบ’ แม้ชื่อจะคล้ายอาหารฝรั่ง แต่แท้จริงแล้วมันคือเนื้อกบสับคลุกเคล้าสมุนไพรและเครื่องแกง บรรจงยัดใส่ไว้ในตัวกบอีกทีหนึ่ง แล้วนำไปย่างไฟให้หอมหวนชวนรับประทาน ถือเป็น Signature ของสุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่เขาล่ะ!!!

เราลองกินไปคำนึง ขอบอกเลยว่า อังแก๊บบ๊อบรสชาติเหมือนไส้อั่วเชียงใหม่เปี๊ยบ!ข้าวจี่ตลาดเขียว
ไก่ย่างตลาดเขียวรอยยิ้มและเสียงพิณอันไพเราะของพ่อใหญ่ในตลาดเขียวยามเช้า ผ้าไหมทอมือทอเครื่องหลายเนื้อหลายราคา มีให้เลือกกันละลานตาในตลาดเขียวครับ

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ททท สำนักงานสุรินทร์ โทร. 0-4451-4447-8 

https://www.facebook.com/tatsurin

https://i-san.tourismthailand.org

บ้านท่าสว่าง วิจิตรศิลป์แพรพรรณแห่งสยาม จ.สุรินทร์

“กลุ่มทอผ้ายกทอง จันทร์โสมา” แห่งบ้านท่าสว่าง ตำบลท่าสว่าง อำเภอเมืองฯ จังหวัดสุรินทร์ เป็นหมู่อาคารเรือนไทยหลายหลังในสวนสวยแมกไม้ใหญ่ร่มรื่น ที่นี่มีทั้งส่วนอาคารพิพิธภัณฑ์ของสะสม ของท่านอาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย แกนนำกลุ่มจันทร์โสมา ที่มีจุดเด่นในการอนุรักษ์และฟื้นฟูผ้ายกทองชั้นสูงแบบราชสำนักไทยโบราณ โดยการนำใยไหมเส้นเล็กละเอียด (ไหมน้อย) มาย้อมสีธรรมชาติ ด้วยเทคนิคโบราณผสานกับการออกแบบลวดลายที่วิจิตรเหมือนในอดีต เช่น ลายเทพพนม ลายหิ่งห้อยชมสวน ลายก้านขดเต้นรำ ลายครุฑยุดนาค ฯลฯ ผสานกับลายผ้านุ่งที่คนสุรินทร์นิยมอยู่แล้ว คือ ลายอัมปรม ลายสาคู ลายสมอ ลายละเบิก ลายลูกแก้ว มีการใช้เส้นไหมกะไหล่ทองปั่นควบกับเส้นไหม ถักทอเป็นผ้าไหมยกทองอันวิจิตรงดงามอย่างเหลือเชื่อ

ยิ่งกว่านั้นบ้านท่าสว่างยังได้รับการสนับสนุนจากสำนักพระราชวัง และมูลนิธิในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระพันปีหลวง จนได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ทอผ้าไหมมอบให้กับผู้นำเอเปค เมื่อปี พ.ศ. 2546 บ้านท่าสว่างจึงเป็นที่รู้จักนับแต่นั้น แม่เฒ่าใช้เส้นใยจากใบไม้มาเตรียมไว้มัดเส้นไหม เตรียมลงย้อมในหม้อสีที่ต้มไว้เดือดๆ โดยย้อมทีละมัดๆ อย่างประณีต สีธรรมชาติจากพรรณไม้ต่างๆ นำมาจากมใบไม้, เปลือกไม้, แก่นไม้ แช่น้ำทิ้งไว้ค้างคืน แล้วนำมาเติมน้ำต้มให้เดือดควันฉุย จากนั้นนำมัดเส้นไหมหรือฝ้ายมาย้อมหลายครั้ง จนสีติดดี ได้สีเข้มตามต้องการ นี่คือเทคนิคการย้อมแบบร้อน จากทางเข้าด้านหน้า เราค่อยๆ เดินชมนกชมไม้เข้ามาสู่โรงย้อมผ้าสีธรรมชาติ ที่มีชาวบ้านกำลังช่วยกันนำเส้นไหมลงย้อมในหม้อบนเตาฟืนควันฉุย หม้อสีครามให้สีน้ำเงินสดใส หม้อน้ำต้มครั่งได้สีแดงชาติเตะตา หม้อน้ำจากต้นเขให้สีเหลืองแจ่มกระจ่างตา สีส้มได้จากดอกคำแสด สีเขียวมะกอกได้จากแก่นขนุน สีดำได้จากผลมะเกลือ สีน้ำตาลได้จากต้นหมาก และสีม่วงได้จากต้นหว้า เป็นต้น เมื่อนำผืนผ้าสีธรรมชาติมาทอผสมผสานกับไหมยกทองโบราณ ด้วยลวดลายที่มีความพิเศษของ อาจารย์วีรธรรม แล้ว ก็ยิ่งทำให้ผ้าไหมบ้านท่าสว่างกลายเป็นแพรพรรณอันเล่อค่าจนไม่น่าเชื่อ พอย้อมสีเส้นไหมเสร็จแล้ว ก็นำมาตากให้แห้งในที่ร่มลมโกรก หม้อหมักคราม ต้องหมั่นดูแลเพื่อไม่ให้ครามเน่า ชาวบ้านเรียกว่าครามยังมีชีวิต ถ้าครามเน่าเสีย หรือครามตายแล้ว จะเรียกว่า ครามหนีไปแล้ว! เสน่ห์ของสีธรรมชาติ คือ Colour Variation เป็นความหลากหลาย ความต่างของสีที่ไม่เท่ากันเลยในการย้อมแต่ละครั้ง ได้สีเข้มอ่อนตามการย้อม การผสม และวัสดุธรรมชาติที่ก่อกำเนิดสี ยิ่งใช้ยิ่งสวย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาก จากเรือนย้อมผ้า เราสาวเท้าเข้าไปที่เรือนทอผ้า และก็ต้องตื่นตาอีกครั้งกับกี่ทอผ้าขนาดยักษ์ของที่นี่ เพราะกี่ทอผ้าแต่ละอันของบ้านท่าสว่างนั้นมีความสูงกว่า 2-3 เมตร แต่ละกี่ต้องใช้คนช่วยกันทอ 4-5 คน เพราะผ้าไหมบ้านท่าสว่างมีมากถึง 1,416 ตะกอ จึงต้องอาศัยทักษะและทีมเวิร์กขั้นสูง เพราะต้องมีคนช่วยยกตะกอ 2-3 คน คนสอดไม้ 1 คน และคนทออีก 1คน เป็นความซับซ้อนทางด้านเทคนิคการทอ จนได้ผลงานเพียงวันละ 6-7 เซนติเมตรเท่านั้น ช่างทอซึ่งเป็นคุณป้าคุณยายเล่าให้ฟังว่า ผ้าลายพิสดารที่อยู่บนกี่นี้ล้วนมีคนสั่งทอทั้งสิ้น ผืนหนึ่งยาว 3 เมตร ราคาก็ไม่ต่ำกว่า 1.5-2.5 แสนบาท และต้องช่วยกันทุ่มเทแรงกายแรงใจทอนานหลายเดือนเลยทีเดียว เราสอบถามท่านว่ามีลูกหลานรุ่นใหม่มาร่ำเรียนสืบทอดวิชาทอผ้าบ้างหรือไม่? คุณป้ามองหน้ากันแล้วยิ้ม ตอบว่า “แทบไม่มีคนรุ่นใหม่มาสืบทอดวิชาทอผ้าเลย! สักวันมันคงสูญหายแน่นอน” เรื่องนี้จะจริงหรือไม่ เราไม่แน่ใจ แต่คงเป็นการบ้านที่ผู้รับผิดชอบต้องช่วยกันอนุรักษ์สืบสานมรดกของชาติแขนงนี้ไว้ให้ได้ กี่ทอผ้ายักษ์แห่งบ้านท่าสว่าง แต่ละอันสูงกว่า 3 เมตร ไม่ต่างจากตึก 3 ชั้น ที่มีทั้งชั้นล่าง ชั้นกลาง ชั้นบน ใช้ช่างทอที่มีความชำนาญสูงช่วยกันกี่ละไม่ต่ำกว่า 4-5 คน นับเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านขนานแท้ ที่สร้างความซับซ้อนบนผืนผ้าขึ้นมาได้ ลวดลายอันสวยงาม สลับซับซ้อน และวิจิตรพิสดาร ของผ้าไหมยกดิ้นทองบ้านท่าสว่าง ส่วนใหญ่จะเป็นการทำตามออร์เดอร์ โดยเฉพาะส่งเข้าวัง พอเดินชมสาธิตวิธีการทอผ้าไหมยกดิ้นทองในโรงทอแล้ว ก็ได้เวลาออกมาเดินช้อปปิ้งผ้าไหมบ้านท่าสว่าง อุดหนุนชาวบ้าน

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ททท สำนักงานสุรินทร์ โทร. 0-4451-4447-8 

https://www.facebook.com/tatsurin

https://i-san.tourismthailand.org

กลุ่มทอผ้ายกทองจันทร์โสมา บ้านท่าสว่าง โทร. 0-4414-0015 / บ้านท่าสว่าง อยู่ในอำเภอเมืองจังหวัดสุรินทร์ โดยอยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางเหนือ 10 กม. ใช้ถนนสายเกาะลอย-เมืองลิง (ทางหลวงชนบท สร.4026) จากตัวเมืองสุรินทร์ เป็นถนนลาดยางตลอด

ดื่มด่ำวิถีอีสานใต้ ภูมิปัญญาทอผ้าไหมบ้านสวาย จ.สุรินทร์

ถ้าเปรียบสุรินทร์เป็นถิ่นผ้าไหมงาม “บ้านสวาย” ก็เป็นหนึ่งในชุมชนที่สืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมการทอผ้ามายาวนานหลายร้อยปี

บ้านสวายมีชื่อเสียงด้านการผลิตผ้าไหมที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของสุรินทร์ จุดเด่นอยู่ที่กรรมวิธีการทอที่สลับซับซ้อนมีความยาก ต้องใช้ความสามารถ และอาศัยทักษะความชำนาญในการทอ โดยเฉพาะการทอผ้าไหมมัดหมี่ยกดอก ซึ่งทำให้ผ้ามีเนื้อแน่นใส่ได้ทนทาน ทว่ายังความนุ่มพลิ้วไหวและระบายอากาศได้ดีเยี่ยม กว่า 70 เปอร์เซนต์ ของคนในชุมชนนี้ ยังคงสืบสานวัฒนธรรมการทอผ้า และรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มหัตถกรรมสตรีทอผ้าไหมบ้านสวาย เพื่อพัฒนางานแขนงนี้มิให้สูญหาย
ท่านผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานสุรินทร์ ถ่ายภาพเป็นที่ระลึกคู่กับนางสาวสุรินทร์ ปี 2562 ที่บ้านสวายตอนพาเราไปเที่ยว ปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่า มีลายผ้าไหมหลายร้อยลายเกิดขึ้นในตำบลสวายทั้ง 14 หมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นลายต่างๆ ที่บรรพบุรุษคิดค้นขึ้น หรือลายที่ชาวบ้านคิดใหม่จนกลายเป็นเอกลักษณ์ในวันนี้ อาทิ ลายช้าง, ลายนกยูง, ลายนาคี, ทำให้ชุมชนบ้านสวายโด่งดังเป็นที่รู้จัก มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมตลอดปีการเที่ยวชมวิถีภูมิปัญญาผ้าไหมบ้านสวาย เขาจะมีการแบ่งเป็นฐานๆ ไว้อย่างครบวงจร ตั้งแต่การปลูกต้นหม่อน เลี้ยงหนอนไหม ต้มไหมสาวเส้นไหม และทอผ้าไหม รวมไปถึงการช้อปปิ้งปิดท้าย หรือจะอยู่กินอาหารพื้นบ้านในชุมชนก็ดีไม่น้อย เพราะจะได้สัมผัสวิถีคนบ้านสวายอย่างลึกซึ้งจุดเริ่มต้นของวงจรคือหนอนไหม ที่กำลังพยายามถักทอเส้นใยสีเหลืองอร่ามห่มคลุมตัวเองไว้ เพื่อเข้าระยะดักแด้หนอนไหมที่ฟักออกจากดักแด้กลายเป็นผีเสื้อไหม ตัวผู้และตัวเมียก็จะมาผสมพันธุ์กันด้วยความรัก แล้วเกิดไข่สีขาวฟองเล็กๆ มากมาย เพื่อเพาะเป็นหนอนไหมรุ่นต่อไปไม่รู้จบรังไหมที่มีตัวหนอนไหมหรือดักแด้ไหมอยู่ภายใน ก่อนนำลงต้มน้ำร้อนเพื่อสาวเส้นไหมออกมา ใช้ถักทอเป็นผ้าไหมต่อไปการสาวเส้นไหมจากรังไหมในน้ำเดือด ชาวบ้านจะทำกันเฉพาะวันที่ไม่ใช่วันพระเท่านั้นนักท่องเที่ยวกำลังเรียนรู้วิธีการสาวเส้นไหมจากรังไหมต้มในน้ำเดือดเมื่อสาวเส้นไหมไปหมดแล้ว สิ่งที่เหลืออยู่ในรังไหมก็คือดักแด้หรือหนอนไหมไร้ชีวิต ซึ่งกลายเป็นอาหารโปรตีนสูงบำรุงสุขภาพแบบฉบับพื้นบ้านมาช้านาน เราทดลองชิมแล้ว รสชาติเหมือนกินข้าวโพดต้มเลยล่ะปั่นเส้นไหมสีทองอร่ามตามธรรมชาติที่ตากแห้งแล้วไว้เป็นม้วน เพื่อเตรียมปั่นลงกระสวยไว้ให้ช่างทอผ้าต่อไปชาวบ้านสวายช่วยกันเก็บรังไหมที่มีตัวดักแด้อยู่ภายใน เตรียมนำไปต้มเพื่อสาวเส้นไหมออกมาหนูน้อยน่ารักมาช่วยเป็นกำลังใจให้คุณยายในการทอผ้าไหมเส้นไหมดิบตากแห้งที่ผ่านการต้มและสาวไหมแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการปั่นแยกเส้นไม่ให้พันกันเพื่อเตรียมลงกระสวยของจริงของแท้ เกิดจากวิถีพ่อแม่พาทำ เรียนรู้วิธีการทอผ้าไหมมาหลายชั่วอายุคนที่บ้านสวาย จ.สุรินทร์
เอกลักษณ์ของผ้าไหมสุรินทร์ คือเนื้อผ้าไหมบางเบา อ่อนนุ่ม พลิ้วไหว ระบายอากาศดี ใส่แล้วไม่ระคายตัว ด้วยว่าอากาศในแถบอีสานใต้ค่อนข้างร้อนจัด ผ้าไหมสุรินทร์จึงใส่สบาย เข้ากับภูมิอากาศภูมิประเทศได้ยอดเยี่ยม
เส้นไหมมัดหมี่ คือเทคนิคการทออันลือชื่อของบ้านสวายชมขั้นตอนการทอผ้าไหมจนครบวงจรแล้ว สุดท้ายก็ต้องไปช้อปปิ้งกันที่ ‘ตลาดใต้ถุนเรือน’ ของบ้านสวาย ตื่นตาตื่นใจกับผ้าไหมแพรพรรณที่ละเอียดประณีตอันเกิดจากความอุตสาหะและความรักของชาวบ้านที่นี่ล่ะ ผ้าไหมที่นี่มีขายตั้งแต่ราคาหลักพันไปจนถึงหลักหมื่นหลักแสน ขอร้องว่ากรุณาอย่าต่อราคานะครับ เพราะได้เห็นกันมาแล้วว่า กว่าจะได้แต่ละผืนต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจใช้เวลานานแค่ไหน!หนึ่งในสุดยอดผ้าสุรินทร์ลายโบราณของบ้านสวาย คือ ผ้าโฮล และผ้าอัมปรม ซึ่งมีการผลิตน้อย ต้องรีบจอง ใครได้ไปครอบครองขอให้ภูมิใจ เพราะสีและลวดลายเป็นแบบสุรินทร์ดั้งเดิม ใส่แล้วไม่อายใครแน่นอน
กิจกรรมสนุกๆ ของนักท่องเที่ยวที่ได้มาเยือนบ้านสวาย ก็คือ การทำผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติด้วยฝีมือเราเองขั้นแรกก็ต้องเอาหนังสติ๊กมามัดเป็นปมบนผ้าไหมสีขาวล้วนก่อน มัดปมต่างกันก็จะได้ลายต่างกัน แล้วแต่จินตนาการ จากนั้นก็นำผ้าไปชุบน้ำเปล่า บิดพอหมาดๆ แล้วนำลงจุ่มสีธรรมชาติที่เตรียมไว้ จุ่มได้หลายครั้ง ยิ่งจุ่มเยอะสียิ่งเข้ม

ท่าน ผอ. ททท. สำนักงานจังหวัดสุรินทร์ กับนางสาวสุรินทร์ ปี 2562 ช่วยกันต้มผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติบนเตา เพื่อให้สีติดดีขึ้น
จากนั้นก็แกะหนังสติ๊กออกจากผ้ามัดย้อม นำไปตากให้แห้ง ก็จะได้ผลงานผ้าชิ้นเดียวในโลกฝีมือเราเองไงล่ะ ฮาฮาฮา
ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติฝีมือเราเอง เป็นของที่ระลึกจากบ้านสวายที่จะไม่มีวันลืมมื้อเที่ยงวันนั้นที่บ้านสวาย เราได้ชิมอาหารพื้นบ้านแบบง่ายๆ แต่รสชาติเกินตัว มีทั้งแกงกล้วย ลาบหมู น้ำพริกปลาทู ต้มส้มปลา และไข่เจียวยัดไส้

ขอบอกว่ามาเที่ยวที่นี่แค่วันเดียวก็ประทับใจแล้ว

บ้ายบาย บ้านสวาย I LOVE YOU

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ททท สำนักงานสุรินทร์ โทร. 0-4451-4447-8 

https://www.facebook.com/tatsurin

https://i-san.tourismthailand.org

ศูนย์การเรียนรู้ไหมย้อมสีธรรมชาติ โดยครูผ้าแม่สำเนียง โทร. 044546656 / กลุ่มทอผ้าอุตมะไหมไทย โทร. 08-4959-9747 / ท่องเที่ยวชุมชน อบต. บ้านสวาย โทร. 0-4445-46595, 08-6249-5683

แซตอม Organic Farm สุรินทร์ กินเที่ยวลดเลี้ยวในธรรมชาติ

แซตอม ออร์แกนิค ฟาร์ม ตั้งอยู่ที่บ้านเมืองลีง อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ ที่ได้มาตรฐาน คำว่า “แซตอม” เป็นภาษาของชนพื้นเมืองชาว กวย หรือ กูย ในจังหวัดสุรินทร์ แปลว่า นาที่ตั้งอยู่ริมห้วย บริเวณทุ่งแซตอมเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำลำชี อุดมสมบูรณ์เหมาะสำหรับการเพาะปลูก จึงมีหลักฐานการเข้ามาอยู่อาศัยของมนุษย์ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ชุมชน ชาวแซตอม ในอดีตมีอาชีพเกษตรกรรมที่อยู่บนพื้นฐานของ การเกษตรอินทรีย์ จนมาระยะหนึ่งมีการนำปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้าและยาฆ่าแมลงมาใช้ในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ปัจจุบันพบว่าวิธีการดังกล่าวสร้าผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบต่อทั้ง กษตรกรและผู้บริโภค “แซตอม ออร์แกนิค ฟาร์ม” จึงเริ่มรื้อฟื้นวิธีการผลิตแบบอินทรีย์ดั้งเดิมขึ้นมา ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2557 จนปัจจุบัน แซตอม ออร์แกนิค ฟาร์ม ได้พัฒนาการก่อตั้ง จนกลายเป็น วิสาหกิจชุมชน และมีการรวมกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ โดยเน้นไปที่ข้าวพื้นบ้านและข้าวเพื่อสุขภาพ เป็นหลัก กิจกรรมในการท่องเที่ยวสัมผัสแซตอม ออร์แกนิค ฟาร์ม นั้นมีหลากหลาย แต่เราขอเริ่มด้วยกิจกรรมผจญภัยในลำชี ที่ยังคงมีความเป็นธรรมชาติมาก คือ การพายเรือคายัค ระยะทางตั้งแต่ 1.5-3 กิโลเมตร แล้วแต่ใครมีเวลามากน้อย ก่อนลงพายเรือจริง ก็ต้องมีการซักซ้อม และใส่เสื้อชูชีพ พร้อมหมวกกันน็อกเพื่อความปลอดภัยครับ
เริ่มหันหัวเรือคายัคออกสู่ลำน้ำชี ก็ต้องร้องว้าว เพราะเบื้องหน้ามีแต่ฟ้าใสกับแมกไม้สีเขียว ที่เรือของเราค่อยๆ ล่องไปตามกระแสน้ำ จึงไม่ต้องออกแรงพายกันมาก ชิลสุดๆ ไปเลยนิสองฟากฝั่งลำชีแทบไม่มีบ้านเรือนผู้คน มีแต่แมกไม้น้อยใหญ่เขียวครึ้มแน่นทึบราวกับปราการธรรมชาติ เจ้าบ้านเล่าให้ฟังว่า เหตุที่ไม่มีบ้านเรือนอยู่ริมน้ำเลย เพราะในฤดูน้ำหลากน้ำจะเอ่อท่วมขึ้นสูง ผู้คนจึงต้องไปปลูกบ้านให้อยู่ไกลจากตลิ่งพอสมควร ต้นยางนาขนาดยักษ์สูงหลายสิบเมตรยืนตระหง่านอยู่ริมลำชี ให้เราได้ชื่นชมในวันฟ้าใส การพายเรือคายัคจริงๆ แล้วคือการออกกำลังกายชั้นเยี่ยม แถมยังเป็นพาหนะรักษ์โลกด้วย เพราะเดินทางได้อย่างเงียบเชียบ ไม่รบกวนธรรมชาติเลย ระหว่างพายเรือคายัคจะมีจุดแวะพักให้ขึ้นไปเดินเที่ยวเดินชมหลายจุด ที่เราประทับใจสุดคือ ป่าชุมชน เนื้อที่หลายร้อยไร่ ซึ่งเคยมีสภาพเป็นเพียงผืนดินโล่งๆ ไร้พืชพรรณเมื่อหลายสิบปีก่อน ทว่าเมื่อมีการดูแลใส่ใจนำพันธุ์ไม่ต่างๆ เข้ามาปลูก ไม่นานนักสภาพป่าก็เริ่มกลับมา นกกาและสัตว์เล็กสัตว์น้อยก็เริ่มหวนคืน โดยเฉพาะชาวบ้านที่ได้เข้ามาเก็บเห็ดเก็บหน่อไม้และฟืนต่างๆ ไปใช้งาน เกิดความผูกพันระหว่างธรรมชาติและคนอย่างยั่งยืนตราบที่เราดูแลกันและกัน เห็ดป่างอกงามขึ้นในยามฤดูฝน ชนิดนี้จะกินได้ไม่ได้ ต้องไปถามชาวบ้านดูก่อน ผลไม้ป่าแสนอร่อยรสเปรี้ยวอมหวาน มีให้ชิมกันตามธรรมชาติ ไม่ต้องเสียเงินซื้อเที่ยงแล้ว หลังจากพายเรือคายัคเสร็จ เราก็นั่งรถกลับมายังศูนย์การเรียนรู้ที่แซตอม ออร์แกนิค ฟาร์ม มื้อนี้ต้องจัดหนักเพราะเราใช้แรงพายเรือไปเยอะ วันนี้ได้ลิ้มรสอาหารพื้นบ้านง่ายๆ แต่อร่อยเหลือล้น นั่งกินไปเหม่อมองดูทุ่งนาออร์แกนิคไปด้วย แหม ช่างมีความสุขเหลือเกินชุดอาหารเที่ยงง่ายๆ แต่ดูดีที่บ้านแซตอม เสิร์ฟมาในกระด้งใบน้อย ประกอบด้วยข้าวหอมมะลินิลสุรินทร์หุงมาร้อนๆ กินคู่กับไข่เจียว ปลาทูทอด น้ำพริกกะปิ ลาบหมู และปิดท้ายด้วยขนมดอกลำเจียกแสนอร่อย อิ่มท้องกันแล้ว ก็ได้เวลามาเติมอาหารสมองกับพี่แทน ประธานกลุ่มแซตอมที่อธิบายให้เราฟังถึงพันธุ์ข้าวท้องถิ่นต่างๆ ของแซตอม อาทิ ข้าวผกาอำปึล (ข้าวดอกมะขาม), ข้าวกล้องมะลินิลสุรินทร์, ข้าวมะลิโกเมนสุรินทร์ และ ข้าวไตรจัสมิน เป็นต้น ข้าวพันธุ์พื้นบ้านที่ปลูกแบบออร์แกนิคเหล่านี้ นอกจากจะกินอร่อยหุงขึ้นหม้อแล้ว ยังอิ่มนานเพราะมันจะค่อยๆ ย่อยสลายในกระเพาะเรา จึงช่วยป้องกันโรคเบาหวานได้ดี มีสารต้านอนุมูลอิสระทำให้ใบหน้าอ่อนเยาว์ และข้าวบางชนิดกินแล้วยังช่วยให้อารมณ์ดีด้วย มหัศจรรย์มากๆ ข้าวผกาอำปึล หรือ ข้าวดอกมะขาม เป็นสายพันธุ์ท้องถิ่นดั้งเดิมของจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งทุกวันนี้มีปลูกไม่มาก ผลผลิตน้อย ลูกค้าสั่งจองแย่งกันจนไม่พอขายอย่าลืมซื้อข้าวออร์แกนิคเพื่อสุขภาพของแซตอม ไปฝากคนที่เรารักด้วยล่ะ
จากนั้นก็ได้เวลาเดินชมทุ่งข้าวออร์แกนิคเขียวสดเย็นตา ลัดเลาะผ่านคันนาร่มรื่นที่มีแนวไม้ให้บังแดด สู่กระท่อมกลางนาอันเป็นฐานเรียนรู้เกี่ยวกับการทำ RiceWine ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นคนสุรินทร์มาเนิ่นนาน ข้าวผกาอำปึล กำลังชูช่อออกดอก อีกไม่นานในเดือนพฤศจิกายนก็คงเก็บเกี่ยวได้ใครไม่เคยเห็นดอกข้าวสีขาวน้อยๆ น่ารัก มาชมกันได้ที่นี่เลยจ้า
นอกจากข้าวออร์แกนิคแท้ๆ ที่ดีต่อสุขภาพแล้ว ที่แซตอมยังมีการผลิต RiceWine หลายแบบ ซึ่งมีตั้งแต่รสชาติอ่อนๆ ไปจนถึงดีกรีเข้มข้นแล้วแต่ชอบ บางชนิดมีรสและกลิ่นอ่อนๆ คล้ายน้ำข้าวหมาก ส่วนที่มีแอลกอฮอล์เข้มขึ้นอีกนิดรสชาติก็จะคล้ายเหล้าสาเกญี่ปุ่น แต่ของที่แซตอมมีสมุนไพรหลายสิบชนิดผสมอยู่ด้วย จึงช่วยให้เลือดลมในร่างกายไหลเวียนดี ถ้าอยากลองชิมต้องมาที่นี่เท่านั้น ยังไม่มีส่งไปขายที่อื่นครับสมุนไพรนานาชนิดที่ใช้ในการบ่มหมัก RiceWine ล้วนเป็นพืชพรรณที่หาได้จากธรรมชาติของท้องถิ่นทั้งนั้นชิมไวน์ข้าวกันพอหอมปากหอมคอแล้ว ก็ได้เวลานั่งฟังเพลงจากวงกันตรึมแท้ๆ แหม เข้าถึงจิตวิญญาณคนสุรินทร์ได้ดีเหลือเกิน

เวลาช่างรวดเร็ว ทำให้เราต้องกลับบ้านแล้ว แต่ความประทับใจ รอยยิ้ม และน้ำใจไมตรีของคนที่ แซตอม ยังตราตรึงอยู่ในใจเราตลอดไป
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ททท สำนักงานสุรินทร์ โทร. 0-4451-4447-8 

https://www.facebook.com/tatsurin

https://i-san.tourismthailand.org

www.satomfarm.com