เที่ยวสุขใจ ซาลามัตชายแดนใต้ @ปัตตานี
สามจังหวัดชายแดนใต้ ดินแดนแห่งความสดใหม่ไร้การปรุงแต่ง ดินแดนแห่งรอยยิ้มและมิตรไมตรี ดุจคำกล่าวต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกคนว่า ‘ซาลามัตชายแดนใต้’ วันนี้เราได้ไปเที่ยว จังหวัดปัตตานี ดินแดนพหุวัฒนธรรมที่มีทั้งพี่น้องชาวมุสลิม จีน และไทย อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์มาช้านาน เหมาะไปเที่ยวชมกันได้ทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะวัย Silver Age ที่แม้จะมีอายุมาก แต่ก็เที่ยวปัตตานีได้สบาย 1. มัสยิดกลางปัตตานี อ.เมืองปัตตานี ‘สถาปัตยกรรมงดงามตามแบบทัชมาฮาล’
ถือเป็นมัสยิดสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของไทย และเป็นหนึ่งในมัสยิดสำคัญที่สุดของภาคใต้ เป็นศูนย์รวมใจของพี่น้องชาวมุสลิมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497 ที่เริ่มเปิดใช้งาน ความโดดเด่นอยู่ที่สถาปัตยกรรมการก่อสร้าง เลียนแบบทัชมาฮาลในอินเดีย ตรงกลางมีโดมขนาดใหญ่ ล้อมรอบด้วยหอขาน (หออะซาน) 4 หอ ด้านหน้ามีสระน้ำใหญ่ ยามค่ำคืนเปิดไฟหลากสีประดับประดาอย่างงดงาม นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมได้อย่างใกล้ชิด แต่ต้องแต่งกายสุภาพ ไม่ส่งเสียงดังโวยวาย และต้องเคารพผู้ที่มาประกอบพิธีกรรมทางศาสนาด้วย
2. มัสยิดกรือเซะ อ.เมืองปัตตานี ‘300 ปี แห่งศูนย์รวมใจพี่น้องชาวมุสลิม’
หรือ มัสยิดสุลต่านมูซัฟฟาร์ชาห์ เป็นมัสยิดเก่าแก่กว่า 300 ปี ซึ่งในอดีตเข้าใจผิดกันว่าเพราะต้องคำสาปจึงสร้างไม่เคยเสร็จ ทว่าปัจจุบันได้มีการพิสูจน์โดยนักโบราณคดีแล้วว่า โครงสร้างที่เหลือในปัจจุบัน คือร่องรอยของตัวมัสยิดที่เคยงดงามสมบูรณ์ในอดีต สันนิษฐานกันว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ด้วยการผสมผสานศิลปกรรมตะวันออกกลางและยุโรปเข้าด้วยกัน แม้รูปลักษณ์ภายนอกจะมิได้ฉาบปูนทาสี แต่มัสยิดกรือเซะก็ยังทำหน้าที่เป็นโบราณสถานและศูนย์รวมใจพี่น้องชาวมุสลิมอย่างเหนียวแน่น ด้านหน้ามีแท่นปืนใหญ่โบราณ (จำลอง) ตั้งอยู่ สำรวจพบว่าเป็นที่หล่อปืนใหญ่หลายกระบอกด้วยวิทยาการล้ำสมัย
3. ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว อ.เมืองปัตตานี ‘ศาลศักดิ์สิทธิ์ ตำนานเจ้าแม่แห่งศรัทธา’
หรือศาลเจ้าเล่งจูเกียง เป็นที่ประดิษฐานรูปแกะสลักของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว พระหมอเจ้าแม่ทับทิม และองค์พระอีกหลายองค์ เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวเป็นที่เลื่อมใสของชาวไทยเชื้อสายจีน ทั้งในท้องถิ่น และจากจีน มาเลเซีย สิงคโปร์ เปิดให้เข้าสักการะได้ทุกวัน เมื่อย่างเข้าไปภายในจะสัมผัสได้ถึงกลิ่นอายความศรัทธา และเรื่องราวของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ซึ่งท่านลงเรือจากเมืองจีนมาสู่ปัตตานี เพื่อติดตามพี่ชาย คือ ลิ้มโต๊ะเคี่ยม ให้กลับบ้านเกิด แต่ไม่สำเร็จ เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวจึงตัดสินใจปลิดชีวิตตนเอง ตามสัญญาที่มีกับแม่ ว่าถ้าตามพี่ชายกลับไปไม่ได้ ก็จะไม่กลับบ้านอีก ทุกปีจะมีงานสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ทุกเดือนกุมภาพันธ์
4. พิพิธภัณฑ์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว อ.เมืองปัตตานี ‘แหล่งความรู้คู่เมืองปัตตานี’
ตั้งอยู่ติดกับศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เพิ่งจัดสร้างขึ้นใหม่ ภายในติดแอร์เย็นฉ่ำ บอกเล่าเรื่องราวประวัติความเป็นมาของเมืองปัตตานีในอดีต ที่มีลักษณะเป็นเมืองท่าขนาดใหญ่ รวมทั้งมีเรื่องราวของพระหมอ, เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว และอื่นๆ อีกมากมาย ใครที่สนใจด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม มาเยี่ยมชมไม่ผิดหวังแน่นอนจ้า
5. สุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว อ.เมืองปัตตานี ‘รำลึกตำนานเจ้าแม่’
ตั้งอยู่ใกล้มัสยิดกรือเซะ เป็นที่ฝังศพของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ซึ่งในอดีตท่านได้ลงเรือจากเมืองจีน มาตามพี่ชาย คือ ลิ้มโต๊ะเคี่ยม ให้กลับบ้านเกิด ทว่าลิ้มโต๊ะเคี่ยมได้มีครอบครัวแต่งงานและเปลี่ยนศาสนาเป็นอิสลามแล้ว เมื่อตามพี่ชายกลับบ้านเกิดไม่สำเร็จ เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวจึงตัดสินใจปลิดชีวิตตนเอง ด้วยสัญญาไว้กับแม่ว่า หากตามพี่ชายกลับไม่ได้ ก็จะไม่ไปให้เห็นหน้าอีก ปัจจุบันสถานที่นี้มีลักษณะเป็นเนินดินใหญ่ ที่มีหญ้าเขียวขึ้นปกคลุม และมีประชาชนผู้ศรัทธามาสักการะกันทุกวัน
6. CHINA TOWN ปัตตานี อ.เมืองปัตตานี ‘กือดาจีนอ เมืองเก่าเล่าเรื่องอดีต’
กือดาจีนอ ชื่อนี้อาจฟังไม่คุ้นหู แต่ถ้าบอกว่า ‘ย่านตลาดจีนเก่าของเมืองปัตตานี’ ก็คงพอมีคนรู้จัก แม้ว่าจะซบเซาไปนาน แต่บัดนี้ได้ฟื้นคืนชีวิตขึ้นใหม่ ด้วยการร่วมแรงร่วมใจของหลายฝ่าย จนกลายเป็นถนนวัฒนธรรมน่าเที่ยว เดินเล่นถ่ายภาพ เรียนรู้เรื่องราวอดีตกันได้ในทุกย่างก้าว กือดาจีนอ หรือตลาดจีนเก่า นี้ แท้จริงแล้วคือถนนปัตตานีภิรมณ์เลียบแม่น้ำปัตตานี ไปจนถึงศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว สองฟากฝั่งเต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่องโบราณ ในลักษณะบ้านคนจีน โรงเตี๊ยม และร้านค้า มีการจัดมุมถ่ายภาพน่ารักๆ พร้อมด้วยเติมภาพวาด Street Art สวยๆ เข้าไปตามฝาผนัง ทำให้กือดาจีนอมีชีวิตชีวาเป็นอย่างยิ่ง
7. Sky Walk ปัตตานี ต.รูสะลิแล อ.เมืองปัตตานี ‘Landmarkใหม่ใกล้ชิดธรรมชาติ’
น่าตื่นตาตื่นใจสุดๆ กับ Skywalk แห่งแรกของปัตตานี ตั้งอยู่ในสวนสมเด็จเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มีความยาวถึง 400 เมตร สูง 12 เมตร เชื่อมต่อจากเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน โดยโครงสร้างเป็นเหล็กรับน้ำหนักได้ราวๆ 400 กิโลกรัม/ตารางเมตร มีบันไดขึ้นลง 2 ทาง พร้อมศาลาพักผ่อน 5 จุด ความน่าตื่นเต้นอยู่ตรงที่พื้นสะพานเหล็กของ Skywalk คล้ายตาข่ายเหล็กโปร่ง มองทะลุลงไปเห็นพื้นและป่าชายเลนเบื้องล่างได้แจ่มชัด น่าตื่นเต้นสุดๆ คนนิยมมาเที่ยวกันตอนเย็นๆ เพราะมองออกไปเห็นพระอาทิตย์ตกที่แหลมตาชี ได้อย่างน่าประทับใจ
8. บ้านบางปู อ.ยะหริ่ง ‘อุโมงค์โกงกางมหัศจรรย์แห่งธรรมชาติ’
นี่คือชุมชนชาวมุสลิม ที่อาศัยอยู่ในป่าชายเลนยะหริ่งของอ่าวปัตตานีมากว่า 100 ปี อันเป็นแหล่งที่มีปูดำอย่างชุกชุม ด้วยสภาพธรรมชาติป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์อย่างยิ่ง นอกจากวิถีประมงพื้นบ้านที่ยังเห็นได้ทุกเมื่อเชื่อวันแล้ว เขายังมีกิจกรรมล่องเรือหางยางเข้าไปเที่ยวชมระบบนิเวศป่าชายเลน หรือ Mangrove Forest โดยเฉพาะบริเวณ ‘อุโมงค์โกงกาง’ ยาว 700 เมตร ซึ่งมีต้นโกงกางสองฝั่งโอนเอนเข้าหากัน คล้ายอุโมงค์ขนาดใหญ่ร่มรื่นเย็นสบาย ให้เรือลอดเข้าไปช้าๆ ระหว่างทางเราจะได้เห็นนกนานาชนิด พร้อมด้วยกิจกรรมเก็บหอยในป่าชายเลนมาทำกับข้าวกินกัน (สนใจติดต่อ นายคมกริช เจะเซ็ง บ้านบางปู โทร. 08-8389-4508) 9. วัดช้างให้ อ.โคกโพธิ์ ‘ตำนานหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด’
เป็นวัดสำคัญและมีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้ ด้วยบารมีของ ‘หลวงพ่อทอด’ ซึ่งคนไทยและคนในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง ให้ความเคารพศรัทธาอย่างสูง ตามตำนานเล่าว่า พระยาแก้มดำเจ้าเมืองไทรบุรี ต้องการหาชัยภูมิสร้างเมืองใหม่ให้น้องสาว จึงเสี่ยงสัตย์อธิษฐานปล่อยช้างและไพร่พลเดินตามไปเมื่อถึงป่าแห่งหนึ่ง (วัดช้างให้ปัจจุบัน) ช้างก็เดินวนเวียนและร้อง 3 ครั้ง พระยาแก้มดำจึงถือว่าเป็นนิมิตที่ดีที่จะสร้างเมือง แต่น้องสาวไม่พอใจ จึงไปสร้างเมืองปัตตานีที่ริมชายทะเลแทนเมื่อหลวงพ่อทวดมรณภาพที่เมืองไทรบุรี ศิษย์ได้นำศพท่านกลับมาที่วัดช้างให้ แต่ต้องพักแรมระหว่างทางหลายวันกว่าจะถึงวัดช้างให้ เมื่อตั้งศพอยู่ที่ใด ก็จะเอาไม้ปักหมายไว้ทุกแห่ง จนกระทั่งถึงวัดช้างให้ สถานที่ตั้งศพพักระหว่างทางนี้กลายเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนมาถึงปัจจุบัน บางแห่งก่อเป็นเจดีย์หรือสถูปไว้ โดยถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ดังเช่นที่อัฐิของหลวงปู่ทวดได้บรรจุไว้ในเจดีย์ของวัดนี้ ให้คนได้สักการะกัน 10. วัดมุจลินทวาปีวิหาร (วัดหลวงพ่อดำ) อ.หนองจิก ‘ตามรอยเสด็จพระพุทธเจ้าหลวง’
เป็นพระอารามหลวงที่พระยาวิเชียรสงคราม (เกลี้ยง) เจ้าเมืองหนองจิก สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2388 ภายในวัดมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ เจดีย์บรรจุพระอัฐิของพระอรหันต์ และวิหารต่างๆ นอกจากนี้ยังถือเป็นแหล่งกำเนิดการศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรมของมณฑลปัตตานีในอดีตด้วย เพราะมีการเปิดสอนหนังสือตามหลักสูตรประถมศึกษาครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2444 อีกทั้งเมื่อปี พ.ศ. 2433 พระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ได้เคยเสด็จวัดนี้ และใช้น้ำในบ่อไปประกอบพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาด้วย
11. พิพิธภัณฑ์เครื่องถมทองและเครื่องจักสาน โรงแรมซีเอสปัตตานี อ.เมืองปัตตานี ‘พิพิธภัณธ์แห่งความภักดี’
โรงแรมซีเอส ปัตตานี เป็นโรงแรมระดับมาตรฐาน ที่ใช้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองของปัตตานีได้อย่างไม่อายใคร เพราะทั้งห้องพัก บริการ และอาหาร ก็ล้วนน่าประทับใจไปทุกสิ่งอย่าง นอกจากนี้บนชั้น 2 ของโรงแรม ยังมีการจัดเป็นห้องพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ไว้ถึง 2 ห้อง อันเกี่ยวเนื่องกับพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระพันปีหลวง และในหลวงรัชกาลที่ 9 ของเรา โดยห้องแรกจัดแสดงเครื่องจักสาน และห้องที่สองจัดแสดงเครื่องถมทองตามแบบภาคใต้ ที่มีความละเอียดประณีตงดงามอย่างยิ่ง สนใจขอเข้าชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (ติดต่อ โทร. 0-7333-5093)
สิ่งที่ห้ามพลาดชมด้วยประการทั้งปวง คือ ชุดเครื่องถมทองเป็นชุดเครื่องเขียนที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานให้กับประธานาธิบดี ชาร์ล เดอโกล ของฝรั่งเสศในอดีต จากนั้นเจ้าของโรงแรมซีเอส ปัตตานี ได้ไปพบในร้านขายของเก่าแห่งหนึ่งในต่างประเทศโดยบังเอิญ จึงซื้อกลับมาแสดงไว้ให้คนไทยได้ชื่นชม12. หอนาฬิกาเมืองปัตตานี ‘Landmark สำคัญกลางใจเมือง’
มีชื่อเล่นว่า ‘หอนาฬิกา 3 วัฒนธรรม’ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2554-2555 เปิดใช้เป็นทางการปี พ.ศ. 2556 สร้างขึ้นด้วยการผสมผสานศิลปกรรมของ 3 วัฒนธรรม คือ มุสลิม จีน และไทย สะท้อนถึงความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ที่มีชนหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์มาเนิ่นนาน
13. ร้านอาหารบ้าน เดอ นารา อ.เมืองปัตตานี ‘ต้นตำรับอาหารปัตตานีที่น่าลิ้มลอง’
เที่ยวปัตตานีกันมาเกือบทั่วแล้ว ชักจะหมดแรง ได้เวลาไปเติมพลังกันที่ ‘ร้านบ้าน เดอ นารา’ (17/239 ซอย 21 ถ.เจริญประดิษฐ์ ต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี 94000 โทร. 0-7333-7031) อิ่มอร่อยกับอาหารปักษ์ใต้ต้นตำรับ พร้อมด้วยอาหารไทยนานาชนิด ในบรรยากาศบ้านโบราณอันสวยงาม สั่งได้เลยทุกเมนู ไม่ว่าจะเป็นปลาทอดขมิ้น, กุ้งทอดตะไคร้, ทอดมันเดอนารา, แกงเหลืองกะทิ, แกงมัสมั่นไก่, พริกหยวกสอดไส้, บูดูทรงเครื่อง และอีกมากมาย แค่คิดก็น้ำลายสอแล้วสิ
SPECIAL THANKS โครการ ‘ซาลามัตชายแดนใต้’ จ.นราธิวาส-ยะลา-ปัตตานี
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ททท สำนักงานนราธิวาส-ยะลา-ปัตตานี โทร. 0-7352-2411 , 0-7354-2345
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!