เที่ยวสุขใจ ซาลามัตชายแดนใต้ @ยะลา
ยะลา ใต้สุดแดนสยาม เมืองงามชายแดน จังหวัดเดียวในภาคใต้ที่ไม่มีทางออกทะเล แต่มีชื่อเสียงในเรื่องแหล่งท่องเที่ยวอันหลากหลายงดงาม เป็นเมืองหน้าด่านเที่ยวต่อเนื่องเข้าสู่ประเทศมาเลเซียได้สบาย
วันนี้ Shutter Explorer ขอพาพวกเราไปตระเวนเที่ยว ตระเวนกิน กันในยะลาให้สนุกไปเลย กับโครงการดีๆ ของ ททท. “ซาลามัตชายแดนใต้” จ้า
1. หมู่บ้านกาแป๊ะกอตอใน อ.เบตง ‘หมู่บ้านแห่งตำนานราชาสิยง’
“หมู่บ้านกาแป๊ะกอตอใน” ตั้งอยู่ในเขตเทศบาล ต.เบตง อ.เบตง จ.ยะลา ห่างไปทางตะวันออกเฉียงใต้ ตามเส้นทางที่จะออกไปด่านเบตง ประมาณ 4-5 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านดั้งเดิมที่มีตำนานซึ่งถูกเล่าขานโดยบรรพบุรุษ จากรุ่นสู่รุ่นมาถึงปัจจุบัน ความหมายของ “กาแป๊ะกอตอ” คำว่า “กาแป๊ะ” หมายถึง “ต้นไม้ชนิดหนึ่งดอกสีส้มคล้ายดอกเข็ม” ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่ใกล้แหล่งน้ำ ลำคลอง น้ำตก ส่วนคำว่า “กอตอ” หมายถึง “เมือง”
หมู่บ้านกาแป๊ะกอตอใน เป็นชุมชนที่ยังคงมีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม แต่ก็มีกลุ่มมุสลิมในหมู่บ้าน มีการรวมกลุ่มสตรีประกอบอาชีพสร้างรายได้เสริม ทั้งการทำผลิตภัณฑ์โอท้อป เช่น กาแฟคั่วแบบโบราณ สร้างรายได้ให้กลุ่มสตรีได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ แถมยังเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวได้ ให้คนเข้ามาชมขั้นตอนการผลิต และชิมกาแฟพันธุ์โรบัสต้ารสชาติเข้มข้นแสนอร่อย
ในหมู่บ้านมีอาคารพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็กน่ารัก นำวัตถุโบราณและข้าวของเครื่องใช้ดั้งเดิมภายในชุมชน มาจัดแสดงไว้อย่างเป็นระบบระเบียบ ทั้งถ้วยโถโอชาม อาวุธโบราณ กริช หินบดยา และชุดชาวมุสลิม เป็นต้น
ด้วยความที่หมู่บ้านนี้มีประวัติศาสตร์เกี่ยวเนื่องกับการเคยเป็นวังเก่า และมีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์จึงมีการทำ “สวนกาแฟวังเก่า” เพื่อปลูกขายปลูกกินสร้างรายได้ให้ชุมชน
เมื่อหลายร้อยปีก่อน มีผู้นำกองทัพจากประเทศมาเลเซียผ่านมาบริเวณนี้ มีพระนามว่า ราชาสิยง ทรงตั้งกองทัพแล้วสร้างกำแพงกั้นล้อมรอบกองทัพไว้ ต่อมาจึงมีการตั้งรกรากเป็นหมู่บ้านขึ้น มีการประหารนักโทษที่กระทำผิดร้ายแรง โดยก่อนการประหารจะนำนักโทษไปอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด มี 2 บ่อ คือ บ่อน้ำสำหรับราชาสิยงและครอบครัว ส่วนอีกบ่อสำหรับประชากรและทหารในกองทัพ
เมื่อชำระล้างร่างกายนักโทษสะอาดแล้ว ก็จะให้กินอาหารมื้อสุดท้ายก่อนเข้าสู่หลักประหาร โดยมีเพชรฆาต 3 คน ใช้ดาบฟันคอจนเสียชีวิต กล่าวกันว่าก่อนคืนประหารจะได้ยินเสียงโอดครวญของเหล่าวิญญาณ และน้ำจะขึ้นเต็มบ่อทุกครั้งที่จะมีการประหารนักโทษ หลักไม้ที่ใช้ประหารเป็นไม้หลุมพอ ซึ่งในปัจจุบันหลักประหารเก่าแก่นั้นไม่มีอยูแล้ว จะมีเพียงหลักไม้จำลองที่ทำขึ้นมาแทน และตั้งปักไว้ในจุดที่เป็นลานประหารเดิมให้ชมกัน
ส่วนบ่อน้ำโบราณก็เรียกกันว่า บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่มีน้ำผุดขึ้นมาเองตามธรรมชาติ และมีชาวบ้านนำไปดื่ม อาบ รักษาโรคภัยไข้เจ็บ ส่วนราชาสิยงได้ดื่มเลือดจากนักโทษประหาร จนมีเขี้ยวงอกออกจากปาก จึงถูกชาวบ้าและทหารขับไล่ออกจากหมู่บ้าน จนต้องหนีเข้าไปในฝั่งมาเลเซียแถว ๆ บาลิง และได้สิ้นพระชนม์ที่นั่น จนมีการสร้างสัญลักษณ์รูปเขี้ยวไว้ที่บาลิงในปัจจุบัน
ภายในหมู่บ้านกาแป๊ะกอตอในมี ต้นกาแฟร้อยปี ให้ชมกันด้วยจ้า
กิจกรรมสนุกๆในการเที่ยวชมหมู่บ้าน คือการไปดูกลุ่มแม่บ้านทำกาแฟคั่วหอมกรุ่นแบบโบราณ ให้เราชิมกัน
เมล็ดกาแฟดิบสีขาวนวลเมื่อคั่วให้สุกบนเตาถ่านแล้ว ก็จะกลายร่างเป็นเมล็ดกาแฟสีดำปี๊แบบนี้ล่ะ แต่ยังกินไม่ได้นะยังมีอีกหลายขั้นตอนจ้า
หลังจากนั้นก็นำน้ำตาลทรายขาวน้ำตาลทรายแดงมาคั่วบนกระทะ ให้ร้อนละลายกลายเป็นคาราเมล แล้วเทเมล็ดกาแฟลงไปคลุกเคล้าให้ทั่ว เสร็จแล้วผึ่งให้แห้ง ตำบดให้ละเอียดด้วยครกไม้โบราณ ก็พร้อมชงเสิร์ฟเป็นกาแฟดำพื้นบ้าน (โกปี้) แบบฉบับบ้านกาแป๊ะกอตอในที่ขายดิบขายดี
ของกินเด่นดังอีกอย่างที่นี่คือ “ข้าวหลามยาว” หรือ “ข้าวหลามบาซุก้า” ที่กินอร่อยอิ่มนาน แถมแปลกไม่เหมือนใครด้วย
ก่อนลาจากชุมชนกาแป๊ะกอตอใน ก็ต้องลองชิมอาหารพื้นบ้านอร่อยๆ รสมือแม่กันหน่อย มีทั้งปลาทอดขมิ้น ผัดผักกูด น้ำพริกกะปิผักเหนาะ และต้มยำปลา แหมประทับใจจริงๆ
2. ผ้าสีมายา (SIMAYA) อ.เมืองยะลา “ผ้ามัดย้อมดินมายาหน้าถ้ำ”
เลขที่ 136 หมู่ 1 บ้านหน้าถ้ำ ต.หน้าถ้ำ อ.เมืองยะลา โทร. 0-9930-87252
กลุ่มผ้าสีมายา จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2558 โดยนำดินมายาซึ่งมีอยู่มากในภูเขาถ้ำและภูเขากำปั่น มาย้อมเป็นผ้าอันสวยงาม
ชาวบ้านได้สังเกตว่าเมื่อดินชนิดนี้ติดเสื้อผ้าจะล้างออกยาก จึงคิดค้นหาวิธีนำมาย้อมผ้าได้ผ้าสีส้มอมน้ำตาลสดใสอันเป็นเอกลัษณ์ อีกทั้งยังเพิ่มเติมคุณค่าให้ผืนผ้าแพรพรรด้วยการนำลายภาพเขียนสีในถ้ำอายุกว่า 1,000 ปี และลายศิลป์ช่องลมของศาลาการเปรียญ มาพิมพ์ลงบนผืนผ้า นอกจากนี้ยังเน้นการย้อมสีธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่น อย่างใบหูกวาง และใบมังคุดอีกด้วย
สีย้อมผ้าธรรมชาติจากดินมายาหน้าถ้ำ
กิจกรรมสนุกๆ เมื่อเข้าไปเยี่ยมกลุ่มสีมายา คือเราจะได้ทดลองทำผ้ามัดย้อมฝีมือเราเอง ขั้นแรกก็ต้องนำเชือกหรือหนังสติ๊ก มามัดลงบนผืนผ้าให้เกิดลายตามต้องการ
ผ้าสีมายาลายภาพเขียนสีโบราณ 1,000 ปี
3. เขื่อนบางลาง อ.บันนังสตา “เขื่อนแห่งความชุ่มฉ่ำ และจุดชมวิวพาโนรามา”
เขื่อนบางลาง อยู่ที่บ้านบางลาง ต.เขื่อนบางลาง ห่างจากตัวจังหวัดยะลาไปตามทางหลวงหมายเลข 410 ประมาณ 50 กิโลเมตร แล้วแยกซ้ายไปอีก 12 กิโลเมตร เป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าและเขื่อนเอนกประสงค์แห่งแรกของภาคใต้ โดยสร้างกั้นแม่น้ำปัตตานี เป็นเขื่อนหินทิ้งแกนดินเหนียว สูง 85 เมตร สันเขื่อนยาว 422 เมตร นับเป็นจุดชมวิวธรรมชาติอันน่าตื่นตามาก
4. ปั้มน้ำมันธารโต ‘จุดถ่ายภาพคู่กับแงะป่า และไก่เบตง” อ.ธารโต
ความสนุกในการขับรถท่องเที่ยวจากตัวเมืองยะลาสู่อำเภอเบตง ระหว่างทางแนะนำให้แวะพักยืดเส้นยืดสายในปั้มน้ำมันธารโตกันก่อน ถ่ายภาพคู่กับรูปปั้นคู่รักเงาะป่าที่เคยอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ และยังมีรูปปั้นไก่เบตงตัวเบ้อเริ่ม ยืนโพสต์ท่าพร้อมให้เราเก็บภาพไว้เป็นที่ระลึกจ้า
5. สวนคุณชายโอ๊ค “ฟาร์มตัวอย่างที่น่าเอาเยี่ยงอย่าง” อ.ธารโต
สำหรับคนที่ชอบ ท่องเที่ยวชมวิถีเกษตร หรือ Agro-Tourism รับรองว่ามาเที่ยวยะลาแล้วจะติดใจ เพราะมีพืชผักผลไม้อุดมสมบูรณ์จริงๆ ที่อำเภอธารโตมีฟาร์มตัวอย่างสวนคุณชายโอ๊ค (ทางเข้าอยู่ติดปั๊มน้ำมันธารโต) ให้เราได้เที่ยวชมกันตลอดปี ยิ่งสำคัญถ้าตรงกับเดือนสิงหาคมก็จะมีผลไม้นานาชนิดให้ชิม โดยเฉพาะทุเรียนหมอนทองจะออกผลสุกพร้อมกินนับร้อยๆ ต้นที่สวนนี้
ความสำเร็จของสวนคุณชายโอ๊คในวันนี้มิได้เกิดโดยบังเอิญ หากแต่เกิดจากการเดินตามรอยศาสตร์พระราชา ด้วยการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง และปลูกไร่ส้มจนสำเร็จโด่งดัง
นอกจากไม้ดอกไม้ผลต่างๆ แล้ว สวนคุณชายโอ๊คยังเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจหลายชนิดไว้ด้วย ทั้งนกยูง ไก่ฟ้า แพะเนื้อ แพะนม สามารถเที่ยวชมถ่ายภาพได้อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเหล่าแพะที่เราให้อาหารได้ด้วย
กิจกรรมที่ถือว่าเป็นไฮไลท์สุดๆ ของสวนคุณชายโอ๊คคือ การชิมน้ำผึ้งชันโรง (เป็นผึ้งจิ๋วซึ่งไม่มีเหล็กในที่ก้น หรือ Stingless Bee)โดยเขาจะเปิดรังเลี้ยงตัวชันโรง ให้เห็นอาณานิคมและส่วนเก็บน้ำผึ้งของมันอย่างเต็มตา จากนั้นก็ใช้หลอดจิ้มดูดกันสดๆ ตรงนั้นเลย ถือว่าได้คุณค่าวิตามินกันไปเต็มๆ สุดยอด!
6. ศาลหลักเมืองยะลา “ศูนย์รวมใจรวมศรัทธาผู้คน”
ศาลหลักเมืองยะลา ตั้งอยู่กลางวงเวียนหน้าศาลากลางจังหวัด เป็นที่เคารพนับถือของชาวจังหวัดยะลา โดยประมาณปลายเดือนพฤษภาคมจะมีงานสมโภชนเจ้าพ่อหลักเมือง ซึ่งเป็นงานเทศกาลประจำปีสำคัญงานหนึ่งของภาคใต้ ศาลหลักเมืองยะลาถือเป็นจุดศูนย์กลางของผังเมืองรูปใยแมงมุม อันเป็นเมืองที่มีผังเมืองสวยที่สุดในประเทศไทย 7. สวนขวัญเมือง อ.เมืองยะลา “พักผ่อนหย่อนใจในสวนสวยกลางเมือง”
สวนขวัญเมือง หรือพรุบาโกย อยู่ที่ถนนเทศบาล 1 ห่างจากศาลหลักเมืองยะลาประมาณ 300 เมตร เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกายชองชาวเมือง มีทะเลสาบ ทิวสน สนามหญ้า ให้ได้ทอดกายคลายอารมณ์ อีกทั้งยังเป็นจุดที่ใช้จัดงานออกร้านต่างๆ ของจังหวัดด้วย การที่ยะลาไม่ติดทะเล แต่มีทะเลสาบจำลองในสวนนี้ก็สร้างความชุ่มชื่นหัวใจทดแทนกันได้พอสมควร
8. ร้านธารา Seafood อ.เมืองยะลา “ชิมอาหารทะเลสดจริง ในเมืองที่ไม่ติดทะเล!”
ร้านนี้โด่งดังนานกว่า 30 ปี แม้ยะลาจะไม่ติดทะเล แต่เขาก็ยังสามารถขายอาหารทะเลสดๆ ที่นำมาจากปัตตานีและนราธิวาส เมนูเด็ดของร้านธารา Seafood คือ ปลาเผาสมุนไพรอันเป็นเอกลักษณ์ หอมกลิ่นสมุนไพรสีเขียวๆ ส่วนเนื้อปลาก็หวานนุ่ม กินคู่กับน้ำจิ้มรสเด็ด นอกจากนี้ยังมีกุ้งทอดกระเทียม หอยหวาน หอยแครงและกุ้งหอยปูปลาอื่นๆ อีกเพียบ
9. ร้านเรือนนพรัตน์ อ.เมืองยะลา “อาหารไทยรสเด็ด ที่พิเศษจนห้ามพลาด!”
เลขที่ 90-92-94-96 ถนนรวมมิตร ต.สะเตง อ.เมืองยะลา 95000 โทร. 0-7372-0088, 08-6749-5543 เปิดทุกวัน เวลา 10.00-22.00 น.
เรือนนพรัตน์ เป็นร้านอาหารรับแขกบ้านแขกเมืองยะลาได้อย่างไม่อายใคร ตกแต่งร้านหรูหราในสไตล์ไทยภาคกลาง ภายในร้านติดแอร์เย็นฉ่ำ ตกแต่งด้วยวัสดุไม้พร้อมการจัดแสงให้ความรู้สึกอบอุ่นน่านั่ง โดยมีทั้งส่วนนั่งอิงหมอนสามเหลี่ยมบนพื้น ส่วนนั่งโต๊ะ และห้องส่วนตัวอย่างครบครัน
อาหารเด็ดก็มีทั้ง ห่อหมกถ้วย, ยำหัวปลี, ยำผักกูด, ต้มส้มปลากระบอก, ปลากระบอกทอดกระเทียม, ไข่เจียวปูฟู, ผักเหลียงผัดไข่, แกงคั่วหอยขม, น้ำพริกกุ้งสดและอื่นๆ อีกเพียบ แค่ได้ยินชื่อเมนูก็น้ำลายสอแล้วล่ะ
SPECIAL THANKS โครการ ‘ซาลามัตชายแดนใต้’ จ.นราธิวาส-ยะลา-ปัตตานี
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ททท สำนักงานนราธิวาส-ยะลา-ปัตตานี โทร. 0-7352-2411 , 0-7354-2345
เที่ยวสนุกถิ่นอีสานใต้ ในบุรีรัมย์
ได้มาเที่ยว บุรีรัมย์ ก็หลายครั้ง ส่วนใหญ่จะได้ดูแต่สนามฟุตบอลกับสนามแข่งรถระดับโลก แต่จริงๆ เขาน่าจะมีที่เที่ยวเจ๋งๆ อื่นอีกแน่นอน
ทริปนี้โชคดีได้เดินทางไปกับ ททท. สำนักงานบุรีรัมย์ พาไปชมความน่าสนใจของสัตว์โลกในธรรมชาติเมืองไทยที่แสนหายากอย่าง ‘นกกระเรียนพันธุ์ไทย’ หรือ Sarus Crane นั่นเอง
แหล่งเรียนรู้นี้ชื่อเต็มว่า ‘ศูนย์อนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำและนกกระเรียนพันธุ์ไทย จังหวัดบุรีรัมย์’ ต.สะแกโพรง อ.เมืองบุรีรัมย์ (ทางเข้าเดียวกับอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก) เป็นแหล่งเรียนรู้ใหม่เอี่ยมที่เพิ่งเปิดตัวได้แค่ 1 เดือน แต่ก็มีการออกแบบตัวอาคารไว้อย่างสวยงาม ดู Modern และที่สำคัญคือโปร่งโล่งสบาย อากาศถ่ายเทดี จึงประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้เยอะสมความตั้งใจของสถาปนิกครับ
ทำไมเราต้องมาดูนกกระเรียนพันธุ์ไทยกันที่นี่ด้วย? คำตอบง่ายๆ คือ นกกระเรียนพันธุ์ไทยในธรรมชาติได้สูญพันธุ์ไปกว่า 50-70 ปีแล้ว เนื่องจากมันเป็นนกขนาดใหญ่ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มฉ่ำน้ำและนาข้าว จึงตกเป็นเป้าล่าของชาวบ้าน ที่ล่าทั้งกินเนื้อและไข่ของมัน อีกทั้งที่อยู่อาศัยคือนาข้าวได้แปรสภาพไปเป็นบ้านจัดสรรหรือสิ่งก่อสร้างอื่น นกกระเรียนพันธุ์ไทยจึงสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติอย่างน่าเศร้า!
โชคดีที่มีการนำนกกระเรียนพันธุ์ไทยจากสวนสัตว์โคราช มาเพาะเลี้ยง แล้วปล่อยคืนสู่ธรมชาติของจังหวัดบุรีรัมย์ อันเป็นพื้นที่ดั้งเดิมที่เคยมีนกกระเรียนพันธุ์ไทยอาศัยอยู่ เพราะเป็นทุ่งราบฉ่ำน้ำและนาข้าว Organic หลังจากปล่อยนกกระเรียนคืนสู่ธรรมชาติไปแล้ว มันก็ค่อยๆ เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังถือว่ามีน้อย เพราะปีนึงจะออกไข่แค่ไม่กี่ฟองเองครับ
หลักฐานหนึ่งที่ยืนยันได้ดีที่สุดว่าบุรีรัมย์เคยมีนกกระเรียนพันธุ์ไทยอาศัยอยู่ ก็คือรูปถ่ายจากยุคโบราณของครอบครัวหนึ่งที่เลี้ยงนกกระเรียนไว้เป็นเพื่อน
ด้านในของศูนย์ฯ มีความโปร่งโล่งสบาย ประกอบด้วยห้องบรรยายและห้องนิทรรศการ รวมถึงทางเดินไปยังหอคอยชมวิว และมีกรงเลี้ยงนกกระเรียนพันธุ์ไทยไว้คู่หนึ่ง เพื่อศึกษาและให้ได้ชมกัน โดยนกคู่นี้เลี้ยงไว้ตั้งแต่ยังเล็ก จึงไม่สามารถปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้ เพราะมันจะหาอาหารกินเองไม่ได้ครับ
หอคอยชมวิวและส่องดูนก มองออกไปจากหอนี้จะเห็นทุ่งนาของชาวบ้านกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา
กรงเลี้ยงนกกระเรียนพันธุ์ไทยไว้ให้เราได้ชม
นกกระเรียนพันธุ์ไทยเป็นนกขนาดใหญ่ที่สง่างามมาก จุดเด่นคือบนหัวและคอมีแผ่นหนังสีแดง พร้อมด้วยจุดสีขาวที่ข้างหัว ปากยาวใช้จิกกินกุ้งหอยปูปลาสัตว์เล็กในทุ่งหรือในน้ำ ตัวผู้และตัวเมียมีขนาดใกล้เคียงกันจนยากจะแยกเพศได้ในช่วงเวลาปกติ แต่เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ตัวผู้จะเข้าเกี้ยวพาราสีตัวเมีย โดยกางปีกเต้นรำไปรอบๆ และใช้ลำคอเกี่ยวกระหวัดกันไปมาอย่างน่ารักมาก โดยมันเป็นนกผัวเดียวเมียเดียวตลอดชีวิต เมื่อจับคู่กันแล้วก็จะไม่เปลี่ยนคู่อีก จนกว่าจะตายจากกันไป น่าสรรเสริญจริงๆ ครับ!
ปัจจุบันนกกระเรียนพันธุ์ไทยของศูนย์ฯ ที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติของบุรีรัมย์แล้ว มีเหลือรอดชีวิตประมาณ 70 ตัว อาศัยอยู่ในทุ่งหญ้าฉ่ำน้ำ แนวชายป่า และนาข้าว Organic ของชาวบ้าน ปีไหนฝนตกดีอากาศไม่ร้อนจัด มันก็จะผสมพันธุ์กันเยอะหน่อย นาข้าวผืนใดมีนกไปทำรังวางไข่แล้วมาแจ้งศูนย์ฯ ก็จะมีเงินอุดหนุนช่วยดูแลให้เจ้าของนาด้วย
นกกระเรียนที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาตินั้นหากินอยู่ในระยะไกลในนาข้าวของชาวบ้าน จึงต้องใช้กล้อง Tele Scope กำลังขยายสูงๆ ส่องดูครับ
จุดที่ห้ามพลาดชมของศูนย์ฯ นี้ คือ ห้องนิทรรศการ ซึ่งบอกเล่าชีวิตและนิเวศวิทยาของนกกระเรียนพันธุ์ไทยไว้อย่างละเอียดมาก
ทางรอดหนึ่งของนกกระเรียนพันธุ์ไทย คือการคืนพื้นที่อาศัยอันสงบ ปลอดภัย และมีอาหารอุดมสมบูรณ์ให้นก จึงเกิดโครงการแปลงนาข้าวอินทรีย์กับวิถีอนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทยขึ้นที่บุรีรัมย์ ปัจจุบันมีเครือข่ายเกษตรกรผลิตข้าวอินทรีย์ แล้วปล่อยให้นกเข้ามาอาศัยได้เหมือนเพื่อน
ปัจจุบันเกิดเครือข่ายเกษตรอินทรีย์กับการอนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทย คือ กลุ่มข้าวอินทรีย์บ้านสวายสอ ต.สะแกโพรง อ.เมืองบุรีรัมย์, กลุ่มข้าวอินทรีย์บ้านเกียรติเจริญ ต.โคกม้า อ.ประโคนชัย และกลุ่มโครงการระบบส่งสเริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ต.สะแกซำ อ.เมืองบุรีรัมย์ ร่วมกันผลิตข้าวแบรนด์ ‘SARUS RICE’ หรือ ‘ข้าวสารัช’ ข้าวหอมนกกระเรียน ซึ่งเป็นข้าว Organic แท้ๆ
หลังจากช่วงกลางวันเราได้ไปเที่ยวศูนย์อนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทยสุดน่ารักกันมาแล้ว ยามค่ำวันเสาร์-อาทิตย์ในตัวเมืองบุรีรัมย์ อย่าพลาดเดินช้อปปิ้งกันที่ ‘ถนนคนเดินเซาะกราว’ เป็นถนนคนเดินยาวเหยียดกว่า 1 กิโลเมตร กลางเมือง ที่รวมเอาของกินอร่อยๆ ผักสดผลไม้ ของใช้ และผ้าทอพื้นเมืองสวยๆ มาไว้ในที่เดียว แค่เตรียมตัวกับเงินไปพอ ฮาฮาฮา
อีกหนึ่ง Signature ของบุรีรัมย์ ซึ่งเรายังไม่เห็นว่ามีที่ไหนเหมือนก็คือ ‘ลูกชิ้นยืนกิน’ หน้าสถานีรถไฟบุรีรัมย์
ลูกชิ้นยืนกินมีขายตั้งแต่เช้าจดเย็น เป็นรถเข็นหลายสิบเจ้ามาจอดเรียงต่อกันตรงถนนทางเข้าหน้าสถานีรถไฟบุรีรัมย์ แต่ละเจ้ามีลูกชิ้นนานาชนิดละลานตาต่างกันไป รวมถึงผักสดไว้กินแกล้มด้วย ความเจ๋งคืนน้ำจิ้มแต่ละร้านมีสูตรเรียกลูกค้าต่างกัน เวลากินก็ไปหยิบมาจิ้มน้ำจิ้ม ยืนกินหน้าร้านเลยจนกว่าจะอิ่ม พอจะจ่ายตังค์ก็นับไม้ (ไม้ละ 3 บาท) สุดยอดไปเลย! หรือถ้าจะซื้อกลับบ้านก็ได้ไม่ว่ากันครับ
แนะนำอีกร้านก่อนกลับบ้านคือ ‘เป็ดย่างคูเมือง’ อาหารขึ้นชื่อที่แขกไปใครมาก็นิยมแวะชิม ลักษณะเป็นเป็ดย่างตัวเล็กพอดีๆ ย่างมาเนื้อแห้งกรอบนอกนุ่มใน กินคู่กับน้ำจิ้มรสเผ็ดอมเปรี้ยวซอสมะขาม
แซ่บอีหลีเด้อ!
เป็ดย่างคูเมือง
ส้มตำรสเด็ด สั่งได้ตามชอบ
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานบุรีรัมย์ โทร. 0-4463-4722-3
https://www.facebook.com/TATBuriram8/
https://i-san.tourismthailand.org
เที่ยวสุรินทร์ ถิ่นข้าว Organic ไทย
ไปเที่ยวสุรินทร์มาก็หลายครั้ง เพราะหลงใหลในชื่อเสียงของ ‘ข้าวหอมมะลิสุรินทร์’ ซึ่งทุกวันนี้มีปลูกไม่น้อยกว่า 3 ล้านไร่ที่นี่ อีกทั้งยังเป็นจังหวัดผู้บุกเบิกการปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ด้วย จึงมีคุณภาพดีเด่นระดับโลก ส่งออกแบบเทน้ำเทท่า ความเจ๋งของเขาคือข้าวหุงขึ้นหม้อ เมล็ดสวย และมีกลิ่นหอมหวนชวนรับประทานสมชื่อจริงๆ คงเพราะดินของสุรินทร์เป็นดินภูเขาไฟ อันเป็นส่วนหนึ่งของทุ่งกุลาร้องไห้ จึงอุดมด้วยแร่ธาตุต่างๆ เพียบเรามาเที่ยวสุรินทร์รอบนี้ กับ ททท. ได้เปิดมุมมองใหม่กันที่ ‘หอมมะลิ Factory’ ร้านกาแฟออร์แกนิคที่ต่อยอดมากจากโรงสีข้าว ตกแต่งสไตล์ Factory มีบริการเครื่องดื่มร้อน-เย็น อาหาร และเบเกอร์รี่ต่างๆ
หอมมะลิ Factory เลขที่ 84 หมู่ 6 ถนนปัทมานนท์ ต.จอมพระ อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ / เปิดเวลา 7.30-18.00 น. / โทร. 08-7255-5657, 08-8884-5252
ภายในจัดเป็นบรรยากาศแบบ Chill Out Factory ที่น่านั่งชิลกันนานๆ รับรองถูกใจวัยรุ่นครับ
มีมุมช้อปปิ้งสินค้าข้าวหอมมะลิตราช้างชูรวงข้าว ในรูปแบบแพ็กเกจเก๋ๆ ต่างกันมากมาย
กินข้าว Organic แล้วสบายใจ ปลอดภัยต่อสุขภาพครับ
อีกหนึ่งไฮไลท์ของ หอมมะลิ Factory คือ ‘กาแฟข้าวหอมมะลิ’ คอกาแฟทุกคนห้ามพลาด เพราะกลิ่นหอมหวนจริงๆ รสชาติก็ไม่เข้มเกินไป ถือว่ามีความละมุนเป็นเลิศ
อีกหนึ่งสถานที่เที่ยว ซึ่งสะท้อนวิถีชีวิตการกินอยู่ และความผูกพันกับเกษตรกรรมของคนสุรินทร์ ก็คือ ‘ตลาดเขียว’ ซึ่งมีเฉพาะช่วงเช้าวันเสาร์-อาทิตย์ ในตัวเมืองสุรินทร์เท่านั้นครับ
จุดเด่นของตลาดเขียว คือการนำสินค้าเกษตรพวกพืชผักผลไม้พื้นบ้านนานาชนิด มาจำหน่ายกันสดๆ ในราคาไม่แพง นอกจากนี้ยังมีของกินพื้นบ้าน ข้าวหอมมะลิ ของใช้และผ้าไหมสุรินทร์ให้เลือกกันอย่างจุใจ
ใครขยันตื่นเช้าก็จะได้สัมผัสความคึกคักแบบนี้ล่ะจ้า
หนึ่งในเมนูอาหารท้องถิ่นห้ามพลาดของสุรินทร์ก็คือ ‘อังแก๊บบ๊อบ’ แม้ชื่อจะคล้ายอาหารฝรั่ง แต่แท้จริงแล้วมันคือเนื้อกบสับคลุกเคล้าสมุนไพรและเครื่องแกง บรรจงยัดใส่ไว้ในตัวกบอีกทีหนึ่ง แล้วนำไปย่างไฟให้หอมหวนชวนรับประทาน ถือเป็น Signature ของสุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่เขาล่ะ!!!
เราลองกินไปคำนึง ขอบอกเลยว่า อังแก๊บบ๊อบรสชาติเหมือนไส้อั่วเชียงใหม่เปี๊ยบ!ข้าวจี่ตลาดเขียว
ไก่ย่างตลาดเขียว
รอยยิ้มและเสียงพิณอันไพเราะของพ่อใหญ่ในตลาดเขียวยามเช้า
ผ้าไหมทอมือทอเครื่องหลายเนื้อหลายราคา มีให้เลือกกันละลานตาในตลาดเขียวครับ
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ททท สำนักงานสุรินทร์ โทร. 0-4451-4447-8
https://www.facebook.com/tatsurin
https://i-san.tourismthailand.org
บ้านท่าสว่าง วิจิตรศิลป์แพรพรรณแห่งสยาม จ.สุรินทร์
“กลุ่มทอผ้ายกทอง จันทร์โสมา” แห่งบ้านท่าสว่าง ตำบลท่าสว่าง อำเภอเมืองฯ จังหวัดสุรินทร์ เป็นหมู่อาคารเรือนไทยหลายหลังในสวนสวยแมกไม้ใหญ่ร่มรื่น ที่นี่มีทั้งส่วนอาคารพิพิธภัณฑ์ของสะสม ของท่านอาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย แกนนำกลุ่มจันทร์โสมา ที่มีจุดเด่นในการอนุรักษ์และฟื้นฟูผ้ายกทองชั้นสูงแบบราชสำนักไทยโบราณ โดยการนำใยไหมเส้นเล็กละเอียด (ไหมน้อย) มาย้อมสีธรรมชาติ ด้วยเทคนิคโบราณผสานกับการออกแบบลวดลายที่วิจิตรเหมือนในอดีต เช่น ลายเทพพนม ลายหิ่งห้อยชมสวน ลายก้านขดเต้นรำ ลายครุฑยุดนาค ฯลฯ ผสานกับลายผ้านุ่งที่คนสุรินทร์นิยมอยู่แล้ว คือ ลายอัมปรม ลายสาคู ลายสมอ ลายละเบิก ลายลูกแก้ว มีการใช้เส้นไหมกะไหล่ทองปั่นควบกับเส้นไหม ถักทอเป็นผ้าไหมยกทองอันวิจิตรงดงามอย่างเหลือเชื่อ
ยิ่งกว่านั้นบ้านท่าสว่างยังได้รับการสนับสนุนจากสำนักพระราชวัง และมูลนิธิในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระพันปีหลวง จนได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ทอผ้าไหมมอบให้กับผู้นำเอเปค เมื่อปี พ.ศ. 2546 บ้านท่าสว่างจึงเป็นที่รู้จักนับแต่นั้น
แม่เฒ่าใช้เส้นใยจากใบไม้มาเตรียมไว้มัดเส้นไหม เตรียมลงย้อมในหม้อสีที่ต้มไว้เดือดๆ โดยย้อมทีละมัดๆ อย่างประณีต
สีธรรมชาติจากพรรณไม้ต่างๆ นำมาจากมใบไม้, เปลือกไม้, แก่นไม้ แช่น้ำทิ้งไว้ค้างคืน แล้วนำมาเติมน้ำต้มให้เดือดควันฉุย จากนั้นนำมัดเส้นไหมหรือฝ้ายมาย้อมหลายครั้ง จนสีติดดี ได้สีเข้มตามต้องการ นี่คือเทคนิคการย้อมแบบร้อน
จากทางเข้าด้านหน้า เราค่อยๆ เดินชมนกชมไม้เข้ามาสู่โรงย้อมผ้าสีธรรมชาติ ที่มีชาวบ้านกำลังช่วยกันนำเส้นไหมลงย้อมในหม้อบนเตาฟืนควันฉุย หม้อสีครามให้สีน้ำเงินสดใส หม้อน้ำต้มครั่งได้สีแดงชาติเตะตา หม้อน้ำจากต้นเขให้สีเหลืองแจ่มกระจ่างตา สีส้มได้จากดอกคำแสด สีเขียวมะกอกได้จากแก่นขนุน สีดำได้จากผลมะเกลือ สีน้ำตาลได้จากต้นหมาก และสีม่วงได้จากต้นหว้า เป็นต้น เมื่อนำผืนผ้าสีธรรมชาติมาทอผสมผสานกับไหมยกทองโบราณ ด้วยลวดลายที่มีความพิเศษของ อาจารย์วีรธรรม แล้ว ก็ยิ่งทำให้ผ้าไหมบ้านท่าสว่างกลายเป็นแพรพรรณอันเล่อค่าจนไม่น่าเชื่อ
พอย้อมสีเส้นไหมเสร็จแล้ว ก็นำมาตากให้แห้งในที่ร่มลมโกรก
หม้อหมักคราม ต้องหมั่นดูแลเพื่อไม่ให้ครามเน่า ชาวบ้านเรียกว่าครามยังมีชีวิต ถ้าครามเน่าเสีย หรือครามตายแล้ว จะเรียกว่า ครามหนีไปแล้ว!
เสน่ห์ของสีธรรมชาติ คือ Colour Variation เป็นความหลากหลาย ความต่างของสีที่ไม่เท่ากันเลยในการย้อมแต่ละครั้ง ได้สีเข้มอ่อนตามการย้อม การผสม และวัสดุธรรมชาติที่ก่อกำเนิดสี ยิ่งใช้ยิ่งสวย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาก
จากเรือนย้อมผ้า เราสาวเท้าเข้าไปที่เรือนทอผ้า และก็ต้องตื่นตาอีกครั้งกับกี่ทอผ้าขนาดยักษ์ของที่นี่ เพราะกี่ทอผ้าแต่ละอันของบ้านท่าสว่างนั้นมีความสูงกว่า 2-3 เมตร แต่ละกี่ต้องใช้คนช่วยกันทอ 4-5 คน เพราะผ้าไหมบ้านท่าสว่างมีมากถึง 1,416 ตะกอ จึงต้องอาศัยทักษะและทีมเวิร์กขั้นสูง เพราะต้องมีคนช่วยยกตะกอ 2-3 คน คนสอดไม้ 1 คน และคนทออีก 1คน เป็นความซับซ้อนทางด้านเทคนิคการทอ จนได้ผลงานเพียงวันละ 6-7 เซนติเมตรเท่านั้น
ช่างทอซึ่งเป็นคุณป้าคุณยายเล่าให้ฟังว่า ผ้าลายพิสดารที่อยู่บนกี่นี้ล้วนมีคนสั่งทอทั้งสิ้น ผืนหนึ่งยาว 3 เมตร ราคาก็ไม่ต่ำกว่า 1.5-2.5 แสนบาท และต้องช่วยกันทุ่มเทแรงกายแรงใจทอนานหลายเดือนเลยทีเดียว เราสอบถามท่านว่ามีลูกหลานรุ่นใหม่มาร่ำเรียนสืบทอดวิชาทอผ้าบ้างหรือไม่? คุณป้ามองหน้ากันแล้วยิ้ม ตอบว่า “แทบไม่มีคนรุ่นใหม่มาสืบทอดวิชาทอผ้าเลย! สักวันมันคงสูญหายแน่นอน” เรื่องนี้จะจริงหรือไม่ เราไม่แน่ใจ แต่คงเป็นการบ้านที่ผู้รับผิดชอบต้องช่วยกันอนุรักษ์สืบสานมรดกของชาติแขนงนี้ไว้ให้ได้
กี่ทอผ้ายักษ์แห่งบ้านท่าสว่าง แต่ละอันสูงกว่า 3 เมตร ไม่ต่างจากตึก 3 ชั้น ที่มีทั้งชั้นล่าง ชั้นกลาง ชั้นบน ใช้ช่างทอที่มีความชำนาญสูงช่วยกันกี่ละไม่ต่ำกว่า 4-5 คน นับเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านขนานแท้ ที่สร้างความซับซ้อนบนผืนผ้าขึ้นมาได้
ลวดลายอันสวยงาม สลับซับซ้อน และวิจิตรพิสดาร ของผ้าไหมยกดิ้นทองบ้านท่าสว่าง ส่วนใหญ่จะเป็นการทำตามออร์เดอร์ โดยเฉพาะส่งเข้าวัง
พอเดินชมสาธิตวิธีการทอผ้าไหมยกดิ้นทองในโรงทอแล้ว ก็ได้เวลาออกมาเดินช้อปปิ้งผ้าไหมบ้านท่าสว่าง อุดหนุนชาวบ้าน
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ททท สำนักงานสุรินทร์ โทร. 0-4451-4447-8
https://www.facebook.com/tatsurin
https://i-san.tourismthailand.org
กลุ่มทอผ้ายกทองจันทร์โสมา บ้านท่าสว่าง โทร. 0-4414-0015 / บ้านท่าสว่าง อยู่ในอำเภอเมืองจังหวัดสุรินทร์ โดยอยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางเหนือ 10 กม. ใช้ถนนสายเกาะลอย-เมืองลิง (ทางหลวงชนบท สร.4026) จากตัวเมืองสุรินทร์ เป็นถนนลาดยางตลอด
ดื่มด่ำวิถีอีสานใต้ ภูมิปัญญาทอผ้าไหมบ้านสวาย จ.สุรินทร์
ถ้าเปรียบสุรินทร์เป็นถิ่นผ้าไหมงาม “บ้านสวาย” ก็เป็นหนึ่งในชุมชนที่สืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมการทอผ้ามายาวนานหลายร้อยปี
บ้านสวายมีชื่อเสียงด้านการผลิตผ้าไหมที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของสุรินทร์ จุดเด่นอยู่ที่กรรมวิธีการทอที่สลับซับซ้อนมีความยาก ต้องใช้ความสามารถ และอาศัยทักษะความชำนาญในการทอ โดยเฉพาะการทอผ้าไหมมัดหมี่ยกดอก ซึ่งทำให้ผ้ามีเนื้อแน่นใส่ได้ทนทาน ทว่ายังความนุ่มพลิ้วไหวและระบายอากาศได้ดีเยี่ยม กว่า 70 เปอร์เซนต์ ของคนในชุมชนนี้ ยังคงสืบสานวัฒนธรรมการทอผ้า และรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มหัตถกรรมสตรีทอผ้าไหมบ้านสวาย เพื่อพัฒนางานแขนงนี้มิให้สูญหาย
ท่านผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานสุรินทร์ ถ่ายภาพเป็นที่ระลึกคู่กับนางสาวสุรินทร์ ปี 2562 ที่บ้านสวายตอนพาเราไปเที่ยว
ปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่า มีลายผ้าไหมหลายร้อยลายเกิดขึ้นในตำบลสวายทั้ง 14 หมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นลายต่างๆ ที่บรรพบุรุษคิดค้นขึ้น หรือลายที่ชาวบ้านคิดใหม่จนกลายเป็นเอกลักษณ์ในวันนี้ อาทิ ลายช้าง, ลายนกยูง, ลายนาคี, ทำให้ชุมชนบ้านสวายโด่งดังเป็นที่รู้จัก มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมตลอดปี
การเที่ยวชมวิถีภูมิปัญญาผ้าไหมบ้านสวาย เขาจะมีการแบ่งเป็นฐานๆ ไว้อย่างครบวงจร ตั้งแต่การปลูกต้นหม่อน เลี้ยงหนอนไหม ต้มไหมสาวเส้นไหม และทอผ้าไหม รวมไปถึงการช้อปปิ้งปิดท้าย หรือจะอยู่กินอาหารพื้นบ้านในชุมชนก็ดีไม่น้อย เพราะจะได้สัมผัสวิถีคนบ้านสวายอย่างลึกซึ้ง
จุดเริ่มต้นของวงจรคือหนอนไหม ที่กำลังพยายามถักทอเส้นใยสีเหลืองอร่ามห่มคลุมตัวเองไว้ เพื่อเข้าระยะดักแด้
หนอนไหมที่ฟักออกจากดักแด้กลายเป็นผีเสื้อไหม ตัวผู้และตัวเมียก็จะมาผสมพันธุ์กันด้วยความรัก แล้วเกิดไข่สีขาวฟองเล็กๆ มากมาย เพื่อเพาะเป็นหนอนไหมรุ่นต่อไปไม่รู้จบ
รังไหมที่มีตัวหนอนไหมหรือดักแด้ไหมอยู่ภายใน ก่อนนำลงต้มน้ำร้อนเพื่อสาวเส้นไหมออกมา ใช้ถักทอเป็นผ้าไหมต่อไป
การสาวเส้นไหมจากรังไหมในน้ำเดือด ชาวบ้านจะทำกันเฉพาะวันที่ไม่ใช่วันพระเท่านั้น
นักท่องเที่ยวกำลังเรียนรู้วิธีการสาวเส้นไหมจากรังไหมต้มในน้ำเดือด
เมื่อสาวเส้นไหมไปหมดแล้ว สิ่งที่เหลืออยู่ในรังไหมก็คือดักแด้หรือหนอนไหมไร้ชีวิต ซึ่งกลายเป็นอาหารโปรตีนสูงบำรุงสุขภาพแบบฉบับพื้นบ้านมาช้านาน เราทดลองชิมแล้ว รสชาติเหมือนกินข้าวโพดต้มเลยล่ะ
ปั่นเส้นไหมสีทองอร่ามตามธรรมชาติที่ตากแห้งแล้วไว้เป็นม้วน เพื่อเตรียมปั่นลงกระสวยไว้ให้ช่างทอผ้าต่อไป
ชาวบ้านสวายช่วยกันเก็บรังไหมที่มีตัวดักแด้อยู่ภายใน เตรียมนำไปต้มเพื่อสาวเส้นไหมออกมา
หนูน้อยน่ารักมาช่วยเป็นกำลังใจให้คุณยายในการทอผ้าไหม
เส้นไหมดิบตากแห้งที่ผ่านการต้มและสาวไหมแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการปั่นแยกเส้นไม่ให้พันกันเพื่อเตรียมลงกระสวย
ของจริงของแท้ เกิดจากวิถีพ่อแม่พาทำ เรียนรู้วิธีการทอผ้าไหมมาหลายชั่วอายุคนที่บ้านสวาย จ.สุรินทร์
เอกลักษณ์ของผ้าไหมสุรินทร์ คือเนื้อผ้าไหมบางเบา อ่อนนุ่ม พลิ้วไหว ระบายอากาศดี ใส่แล้วไม่ระคายตัว ด้วยว่าอากาศในแถบอีสานใต้ค่อนข้างร้อนจัด ผ้าไหมสุรินทร์จึงใส่สบาย เข้ากับภูมิอากาศภูมิประเทศได้ยอดเยี่ยม
เส้นไหมมัดหมี่ คือเทคนิคการทออันลือชื่อของบ้านสวาย
ชมขั้นตอนการทอผ้าไหมจนครบวงจรแล้ว สุดท้ายก็ต้องไปช้อปปิ้งกันที่ ‘ตลาดใต้ถุนเรือน’ ของบ้านสวาย ตื่นตาตื่นใจกับผ้าไหมแพรพรรณที่ละเอียดประณีตอันเกิดจากความอุตสาหะและความรักของชาวบ้านที่นี่ล่ะ
ผ้าไหมที่นี่มีขายตั้งแต่ราคาหลักพันไปจนถึงหลักหมื่นหลักแสน ขอร้องว่ากรุณาอย่าต่อราคานะครับ เพราะได้เห็นกันมาแล้วว่า กว่าจะได้แต่ละผืนต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจใช้เวลานานแค่ไหน!
หนึ่งในสุดยอดผ้าสุรินทร์ลายโบราณของบ้านสวาย คือ ผ้าโฮล และผ้าอัมปรม ซึ่งมีการผลิตน้อย ต้องรีบจอง ใครได้ไปครอบครองขอให้ภูมิใจ เพราะสีและลวดลายเป็นแบบสุรินทร์ดั้งเดิม ใส่แล้วไม่อายใครแน่นอน
กิจกรรมสนุกๆ ของนักท่องเที่ยวที่ได้มาเยือนบ้านสวาย ก็คือ การทำผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติด้วยฝีมือเราเอง
ขั้นแรกก็ต้องเอาหนังสติ๊กมามัดเป็นปมบนผ้าไหมสีขาวล้วนก่อน มัดปมต่างกันก็จะได้ลายต่างกัน แล้วแต่จินตนาการ
จากนั้นก็นำผ้าไปชุบน้ำเปล่า บิดพอหมาดๆ แล้วนำลงจุ่มสีธรรมชาติที่เตรียมไว้ จุ่มได้หลายครั้ง ยิ่งจุ่มเยอะสียิ่งเข้ม
ท่าน ผอ. ททท. สำนักงานจังหวัดสุรินทร์ กับนางสาวสุรินทร์ ปี 2562 ช่วยกันต้มผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติบนเตา เพื่อให้สีติดดีขึ้น
จากนั้นก็แกะหนังสติ๊กออกจากผ้ามัดย้อม นำไปตากให้แห้ง ก็จะได้ผลงานผ้าชิ้นเดียวในโลกฝีมือเราเองไงล่ะ ฮาฮาฮา
ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติฝีมือเราเอง เป็นของที่ระลึกจากบ้านสวายที่จะไม่มีวันลืม
มื้อเที่ยงวันนั้นที่บ้านสวาย เราได้ชิมอาหารพื้นบ้านแบบง่ายๆ แต่รสชาติเกินตัว มีทั้งแกงกล้วย ลาบหมู น้ำพริกปลาทู ต้มส้มปลา และไข่เจียวยัดไส้
ขอบอกว่ามาเที่ยวที่นี่แค่วันเดียวก็ประทับใจแล้ว
บ้ายบาย บ้านสวาย I LOVE YOU
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ททท สำนักงานสุรินทร์ โทร. 0-4451-4447-8
https://www.facebook.com/tatsurin
https://i-san.tourismthailand.org
ศูนย์การเรียนรู้ไหมย้อมสีธรรมชาติ โดยครูผ้าแม่สำเนียง โทร. 044546656 / กลุ่มทอผ้าอุตมะไหมไทย โทร. 08-4959-9747 / ท่องเที่ยวชุมชน อบต. บ้านสวาย โทร. 0-4445-46595, 08-6249-5683
แซตอม Organic Farm สุรินทร์ กินเที่ยวลดเลี้ยวในธรรมชาติ
แซตอม ออร์แกนิค ฟาร์ม ตั้งอยู่ที่บ้านเมืองลีง อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ ที่ได้มาตรฐาน คำว่า “แซตอม” เป็นภาษาของชนพื้นเมืองชาว กวย หรือ กูย ในจังหวัดสุรินทร์ แปลว่า นาที่ตั้งอยู่ริมห้วย บริเวณทุ่งแซตอมเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำลำชี อุดมสมบูรณ์เหมาะสำหรับการเพาะปลูก จึงมีหลักฐานการเข้ามาอยู่อาศัยของมนุษย์ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ชุมชน ชาวแซตอม ในอดีตมีอาชีพเกษตรกรรมที่อยู่บนพื้นฐานของ การเกษตรอินทรีย์ จนมาระยะหนึ่งมีการนำปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้าและยาฆ่าแมลงมาใช้ในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ปัจจุบันพบว่าวิธีการดังกล่าวสร้าผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบต่อทั้ง กษตรกรและผู้บริโภค “แซตอม ออร์แกนิค ฟาร์ม” จึงเริ่มรื้อฟื้นวิธีการผลิตแบบอินทรีย์ดั้งเดิมขึ้นมา ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2557 จนปัจจุบัน แซตอม ออร์แกนิค ฟาร์ม ได้พัฒนาการก่อตั้ง จนกลายเป็น วิสาหกิจชุมชน และมีการรวมกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ โดยเน้นไปที่ข้าวพื้นบ้านและข้าวเพื่อสุขภาพ เป็นหลัก
กิจกรรมในการท่องเที่ยวสัมผัสแซตอม ออร์แกนิค ฟาร์ม นั้นมีหลากหลาย แต่เราขอเริ่มด้วยกิจกรรมผจญภัยในลำชี ที่ยังคงมีความเป็นธรรมชาติมาก คือ การพายเรือคายัค ระยะทางตั้งแต่ 1.5-3 กิโลเมตร แล้วแต่ใครมีเวลามากน้อย ก่อนลงพายเรือจริง ก็ต้องมีการซักซ้อม และใส่เสื้อชูชีพ พร้อมหมวกกันน็อกเพื่อความปลอดภัยครับ
เริ่มหันหัวเรือคายัคออกสู่ลำน้ำชี ก็ต้องร้องว้าว เพราะเบื้องหน้ามีแต่ฟ้าใสกับแมกไม้สีเขียว ที่เรือของเราค่อยๆ ล่องไปตามกระแสน้ำ จึงไม่ต้องออกแรงพายกันมาก ชิลสุดๆ ไปเลยนิ
สองฟากฝั่งลำชีแทบไม่มีบ้านเรือนผู้คน มีแต่แมกไม้น้อยใหญ่เขียวครึ้มแน่นทึบราวกับปราการธรรมชาติ เจ้าบ้านเล่าให้ฟังว่า เหตุที่ไม่มีบ้านเรือนอยู่ริมน้ำเลย เพราะในฤดูน้ำหลากน้ำจะเอ่อท่วมขึ้นสูง ผู้คนจึงต้องไปปลูกบ้านให้อยู่ไกลจากตลิ่งพอสมควร
ต้นยางนาขนาดยักษ์สูงหลายสิบเมตรยืนตระหง่านอยู่ริมลำชี ให้เราได้ชื่นชมในวันฟ้าใส
การพายเรือคายัคจริงๆ แล้วคือการออกกำลังกายชั้นเยี่ยม แถมยังเป็นพาหนะรักษ์โลกด้วย เพราะเดินทางได้อย่างเงียบเชียบ ไม่รบกวนธรรมชาติเลย
ระหว่างพายเรือคายัคจะมีจุดแวะพักให้ขึ้นไปเดินเที่ยวเดินชมหลายจุด ที่เราประทับใจสุดคือ ป่าชุมชน เนื้อที่หลายร้อยไร่ ซึ่งเคยมีสภาพเป็นเพียงผืนดินโล่งๆ ไร้พืชพรรณเมื่อหลายสิบปีก่อน ทว่าเมื่อมีการดูแลใส่ใจนำพันธุ์ไม่ต่างๆ เข้ามาปลูก ไม่นานนักสภาพป่าก็เริ่มกลับมา นกกาและสัตว์เล็กสัตว์น้อยก็เริ่มหวนคืน โดยเฉพาะชาวบ้านที่ได้เข้ามาเก็บเห็ดเก็บหน่อไม้และฟืนต่างๆ ไปใช้งาน เกิดความผูกพันระหว่างธรรมชาติและคนอย่างยั่งยืนตราบที่เราดูแลกันและกัน
เห็ดป่างอกงามขึ้นในยามฤดูฝน ชนิดนี้จะกินได้ไม่ได้ ต้องไปถามชาวบ้านดูก่อน
ผลไม้ป่าแสนอร่อยรสเปรี้ยวอมหวาน มีให้ชิมกันตามธรรมชาติ ไม่ต้องเสียเงินซื้อ
เที่ยงแล้ว หลังจากพายเรือคายัคเสร็จ เราก็นั่งรถกลับมายังศูนย์การเรียนรู้ที่แซตอม ออร์แกนิค ฟาร์ม มื้อนี้ต้องจัดหนักเพราะเราใช้แรงพายเรือไปเยอะ วันนี้ได้ลิ้มรสอาหารพื้นบ้านง่ายๆ แต่อร่อยเหลือล้น นั่งกินไปเหม่อมองดูทุ่งนาออร์แกนิคไปด้วย แหม ช่างมีความสุขเหลือเกิน
ชุดอาหารเที่ยงง่ายๆ แต่ดูดีที่บ้านแซตอม เสิร์ฟมาในกระด้งใบน้อย ประกอบด้วยข้าวหอมมะลินิลสุรินทร์หุงมาร้อนๆ กินคู่กับไข่เจียว ปลาทูทอด น้ำพริกกะปิ ลาบหมู และปิดท้ายด้วยขนมดอกลำเจียกแสนอร่อย
อิ่มท้องกันแล้ว ก็ได้เวลามาเติมอาหารสมองกับพี่แทน ประธานกลุ่มแซตอมที่อธิบายให้เราฟังถึงพันธุ์ข้าวท้องถิ่นต่างๆ ของแซตอม อาทิ ข้าวผกาอำปึล (ข้าวดอกมะขาม), ข้าวกล้องมะลินิลสุรินทร์, ข้าวมะลิโกเมนสุรินทร์ และ ข้าวไตรจัสมิน เป็นต้น ข้าวพันธุ์พื้นบ้านที่ปลูกแบบออร์แกนิคเหล่านี้ นอกจากจะกินอร่อยหุงขึ้นหม้อแล้ว ยังอิ่มนานเพราะมันจะค่อยๆ ย่อยสลายในกระเพาะเรา จึงช่วยป้องกันโรคเบาหวานได้ดี มีสารต้านอนุมูลอิสระทำให้ใบหน้าอ่อนเยาว์ และข้าวบางชนิดกินแล้วยังช่วยให้อารมณ์ดีด้วย มหัศจรรย์มากๆ
ข้าวผกาอำปึล หรือ ข้าวดอกมะขาม เป็นสายพันธุ์ท้องถิ่นดั้งเดิมของจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งทุกวันนี้มีปลูกไม่มาก ผลผลิตน้อย ลูกค้าสั่งจองแย่งกันจนไม่พอขาย
อย่าลืมซื้อข้าวออร์แกนิคเพื่อสุขภาพของแซตอม ไปฝากคนที่เรารักด้วยล่ะ
จากนั้นก็ได้เวลาเดินชมทุ่งข้าวออร์แกนิคเขียวสดเย็นตา ลัดเลาะผ่านคันนาร่มรื่นที่มีแนวไม้ให้บังแดด สู่กระท่อมกลางนาอันเป็นฐานเรียนรู้เกี่ยวกับการทำ RiceWine ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นคนสุรินทร์มาเนิ่นนาน
ข้าวผกาอำปึล กำลังชูช่อออกดอก อีกไม่นานในเดือนพฤศจิกายนก็คงเก็บเกี่ยวได้
ใครไม่เคยเห็นดอกข้าวสีขาวน้อยๆ น่ารัก มาชมกันได้ที่นี่เลยจ้า
นอกจากข้าวออร์แกนิคแท้ๆ ที่ดีต่อสุขภาพแล้ว ที่แซตอมยังมีการผลิต RiceWine หลายแบบ ซึ่งมีตั้งแต่รสชาติอ่อนๆ ไปจนถึงดีกรีเข้มข้นแล้วแต่ชอบ บางชนิดมีรสและกลิ่นอ่อนๆ คล้ายน้ำข้าวหมาก ส่วนที่มีแอลกอฮอล์เข้มขึ้นอีกนิดรสชาติก็จะคล้ายเหล้าสาเกญี่ปุ่น แต่ของที่แซตอมมีสมุนไพรหลายสิบชนิดผสมอยู่ด้วย จึงช่วยให้เลือดลมในร่างกายไหลเวียนดี ถ้าอยากลองชิมต้องมาที่นี่เท่านั้น ยังไม่มีส่งไปขายที่อื่นครับ
สมุนไพรนานาชนิดที่ใช้ในการบ่มหมัก RiceWine ล้วนเป็นพืชพรรณที่หาได้จากธรรมชาติของท้องถิ่นทั้งนั้น
ชิมไวน์ข้าวกันพอหอมปากหอมคอแล้ว ก็ได้เวลานั่งฟังเพลงจากวงกันตรึมแท้ๆ แหม เข้าถึงจิตวิญญาณคนสุรินทร์ได้ดีเหลือเกิน
เวลาช่างรวดเร็ว ทำให้เราต้องกลับบ้านแล้ว แต่ความประทับใจ รอยยิ้ม และน้ำใจไมตรีของคนที่ แซตอม ยังตราตรึงอยู่ในใจเราตลอดไป
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ททท สำนักงานสุรินทร์ โทร. 0-4451-4447-8
https://www.facebook.com/tatsurin
https://i-san.tourismthailand.org
www.satomfarm.com