20 ที่เที่ยวห้ามพลาด อรุณาจัล-อัสสัม (Episode 2)

(11) วัด Tawang Monastery เมืองตาวัง

ที่สุดของการเดินทางไปเที่ยวรัฐอรุณาจัลประเทศ ต้องยกให้ ตาวัง” (Tawang) เมืองแห่งกลิ่นอายทิเบตและขุนเขาสูงกว่า 3,000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งในอดีตคือส่วนหนึ่งของอาณาจักรทิเบต ทว่าได้ผนวกรวมเข้ากับอินเดียเมื่อปี ค.ศ.​1951 (หลังอินเดียได้รับเอกจากอังกฤษ) ในขณะที่จีนก็ยังอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนนี้ ตาวังจึงกลายเป็นเขตควบคุมพิเศษ ซึ่งนักท่องเที่ยวไปเยือนได้ แต่ต้องทำเรื่องขออนุญาตล่วงหน้าเข้าไปในรูปแบบ Tourist Permit

เมืองตาวัง ตั้งอยู่ทางปลายสุดตะวันตกของรัฐอรุณาจัลประเทศ การเดินทางมีเพียงรถยนต์เข้าถึง ด้วยทางหลวงสาย NH13 (Trans Arunachal Highway) อยู่ห่างชายแดนจีน (ทิเบต) เพียง 16 กิโลเมตร ห่างจากเมืองน้ำทราย (Namsai) 718 กิโลเมตร จากเมืองกูวาฮาติ (Guwahati) 555 กิโลเมตร และจากอิฎานคร (Itanagar) เมืองหลวงของรัฐอรุณราจัลประเทศ 448 กิโลเมตร ถนนสู่ตาวังจึงต้องผ่านทะเลภูเขา ถนนซิกแซกไปมาหลายพันโค้ง เป็นการผจญภัยอย่างแท้จริง

ไฮไลท์ของที่นี่คือ “วัดตาวัง” (Tawang Monastery) อารามใหญ่อันดับ 2 ของโลก วัดพุทธวัชรยานทิเบตนิกายหมวกเหลือง (เกลุกปะ : Gelukpa) ตัวอารามมหึมาตระหง่านอยู่บนยอดเขาสูง โอบด้วยขุนเขาราวปราการธรรมชาติ ชัยภูมิดีเลิศ คล้ายป้อมปราการแห่งพุทธศาสนาอายุกว่า 400 ปี สร้างขึ้นเมื่อปลายศตวรรษที่ 16 โดย เมรัค ลามะ ลอเดร กยัตโซ (Merak Lama Lodre Gyatso) ศิษย์ของดาไลลามะองค์ที่ 5 ได้ออกเดินทางค้นหาที่สร้างวัดใหม่ ตำนานเล่าว่าม้าของลามะหายไป ท่านจึงออกตามหา จนมาพบม้ายืนกินหญ้าอยู่บนยอดเขานี้ วัดตาวางจึงได้สร้างขึ้น โดยคำว่า “ตา” (Ta) หมายถึง “ม้า” และ “วาง” (Wang) หมายถึง “เลือก” รวมความหมายถึง “ม้าเลือกที่นี่” แต่ถ้าเรียกชื่อตามภาษาทิเบตคือ “ตาวัง กัลเดน นัมกเย ลัตเซ” (Tawang Galdan Namgye Lhatse) จะหมายถึง “ที่เลือกสรรโดยอาชา ดังสวรรค์แห่งชัยชนะอันสมบูรณ์

วัดตาวังมีพระลามะอยู่กว่า 500 รูป คล้ายเมืองย่อมๆ แบ่งเป็น 3 ชั้น ล้อมด้วยกำแพงสีขาวยาวเกือบ 300 เมตร มีห้องสวดมนต์น้อยใหญ่ ห้องเก็บคัมภีร์โบราณ หอสมุด โรงเรียนสอนธรรมะ โรงอาหาร และกุฎิพระลามะ นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่แรกซึ่งดาไลลามะองค์ที่ 14 เสด็จมาประทับครั้งลี้ภัยจากทิเบต หนีการรุกรานของจีนเมื่อปี ค.ศ.1959 หลังจากนั้นอีก 50 ปี พระองค์ก็ได้เสด็จกลับไปเยือนวัดตาวังอีกครั้ง และทรงบูรณะหอสมุดของวัดใหม่อีกด้วย

(12) วัดภิกษุณี Gyangong Ani Gompa เมืองตาวัง

เมืองตาวังมีวัดภิกษุณีหลายแห่ง เพราะหญิงที่นี่สามารถบวชเป็นภิกษุณีได้อย่างเสรี อาทิ วัดบรามาดุง ชุก อนี กอมปะ (Bramadung Chung Ani Gompa) วัดภิกษุณีเก่าแก่ที่สุดของเมืองตาวัง สร้างเมื่อศตวรรษที่ 16 และวัดซิงเซอร์ อนี กอมปะ (Singsur Ani Gompa) ซึ่งอยู่ห่างตัวเมืองออกไป 28 กิโลเมตร ฯลฯ

ทริปนี้เราได้ไปเยือนวัดภิกษุณี “กยันกอง อนี กอมปะ” (Gyangong Ani Gompa) ที่อยู่ห่างตัวเมืองตาวังไป 5-6 กิโลเมตรเท่านั้น รถยนต์ถึงง่าย เป็นวัดเล็กๆ มีภิกษุณีอยู่ประมาณ 45 รูป ตัววัดตั้งอยู่บนเชิงเขาสูง ล้อมด้วยป่าสน และป่ากุหลาบพันปีสีแดง รวมถึงดอกไม้ป่าเบ่งบานในฤดูร้อนและใบไม้ผลิ ถนนไต่ขึ้นสู่วัดผ่านทุ่งเลี้ยงจามรี มองออกไปเห็นตัวเมือง มีภูเขาตระหว่าน และเจดีย์ทิเบต (ชอร์เตน : Chorten) ผูกธงมนต์เป็นสายสะบัดพลิ้วไปกับสายลมภูเขา หวีดหวิวเยือกเย็น

วัดกยันกอง อนี กอมปะ อยู่ในความดูแลของวัดตาวัง สร้างขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 16 โดยเมรัค ลามะ ลอเดร กยัตโซ (Merak Lama Lodre Gyatso) ให้น้องสาวที่เป็นภิกษุณี เพราะวินัยสงฆ์ห้ามภิกษุณีอยู่ที่วัดตาวัง ตอนแรกท่านเมรัค ลามะฯ สร้างเป็นแค่ถ้ำเล็กๆ ให้น้องสาวทำสมาธิ ต่อมาก็ขยายกลายเป็นวัด มีอารามหลักเป็นห้องสวดมนต์กลางที่ตกแต่งแบบทิเบตอย่างขรึมขลัง ประดับผ้าทังก้าโบราณ (ผ้าพระบฏ) รูปพระแม่ตารา ธรรมบาลปัลเดน ลาโม พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระศรีอริยเมตไตรย พระวัชรปาณี พระไภษัชยคุรุ ท่านคุรุรินโปเช รวมถึงรูปดาไลลามะองค์ที่ 14 ให้สักการะ ฯลฯ

(13) วัด Urgelling Gompa เมืองตาวัง

ชาวทิเบตที่นับถือศาสนาพุทธนิกายวัชรยาน เชื่อในเรื่อง การอวตารกลับชาติมาเกิด (Reincarnation) ของดาไลลามะ (คนทิเบตเรียกว่า เชนเรซิก) ตามคติที่ว่าพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรทรงกลับชาติมาเกิดในร่างดาไลลามะ เพื่อช่วยให้มนุษย์หลุดพ้นจากวัฏสงสาร ถึงปัจจุบันนี้มีดาไลลามาะรวม 14 องค์ สืบทอดตำแหน่งโดยกระบวนการค้นหาเด็กชายผู้มีบุญญาธิการและคุณลักษณะครบ เมื่อดาไลลามะองค์เก่าสิ้นพระชนม์ กระบวนการสรรหาจึงดำเนินไปทั่วทิเบต และที่ วัดอูร์เกลลิง กอมปะ” (Urgelling Gompa) เมืองตาวังนี้เอง ดาไลลามะองค์ที่ 6 ได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.​1683

ชังยัง กยัตโช (Tsangyang Gyatso) คือพระนามของดาไลลามะองค์ที่ 6 ผู้ครองตำแหน่งอยู่ไม่นานนัก ในราวปี ค.ศ. 1706 เพราะข่าวการสิ้นพระชนม์ของดาไลลามะองค์ที่ 5 ถูกปกปิดไว้นานถึง 9 ปี กว่าจะพบตัวเด็กชายผู้สืบทอดตำแหน่ง เขาก็มีอายุถึง 13 ขวบแล้ว ทำให้การอบรมบ่มนิสัยและปลูกฝังประเพณีอันดีงามไม่เข้มงวด เมื่อขึ้นรับตำแหน่งพระองค์ก็ยังใช้ชีวิตสนุกสนาน ฟังดนตรี แต่งกลอนรัก ดื่มสุรา สั่งให้มีการฟ้อนรำ แถมยังแอบออกไปเที่ยวพบหญิงสาวในยามค่ำคืน กระทั่งจักรพรรดิจีนและมองโกลทนดูไม่ได้ ส่งทหารไปลอบสังหารดาไลลามะองค์ที่ 6 ในที่สุด

วัดอูร์เกลลิง กอมปะ สถานที่ประสูติซึ่งดาไลลามะองค์ที่ 6 เคยประทับอยู่กับมารดา ปัจจุบันเรายังสัมผัสได้ถึงเรื่องราวเหล่านั้น ตัวอารามสีขาวเล็กๆ สงบสงัด มีธงมนต์ วงล้อมนตรา เจดีย์ชอร์เตน อ่างน้ำมนต์ ภาพของดาไลลามะครบทุกพระองค์ และรอยเท้าของดาไลลามะองค์ที่ 6 ฯลฯ สร้างบรรยากาศขรึมขลังชวนให้นึกถึงภาพในศตวรรษที่ 15 เมื่อวัดนี้สร้างขึ้นโดย ลามะ อูร์เกน ซังโป (Urgen Sangpo) ท่านลามะได้ไม้เท้าปักลงบริเวณผืนดินใกล้ทางเข้าวัด ซึ่งความอัศจรรย์ใดไม่ทราบได้ ไม้เท้าได้เจริญงอกงามกลายเป็นต้นโอ๊กยักษ์ดังที่เห็นในปัจจุบัน

วัดอูร์เกลลิง กอมปะ อยู่ห่างจากตัวเมืองตาวังออกไปเพียง 3 กิโลเมตร รถยนต์เข้าถึงได้สะดวกมาก

(14) Giant Buddha Statute เมืองตาวังหากใครเคยไปเที่ยวประเทศภูฏานมาแล้ว ก็คงเคยเห็นพระพุทธรูปมหึมาบนยอดเขาชื่อ Buddha Dordenma Statue ส่วนที่เมืองตาวัง รัฐอรุณาจัลประเทศ ก็มีคล้ายกัน คือ พระใหญ่ตาวัง หรือ Giant Buddha Statute

พระใหญ่ตาวัง เป็นพระพุทธรูปหล่อทองสำริดขนาดใหญ่ พุทธลักษณะแบบทิเบตในท่านั่งขัดสมาธิ พระพักตร์อิ่มเอิบเมตตา องค์พระรวมส่วนฐานสองชั้นสูงเกือบ 10 เมตร ประดับลวดลายมงคลแปดประการสไตล์ทิเบต และมีรูปสิงโตหิมะเทินฐานองค์พระไว้ นอกจากนี้ยังมีเจดีย์ชอร์เตนสีทองเล็กๆ ล้อมรอบนับสิบองค์ ด้านหน้ามีบันไดขึ้นสองทาง สู่ภายในฐานที่ประดิษฐานพระประธาน เป็นรูปปั้นท่านคุรุรินโปเช (คุรุปัทมะสัมภวะ) ผู้เดินทางจากอินเดียเข้าไปเผยแผ่ศาสนาพุทธนิกายวัชรยานในทิเบต เมื่อศตวรรษที่ 8-9 รวมถึงรูปดาไลลามะองค์ที่ 14 ประทับนั่งอยู่บนบัลลังก์ธรรมมาสน์ รูปธรรมบาล พระแม่ตารา และมิลาเรปะ (Milarepa) โยคีคนสำคัญของทิเบตในครั้งอดีตกาล

พระใหญ่ตาวัง ตั้งอยู่บนยอดเขาสูง องค์พระหันพระพักตร์ลงไปสู่เมืองตาวังในหุบเขาเบื้องล่าง เหมือนคอยให้พร ถือเป็นอีกหนึ่งจุดชมวิวมุมสูงอันน่าตื่นตา บนเส้นทางระหว่างตัวเมืองขึ้นไปสู่วัดตาวัง

(15) Sela Pass & Sela Lake

บนเส้นทางจากเมืองบอมดิลา (Bomdila) ไปเมืองตาวัง (Tawang) ทางตะวันตกสุดของรัฐอรุณาจัลประเทศ ถนนจะคดโค้งไต่ความสูงขึ้นไปถึงจุดสูงสุด 4,170 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล (13,700 ฟุต) ที่ เซลา พาส” (Sela Pass) คำว่า “Pass” หมายถึง ช่องเขาสำคัญ สำหรับใช้สัญจรบนภูเขาสูง บนความสูงระดับนี้อากาศเบาบาง หนาวเย็น ชื้นแฉะ มีม่านหมอก ละอองไอฝน ป่าสน และป่าดอกกุหลาบพันปีหลากสีในฤดูร้อน ส่วนฤดูหนาวก็ขาวโพลนด้วยหิมะหนา นับเป็นจุดแวะถ่ายรูปและพักของนักเดินทาง ดื่มชาร้อนๆ กินซุปบะหมี่เติมพลัง แล้วนั่งรถลัดเลาะเหวน่าหวาดเสียวต่อไป เซลา พาส อยู่ในตำบลคาเมงตะวันตก (West Kameng District) ห่างจากอนุสรณ์สงคราม Jaswant Garh War Memorial 37 กิโลเมตร

เซลา พาส เป็นหนึ่งในถนนสูงที่สุดของโลก สาย NH13 (Trans Arunachal Highway) จากเมือง Bomdila-Dirang-Tawang สุดที่บุมลา พาส (Bumla Pass สูง 4,600 เมตร) ตรงชายแดนอินเดีย (ตาวัง)-จีน ชาวทิเบตเชื่อว่ารอบๆ เซลา พาส มีทะเลสาบน้อยใหญ่กระจายอยู่ 101 แห่ง โดยมี ทะเลสาบเซลา” (Sela Lake) ที่รับน้ำมาจากยอดเขาหิมะละลายรอบๆ เป็นทะเลสาบใหญ่สุด น้ำในทะเลสาบจะจับตัวเป็นแผ่นน้ำแข็งหนาช่วงฤดูหนาว แต่จะกลายเป็นผืนน้ำสีฟ้าสดหรือสีเทอร์ควอยต์ในฤดูร้อน แล้วไหลลงสู่แม่น้ำนูรานัง (Nuranang River) และแม่น้ำตาวัง (Tawang River) หล่อเลี้ยงสรรพชีวิตนับล้าน (16) Jaswant Garh War Memorial

อรุสรณ์สงครามจัสวัน การ์ ตั้งอยู่ก่อนถึงเซลา พาส (Sela Pass) ประมาณ 37 กิโลเมตร บนภูเขาสูงชัยภูมิดีเลิศ ซึ่งเคยมีเรื่องราวสมรภูมิเดือดระหว่างอินเดีย-จีน เรียกว่า ยุทธภูมินูรานัง” (Battle of Nuranang) ในระหว่างสงคราม China-Indian War ช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ค.ศ. 1962

ที่นี่มีวีกรรมหาญกล้าของทหารอินเดีย หน่วยแม่นปืนที่ 4 กองพัน 4 เมื่อกองทัพจีนรุกรานมาถึง พลแม่นปืน 3 นาย นำโดย จัสวัน ซิงห์ ราวัต (Jaswant Singh Rawat) ร่วมกับ ทริล็อค ซิงห์ เนกี (Trilok Singh Negi) และโกปัล ซิงห์ กูเซน (Gopal Singh Gusain) อาสาไปต้านทัพจีน ทว่าทหารจีนสังเกตเห็นจุดที่ทั้งสามซุ่มอยู่ จึงระดมยิงปืนกลและขว้างระเบิดใส่ จนทริล็อค ซิงห์ เนกี และโกปัล ซิงห์ กูเซน สิ้นชีพ ส่วนจัสวัน ซิงห์ บาดเจ็บ ผลคือทหารจีนตาย 300 อินเดียตาย 2 บาดเจ็บ 8 นาย

จัสวัน ซิงห์ ที่บาดเจ็บไม่ได้ถอยร่น แต่ยังสู้กับทหารจีนต่อไป ด้วยความช่วยเหลือของชาวมอนปะ (Monpa) ท้องถิ่น 2 คน คือ เซลา (Sela) และนูรา (Nura หรือ Noora) น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ ในที่สุดเซลาก็ถูกฆ่า และนูราถูกจับ จัสวัน ซิงห์ ต้านทัพจีนอยู่นานถึง 72 ชั่วโมง กระทั่งทหารจีนสืบรู้ว่าจริงๆ แล้วที่รุกคืบต่อไปไม่ได้ เพราะพลแม่นปืนอินเดียแค่คนเดียว! จึงระดมยิงใส่จัสวัน ซิงห์ อย่างหนักจนสิ้นชีพ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเขาตายอย่างไร บ้างว่าเขาปลิดชีพตัวเองด้วยกระสุนนัดสุดท้าย บ้างก็ว่าเขาถูกจีนจับเป็นเชลยจนตาย อณุสรณ์สงครามจัสวัน การ์ รวมถึงชื่อช่องเขาเซลา พาส (Sela Pass) ทะเลสาบเซลา (Sela Lake) และน้ำตกนูรานัง (Nuranang Falls) จึงตั้งชื่อขึ้นเพื่อรำลึกถึงวีกรรมนี้

อรุสรณ์สงครามจัสวัน การ์ ตั้งอยู่ท่ามกลางบังเกอร์หลุมสนามเพลาะที่เคยใช้สู้รบจริง มีรูปเคารพของจัสวัน ซิงห์ รวมถึงพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ให้ข้อมูลเรื่องราวประวัติวีรกรรมหาญกล้า ถือเป็นจุดหนึ่งที่ห้ามพลาดชมเลยล่ะ

(17) Nuranang Falls เขตตาวัง

40 กิโลเมตร จากเมืองตาวัง (Tawang) หรือ 40 กิโลเมตรจากเซลา พาส (Sela Pass) คือที่ตั้งของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอันน่าตื่นตาตื่นใจ และมีชื่อเสียงมากของเขตตาวัง น้ำตกนูรานัง” (Nuranang Falls) น้ำตกใหญ่สูงกว่า 100 เมตร ทิ้งตัวลงมาจากหน้าผาหินสีดำตั้งชัน โดยน้ำตกช่วงบนไหลลงจากขอบผาสูง ลงไปกระแทกโขดหินบริเวณกลางสายน้ำตก แตกเป็นละอองไอฟุ้งในอากาศ แล้วสายน้ำสีขาวส่วนที่เหลือก็โถมลงสู่แอ่งเบื้องล่าง กระสานซ่านเซ็นสร้างความชุ่มฉ่ำไปทั่วบริเวณ บวกกับภาพผืนป่าเขียวขจีและทิวเขาโดยรอบ ยิ่งเสริมเสน่ห์ให้น้ำตกนูรานังงดงามน่าประทับใจสุดๆ

น้ำตกนูรานัง อยู่ห่างเพียง 2 กิโลเมตร จากตัวเมืองจัง (Jang Town) ชุมชนสำคัญบนเส้นทางไต่เขาสูงสาย NH13 (Trans Arunachal Highway) น้ำตกนี้มีชื่อเรียกในภาษาท้องถิ่นอีก 2 ชื่อ ถ้าได้ยินก็ไม่ต้องงง คือ น้ำตกจัง” (Jang Falls) และ น้ำตกบองบอง” (Bong Bong Falls) น้ำที่เราเห็นหลากไหลมาจากลาดไหล่เขาด้านทิศเหนือของเซลา พาส (Sela Pass) กลายเป็นน้ำตกนูรานัง แล้วไหลต่อไปรวมกับแม่น้ำตาวังในที่สุด โดยที่ส่วนล่างของน้ำตกมีกังหันปั่นกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ ส่งไฟฟ้าไปเลี้ยงเมืองจังและพื้นที่ใกล้เคียงด้วย

ชื่อ น้ำตกนูรานัง ตั้งขึ้นตามชื่อของชาวมอนปะ (Monpa) ผู้กล้าหาญ ที่สร้างวรีกรรมช่วยเหลือ จัสวัน ซิงห์ ราวัต (Jaswant Singh Rawat) พลแม่นปืน ต่อสู้กับทหารจีนที่รุกรานมาถึงเซลา พาส (Sela Pass) ในระหว่างสงคราม China-Indian War ปี ค.ศ.​1962 ซึ่งนูรา (Nura หรือ Noora) ชาวมอนปะถูกทหารจีนจับกุมตัว และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

(18) Sessa Waterfall

ระห่างการเดินทางด้วยรถยนต์ฝ่าทะเลภูเขาสูงสลับซับซ้อนและคดเคี้ยวไม่รู้จบ จากเมืองบาลิพาร่า (Balipara) ไปเมืองบอมดิลา (Bomdila) และเมืองดิรัง (Dirang) ควรหาเวลาแวะพักชื่นชมธรรมชาติริมทางที่ น้ำตกเซสซา” (Sessa Waterfall) น้ำตกเล็กๆ ทิ้งตัวลงจากหน้าผาหินตั้งชันบริเวณริมถนน โดยมีแมกไม้ร่มรื่นแผ่กิ่งใบคล้ายสวนธรรมชาติ บริเวณนี้มีความสูงเกือบ 3,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล อากาศจึงเย็นชื้นตลอดปี เต็มไปด้วยเมฆหมอก พงไพรรกชัฏจนมีเขตอนุรักษ์ธรรมชาติหลายแห่ง และก่อกำเนิดสายน้ำบริสุทธิ์ไหลเย็นให้ชื่นชม ดังเช่นน้ำตกเซสซา การเที่ยวชมต้องจอดรถหลบไว้ริมถนนให้ดี เพราะเป็นช่วงถนนสองเลนสวนกันบนภูเขา นับเป็นจุดแวะพักชมธรรมชาติแบบสั้นๆ ที่ไม่ควรพลาด(19) Wild Mahseer Eastern Himalayan Botanic Ark เมือง Balipara รัฐอัสสัม

“Wild Masheer” คือชื่อเกมส์แข่งตกปลาอันน่าตื่นเต้นที่สุดรายการหนึ่ง จัดขึ้นในอดีตเมื่อปี ค.ศ. 1864 โดยบริษัทชา British Assam Tea Company เพื่อจับ “ปลาเวียนยักษ์หิมาลัย” (Himalayan Giant Masheer Fish : ตัวโตเต็มที่ยาวได้ถึง 2.4 เมตร) ในแม่น้ำโบโรลี (Bhoroli River หรือ Kameng River) หนึ่งในสาขาของแม่น้ำพรหมบุตรของรัฐอัสสัม กระทั่งปัจจุบัน ชื่อ Wild Masheer ได้กลายมาเป็น “Wild Mahseer The Eastern Himalaya Botanic Ark” หรือ สวนพฤกษชาติหิมาลัยตะวันออก ไวด์ มาเชียร์ซึ่งมีที่พักหรู Luxury Nature Homestay และกิจกรรม Eco-Tourism ศึกษาธรรมชาติหลากรูปแบบ

ภายในพื้นที่เกือบ 60 ไร่ ครึ้มเขียวด้วยป่าไม้ไพรพฤกษ์แน่นทึบ ทั้งป่าดิบชื้น ป่าเฟิร์น และป่าไผ่ พร้อมบังกะโลที่พักหรูโคโลเนียลยุควิคตอเรีย และห้องอาหาร คนที่มาพักส่วนใหญ่เป็นกลุ่มรักธรรมชาติ เดินป่า ชอบผจญภัย และดูนก เพราะที่นี่มีนกป่าสวยงามอยู่มากกว่า 50-60 ชนิด กิจกรรมศึกษาธรรมชาติมีทั้งเดิน Nature Trail ชมพันธุ์พืชต่างๆ อาทิ ต้นไผ่ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก (Dendrocalamus giganteus) ซึ่งสูงได้ถึง 42 เมตร จนเราต้องมองคอตั้งบ่ายังมีกิจกรรมขี่ช้างหรือนั่งรถจี๊ปซาฟารี ล่องเรือดูปลาโลมาน้ำจืด ดูผีเสื้อ ล่องแก่ง ปั่นจักรยาน ตีกอล์ฟ เล่นเทนนิส เรียนทำอาหารท้องถิ่น ฯลฯ ยิ่งกว่านั้นยังมี ไร่ชากว้างสุดลูกหูลูกตา ให้เดินเที่ยวชมการปลูกชาแบบอัสสัมที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก เราจะได้ชิมชาดำ (Black Tea) ที่เป็นซิกเนเจอร์ของรัฐอัสสัม สัมผัสไร่ชา Organic Tea อายุไม่น้อยกว่า 150 ปีแล้วที่นี่ยังมีบังกะโลเก่าแก่ที่สุดในรัฐอัสสัมให้ชมด้วย เป็นบังกะโลยุคอาณานิคมอังกฤษ อายุกว่า 160 ปี สร้างขึ้นโดยบริษัทผลิตและส่งออกชา British Assam Tea Company ภายในมี 3 ห้องนอน พร้อมห้องรับแขกและห้องอาหารอย่างหรูหราโอ่โถง

(20) Damu’s Heritage Dine เมือง Shergaon

รัฐอรุณาจัลประเทศมีชนพื้นเมืองอยู่มากถึง 26 เผ่าหลัก และอีกนับร้อยเผ่าย่อย การมีโอกาสสัมผัสพวกเขาในบางส่วนเสี้ยว อาจทำให้เราเข้าใจวิถีของพวกเขามากขึ้น ลองเดินทางไปเที่ยว เมืองเชอร์กอน (Sherhaon) ตำบลคาเมงตะวันตก (West Kameng District) นั่งรถชมธรรมชาติขุนเขาเข้าสู่หมู่บ้าน ชาวมอนปะ (Monpa Tribe) ท่ามกลางทุ่งหญ้า ป่าไม้ และลำธาร ของหุบเขาชุก (Chug Valley) อันสงบงามด้วยจังหวะชีวิตแบบชนบทสุดเรียบง่าย

วันนี้เราจะมากินอาหารเที่ยงฟิวชั่นกันในหมู่บ้านชาวมอนปะแท้ๆ อดีตชาวมอนปะอพยพจากทิเบตเข้ามาตั้งรกรากที่นี่ กระทั่งโอกาสเปิด นักท่องเที่ยวเริ่มต้องการสัมผัสลึกซึ้งถึงความเป็นชุมชนท้องถิ่น หญิง 8 คนในหมู่บ้านนี้จึงรวมตัวกันจัดโปรแกรมท่องเที่ยวเก๋ไก๋ “Damu’s Heritage Dine” จัดเซ็ทอาหารกลางวันในแบบที่คนเมืองจะไม่เคยชิมแน่นอน คำว่า ดามู” (Damu) ในภาษาดูฮุมบิ (Duhumbi Language) แปลว่า ลูกสาว พวกเธอจึงเป็นเสมือนตัวแทนของชุมชนนั่นเอง

เราเดินลัดเลาะผ่านหมู่บ้านเข้าไปไม่ไกล ก็ถึงบ้านหลังหนึ่งเปิดประตูต้อนรับ หลังบ้านมีระเบียงกว้างที่มองออกไปเห็นทุ่งนาและทิวเขาทอดยาว โต๊ะยาวพร้อมม้านั่งไม่หรูหราทว่าสวยงามชาวบ้านเริ่มทยอยเสิร์ฟอาหารกว่า 12 เมนู ให้เราชิมจนอิ่มแปล้ โดยมีการจัดจานอย่างสวยงาม อาทิ น้ำมันต้นรักอุ่นๆ เสิร์ฟมาบนเตาถ่านร้อนๆ ช่วยบำรุงร่างกาย, ก๋วยเตี๋ยวที่ทำจากเส้นบักวีต, สลัดผักออร์แกนิคและผลไม้ตามฤดูกาล, โมโม่ (เกี๊ยวทิเบต) ไส้ต่างๆ, ซุป, ทาโก้ไก่, ข้าวกล้อง, แกงไก่ต้มขิง, ผัดผักกูด ฯลฯ ปิดท้ายด้วยเหล้าหมักดีกรีสูงแบบชาวบ้าน นับเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ ว้าวมาก!

— SPECIAL THANKS TO ALL OF MY SPONSORS —

ขอบคุณ บริษัท Nikon Sales Thailand สนับสนุนกล้อง Nikon Z8 ระดับ Professional สำหรับ Photo Trip ครั้งนี้

— For more informations about Arunachal Pradesh, India Trip, please contact —

ขอบคุณเป็นพิเศษ : บริษัท RINNAYA TOUR (ริณนาญาทัวร์)

Tel. 092-895-6245 / Line : @rinnayatour

Email : sales.rinnaya@gmail.com

Website : http://www.RinnayaTour.com/

20 ที่เที่ยวห้ามพลาด อรุณาจัล-อัสสัม (Episode 1)

(1) Golden Pagoda เมืองน้ำทราย

    เจดีย์ทองคำ” (Golden Pagoda) เมืองน้ำทราย (Namsai) หรือ กองมูคำ” (Kongmu Kham) คือแลนด์มาร์คสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในรัฐอรุณาจัลประเทศของอินเดีย เป็นเจดีย์สีทองอร่ามศิลปะพม่า ศูนย์รวมศรัทธา ชาวไทคำตี้ (Tai Khamti) ในเมืองน้ำทราย เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ที่สุดในภาคอีสานของอินเดีย มีโรงเรียนสอนพระไตรปิฎกและเขตสังฆาวาสในพื้นที่กว่า 125 ไร่ โดยมีเจดีย์ทองคำเป็นศูนย์กลาง องค์เจดีย์ประธานสูงเกือบ 20 เมตร มีเจดีย์รายอีก 12 องค์ เป็นเจดีย์พม่าทรงปราสาทที่สามารถเข้าไปในฐาน เพื่อสักการะพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ภายในความงามนี้คงจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มี ท่านเจ้านา เมน (Chowna Mein) Deputy Chief Minister แห่งรัฐอรุณาจัลประเทศ เป็นผู้สนับสนุนเงินส่วนตัวกว่า 30 ล้านรูปี เมื่อ พ.ศ. ​2553 เพื่อสร้างเจดีย์อุทิศให้เจ้ากือนาซึ่งเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ จนทุกวันนี้กลายเป็นศูนย์รวมใจของผู้คนไปแล้ว

(2) งานมหาซังเกนไทคำตี้ เมืองน้ำทรายเทศกาลสงกรานต์ ของ “ชาวไทคำตี้” (Tai Khamti) ที่อพยพจากพม่าตอนเหนือเข้าสู่รัฐอรุณาจัลประเทศของอินเดีย เมื่อพุทธศตวรรษที่ 22-23 เป็นงานฉลองขึ้นปีใหม่ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-16 เมษายนทุกปี เรียกในภาษาถิ่นว่า ซังเกน” (Sangken) ทว่าในปี 2025 ชาวไทคำตี้เมืองน้ำทราย (Namsai) ได้จัดยิ่งใหญ่จนกลายเป็น เทศกาลมหาซังเกนนานาชาติ” (Maha Sangken International Festival) ที่วัดเจดีย์ทองคำ มีการทำบุญเลี้ยงพระ ฟังเทศน์ ขบวนแห่สีสันตระการตาของนางรำนับร้อย การสรงน้ำพระ สรงน้ำพระธาตุ รดน้ำต้นโพธิ์ และไฮไลท์คือเล่นสาดน้ำกันชุ่มฉ่ำ โดยใส่ชุดพื้นเมือง และใช้น้ำสะอาดสาดรดกันสนุกสนาน ในช่วงเย็นพากันลอยกระทงประทีป และลอยโคมเป็นพุทธบูชาด้วย สวยสุดๆ

(3) ไร่ชา The Postcard in the Durrung Tea Estate รัฐอัสสัมการไปเที่ยวรัฐอรุณาจัลประเทศและอัสสัม คงจะสมบูรณ์ไม่ได้ หากเราไม่ได้แวะสัมผัสไร่ชาที่มีชื่อเสียงก้องโลก บนพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำพรหมบุตรอากาศร้อนชื้น ตลอดสองข้างทางจะเห็นไร่ชาเขียวขจีที่มี ต้นนีม (Neem Tree : ต้นสะเดา) กระจายอยู่ทั่วไปให้ร่มเงา ไร่ชานับแสนๆ ไร่แถบนี้จึงมีภูมิทัศน์ต่างจากไร่ชาบนภูเขาสูงอากาศเย็นแถบดาร์จิลิ่ง (Darjeeling) หนึ่งในไร่ชามีชื่อเสียงและเก่าแก่ที่สุดของรัฐอัสสัม อายุกว่า 150 ปี คือ ไร่ชาดูรรุง” (Durrung Tea Estate)ไร่ชาดูรรุง ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.​1875 โดยบริษัท บริติช อีส อินเดีย ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกชากว่า 2,500 ไร่ มีคนงานกว่า 1,000 คน โดยมีสวัสดิการให้อย่างดี ทั้งที่พัก การรักษาพยาบาล และการศึกษา ทั่วโลกรู้จัก ชาดำ” (Black Tea) ระดับพรีมเมียมของดูรรุง เพราะมีเอกลักษณ์รสชาติเข้มข้น สีเหลืองทองอำพัน นุ่มลื่น กลมกล่อม เป็นชาป่าพันธุ์อัสสัม (Camellia sinensis) ซึ่งได้รับรองมาตรฐาน TRUSTEA ของอินเดีย เขายังมีที่พักหรูสไตล์โคโลเนียลกลางไร่ชาให้เช็คอินชื่อ “The Postcard” ได้ชื่นชมไร่ชาเขียวชอุ่มกว้างสุดลูกหูลูกตา ดูการเก็บชา จิบชาพรีเมี่ยม และซื้อกลับบ้าน ทั้ง Assam CTC, Assam Orthodox, Himalayan Green, Pu-erh Tea ฯลฯ

(4) Aohali Village, เผ่า Idu

  “Zero Hunting Village” “หมู่บ้านนี้ไม่มีการล่าสัตว์เด็ดขาด คือปณิธานแน่วแน่ที่ หมู่บ้านเอาฮาลี (Aohali Village) ในตำบลเซียงตะวันออก (East Siang District) ของรัฐอรุณาจัลประเทศประกาศต่อชาวโลก ที่นี่คือบ้านป่าบนภูเขาสลับซับซ้อน อุดมด้วยพืชพรรณและสัตว์ป่า โดยมีชนเผ่าอีดู (Idu Tribe) 1 ใน 26 เผ่าของรัฐอรุณาจัลประเทศอาศัยอยู่มานับร้อยปี เมื่อป่าสมบูรณ์หดหายและสัตว์ป่าลดจำนวนลงจนเห็นชัด ชุมชนจึงร่วมตั้งปฏิญญาว่าจะเข้าสู่วิถีอนุรักษ์แทน โดยใช้การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและผจญภัยเป็นจุดขาย เอาฮาลีจึงมีชื่อเสียงในฐานะ หมู่บ้านแรกของรัฐอรุณาจัลประเทศที่หยุดล่าสัตว์ 100 เปอร์เซ็นต์ เอาฮาลี ช้เสน่ห์ดั้งเดิมของภาษา การแต่งกาย หัตถกรรม และดนตรีในแบบอีดู ดึงดูดผู้มาเยือน ชนเผ่าอีดูเป็น 1 ใน 4 เผ่าย่อยของชาวมิชมี่ (Mishmi) เรียกว่า อีดูมิชมี่ ซึ่งบรรพบุรุษอพยพมาจากทิเบต ความน่าสนใจแรกที่ดึงดูดสายตาได้ คือชุดที่พวกอีดูสวมใส่ มีหมวกแหลมสานด้วยไม้ไผ่และหวาย ชุดผ้าทอมือ สร้อยลูกปัดเขี้ยวสัตว์ ผ้าคลุมขนสัตว์ รวมถึงมีดดาบยาว ส่วนหญิงชาวอีดูก็เก่งมากเรื่องจักสานและทอผ้ากี่เอว หมู่บ้านเอาฮาลีอยู่บนเส้นทางระหว่างไปเมืองดิรัง (Dirang) โดยออกจากเมืองน้ำทราย (Namsai) ไม่ไกลก็ถึง

(5) Silluk Village, เผ่า Monpa

ไม่ไกลจากหมู่บ้านเอาฮาลี (Aohali Village) ถนนสองเลนคดโค้งผ่านไปตามป่าเขาลำเนาไพรเขียวครึ้ม เมื่อระดับความสูงเพิ่มขึ้น ไม่นานก็ถึง หมู่บ้านซิลลุค” (Silluk Village) ในตำบลเซียงตะวันออก (East Siang District) หมู่บ้านสะอาดที่สุดในรัฐอรุณาจัลประเทศ ซึ่งรัฐบาลท้องถิ่นให้การรับรอง แม้มองเผินๆ จะเป็นเพียงหมู่บ้านชนบท ที่บ้านสร้างด้วยไม้หลังคามุงจาก ทว่าสิ่งที่ทุกคนสัมผัสได้คือ ซิลลุคสะอาดมาก สิ่งต่างๆ ดูเป็นระเบียบ มีไม้ดอกไม้ใบหลากสีสวยงามประดับ คนซิลลุคเป็นชาวมอนปะ (Monpa Tribe) ที่บรรพบุรุษอพยพมาจากทิเบตเขตพื้นที่ต่ำ พวกเขามีนิสัยรักสะอาด หมู่บ้านแบ่งเป็น 6 หมู่ ส่งตัวแทนออกมาช่วยกันเก็บขยะทำความสะอาดหมู่บ้านทุกเช้า (ยกเว้นช่วงฤดูเกษตร) รวมถึงมีการทำ Big Cleaning หนึ่งวันทุกต้นเดือนด้วย เสียงตามสายทุกเช้าในหมู่บ้านดังย้ำเตือนเรื่องจิตสำนัก และการมีส่วนร่วมเรื่องความสะอาดสุขอนามัยในชุมชน ปัจจุบันมีการห้ามล่าสัตว์และจับปลา แยกขยะพลาสติก โดยถังขยะที่ใช้สานด้วยไม้ไผ่จากฝีมือผู้สูงอายุในหมู่บ้าน วิถีชีวิตของคนที่นี่จึงกลมกลืนกับป่าเขาลำเนาไพร เป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่นได้ยอดเยี่ยม

(6) Dirang Monastery เมืองดิรัง

  ถนนสองเลนซิกแซกผ่านไปบนภูเขาน้อยใหญ่เหมือนไม่รู้จบ สาย NH15 ระยะทางกว่า 580 กิโลเมตร จากเมืองน้ำทราย (Namsai) ในที่สุดเราก็มาถึงเมืองบนภูเขาสูงกว่า 1,500 เมตร เมืองดิรัง” (Dirang) ที่ทอดตัวอยู่ทางด้านทิศใต้ของเทือกเขาหิมาลัย ทัศนียภาพเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนช่างน่าตื่นตา ดินแดนแถบนี้ในอดีตคือส่วนหนึ่งของอาณาจักรทิเบต ทว่าหลังจากถูกจีนรุกราน จึงผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของอินเดียเมื่อปี ค.ศ.​1959 ชาวทิเบตจำนวนมากจึงอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานจุดที่ห้ามพลาดคือ “วัดดิรัง” (Dirang Monastery) หรือภาษาทิเบตเรียกว่า “ทุบซัง ดาร์กเย ลิง” (Thupsung Dhargye Ling) ชื่อนี้ดาไลลาะมองค์ที่ 14 ประมุขศาสนาพุทธนิกายวัชรยานตั้งให้ แปลว่า “ดินแดนซึ่งพระวัจนะของพุทธองค์เฟื่องฟู” วัดตั้งอยู่บนเชิงเขามองลงไปเห็นหุบเขาดิรังทอดตัวอยู่เบื้องหน้า อารามไล่จากชั้นล่างผ่านบันไดขึ้นสู่ชั้นบนสุดอันเป็นที่ตั้งอารามหลัก ภายในมีห้องสวดมนต์ใหญ่สไตล์ทิเบต มีพระประธานเป็นพระศรีอริยเมไตรย และคุรุรินโปเช (คุรุปัทมสัมภวะ) วัชราจารจากอินเดียผู้เข้าสู่ทิเบตเมื่อศตวรรษที่ 8-9 เผยแผ่ศาสนาพุทธนิกายวัชรยานจนทิเบตเปลี่ยนจากนับถือจิตวิญญาณมาเป็นพุทธ ในห้องโถงยังมีบัลลังก์ธรรมาสน์ที่มีรูปดาไลลามะองค์ที่ 14 ขนาดเท่าองค์จริงประดิษฐานอยู่ด้วย

(7) Dirang Dzong, เผ่า Monpa เมืองดิรัง

 สำหรับนักท่องเที่ยว ในเมืองดิรังมีจุดที่น่าสนใจให้ชมมากมาย หนึ่งในนั้นคือแหล่งประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต คละเคล้าวัฒนธรรมชาวมอนปะ (Monpa Tribe) ซึ่งอพยพจากเขตที่ต่ำในทิเบตเข้าสู่อินเดียเมื่อครั้งอดีต นั่นคือ ดิรังซอง” (Dirang Dzong) เรียกง่ายๆ ว่า ป้อมดิรัง ก็ได้ เพราะเป็นป้อมโบราณสมัยศตวรรษที่ 9 สร้างอยู่บนภูเขาสูง มีรั้วรอบขอบชิด เคยเป็นศูนย์กลางบริหารราชการท้องถิ่นและชุมชนที่มีบ้านสไตล์ทิเบตอยู่นับร้อยหลัง การสร้างป้อมดิรังด้วยหินมีรั้วแน่นหนา ก็เพราะในอดีตยังมีการรุกรานจากชนชาติอื่นอยู่เนืองๆ นั่นเอง ทั้งนี้ชาวมอนปะแบ่งได้เป็น 6 เผ่าย่อย (ตามเขตที่อาศัย) คือ Tawang Monpa, Dirang Monpa, Lish Monpa, Bhut Monpa, Kalaktang Monpa และ Panchen Monpa   ดิรังซอง ตั้งอยู่บนเส้นทาง Bomdila-Dirang-Tawang โดยอยู่ถัดออกมาจากตัวเมืองเล็กน้อย จอดรถไว้ริมถนน แล้วเดินขึ้นบันไดไปตามตรอกแคบๆ ลอดผ่านซุ้มประตูโบราณ เข้าสู่ชุมชนมอนปะที่พาเราย้อนกลับสู่ศตวรรษที่ 9 ในทุกย่างก้าวที่เดินผ่าน ทางแคบๆ คดเคี้ยวราวเขาวงกตลัดเลาะเข้าไปในหมู่บ้าน เห็นสถาปัตยกรรมเรือนอาศัยแบบทิเบต ที่ใช้หินและไม้สร้างผสมผสาน มีวงล้อมนต์ (Prayer Wheel) บ่งบอกถึงศรัทธาในศาสนาพุทธนิกายวัชรยาน รวมถึงรอยยิ้มของผู้คนที่มีให้ตลอด

(8) Dirang Market เมืองดิรังเปลี่ยนบรรยากาศจากเที่ยวชมวัดสไตล์ทิเบต ป้อมโบราณ และหมู่บ้านชนพื้นเมือง มาเป็นเดินเล่นช้อปปิ้งใน ตลาดดิรัง” (Dirang Market หรือ Dirang Bazaar) กันบ้าง ตลาดนี้ตั้งอยู่ใจกลางย่านดาวน์ทาวน์ของดิรัง มีถนนผ่านกลางย่านธุรกิจ และมีอาคารร้านรวงทอดยาวไปสองฟากฝั่งถนน รวมถึงเลี้ยวเข้าไปตามตรอกซอกซอย ก็ดูคึกคักคับคั่งจอแจ เต็มไปด้วยภาพการซื้อขายจับจ่ายและผู้คน มีทั้งร้านอาหารท้องถิ่น ร้านขายเสื้อผ้าพื้นเมือง กระเป๋า รองเท้า พรม เครื่องสำอาง ยาสมุนไพรต่างๆ มีร้านแลกเงิน ร้านขายข้าวของจิปาถะ รวมถึงพืชผักผลไม้สด เนื้อสัตว์ ขนม ชีสนมจามรี ฯลฯ เปิดกั้นตั้งแต่เช้าตรู่จนดึกดื่น ใครขาดเหลืออะไรระหว่างเดินทางท่องเที่ยว ก็แวะซื้อกันที่นี่ได้นะ

(9) Dirang Hot Spring เมืองดิรังนั่งรถยนต์ชิลๆ ออกจากเมืองดิรังไปแค่ 10 กิโลเมตร ก็ถึง บ่อน้ำพุร้อนดิรัง” (Dirang Hot Spring) ที่คนท้องถิ่นชาวมอนปะและทิเบตใช้เป็นสถานที่พักผ่อนเชิงสุขภาพมาเนิ่นนาน เป็นบ่อน้ำพุร้อนเล็กๆ 2 บ่อ ตั้งอยู่บนเนินเขาเตี้ยๆ ริมฝั่งแม่น้ำดิรัง บริหารจัดการโดยชุมชนชาวมอนปะท้องถิ่น บรรยากาศเงียบสงบ ร่มรื่นเป็นธรรมชาติ มองออกไปเห็นภูเขา ป่าไม้ และแม่น้ำอยู่เบื้องล่าง อุณหภูมิน้ำไม่ร้อนมาก แช่สบายตัวพอได้ผ่อนคลาย น้ำที่นี่อุดมด้วยแร่ซัลเฟอร์ ลงอาบแช่แล้วช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย เลือดลมดี ช่วยรักษาโรคผิวหนังและอาการไขข้อบางชนิดได้ เหมือนสปาธรรมชาติที่น่าจะแวะไปทดลองดู

บ่อน้ำพุร้อนดิรัง เปิดให้ใช้บริการฟรี ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นถึงเย็น ช่วงเวลาอากาศดีสุดคือเดือนตุลาคม-เมษายน และที่นี่ไม่มีห้องเปลี่ยนชุดให้ ต้องเตรียมผ้าเช็ดตัวกับชุดไปเปลี่ยนเองนะ

(10) Tippi Orchid Research Centre

รัฐอรุณาจัลประเทศมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์และกว้างขวางที่สุดในอินเดีย จึงมีกล้วยไม้ป่าอยู่มากถึง 678 ชนิด โดย 32 ชนิดเป็นพันธุ์เฉพาะถิ่น (Endemic Species) พบเฉพาะที่นี่เท่านั้น หากใครสนใจลองไปเที่ยวที่ ศูนย์วิจัยกล้วยไม้ทิปปิ” (Tippi Orchid Research Centre) หมู่บ้านทิปปิ ตำบลคาเมงตะวันตก (West Kameng District) ห่างจากเมืองเตซปูร์ (Tezpur) ของรัฐอัสสัม เพียง 65 กิโลเมตรเท่านั้น ศูนย์วิจัยกล้วยไม้ทิปปิ ตั้งอยู่ท่ามกลางป่าเขารกชัฏสลับซับซ้อน เป็นป่าฝนเขตร้อนเขียวชอุ่มชุ่มชื้นตลอดปี พื้นที่ 62.5 ไร่ มีโรงเรือนปลูกเลี้ยงกล้วยไม้กว่า 1,000 ชนิด ทั้งพันธุ์ท้องถิ่น พันธุ์หายาก และพันธุ์ลูกผสมสวยงาม มีห้องแล็บศึกษาวิจัย สวนกลางแจ้ง แล็บผสมกล้วยไม้แบบ Tissue Culture และพิพิธภัณฑ์พืช (Herbarium) เก็บรวบรวมข้อมูลกล้วยไม้นับพันชนิดไว้อย่างเป็นระบบ ไฮไลท์อยู่ที่โรงเรือนเลี้ยงกล้วยไม้น้อยใหญ่หลากสี เบ่งบานอวดผู้มาเยือน ทั้งกล้วยไม้รองเท้านารี เพชรหึง เอื้องม้าวิ่ง กล้วยไม้สกุลหวาย แวนด้า แคทลียา ซิมบิเดียม ฯลฯ เห็นแล้วสดชื่นมาก นอกจากนี้ยังมี เส้นทาง Green Walk ให้ชมธรรมชาติในป่าเฟิร์นด้วย

— SPECIAL THANKS TO ALL OF MY SPONSORS —

ขอบคุณ บริษัท Nikon Sales Thailand สนับสนุนกล้อง Nikon Z8 ระดับ Professional สำหรับ Photo Trip ครั้งนี้

— For more informations about Arunachal Pradesh, India Trip, please contact —

ขอบคุณเป็นพิเศษ : บริษัท RINNAYA TOUR (ริณนาญาทัวร์)

Tel. 092-895-6245 / Line : @rinnayatour

Email : sales.rinnaya@gmail.com

Website : http://www.RinnayaTour.com/

มหาสงกรานต์ไทคำตี้ อัญมณีล้ำค่า ณ ปลายเทือกหิมาลัย

สงกรานต์ คือช่วงเวลาแห่งความสุข ความชุ่มฉ่ำ และการเปลี่ยนผ่านจากปีเก่าเข้าสู่ปีใหม่ของคนไทย ทว่าจริงๆ แล้ว สงกรานต์ คือวัฒนธรรมร่วมของผู้คนนับล้านในภูมิภาคอุษาคเนย์ ทั้งไทย พม่า ลาว กัมพูชา รวมถึงคนเผ่าไต (ไท) ในจีนตอนใต้ ไล่ไปจนถึงคนไทกลุ่มหนึ่งในแคว้นอัสสัมและอรุณาจัลประเทศของอินเดียด้วย พวกเขาคือ ไทคำตี้ (Tai Khamti) ญาติสนิทของพวกเรา ที่มีประเพณีฉลองสงกรานต์ยิ่งใหญ่ และนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาทไม่ต่างจากเราเลย

            นี่คือเรื่องราวการเดินทางยาวไกลสู่ แคว้นอรุณาจัลประเทศ (Arunachal Pradesh) เลียบเชิงเขาหิมาลัยตะวันออก สัมผัสบรรยากาศไร่ชา ที่ราบลุ่มแม่น้ำพรหมบุตร และร่วมมีความสุขกับงาน มหาสงกรานต์ไทคำตี้ ที่เราอาจไม่เคยรู้

ท่ามกลางอากาศร้อนใกล้ 40 องศาเซลเซียส ของกลางเดือนเมษายน 2025 เราบินลัดฟ้าจากไทยไปยัง เมืองกัลกัตตา (Kolkata) ของอินเดีย แล้วเปลี่ยนเครื่องบินภายในประเทศสู่ เมืองดิบรูกาห์ (Dibrugarh) แคว้นอัสสัม จากนั้นต่อรถยนต์อีกไม่ไกลก็ถึง น้ำทราย (Namsai) เมืองสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในแคว้นอรุณาจัลประเทศของอินเดีย นี่คือจุดหมายที่เราแรมทางมาเพื่อพิสูจน์คำเล่าลือ ในความงามทางวัฒนธรรมที่ถูกแช่แข็งไว้ในกาลเวลา เพราะน้ำทรายคือบ้านของชนเผ่าไทคำตี้ ที่มีหน้าตาละม้ายคล้ายคนไทย ผสมพม่า มอญ ไทยใหญ่ รวมถึงจีน เพราะเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 22-23 บรรพบุรุษของพวกเขาอพยพจากลุ่มแม่น้ำชินด์วิน (Chindwin River) อันเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำอิราวดีทางเหนือของพม่า ผ่านช่องเขาปาดไก่เข้าสู่อินเดีย

ทรัพยากรธรรมชาติ สายน้ำ และดินอุดมของอรุณาจัลประเทศ เกื้อหนุนให้ชาวไทคำตี้อยู่กันอย่างสุขสงบด้วยวิถีเกษตร ไร่ชา และศาสนาพุทธ ก่อเกิดความรุ่งเรือง ณ เมืองน้ำทราย แห่งนี้ ทุกปีในช่วงกลางเดือนเมษายน เมื่อจักรราศีเปลี่ยนผ่านจากมีนเข้าสู่เมษ ชาวไทคำตี้ก็จะร่วมกันจัดงานเทศกาล “ซังเกน” (Sangken ในภาษาถิ่นไทคำตี้เรียกว่า “Peo Mon Sangken”) หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ “สงกรานต์” นั่นเอง ถือเป็นเทศกาลแห่งความสุขล้น เพราะเป็นการขึ้นปีใหม่

มีการทำบุญเลี้ยงพระ ฟังเทศน์ฟังธรรม สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่ และเล่นสาดน้ำคลายร้อนกันอย่างสนุกสนานชื่นมื่น รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ เปื้อนอยู่บนใบหน้าของผู้คน ทว่าปี 2025 งานซังเกนไทคำตี้ดูจะจัดยิ่งใหญ่กว่าที่เคยมีมา กลายเป็น “เทศกาลมหาซังเกนนานาชาติ” (Maha Sangken International Festival) ที่มีสื่อมวลชนและแขกผู้มีเกียรติจากหลายประเทศเข้าร่วม โดยมี ท่านเจ้านา เมน (Chowna Mein) Deputy Chief Minister แห่งรัฐอรุณาจัลประเทศ ให้การสนับสนุนหลักผลักดันเต็มที่ จนงานมหาซังเกนไทคำตี้ครั้งนี้มีสีสันและมีชีวิตชีวากว่าครั้งไหนๆ

งานเทศกาลมหาซังเกนนานาชาติ 2025 ปีนี้ นอกจากจะจัดอย่างยิ่งใหญ่ที่สุดแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชาวไทคำตี้ให้คงอยู่ ผู้คนร่วมกันแต่งกายในชุดพื้นเมืองสวยงามทั้งหญิงชาย ออกมาร่วมฉลองและสาดน้ำสะอาดกันที่วัด ซึ่งเป็นเสมือนศูนย์กลางชุมชน เรายังได้เชิญสื่อมวลชนและแขกผู้มีเกียรติจากหลายประเทศเข้าร่วม อาทิ อิตาลี อเมริกา ไทย อินเดีย ฯลฯ เพื่อเผยแพร่งานเทศกาลนี้ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในระดับนานาชาติ อันจะเป็นผลดีต่อการท่องเที่ยว รวมถึงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐอรุณาจัลประเทศด้วย ท่านเจ้านา เมน Deputy Chief Minister แห่งรัฐอรุณาจัลประเทศ กล่าว

การเชิญสื่อมวลชนและบริษัททัวร์จากนานาชาติเข้าร่วมชมงานมหาซังเกนในปีนี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงประเพณีที่ดีงามและมีความสำคัญ สามารถสร้างความประทับใจและน่าจดจำได้ในระดับโลก นับเป็นความพยายามของเราที่จะประชาสัมพันธ์ให้เห็นถึงประเพณีที่มีความพิเศษ เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งเรามีแผนจะทำการเผยแพร่ในแพลทฟอร์มที่หลากหลาย กว้างขวางขึ้นต่อไป”  Mr.Oken Tayen สมาชิกสภาที่ปรึกษาด้านการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวอินเดีย และเป็นหนึ่งในแกนนำจัดงานมหาซังเกนนานาชาติไทคำตี้ปีนี้ กล่าวเสริม งานมหาซังเกนนานาชาติไทคำตี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-16 เมษายน 2025 โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ “วัดเจดีย์ทองคำ” (Golden Pagoda) ซึ่งในภาษาถิ่นเรียกว่า “วัดกองมูคำ” (Kongmu Kham) ศาสนาสถานสำคัญ เพราะเป็นเจดีย์ในศาสนาพุทธที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภาคอีสานของอินเดีย นอกจากจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวมีชื่อเสียงแล้ว ยังถือเป็นศูนย์รวมใจของชาวไทคำตี้ด้วย ใจกลางวัดคือที่ตั้งมหาเจดีย์สีทองอร่ามสร้างด้วยสถาปัตยกรรมพม่า องค์เจดีย์ประธานสูงเกือบ 20 เมตร ล้อมด้วยเจดีย์ราย 12 องค์ เป็นเจดีย์ทรงปราสาทซึ่งส่วนฐานสามารถเดินเข้าไปกราบสักการะพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ภายใน รอบเจดีย์ทองคำเป็นลานปูนและสนามหญ้ากว้าง มีต้นโพธิ์และแมกไม้ใหญ่ร่มรื่น ใกล้ๆ กันมีโบสถ์แบบไทยศิลปะรัตนโกสินทร์ ซึ่งผู้มีจิตศรัทธาชาวไทยสร้างไว้ เบื้องหน้ามีสระน้ำใหญ่ พร้อมรูปปั้นพญานาคแผ่แม่เบี้ยอยู่เบื้องหลังองค์พระพุทธเจ้าเพื่อคอยปกป้องวัดเจดีย์ทองคำ เป็นสถานที่ใช้จัดงานสำคัญๆ ของชุมชนไทคำตี้เมืองน้ำทราย รวมถึงงานมหาซังเกนด้วย

งานมหาซังเกนในวันแรกเริ่มขึ้นตั้งแต่เช้าตรู่ เพราะที่เมืองน้ำทรายสว่างเร็วมาก อรุณเบิกฟ้าตั้งแต่ตีห้า จาก Golden Pagoda Eco Resort ที่พักของเรา มีประตูเดินเข้าด้านหลังวัด สามารถเดินตรงไปยังองค์พระเจดีย์ทองคำได้เลยอย่างง่ายดาย ผู้คนหลายร้อยตื่นเช้ากว่าเรา ต่างมาตั้งแถวรออยู่ในชุดไทคำตี้ที่สวยงามมีเอกลักษณ์ชุดพื้นเมืองไทคำตี้ เล่นสงกรานต์กันด้วยชุดนี้ทำให้บรรยากาศยิ่งดูพิเศษขึ้นอีกหลายเท่า

ชุดพื้นเมืองชาวไทคำตี้ หญิงนุ่งซิ่นหลากสี โดยเฉพาะซิ่นพื้นสีดำมีลายทางเป็นเส้นยาวลงไปจรดตีนซิ่น (คล้ายซิ่นลายแตงโมของไททรงดำในไทย) ลวดลายเน้นพิเศษตรงตีนซิ่นด้วยลายดอกดาวและดอกไม้ทรงเรขาคณิตหลากสี ส่วนท่อนบนใส่เสื้อแขนยาวมีผ้าพาดบ่าเฉวียงไหล่ บางคนก็ใส่หมวกสีสด และบางคนสะพายย่ามสีฉูดฉาดบาดตา น่ารักมาก ผู้ชายจะแต่งกายคล้ายพม่าหรือไทยใหญ่ คือถ้าไม่สวมกางเกงขาก๊วยยาว ก็นิยมนุ่งผ้าโสร่ง เสื้อแขนสั้นหรือยาวก็ได้ และอาจโพกผ้ารอบหัวด้วยถ้าต้องการให้ดูหล่อเหลา หรือเป็นทางการมากๆ

ท่านเจ้าอาวาสวัดเจดีย์ทองคำ พร้อมด้วยพระภิกษุและเณรน้อยหลายสิบรูป พากันเดินแถวเข้าไปที่ศาลาการเปรียญ ทำพิธีสวดอัญเชิญพระพุทธรูปหยกขาวและพระพุทธรูปสำคัญจำนวนมาก เดินแห่ตรงไปยังเจดีย์กลางสนามหญ้าใกล้ๆ เจดีย์ทองคำ โดยมี เจ้านา เมน เป็นประธานเดินนำไปเป็นท่านแรก

เจ้านา เมน เป็นประธานอัญเชิญพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ไปไว้ให้ประชาชนได้สรงน้ำเสริมสิริมงคล ในช่วงเทศกาลมหาซังเกน
องค์พระพุทธรูปทั้งหมดได้ประดิษฐานอยู่ภายในฐานพระเจดีย์แล้วปิดประตู ให้ผู้มาร่วมฉลองสงกรานต์สรงน้ำผ่านรางพญานาคเพื่อความเป็นสิริมงคล แต่ละคนจะมีถังน้ำพลาสติกเล็กๆ ของตัวเอง ใส่น้ำสะอาดและดอกไม้กลิ่นหอม นำมาเทลงในรางพญานาค จุดธูปหอมอธิษฐาน เสร็จแล้วเดินไปที่สนามหญ้าด้านหลังพระเจดีย์ รดน้ำต้นโพธิ์ใหญ่ให้เกิดความร่มเย็นกับชีวิต จากนั้นใครจะสาดน้ำใครให้ชุ่มฉ่ำก็เริ่มได้เลยอย่างอิสระเสรี โดยทางวัดมีก๊อกน้ำและรถบรรทุกน้ำ ให้ประชาชนมาเติมน้ำกันได้ฟรีแบบไม่อั้นตลอดวันเจ้านา เมน Deputy Chief Minister แห่งรัฐอรุณาจัลประเทศ พร้อมด้วย ท่านทูตอิตาลีประจำอินเดีย Antonio Enrico Bartoli และแขกผู้มีเกียรติในงาน ร่วมสรงน้ำพระพุทธรูปผ่านรางน้ำตรงเข้าสู่ภายในพระเจดีย์ บรรยากาศเต็มไปด้วยความสุขและเบิกบานการสรงน้ำพระพุทธรูปเพื่อความเป็นสิริมงคลในวันมหาซังเกน ตามคติความเชื่อของชาวไทคำตี้งานมหาซังเกนในช่วงเช้างดงามด้วยรูปแบบพิธีการ และจิตวิญญาณของเทศกาลสงกรานต์แท้จริงอย่างเต็มเปี่ยม ทั้งกลิ่นอายความศรัทธาพุทธศาสนา ชุดพื้นเมืองมีอัตลักษณ์ น้ำสะอาดและดอกไม้ที่ใช้ประกอบพิธีกรรม ไม่มีเสียงเพลงอึกทึก ไม่มีชุดโป้เปลือย ไม่มีความรุนแรงในการสาดน้ำ ไม่มีวัตถุแปลกปลอมเจืออยู่ในน้ำที่นำมาสาดรดกัน น่าชื่นชมมากๆ หลังจากสรงน้ำพระพุทธรูปแล้ว ก็ได้เวลารถน้ำต้นโพธิ์เป็นพุทธบูชา รวมถึงเชื่อว่าให้ชีวิตร่มเย็น มั่นคง ตลอดปี สายน้ำบริสุทธิ์แห่งความสุขและศรัทธา ศรัทธา ธรรมชาติ และผู้คน มาบรรจบกัน ณ วัดเจดีย์ทองคำใน วันมหาซังเกนไทคำตี้
ผูกเครื่องพุทธบูชาประดับไว้รอบๆ พระเจดีย์

งานช่วงเช้ายังไม่จบเพียงเท่านั้น ยังมีขบวนแห่ที่งดงามตระการตาด้วย ผู้คนเริ่มหนาตาขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นหลักพัน ส่วนอีกด้านหนึ่งชาวไทยคำตี้ต่อแถวกันสรงน้ำพระสงฆ์และน้องเณรที่นั่งเก้าอี้เรียงแถวอยู่ สายน้ำคือชีวิต สายน้ำคือความบริสุทธิ์ฉ่ำเย็น เชื่อมศรัทธาสาธุชนไปยังสงฆ์ตัวแทนแห่งพระพุทธศาสนา

ขบวนแห่เปิดงานมหาซังเกนนานาชาติ 2025 อันมีสีสัน เริ่มจากประตูหน้าวัดเจดีย์ทองคำ ตรงเข้าสู่ปรัมพิธี
สายน้ำ รอยยิ้ม และความสุข พบเห็นอยู่ทั่วไปในวันมหาซังเกนไทคำตี้ สีสันวัฒนธรรมประเพณีซังเกน งดงามไม่แพ้แม่หญิงชาวไทคำตี้เลยแม้แต่น้อยขบวนแห่ที่ดูสวยงามแปลกตาเมื่อการเปิดงานอย่างเป็นทางการโดย ท่านเจ้านา เมน เสร็จเรียบร้อยแล้ว ความคึกคักบวกความสนุกที่แท้จริงก็เริ่มต้นขึ้น เจ้านา เมน เป็นประธานปล่อยลูกโป่ง กล่าวเปิดงานเทศกาลมหาซังเกนนานาชาติ 2025 อย่างเป็นทางการ
ทางวัดเจดีย์ทองคำมีก๊อกน้ำให้ผู้คนมาเติมน้ำกันได้อย่างไม่อั้นทุกคนในงานพากันสาดน้ำใส่กันสุดเหวี่ยง แต่ปราศจากความรุนแรงใดๆ หญิง ชาย ผู้สูงอายุ สื่อมวลชน แขกในงาน ต่างร่วมวงสาดน้ำกันอย่างชุ่มฉ่ำเปียกปอนสุดๆ แข่งกับอุณหภูมิแดดที่ร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ เด็กๆ และน้องเณรก็ร่วมวงสาดน้ำอย่างสนุกสนาน รอบตัวมีแต่ละอองน้ำกระจายว่อนไปทั่ว ราดรดตัวและหัวใจ เสียงหัวเราะ รอยยิ้ม ความสุข ล่องลอยอยู่ในทุกอณูอากาศ

การเล่นน้ำสงกรานต์ที่วัดเจดีย์ทองคำของชาวไทคำตี้ ดำเนินไปตลอดวันจนเย็นย่ำ ยิ่งช่วงบ่าย ประมาณด้วยสายตาน่าจะมีคนเนืองแน่นแออัดเล่นสาดน้ำกันอยู่ในวัดนับหมื่น เสียงผู้คน เสียงสาดน้ำ อื้ออึง ตื่นตาตื่นใจสมเป็นงานใหญ่ประจำปี

งานมหาซังเกนไทคำตี้ไม่ได้จัดกันเฉพาะที่วัดเจดีย์ทองคำเท่านั้น ทว่าตามหมู่บ้านหรือชุมชนใหญ่ๆ ก็ยังมีการจัดงานด้วย โดยใช้วัดสำคัญของชุมชนเป็นศูนย์กลาง บรรยากาศแต่ละแห่งงดงามด้วยสีสันทางวัฒนธรรม ภาพวิถีชีวิต ความเชื่อ ความศรัทธา ที่ยังแนบแน่นในพุทธศาสนา คละเคล้าการฉลองปีใหม่ ครอบครัว คู่รัก ญาติมิตร เดินจูงมือกันเข้าวัดเล่นสาดน้ำ ร่วมร้องเพลง ฟ้อนรำ สรงน้ำพระ รถน้ำต้นโพธิ์ สร้างความประทับใจให้เราผู้เดินทางมาจากแดนไกลอย่างมาก

รวมฟ้อนรำอย่างสนุกสนานต้อนรับปีใหม่ ในงานเทศกาลมหาซังเกนนานาชาติ ไทคำตี้ 2025วงโปงลางและนางรำจากฝั่งไทย ก็ไปร่วมสนุกในงานเทศกาลมหาซังเกนนานาชาติ 2025 ด้วยเจ้านา เมน Deputy Chief Minister แห่งรัฐอรุณาจัลประเทศ ร่วมฟ้อนรำและเล่นน้ำ ในงานเทศกาลมหาซังเกนนานาชาติ 2025จุดธูปหอมอธิษฐานขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก่อนไปสรงน้ำพระและต้นโพธิ์สรงน้ำพระพร้อมรอยยิ้มแห่งความสุขสรงน้ำพระเจดีย์ในวันมหาซังเกน ตามคติความเชื่อชาวไทคำตี้สนุกสนานกันไปตลอดวัน กับเทศกาลมหาซังเกนนานาชาติไทคำตี้ 2025 สิ่งที่เราไม่เคยรู้อีกอย่างเกี่ยวกับงานเทศกาลมหาซังเกนไทคำตี้ในอินเดีย คือที่ หมู่บ้านเทมบัง (Thembang Village : เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่สุดในรัฐอรุณาจัลประเทศ) ในเมืองน้ำทรายแห่งนี้ นอกจากจะมีการเล่นน้ำสงกรานต์แล้ว ช่วงเย็นย่ำโพล้เพล้ยังมีการลอยประทีป คล้ายการลอยกระทงในเมืองไทย (แต่ไม่มีการตัดผมและเล็บใส่ลงไปในกระทงเหมือนที่เมืองไทย) แถมยังมีการลอยโคมขึ้นสู่อากาศเพื่อเป็นพุทธบูชาอีกด้วย แสงไฟวับวามมลังเมลืองหลากสีจากทั้งกระทงประทีปและโคมลอย ปลุกให้สายน้ำและท้องฟ้าของเทมบังมีชีวิต แม้อาทิตย์จะลาลับไปนานแล้ว หนุ่มสาวไทคำตี้ที่นี่ก็ยังเล่นสาดน้ำกันไม่หยุด นัยว่าเป็นการพบปะสานสัมพันธ์อย่างเต็มที่ปีละครั้ง ลอยประทีปสู่พระแม่คงคงาในวันมหาซังเกนแม้ค่ำมืดแล้ว การเล่นสาดน้ำและสรงน้ำพระพุทธรูป สรงน้ำพระเจดีย์ ก็ยังคงดำเนินต่อไปด้วยแรงศรัทธา

หลายวันแห่งการได้มาร่วมงานเทศกาลมหาซังเกนนานาชาติ ไทคำตี้ 2025 ที่เมืองน้ำทราย ทำให้เราเข้าใจนิยามของการเฉลิมฉลองสงกรานต์ที่แท้จริง มันมิใช่เพียงการสาดน้ำให้เปียกปอนคลายร้อน หรือการขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินท้องถิ่นเท่านั้น ทว่าเราได้เห็นความศรัทธาแรงกล้าของผู้คนที่มีต่อพระพุทธศาสนา เชื่อในสิ่งที่บรรพบุรุษส่งต่อ ชาวไทคำตี้วันนี้จึงร่วมสืบสาน และอาจสะกิดเตือนให้อีกหลายประเทศที่มีงานสงกรานต์เช่นกันหันกลับมามอง ว่าแก่นแท้ของ สงกรานต์ คืออะไร จัดกันอย่างไร มันสะท้อนความงามลุ่มลึกของชุมชนไทคำตี้แห่งรัฐอรุณาจัลประเทศ อินเดียที่ไม่เหมือนอินเดีย อินเดียที่ทำให้เราผู้มาเยือนรู้สึกอุ่นใจเหมือนอยู่บ้าน

ไม่รู้เหมือนกันว่าปีหน้าจะได้กลับไปเล่นสงกรานต์ที่เมืองน้ำทรายอีกรึเปล่า แต่บอกได้เลยว่า รักมากๆ ไทคำตี้

— SPECIAL THANKS TO ALL OF MY SPONSORS —

ขอบคุณ บริษัท Nikon Sales Thailand สนับสนุนกล้อง Nikon Z8 ระดับ Professional สำหรับ Photo Trip ครั้งนี้— For more informations about Arunachal Pradesh, India Trip, please contact —

ขอบคุณเป็นพิเศษ : บริษัท RINNAYA TOUR (ริณนาญาทัวร์)

Tel. 092-895-6245 / Line : @rinnayatour

Email : sales.rinnaya@gmail.com

Website : http://www.RinnayaTour.com/