นราธิวาส Smile ดินแดนแสนงามปลายด้ามขวานทอง

Untitled-11. ‘เกาะกลางน้ำบางนราแสนน่ารัก’ ชุมชนกาแลตาแป อ.เมืองฯ จ.นราธิวาส เป็นชุมชนเก่าแก่บนเกาะกลางน้ำเล็กๆ อันสุขสงบกลางแม่น้ำบางนรา ผู้คนทำอาชีพประมงเป็นหลัก นำปลาที่ได้มาขาย หรือแปรรูปเป็น ‘กรือโป๊ะ’ ข้าวเกรียบปลาทะเลแสนอร่อย ใครอยากเห็นเรือกอและ ซึ่งเป็นเรือประมงพื้นบ้านของปักษ์ใต้อย่างใกล้ชิด มาเที่ยวชมชุมชนนี้ไม่ผิดหวัง แต่ต้องให้ความเคารพในวิถีพี่น้องชาวมุสลิมที่นี่ด้วยนะจ๊ะ
_BOT2453

_BOT2374 _BOT2396_BOT2301_BOT2342

2. เทศกาลแข่งเรือกอและ เรือยาว เรือยอกอง ในแม่น้ำบางนรา อ.เมืองฯ จ.นราธิวาส ‘ที่สุดแห่งการชิงชัยกลางสายน้ำ ด้วยลีลากีฬาพื้นบ้านสุดมันส์’ งานนี้จัดกันในเดือนกันยายนของทุกปี บริเวณสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ เฉลิมพระชนมพรรษา ในตัวเมืองนราธิวาสนั่นเอง โดยมีอัฐจรรย์ให้นั่งชมการแข่งเรือได้อย่างสนุกสนาน ช่วงเวลาเดียวกันมีการจัดงานวันลองกอง, งานแสดงผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพ, การแข่งขันนกเขาชวาเสียงชิงถ้วยพระราชทาน รวมถึงมีการออกร้านอาหารพื้นบ้านละลานตา แต่ไฮไลท์น่าตื่นเต้นสุด คือ การแข่งขันเรือกอและ เรือยอกอง และเรือคชสีห์ ในแม่น้ำบางนรา ที่มีผู้คนนับหมื่นมาร่วมเชียร์

_NAR1703 _NAR1874 N2 N9 N13_NAR0428

3. น้ำตกปาโจ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ‘สายน้ำใส ธรรมชาติยิ่งใหญ่ พงไพรเขียวพิสุทธิ์’ น้ำตกปาโจเป็นน้ำตกใหญ่กลางป่าดิบอันชุ่มชื้นและอุดมสมบูรณ์ ของอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี น้ำตกชั้นที่ 1 ถือว่าสวยสุด เพราะเป็นผาหินลาดชันลงมากว่า 60 เมตร มีน้ำหลากไหลให้ชมและให้ลงแช่เล่นตลอดปี ยิ่งใหญ่มาก ที่สำคัญบริเวณผืนป่าข้างน้ำตกยังมี ‘ใบไม้สีทอง’ หรือ ‘ย่านดาโอ๊ะ’ เลื้อยพันอยู่อย่างสวยงาม นับเป็นพรรณไม้เฉพาะถิ่นที่ค้นพบครั้งแรกของโลกที่นี่ เมื่อ พ.ศ. 2531 สร้างความงามแปลกตา คุณค่า และชื่อเสียงให้แก่ป่าดิบชื้นผืนนี้อย่างมาก

_TAK5350_TAK5375_BOT2163

4. ต้นกะพง (สมพง) ยักษ์ 30 คนโอบ อายุกว่า 100 ปี ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา ต.ภูเขาทอง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ‘อลังการไม้ยักษ์กลางพงไพร ไม่ไปไม่รู้’ ชวนกันไปเดินป่าระยะสั้นๆ แค่ไม่กี่ร้อยเมตร ข้ามลำห้วยใสๆ และป่าดิบชื้นสวยๆ เข้าไปชมต้นสมพงยักษ์ ยืนต้นตระหง่านกว่า 30 เมตร ทะลุเรือนยอดไม้อื่นขึ้นไปอย่างโดดเด่น โดยมีพูพอนขนาดใหญ่ตรงโคนต้นแผ่กว้างคล้ายปีก ค้ำยันลำต้นสูงลิบนี้เอาไว้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ฯ ทรงเคยเสด็จมาทอดพระเนตรแล้ว เมื่อปี พ.ศ. 2543

_IND8898 _IND8914 _IND8922

5. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา อ.แว้ง ‘บ้านของนกเงือก ราชาวิหคเหินหาวแห่งป่าฝนเขตร้อน’ ป่าฮาลา-บาลา เป็นผืนป่าอุดมสมบูรณ์บนรอยต่อชายแดนไทย-มาเลเซีย กินอาณาเขต 2 จังหวัด คือ นราธิวาส และยะลา ป่าผืนนี้มีนกเงือก (Hornbill) อยู่มากถึง 9 ชนิด จากทั้งหมด 12 ชนิด ที่มีในเมืองไทย ถือเป็นดัชนีบ่งชี้ความอุดมที่สำคัญยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นนกชนหิน, นกเงือกหัวแรด, นกเงือกปากย่น, นกเงือกหัวหงอก, นกกก, นกแก๊ก, นกเงือกปากดำ, นกเงือกดำ, นกเงือกกรามช้าง ฯลฯ โดยเฉพาะนกชนหินนั้นถือว่าหายากสุดๆ อีกทั้งยังเป็นนกเงือกชนิดเดียวในเมืองไทยที่หนอกบนหัวของมันตัน ไม่กลวงเหมือนนกเงือกอีก 11 ชนิดที่เหลือ นอกจากนี้ ฮาลา-บาลา ยังมีเซียมัง (ชะนีดำใหญ่) เพียงแห่งเดียวในเมืองไทย และพบร่องรอยของกระซู่ ซึ่งเคยคิดว่าสูญพันธุ์ไปแล้วจากเมืองไทยด้วย โดยกระซู่ได้เดินหากินข้ามไปมาระหว่างป่าของไทย-มาเลเซีย นับเป็นข่าวดีที่มันยังไม่หายไป

Bird นกกก นกกาฮัง นกเงือก 1 Bird นกกก นกกาฮัง นกเงือก 2

6. อ่าวมะนาว ต.กะลุวอเหนือ อ.เมืองฯ จ.นราธิวาส ‘หาดสงบงาม ณ ที่ท้องฟ้าจุมพิตผืนน้ำ’ ได้ยินชื่ออ่าวมะนาว อย่าสับสนกับอ่าวมะนาวที่ประจวบคีรีขันธ์เด็ดขาด เพราะอ่าวมะนาวของนราธิวาส เขาสวยบริสุทธิ์ เงียบสงบ มีเสน่ห์ในแบบของตัวเอง อ่าวมะนาวทอดตัวอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติอ่าวมะนาว-เขาตันหยง หาดนี้ยาวกว่า 4 กิโลเมตร สลับกับโขดหินเป็นช่วงๆ โดยด้านหนึ่งติดกับเขาตันหยงและพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ด้วย ริมหาดมีแนวต้นสนและป่าชายหาด (Beach Forest) ร่มรื่น เหมาะนั่งปิกนิก แต่ชายหาดน้ำลึกและคลื่นแรง ลงเล่นต้องดูความปลอดภัยดีๆ แค่เดินถ่ายภาพหรือป่ายปีนโขดหินหามุมสวยๆ ก็ Happy แล้วล่ะ ใครที่รักความสงบ มาเที่ยวอ่าวมะนาวต้องชอบแน่ เพราะมีมุมส่วนตัวให้เลือกเพียบ

_TAK5390_RAN0735 _TAK5405

7. หาดนราทัศน์ อ.เมืองฯ จ.นราธิวาส ‘หาดแห่งการพักผ่อน ที่ซึ่งเสียงคลื่นและเสียงกิ่งสนล้อลมแสนไพเราะ’ เป็นหาดรับแขกของเมืองนราธิวาสเลยก็ว่าได้ เพราะว่ากันว่าเป็นชายหาดสวยที่สุดของจังหวัดนี้ ทอดตัวยาวกว่า 4-5 กิโลเมตร สุดลูกหูลูกตา งามอย่างละมุนละไมด้วยเม็ดทรายละเอียดสีน้ำตาลอ่อนค่อนไปทางขาว ริมหาดมีแนวต้นสนทะเลขนาดใหญ่เรียงรายร่มรื่น เหมาะไปนั่งพักผ่อนหรือลงเล่นน้ำชิลชิล หรือจะไปนั่งฟังเสียงสนล้อลม ชมความงามของเกลียวคลื่นที่ทยอยกันสาดซัดเข้าหาฝั่ง นี่คือความสุขสงบในมุมเล็กๆ ของ ‘นราเมืองน่ารัก’

_BOT2247 _NAR1244 v2

8. ป่าพรุโต๊ะแดง (ศูนย์ศึกษาและวิจัยธรรมชาติป่าพรุสิรินธร) อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ‘ป่าพรุผืนใหญ่สุดแดนสยาม สุดยอดอาณาจักรลึกเร้นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพใต้ร่มไม้เขียว’ ป่าพรุ (Swamp Forest) คือระบบนิเวศน์พิเศษแสนเปราะบางที่พบไม่มากในเมืองไทย ป่าพรุโต๊ะแดงเนื้อที่กว่า 120,000 ไร่แห่งนี้ล่ะ คือป่าพรุผืนใหญ่ที่สุดของสยาม เก็บรักษาพืชพรรณและสัตว์ป่านานาชนิดเอาไว้ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาธรรมชาติ เขาจัดทำเส้นทางเดินป่าเป็นสะพานไม้ยกระดับอย่างดี พร้อมด้วยป้ายสื่อความหมายธรรมชาติ และจุดพัก ตลอดทางเราจะได้สัมผัสป่าพรุที่ยังมีชีวิต เป็นป่าที่มีน้ำขัง ทับถมด้วยเศษใบไม้ซากพืชซากสัตว์ จนน้ำและดินมีความเป็นกรดสูง ทว่าน้ำไม่เคยเน่าเสีย เพราะมีการไหลเวียนตลอด จึงมีปลาอาศัยอยู่ได้ โดยเฉพาะปลากะแมะ เสือปลา นาก ฯลฯ ส่วนพืชเด่นๆ เช่น หมากแดง กะพ้อ ระกำ หลุมพี หวาย หลาวชะโอน ฯลฯ ดูๆ ไปแล้วคล้ายป่าอะเมซอนเมืองไทยไม่มีผิดเลยนะ ฮาฮาฮา

_TAK5751_TAK5500_RAN0904 _TAK5591_IND7885_RAN0956

9. ตลาดน้ำยะกัง ริมคลองยะกัง อ.เมืองฯ จ.นราธิวาส ‘เกี่ยวก้อยกันไปนั่งชิลในตลาดน้ำสุดเก๋ ที่ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน’ ตลาดน้ำเปิดใหม่เก๋ไก๋ในตัวเมืองนราธิวาส เปิดเฉพาะวันศุกร์และเสาร์ ตั้งแต่เวลา 12.00-21.00 น. ในชุมชนยะกัง ซึ่งเป็นชุมชนโบราณคู่เมืองนรา มาวันนี้คนในชุมชนร่วมใจปรับโฉมแหล่งท่องเที่ยวใหม่ สร้างสีสันและชีวิตชีวา โดดเด่นด้วยร้านขายตามทางเดินเลาะริมน้ำยาวกว่า 700 เมตร ซึ่งมีอาหารและขนมโบราณกว่า 100 ชนิดให้ชิม เพื่อเป็นการสืบสานตำนานขนมโบราณเมืองนราไม่ให้สูญหาย ส่วนที่นั่งชิลของนักท่องเที่ยวก็เก๋ยิ่งกว่า เพราะสร้างเป็นสะพานไม้และที่นั่งยืนลงไปในน้ำ ส่วนยามค่ำคืนจะมีการแสดงพื้นบ้านหลากหลายให้ชม นับเป็นมิติใหม่ของการท่องเที่ยว 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เลยทีเดียว

_IND8650 _IND8656 _IND8686 _KWA4402 _KWA4453

10. สะพานคอยร้อยปี อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ‘สะพานแห่งความโรแมนติก เชื่อมวิถีชีวิตสองฝั่งลำน้ำตากใบ’ เข้าไปสู่ชุมชนบนเกาะยาว เกาะที่ด้านหนึ่งติดแม่น้ำตากใบ อีกด้านติดทะเล มีหาดทรายขาวนวลน่าเที่ยว แต่กว่าจะมีการสร้างสะพานให้คนสัญจรสะดวก จากเกาะยาวข้ามมาฝั่งที่ทำการอำเภอตากใบ ก็ต้องรอกันนานถึง 100 ปี จึงเป็นที่มาของชื่อสะพานนี้ ขอบกว่าบรรยากาศบนสะพานสวยมาก อากาศสดชื่น เห็นแม่น้ำตากใบไหลเอื่อยๆ เย็นชื่นใจ ปัจจุบันสะพานไม้เก่า ยาว 345 เมตร เคียงคู่ด้วยสะพานปูนใหม่เอี่ยม เชื่อมโยงธรรมชาติและวิถีชีวิตสองฝากฝั่งเข้าด้วยกันอย่างสนิทแนบ

_IND9041 _IND9047 _IND9050 _KWA4910 _KWA4924

11. สถานีรถไฟสุไหงโก-ลก อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ‘สถานีรถไฟเก่าเล่าเรื่องอดีต อวลกลิ่นอายชายแดนแสนรุ่งเรือง’ เมื่อมาเห็นสถานีรถไฟสุไหงโก-ลก ก็ต้องบอกเลยว่า ‘ระยะทางอันห่างไกล จริงๆ แล้วคือเสน่ห์น่าเที่ยว’ เพราะสถานีรถไฟแห่งนี้ คือสถานีรถไฟสุดท้ายของเส้นทางรถไฟสายใต้ โดยอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ มากที่สุด ถึง 1,142 กิโลเมตร ติดต่อกับเขตแดนเมืองรันตูปันยัง รัฐกลันตัน ของมาเลเซีย ตัวสถานีรถไฟมีดีไซน์สถาปัตยกรรมย้อนยุคน่ารักดี ยังเปิดใช้งานอยู่ ใครจะลองนั่งรถไฟเล่นๆ จากสุไหงโก-ลก กลับกรุงเทพฯ ก็ได้ มีบริการทุกวัน สอบถามได้ตลอด 24 ชั่วโมง ที่สายด่วนรถไฟ โทร. 1690

_KWA4890_IND9036

12. หอนาฬิกาเก่า อ.เมืองฯ จ.นราธิวาส ‘Landmark เมืองนรา หอนาฬิกา หอรวมใจผู้คน’ แม้ไม่ใหญ่โต แต่ก็ถือเป็นสัญลักษณ์คู่เมืองนราธิวาสมาช้านาน ทางเทศบาลเมืองนราธิวาสปรับปรุงขึ้นใหม่ ให้แข็งแรงสวยงาม เด่นที่หลังคาบนยอดหอนาฬิกา สร้างเป็นทรงปั้นหยามุงกระเบื้องว่าวแบบปักษ์ใต้ ไม่ละทิ้งเสน่ห์อัตลักษณ์ตัวตนคนนรา ในยามค่ำคืนจะเปิดไฟประดับสวยงาม อีกทั้งริมถนนใกล้ๆ ยังมีร้านขายชาชัก โรตี มะตะบะ ให้มานั่งสังสรรคกันอย่างฉันมิตรทุกค่ำคืน

_BOT2641

13. กลุ่มผลิตภัณฑ์กระจูด บ้านทอนอามาน ต.โคกเคียน อ.เมืองฯ จ.นราธิวาส ‘ด้วยสองมือและหัวใจ ถักทอจากเส้นสายสู่งานศิลป์’ กระจูด เป็นพรรณไม้จำพวกกกที่ขึ้นอยู่มากในป่าพรุแถบภาคใต้ ชาวบ้านนิยมนำมาทอเป็นเสื่อ กระบุง ตะกร้า ใช้กันในครัวเรือนมาเนิ่นนาน เช่นเดียวกับชาวบ้านทอนอามาน ที่ตั้งกลุ่มทำผลิตภัณฑ์กระจูดอันประณีต สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นขึ้นเมื่อ พ.ศ.2543 โดยใช้เวลาว่างหลังจากทำประมง มาช่วยกันทำผลิตภัณฑ์กระจูดที่มีทั้งรูปแบบดั้งเดิมและแบบที่พัฒนาขึ้นใหม่ให้ทันสมัย จนกลายเป็น OTOP สำคัญที่ได้รับความนิยมอย่างสูงของนราธิวาส ซึ่ง คุณพัชรินทร์ บินเจ๊ะมิง นอกจากจะเป็นผู้นำกลุ่มแล้ว ยังเป็นครูสอนในโครงการศิลปาชีพของสมเด็จพระราชินีด้วย สนใจเปิดให้เข้าชมและช้อปปิ้งทุกวัน โทร. 08-6289-6671, 0-7356-5070

_IND8625 _IND8634 _KWA4361 _KWA4368

14. วาเลนไทน์พันธุ์ไม้ บ้านตันหยงมะลิ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ‘สุดยอดอาณาจักรแคคตัสแดนใต้’ เป็นสวนกระบองเพชร หรือแคคตัส ที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ รวบรวมกระบองเพชรไว้ไม่น้อยกว่า 300 สายพันธุ์ นับแสนๆ ต้น นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชม ถ่ายภาพ ได้ฟรี  ไม่มีค่าผ่านประตู ไม่ซื้อไม่ว่า ขอให้มาเที่ยวก็ชื่นใจแล้ว ส่วนใครจะซื้อกลับบ้านแต่ไม่รู้จะเอาขึ้นเครื่องบินกลับยังไงดีนะ? เขาก็มีบริการส่งทั่วประเทศ ว้าว! ไฮไลท์ของที่นี่คือ ต้นกระบองเพชรยักษ์อายุ 20 ปี ที่เจ้าของปลูกเลี้ยงไว้ดูและถนุถนอนอย่างดี สนใจ โทร. 08-1957-2614 เว็บไซต์ www.valentinepanmai.com

_IND8931 _IND8934 _IND8954 _KWA4795

15. พิพิธภัณฑ์เมืองนราธิวาส อ.เมืองฯ จ.นราธิวาส ‘ศูนย์รวมเรื่องเล่าความเป็นมา จากเมืองบางนราสู่นราธิวาส’ ตั้งอยู่ที่ถนนพิชิตบำรุง ต.บางนาค ในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาส โดยใช้อาคารศาลากลางจังหวัดหลังเก่า มาพัฒนาจัดแต่งใหม่เป็นพิพิธภัณฑ์บอกเล่าประวัติความเป็นมา ศาสนา ชาติพันธุ์ ชนเผ่า งานศิลปหัตถกรรม เรือกอและ กีฬาปักษ์ใต้ อาหารถิ่น ฯลฯ รวมถึงวิถีชีวิตของชาวนราธิวาสในทุกแง่มุมอย่างละเอียด อาคารมี 2 ชั้น ชั้นล่างแบ่งเป็น 6 ห้อง ส่วนชั้นบนแบ่งเป็น 8 ห้อง นอกจากนี้ยังมีห้องเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงพระราชทานงานศิลปาชีพสู่นราธิวาสด้วย (พิพิธภัณฑ์ฯ เปิดวันพุธ-อาทิตย์ เวลา 10.00-16.00 น. โทร. 0-7351-2207)

_KWA4182_IND8495 _IND8511 _IND8513 _IND8537 _KWA4193

16. พิพิธภัณฑ์คัมภีร์อัล-กุรอาน อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส ‘สมบัติล้ำค่าแห่งแผ่นดิน ชมอัล-กุรอานสวยที่สุดในโลก!’ อัล-กุรอาน มาจากรากศัพท์ภาษาอาหรับแปลว่า ‘การอ่าน หรือ การรวบรวม’ เป็นคัมภีร์สุดท้ายที่อัลลอฮ์ได้ประทานแก่นบีมุอัมมัด ซึ่งชาวมุสลิมถือว่าเป็นนบีคนสุดท้าย และการจะเป็นชาวมุสลิมที่ดีได้ก็ต้องศรัทธาในพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์นี้ ปัจจุบันที่ โรงเรียนสมานมิตรวิทยา (ปอเนาะศาลาลูกไก่) ได้เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ชั่วคราว เก็บรักษาคัมภีร์อัล-กุรอานโบราณ อายุ 150-1,100 ปี ไว้มากถึง 78 เล่ม (กำลังมีการสร้างพิพิธภัณฑ์ใหม่ในบริเวณใกล้ๆ กัน คาดว่าจะเสร็จภายใน พ.ศ. 2561) ทั้งหมดเป็นปกหนังสัตว์ เนื้อกระดาษโบราณและเปลือกไม้ เขียนตัวอักษรด้วยหมึกสีดำเป็นภาษายาวีและภาษาอาหรับโบราณ บางเล่มใช้สี 5 สี ประดับทองคำเปลว งดงามมาก โดยมีอยู่เล่มหนึ่งได้รับคัดเลือกให้เป็น ‘คัมภีร์อัล-กุรอานสวยที่สุดในโลกมุสลิม ตั้งแต่ปี 2016’ จากสถาบันหอสมุดสุไลมานียะห์ นครอิสตันบูล ประเทศตุรกี เพราะมีการประดับทองคำเปลว และประดับลวดลายถึง 30 ลาย เขียนขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2256 โดยรูสะมีแล จังหวัดปัตตานี (สนใจเข้าชม โทร. 08-4973-5772, 09-5202-4342)

_IND8550 _IND8585 _KWA4250 _KWA4272

17. เหมืองทองโต๊ะโมะ ต.ภูเขาทอง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ‘เดินป่าผจญไพร ค้นหาหุบเขาทองคำที่ยังมีลมหายใจ’ ไม่น่าเชื่อเลยว่าในป่าดงดิบรกชัฏลึกเร้นของอำเภอสุคิริน บนเทือกเขาโต๊ะโมะและเขาลิโซ ห่างจากชายแดนไทย-มาเลเซีย เพียง 800 เมตร จะเป็นที่ตั้งของเหมืองทองคำเก่าอันมีชื่อเสียงลือลั่นไปทั้งประเทศ ในนาม ‘เหมืองโต๊ะโมะ’ ประวัติเล่าว่าเร่ิมต้นในอดีตมีชาวจีนคนหนึ่งชื่อ นายฮิว ซิ้นจิ๋ว นำคน 50 คน จากชายแดนมาเลเซีย เดินทางร่อนทองขึ้นมาตามลำห้วยลิโซ ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำสายบุรี พวกเขาร่อนทองได้มากมายเมื่อเข้าใกล้ต้นน้ำ จึงเกิดยุคตื่นทอง ผู้คนนับพันเข้ามาตั้งหมู่บ้าน รัฐบาลไทยจึงตั้ง นายอาฟัด ลูกชายของนายฮิว แซ่จิ๋ว เก็บภาษีทองคำ แล้วให้ดำรงตำแหน่ง หลวงวิเศษสุวรรณภูมิ ต่อมาในยุคหลังฝรั่งเศสได้มาขอสัมปทานทำเหมือง ได้ทองคำเนื้อดีไปมากมาย และเมื่อล่วงถึงยุคโจรจีนผู้ก่อการร้ายมลายา เหมืองทองโต๊ะโมะก็ปิดตัวลงอย่างถาวร มีเพียงชาวบ้านละแวกนั้นเข้าไปร่อนทองหาค่ากับข้าวนิดๆ หน่อยๆ ส่วนอุโมงค์ลำเลียงยาว 1 กิโลเมตร ซึ่งเคยทะลุจากไทย-มาเลเซียได้ ก็ถูกปิดลงเช่นกัน ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ประวัติเหมืองทองคำที่เคยยิ่งใหญ่ที่สุดในภาคใต้ของเรา

_IND8840 _IND8843 _IND8865 _KWA4658 _KWA4670 _KWA4676 _KWA4699

18. ชุมชนภูเขาทอง หมู่ 3 อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ‘ชุมชนมลายู-ลาว ปลายด้ามขวานทอง ไปดูบุญบั้งไฟแห่งเดียวในแดนใต้’ ไม่ห่างจากเหมืองทองคำโต๊ะโมะและศาลเจ้าแม่โต๊ะโมะมากนัก คือที่ตั้งของ ‘ชุมชนบ้านภูเขาทอง’ หมู่บ้านของชาวอีสานที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานใหม่ตามนโยบายรัฐบาลไทยในครั้งอดีต ด้วยนโยบายเมืองล้อมป่าต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยรัฐได้ให้ที่ดินครอบครัวละ 18 ไร่ เพื่อสร้างที่อยู่อาศัย และอีก 16 ไร่เพื่อทำการเกษตรปลูกยางพารา ทว่าพวกเขาไม่ได้มามือเปล่า แต่นำขบมความเชื่อและวัฒนธรรมจากอีสานมาด้วย ทุกวันนี้ชาวบ้านภูเขาทองจึงยังคงพูดอีสาน กินอาหารอีสาน เซิ้งแบบอีสาน และมีประเพณีบุญบั้งไฟในช่วงเดือนมิถุนายนทุกปี นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมหมู่บ้าน ชมการเซิ้งร่อนทอง ชิมอาหารพื้นบ้าน และล่องแก่งด้วยเรือคายัคในฤดูที่มีน้ำพอเพียง นับเป็นกิจกรรมผจญภัยกลางแจ้งที่น่าสนุกตื่นเต้นไม่น้อยเลย

_KWA4748_KWA4714 _KWA4717 _KWA4722

19. มัสยิด 300 ปี บ้านตะโละมาเนาะ ต.ลุโบะสาวอ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ‘สุดยอดงานสถาปัตย์แห่งศรัทธา งามข้ามกาลเวลาไม่เคยเสื่อมคลาย’ ชาวบ้านแถบนั้นเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ‘มัสยิดวาดีลฮูเซ็น หรือมัสยิดตะโละมาเนาะ’ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2167 โดยนายวันฮูเซ็น ฮัส-ซานาวี ผู้อพยพมาจากบ้านสะนอยานนา จังหวัดปัตตานี เดิมทีใช้ใบลานมุงหลังคา ต่อมาใช้กระเบื้องว่าว ตัวมัสยิดสร้างด้วยสถาปัตยกรรมจีนประยุกต์ผสมมลายู โดยสร้างด้วยไม้ตะเคียนทั้งหลัง จุดเด่นที่ไม่เหมือนใครคือ สร้างเป็นอาคารสองหลังเชื่อมถึงกัน, มีฐานรองรับหลังคาหน้าจั่ว และหอขาน หรือหออาซาน สร้างด้วยศิลปะจีนประยุกต์งามแปลกตา นักท่องเที่ยวอย่างเราๆ ชมได้แค่ภายนอก แต่ถ้าอยากชมด้านในต้องขออนุญาตโต๊ะอิหม่ามประจำหมู่บ้านก่อน เพราะถือเป็นโบราณสถานที่สำคัญยิ่งของจังหวัดนราธิวาส

_TAK5329 _TAK5344

20. วัดชลธาราสิงเห (วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย) หมู่ 3 ต.เจ๊ะเห อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ‘หมุดหลักปักเขตแดนสยาม ความงามแห่งพุทธศิลป์ริมน้ำตากใบ’ เป็นหนึ่งในวัดสำคัญที่สุดของนราธิวาส เพราะเกี่ยวข้องกับการปักปันเขตแดนระหว่างไทย-มาเลเซีย ในยุคอาณานิคมอังกฤษ เพราะรัฐบาลไทยใช้วัดนี้ รวมถึงพุทธศาสนา และพุทธศิลป์ เป็นเครื่องต่อรอง อังกฤษจึงไม่ยึดผืนดินส่วนนี้ไป วัดชลธาราสิงเหตั้งอยู่ริมแม่น้ำตากใบ มองไปทางขวาจะเห็นสะพานคอยร้อยปีที่ทอดเข้าสู่เกาะยาวได้ชัดเจน ภายในวัดมีศาลาไม้ลวดลายสีสันงดงาม เป็นพิพิธภัณฑ์เก็บรักษาสมบัติโบราณล้ำค่าของท้องถิ่น และมีพระอุโบสถหลังเก่าสมัยรัชกาลที่ 5 งดงามด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือพระภิกษุชาวสงขลา ประดิษฐานพระประธานปิดทองอร่าม จนแลไม่เห็นพระโอษฐ์สีแดง และพระเกศาสีดำ วัดนี้บรรยากาศเงียบสงบดีมาก สามารถไปนั่งเล่นที่ศาลาไม้ริมแม่น้ำตากใบ ชื่นชมธรรมชาติได้ชิลๆ

1 2 3 4 5 6

21. ศาลเจ้าแม่โต๊ะโมะ บ้านโต๊ะโมะ ต.ภูเขาทอง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ‘ต้นทางแห่งศรัทธาของลูกมังกร ใกล้เหมืองโต๊ะโม๊ะ’ ที่นี่คือ ศาลเจ้าแม่โต๊ะโมะ (เจ้าแม่ทับทิม) ดั้งเดิม ซึ่งชาวจีนที่อพยพเข้ามาร่อนทองจากมาเลเซีย ช่วยกันก่อสร้างขึ้น ในยุคที่ฝรั่งเศสได้สัมปทานทำเหมืองทอง นายช่างหัวหน้าเหมืองชื่อ ‘กัปตันคิว’ ไม่เชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ หลายครั้งร่างทรงเจ้าแม่ทำนายไม่ให้ขุด ก็ยังดื้อรั้น จึงเกิดดินถล่มทับคนงานตายนับร้อย กัปตันคิวจึงเดินทางไปเมืองจีนเพื่อนำองค์จำลองเจ้าแม่กลับมาประดิษฐานไว้ที่ศาลในอำเภอสุคิริน ต่อมาเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เหมืองทองต้องปิดตัวลง ผู้คนแตกกระสานซ่านเซ็น เจ้าแม่จึงได้ไปเข้าฝันนายสรรกุล กับเถ้าแก่กังร้านบึงจีบฮวด พ่อค้าในอำเภอสุไหงโก-ลก ให้ช่วยกันเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหาที่ดินและเรี่ยรายทรัพย์สร้างศาลเจ้าแม่ขึ้นใหม่ที่อำเภอสุไหงโก-ลก ทุกวันนี้ชาวบ้านในพื้นที่ รวมถึงชาวจีนฝั่งมาเลเซียก็ยังเคารพศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้แม่มาก จนเรียกขานว่า ‘เจ้าแม่โต๊ะโมะ’ ตามที่ตั้งของศาลนั่นเอง

_IND8796 _IND8809 _KWA4583

22. ศาลเจ้าแม่โต๊ะโมะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ‘สืบสานตำนานเจ้าแม่ จากสุคิรินถึงถิ่นสุไหงโก-ลก กลิ่นอายแห่งศรัทธาไม่เคยจางไป’ เป็นศาลเจ้าแม่โต๊ะโมะแห่งที่สอง ซึ่งย้ายมาจากอำเภอสุคิริน (ใกล้เหมืองทองโต๊ะโมะ) หลังจากที่ฝรั่งเศสหยุดทำเหมืองทอง และเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น ตัวศาลตั้งอยู่ใจกลางเมืองในย่านเศรษฐกิจของอำเภอสุไหงโก-ลก มีชาวไทยและจีนจากฝั่งมาเลเซียเข้ามาสักการะจำนวนมากทุกวัน โดยเฉพาะในวันที่ 23 เดือน 3 ของทุกปี ซึ่งถือเป็นวันเกิดของเจ้าแม่ จะมีพิธีฉลองใหญ่ ผู้คนเข้าร่วมนับหมื่น

_IND9013 _IND9023 _KWA4841 _KWA4880

23. พุทธอุทยานเขากง ต.ลำภู อ.เมืองฯ จ.นราธิวาส ‘นมัสการพระพุทธรูปกลางแจ้ง งดงามและใหญ่ที่สุดในแดนใต้’ นราธิวาสเป็นเมืองสงบ เป็นดินแดนแห่งความเชื่อและศรัทธาของหลายศาสนา ที่มาอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ทั้งอิสลาม พุทธ จีน และอื่นๆ ใครไปสัมผัสก็ต้องประทับใจ อย่างที่ ‘วัดเขากง’ อันเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธทักษิณมิ่งมงคล องค์พระพุทธรูปกลางแจ้งที่ถือว่าสวยงามและมีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคใต้ องค์พระสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กประดับกระเบื้องโมเสกสีทองอร่าม ศิลปะสกุลช่างอินเดียใต้ หน้าตักกว้าง 17 เมตร สูงถึง 24 เมตร ประดิษฐานอยู่บนเนินเขาลูกย่อมๆ แลโดดเด่นน่าศรัทธาอย่างยิ่ง นับเป็นศูนย์รวมใจชาวพุทธเมืองนราที่สำคัญที่สุดก็คงจะไม่ผิดนัก

_BOT2029 _BOT2120 _BOT2135

24. พระพิฆเนศเมืองนรา ต.บางนาค อ.เมืองฯ จ.นราธิวาส ‘ตื่นตาพระพิฆเนศงามที่สุดในภาคใต้’ สร้างขึ้นด้วยความศรัทธาเปี่ยมล้นของ คุณอินดาร์แซล บุศรี เจ้าของกิจการห้างดีวรรณพาณิชย์ในเมืองนราธิวาส เพราะตัวท่านเลื่อมใสศรัทธาในองค์พระพิฆเนศ ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งศิลปะ ความเมตาและความสำเร็จ อีกทั้งท่านต้องการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินไทยที่ได้อาศัยมากว่า 60 ปี เพื่อให้องค์พระพิฆเนศเป็นที่สักการะบูชาสำหรับผู้ที่นับถือ จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมแห่งหนึ่งมาจนถึงปัจจุบัน องค์พระพิฆเนศนี้มีขนาดหน้าตักกว้าง 7 เมตร สูงถึง 16 เมตร ประทับนั่งในท่าลลิตาสนะ สวมศิลาภรณ์มงกุฎประดับโมเสคแก้วหลากสี งวงเยื้องไปทางขวาแล้วเวียนกลับมาทางซ้ายขององค์ เหนือพระนาคีมีสายธุรำเป็นงูแผ่พังพานใต้พระถันด้านซ้าย ส่วนงาข้างซ้ายนั้นหักเพื่อให้นำสิ่งไม่ดีออกไป ขณะที่พระหัตถ์ขวาบนถือดอกบัวเป็นสัญลักษณ์แทนสติปัญญา พระหัตถ์ขวาล่างถือประคำแสดงท่าประทานพรให้ความสำเร็จ พระหัตถ์ซ้ายบนถือปรศุและขอช้างรวมกันเป็นสัญลักษณ์ของการฟันฝ่าอุปสรรค ให้ความคุ้มครองและเดินไปสู่ความรู้โดยปราศจากมายา พระหัตถ์ซ้ายล่างถือชามขนมโมทกะเป็นสัญลักษณ์รางวัลแห่งความเจริญรุ่งเรือง

3_BOT2148

25. พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ต.กะลุวอเหนือ อ.เมืองฯ จ.นราธิวาส ‘บ้านของพระราชา-พระราชินี สถานที่ฝึกงานอาชีพแด่ราษฎร’ เป็นพระตำหนักทรงงาน ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2516 บนเขาตันหยงมัส เพื่อใช้เป็นที่ประทับทรงงานและแปรพระราชฐานของพระองค์ รวมถึงสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ โดยรอบพระตำหนักประดับด้วยพรรณไม้ดอกไม้ใบงดงามตลอดปี อีกทั้งยังมีส่วนอาคารฝึกศิลปาชีพให้ราษฎรด้วย โดยเฉพาะเครื่องปั้นดินเผา เครื่องจักสาน และเซรามิค นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมบริเวณภายนอก หรือติดต่อเป็นหมู่คณะเพื่อเข้าชมงานศิลปาชีพได้

_TAK5433 _TAK5439_RAN0788 _RAN0802_RAN0755 _RAN0778 _RAN0782

26. พระตำหนักสมเด็จย่า (พระตำหนักสุคิริน) อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ‘จากน้ำพระทัยสมเด็จย่า สู่ปวงประชาชาวสุคิริน’ ทรงพระราชทานชื่อ ‘สุคิริน’ ไว้ ณ ดินแดนนี้ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2507 ครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ จังหวัดนราธิวาส เป็นครั้งแรก ดังลายพระหัตถ์ที่ได้พระราชทานเป็นขวัญกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่และสมาชิกนิคมฯ ว่า “สุคิริน ขอให้นิคมนี้จงมีความเจริญรุ่งเรือง คนอยู่ในศีลธรรม เพื่อความสุขของตนเองและส่วนรวม” การรับเสด็จในครั้งนั้น ข้าราชการและเจ้าหน้าที่นิคมฯ ได้กราบบังคมทูลเชิญพระองค์ท่านเสด็จประทับ ณ เรือนรับรองนิคมฯ ซึ่งเป็นอาคารหลังเล็กๆ ที่เราได้เห็นกันในวันนี้

_KWA4572_IND8792 _KWA4570

27. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.กะลุวอเหนือ อ.เมืองฯ จ.นราธิวาส ‘ต้นแบบวิถีพอเพียง ทรงพระราชทานศาสตร์พระราชา เพื่อความสุขแห่งปวงประชาอย่างยั่งยืน’ เป็นศูนย์การพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 1 ใน 6 ศูนย์ฯ ของไทย ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงจัดตั้งขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาที่ราษฎร์เผชิญอยู่ อย่างที่ศูนย์ฯ พิกุลทอง นี้ พระองค์ทรงต้องการแก้ปัญหาเรื่อง ดินเปรี้ยวจัด เพื่อให้ราษฎร์ธสามารถใช้พื้นที่ปลูกข้าวได้ จึงทรงทดลอง ‘แกล้งดิน’ ใช้น้ำสลับกับปูนขาวแก้ปัญหาดินเปรี้ยวได้สำเร็จ ด้วยพระอัจฉริยภาพอย่างสูง ปัจจุบันศุนย์ฯ พิกุลทองเป็นสถานที่ฝึกอบรมดูงานครบวงจรตามแนวพระราชดำริ ของพระองค์ท่าน ทั้งโครงการแกล้งดิน, หญ้าแฝก, การจัดการน้ำ, เลี้ยงปลา, ปศุสัตว์, ปลูกข้าว, ปลูกไม้ผลนานาชนิด, ไบโอดีเซล, งานป่าไม้ ฯลฯ ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ราษฎร์ที่สนใจนำไปปฏิบัติโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนนักท่องเที่ยวก็เข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน แต่ถ้ามาเป็นหมู่คณะ ควรติดต่อล่วงหน้านะจ๊ะ โทร. 0-7363-1038 เขามีรถพ่วงพร้อมวิทยากรพานำชมฟรีจ้า

_RAN1007_IND9087 _IND9096 _KWA5015 _RAN1118 _TAK5926 _TAK5935

28. วิถีชีวิตริมแม่น้ำบางนรา อ.เมืองฯ จ.นราธิวาส ‘วิถีคน วิถีน้ำ ความผูกพันที่ไม่มีวันจางคลาย’ บางนราเป็นแม่น้ำที่แยกออกจากแม่น้ำโก-ลก ที่อำเภอตากใบ แล้วไหลขึ้นสู่ทิศเหนือผ่านตัวเมืองนราธิวาส แล้วออกอ่าวไทยในที่สุด บริเวณใกล้ปากแม่น้ำมีชุมชนประมงของชาวบ้านอาศัยอยู่สองฟากฝั่ง แลเห็นอู่ซ่อมเรือ บ้านเรือนริมน้ำ และเรือกอและจอดเรียงรายนับร้อยลำ กินอยู่กันอย่างเรียบง่ายพอเพียง ผูกพันอยู่กับท้องทะเล สายลม แสงแดด เกลียวคลื่น ทุกเมื่อเชื่อวัน ตามประสาลูกทะเล ถ้าไปเที่ยวนราธิวาสคราวหน้า อย่าลืมแวะชมกันนะจ๊ะ มีมุมสวยๆ ให้เซลฟี่ ถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกันเพียบ แต่ก็ต้องให้ความเคารพชุมชนด้วยล่ะ อย่าลืมนะ

_BOT2176 _BOT2177 _BOT2190 _NAR1542 N17

29. กรือโป๊ะ ‘ข้าวเกรียบปลาทะเลแสนอร่อย ขนมกินเล่น Signature เมืองนรา’ มาเที่ยวเมืองนราถ้าอยากหาของกินเล่นแบบท้องถิ่นแท้ๆ ล่ะก็ ต้องถามหา ‘กรือโป๊ะ’ (หรือ กือโป๊ะ = Keropok : ภาษามลายู) เป็นอันดับแรก เพราะมันคือข้าวเกรียบปลาแผ่นกลม บาง เคี้ยวกรุบกรอบ รสชาติออกเค็มนิดๆ หวานหน่อยๆ ยิ่งกินยิ่งมันจนหยุดไม่ได้ เพราะทั้งอร่อยและได้คุณค่าโปรตีนจากทะเลน่ะสิ จะกินธรรมดาหรือจิ้มซอสก็ได้ ตามใจชอบ หาซื้อได้ทั่วไปในร้านค้าริมถนน และร้าน OTOP ของจังหวัด

_BOT1974 _NAR0368_BOT1964

30. ปลากุเลาเค็ม อ.ตากใบ ‘สุดยอดอาหารถิ่น ที่ใครมากินก็ต้องติดใจ’ ปลากุเลาเป็นปลาทะเลชั้นดีมีราคา ที่คนนราธิวาสนิยมนำมาทำเป็นปลากุเลาเค็มแดดเดียว ทอดกินกับข้าว บีบมะนาวนิด ซอยหอมแดง โรยหน้าด้วยพริกขี้หนูลงไปหน่อย แหม แค่คิดก็น้ำลายสอแล้ว กินกับข้าวสวยร้อนๆ นะ เรียกว่าต้องเติมข้าวจานสองจานสามโดยไม่รู้ตัวเชียว มีชื่อเสียงที่สุดคือ ปลากุเลาเค็มอำเภอตากใบ แนะนำ ร้านอ้อยูงทองปลากุเลา (อยู่ใกล้กับสะพานคอยร้อยปี บนถนนเส้นเดียวกับที่จะไปวัดชลธาราสิงเห) โทร. 0-7358-1044, 09-2996-5641 เราสามารถซื้อขึ้นเครื่องบินกลับบ้านได้ เพราะเขามีกรรมวิธีแพ็กห่อพลาสติกและใส่กล่องเก็บกลิ่นอย่างดี สุดยอดจริงๆ

_IND9060_IND8491

31. ลองกองตันหยงมัส ‘สุดยอดผลไม้ปักษ์ใต้ ไม่ชิมไม่ได้แล้ว’ ถ้าไปเที่ยวนราธิวาสในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน อันเป็นช่วงที่ผลไม้ภาคตะวันออกอย่างระยอง จันทบุรี ซาหมดไปแล้ว เรายังมีโอกาสได้ลิ้มลอง ‘ลองกองตันหยงมัส’ (หรือ ลองกองซีโป) หนึ่งในสุดยอดผลไม้ปักษ์ใต้ ด้วยลักษณะเด่นคือออกผลเป็นช่อสวย เปลือกผลนุ่มคล้ายกำมะหยี่สีเหลืองทอง เนื้อล่อน เมล็ดน้อยหรือไม่มีเลย กลิ่นหอม รสหวานชื่นใจ และยังอุดมด้วยวิตามินบีและฟอสฟอรัส ถ้ากินเป็นประจำจะช่วยลดความร้อนในร่างกาย ช่วยป้องกันไม่ให้เป็นไข้ ตัวร้อน บรรเทาอาการร้อนในช่องปาก ลองกองตันหยงมัสจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของนราธิวาสไปโดยปริยาย มีแหล่งปลูกมากที่สุดอยู่ที่ อ.ระแงะ อ.ศรีสาคร และ อ.สุไหงปาดี

_BOT2092Untitled-1

Special Thanks : ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนราธิวาส, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนราธิวาส (ดูแลจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา), สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *