เที่ยวสนุกถิ่นอีสานใต้ ในบุรีรัมย์
ได้มาเที่ยว บุรีรัมย์ ก็หลายครั้ง ส่วนใหญ่จะได้ดูแต่สนามฟุตบอลกับสนามแข่งรถระดับโลก แต่จริงๆ เขาน่าจะมีที่เที่ยวเจ๋งๆ อื่นอีกแน่นอน
ทริปนี้โชคดีได้เดินทางไปกับ ททท. สำนักงานบุรีรัมย์ พาไปชมความน่าสนใจของสัตว์โลกในธรรมชาติเมืองไทยที่แสนหายากอย่าง ‘นกกระเรียนพันธุ์ไทย’ หรือ Sarus Crane นั่นเอง
แหล่งเรียนรู้นี้ชื่อเต็มว่า ‘ศูนย์อนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำและนกกระเรียนพันธุ์ไทย จังหวัดบุรีรัมย์’ ต.สะแกโพรง อ.เมืองบุรีรัมย์ (ทางเข้าเดียวกับอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก) เป็นแหล่งเรียนรู้ใหม่เอี่ยมที่เพิ่งเปิดตัวได้แค่ 1 เดือน แต่ก็มีการออกแบบตัวอาคารไว้อย่างสวยงาม ดู Modern และที่สำคัญคือโปร่งโล่งสบาย อากาศถ่ายเทดี จึงประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้เยอะสมความตั้งใจของสถาปนิกครับทำไมเราต้องมาดูนกกระเรียนพันธุ์ไทยกันที่นี่ด้วย? คำตอบง่ายๆ คือ นกกระเรียนพันธุ์ไทยในธรรมชาติได้สูญพันธุ์ไปกว่า 50-70 ปีแล้ว เนื่องจากมันเป็นนกขนาดใหญ่ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มฉ่ำน้ำและนาข้าว จึงตกเป็นเป้าล่าของชาวบ้าน ที่ล่าทั้งกินเนื้อและไข่ของมัน อีกทั้งที่อยู่อาศัยคือนาข้าวได้แปรสภาพไปเป็นบ้านจัดสรรหรือสิ่งก่อสร้างอื่น นกกระเรียนพันธุ์ไทยจึงสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติอย่างน่าเศร้า!
โชคดีที่มีการนำนกกระเรียนพันธุ์ไทยจากสวนสัตว์โคราช มาเพาะเลี้ยง แล้วปล่อยคืนสู่ธรมชาติของจังหวัดบุรีรัมย์ อันเป็นพื้นที่ดั้งเดิมที่เคยมีนกกระเรียนพันธุ์ไทยอาศัยอยู่ เพราะเป็นทุ่งราบฉ่ำน้ำและนาข้าว Organic หลังจากปล่อยนกกระเรียนคืนสู่ธรรมชาติไปแล้ว มันก็ค่อยๆ เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังถือว่ามีน้อย เพราะปีนึงจะออกไข่แค่ไม่กี่ฟองเองครับ
หลักฐานหนึ่งที่ยืนยันได้ดีที่สุดว่าบุรีรัมย์เคยมีนกกระเรียนพันธุ์ไทยอาศัยอยู่ ก็คือรูปถ่ายจากยุคโบราณของครอบครัวหนึ่งที่เลี้ยงนกกระเรียนไว้เป็นเพื่อนด้านในของศูนย์ฯ มีความโปร่งโล่งสบาย ประกอบด้วยห้องบรรยายและห้องนิทรรศการ รวมถึงทางเดินไปยังหอคอยชมวิว และมีกรงเลี้ยงนกกระเรียนพันธุ์ไทยไว้คู่หนึ่ง เพื่อศึกษาและให้ได้ชมกัน โดยนกคู่นี้เลี้ยงไว้ตั้งแต่ยังเล็ก จึงไม่สามารถปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้ เพราะมันจะหาอาหารกินเองไม่ได้ครับ
หอคอยชมวิวและส่องดูนก มองออกไปจากหอนี้จะเห็นทุ่งนาของชาวบ้านกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา กรงเลี้ยงนกกระเรียนพันธุ์ไทยไว้ให้เราได้ชมนกกระเรียนพันธุ์ไทยเป็นนกขนาดใหญ่ที่สง่างามมาก จุดเด่นคือบนหัวและคอมีแผ่นหนังสีแดง พร้อมด้วยจุดสีขาวที่ข้างหัว ปากยาวใช้จิกกินกุ้งหอยปูปลาสัตว์เล็กในทุ่งหรือในน้ำ ตัวผู้และตัวเมียมีขนาดใกล้เคียงกันจนยากจะแยกเพศได้ในช่วงเวลาปกติ แต่เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ตัวผู้จะเข้าเกี้ยวพาราสีตัวเมีย โดยกางปีกเต้นรำไปรอบๆ และใช้ลำคอเกี่ยวกระหวัดกันไปมาอย่างน่ารักมาก โดยมันเป็นนกผัวเดียวเมียเดียวตลอดชีวิต เมื่อจับคู่กันแล้วก็จะไม่เปลี่ยนคู่อีก จนกว่าจะตายจากกันไป น่าสรรเสริญจริงๆ ครับ!ปัจจุบันนกกระเรียนพันธุ์ไทยของศูนย์ฯ ที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติของบุรีรัมย์แล้ว มีเหลือรอดชีวิตประมาณ 70 ตัว อาศัยอยู่ในทุ่งหญ้าฉ่ำน้ำ แนวชายป่า และนาข้าว Organic ของชาวบ้าน ปีไหนฝนตกดีอากาศไม่ร้อนจัด มันก็จะผสมพันธุ์กันเยอะหน่อย นาข้าวผืนใดมีนกไปทำรังวางไข่แล้วมาแจ้งศูนย์ฯ ก็จะมีเงินอุดหนุนช่วยดูแลให้เจ้าของนาด้วย นกกระเรียนที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาตินั้นหากินอยู่ในระยะไกลในนาข้าวของชาวบ้าน จึงต้องใช้กล้อง Tele Scope กำลังขยายสูงๆ ส่องดูครับ
จุดที่ห้ามพลาดชมของศูนย์ฯ นี้ คือ ห้องนิทรรศการ ซึ่งบอกเล่าชีวิตและนิเวศวิทยาของนกกระเรียนพันธุ์ไทยไว้อย่างละเอียดมาก ทางรอดหนึ่งของนกกระเรียนพันธุ์ไทย คือการคืนพื้นที่อาศัยอันสงบ ปลอดภัย และมีอาหารอุดมสมบูรณ์ให้นก จึงเกิดโครงการแปลงนาข้าวอินทรีย์กับวิถีอนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทยขึ้นที่บุรีรัมย์ ปัจจุบันมีเครือข่ายเกษตรกรผลิตข้าวอินทรีย์ แล้วปล่อยให้นกเข้ามาอาศัยได้เหมือนเพื่อนปัจจุบันเกิดเครือข่ายเกษตรอินทรีย์กับการอนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทย คือ กลุ่มข้าวอินทรีย์บ้านสวายสอ ต.สะแกโพรง อ.เมืองบุรีรัมย์, กลุ่มข้าวอินทรีย์บ้านเกียรติเจริญ ต.โคกม้า อ.ประโคนชัย และกลุ่มโครงการระบบส่งสเริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ต.สะแกซำ อ.เมืองบุรีรัมย์ ร่วมกันผลิตข้าวแบรนด์ ‘SARUS RICE’ หรือ ‘ข้าวสารัช’ ข้าวหอมนกกระเรียน ซึ่งเป็นข้าว Organic แท้ๆ
หลังจากช่วงกลางวันเราได้ไปเที่ยวศูนย์อนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทยสุดน่ารักกันมาแล้ว ยามค่ำวันเสาร์-อาทิตย์ในตัวเมืองบุรีรัมย์ อย่าพลาดเดินช้อปปิ้งกันที่ ‘ถนนคนเดินเซาะกราว’ เป็นถนนคนเดินยาวเหยียดกว่า 1 กิโลเมตร กลางเมือง ที่รวมเอาของกินอร่อยๆ ผักสดผลไม้ ของใช้ และผ้าทอพื้นเมืองสวยๆ มาไว้ในที่เดียว แค่เตรียมตัวกับเงินไปพอ ฮาฮาฮา อีกหนึ่ง Signature ของบุรีรัมย์ ซึ่งเรายังไม่เห็นว่ามีที่ไหนเหมือนก็คือ ‘ลูกชิ้นยืนกิน’ หน้าสถานีรถไฟบุรีรัมย์
ลูกชิ้นยืนกินมีขายตั้งแต่เช้าจดเย็น เป็นรถเข็นหลายสิบเจ้ามาจอดเรียงต่อกันตรงถนนทางเข้าหน้าสถานีรถไฟบุรีรัมย์ แต่ละเจ้ามีลูกชิ้นนานาชนิดละลานตาต่างกันไป รวมถึงผักสดไว้กินแกล้มด้วย ความเจ๋งคืนน้ำจิ้มแต่ละร้านมีสูตรเรียกลูกค้าต่างกัน เวลากินก็ไปหยิบมาจิ้มน้ำจิ้ม ยืนกินหน้าร้านเลยจนกว่าจะอิ่ม พอจะจ่ายตังค์ก็นับไม้ (ไม้ละ 3 บาท) สุดยอดไปเลย! หรือถ้าจะซื้อกลับบ้านก็ได้ไม่ว่ากันครับ แนะนำอีกร้านก่อนกลับบ้านคือ ‘เป็ดย่างคูเมือง’ อาหารขึ้นชื่อที่แขกไปใครมาก็นิยมแวะชิม ลักษณะเป็นเป็ดย่างตัวเล็กพอดีๆ ย่างมาเนื้อแห้งกรอบนอกนุ่มใน กินคู่กับน้ำจิ้มรสเผ็ดอมเปรี้ยวซอสมะขาม
แซ่บอีหลีเด้อ! เป็ดย่างคูเมืองส้มตำรสเด็ด สั่งได้ตามชอบสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานบุรีรัมย์ โทร. 0-4463-4722-3
https://www.facebook.com/TATBuriram8/
https://i-san.tourismthailand.org
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!