20 ที่เที่ยวห้ามพลาด อรุณาจัล-อัสสัม (Episode 2)

(11) วัด Tawang Monastery เมืองตาวัง

ที่สุดของการเดินทางไปเที่ยวรัฐอรุณาจัลประเทศ ต้องยกให้ ตาวัง” (Tawang) เมืองแห่งกลิ่นอายทิเบตและขุนเขาสูงกว่า 3,000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งในอดีตคือส่วนหนึ่งของอาณาจักรทิเบต ทว่าได้ผนวกรวมเข้ากับอินเดียเมื่อปี ค.ศ.​1951 (หลังอินเดียได้รับเอกจากอังกฤษ) ในขณะที่จีนก็ยังอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนนี้ ตาวังจึงกลายเป็นเขตควบคุมพิเศษ ซึ่งนักท่องเที่ยวไปเยือนได้ แต่ต้องทำเรื่องขออนุญาตล่วงหน้าเข้าไปในรูปแบบ Tourist Permit

เมืองตาวัง ตั้งอยู่ทางปลายสุดตะวันตกของรัฐอรุณาจัลประเทศ การเดินทางมีเพียงรถยนต์เข้าถึง ด้วยทางหลวงสาย NH13 (Trans Arunachal Highway) อยู่ห่างชายแดนจีน (ทิเบต) เพียง 16 กิโลเมตร ห่างจากเมืองน้ำทราย (Namsai) 718 กิโลเมตร จากเมืองกูวาฮาติ (Guwahati) 555 กิโลเมตร และจากอิฎานคร (Itanagar) เมืองหลวงของรัฐอรุณราจัลประเทศ 448 กิโลเมตร ถนนสู่ตาวังจึงต้องผ่านทะเลภูเขา ถนนซิกแซกไปมาหลายพันโค้ง เป็นการผจญภัยอย่างแท้จริง

ไฮไลท์ของที่นี่คือ “วัดตาวัง” (Tawang Monastery) อารามใหญ่อันดับ 2 ของโลก วัดพุทธวัชรยานทิเบตนิกายหมวกเหลือง (เกลุกปะ : Gelukpa) ตัวอารามมหึมาตระหง่านอยู่บนยอดเขาสูง โอบด้วยขุนเขาราวปราการธรรมชาติ ชัยภูมิดีเลิศ คล้ายป้อมปราการแห่งพุทธศาสนาอายุกว่า 400 ปี สร้างขึ้นเมื่อปลายศตวรรษที่ 16 โดย เมรัค ลามะ ลอเดร กยัตโซ (Merak Lama Lodre Gyatso) ศิษย์ของดาไลลามะองค์ที่ 5 ได้ออกเดินทางค้นหาที่สร้างวัดใหม่ ตำนานเล่าว่าม้าของลามะหายไป ท่านจึงออกตามหา จนมาพบม้ายืนกินหญ้าอยู่บนยอดเขานี้ วัดตาวางจึงได้สร้างขึ้น โดยคำว่า “ตา” (Ta) หมายถึง “ม้า” และ “วาง” (Wang) หมายถึง “เลือก” รวมความหมายถึง “ม้าเลือกที่นี่” แต่ถ้าเรียกชื่อตามภาษาทิเบตคือ “ตาวัง กัลเดน นัมกเย ลัตเซ” (Tawang Galdan Namgye Lhatse) จะหมายถึง “ที่เลือกสรรโดยอาชา ดังสวรรค์แห่งชัยชนะอันสมบูรณ์

วัดตาวังมีพระลามะอยู่กว่า 500 รูป คล้ายเมืองย่อมๆ แบ่งเป็น 3 ชั้น ล้อมด้วยกำแพงสีขาวยาวเกือบ 300 เมตร มีห้องสวดมนต์น้อยใหญ่ ห้องเก็บคัมภีร์โบราณ หอสมุด โรงเรียนสอนธรรมะ โรงอาหาร และกุฎิพระลามะ นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่แรกซึ่งดาไลลามะองค์ที่ 14 เสด็จมาประทับครั้งลี้ภัยจากทิเบต หนีการรุกรานของจีนเมื่อปี ค.ศ.1959 หลังจากนั้นอีก 50 ปี พระองค์ก็ได้เสด็จกลับไปเยือนวัดตาวังอีกครั้ง และทรงบูรณะหอสมุดของวัดใหม่อีกด้วย

(12) วัดภิกษุณี Gyangong Ani Gompa เมืองตาวัง

เมืองตาวังมีวัดภิกษุณีหลายแห่ง เพราะหญิงที่นี่สามารถบวชเป็นภิกษุณีได้อย่างเสรี อาทิ วัดบรามาดุง ชุก อนี กอมปะ (Bramadung Chung Ani Gompa) วัดภิกษุณีเก่าแก่ที่สุดของเมืองตาวัง สร้างเมื่อศตวรรษที่ 16 และวัดซิงเซอร์ อนี กอมปะ (Singsur Ani Gompa) ซึ่งอยู่ห่างตัวเมืองออกไป 28 กิโลเมตร ฯลฯ

ทริปนี้เราได้ไปเยือนวัดภิกษุณี “กยันกอง อนี กอมปะ” (Gyangong Ani Gompa) ที่อยู่ห่างตัวเมืองตาวังไป 5-6 กิโลเมตรเท่านั้น รถยนต์ถึงง่าย เป็นวัดเล็กๆ มีภิกษุณีอยู่ประมาณ 45 รูป ตัววัดตั้งอยู่บนเชิงเขาสูง ล้อมด้วยป่าสน และป่ากุหลาบพันปีสีแดง รวมถึงดอกไม้ป่าเบ่งบานในฤดูร้อนและใบไม้ผลิ ถนนไต่ขึ้นสู่วัดผ่านทุ่งเลี้ยงจามรี มองออกไปเห็นตัวเมือง มีภูเขาตระหว่าน และเจดีย์ทิเบต (ชอร์เตน : Chorten) ผูกธงมนต์เป็นสายสะบัดพลิ้วไปกับสายลมภูเขา หวีดหวิวเยือกเย็น

วัดกยันกอง อนี กอมปะ อยู่ในความดูแลของวัดตาวัง สร้างขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 16 โดยเมรัค ลามะ ลอเดร กยัตโซ (Merak Lama Lodre Gyatso) ให้น้องสาวที่เป็นภิกษุณี เพราะวินัยสงฆ์ห้ามภิกษุณีอยู่ที่วัดตาวัง ตอนแรกท่านเมรัค ลามะฯ สร้างเป็นแค่ถ้ำเล็กๆ ให้น้องสาวทำสมาธิ ต่อมาก็ขยายกลายเป็นวัด มีอารามหลักเป็นห้องสวดมนต์กลางที่ตกแต่งแบบทิเบตอย่างขรึมขลัง ประดับผ้าทังก้าโบราณ (ผ้าพระบฏ) รูปพระแม่ตารา ธรรมบาลปัลเดน ลาโม พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระศรีอริยเมตไตรย พระวัชรปาณี พระไภษัชยคุรุ ท่านคุรุรินโปเช รวมถึงรูปดาไลลามะองค์ที่ 14 ให้สักการะ ฯลฯ

(13) วัด Urgelling Gompa เมืองตาวัง

ชาวทิเบตที่นับถือศาสนาพุทธนิกายวัชรยาน เชื่อในเรื่อง การอวตารกลับชาติมาเกิด (Reincarnation) ของดาไลลามะ (คนทิเบตเรียกว่า เชนเรซิก) ตามคติที่ว่าพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรทรงกลับชาติมาเกิดในร่างดาไลลามะ เพื่อช่วยให้มนุษย์หลุดพ้นจากวัฏสงสาร ถึงปัจจุบันนี้มีดาไลลามาะรวม 14 องค์ สืบทอดตำแหน่งโดยกระบวนการค้นหาเด็กชายผู้มีบุญญาธิการและคุณลักษณะครบ เมื่อดาไลลามะองค์เก่าสิ้นพระชนม์ กระบวนการสรรหาจึงดำเนินไปทั่วทิเบต และที่ วัดอูร์เกลลิง กอมปะ” (Urgelling Gompa) เมืองตาวังนี้เอง ดาไลลามะองค์ที่ 6 ได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.​1683

ชังยัง กยัตโช (Tsangyang Gyatso) คือพระนามของดาไลลามะองค์ที่ 6 ผู้ครองตำแหน่งอยู่ไม่นานนัก ในราวปี ค.ศ. 1706 เพราะข่าวการสิ้นพระชนม์ของดาไลลามะองค์ที่ 5 ถูกปกปิดไว้นานถึง 9 ปี กว่าจะพบตัวเด็กชายผู้สืบทอดตำแหน่ง เขาก็มีอายุถึง 13 ขวบแล้ว ทำให้การอบรมบ่มนิสัยและปลูกฝังประเพณีอันดีงามไม่เข้มงวด เมื่อขึ้นรับตำแหน่งพระองค์ก็ยังใช้ชีวิตสนุกสนาน ฟังดนตรี แต่งกลอนรัก ดื่มสุรา สั่งให้มีการฟ้อนรำ แถมยังแอบออกไปเที่ยวพบหญิงสาวในยามค่ำคืน กระทั่งจักรพรรดิจีนและมองโกลทนดูไม่ได้ ส่งทหารไปลอบสังหารดาไลลามะองค์ที่ 6 ในที่สุด

วัดอูร์เกลลิง กอมปะ สถานที่ประสูติซึ่งดาไลลามะองค์ที่ 6 เคยประทับอยู่กับมารดา ปัจจุบันเรายังสัมผัสได้ถึงเรื่องราวเหล่านั้น ตัวอารามสีขาวเล็กๆ สงบสงัด มีธงมนต์ วงล้อมนตรา เจดีย์ชอร์เตน อ่างน้ำมนต์ ภาพของดาไลลามะครบทุกพระองค์ และรอยเท้าของดาไลลามะองค์ที่ 6 ฯลฯ สร้างบรรยากาศขรึมขลังชวนให้นึกถึงภาพในศตวรรษที่ 15 เมื่อวัดนี้สร้างขึ้นโดย ลามะ อูร์เกน ซังโป (Urgen Sangpo) ท่านลามะได้ไม้เท้าปักลงบริเวณผืนดินใกล้ทางเข้าวัด ซึ่งความอัศจรรย์ใดไม่ทราบได้ ไม้เท้าได้เจริญงอกงามกลายเป็นต้นโอ๊กยักษ์ดังที่เห็นในปัจจุบัน

วัดอูร์เกลลิง กอมปะ อยู่ห่างจากตัวเมืองตาวังออกไปเพียง 3 กิโลเมตร รถยนต์เข้าถึงได้สะดวกมาก

(14) Giant Buddha Statute เมืองตาวังหากใครเคยไปเที่ยวประเทศภูฏานมาแล้ว ก็คงเคยเห็นพระพุทธรูปมหึมาบนยอดเขาชื่อ Buddha Dordenma Statue ส่วนที่เมืองตาวัง รัฐอรุณาจัลประเทศ ก็มีคล้ายกัน คือ พระใหญ่ตาวัง หรือ Giant Buddha Statute

พระใหญ่ตาวัง เป็นพระพุทธรูปหล่อทองสำริดขนาดใหญ่ พุทธลักษณะแบบทิเบตในท่านั่งขัดสมาธิ พระพักตร์อิ่มเอิบเมตตา องค์พระรวมส่วนฐานสองชั้นสูงเกือบ 10 เมตร ประดับลวดลายมงคลแปดประการสไตล์ทิเบต และมีรูปสิงโตหิมะเทินฐานองค์พระไว้ นอกจากนี้ยังมีเจดีย์ชอร์เตนสีทองเล็กๆ ล้อมรอบนับสิบองค์ ด้านหน้ามีบันไดขึ้นสองทาง สู่ภายในฐานที่ประดิษฐานพระประธาน เป็นรูปปั้นท่านคุรุรินโปเช (คุรุปัทมะสัมภวะ) ผู้เดินทางจากอินเดียเข้าไปเผยแผ่ศาสนาพุทธนิกายวัชรยานในทิเบต เมื่อศตวรรษที่ 8-9 รวมถึงรูปดาไลลามะองค์ที่ 14 ประทับนั่งอยู่บนบัลลังก์ธรรมมาสน์ รูปธรรมบาล พระแม่ตารา และมิลาเรปะ (Milarepa) โยคีคนสำคัญของทิเบตในครั้งอดีตกาล

พระใหญ่ตาวัง ตั้งอยู่บนยอดเขาสูง องค์พระหันพระพักตร์ลงไปสู่เมืองตาวังในหุบเขาเบื้องล่าง เหมือนคอยให้พร ถือเป็นอีกหนึ่งจุดชมวิวมุมสูงอันน่าตื่นตา บนเส้นทางระหว่างตัวเมืองขึ้นไปสู่วัดตาวัง

(15) Sela Pass & Sela Lake

บนเส้นทางจากเมืองบอมดิลา (Bomdila) ไปเมืองตาวัง (Tawang) ทางตะวันตกสุดของรัฐอรุณาจัลประเทศ ถนนจะคดโค้งไต่ความสูงขึ้นไปถึงจุดสูงสุด 4,170 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล (13,700 ฟุต) ที่ เซลา พาส” (Sela Pass) คำว่า “Pass” หมายถึง ช่องเขาสำคัญ สำหรับใช้สัญจรบนภูเขาสูง บนความสูงระดับนี้อากาศเบาบาง หนาวเย็น ชื้นแฉะ มีม่านหมอก ละอองไอฝน ป่าสน และป่าดอกกุหลาบพันปีหลากสีในฤดูร้อน ส่วนฤดูหนาวก็ขาวโพลนด้วยหิมะหนา นับเป็นจุดแวะถ่ายรูปและพักของนักเดินทาง ดื่มชาร้อนๆ กินซุปบะหมี่เติมพลัง แล้วนั่งรถลัดเลาะเหวน่าหวาดเสียวต่อไป เซลา พาส อยู่ในตำบลคาเมงตะวันตก (West Kameng District) ห่างจากอนุสรณ์สงคราม Jaswant Garh War Memorial 37 กิโลเมตร

เซลา พาส เป็นหนึ่งในถนนสูงที่สุดของโลก สาย NH13 (Trans Arunachal Highway) จากเมือง Bomdila-Dirang-Tawang สุดที่บุมลา พาส (Bumla Pass สูง 4,600 เมตร) ตรงชายแดนอินเดีย (ตาวัง)-จีน ชาวทิเบตเชื่อว่ารอบๆ เซลา พาส มีทะเลสาบน้อยใหญ่กระจายอยู่ 101 แห่ง โดยมี ทะเลสาบเซลา” (Sela Lake) ที่รับน้ำมาจากยอดเขาหิมะละลายรอบๆ เป็นทะเลสาบใหญ่สุด น้ำในทะเลสาบจะจับตัวเป็นแผ่นน้ำแข็งหนาช่วงฤดูหนาว แต่จะกลายเป็นผืนน้ำสีฟ้าสดหรือสีเทอร์ควอยต์ในฤดูร้อน แล้วไหลลงสู่แม่น้ำนูรานัง (Nuranang River) และแม่น้ำตาวัง (Tawang River) หล่อเลี้ยงสรรพชีวิตนับล้าน (16) Jaswant Garh War Memorial

อรุสรณ์สงครามจัสวัน การ์ ตั้งอยู่ก่อนถึงเซลา พาส (Sela Pass) ประมาณ 37 กิโลเมตร บนภูเขาสูงชัยภูมิดีเลิศ ซึ่งเคยมีเรื่องราวสมรภูมิเดือดระหว่างอินเดีย-จีน เรียกว่า ยุทธภูมินูรานัง” (Battle of Nuranang) ในระหว่างสงคราม China-Indian War ช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ค.ศ. 1962

ที่นี่มีวีกรรมหาญกล้าของทหารอินเดีย หน่วยแม่นปืนที่ 4 กองพัน 4 เมื่อกองทัพจีนรุกรานมาถึง พลแม่นปืน 3 นาย นำโดย จัสวัน ซิงห์ ราวัต (Jaswant Singh Rawat) ร่วมกับ ทริล็อค ซิงห์ เนกี (Trilok Singh Negi) และโกปัล ซิงห์ กูเซน (Gopal Singh Gusain) อาสาไปต้านทัพจีน ทว่าทหารจีนสังเกตเห็นจุดที่ทั้งสามซุ่มอยู่ จึงระดมยิงปืนกลและขว้างระเบิดใส่ จนทริล็อค ซิงห์ เนกี และโกปัล ซิงห์ กูเซน สิ้นชีพ ส่วนจัสวัน ซิงห์ บาดเจ็บ ผลคือทหารจีนตาย 300 อินเดียตาย 2 บาดเจ็บ 8 นาย

จัสวัน ซิงห์ ที่บาดเจ็บไม่ได้ถอยร่น แต่ยังสู้กับทหารจีนต่อไป ด้วยความช่วยเหลือของชาวมอนปะ (Monpa) ท้องถิ่น 2 คน คือ เซลา (Sela) และนูรา (Nura หรือ Noora) น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ ในที่สุดเซลาก็ถูกฆ่า และนูราถูกจับ จัสวัน ซิงห์ ต้านทัพจีนอยู่นานถึง 72 ชั่วโมง กระทั่งทหารจีนสืบรู้ว่าจริงๆ แล้วที่รุกคืบต่อไปไม่ได้ เพราะพลแม่นปืนอินเดียแค่คนเดียว! จึงระดมยิงใส่จัสวัน ซิงห์ อย่างหนักจนสิ้นชีพ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเขาตายอย่างไร บ้างว่าเขาปลิดชีพตัวเองด้วยกระสุนนัดสุดท้าย บ้างก็ว่าเขาถูกจีนจับเป็นเชลยจนตาย อณุสรณ์สงครามจัสวัน การ์ รวมถึงชื่อช่องเขาเซลา พาส (Sela Pass) ทะเลสาบเซลา (Sela Lake) และน้ำตกนูรานัง (Nuranang Falls) จึงตั้งชื่อขึ้นเพื่อรำลึกถึงวีกรรมนี้

อรุสรณ์สงครามจัสวัน การ์ ตั้งอยู่ท่ามกลางบังเกอร์หลุมสนามเพลาะที่เคยใช้สู้รบจริง มีรูปเคารพของจัสวัน ซิงห์ รวมถึงพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ให้ข้อมูลเรื่องราวประวัติวีรกรรมหาญกล้า ถือเป็นจุดหนึ่งที่ห้ามพลาดชมเลยล่ะ

(17) Nuranang Falls เขตตาวัง

40 กิโลเมตร จากเมืองตาวัง (Tawang) หรือ 40 กิโลเมตรจากเซลา พาส (Sela Pass) คือที่ตั้งของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอันน่าตื่นตาตื่นใจ และมีชื่อเสียงมากของเขตตาวัง น้ำตกนูรานัง” (Nuranang Falls) น้ำตกใหญ่สูงกว่า 100 เมตร ทิ้งตัวลงมาจากหน้าผาหินสีดำตั้งชัน โดยน้ำตกช่วงบนไหลลงจากขอบผาสูง ลงไปกระแทกโขดหินบริเวณกลางสายน้ำตก แตกเป็นละอองไอฟุ้งในอากาศ แล้วสายน้ำสีขาวส่วนที่เหลือก็โถมลงสู่แอ่งเบื้องล่าง กระสานซ่านเซ็นสร้างความชุ่มฉ่ำไปทั่วบริเวณ บวกกับภาพผืนป่าเขียวขจีและทิวเขาโดยรอบ ยิ่งเสริมเสน่ห์ให้น้ำตกนูรานังงดงามน่าประทับใจสุดๆ

น้ำตกนูรานัง อยู่ห่างเพียง 2 กิโลเมตร จากตัวเมืองจัง (Jang Town) ชุมชนสำคัญบนเส้นทางไต่เขาสูงสาย NH13 (Trans Arunachal Highway) น้ำตกนี้มีชื่อเรียกในภาษาท้องถิ่นอีก 2 ชื่อ ถ้าได้ยินก็ไม่ต้องงง คือ น้ำตกจัง” (Jang Falls) และ น้ำตกบองบอง” (Bong Bong Falls) น้ำที่เราเห็นหลากไหลมาจากลาดไหล่เขาด้านทิศเหนือของเซลา พาส (Sela Pass) กลายเป็นน้ำตกนูรานัง แล้วไหลต่อไปรวมกับแม่น้ำตาวังในที่สุด โดยที่ส่วนล่างของน้ำตกมีกังหันปั่นกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ ส่งไฟฟ้าไปเลี้ยงเมืองจังและพื้นที่ใกล้เคียงด้วย

ชื่อ น้ำตกนูรานัง ตั้งขึ้นตามชื่อของชาวมอนปะ (Monpa) ผู้กล้าหาญ ที่สร้างวรีกรรมช่วยเหลือ จัสวัน ซิงห์ ราวัต (Jaswant Singh Rawat) พลแม่นปืน ต่อสู้กับทหารจีนที่รุกรานมาถึงเซลา พาส (Sela Pass) ในระหว่างสงคราม China-Indian War ปี ค.ศ.​1962 ซึ่งนูรา (Nura หรือ Noora) ชาวมอนปะถูกทหารจีนจับกุมตัว และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

(18) Sessa Waterfall

ระห่างการเดินทางด้วยรถยนต์ฝ่าทะเลภูเขาสูงสลับซับซ้อนและคดเคี้ยวไม่รู้จบ จากเมืองบาลิพาร่า (Balipara) ไปเมืองบอมดิลา (Bomdila) และเมืองดิรัง (Dirang) ควรหาเวลาแวะพักชื่นชมธรรมชาติริมทางที่ น้ำตกเซสซา” (Sessa Waterfall) น้ำตกเล็กๆ ทิ้งตัวลงจากหน้าผาหินตั้งชันบริเวณริมถนน โดยมีแมกไม้ร่มรื่นแผ่กิ่งใบคล้ายสวนธรรมชาติ บริเวณนี้มีความสูงเกือบ 3,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล อากาศจึงเย็นชื้นตลอดปี เต็มไปด้วยเมฆหมอก พงไพรรกชัฏจนมีเขตอนุรักษ์ธรรมชาติหลายแห่ง และก่อกำเนิดสายน้ำบริสุทธิ์ไหลเย็นให้ชื่นชม ดังเช่นน้ำตกเซสซา การเที่ยวชมต้องจอดรถหลบไว้ริมถนนให้ดี เพราะเป็นช่วงถนนสองเลนสวนกันบนภูเขา นับเป็นจุดแวะพักชมธรรมชาติแบบสั้นๆ ที่ไม่ควรพลาด(19) Wild Mahseer Eastern Himalayan Botanic Ark เมือง Balipara รัฐอัสสัม

“Wild Masheer” คือชื่อเกมส์แข่งตกปลาอันน่าตื่นเต้นที่สุดรายการหนึ่ง จัดขึ้นในอดีตเมื่อปี ค.ศ. 1864 โดยบริษัทชา British Assam Tea Company เพื่อจับ “ปลาเวียนยักษ์หิมาลัย” (Himalayan Giant Masheer Fish : ตัวโตเต็มที่ยาวได้ถึง 2.4 เมตร) ในแม่น้ำโบโรลี (Bhoroli River หรือ Kameng River) หนึ่งในสาขาของแม่น้ำพรหมบุตรของรัฐอัสสัม กระทั่งปัจจุบัน ชื่อ Wild Masheer ได้กลายมาเป็น “Wild Mahseer The Eastern Himalaya Botanic Ark” หรือ สวนพฤกษชาติหิมาลัยตะวันออก ไวด์ มาเชียร์ซึ่งมีที่พักหรู Luxury Nature Homestay และกิจกรรม Eco-Tourism ศึกษาธรรมชาติหลากรูปแบบ

ภายในพื้นที่เกือบ 60 ไร่ ครึ้มเขียวด้วยป่าไม้ไพรพฤกษ์แน่นทึบ ทั้งป่าดิบชื้น ป่าเฟิร์น และป่าไผ่ พร้อมบังกะโลที่พักหรูโคโลเนียลยุควิคตอเรีย และห้องอาหาร คนที่มาพักส่วนใหญ่เป็นกลุ่มรักธรรมชาติ เดินป่า ชอบผจญภัย และดูนก เพราะที่นี่มีนกป่าสวยงามอยู่มากกว่า 50-60 ชนิด กิจกรรมศึกษาธรรมชาติมีทั้งเดิน Nature Trail ชมพันธุ์พืชต่างๆ อาทิ ต้นไผ่ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก (Dendrocalamus giganteus) ซึ่งสูงได้ถึง 42 เมตร จนเราต้องมองคอตั้งบ่ายังมีกิจกรรมขี่ช้างหรือนั่งรถจี๊ปซาฟารี ล่องเรือดูปลาโลมาน้ำจืด ดูผีเสื้อ ล่องแก่ง ปั่นจักรยาน ตีกอล์ฟ เล่นเทนนิส เรียนทำอาหารท้องถิ่น ฯลฯ ยิ่งกว่านั้นยังมี ไร่ชากว้างสุดลูกหูลูกตา ให้เดินเที่ยวชมการปลูกชาแบบอัสสัมที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก เราจะได้ชิมชาดำ (Black Tea) ที่เป็นซิกเนเจอร์ของรัฐอัสสัม สัมผัสไร่ชา Organic Tea อายุไม่น้อยกว่า 150 ปีแล้วที่นี่ยังมีบังกะโลเก่าแก่ที่สุดในรัฐอัสสัมให้ชมด้วย เป็นบังกะโลยุคอาณานิคมอังกฤษ อายุกว่า 160 ปี สร้างขึ้นโดยบริษัทผลิตและส่งออกชา British Assam Tea Company ภายในมี 3 ห้องนอน พร้อมห้องรับแขกและห้องอาหารอย่างหรูหราโอ่โถง

(20) Damu’s Heritage Dine เมือง Shergaon

รัฐอรุณาจัลประเทศมีชนพื้นเมืองอยู่มากถึง 26 เผ่าหลัก และอีกนับร้อยเผ่าย่อย การมีโอกาสสัมผัสพวกเขาในบางส่วนเสี้ยว อาจทำให้เราเข้าใจวิถีของพวกเขามากขึ้น ลองเดินทางไปเที่ยว เมืองเชอร์กอน (Sherhaon) ตำบลคาเมงตะวันตก (West Kameng District) นั่งรถชมธรรมชาติขุนเขาเข้าสู่หมู่บ้าน ชาวมอนปะ (Monpa Tribe) ท่ามกลางทุ่งหญ้า ป่าไม้ และลำธาร ของหุบเขาชุก (Chug Valley) อันสงบงามด้วยจังหวะชีวิตแบบชนบทสุดเรียบง่าย

วันนี้เราจะมากินอาหารเที่ยงฟิวชั่นกันในหมู่บ้านชาวมอนปะแท้ๆ อดีตชาวมอนปะอพยพจากทิเบตเข้ามาตั้งรกรากที่นี่ กระทั่งโอกาสเปิด นักท่องเที่ยวเริ่มต้องการสัมผัสลึกซึ้งถึงความเป็นชุมชนท้องถิ่น หญิง 8 คนในหมู่บ้านนี้จึงรวมตัวกันจัดโปรแกรมท่องเที่ยวเก๋ไก๋ “Damu’s Heritage Dine” จัดเซ็ทอาหารกลางวันในแบบที่คนเมืองจะไม่เคยชิมแน่นอน คำว่า ดามู” (Damu) ในภาษาดูฮุมบิ (Duhumbi Language) แปลว่า ลูกสาว พวกเธอจึงเป็นเสมือนตัวแทนของชุมชนนั่นเอง

เราเดินลัดเลาะผ่านหมู่บ้านเข้าไปไม่ไกล ก็ถึงบ้านหลังหนึ่งเปิดประตูต้อนรับ หลังบ้านมีระเบียงกว้างที่มองออกไปเห็นทุ่งนาและทิวเขาทอดยาว โต๊ะยาวพร้อมม้านั่งไม่หรูหราทว่าสวยงามชาวบ้านเริ่มทยอยเสิร์ฟอาหารกว่า 12 เมนู ให้เราชิมจนอิ่มแปล้ โดยมีการจัดจานอย่างสวยงาม อาทิ น้ำมันต้นรักอุ่นๆ เสิร์ฟมาบนเตาถ่านร้อนๆ ช่วยบำรุงร่างกาย, ก๋วยเตี๋ยวที่ทำจากเส้นบักวีต, สลัดผักออร์แกนิคและผลไม้ตามฤดูกาล, โมโม่ (เกี๊ยวทิเบต) ไส้ต่างๆ, ซุป, ทาโก้ไก่, ข้าวกล้อง, แกงไก่ต้มขิง, ผัดผักกูด ฯลฯ ปิดท้ายด้วยเหล้าหมักดีกรีสูงแบบชาวบ้าน นับเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ ว้าวมาก!

— SPECIAL THANKS TO ALL OF MY SPONSORS —

ขอบคุณ บริษัท Nikon Sales Thailand สนับสนุนกล้อง Nikon Z8 ระดับ Professional สำหรับ Photo Trip ครั้งนี้

— For more informations about Arunachal Pradesh, India Trip, please contact —

ขอบคุณเป็นพิเศษ : บริษัท RINNAYA TOUR (ริณนาญาทัวร์)

Tel. 092-895-6245 / Line : @rinnayatour

Email : sales.rinnaya@gmail.com

Website : http://www.RinnayaTour.com/

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *