จังหวัดสระแก้วหลากสไตล์ มุมมองใหม่ 2022

“ชายแดนเบื้องบูรพา ป่างามน้ำตกสวย มากด้วยรอยอารยธรรมโบราณ ย่านการค้าไทย-เขมร” นี่คือคำขวัญของ จังหวัดสระแก้ว เมืองชายแดนภาคตะวันออกที่อุดมสมบูรณ์ และหลากหลายด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิถีชีวิตผู้คน กิจกรรม และอาหารการกิน ผสมผสานกลายเป็นเสน่ห์ให้ไปเยือน ในฐานะเมืองรองที่มีศักยภาพสูงสามารถพัฒนาได้อีกมากในอนาคต
เชื่อหรือไม่ว่า จังหวัดสระแก้ว เป็นจังหวัดซึ่งมีเนื้อที่มากที่สุดในภาคตะวันออก (ประมาณ 7,195.43 ตารางกิโลเมตร) มีชาติพันธุ์อาศัยอยู่ร่วมกันเหมือนพี่น้องไม่น้อยกว่า 6 เชื้อชาติ ทั้ง ญ้อ ลาว ญวน เขมร จีน และไทย
แถมยังเป็นเมืองหน้าด่าน ที่เหมือน HUB มาตั้งแต่ยุคอดีต คือเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางตะวันตก-ตะวันออก (ระหว่างเมืองชายฝั่งทะเลอ่าวไทย-กัมพูชา) และเหนือ-ใต้ (ระหว่างเมืองในลุ่มน้ำโขง ชี มูล กับเมืองชายฝั่งทางจันทบุรี) จังหวัดสระแก้ว จึงกลายเป็นเบ้าหลอมทางอารยธรรมไปโดยปริยายทริปนี้เราร่วมเดินทางไปกับ สำนักงานท่องเท่ียวและกีฬา จังหวัดสระแก้ว สำรวจแหล่งท่องเที่ยวใน 8 อำเภอ (จากทั้งหมด 9 อำเภอ คือ อำเภอเมืองสระแก้ว, อำเภอคลองหาด, อำเภอตาพระยา, อำเภอวังน้ำเย็น, อำเภอวัฒนานคร, อำเภออรัญประเทศ, อำเภอเขาฉกรรจ์, อำเภอโคกสูง และอำเภอวังสมบูรณ์) ค้นหามุมมองใหม่อันน่าประทับใจ นำร่องเพื่อผู้รักการเดินทางทุกท่านเริ่มต้นทักทายจังหวัดสระแก้วกันด้วยธรรมชาติสวยๆ สดชื่น ถ่ายภาพได้น่าตื่นตา กับ “อุทยานแห่งชาติปางสีดา” อำเภอเมืองสระแก้ว เป็นผืนป่าอนุรักษ์ขนาดใหญ่ เนื้อที่กว่า 527,500 ไร่ ให้กำเนิดต้นน้ำลำธาร และมีชื่อเสียงเรื่องการดูผีเสื้อที่มีอยู่ถึง 500 ชนิด ทั้งผีเสื้อกลางวัน (Butterfly) และผีเสื้อกลางคืน (Moth) จัดว่าพบง่าย มากมาย และหลากหลาย โดยเฉพาะช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคมทุกปี ที่นี่ยังมีเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ ศึกษาพรรณไม้ และมีน้ำตกปางสีดา ที่แสนติดตาตรึงใจ
ปางสีดายังเป็นส่วนหนึ่งของมรดกโลกทางธรรมชาติของ UNESCO เพราะอยู่ในกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ประกอบด้วย ป่าเขาใหญ่, ป่าตาพระยา, ป่าทับลาน, ป่าดงใหญ่ และป่าปางสีดา ประกาศเป็นมรดกโลกเมื่อ พ.ศ. 2548
น้ำตกปางสีดา เป็นน้ำตกเล็กๆ ที่สวยงามลงตัว สายน้ำทิ้งตัวลดหลั่นลงมาเป็นขั้นบันไดตามหน้าผาหิน สูงประมาณ 8 เมตร สายน้ำชุ่มฉ่ำเย็นตลอดปี แวดล้อมด้วยผืนป่าเขียวครึ้ม ร่มรื่น เหมาะไปลงเล่นน้ำหรือนั่งพักผ่อนไฮไลท์ของการมาเยือนอุทยานแห่งชาติปางสีดา ในช่วงฤดูฝนเดือนสิงหาคมเช่นนี้ คือการดูผีเสื้อในงานเทศกาลดูผีเสื้อปางสีดา ปี 2565 แม้จะมีเวลาไม่มากแต่เราก็ได้พบเห็นผีเสื้อหลายสิบชนิดออกมาบินต้อนรับ พวกมันมักมารวมตัวกันอยู่ในที่ที่มีดอกไม้ป่าให้ดูดน้ำหวาน หรือจะไปลงเกาะอยู่ตามโป่งดิน โป่งน้ำ ซึ่งมีแร่ธาตุเจือปนอยู่ โดยเฉพาะวันที่มีแดดออก จะพบเห็นผีเสื้อได้มากเป็นพิเศษผีเสื้อปางสีดา กำลังเพลิดเพลินกับน้ำหวานจากดอกพนมสวรรค์ การถ่ายภาพผีเสื้อ โดยให้รบกวนผีเสื้อน้อยที่สุด เป็นการเคารพธรรมชาติ นักถ่ายภาพควรมี Lens Macro 105 mm. หรือใช้ Lens 70-200 mm. ก็ได้ แต่สำคัญที่สุดคือต้องรู้ว่าจะมีผีเสื้อลงบริเวณใดและเมื่อไหร่? ข้อนี้ให้ถามเจ้าหน้าที่ของอุทยานฯ ได้ครับ
ฝูงผีเสื้อสะพายฟ้า ลงมารวมตัวกันที่โป่งใกล้ลำธารอย่าดูผีเสื้อกันจนเพลิน ที่อุทยานแห่งชาติปางสีดายังมีพรรณไม้น่าสนใจมากมาย อาทิ เห็ดถ้วยแชมเปญ ที่มักงอกขึ้นจากขอนไม้ชื้นๆ ผุๆ ในฤดูฝนงานเทศกาลดูผีเสื้อปางสีดา สิงหาคม 2565 จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 17 แล้ว ตัวกิจกรรมหลักคือการดูผีเสื้อจะอยู่ที่ผืนป่าอุทยานแห่งชาติปางสีดา ส่วนในอำเภอเมืองสระแก้ว ก็มีกิจกรรมบนเวทีเปิดตัวงานอย่างยิ่งใหญ่
ความงามของแสงสีในงานผีเสื้อราตรี
อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว (เทศกาลดูผีเสื้อปางสีดา สิงหาคม 2565)
เดินทางต่อไปสู่แหล่งท่องเที่ยวมหัศจรรย์ธรรมชาติของจังหวัดสระแก้ว ละลุ อำเภอตาพระยาจริงๆ แล้วละลุมีพื้นที่กว้างขวางถึง 2,000 ไร่ บางส่วนอยู่ในพื้นที่สาธารณะ บางส่วนอยู่ในที่ของชาวบ้าน การเที่ยวชมให้เหนื่อยน้อยสุดจึงต้องนั่งรถอีแต๋นเข้าไป ชาวบ้านเจ้าของพื้นที่ก็จะได้แบ่งส่วนรายได้ด้วย ทำให้เกิดความรักความหวงแหนทรัพยากรท่องเที่ยวของท้องถิ่น ละลุในฤดูฝนสวยเป็นพิเศษ ​เพราะแลเห็นทุ่งนาเขียวๆ ของชาวบ้านอยู่ใกล้ๆ มีจุดชมวิวมุมสูงให้ปีนขึ้นไปดูภูมิทัศน์มหัศจรรย์จากด้านบนด้วย
ละลุ เกิดจากการกัดกร่อนพังทลายของชั้นดินต่างๆ ที่มีความแข็งไม่เท่ากัน ตัวกระทำหลักคือ น้ำฝน ลม และแสงแดด ลักษณะเป็นดินลูกรังสีส้มอมแดงเข้มที่มีแร่เหล็กเจือปนอยู่มาก ทุกปีรูปลักษณ์ของละลุจะเปลี่ยนไป เพราะเกิดการผุกร่อนพังทลายลงเรื่อยๆ เราจึงเห็นเม็ดกรวดทรายเล็กๆ ผุกร่อนลงมากองอยู่บนพื้น เหลือไว้เพียงรูปร่างของแท่งดินที่ชวนให้พิศวง จนได้ฉายาว่า “สโตนเฮนจ์เมืองไทย” ละลุ จังหวัดสระแก้ว มีกระบวนการเกิดขึ้นคล้ายๆ กับแพะเมืองผี จังหวัดแพร่ และเสาดินนาน้อย-คอกเสือ จังหวัดน่านการถ่ายภาพละลุให้ได้สวยสุดคงหนีไม่พ้นตอนเย็นย่ำ พระอาทิตย์คล้อยตำ่แสงอาทิตย์กลายเป็นสีส้ม ยิ่งทำให้สีของละลุดูเข้มข้นขึ้นไปอีกใครสนใจไปเที่ยวละลุ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มละลุโฮมสเตย์ โทร. 0-3724-9708-9, 08-9098-0772อีกหนึ่งความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติของจังหวัดสระแก้ว ที่รอการเข้าไปสัมผัส โดยซุ่มซ่อนตัวเองอยู่อย่างเงียบเชียบลึกลงไปใต้พื้นพิภพ คือ “เขาศิวะ” อำเภอคลองหาด (หรือ เขาพระศิวะ, ถ้ำศิวะ, ถ้ำน้ำเขาศิวะ) ลักษณะเป็นเทือกเขาหินปูนขนาดใหญ่ ซึ่งมีส่วนหนึ่งเป็นแท่งหินขนาดยักษ์ยืนเด่นอยู่ แลคล้ายศิวะลึงค์ ใต้ภูเขานี้มีถ้ำน้ำที่ลึกถึง 500 เมตร เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่ชอบผจญภัยในแนว Adventure หรือ Eco-Tourismการผจญภัยเข้าสู่ถ้ำน้ำเขาศิวะ เหมาะในฤดูร้อนและฤดูหนาว ส่วนฤดูฝนปริมาณน้ำในถ้ำอาจมากเกินไปจนเป็นอันตรายได้ การเข้าไปท่องเที่ยวต้องติดต่อชาวบ้านให้นำทางเข้าไป โดยมีไฟฉาย ถุงกันน้ำ (Dry Bag สำหรับใส่กล้องกันเปียกน้ำ) และสวมเสื้อชูชีพเข้าไปด้วย เพราะระดับน้ำลึกประมาณ 10-220 เซนติเมตร บางช่วงสามารถเดินลุยน้ำ แต่บางช่วงก็ต้องว่ายน้ำเข้าไป ภายในถ้ำมีหินงอก หินย้อย ม่านหินปูน (Flow Stone) และโพรงลึกที่มีขั้นบันไดหินปูนลดหลั่นสวยงามมาก นับเป็นแหล่งท่องเที่ยว Unseen ที่ท้าทายสุดๆ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ ททท. สำนักงานสระแก้ว-นครนายก-ปราจีนบุรี โทร. 0-3731-2284 เขาฉกรรจ์ อำเภอเขาฉกรรจ์  เป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสระแก้ว เพราะเป็นเทือกเขาหินปูนขนาดใหญ่ที่สวยงามแปลกตา 3 ลูกเรียงต่อกัน โดยมีเขาฉกรรจ์เป็นเขาลูกใหญ่สุดตั้งอยู่ตรงกลาง เขามิ่งอยู่ด้านซ้าย และเขาฝาละมีอยู่ด้านขวา มีถ้ำที่สำรวจพบแล้วมากถึง 72 แห่ง อาทิ ถ้ำเขาทะลุ ซึ่งเป็นช่องเขาสองด้านทะลุถึงกัน รอบๆ เขาฉกรรจ์ปัจจุบันยังมีผืนป่าร่มรื่น รวมถึงสวนสาธารณะ และร้านกาแฟวิวหลักล้าน น่าไปนั่งจิบเครื่องดื่ม พร้อมกับชมสวนดอกไม้กับคนรู้ใจ ไฮไลท์อย่างหนึ่งของการมาเที่ยวเขาฉกรรจ์ คือการได้ดูฝูงค้างคาวนับล้านตัวบินออกจากถ้ำไปหากิน โดยพวกมันจะพากันบินออกมาเป็นสายต่อเนื่องนานนับชั่วโมง และจะบินกลับเข้าถ้ำในตอนใกล้เช้าของวันใหม่ จุดชมค้างคาวแบบเจ๋งๆ คือที่ร้านกาแฟรอบๆ เขาฉกรรจ์ ซึ่งได้สร้างหอชมค้างคาวไว้ให้โดยเฉพาะ รวมถึงที่วัดเขาฉกรรจ์ด้วยค้างคาวเขาฉกรรจ์เป็นจำพวกที่ตัวไม่ค่อยใหญ่นัก มองจากระยะไกลคล้ายฝูงนก
เปลี่ยนบรรยากาศไปล่องแพชมธรรมชาติเพลินๆ พร้อมกับกินปลาเขื่อนกันที่ “เขื่อนพระปรง” อำเภอวัฒนานคร  เขาบอกว่าทุกเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม จะมี นกอ้ายงั่ว อันแสนหายากมาหากินอยู่ที่นี่ด้วยเขื่อนพระปรง  เป็นพื้นที่กักเก็บน้ำทางชลประทานที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดสระแก้ว  ความจุมากถึง 97 ล้านลูกบาศ์กเมตร มีพระราชดำริให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2521 โดยพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในการชลประทานหล่อเลี้ยงการเพาะปลูกของชาวบ้าน ตัวเขื่อนสร้างกั้นลำห้วยพระปรงที่ไหลลงมาจากป่าปางสีดา ตัวอ่างเก็บน้ำทั้งหมดจึงเป็นผืนป่าในอุทยานแห่งชาติปางสีดาที่ถูกน้ำท่วม เหมาะไปล่องแพชมธรรมชาติเพลินๆในระยะเวลา 1-2 ชั่วโมง พร้อมกับสั่งอาหารเมนูปลามานั่งกินบนแพอย่างมีความสุข หรือจะล่องเรือตกปลาก็ได้นะริมเขื่อนพระปรงมีที่จอดรถกว้างขวาง พร้อมกับซุ้มนั่งกินอาหารในแบบลูกทุ่ง
ล่องแพชมธรรมชาติอย่างมีความสุขที่เขื่อนพระปรงอาหารเมนูปลาที่เขื่อนพระปรงเปลี่ยนบรรยากาศมาเที่ยวในแบบวิถีชุมชนกันบ้างที่ “ชุมชนมิตรสัมพันธ์” อำเภออรัญประเทศ เป็นชุมชนชาวญวน หรือชาวเวียดนาม ที่อพยพเข้าสู่ประเทศไทยผ่านทางด่านชายแดนปอยเปต ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2489 เพราะต้องหนีภัยสงครามเวียดนาม เมื่อสงครามสงบลง พวกเขาจึงตั้งถิ่นฐานถาวรอยู่ในอำเภออรัญประเทศ ทุกวันนี้ในชุมชนมิตรสัมพันธ์เราจึงเห็นสถาปัตยกรรมการก่อสร้างที่มีกลิ่นอายจีนและเวียดนาม เข้ามาผสานผสมอย่างกลมกลืน โดยเฉพาะที่ วัดมิตรสัมพันธ์ที่วัดมิตรสัมพันธ์ ภายในชุมชน มีพระอุโบสถไสตล์จีน รวมถึงหอระฆังสถาปัยกรรมจีน และหอไตรเสาเดี่ยวกลางน้ำ ที่แปลกตาหาชมยากลูกหลานของชุมชนมิตรสัมพันธ์ในวันนี้ ยังไม่ลืมรากเหง้าถิ่นกำเนิดเดิมของตนเองในประเทศเวียดนาม ยังคงมีการสวมชุดอ๋าวหญ่าย หมวกทรงแหลม และในโรงเรียนยังอนุรักษ์การแสดงแบบเวียดนามด้วยความน่ารักของน้องๆ เชื้อสายญวนในชุมชนมิตรสัมพันธ์ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้วมาถึงชุมชนชาวญวนแท้ๆ ทั้งทีก็ต้องขอลองชิมอาหารเวียดนามอร่อยๆ กันที่ “ร้านยายต๊าม” เป็นร้านอาหารเวียดนามเจ้าแรกของอำเภออรัญประเทศ  เปิดมานานกว่า 60 ปี เมนูน่าลิ้มลองมีเพียบ เช่น แหนมเนือง, จ้างหล่อง, บั๋นหอย (หมี่หน้าหมู), ยำหมูยอ, ส้มตำเวียดนาม, หว๋อนก๊วน (เปาะเปี๊ยะสด), ข้าวต้มญวน (ข้าวต้มเลือดหมู), ก๊าจ๋า, จ๋าเจียง, ขนมเบื้องญวน, ข้าวเกรีบบปากหม้อ, กุ้งพันอ้อย และอีกมากมาย
(ร้านยายต๊าม ชุมชนมิตรสัมพันธ์ อำเภออรัญประเทศ โทร. 08-1559-8664, 0-3723-1794)
ข้าวต้มเลือดหมูสไตล์ญวน ว่ากันว่าหาชิมได้เฉพาะที่อำเภออรัญประเทศเท่านั้น เช้าๆ มีขายในตลาดแค่ไม่กี่เจ้า
ไปท่องเที่ยวกันต่อที่ “หมู่บ้านทับทิมสยาม 05” อำเภอคลองหาด
เป็นหมู่บ้านที่จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2536 บนพื้นที่ค่ายอพยพเดิม (ศูนย์อพยพที่ 8) ชายแดนไทย-กัมพูชา โดยมีลำคลองน้ำใสกั้นพรมแดนเอาไว้ ภัยสงครามทำให้ผู้อพยพหลั่งไหลเข้ามา และเมื่อเหตุการณ์สงบลง จึงมีการจัดตั้งเป็นหมู่บ้านทับทิมสยาม 05 พร้อมด้วยการนำโครงการพระราชดำริเข้ามา ทั้งเกษตรกรรมและเลี้ยงโคนม ปัจจุบันหมู่บ้านมีเนื้อที่กว่า 9,960 ไร่ รวม 150 หลังคาเรือน และมีคนอาศัยอยู่เกือบ 800 คน นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาขับรถเที่ยวชม จะเห็นแบบแปลนบ้านที่เหมือนกันทุกหลัง เพราะสร้างขึ้นโดยทุนบริจาคโครงการความร่วมมือไทย-เยอรมนีบังเกอร์หลบระเบิดในอดีต หมู่บ้านทับทิมสยาม 05
ภายในหมู่บ้านทับทิมสยาม 05 มีจุดชมวิวที่ได้นิกเนมว่า “สวิตเซอร์แลนด์เมืองไทย” เพราะมีเทือกเขาล้อมรอบตัวเราทั้ง 360 องศา
พร้อมด้วยร้านกาแฟเปิดใหม่ชื่อ “ร้าน Marugo Park” (โทร. 09-3321-2977) มีทุ่งดอกทานตะวันและแปลงกุหลาบหลากสี ให้ถ่ายภาพอย่างเพลิดเพลิน แถมยังมีลานกางเต็นท์นอนค้างคืนรับลมธรรมชาติด้วย
สวนกุหลาบ ที่ร้านกาแฟ Marugo Park หมู่บ้านทับทิมสยาม 05
ร้านกาแฟ Marugo Park หมู่บ้านทับทิมสยาม 05แปลงดอกไม้ ที่ร้านกาแฟ Marugo Park ค่าเข้าชมครั้งละ 30 บาท/คน
(ขอบคุณภาพจาก : คุณสุเทพ ช่วยปัญญา เว็บไซต์ The Way News)
ไหนๆ เที่ยวเชิงเกษตร Argo-Tourism กันแล้ว ก็เที่ยวต่อเนื่องที่ “สวนวังน้ำฟ้า” อำเภอวังสมบูรณ์ (โทร. 06-2398-9922, 08-1864-7629) เลยดีกว่า เพราะที่นี่มีอินทผาลัมสดอร่อยให้ชิมสวนไม้ดอกไม้ใบร่มรื่นสวยงาม เข้าชมได้ตลอดปี ที่สวนวังน้ำฟ้า
ความเขียวสดชื่น ของบรรยากาศธรรมชาติในสวนวังน้ำฟ้า
สวนอินทผาลัม สวนวังน้ำฟ้า เริ่มปลูกเมื่อ พ.ศ. 2555  ประมาณ 1,000 ต้น กระทั่งปัจจุบันมีพันธุ์ที่โดดเด่นคือ พันธุ์บาร์ฮี (Barhi) และพันธุ์อาเหม็ด ดาฮาน (Ahmed Dahan) โดยซื้อต้นพันธุ์เข้ามาจากประเทศ UAE แล้วนำมาเพาะเนื้อเยื่อต่อ จึงให้ผลดกดีมาก สวนนี้ขายเฉพาะผลสด ใครอยากชิมต้องมาที่สวนเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีส้มเวียดนาม ส้มโอ และส้มเขียวหวานให้ชิมด้วยอินทผาลัมพันธุ์อาเหม็ด ดาฮาน ของสวนวังน้ำฟ้า ใกล้สุกได้ที่อินทผาลัมพันธุ์อาเหม็ด ดาฮาล  กินผลสดเนื้อหวานกรอบกำลังดีนอกจากอินทผาลัมสดแล้ว ที่สวนวังน้ำฟ้ายังมีน้ำอินทผาลัมให้ชิมด้วย เขาบอกว่าน้ำตาลในน้ำอินทผาลัมเป็น น้ำตาลฟรุกโตส (Fructose) ที่ดีต่อสุขภาพ  แต่ก็ไม่ควรบริโภคในปริมาณมากเกินควรแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร Agro-tourism ที่สำคัญมากอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดสระแก้วคือ “โรงเรียนกาสรกสิวิทย์” (หรือโรงเรียนสอนควาย) อำเภอเมืองสระแก้ว โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ.​ 2552โดยพระราชดำริของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  เพื่อสืบสานความผูกพันระหว่างควาย (กระบือ) และชาวนาไทย โดยเน้นการสอนควายให้ไถนาเป็น สอนชาวนาให้ทำนาอย่างถูกวิธี อีกทั้งเป็นศูนย์ศึกษาวิจัยสุขภาพควาย พืชอาหารควาย มีแปลงปลูกข้าวนาโยน และห้องวิจัยทางวิทยาศาสตร์ด้วยแปลงปลูกข้าวนาโยน ที่โรงเรียนกาสรกสิวิทย์เกวียนแบบโบราณ อนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลานดูที่โรงเรียนกาสรกสิวิทย์
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ทรงตั้งชื่อให้ร้านกาแฟในโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ว่า “ร้านควายคะนอง Coffee & Restaurant” เป็นชื่อเก๋ไก๋ มีกาแฟ Signature หลายตัวต้องชิม เช่น กาแฟควายเผือก หรือลาเต้เย็นเรียนรู้การไถนาร่วมกันระหว่างควายและคน
ควายด่อน หรือควายเผือก ตัวอ้วนพี ที่โรงเรียนกาสรกสิวิทย์มุมนั่งพักผ่อนชมธรรมชาติทุ่งนาสุดชิลที่ โรงเรียนกาสรกสิวิทย์สำหรับใครที่ชื่นชอบขนมพื้นบ้านของจังหวัดสระแก้ว ขอแนะนำให้ไปที่ชุมชนบ้านพร้าว ชิม “ข้าวหลามบ้านพร้าว” อำเภอวัฒนานคร  ของกินของฝากขึ้นชื่อ ที่มีมานานกว่า 50 ปีแล้วข้าวหลามบ้านพร้าวเจ้าแรกที่เป็นต้นตำรับคือ “ข้าวหลามป้าบาง”  ทำมาตั้งแต่ป้าบางอายุแค่ 19 ปี เริ่มจากการหาบขาย เผาด้วยไม้ฟืนแบบดั้งเดิม จนปัจจุบันทำข้าวหลามขายกันทั้งชุมชน ความพิเศษของข้าวหลามบ้านพร้าวคือ เป็นข้าวหลามไส้สังขยาตั้งแต่หัวจรดท้ายลำ มีทั้งข้าวเหนียวขาว ข้าวเหนียวดำ และหน้าสังขยา รสหวานมัน ชุ่มด้วยน้ำกะทิ ใครอยากดูขั้นตอนการเผาต้องตื่นเช้า เพราะชาวบ้านจะเผาข้าวหลามตั้งแต่ตีสามตี่สี่แล้ว  (ข้าวหลามป้าบาง ชุมชนบ้านพร้าว โทร. 08-4782-3377)มาถึงจังหวัดสระแก้วแล้ว ถ้าไม่ได้สัมผัสร่องรอยอารยธรรมขอมบนแผ่นดินสุวรรณภูมิก็ดูจะกะไรอยู่ ห้ามพลาด “ปราสาทสด๊กก๊อกธม” อำเภอโคกสูง เป็นปราสาทขอมขนาดใหญ่และสำคัญที่สุดของจังหวัดสระแก้ว และยังจัดเป็น ปราสาทหินขอมขนาดใหญ่ที่สุดของภาคตะวันออก สร้างขึ้นสมัยพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 ถึงปัจจุบันก็อายุพันกว่าปีแล้ว โดยทำหน้าที่เป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดู ก่อนที่อาณาจักรขอมโบราณจะเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธในภายหลัง
(ขอบคุณภาพจาก : คุณสุเทพ ช่วยปัญญา เว็บไซต์ The Way News)ปราสาทสด๊กก๊อกธม สร้างด้วยหินทรายและศิลาแลงตามศิลปะคลัง-บาปวน มีการค้นพบหลักศิลาจารึกสด๊กก๊อกธม (หลักที่ 2) จดบันทึกเรื่องราวของชนชาติขอมโบราณ ช่วงระยะเวลานานถึง 200 ปี อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในจำนวนปราสาทนับร้อยแห่งที่สร้างไว้บน “เส้นทางราชมรรคา” หรือ The Royal Roads เชื่อมโยงภาคอีสานของไทย เข้าสู่เมืองพระนครศูนย์กลางอาณาจักรขอมโบราณ
นอกจากนี้ ปราสาทสด๊กก๊อกธมยังเป็นปราสาทหินขอมแห่งแรกในเมืองไทย ที่ได้รับการบูรณะด้วย วิธีอนัสติโลซิส (Anastylosis) เป็นเทคนิคทางโบราณคดีของประเทศฝรั่งเศส คือถอดซากหินที่ปรักหักพัง ใส่หมายเลขกำกับ จากนั้นประกอบขึ้นใหม่ให้เหมือนเดิม ซึ่งวิธีนี้จะใช้ได้กับปราสาทหินเท่านั้น เพราะปราสาทที่สร้างขึ้นด้วยอิฐหากรื้อแล้วประกอบใหม่ อิฐก็จะหักพังหมด
(ขอบคุณภาพจาก : คุณสุเทพ ช่วยปัญญา เว็บไซต์ The Way News) ก่อนเข้าชมตัวปราสาทสด๊กก๊อกธม จะพบกับ “พิพิธภัณฑ์ปราสาทสด๊กก๊อกธม” (ศูนย์บริการข้อมูล) ที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่เอี่ยม รับผิดชอบดูแลโดยกรมศิลปากรภายในศูนย์บริการข้อมูลปราสาทสด๊กก๊อกธรม ให้เข้าชมแบบเดินทางเดียว (เวียนขวา) ห้องแรกเป็น Mini Theater หรือโรงภาพยนตร์ขนาดย่อม ฉายประวัติความเป็นมาอย่างย่อของปราสาทสด๊กก๊อกธม ให้เข้าใจได้อย่างกระชับรวดเร็วโมเดลจำลองเรื่องราวการก่อสร้างปราสาทสด๊กก๊อกธม ย้อนไปเมื่อกว่าพันปีก่อนห้องนิทรรศการให้ความรู้เรื่องปราสาทหินในประเทศไทย
ห้องจัดแสดงเศษซากหินปรักหักพังจาก ปราสาทสด๊กก๊อกธม โมเดลจำลองปราสาทสด๊กก๊อกธม เราตามรอยประวัติศาสตร์อารยธรรมขอมบนแผ่นดินจังหวัดสระแก้วมาที่ “ลานหินตัด” อำเภอตาพระยา หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “สระเพลง” เพราะในคืนวันพระมักได้ยินเสียงเพลงดนตรีไทยแว่วออกมาจากป่า อันเป็นจุดที่ตั้งของแหล่งหินตัดอายุนับพันปีนี้ลานหินตัดตาพระยา (สระเพลง) เป็นแหล่งหินทรายธรรมชาติที่มีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ ค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2523 โดยชาวบ้านที่อยู่ในแถบเทือกเขาพนมดงรัก (ชายแดนไทย-กัมพูชา) ปัจจุบันการเข้าไปชมต้องนั่งรถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อ จากหน่วยพิทักษ์อุทยานตาพระยา 1 เข้าไปประมาณ 10 นาที จากนั้นต้องเดินเท้าผ่านป่าไผ่และป่าเบญจพรรณรกทึบขึ้นลงเนิน เข้าไปประมาณ 500 เมตร ก็จะพบกับแนวหน้าผาหินสูง 4-5 เมตร ที่มีร่องรอยการตัดหินเป็นแนวตรงลึกลงในเนื้อหินประมาณ 5 นิ้ว แสดงถึงการใช้เครื่องมือโบราณตัดหินได้อย่างชาญฉลาดและละเอียด นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า เมื่อช่างตัดหินเป็นก้อนๆ เสร็จแล้ว ก็จะใช้ช้างชักลาก หรือล่องหินไปตามลำน้ำ สู่แหล่งสร้างปราสาทหินในเขมร
การท่องเที่ยวที่ลานหินตัดตาพระยา ปัจจุบันยังต้องใช้เจ้าหน้าที่นำทาง และเหมาะสำหรับคนที่มีสุขภาพแข็งแรง สามารถเดินป่าได้จังหวัดสระแก้วมีการท่องเที่ยวเชิงศาสนาด้วย หากใครสนใจกราบขอพรพระเกจิชื่อดัง เชิญที่ “วัดป่าใต้พัฒนาราม” อำเภอวัฒนานคร  กราบ “หลวงปู่บุดดา ปัญญาธโร” พระอริยสงฆ์ผู้มีอายุมากถึง 112 ปี แล้วพระอุโบสถวัดป่าใต้พัฒนาราม สร้างด้วยศิลปกรรมร่วมสมัย มีลวดลายปูนปั้นวิจิตรพิสดารหลวงปู่บุดดา เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2454 เป็นพระอริยสงฆ์ผู้มีเมตรบารมีธรรมสูงส่ง ใบหน้าของท่านจึงมีรอยยิ้มอยู่เสมอ ท่านดำรงตนเรียบง่าย ฉันอาหารพื้นบ้านธรรมดา และยังออกบิณฑบาตรโปรดสัตว์ ลงทำวัตรตามกิจของสงฆ์อย่างเคร่งครัด สิ่งที่ทำให้ท่านโด่งดังอีกอย่างคือ พระเครื่องอันมีฤทธิ์เข้มขลังจากการปลุกเสก แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่หลวงปู่บุดดามิได้เน้น เพราะท่านย้ำเสมอให้เชื่อในการทำดี ยึดถือศีล สมาธิ ปัญญา เป็นหลักสำหรับสายมูสายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ต้องไปต่อกันที่ “สำนักสงฆ์แม่ย่าซอม” อำเภอคลองหาดประวัติเล่าสืบต่อกันมาว่า แม่ย่าซอมเป็นชาวเขมรที่อาศัยอยู่ในอำเภอคลองหาดเมื่อครั้งอดีต กาลล่วงถึงปัจจุบันก็ยังมีชาวบ้านเห็นแม่ย่าซอมในชุดนุ่งขาวห่มขาวปรากฏกายเป็นประจำ ต่อมามีพระธุดงค์รูปหนึ่งมาปักกลดในที่นาชาวบ้าน กลางคืนฝันว่าแม่ย่าซอมประสงคฆ์ให้ท่านช่วยสร้างวัดไว้ตรงนี้ ตื่นเช้ามาก็มีชาวบ้านนำเงินมาถวาย และบริจาคที่ดินให้สร้างสำนักสงฆ์ขึ้นได้จริงๆ อย่างน่าอัศจรรย์
สำนักสงฆ์แม่ย่าซอม มีงานศิลป์สิ่งศักดิ์ให้สักการะมากมาย ทั้งปู่พญานาค, พระพิฆเนศวร, พระราหู และอื่นๆ อีกมากมายปิดท้ายทริปสำรวจแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดสระแก้ว อย่างมีความสุข ที่ร้านอาหารเวียดนามแสนอร่อย “ร้านยายเต็ม” อำเภอเมืองสระแก้ว (โทร. 08-0880-0090) 
ร้านยายเต็ม เป็นร้านอาหารเวียดนามที่ตกแต่งแปลกตาสวยงาม เน้นสไตล์ Vintage นำของสะสมเก่าๆ ชวนให้นึกถึงอดีต มาประดับตกแต่งได้อย่างลงตัว อาหารเวียดนาม และอาหารอีสานแสนอร่อยที่ ร้านยายเต็ม อำเภอเมืองสระแก้ว
สนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬา จังหวัดสระแก้ว

โทร. 037-425031 หรือ https://sakaeo.mots.go.th

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *