20 ที่เที่ยวห้ามพลาด อรุณาจัล-อัสสัม (Episode 1)
(1) Golden Pagoda เมืองน้ำทราย
“เจดีย์ทองคำ” (Golden Pagoda) เมืองน้ำทราย (Namsai) หรือ “กองมูคำ” (Kongmu Kham) คือแลนด์มาร์คสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในรัฐอรุณาจัลประเทศของอินเดีย เป็นเจดีย์สีทองอร่ามศิลปะพม่า ศูนย์รวมศรัทธา ชาวไทคำตี้ (Tai Khamti) ในเมืองน้ำทราย เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ที่สุดในภาคอีสานของอินเดีย มีโรงเรียนสอนพระไตรปิฎกและเขตสังฆาวาสในพื้นที่กว่า 125 ไร่ โดยมีเจดีย์ทองคำเป็นศูนย์กลาง องค์เจดีย์ประธานสูงเกือบ 20 เมตร มีเจดีย์รายอีก 12 องค์ เป็นเจดีย์พม่าทรงปราสาทที่สามารถเข้าไปในฐาน เพื่อสักการะพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ภายในความงามนี้คงจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มี ท่านเจ้านา เมน (Chowna Mein) Deputy Chief Minister แห่งรัฐอรุณาจัลประเทศ เป็นผู้สนับสนุนเงินส่วนตัวกว่า 30 ล้านรูปี เมื่อ พ.ศ. 2553 เพื่อสร้างเจดีย์อุทิศให้เจ้ากือนาซึ่งเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ จนทุกวันนี้กลายเป็นศูนย์รวมใจของผู้คนไปแล้ว
(2) งานมหาซังเกนไทคำตี้ เมืองน้ำทราย“เทศกาลสงกรานต์” ของ “ชาวไทคำตี้” (Tai Khamti) ที่อพยพจากพม่าตอนเหนือเข้าสู่รัฐอรุณาจัลประเทศของอินเดีย เมื่อพุทธศตวรรษที่ 22-23 เป็นงานฉลองขึ้นปีใหม่ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-16 เมษายนทุกปี เรียกในภาษาถิ่นว่า “ซังเกน” (Sangken) ทว่าในปี 2025 ชาวไทคำตี้เมืองน้ำทราย (Namsai) ได้จัดยิ่งใหญ่จนกลายเป็น “เทศกาลมหาซังเกนนานาชาติ” (Maha Sangken International Festival) ที่วัดเจดีย์ทองคำ มีการทำบุญเลี้ยงพระ ฟังเทศน์ ขบวนแห่สีสันตระการตาของนางรำนับร้อย การสรงน้ำพระ สรงน้ำพระธาตุ รดน้ำต้นโพธิ์ และไฮไลท์คือเล่นสาดน้ำกันชุ่มฉ่ำ โดยใส่ชุดพื้นเมือง และใช้น้ำสะอาดสาดรดกันสนุกสนาน ในช่วงเย็นพากันลอยกระทงประทีป และลอยโคมเป็นพุทธบูชาด้วย สวยสุดๆ
(3) ไร่ชา The Postcard in the Durrung Tea Estate รัฐอัสสัมการไปเที่ยวรัฐอรุณาจัลประเทศและอัสสัม คงจะสมบูรณ์ไม่ได้ หากเราไม่ได้แวะสัมผัสไร่ชาที่มีชื่อเสียงก้องโลก บนพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำพรหมบุตรอากาศร้อนชื้น ตลอดสองข้างทางจะเห็นไร่ชาเขียวขจีที่มี ต้นนีม (Neem Tree : ต้นสะเดา) กระจายอยู่ทั่วไปให้ร่มเงา ไร่ชานับแสนๆ ไร่แถบนี้จึงมีภูมิทัศน์ต่างจากไร่ชาบนภูเขาสูงอากาศเย็นแถบดาร์จิลิ่ง (Darjeeling) หนึ่งในไร่ชามีชื่อเสียงและเก่าแก่ที่สุดของรัฐอัสสัม อายุกว่า 150 ปี คือ “ไร่ชาดูรรุง” (Durrung Tea Estate)
ไร่ชาดูรรุง ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1875 โดยบริษัท บริติช อีส อินเดีย ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกชากว่า 2,500 ไร่ มีคนงานกว่า 1,000 คน โดยมีสวัสดิการให้อย่างดี ทั้งที่พัก การรักษาพยาบาล และการศึกษา ทั่วโลกรู้จัก “ชาดำ” (Black Tea) ระดับพรีมเมียมของดูรรุง เพราะมีเอกลักษณ์รสชาติเข้มข้น สีเหลืองทองอำพัน นุ่มลื่น กลมกล่อม เป็นชาป่าพันธุ์อัสสัม (Camellia sinensis) ซึ่งได้รับรองมาตรฐาน TRUSTEA ของอินเดีย
เขายังมีที่พักหรูสไตล์โคโลเนียลกลางไร่ชาให้เช็คอินชื่อ “The Postcard” ได้ชื่นชมไร่ชาเขียวชอุ่มกว้างสุดลูกหูลูกตา ดูการเก็บชา จิบชาพรีเมี่ยม และซื้อกลับบ้าน ทั้ง Assam CTC, Assam Orthodox, Himalayan Green, Pu-erh Tea ฯลฯ
(4) Aohali Village, เผ่า Idu
“Zero Hunting Village” “หมู่บ้านนี้ไม่มีการล่าสัตว์เด็ดขาด” คือปณิธานแน่วแน่ที่ หมู่บ้านเอาฮาลี (Aohali Village) ในตำบลเซียงตะวันออก (East Siang District) ของรัฐอรุณาจัลประเทศประกาศต่อชาวโลก ที่นี่คือบ้านป่าบนภูเขาสลับซับซ้อน อุดมด้วยพืชพรรณและสัตว์ป่า โดยมีชนเผ่าอีดู (Idu Tribe) 1 ใน 26 เผ่าของรัฐอรุณาจัลประเทศอาศัยอยู่มานับร้อยปี เมื่อป่าสมบูรณ์หดหายและสัตว์ป่าลดจำนวนลงจนเห็นชัด ชุมชนจึงร่วมตั้งปฏิญญาว่าจะเข้าสู่วิถีอนุรักษ์แทน โดยใช้การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและผจญภัยเป็นจุดขาย เอาฮาลีจึงมีชื่อเสียงในฐานะ หมู่บ้านแรกของรัฐอรุณาจัลประเทศที่หยุดล่าสัตว์ 100 เปอร์เซ็นต์ เอาฮาลี ใช้เสน่ห์ดั้งเดิมของภาษา การแต่งกาย หัตถกรรม และดนตรีในแบบอีดู ดึงดูดผู้มาเยือน ชนเผ่าอีดูเป็น 1 ใน 4 เผ่าย่อยของชาวมิชมี่ (Mishmi) เรียกว่า “อีดู–มิชมี่” ซึ่งบรรพบุรุษอพยพมาจากทิเบต ความน่าสนใจแรกที่ดึงดูดสายตาได้ คือชุดที่พวกอีดูสวมใส่ มีหมวกแหลมสานด้วยไม้ไผ่และหวาย ชุดผ้าทอมือ สร้อยลูกปัดเขี้ยวสัตว์ ผ้าคลุมขนสัตว์ รวมถึงมีดดาบยาว ส่วนหญิงชาวอีดูก็เก่งมากเรื่องจักสานและทอผ้ากี่เอว
หมู่บ้านเอาฮาลีอยู่บนเส้นทางระหว่างไปเมืองดิรัง (Dirang) โดยออกจากเมืองน้ำทราย (Namsai) ไม่ไกลก็ถึง
(5) Silluk Village, เผ่า Monpa
ไม่ไกลจากหมู่บ้านเอาฮาลี (Aohali Village) ถนนสองเลนคดโค้งผ่านไปตามป่าเขาลำเนาไพรเขียวครึ้ม เมื่อระดับความสูงเพิ่มขึ้น ไม่นานก็ถึง “หมู่บ้านซิลลุค” (Silluk Village) ในตำบลเซียงตะวันออก (East Siang District) หมู่บ้านสะอาดที่สุดในรัฐอรุณาจัลประเทศ ซึ่งรัฐบาลท้องถิ่นให้การรับรอง แม้มองเผินๆ จะเป็นเพียงหมู่บ้านชนบท ที่บ้านสร้างด้วยไม้หลังคามุงจาก ทว่าสิ่งที่ทุกคนสัมผัสได้คือ ซิลลุคสะอาดมาก สิ่งต่างๆ ดูเป็นระเบียบ มีไม้ดอกไม้ใบหลากสีสวยงามประดับ
คนซิลลุคเป็นชาวมอนปะ (Monpa Tribe) ที่บรรพบุรุษอพยพมาจากทิเบตเขตพื้นที่ต่ำ พวกเขามีนิสัยรักสะอาด หมู่บ้านแบ่งเป็น 6 หมู่ ส่งตัวแทนออกมาช่วยกันเก็บขยะทำความสะอาดหมู่บ้านทุกเช้า (ยกเว้นช่วงฤดูเกษตร) รวมถึงมีการทำ Big Cleaning หนึ่งวันทุกต้นเดือนด้วย เสียงตามสายทุกเช้าในหมู่บ้านดังย้ำเตือนเรื่องจิตสำนัก และการมีส่วนร่วมเรื่องความสะอาดสุขอนามัยในชุมชน ปัจจุบันมีการห้ามล่าสัตว์และจับปลา แยกขยะพลาสติก โดยถังขยะที่ใช้สานด้วยไม้ไผ่จากฝีมือผู้สูงอายุในหมู่บ้าน วิถีชีวิตของคนที่นี่จึงกลมกลืนกับป่าเขาลำเนาไพร เป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่นได้ยอดเยี่ยม
(6) Dirang Monastery เมืองดิรัง
ถนนสองเลนซิกแซกผ่านไปบนภูเขาน้อยใหญ่เหมือนไม่รู้จบ สาย NH15 ระยะทางกว่า 580 กิโลเมตร จากเมืองน้ำทราย (Namsai) ในที่สุดเราก็มาถึงเมืองบนภูเขาสูงกว่า 1,500 เมตร “เมืองดิรัง” (Dirang) ที่ทอดตัวอยู่ทางด้านทิศใต้ของเทือกเขาหิมาลัย ทัศนียภาพเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนช่างน่าตื่นตา ดินแดนแถบนี้ในอดีตคือส่วนหนึ่งของอาณาจักรทิเบต ทว่าหลังจากถูกจีนรุกราน จึงผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของอินเดียเมื่อปี ค.ศ.1959 ชาวทิเบตจำนวนมากจึงอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานจุดที่ห้ามพลาดคือ “วัดดิรัง” (Dirang Monastery) หรือภาษาทิเบตเรียกว่า “ทุบซัง ดาร์กเย ลิง” (Thupsung Dhargye Ling) ชื่อนี้ดาไลลาะมองค์ที่ 14 ประมุขศาสนาพุทธนิกายวัชรยานตั้งให้ แปลว่า “ดินแดนซึ่งพระวัจนะของพุทธองค์เฟื่องฟู” วัดตั้งอยู่บนเชิงเขามองลงไปเห็นหุบเขาดิรังทอดตัวอยู่เบื้องหน้า อารามไล่จากชั้นล่างผ่านบันไดขึ้นสู่ชั้นบนสุดอันเป็นที่ตั้งอารามหลัก ภายในมีห้องสวดมนต์ใหญ่สไตล์ทิเบต มีพระประธานเป็นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และคุรุรินโปเช (คุรุปัทมสัมภวะ) วัชราจารจากอินเดียผู้เข้าสู่ทิเบตเมื่อศตวรรษที่ 8-9 เผยแผ่ศาสนาพุทธนิกายวัชรยานจนทิเบตเปลี่ยนจากนับถือจิตวิญญาณมาเป็นพุทธ ในห้องโถงยังมีบัลลังก์ธรรมาสน์ที่มีรูปดาไลลามะองค์ที่ 14 ขนาดเท่าองค์จริงประดิษฐานอยู่ด้วย
(7) Dirang Dzong, เผ่า Monpa เมืองดิรัง
สำหรับนักท่องเที่ยว ในเมืองดิรังมีจุดที่น่าสนใจให้ชมมากมาย หนึ่งในนั้นคือแหล่งประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต คละเคล้าวัฒนธรรมชาวมอนปะ (Monpa Tribe) ซึ่งอพยพจากเขตที่ต่ำในทิเบตเข้าสู่อินเดียเมื่อครั้งอดีต นั่นคือ “ดิรังซอง” (Dirang Dzong) เรียกง่ายๆ ว่า “ป้อมดิรัง” ก็ได้ เพราะเป็นป้อมโบราณสมัยศตวรรษที่ 9 สร้างอยู่บนภูเขาสูง มีรั้วรอบขอบชิด เคยเป็นศูนย์กลางบริหารราชการท้องถิ่นและชุมชนที่มีบ้านสไตล์ทิเบตอยู่นับร้อยหลัง การสร้างป้อมดิรังด้วยหินมีรั้วแน่นหนา ก็เพราะในอดีตยังมีการรุกรานจากชนชาติอื่นอยู่เนืองๆ นั่นเอง ทั้งนี้ชาวมอนปะแบ่งได้เป็น 6 เผ่าย่อย (ตามเขตที่อาศัย) คือ Tawang Monpa, Dirang Monpa, Lish Monpa, Bhut Monpa, Kalaktang Monpa และ Panchen Monpa ดิรังซอง ตั้งอยู่บนเส้นทาง Bomdila-Dirang-Tawang โดยอยู่ถัดออกมาจากตัวเมืองเล็กน้อย จอดรถไว้ริมถนน แล้วเดินขึ้นบันไดไปตามตรอกแคบๆ ลอดผ่านซุ้มประตูโบราณ เข้าสู่ชุมชนมอนปะที่พาเราย้อนกลับสู่ศตวรรษที่ 9 ในทุกย่างก้าวที่เดินผ่าน ทางแคบๆ คดเคี้ยวราวเขาวงกตลัดเลาะเข้าไปในหมู่บ้าน เห็นสถาปัตยกรรมเรือนอาศัยแบบทิเบต ที่ใช้หินและไม้สร้างผสมผสาน มีวงล้อมนต์ (Prayer Wheel) บ่งบอกถึงศรัทธาในศาสนาพุทธนิกายวัชรยาน รวมถึงรอยยิ้มของผู้คนที่มีให้ตลอด
(8) Dirang Market เมืองดิรังเปลี่ยนบรรยากาศจากเที่ยวชมวัดสไตล์ทิเบต ป้อมโบราณ และหมู่บ้านชนพื้นเมือง มาเป็นเดินเล่นช้อปปิ้งใน “ตลาดดิรัง” (Dirang Market หรือ Dirang Bazaar) กันบ้าง ตลาดนี้ตั้งอยู่ใจกลางย่านดาวน์ทาวน์ของดิรัง มีถนนผ่านกลางย่านธุรกิจ และมีอาคารร้านรวงทอดยาวไปสองฟากฝั่งถนน รวมถึงเลี้ยวเข้าไปตามตรอกซอกซอย ก็ดูคึกคักคับคั่งจอแจ เต็มไปด้วยภาพการซื้อขายจับจ่ายและผู้คน มีทั้งร้านอาหารท้องถิ่น ร้านขายเสื้อผ้าพื้นเมือง กระเป๋า รองเท้า พรม เครื่องสำอาง ยาสมุนไพรต่างๆ มีร้านแลกเงิน ร้านขายข้าวของจิปาถะ รวมถึงพืชผักผลไม้สด เนื้อสัตว์ ขนม ชีสนมจามรี ฯลฯ เปิดกั้นตั้งแต่เช้าตรู่จนดึกดื่น ใครขาดเหลืออะไรระหว่างเดินทางท่องเที่ยว ก็แวะซื้อกันที่นี่ได้นะ
(9) Dirang Hot Spring เมืองดิรังนั่งรถยนต์ชิลๆ ออกจากเมืองดิรังไปแค่ 10 กิโลเมตร ก็ถึง “บ่อน้ำพุร้อนดิรัง” (Dirang Hot Spring) ที่คนท้องถิ่นชาวมอนปะและทิเบตใช้เป็นสถานที่พักผ่อนเชิงสุขภาพมาเนิ่นนาน เป็นบ่อน้ำพุร้อนเล็กๆ 2 บ่อ ตั้งอยู่บนเนินเขาเตี้ยๆ ริมฝั่งแม่น้ำดิรัง บริหารจัดการโดยชุมชนชาวมอนปะท้องถิ่น บรรยากาศเงียบสงบ ร่มรื่นเป็นธรรมชาติ มองออกไปเห็นภูเขา ป่าไม้ และแม่น้ำอยู่เบื้องล่าง อุณหภูมิน้ำไม่ร้อนมาก แช่สบายตัวพอได้ผ่อนคลาย น้ำที่นี่อุดมด้วยแร่ซัลเฟอร์ ลงอาบแช่แล้วช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย เลือดลมดี ช่วยรักษาโรคผิวหนังและอาการไขข้อบางชนิดได้ เหมือนสปาธรรมชาติที่น่าจะแวะไปทดลองดู
บ่อน้ำพุร้อนดิรัง เปิดให้ใช้บริการฟรี ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นถึงเย็น ช่วงเวลาอากาศดีสุดคือเดือนตุลาคม-เมษายน และที่นี่ไม่มีห้องเปลี่ยนชุดให้ ต้องเตรียมผ้าเช็ดตัวกับชุดไปเปลี่ยนเองนะ
(10) Tippi Orchid Research Centre
รัฐอรุณาจัลประเทศมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์และกว้างขวางที่สุดในอินเดีย จึงมีกล้วยไม้ป่าอยู่มากถึง 678 ชนิด โดย 32 ชนิดเป็นพันธุ์เฉพาะถิ่น (Endemic Species) พบเฉพาะที่นี่เท่านั้น หากใครสนใจลองไปเที่ยวที่ “ศูนย์วิจัยกล้วยไม้ทิปปิ” (Tippi Orchid Research Centre) หมู่บ้านทิปปิ ตำบลคาเมงตะวันตก (West Kameng District) ห่างจากเมืองเตซปูร์ (Tezpur) ของรัฐอัสสัม เพียง 65 กิโลเมตรเท่านั้น ศูนย์วิจัยกล้วยไม้ทิปปิ ตั้งอยู่ท่ามกลางป่าเขารกชัฏสลับซับซ้อน เป็นป่าฝนเขตร้อนเขียวชอุ่มชุ่มชื้นตลอดปี พื้นที่ 62.5 ไร่ มีโรงเรือนปลูกเลี้ยงกล้วยไม้กว่า 1,000 ชนิด ทั้งพันธุ์ท้องถิ่น พันธุ์หายาก และพันธุ์ลูกผสมสวยงาม มีห้องแล็บศึกษาวิจัย สวนกลางแจ้ง แล็บผสมกล้วยไม้แบบ Tissue Culture และพิพิธภัณฑ์พืช (Herbarium) เก็บรวบรวมข้อมูลกล้วยไม้นับพันชนิดไว้อย่างเป็นระบบ ไฮไลท์อยู่ที่โรงเรือนเลี้ยงกล้วยไม้น้อยใหญ่หลากสี เบ่งบานอวดผู้มาเยือน ทั้งกล้วยไม้รองเท้านารี เพชรหึง เอื้องม้าวิ่ง กล้วยไม้สกุลหวาย แวนด้า แคทลียา ซิมบิเดียม ฯลฯ เห็นแล้วสดชื่นมาก นอกจากนี้ยังมี เส้นทาง Green Walk ให้ชมธรรมชาติในป่าเฟิร์นด้วย
— SPECIAL THANKS TO ALL OF MY SPONSORS —
ขอบคุณ บริษัท Nikon Sales Thailand สนับสนุนกล้อง Nikon Z8 ระดับ Professional สำหรับ Photo Trip ครั้งนี้
— For more informations about Arunachal Pradesh, India Trip, please contact —
ขอบคุณเป็นพิเศษ : บริษัท RINNAYA TOUR (ริณนาญาทัวร์)
Tel. 092-895-6245 / Line : @rinnayatour
Email : sales.rinnaya@gmail.com
Website : http://www.RinnayaTour.com/
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!