เสน่ห์อีสานใต้ สุขใจเมื่อไป สุรินทร์
“อีสาน” ดินแดนแห่งความงดงามในวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และธรรมชาติอันสวยสดงดงาม ทริปนี้เราจะไปเที่ยว “จังหวัดสุรินทร์” ถิ่นอีสานใต้ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นถึงแง่มุมใหม่ๆในสไตล์เที่ยวตัวปลิวชิลอีสานแสนสุขใจ เมื่อพูดถึงสุรินทร์ คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงภาพหมู่บ้านช้างเลี้ยงที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ บ้านตากลาง นึกถึงข้าวหอมมะลิพันธุ์ดี และแน่นอนว่าต้องนึกถึงภาพวิถีชีวิตการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เพื่อนำมาทอผ้าไหมชั้นเลิศ ที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ เนื้อบางเบาเงางาม สวมใส่แล้วสบายระบายความร้อนได้ดี ผ้าไหมสุรินทร์จึงเป็นหนึ่งในหัตถกรรมเลื่องชื่อมาช้านาน ณ หมู่ 3 ตำบลเขวาสินรินทร์ อำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ เราได้พบกับกลุ่ม “สิบธันวาทำมือ” (โทร. 09-8119-2389) แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่นำเอาเสน่ห์ของผ้าไหมออกมาให้เราสัมผัสอย่างใกล้ชิด ก่อกำเนิดขึ้นจาก คุณคณิศร ชาวนา ผู้นำกลุ่มสิบธันวาทำมือ โดยตั้งชื่อตามวันเกิดของตัวเอง คือ 10 ธันวาคม เริ่มต้นจากการรวมกลุ่มเล็กๆ พอมีรายได้ในชุมชน ต่อมาจึงขยายเป็นแหล่งสาธิตให้คนทั่วไปได้เรียนรู้เรื่องผ้าไหมอย่างครบวงจร พร้อมกิจกรรม DIY ให้ลองทำกันด้วยภายในศูนย์เรียนรู้มีชาวบ้านที่เชี่ยวชาญช่ำชองในการทอผ้าไหม มานั่งสาธิตขั้นตอนต่างๆ ให้เราชม สร้างความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างเจ้าบ้านกับผู้มาเยือน ตั้งแต่การเลี้ยงไหม สาวไหม ผูกลายก่อนนำไปย้อม ย้อมสีธรรมชาติ กรอเส้นไหมเข้ากระสวย และการทอผ้าไหมมัดหมี่ที่วิจิตรงดงาม การผูกลายก่อนนำไปย้อมและทอ จนเกิดผ้าไหมมัดหมี่ที่สวยงามของเขวาสิรินทร์ รังไหมที่มีตัวดักแด้อยู่ภายใน นำมาต้มเพื่อดึงเส้นไหมบอบบางออกมากรอรวมกันก่อนนำไปย้อมและทอ ขั้นตอนนี้ชาวบ้านจะไม่ทำในวันพระ เพื่อละเว้นชีวิตเจ้าดักแด้น้อยผู้เสียสละให้เกิดผ้าไหมผืนงาม เส้นไหมและฝ้ายของกลุ่มสิบธันวาทำมือ ย้อมด้วยสีธรรมชาติล้วนๆ จึงน่าสวมใส่และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยนำวัสดุธรรมชาติอย่างเปลือกไม้ใบไม้ในท้องถิ่นมาใช้ได้อย่างครบคุณค่า
ชมขั้นตอนการทำผ้าไหมมัดหมี่เสร็จแล้ว ก็ได้เวลาเข้าไปช้อปปิ้งผ้าไหมงามๆ ในร้านเพื่ออุดหนุนกระจายรายได้และเป็นกำลังใจให้ชาวบ้านกันด้วย เหล่านี้คืองานศิลปะบนผืนผ้าแพรพรรณที่ต้องใช้ทักษะเวลาและความอุตสาหะอย่างสูง ดังนั้นเวลาซื้อก็อย่าไปต่อราคาชาวบ้านเลยนะจ๊ะ สุขใจทุกครั้งเมื่อได้มาเยือนสุรินทร์ ถิ่นผ้าไหมงาม ที่น้ำใจไมตรีของผู้คนก็งดงามไม่แพ้กัน สุรินทร์ไม่ได้มีดีแค่ช้างและผ้าไหมนะจ๊ะ แต่ชาวบ้านเขายังมีทักษะการสานหวายได้อย่างประณีตงดงาม และทนทนานน่าใช้ ลองเดินทางไปที่ “บ้านบุทม” ตำบลเมืองที อำเภอเมืองสุรินทร์ สัมผัสชุมชนน่ารักที่มีสินค้าหัตถกรรมชั้นเลิศ และยังได้เป็นชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีด้วยนะ (ติดต่อหมู่บ้านหัตถกรรมจักสานบุทม โทร. 0-4454-9044, 08-1065-2397, 08-1660-9714)
บ้านบุทม (เบาะทม) เป็นภาษาเขมร “เบาะ” แปลว่า “ที่ดอนซึ่งเต็มไปด้วยป่า” แต่ถูกถากถางทำไร่ และ “ทม” แปลว่า “ใหญ่” รวมความว่า ป่ารกชัฏและมีการถากถางทำไร่ขนาดใหญ่
ชาวบ้านส่วนใหญ่ของบ้านบุทม ทำจักสานหวายเกือบทุกครัวเรือน โดยทำนาเป็นอาชีพหลักและทำจักสานเป็นอาชีพเสริม การจักสานนี้ทำกันมากว่า 60 ปีแล้ว จุดเริ่มต้นคือเมื่อปี พ.ศ. 2473 นายลีง เลิศล้ำ นายเหลี่ยม ภาสวัสดี และนายพัน กล้ายิ่ง ได้เรียนรู้การจักสานหวายมาจากเรือนจำจังหวัดสุรินทร์ หลังจากนั้นก็นำมาทำจักสานตะกร้าหวายเลี้ยงครอบครัว ภายหลังจึงได้ถ่ายทอดความรู้สู่ชาวบ้านจุดเด่นงานจักสานของบ้านบุทม คือใช้ลวดลายดั้งเดิม คือ “ลายลูกกรง” เป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้ผลิตภัณฑ์สวยงาม แข็งแรง เพราะใช้หวายทั้งต้น เหมาะกับการใช้งาน รูปแบบดั้งเดิมได้พัฒนามาสู่ตลาดสากล ใช้หวายเส้นเล็ก (หวายหางหนู) ที่เหนียวและผิวมัน ปัจจุบันหวายบ้านบุทม ได้รับรองมาตรฐานชุมชนจากกระทรวงอุตสาหกรรมเรียบร้อยแล้ว
ชาวบ้านบอกว่า เครื่องหวายเหล่านี้เมื่อใช้ไปนานๆ ถ้ารู้สึกว่ามันเก่า ให้ลองนำไปแช่น้ำมะนาวผสมน้ำทิ้งไว้สักพัก ล้างน้ำเปล่าให้สะอาด ผึ่งแดดให้แห้ง ก็จะกลับมาดูใหม่เหมือนเดิม ใช้ไปได้อีกนานมากๆประณีตศิลป์อีกอย่างหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงมากของสุรินทร์มาช้านาน ก็คือ “การทำเครื่องเงิน” ใช้ใส่เป็นเครื่องประดับชุดผ้าไหมเนื้อเนียนละเอียดได้เข้าคู่เหมาะเจาะสุดๆ โดยเฉพาะที่ บ้านโชค ตำบลเขวาสิรินทร์ อำเภอเขวาสิรินทร์ “ร้านเครื่องเงิน ลุงป่วน เจียวทอง” แหล่งผลิตเครื่องเงินด้วยวิธีดั้งเดิม และยังอนุรักษ์ลายโบราณ 13 ลายไว้เป็นมรดกของแผ่นดิน แหล่งจำหน่ายเครื่องเงินและสินค้า OTOP ของสุรินทร์มีอยู่ทั่วไป ที่ใกล้ๆ หมู่บ้านช้างก็มีหลายแห่ง เราสามารถไปเดินเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากงาช้าง, แหวนจากขนหางช้าง, ไม้แกะสลัก, ผ้าทอ ฯลฯ หลังจากช่วงเกี่ยวข้าวแล้ว ใครมาเที่ยวสุรินทร์ในเดือนมกราคม-มีนาคม ก็จะได้ยลภาพงดงามน่าประทับใจของ “ทุ่งดอกปอเทืองสีเหลืองอร่าม” ซึ่งชาวบ้านปลูกสลับกับช่วงเว้นว่างจากนาข้าว เพื่อให้ต้นปอเทืองดึงไนโตรเจนในอากาศลงไปบำรุงดินเพิ่มเติมธาตุอาหาร และได้กลายเป็นจุดถ่ายภาพใหม่ให้นักท่องเที่ยวด้วย ไม่ต้องไปดูทุ่งดอกไม้ไกลถึงต่างประเทศเลยจ้า
สำหรับนักปั่นจักรยาน การเที่ยวชมทุ่งดอกปอเทืองในจังหวัดสุรินทร์ ก็น่าจะเป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ สุรินทร์ยังมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร หรือ Agro-Tourism ด้วย ไม่ไปเห็นกับตาคงไม่รู้ ที่นี่ชื่อ “ตั้งถาวรฟาร์ม” (Tangtaworn Farm) อยู่หมู่ 2 ตำบลยะวึก อำเภอชุมพลบุรี (โทร. 06-1029-6557) หน้าฟาร์มและร้านอาหารของที่นี่เปิดทุกวัน อีกทั้งอยู่ห่างจากสนามบินบุรีรัมย์แค่สิบกว่ากิโลเมตรเท่านั้น เที่ยวง่ายเที่ยวสบาย Happy กันทั้งครอบครัว
ตั้งถาวรฟาร์ม มีชื่อเสียงที่สุดในเรื่องเมล่อนรสเลิศหลากหลายสายพันธุ์ ที่นำมาปลูกได้งอกงามดีในดินทุ่งกุลาร้องไห้ของจังหวัดสุรินทร์ นอกจากนี้ยังมีพืชผักปลอดสารพิษในโรงเรือน นำออกมาจำหน่ายและปรุงเป็นอาหารเมนูต่างๆ เสิร์ฟให้ชิมกันทุกวันในร้านอาหารติดแอร์เย็นฉ่ำ
ตั้งถาวรฟาร์ม คือแหล่งปลูกเมล่อนเมืองช้างกลางทุ่งกุลาร้องไห้ นอกจากนี้ยังมีน้ำเมล่อนปั่น สมูทตี้เมล่อน ไอศครีมเมล่อน กาแฟสด ก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋น ฯลฯ เดินทางกันมาเหนื่อยๆ แวะพักชิมผลไม้และอาหารสดอร่อยที่ดีต่อสุขภาพกันนะ เมล่อนของตั้งถาวรฟาร์มมีทั้งแบบเนื้อกรอบและเนื้อนิ่ม ความหวานก็เป็นธรรมชาติมากๆ ไม่มีการเร่งหรือเพิ่มเติม เหมาะสำหรับคนรักสุขภาพเป็นที่สุด ชิมเมล่อนเสร็จก็ต่อกันด้วยแตงโมไร้เมล็ดที่ชื่นใจ ช่วยคลายร้อนได้เป็นอย่างดี มะเขือเทศ Organic ของตั้งถาวรฟาร์ม หวานกรอบอร่อย ดีต่อสุขภาพสุดๆ
ข้าวโพดหวานแบบกินสด ปอกเปลือกออกกินได้ทันที เนื้อมีความกรอบและหวานน้อยๆ กำลังดีส้มตำเมล่อน ของตั้งถาวรฟาร์ม มาแล้วต้องชิม ไม่ชิมถือว่ามาไม่ถึงเนอะ
ไปกินกันต่อที่ “ฟาร์มเห็ดลุงกะทิ” บ้านบุทม ตำบลเมืองที อำเภอเมืองสุรินทร์ (โทร. 08-9881-5040) ร้านอาหารเล็กๆ แต่คุณภาพคับจานคับแก้ว เพราะเป็นร้านแรกที่เสิร์ฟก๋วยเตี๋ยวที่ทำจากเส้นเห็ดสุขภาพให้เราได้ชิมกัน ร้านนี้เปิดขายทุกวัน ตั้งแต่เวลา 9.00-17.00 น. อยู่ที่ กม.14 ถนนสุรินทร์-ศีขรภูมิ ใกล้โรงเรียนรามวิทยารัชมังคลาภิเษก อยู่ริมถนนมองเห็นได้ชัดเจนเลย ฟาร์มเห็ดแห่งนี้เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของ คุณฉัตรชัย ชัยวงษ์ และคุณสาวสายฝน ดวงคำ สองสามีภรรยาที่พลิกชีวิตจากอาชีพวิศวกรโรงงาน มาทำเกษตรอย่างยั่งยืนโดยเน้นไปที่การเพาะเห็ดสายพันธุ์ต่างๆ ทั้งเห็ดนางฟ้าภูฐาน, เห็ดนางรมฮังการี, เห็ดนางนวล, เห็ดขอนขาว, เห็ดนางรมทอง, เห็ดหลินจือ และเห็ดโคนน้อย เป็นต้นเส้นก๋วยเตี๋ยวทำจากเห็ดสดๆ ซึ่งทำกันแบบชามต่อชาม จึงไว้ใจได้ในเรื่องคุณภาพและความสะอาด นอกจากเห็ดสดและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเห็ดในราคาย่อมเยาว์แล้ว ต้องไม่พลาดสั่ง “ก๋วยเตี๋ยวเส้นเห็ด” น้ำซุปหอมอร่อย ชามละ 40 บาท ต่อด้วย ส้มตำเห็ด จานละ 60 บาท เห็ดทอดกรอบและเกี๊ยวเห็ดเข็มทอง จานละ 40 บาทเท่านั้น เห็ดทอดฟาร์มลุงกะทิหน้าตาเป็นแบบนี้เองจ้า ชิมกันให้อิ่มแปล้ไปเลย กับเห็ดสุขภาพหลากหลายเมนูที่ฟาร์มลุงกะทิ จ.สุรินทร์
อิ่มแล้ว ก็ได้เวลาเข้าไปชมโรงเรือนเพาะเห็ด เผื่อใครได้แรงบันดาลใจจะกลับไปทำเป็นอาชีพได้นะ
ก่อนโบกมือลาสุรินทร์ เราลองมาสัมผัสร้านกาแฟเก๋ๆ ชิลๆ กันบ้าง รับรองว่าถูกใจวัยโจ๋แน่นอน ร้านแรกชื่อ “Craft Cafe” อยู่เลขที่ 139 ถนนสุรนิทร์ภักดี ในเทศบาลเมืองสุรินทร์ (โทร. 09-5605-4281) นอกจากความน่ารักของการตกแต่งร้านให้ดูเหมือนบ้าน และห้องนั่งเล่นที่เต็มไปด้วยหนังสือน่าอ่านแล้ว เรายังมีความสุขกับรอยยิ้มของเจ้าของร้าน ที่พร้อมเสิร์ฟเครื่องดื่มและเค้กต่างๆ ให้ชิมกันได้ทุกวัน สามารถมานั่ง Hangout พูดคุยสรวนเสเฮฮากับเพื่อนๆ ได้นานๆ อย่างไม่น่าเบื่อเลย ร้านกาแฟสุดฮิปในสไตล์เหมือนอยู่บ้านอีกแห่ง คือ “Life Coffee @Home” เลขที่ 267 ถนนศรีพัฒนา อำเภอเมืองสุรินทร์ (โทร. 08-6866-5503) จุดนัดพบใหม่ของคนรุ่นใหม่ ซึ่งเราไม่ควรพลาด ภายในร้านมีมุมน่ารักๆ ให้นั่งชิลได้นานๆ ตกแต่งด้วยแสงไฟสีอุ่น มองออกไปด้านนอกเห็นสวนสวยสีเขียวเย็นตาอยู่ใกล้แค่เอื้อม แค่มีหนังสือดีๆ สักเล่ม และเครื่องดื่มที่ถูกใจสักแก้ว ก็สุขเกินใครแล้ว สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงาน จ.สุรินทร์ โทร. 0-4451-4447
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!