นั่งรถไฟ KIHA 183 เที่ยวสุขใจแหลมผักเบี้ย จ.เพชรบุรี

ภาพโดย สุเทพ ช่วยปัญญา สำนักข่าวท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม / The Way News.com
การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเพชรบุรี สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย (สธทท.) เปิดประสบการณ์ใหม่จัดทริป นั่งรถไฟ KIHA 183 สืบสาน รักษา ต่อยอด @ แหลมผักเบี้ย เพชรบุรีพานักท่องเที่ยวกว่า 400 คน นั่งรถไฟดีเซลรางขบวนพิเศษของ JR Hokkaido ประเทศญี่ปุ่น ไปปล่อยลูกปูม้า ที่หาดทรายเม็ดแรก เยี่ยมชมระบบบำบัดน้ำเสียด้วยธรรมชาติ เดินเทรลศึกษาธรรมชาติป่าโกงกาง ที่โครงการศึกษาวิจัย และพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฟังการบรรยายการทำนาเกลือ ที่ฟาร์มทะเลตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และแวะช้อปซื้อของฝากที่ โรงานลุงเอนกขนมหวานเมืองเพ็ชร์ คุณศุภมาศ ปลื้มสกุล หัวหน้ากองโฆษณาและส่งเสริมการท่องเที่ยว ศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ต้อนรับคณะนักท่องเที่ยว นั่งรถไฟ KIHA 183 สืบสาน รักษา ต่อยอด @ แหลมผักเบี้ย เพชรบุรี พร้อมด้วย นางทนาดา วิจักขณะ รองผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเพชรบุรี (ททท.) นายนัทธพงศ์ วิบูลรังสรรค์ หัวหน้ากลุ่มงานกีฬา และนันทนาการ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเพชรบุรี และ นายกันตพงษ์ ธนเนืองโรจน์ นายกสมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย(สธทท.) ร่วมกับนักท่องเที่ยวปล่อยลูกปูม้า ที่หาดชายเม็ดแรก แหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรีเมื่อวันที่ 1-2 กรกฎาคม 2566คุณศุภมาศ ปลื้มสกุล หัวหน้ากองโฆษณาและส่งเสริมการท่องเที่ยว ศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า “โครงการท่องเที่ยวด้วย รถไฟขบวนรถเพิเศษ KIHA 183 นี้เป็นดำริของท่าน นิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ต้องการให้เกิดการมีส่วนร่วมระหว่างองค์กรท่องเที่ยวต่างๆ กับรฟท. ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)  ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด (ทกจ.) สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย (สธทท.) และท่องเที่ยวโดยชุมชนต่างๆ อยากเห็นการท่องเที่ยวลงสู่ชุมชนด้วย”“เราได้รับ รถไฟ KIHA 183 จากเกาะฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น มา 17 ตู้ 4 ขบวน มีเสียงออกมาว่าเอามาทำไม ซ่อมไม่คุ้ม แล้วก็ไม่รู้ว่าจะวิ่งได้หรือเปล่า ขนาดรางก็ไม่เท่ากัน แต่รฟท. ก็พิสูจน์ให้เห็นว่า รถไฟ KIHA 183 ยังสามารถใช้งานได้ ตอนนี้ซ่อมเสร็จแล้ว 1 ขบวน เราก็นำมาวิ่งเป็นรถขบวนพิเศษนำเที่ยว เฉพาะวันเสาร์ และอาทิตย์ แบบ One day trip ไปเช้าเย็นกลับ บางทริปก็เป็นแบบค้างคืน 1 คืน 2 วัน เฉพาะวันเสาร์ และอาทิตย์เช่นกัน โดยในแต่ละเดือนเราจะมี Concept ที่แตกต่างกันไป ในเดือนกรกฎาคมนี้ เราใช้ สืบสาน รักษา ต่อยอด ซึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่เราจะไปก็จะเป็น โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 หรือชุมชนที่เดินรอยตามศาสตร์พระราชา”“อย่างวันนี้เราใช้ชื่อทริปว่า นั่งรถไฟ KIHA 183 สืบสาน รักษา ต่อยอด @ แหลมผักเบี้ย เพชรบุรี  เริ่มตั้งแต่ช่วงเช้า นักท่องเที่ยวร่วมกันทำกิจกรรมปล่อยลูกปูม้า ที่หาดทรายเม็ดแรก เสร็จเยี่ยมชม ระบบบำบัดน้ำเสียด้วยธรรมชาติ เดินเทรลศึกษาป่าโกงกาง ที่โครงการศึกษาวิจัย และพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต่อด้วยฟังการบรรยายการทำนาเกลือ ที่ฟาร์มทะเลตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และแวะช้อปซื้อของฝากที่ โรงานลุงเอนกขนมหวานเมืองเพ็ชร์” รถไฟ KIHA 183 เริ่มออกเดินทางจากสถานีรถไฟหัวลำโพง เวลา 07.00 น. ถึงสถานีเพชรบุรีประมาณ 10.00 น.
นักท่องเที่ยวทยอยกันมาลงทะเบียนแต่เช้าตรู่ พร้อมการต้อนรับจากเจ้าหน้าที่อย่างอบอุ่นท่านกันตพงษ์ ธนเนืองโรจน์ นายกสมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย (สธทท.) กล่าว่า “นักท่องเที่ยวมาลงทะเบียนวันนี้เต็ม 200 คน ทุกที่นั่ง แสดงให้เห็นถึงกระแสความนิยมการท่องเที่ยวโดยรถไฟ ขบวนพิเศษ KIHA 183 เพื่อไปทำกิจกรรม SCR สืบสาน รักษา ต่อยอด ในโครงการพระราชดำริของจังหวัดเพชรบุรี”รถไฟ KIHA 183 เดินทางถึงสถานีเพชรบุรี เวลาประมาณ 10.00 น. พร้อมอากาศแจ่มใส เหมาะกับการท่องเที่ยวคุณประมวลวิทย์ พฤศชนะ ผู้ช่วยท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเพชรบุรี (เสื้อสีดำ) รอให้การต้อนรับคณะนักท่องเที่ยวที่มากับรถไฟ KIHA 183 ณ สถานีรถไฟเพชรบุรีจากสถานีรถไฟเพชรบุรี ใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 นาที ด้วยรถบัสปรับอากาศอย่างดี สู่อำเภอบ้านแหลม บริเวณ “แหลมหลวง” ซึ่งถือเป็นหาดทรายหาดแรกของฝั่งอ่าวไทย จนได้ฉายาว่า “ต้นทางทราย ปลายทางเกลือ โคลนก้อนสุดท้าย ทรายเม็ดแรก” เพราะในส่วนถัดขึ้นไปทางทิศเหนือจะเป็นหาดโคลนทั้งหมด ลูกปูนับแสนๆ ตัว ถูกจัดเตรียมไว้ในถังพลาสติก ให้นักท่องเที่ยวนำไปปล่อย เติมเต็มความสมบูรณ์ให้ท้องทะเล แหลมหลวงในช่วงกลางวันน้ำทะเลจะลดระดับลง เผยให้เห็นหาดทรายสีน้ำตาลอ่อน เหมาะทำกิจกรรม CSR ปล่อยลูกปูลงทะเล อีกทั้งจุดนี้ยังอยู่ห่างจากธนาคารปูเพียง 1 กิโลเมตรเท่านั้นรอยยิ้มแห่งความสุขในการปล่อยลูกปู  สืบสาน รักษา ต่อยอด เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ท้องทะเลคุณประมวลวิทย์ พฤศชนะ ผู้ช่วยท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเพชรบุรี  ปล่อยลูกปูม้าที่บริเวณแหลมหลวง ร่วมกับนักท่องเที่ยวที่มากับขบวนรถไฟ KIHA 183ท่านกันตพงษ์ ธนเนืองโรจน์ นายกสมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย (สธทท.) ร่วมกิจกรรมปล่อยลูกปูที่แหลมหลวง เมื่อปล่อยลูกปูเสร็จแล้ว คณะเดินทางต่อไปที่ “ธนาคารปูม้า” อ.บ้านแหลม แหลมผักเบี้ย ณ ร้านโอ้โหปูอร่อย ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของชุมชน เพื่ออนุรักษ์เพิ่มจำนวนปูม้า หลังจากเคยประสบภาวะเสื่อมโทรมลดจำนวนของสัตว์ทะเล ด้วยสาเหตุขาดการดูแลใส่ใจระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม ธนาคารปูม้าแหลมผักเบี้ย รับซื้อแม่ปูไข่นอกกระดอง นำลูกปูมาอนุบาลจนแข็งแรง แล้วค่อยปล่อยลงทะเล แม่ปูม้าไข่นอกกระดอง ต้นพันธุ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ แม่ปูม้าหนึ่งตัวสามารถมีไข่ได้ถึง 200,000 ถึง 1 ล้านฟอง ได้เวลาอาหารเที่ยง ก็ถึงเวลาล้ิมลองอาหารทะเลสดอร่อยของเพชรบุรี ณ ร้านโอ้โหปูอร่อย อาหารเที่ยงแบบพื้นบ้านแสนอร่อย ประกอบด้วย ผักชะครามลวก กินกับหัวกะทิและน้ำพริกแดง, ปูม้านึ่ง, ยำสาหร่ายพวงองุ่น, ปลากะพงทอดราดน้ำจิ้มรสเด็ด, หอยตลับผัดใบโหระพา, ต้มยำปลากะพง และไข่เจียวร้อนๆ อิ่มเอมเปรมปรีกับอาหารเที่ยงแล้ว เดินทางเลียบทะเลด้วยรถบัสอีกเพียง 10 นาที ก็ถึง “โครงการศึกษาและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.​ 2534 ในความดูแลของมูลนิธิชัยพัฒนา ตามแนวพระราชดำริของพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 ผู้ทรงมีสายพระเนตรยาวไกล จัดเป็นโครงการศึกษาวิจัยและบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีการธรรมชาติ พร้อมให้ความรู้ด้านระบบนิเวศป่าชายเลน จนกลายเป็นแหล่งศึกษาดูงาน และพื้นที่ดูนกสำคัญ ซึ่งนักดูนกทั่วโลกรู้จักเป็นอย่างดี การเยี่ยมชมพื้นที่และกิจกรรมของ โครงการฯ แหลมผักเบี้ย ใช้รถพ่วงนั่งได้คันละ 35 คน แล่นไปตามจุดต่างๆ ใช้เวลารอบละ 25 นาที จุดแรกผ่านไฮไลท์คือ “บ่อบำบัดน้ำเสียด้วยสาหร่ายสีเขียวธรรมชาติ” โดยสูบน้ำเสียจากตัวเมืองเพชรบุรีมาบำบัด พร้อมสามารถเลี้ยงปลาได้เมื่อคุณภาพน้ำดีขึ้น และจับปลาขายได้ทุก 6 เดือน ส่วนน้ำสะอาดที่บำบัดแล้ว สามารถนำไปใช้ประโยชน์หรือปล่อยลงทะเลได้ โดยไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การใช้ต้นหญ้า 7 ชนิด บำบัดน้ำเสีย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จุดสุดท้ายเป็นเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ (Nature Trail) ระยะทางเดินไปกลับ 1800 เมตร เพื่อศึกษาระบบนิเวศป่าชายเลน จนไปถึงศาลาริมทะเลเปิดโล่ง อากาศสดชื่น นักท่องเที่ยวรถไฟ KIHA 183 เดินชมธรรมชาติ ศึกษาระบบนิเวศป่าชายเลน ซึ่งเป็นทั้งกำแพงธรรมชาติป้องกันคลื่นลมทะเล และยังอนุบาลสัตว์ทะเลวัยอ่อน เพื่อออกไปเติบโตในห่วงโซ่อาหารทะเลชายฝั่งด้วย ภาพแห่งความสุขอันน่าจดจำ ในการเดินทางสู่แหลมผักเบี้ยกับ รถไฟ KIHA 183 ใครที่ไม่ได้นั่งรถพ่วงไปชมพื้นที่โครงการฯ ก็สามารถเข้าห้องประชุมติดแอร์เย็นฉ่ำ ฟังบรรยายสรุปประวัติที่มาและกิจกรรมของโครงการฯ แหลมผักเบี้ย ถ่ายภาพร่วมกันเป็นที่ระลึกบริเวณด้านหน้าอาคารโครงการฯ แหลมผักเบี้ย ออกจากโครงการฯ แหลมผักเบี้ย ใช้ถนนเส้นเลียบทะเลอำเภอบ้านแหลมไปอีกไม่เกิน 15 นาที ด้านขวามือก็จะพบกับ “โครงการฟาร์มทะเลตัวอย่างแบบผสมผสานตามพระราชดำริ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” ต.บางแก้ว อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.​ 2551 โครงการฟาร์มทะเลตัวอย่างแบบผสมผสานตามพระราชดำริฯ จัดตั้งขึ้นด้วยสาเหตุที่ชาวประมงจับสัตว์ทะเลได้น้อยลง และต้องออกเรือไปไกลขึ้น พื้นที่แห่งนี้จึงศึกษาวิจัยและสาธิตเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จำเป็นทั้งเพื่อการเพาะเลี้ยงและจับสัตว์ทะเลให้มีประสิทธิภาพ และถูกสุขอนามัยมากขึ้นด้วย แต่ละปีจะมีผู้สนใจเข้าศึกษาดูงานนับหมื่นคน พื้นที่กว่า 82 ไร่ ของโครงการฯ เป็นนาเกลือร้างที่ได้รับการบริจาคมา จึงสามารถสื่อถึงเรื่องราว “การทำนาเกลือสมุทร” ด้วยวิธีดั้งเดิม เพราะอำเภอบ้านแหลม จ.เพชรบุรี มีพื้นที่นาเกลืออยู่มากที่สุดของประเทศไทย ไม่น้อยกว่า 33,000 ไร่เกลือทะเลคุณภาพสูงของอำเภอบ้านแหลม สามารถนำมาเพิ่มมูลค่าแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มากมาย โดยเฉพาะเกลือสปา แป้งร่ำเกลือจืด และอื่นๆต้นแม่พันธุ์สาหร่ายพวงองุ่น ชมการเพาะเลี้ยงและคัดแยกสาหร่ายพวงองุ่น นักท่องเที่ยว รถไฟ KIHA 183 ทดลองทำตะแกรงเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น โครงการฟาร์มทะเลตัวอย่างฯ มีบ่อเลี้ยงสัตว์ทะเลสวยงามนานาชนิดไว้ให้ชมอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็น หอยมือเสือ, ปลาดาว, กุ้งมังกร, ปลาการ์ตูน, หอยเป๋าฮื้อ, ปลาสิงโต, ปลาทู, ปลากะรัง, ปลิงทะเล และอีกมากมาย สาหร่ายทะเลสด สามารถเพาะเลี้ยง นำไปแปรรูปเป็นสาหร่ายอบกรอบ และอาหารอุดมคุณค่า

มาถึงฟาร์มทะเลตัวอย่างฯ​แล้ว ต้องไม่พลาดชิมเครื่องดื่มนวัตกรรมใหม่ “น้ำสาหร่ายผมนาง” ที่ดีต่อสุขภาพมาก น้ำรสชาตินุ่มนวล ดื่มง่าย และมีเนื้อสาหร่ายผมนางเนื้อนุ่มคล้ายเส้นเจลลี่ ผิวสัมผัสคล้ายเส้นบุกสุขภาพ แช่เย็นดื่มยิ่งอร่อย
หมุดหมายสุดท้ายของทริปนี้ คือการเดินทางกลับจากแหลมผักเบี้ยเข้าสู่อำเภอเมืองเพชรบุรี เพื่อช้อปปิ้งซื้อของฝากกลับบ้านที่ “ร้านลุงอเนก ขนมหวานเมืองเพ็ชร์” ซึ่งเป็นโรงงานผลิตขนมไทยที่มีมาตรฐานความสะอาดระดับ GHP/HACCP จากสถาบันมาตรฐาน ISO จึงมั่นใจได้เรื่องคุณภาพ ร้านลุงอเนกมีขนมพื้นบ้านไทยหลากหลายให้เลือกชิมเลือกซื้อ ทั้งทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ขนมอาลัว ขนมหม้อแกง ขนมฝอยทองกรอบ ขนมฝอยทองรังนกน้อย กาละแม ฯลฯ ราคาไม่แพง เพราะเป็นแหล่งผลิตเอง ของใหม่สดทุกวัน ขนมหม้อแกงถ้วย เป็น Signature โด่งดังของร้านนี้  ยิ่งแช่เย็นนำมากินยิ่งอร่อย มี 6 รส คือ รสเผือก รสทุเรียน รสกล้วย รสเมล่อน รสฟักทอง และรสถั่ว ท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี (คุณวันเพ็ญ มังศรี) มาต้อนรับคณะนักท่องเที่ยว รถไฟ KIHA 183 ด้วยตนเอง

คุณวันเพ็ญ มังศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า “จังหวัดเพชรบุรีพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกคน เพราะเรามีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย ทั้งธรรมชาติ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ วัดวาอาราม สายมูสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และอาหารการกินที่อร่อย มีไม่ซ้ำกันทั้งสามมื้อ ต้องขอขอบคุณการรถไฟแห่งประเทศไทย และนักท่องเที่ยวหลายร้อยคนในครั้งนี้ ที่เดินทางมาพร้อมรถไฟ KIHA 183 ช่วยสร้างสีสัน สร้างความคึกคัก และช่วยกระจายรายได้ให้เพชรบุรีเป็นอย่างมาก

นั่งรถไฟ KIHA 183 สืบสาน รักษา ต่อยอด @ แหลมผักเบี้ย เพชรบุรี” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1- 2 กรกฎาคม 2566

สนใจเดินทางในทริปถัดไป โทร.สอบถามได้ที่ 1690 (สายด่วนการรถไฟแห่งประเทศไทย) 

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *