ภาคอีสานตอนกลางเป็นบริเวณที่มีเอกลักษณ์น่าเที่ยว ต่างจากอีสานตอนเหนือบริเวณริมลำน้ำโขง หรืออีสานตอนใต้ที่ได้รับอิทธิพลจากอาณาจักรเขมรในอดีต ทว่าอีสานภาคกลางบริเวณขอนแก่น-กาฬสินธุ์ มีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบ สลับกับเนินเขาที่ไม่สูงมาก มักเป็นภูเขาลูกเดี่ยวๆ โดดๆ แหล่งท่องเที่ยวของเขาจึงเน้นไปที่วัดวาอาราม ประเภทวัดป่า รวมถึงแหล่งโบราณคดีไดโนเสาร์ล้านปี ซึ่งเคยมีชีวิตครองความเป็นใหญ่ในบริเวณนี้เมื่อหลายสิบล้านปีก่อน ลองหลับตานึกจินตนาการตามฉันดูซิ ว่าในยุคหนึ่งเคยมีไดโนเสาร์ทั้งตัวใหญ่ตัวเล็ก ทั้งพวกกินเนื้อและกินพืช เดิมท่อมๆ หากิน ฝากรอยเท้าไว้แถวนี้ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เพราะปัจจุบันยังมีหลักฐานทางบรรพชีววิทยา (สิ่งมีชีวิตในอดีต) ปรากฏเป็นซากฟอสซิล มีการขุดค้นพบมากมาย และไดโนเสาร์หลายชนิดที่พบบริเวณนี้ก็ถือเป็นชนิดใหม่ของโลกซะด้วย!
กล่าวกันว่าไดโนเสาร์พวกแรกปรากฏกายขึ้นเมื่อ 225 ล้านปีก่อน มีชีวิตอยู่ วิวัฒนาการ และแพร่พันธุ์ครอบครองโลกนานถึง 165 ล้านปี ก่อนจะสูญพันธุ์ไปหมดโลกเมื่อ 65 ล้านปีที่แล้ว สันนิษฐานว่าด้วยสาเหตุอุกาบาตยักษ์ชนโลก แล้วทำให้ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงกะทันหัน ส่วนในเมืองไทยเรา มีการขุดค้นพบซากไดโนเสาร์ดึกดำบรรพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2519 ที่อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ตั้งแต่นั้นมาก็มีการค้นพบไดโนเสาร์ที่อยู่ในช่วงยุคจูราสสิกแล้วถึง 16 ชนิด โดย 6 ชนิด ถือเป็นชนิดใหม่ของโลก และอีก 5 ชนิด อยู่ในกลุ่มสกุลใหม่ของโลก เห็นไหมล่ะว่าภาคอีสานตอนกลางของไทยเราไม่ธรรมดาจริงๆ
เมื่อฉันมาเที่ยวถึงขอนแก่นแล้ว ก็ไม่พลาดไปชม “พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง” อำเภอเวียงเก่า ซึ่งขุดพบซากไดโนเสาร์ดึกดำบรรพ์จำนวนมาก และเป็นอุทยานไดโนเสาร์แห่งแรกในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีการค้นพบซากไดโนเสาร์ที่ได้รับการตั้งชื่อตระกูลใหม่หลายชนิด เช่น สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส (Siamotyrannus isanensis) ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน (Phuwiangosaurus suteethorni) และกินรีมิมัส ขอนแก่นเอนซิส (Kinnareemimus Khonkaenensis) ฯลฯ โดยเฉพาะพันธุ์ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน ได้รับการตั้งชื่อขึ้นตามพระนามของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นชนิดที่โด่งดัง เพราะเป็นชนิดใหม่ของโลก
ภายในพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียงเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวทั่วไปเข้าชม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 จัดแสดงไดโนเสาร์ขนาดเท่าจริงแสดงไว้หลายสิบชนิด ภายในห้องนิทรรศการติดแอร์เย็นฉ่ำ ส่วนบริเวณอุทยานแห่งชาติภูเวียง เราก็สามารถเดินไปดูหลุมขุดค้นจริงได้ใกล้ชิด
ระหว่างทางกลับจากพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง ที่อำเภอเวียงเก่า ฉันแวะที่ “สวนไดโนเสาร์ศรีเวียง” เป็นสวนสาธารณะสวยกว้างถึง 25 ไร่ โดยเขามีการจำลองไดโนเสาร์พันธุ์ต่างๆ ให้ชมอย่างใกล้ชิด ในลักษณะสวนกลางแจ้งที่มีเทือกเขาภูเวียงเป็นฉากหลังอยู่ไกลลิบๆ
ฉันเลยตามรอยไดโนเสาร์ต่อไปยังจังหวัดกาฬสินธุ์ที่ “พิพิธภัณฑ์สิรินธร” บริเวณภูกุ้มข้าว อำเภอสหัสขันธ์ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ถือเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องไดโนเสาร์ที่สมบูรณ์ที่สุดของไทย และในอาเซียน โดยเป็นแหล่งไดโนเสาร์กินพืชที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย มีการขุดค้นพบซากฟอสซิลกระดูกมากกว่า 700 ชิ้น! เป็นไดโนเสาร์กินพืชไม่น้อยกว่า 7 ตัว และไม่ทราบชนิด 1 ตัว คาดว่าอาจจะเป็นสกุลและชนิดใหม่ของโลก! พิพิธภัณฑ์สิรินธรทำเอาฉันตื่นเต้นไม่น้อย เพราะห้องโถงแรกที่เดินเข้าไป ก็เจอเข้ากับเจ้าตัวกินเนื้อ เป็นไดโนเสาร์ทีเร็กจำลองตัวสูงใหญ่ หน้ายาว ฟันแหลมคม เหมือนกับที่ดูในหนังฮอลลีวู๊ดเรื่อง Jurassic Park ไม่มีผิด ตอนนี้มันยืนแยกเขี้ยวอยู่ตรงหน้าฉันจริงๆ แล้วน่ะสิ!
หลังจากกลับเข้ามานอนที่ขอนแก่นอย่างสบายอารมณ์แล้ว วันที่สองฉันจัดให้เป็นวันทัวร์ไหว้พระ โดยมี อาจารย์คฑา ชินบัญชร เป็นไกด์กิตติมศักดิ์ให้ เริ่มจากการไปกราบ “พระมหาธาตุแก่นนคร” ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับบึงแก่นนครกลางเมืองขอนแก่น ความพิเศษคือเป็นพระธาตุทรงสี่เหลี่ยม สูงมากถึง 80 เมตร แบ่งเป็น 9 ชั้น ฉันก้มลงกราบพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ส่วนอุรังคธาตุ (ส่วนอก) และพระธาตุของพระสาวกประมาณ 100 องค์ ที่บรรจุอยู่ในโถแก้ว พร้อมกับอธิษฐานให้ชีวิตมีแต่สุขสวัสดี จากนั้นก็นั่งรถต่อไปยัง “พระธาตุขามแก่น” เพื่อเวียนเทียนและห่มผ้าพระธาตุเพื่อสิริมงคลในชีวิต
พระธาตุขามแก่นเป็นหนึ่งในพระธาตุสำคัญคู่บ้านคู่เมืองขอนแก่นมานานกว่า 2,000 ปีแล้ว ตำนานเล่าว่าในครั้งที่กำลังมีการก่อสร้างพระธาตุพนมอยู่นั้น โมริยกษัตริย์แห่งเขมรเกิดความศรัทธา ต้องการจะนำฝุ่นพระธาตุที่ตนมีไปร่วมบรรจุไว้ในพระธาตุพนมด้วย จึงจัดขบวนเดินทางไกลมา แต่ไปไม่ทัน องค์พระธาตุพนมสร้างเสร็จไปก่อน ขากลับได้แวะพักในป่ามะขาม พบว่าตอมะขามที่ตายแล้ว ซึ่งพระองค์ได้นำโถบรรจุฝุ่นพระธาตุไปวางไว้ในตอนขาไป บัดนี้ได้ฟื้นคืนชีวิตงอกแตกใบขึ้นใหม่เป็นอัศจรรย์ จึงได้สร้างพระธาตุคร่อมตอมะขามนั้น จนกลายเป็นพระธาตุขามแก่นอันศักดิ์สิทธิ์มาตราบทุกวันนี้ ใครที่ตั้งใจไปกราบไหว้อธิษฐานขอพรให้ฟื้นคืนหายจากโรคภัยต่างๆ ก็มักจะได้สมดังหวังอย่างไม่น่าเชื่อ!
“วัดไชยศรี” บ้านสะวี อำเภอเมืองขอนแก่น เพื่อชม “สิม” หรือโบสถ์แบบอีสาน ที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2408 ทำไมต้องมาชม? เพราะสิมแห่งนี้ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน เนื่องจากทั้งภายในและภายนอกมี “ฮูปแต้ม” หรือภาพจิตรกรรมฝาผนัง วาดไว้แทบทุกซอกทุกมุม โดยจิตกรพื้นบ้านนามว่า นายทอง ทิพย์ชา ชาวมหาสารคาม ส่วนใหญ่วาดเป็นรูปพุทธประวัติ พระเวสสันดรชาดก และนิทานพื้นบ้านเรื่องสังข์สินไชย อันเป็นนิทานพื้นบ้านยอดฮิตของอีสานมาแต่โบราณ นายทองได้ใช้สีธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่น คือสีน้ำเงินจากต้นคราม สีเหลืองจากต้นเข และสีขาวจากปูนขาว ทำให้ภาพมองสบายตา ที่พิเศษอีกอย่างคือตรงประตูทางเข้าโบสถ์นายทองได้วาดเป็นรูปนรกภูมิ ดูน่าขนลุก!
“Farm View” อยู่ในโรงแรงแรมเมเจอร์แกรนด์ อำเภอชุมแพ ต้องบอกเสียงดังๆ เลยว่า ตอนนี้ขอนแก่นเขาก็มีน้องแกะเอาไว้ให้ไปถ่ายภาพคู่แล้วเหมือนกันนะ ความน่ารักของน้องแกะฝูงเล็กๆ ที่วิ่งเล่นอยู่ในทุ่งหญ้าสีเขียวๆ ด้านหลังสร้างเป็นโรงนาสีแดงสดสไตล์ American Farm House ทำให้บรรยากาศขอนแก่นวันนี้ดูสวยผิดหูผิดตาไปจริงๆ
“วัดภูค่าว” (หรือวัดพุทธนิมิต) อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอบอกว่าวัดนี้ไม่ธรรมดาเช่นกัน เพราะนอกจากจะมีโบสถ์ไม้สักใหญ่โตมโหฬาร แกะสลักอย่างวิจิตรแล้ว ยังมีพระมหาธาตุเจดีย์สถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธนิมิตเหล็กไหลสีดำสนิท น่าศรัทธาเลื่อมใสอย่างยิ่ง ฉันเดินชมภายนอกพระมหาธาตุเจดีย์ถึงกับตะลึง เพราะด้วยขนาดอันใหญ่โต จนต้องมองคอตั้งบ่า ส่วนภายนอกนั้นบุไว้ด้วยแผ่นดินเผาสีน้ำตาลเป็นลวดลายต่างๆ อย่างน่าทึ่งจริงๆ
“ศาลาไหมไทย” แหล่งรวมผ้าไหมของอำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น อุตส่าห์เตรียมตังค์มาซื้อผ้าไหมฝากแม่แล้วทั้งที ก็ต้องแวะให้ถึงแหล่งผลิต จะได้ชมสาธิตวิธีการทอ การทำ การสาวไหมด้วย เห็นแล้วต้องยอมควักเงินซื้อเลยเต็มที่ เพราะกว่าจะได้ผ้าไหมมัดหมี่มาแต่ละผืน ต้องทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจ ใส่ฝีมือ บวกกับความชอบ ลงไปแบบเต็มๆ เรียกว่างานทอผ้าไหมนี่นะ ใครไม่รักไม่ชอบจริงคงนั่งทออยู่เป็นวันๆ ไม่ได้แน่ ฉันกับเพื่อนๆ เลยช่วยกระจายรายได้ให้กลุ่มแม่บ้านไป จนกระเป๋าตังค์เบาหวิว แต่ก็ดีใจที่ได้ช่วยอุดหนุนเป็นกำลังใจให้ผ้าไหมอำเภอชนบทสามารถเดินหน้าต่อไปได้
Special Thanks : ขอขอบคุณ คุณสามพร มณีไมตรีจิต ผู้อำนวยการกองตลาดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ ททท. สำนักงานขอนแก่น-กาฬสินธุ์ สนับสนุนการเดินทางเป็นอย่างดี
Traveler’s Guide
When to go : เส้นทางอีสานตอนกลาง ขอนแก่น-กาฬสินธุ์ เที่ยวได้ตลอดปี โดยเฉพาะฤดูฝนและหนาว อากาศเย็นสบาย ถ่ายรูปได้สวย ที่พักที่กิน รวมถึงถนนหนทางสะดวกมาก
How to go : เดินทางสะดวกรวดเร็ว และประหยัด แนะนำบินตรงกรุงเทพฯ-ขอนแก่น จากนั้นเช่ารถตู้ หรือรถยนต์ขับเที่ยวได้สบาย เส้นทางเชื่อมโยงขอนแก่น-กาฬสินธุ์-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด เที่ยวได้หลากหลาย
Where to stay : แนะนำ โรงแรม Pullman อยู่กลางเมืองขอนแก่น โทร. 0-4332-2155 www.pullmanhotels.com หรือถ้าอยากได้ที่อยู่ติดสนามบินขอนแก่น ราชาวดี รีสอร์ท แอนด์ โฮเทล โทร. 0-4346-8222 www.rachawadeehotel.com เดินทางต่อเข้าเมืองได้สบายด้วยบริการแท็กซี่ 24 ชั่วโมง
What to eat : มาขอนแก่นอย่าลืมชิมอาหารพื้นเมือง พวกไข่กระทะ ขนมปังบาแกตต์, ส้มตำไก่ย่าง, โจ๊กจั๊บเส้น, ข้าวเปียกเส้น, หมูยอ ฯลฯ แนะนำ ร้านไอยรา คอฟฟี่ & คิชเช่น ถนนอนามัย โทร. 08-7263-7288
Souvenirs : ผ้าไหมมัดหมี่ อำเภอชนบท, หมูยอขอนแก่น, เสื้อยืดและตุ๊กตาไดโนเสาร์, ผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์
More info : ททท. สำนักงานขอนแก่น-กาฬสินธุ์-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด โทร. 0-4322-7714-6 / บริษัท ฟูจิ ทัวร์ โทร. 09-8273-4435 ,08-7695-9582