มหาสงกรานต์ไทคำตี้ อัญมณีล้ำค่า ณ ปลายเทือกหิมาลัย
“สงกรานต์” คือช่วงเวลาแห่งความสุข ความชุ่มฉ่ำ และการเปลี่ยนผ่านจากปีเก่าเข้าสู่ปีใหม่ของคนไทย ทว่าจริงๆ แล้ว “สงกรานต์” คือวัฒนธรรมร่วมของผู้คนนับล้านในภูมิภาคอุษาคเนย์ ทั้งไทย พม่า ลาว กัมพูชา รวมถึงคนเผ่าไต (ไท) ในจีนตอนใต้ ไล่ไปจนถึงคนไทกลุ่มหนึ่งในแคว้นอัสสัมและอรุณาจัลประเทศของอินเดียด้วย พวกเขาคือ “ไทคำตี้” (Tai Khamti) ญาติสนิทของพวกเรา ที่มีประเพณีฉลองสงกรานต์ยิ่งใหญ่ และนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาทไม่ต่างจากเราเลย
นี่คือเรื่องราวการเดินทางยาวไกลสู่ แคว้นอรุณาจัลประเทศ (Arunachal Pradesh) เลียบเชิงเขาหิมาลัยตะวันออก สัมผัสบรรยากาศไร่ชา ที่ราบลุ่มแม่น้ำพรหมบุตร และร่วมมีความสุขกับงาน “มหาสงกรานต์ไทคำตี้” ที่เราอาจไม่เคยรู้
ท่ามกลางอากาศร้อนใกล้ 40 องศาเซลเซียส ของกลางเดือนเมษายน 2025 เราบินลัดฟ้าจากไทยไปยัง เมืองกัลกัตตา (Kolkata) ของอินเดีย แล้วเปลี่ยนเครื่องบินภายในประเทศสู่ เมืองดิบรูกาห์ (Dibrugarh) แคว้นอัสสัม จากนั้นต่อรถยนต์อีกไม่ไกลก็ถึง น้ำทราย (Namsai) เมืองสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในแคว้นอรุณาจัลประเทศของอินเดีย นี่คือจุดหมายที่เราแรมทางมาเพื่อพิสูจน์คำเล่าลือ ในความงามทางวัฒนธรรมที่ถูกแช่แข็งไว้ในกาลเวลา เพราะน้ำทรายคือบ้านของชนเผ่าไทคำตี้ ที่มีหน้าตาละม้ายคล้ายคนไทย ผสมพม่า มอญ ไทยใหญ่ รวมถึงจีน เพราะเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 22-23 บรรพบุรุษของพวกเขาอพยพจากลุ่มแม่น้ำชินด์วิน (Chindwin River) อันเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำอิราวดีทางเหนือของพม่า ผ่านช่องเขาปาดไก่เข้าสู่อินเดีย
ทรัพยากรธรรมชาติ สายน้ำ และดินอุดมของอรุณาจัลประเทศ เกื้อหนุนให้ชาวไทคำตี้อยู่กันอย่างสุขสงบด้วยวิถีเกษตร ไร่ชา และศาสนาพุทธ ก่อเกิดความรุ่งเรือง ณ เมืองน้ำทราย แห่งนี้ ทุกปีในช่วงกลางเดือนเมษายน เมื่อจักรราศีเปลี่ยนผ่านจากมีนเข้าสู่เมษ ชาวไทคำตี้ก็จะร่วมกันจัดงานเทศกาล “ซังเกน” (Sangken ในภาษาถิ่นไทคำตี้เรียกว่า “Peo Mon Sangken”) หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ “สงกรานต์” นั่นเอง ถือเป็นเทศกาลแห่งความสุขล้น เพราะเป็นการขึ้นปีใหม่
มีการทำบุญเลี้ยงพระ ฟังเทศน์ฟังธรรม สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่ และเล่นสาดน้ำคลายร้อนกันอย่างสนุกสนานชื่นมื่น รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ เปื้อนอยู่บนใบหน้าของผู้คน ทว่าปี 2025 งานซังเกนไทคำตี้ดูจะจัดยิ่งใหญ่กว่าที่เคยมีมา กลายเป็น “เทศกาลมหาซังเกนนานาชาติ” (Maha Sangken International Festival) ที่มีสื่อมวลชนและแขกผู้มีเกียรติจากหลายประเทศเข้าร่วม โดยมี ท่านเจ้านา เมน (Chowna Mein) Deputy Chief Minister แห่งรัฐอรุณาจัลประเทศ ให้การสนับสนุนหลักผลักดันเต็มที่ จนงานมหาซังเกนไทคำตี้ครั้งนี้มีสีสันและมีชีวิตชีวากว่าครั้งไหนๆ
“งานเทศกาลมหาซังเกนนานาชาติ 2025 ปีนี้ นอกจากจะจัดอย่างยิ่งใหญ่ที่สุดแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชาวไทคำตี้ให้คงอยู่ ผู้คนร่วมกันแต่งกายในชุดพื้นเมืองสวยงามทั้งหญิงชาย ออกมาร่วมฉลองและสาดน้ำสะอาดกันที่วัด ซึ่งเป็นเสมือนศูนย์กลางชุมชน เรายังได้เชิญสื่อมวลชนและแขกผู้มีเกียรติจากหลายประเทศเข้าร่วม อาทิ อิตาลี อเมริกา ไทย อินเดีย ฯลฯ เพื่อเผยแพร่งานเทศกาลนี้ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในระดับนานาชาติ อันจะเป็นผลดีต่อการท่องเที่ยว รวมถึงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐอรุณาจัลประเทศด้วย” ท่านเจ้านา เมน Deputy Chief Minister แห่งรัฐอรุณาจัลประเทศ กล่าว
“การเชิญสื่อมวลชนและบริษัททัวร์จากนานาชาติเข้าร่วมชมงานมหาซังเกนในปีนี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงประเพณีที่ดีงามและมีความสำคัญ สามารถสร้างความประทับใจและน่าจดจำได้ในระดับโลก นับเป็นความพยายามของเราที่จะประชาสัมพันธ์ให้เห็นถึงประเพณีที่มีความพิเศษ เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งเรามีแผนจะทำการเผยแพร่ในแพลทฟอร์มที่หลากหลาย กว้างขวางขึ้นต่อไป” Mr.Oken Tayen สมาชิกสภาที่ปรึกษาด้านการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวอินเดีย และเป็นหนึ่งในแกนนำจัดงานมหาซังเกนนานาชาติไทคำตี้ปีนี้ กล่าวเสริม
งานมหาซังเกนนานาชาติไทคำตี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-16 เมษายน 2025 โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ “วัดเจดีย์ทองคำ” (Golden Pagoda) ซึ่งในภาษาถิ่นเรียกว่า “วัดกองมูคำ” (Kongmu Kham) ศาสนาสถานสำคัญ เพราะเป็นเจดีย์ในศาสนาพุทธที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภาคอีสานของอินเดีย นอกจากจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวมีชื่อเสียงแล้ว ยังถือเป็นศูนย์รวมใจของชาวไทคำตี้ด้วย ใจกลางวัดคือที่ตั้งมหาเจดีย์สีทองอร่ามสร้างด้วยสถาปัตยกรรมพม่า องค์เจดีย์ประธานสูงเกือบ 20 เมตร ล้อมด้วยเจดีย์ราย 12 องค์ เป็นเจดีย์ทรงปราสาทซึ่งส่วนฐานสามารถเดินเข้าไปกราบสักการะพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ภายใน
รอบเจดีย์ทองคำเป็นลานปูนและสนามหญ้ากว้าง มีต้นโพธิ์และแมกไม้ใหญ่ร่มรื่น ใกล้ๆ กันมีโบสถ์แบบไทยศิลปะรัตนโกสินทร์ ซึ่งผู้มีจิตศรัทธาชาวไทยสร้างไว้ เบื้องหน้ามีสระน้ำใหญ่ พร้อมรูปปั้นพญานาคแผ่แม่เบี้ยอยู่เบื้องหลังองค์พระพุทธเจ้าเพื่อคอยปกป้อง
วัดเจดีย์ทองคำ เป็นสถานที่ใช้จัดงานสำคัญๆ ของชุมชนไทคำตี้เมืองน้ำทราย รวมถึงงานมหาซังเกนด้วย
งานมหาซังเกนในวันแรกเริ่มขึ้นตั้งแต่เช้าตรู่ เพราะที่เมืองน้ำทรายสว่างเร็วมาก อรุณเบิกฟ้าตั้งแต่ตีห้า จาก Golden Pagoda Eco Resort ที่พักของเรา มีประตูเดินเข้าด้านหลังวัด สามารถเดินตรงไปยังองค์พระเจดีย์ทองคำได้เลยอย่างง่ายดาย ผู้คนหลายร้อยตื่นเช้ากว่าเรา ต่างมาตั้งแถวรออยู่ในชุดไทคำตี้ที่สวยงามมีเอกลักษณ์ชุดพื้นเมืองไทคำตี้ เล่นสงกรานต์กันด้วยชุดนี้ทำให้บรรยากาศยิ่งดูพิเศษขึ้นอีกหลายเท่า
ชุดพื้นเมืองชาวไทคำตี้ หญิงนุ่งซิ่นหลากสี โดยเฉพาะซิ่นพื้นสีดำมีลายทางเป็นเส้นยาวลงไปจรดตีนซิ่น (คล้ายซิ่นลายแตงโมของไททรงดำในไทย) ลวดลายเน้นพิเศษตรงตีนซิ่นด้วยลายดอกดาวและดอกไม้ทรงเรขาคณิตหลากสี ส่วนท่อนบนใส่เสื้อแขนยาวมีผ้าพาดบ่าเฉวียงไหล่ บางคนก็ใส่หมวกสีสด และบางคนสะพายย่ามสีฉูดฉาดบาดตา น่ารักมาก ผู้ชายจะแต่งกายคล้ายพม่าหรือไทยใหญ่ คือถ้าไม่สวมกางเกงขาก๊วยยาว ก็นิยมนุ่งผ้าโสร่ง เสื้อแขนสั้นหรือยาวก็ได้ และอาจโพกผ้ารอบหัวด้วยถ้าต้องการให้ดูหล่อเหลา หรือเป็นทางการมากๆ
ท่านเจ้าอาวาสวัดเจดีย์ทองคำ พร้อมด้วยพระภิกษุและเณรน้อยหลายสิบรูป พากันเดินแถวเข้าไปที่ศาลาการเปรียญ ทำพิธีสวดอัญเชิญพระพุทธรูปหยกขาวและพระพุทธรูปสำคัญจำนวนมาก เดินแห่ตรงไปยังเจดีย์กลางสนามหญ้าใกล้ๆ เจดีย์ทองคำ โดยมี เจ้านา เมน เป็นประธานเดินนำไปเป็นท่านแรก
เจ้านา เมน เป็นประธานอัญเชิญพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ไปไว้ให้ประชาชนได้สรงน้ำเสริมสิริมงคล ในช่วงเทศกาลมหาซังเกน
องค์พระพุทธรูปทั้งหมดได้ประดิษฐานอยู่ภายในฐานพระเจดีย์แล้วปิดประตู ให้ผู้มาร่วมฉลองสงกรานต์สรงน้ำผ่านรางพญานาคเพื่อความเป็นสิริมงคล แต่ละคนจะมีถังน้ำพลาสติกเล็กๆ ของตัวเอง ใส่น้ำสะอาดและดอกไม้กลิ่นหอม นำมาเทลงในรางพญานาค จุดธูปหอมอธิษฐาน เสร็จแล้วเดินไปที่สนามหญ้าด้านหลังพระเจดีย์ รดน้ำต้นโพธิ์ใหญ่ให้เกิดความร่มเย็นกับชีวิต จากนั้นใครจะสาดน้ำใครให้ชุ่มฉ่ำก็เริ่มได้เลยอย่างอิสระเสรี โดยทางวัดมีก๊อกน้ำและรถบรรทุกน้ำ ให้ประชาชนมาเติมน้ำกันได้ฟรีแบบไม่อั้นตลอดวัน
เจ้านา เมน Deputy Chief Minister แห่งรัฐอรุณาจัลประเทศ พร้อมด้วย ท่านทูตอิตาลีประจำอินเดีย Antonio Enrico Bartoli และแขกผู้มีเกียรติในงาน ร่วมสรงน้ำพระพุทธรูปผ่านรางน้ำตรงเข้าสู่ภายในพระเจดีย์ บรรยากาศเต็มไปด้วยความสุขและเบิกบาน
การสรงน้ำพระพุทธรูปเพื่อความเป็นสิริมงคลในวันมหาซังเกน ตามคติความเชื่อของชาวไทคำตี้
งานมหาซังเกนในช่วงเช้างดงามด้วยรูปแบบพิธีการ และจิตวิญญาณของเทศกาลสงกรานต์แท้จริงอย่างเต็มเปี่ยม ทั้งกลิ่นอายความศรัทธาพุทธศาสนา ชุดพื้นเมืองมีอัตลักษณ์ น้ำสะอาดและดอกไม้ที่ใช้ประกอบพิธีกรรม ไม่มีเสียงเพลงอึกทึก ไม่มีชุดโป้เปลือย ไม่มีความรุนแรงในการสาดน้ำ ไม่มีวัตถุแปลกปลอมเจืออยู่ในน้ำที่นำมาสาดรดกัน น่าชื่นชมมากๆ
หลังจากสรงน้ำพระพุทธรูปแล้ว ก็ได้เวลารถน้ำต้นโพธิ์เป็นพุทธบูชา รวมถึงเชื่อว่าให้ชีวิตร่มเย็น มั่นคง ตลอดปี
สายน้ำบริสุทธิ์แห่งความสุขและศรัทธา
ศรัทธา ธรรมชาติ และผู้คน มาบรรจบกัน ณ วัดเจดีย์ทองคำใน วันมหาซังเกนไทคำตี้
ผูกเครื่องพุทธบูชาประดับไว้รอบๆ พระเจดีย์
งานช่วงเช้ายังไม่จบเพียงเท่านั้น ยังมีขบวนแห่ที่งดงามตระการตาด้วย ผู้คนเริ่มหนาตาขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นหลักพัน ส่วนอีกด้านหนึ่งชาวไทยคำตี้ต่อแถวกันสรงน้ำพระสงฆ์และน้องเณรที่นั่งเก้าอี้เรียงแถวอยู่
สายน้ำคือชีวิต สายน้ำคือความบริสุทธิ์ฉ่ำเย็น เชื่อมศรัทธาสาธุชนไปยังสงฆ์ตัวแทนแห่งพระพุทธศาสนา
ขบวนแห่เปิดงานมหาซังเกนนานาชาติ 2025 อันมีสีสัน เริ่มจากประตูหน้าวัดเจดีย์ทองคำ ตรงเข้าสู่ปรัมพิธี
สายน้ำ รอยยิ้ม และความสุข พบเห็นอยู่ทั่วไปในวันมหาซังเกนไทคำตี้
สีสันวัฒนธรรมประเพณีซังเกน งดงามไม่แพ้แม่หญิงชาวไทคำตี้เลยแม้แต่น้อย
ขบวนแห่ที่ดูสวยงามแปลกตา
เมื่อการเปิดงานอย่างเป็นทางการโดย ท่านเจ้านา เมน เสร็จเรียบร้อยแล้ว ความคึกคักบวกความสนุกที่แท้จริงก็เริ่มต้นขึ้น
เจ้านา เมน เป็นประธานปล่อยลูกโป่ง กล่าวเปิดงานเทศกาลมหาซังเกนนานาชาติ 2025 อย่างเป็นทางการ
ทางวัดเจดีย์ทองคำมีก๊อกน้ำให้ผู้คนมาเติมน้ำกันได้อย่างไม่อั้น
ทุกคนในงานพากันสาดน้ำใส่กันสุดเหวี่ยง แต่ปราศจากความรุนแรงใดๆ หญิง ชาย ผู้สูงอายุ สื่อมวลชน แขกในงาน ต่างร่วมวงสาดน้ำกันอย่างชุ่มฉ่ำเปียกปอนสุดๆ แข่งกับอุณหภูมิแดดที่ร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ เด็กๆ และน้องเณรก็ร่วมวงสาดน้ำอย่างสนุกสนาน รอบตัวมีแต่ละอองน้ำกระจายว่อนไปทั่ว ราดรดตัวและหัวใจ เสียงหัวเราะ รอยยิ้ม ความสุข ล่องลอยอยู่ในทุกอณูอากาศ
การเล่นน้ำสงกรานต์ที่วัดเจดีย์ทองคำของชาวไทคำตี้ ดำเนินไปตลอดวันจนเย็นย่ำ ยิ่งช่วงบ่าย ประมาณด้วยสายตาน่าจะมีคนเนืองแน่นแออัดเล่นสาดน้ำกันอยู่ในวัดนับหมื่น เสียงผู้คน เสียงสาดน้ำ อื้ออึง ตื่นตาตื่นใจสมเป็นงานใหญ่ประจำปี
งานมหาซังเกนไทคำตี้ไม่ได้จัดกันเฉพาะที่วัดเจดีย์ทองคำเท่านั้น ทว่าตามหมู่บ้านหรือชุมชนใหญ่ๆ ก็ยังมีการจัดงานด้วย โดยใช้วัดสำคัญของชุมชนเป็นศูนย์กลาง บรรยากาศแต่ละแห่งงดงามด้วยสีสันทางวัฒนธรรม ภาพวิถีชีวิต ความเชื่อ ความศรัทธา ที่ยังแนบแน่นในพุทธศาสนา คละเคล้าการฉลองปีใหม่ ครอบครัว คู่รัก ญาติมิตร เดินจูงมือกันเข้าวัดเล่นสาดน้ำ ร่วมร้องเพลง ฟ้อนรำ สรงน้ำพระ รถน้ำต้นโพธิ์ สร้างความประทับใจให้เราผู้เดินทางมาจากแดนไกลอย่างมาก
รวมฟ้อนรำอย่างสนุกสนานต้อนรับปีใหม่ ในงานเทศกาลมหาซังเกนนานาชาติ ไทคำตี้ 2025
วงโปงลางและนางรำจากฝั่งไทย ก็ไปร่วมสนุกในงานเทศกาลมหาซังเกนนานาชาติ 2025 ด้วย
เจ้านา เมน Deputy Chief Minister แห่งรัฐอรุณาจัลประเทศ ร่วมฟ้อนรำและเล่นน้ำ ในงานเทศกาลมหาซังเกนนานาชาติ 2025
จุดธูปหอมอธิษฐานขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก่อนไปสรงน้ำพระและต้นโพธิ์
สรงน้ำพระพร้อมรอยยิ้มแห่งความสุข
สรงน้ำพระเจดีย์ในวันมหาซังเกน ตามคติความเชื่อชาวไทคำตี้
สนุกสนานกันไปตลอดวัน กับเทศกาลมหาซังเกนนานาชาติไทคำตี้ 2025
สิ่งที่เราไม่เคยรู้อีกอย่างเกี่ยวกับงานเทศกาลมหาซังเกนไทคำตี้ในอินเดีย คือที่ หมู่บ้านเทมบัง (Thembang Village : เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่สุดในรัฐอรุณาจัลประเทศ) ในเมืองน้ำทรายแห่งนี้ นอกจากจะมีการเล่นน้ำสงกรานต์แล้ว ช่วงเย็นย่ำโพล้เพล้ยังมีการลอยประทีป คล้ายการลอยกระทงในเมืองไทย (แต่ไม่มีการตัดผมและเล็บใส่ลงไปในกระทงเหมือนที่เมืองไทย) แถมยังมีการลอยโคมขึ้นสู่อากาศเพื่อเป็นพุทธบูชาอีกด้วย แสงไฟวับวามมลังเมลืองหลากสีจากทั้งกระทงประทีปและโคมลอย ปลุกให้สายน้ำและท้องฟ้าของเทมบังมีชีวิต แม้อาทิตย์จะลาลับไปนานแล้ว หนุ่มสาวไทคำตี้ที่นี่ก็ยังเล่นสาดน้ำกันไม่หยุด นัยว่าเป็นการพบปะสานสัมพันธ์อย่างเต็มที่ปีละครั้ง
ลอยประทีปสู่พระแม่คงคงาในวันมหาซังเกน
แม้ค่ำมืดแล้ว การเล่นสาดน้ำและสรงน้ำพระพุทธรูป สรงน้ำพระเจดีย์ ก็ยังคงดำเนินต่อไปด้วยแรงศรัทธา
หลายวันแห่งการได้มาร่วมงานเทศกาลมหาซังเกนนานาชาติ ไทคำตี้ 2025 ที่เมืองน้ำทราย ทำให้เราเข้าใจนิยามของการเฉลิมฉลองสงกรานต์ที่แท้จริง มันมิใช่เพียงการสาดน้ำให้เปียกปอนคลายร้อน หรือการขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินท้องถิ่นเท่านั้น ทว่าเราได้เห็นความศรัทธาแรงกล้าของผู้คนที่มีต่อพระพุทธศาสนา เชื่อในสิ่งที่บรรพบุรุษส่งต่อ ชาวไทคำตี้วันนี้จึงร่วมสืบสาน และอาจสะกิดเตือนให้อีกหลายประเทศที่มีงานสงกรานต์เช่นกันหันกลับมามอง ว่าแก่นแท้ของ “สงกรานต์” คืออะไร จัดกันอย่างไร มันสะท้อนความงามลุ่มลึกของชุมชนไทคำตี้แห่งรัฐอรุณาจัลประเทศ อินเดียที่ไม่เหมือนอินเดีย อินเดียที่ทำให้เราผู้มาเยือนรู้สึกอุ่นใจเหมือนอยู่บ้าน
ไม่รู้เหมือนกันว่าปีหน้าจะได้กลับไปเล่นสงกรานต์ที่เมืองน้ำทรายอีกรึเปล่า แต่บอกได้เลยว่า “รักมากๆ ไทคำตี้”
— SPECIAL THANKS TO ALL OF MY SPONSORS —
ขอบคุณ บริษัท Nikon Sales Thailand สนับสนุนกล้อง Nikon Z8 ระดับ Professional สำหรับ Photo Trip ครั้งนี้— For more informations about Arunachal Pradesh, India Trip, please contact —
ขอบคุณเป็นพิเศษ : บริษัท RINNAYA TOUR (ริณนาญาทัวร์)
Tel. 092-895-6245 / Line : @rinnayatour
Email : sales.rinnaya@gmail.com
Website : http://www.RinnayaTour.com/
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!