TEATA BCG Mini Caravan สบ๊าย สบาย สไตล์ราย็องฮิ

เมื่อพูดถึง “การท่องเที่ยว” และ “การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” หลายคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่แท้จริงแล้วทั้ง 2 เรื่องนี้อยู่ใกล้ตัวเรามาก หากเราท่องเที่ยวเดินทางอย่างห่วงใยใส่ใจสิ่งแวดล้อม ก็จะได้รับทั้งความสนุกและสุขใจอย่างครบรส ยิ่งปัจจุบันแนวคิด Low Carbon Tourism (การท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ) และแนวคิด BCG หรือโมเดลเศรษฐกิจสีเขียว ที่เน้นการหมุนเวียนนำทรัพยากรมาต่อยอดใช้อย่างคุ้มค่า ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น จนกลายเป็นวาระแห่งชาติ เราจึงควรเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกันสร้างสรรค์กิจกรรมดีๆ
สมาคมไทยท่องเที่ยวเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) จับมือร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ สมาคมการค้าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอีสาน จัดมินิคาราวาน ขับรถยนต์ไฟฟ้า EV เที่ยวภาคตะวันออก “BCG Mini Caravan สบ๊าย สบาย สไตล์ราย็องฮิ” เดินทางจากกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ-ระยอง ระหว่างวันที่ 22-24 กันยายน 2556 นำสมาชิกร่วมเดินทางสัมผัสเรียนรู้แหล่งท่องเที่ยวสีเขียว และทำกิจกรรมรักษ์โลก โดยปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral Tourism) มีการวัดผล และซื้อคาร์บอนเครดิตชดเชยให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม
คุณวสุมน เนตรกิจเจริญ (เสื้อสีดำยืนกลางภาพ) นายกสมาคม TEATA และ คุณศิรินุช สุทธิรัตน์ ผู้อำนวยการกองตลาดภาคตะวันออก ททท. (เสื้อสีเขียวยืนกลางภาพ) และพันธมิตรเพื่อนพ้องน้องพี่จากภาคอีสาน ร่วมกันปล่อยตัวคาราวานรถยนต์ไฟฟ้า EV ที่หน้าตึกสำนักงานใหญ่ ททท. ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ คุณศิรินุช สุทธิรัตน์ ผู้อำนวยการกองตลาดภาคตะวันออก ททท.โบกธงปล่อยตัวคาราวานรถยนต์ไฟฟ้า EV เที่ยวแบบ Low Carbon Tourism รถยนต์ EV หรือ Electronic Vehicle ที่ใช้ในครั้งนี้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า 100 เปอร์เซนต์ ไม่ปล่อยควันพิษออกสู่ชั้นบรรยากาศเลยแม้แต่นิดเดียว (Zero Emission) ตลอดการเดินทางจึงต้องมีการวางแผนในด้านเส้นทาง (Routing) ระยะทางที่จะไปในแต่ละวัน (Distance) และจุดช๊าตไฟฟ้าเพิ่ม (Electric Chatrging Station) นับเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม (Responsible Tourism)สถานที่แรกในการท่องเที่ยวแบบ Low Carbon ในทริปนี้ คือ “สถานตากอากาศบางปู” จังหวัดสมุทรปราการ  ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนชายทะเลแห่งแรกๆ ของไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2480  นับถึงปัจจุบันก็เกือบ 80 ปี แล้ว จุดเด่นของบางปูคือเป็นแนวชายฝั่งที่มีป่าชายเลนทอดยาว และจะมีฝูงนกนางนวลนับหมื่นตัวบินอพยพมาหากินในช่วงฤดูหนาว อากาศปลอดโปร่งสดชื่น และโรแมนติกมากๆบริเวณทางเข้าสะพานสุขตา  มีรถตุ๊กตุ๊กไว้บริการด้วยเผื่อใครเดินไม่ไหวสะพานสุขตา และศาลาสุขใจ คือจุดท่องเที่ยวหลักสำหรับผู้มาเยือนบางปู โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวจะคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวและนกนางนวลอพยพศาลาสุขใจ ตั้งอยู่ที่ปลายสะพานสุขตา เป็นร้านอาหารวิวดี ที่มีลานเต้นลีลาศย้อนยุคในวันเสาร์อาทิตย์ด้วยในช่วงฤดูหนาวบางปูจะมีทั้ง นกนางนวลธรรมดา (Brown-headed Gull) นกนางนวลขอบปีขาว (Common Black-headed Gull) นกนางนวลแกลบธรรมดา (Common Tern) นกนางนวลแกลบเคราขาว (Whiskered  Tern) นกนางนวลปากเรียว (Slender-billed Gull) และ นกนางนวลหลังดำพันธุ์รัสเซีย (Heuglin’s Gull) บินอพยพจากตอนเหนือที่เป็นเขตหนาวของโลก มาหากินอยู่ร่วมกันนับหมื่นตัว โดยนกบางกลุ่มบินมาไกลกว่า 3,000 ไมล์ เลยทีเดียวความน่ารักของนกนางนวลที่บางปู  ซึ่งเราสามารถสัมผัสได้อย่างใกล้ชิด
รถตุ๊กตุ๊กบริการฟรี  ที่สะพานสุขตาสะพานสุขตา ศาลาสุขใจ ไฮไลท์ของการท่องเที่ยวแบบสบายๆ ที่บางปูพอชมวิวสวยๆ และทักทายนกนางนวลกันเต็มอิ่มแล้ว ก็ได้เวลาเข้าไปหาความรู้ด้านธรรมชาติและระบบนิเวศชายฝั่งกันที่ “ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบกบางปู” (Bangpu Nature Education Center)สมาชิก BCG Mini Caravan รับฟังข้อมูลเกี่ยวกับความสำคัญของป่าชายเลนระบบนิเวศชายฝั่งบางปู และเล่นเกมส์สนุกๆ ที่ได้ความรู้ เช่น นกชนิดใดมีมากที่สุดในบางปู? ต้นไม้ชนิดใดมีมากที่สุดในป่าชายเลนบางปู? ปลาตีนมีกี่ชนิด? ปูอะไรมีนิกเนมว่าปูผู้แทน? นับว่าทั้งสนุกและได้ความรู้ดีๆ ไปพร้อมๆ กันเกมส์สร้างความสามัคคี  และได้ความรู้เรื่องระบบนิเวศป่าชายเลนบางปูในเวลาเดียวกันหลังจากนั้นก็ได้เวลาออกมาเดินศึกษาธรรมชาติชองจริง ในเส้นทางเดินที่ลัดเลาะเข้าไปในป่าชายเลนของบางปู (Mangrove Forest Trail) โดยในช่วงแรกจะเห็นเลยว่ามีขยะทะเลจำนวนมากลอยเข้ามาติดอยู่ เพราะรากของต้นโกงกางทำหน้าที่ดักจับขยะเหล่านี้ไว้ มิให้ลอยออกสู่ทะเลเปิด ป้องกันไม่ให้สัตว์ทะเลกินขยะเข้าไปจนเกิดอันตรายได้
ต้นโกงกางของบางปู มีทั้งโกงกางใบใหญ่ และโกงกางใบเล็ก แต่ทั้งสองชนิดมีระบบรากคำ้ยันเหมือนกัน ให้ลำต้นสามารถยืนอยู่บนดินเลนนิ่มๆ ได้ และทนต่อวงจรน้ำขึ้นน้ำลงประจำวัน นอกจากนี้ยังเป็นที่หลบภัยอาศัยหากินของสัตว์นับไม่ถ้วน ทั้งกุ้งหอยปูปลา โดยเฉพาะเมื่อน้ำลง เราจะเห็นทั้งปลาตีน ปูก้ามดาบ กุ้งดีดขัน และหอยต่างๆ มากมายปูก้ามดาบ (Fiddler Crab) ตัวผู้  ขึ้นจากรูมาเดินหากินเศษอินทรีย์วัตถุบนหน้าดินเลนเวลาน้ำลด ปูก้ามดาบตัวผู้จะมีก้ามข้างหนึ่งใหญ่มากเพื่อใช้แสดงอำนาจประกาศอาณาเขต ใช้ดึงดูดความสนใจตัวเมีย และใช้ต่อสู้กันเมื่อต้องแย่งตัวเมียในฤดูผสมพันธุ์โพธิ์ทะเล (Indian Tulip Tree หรือ Pacific Rosewood) เป็นพืชเด่นชนิดหนึ่งในป่าชายเลน ใบคล้ายใบโพธิ์ เด่นตรงดอกมีสองสีในต้นเดียว คือดอกอ่อนสีเหลืองสดใส และดอกแก่สีแดงเข้ม ชาวบ้านนำไปใช้ประโยชน์หลายอย่าง อาทิ เปลือกใช้ทำเชือก และใบใช้ทำยารักษาแผลได้ เป็นต้นในเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติบางปู เราจะได้ใช้ประสาทสัมผัสทุกส่วนในการเรียนรู้ธรรมชาติ ทั้งตา หู จมูก ลิ้น และผิวกายสัมผัส อย่างเช่น เราจะได้ชิม ใบชะครามสด ซึ่งใบอ่อนสีเขียวสามารถนำมายำกินได้ให้รสเค็มอ่อนๆ แต่ถ้าใบแก่ที่เป็นสีแดงอมม่วงจะเค็มจัดเกินไป ไม่นิยมกินกัน นอกจากนี้พืชอีกหลายชนิดในป่าชายเลนยังมีใบที่ให้รสเค็ม เพราะหลังใบมีต่อมขับเกลือออกมาเดินมาจนถึง “เรือนสกุณา” เป็นหอซุ่มดูนกที่สร้างกลมกลืนกับธรรมชาติ ข้างในมีกล้องส่องนกแบบเลนส์เดี่ยว (Telescpoe) ไว้ให้ด้วยป่าชายเลนรอบเรือนสกุณามี ปลาตีน (Blue-spotted Mudskipper) หรือปลาจุมพรวด  ตัวใหญ่ยาวกว่า 20 เซนติเมตร ออกมาอวดโฉม ลายบนลำตัวของมันสามารถบ่งบอกอารมณ์ได้ เพราะถ้าเห็นลายจุดสีบนตัวชัดแสดงว่ามันอารมณ์ดี แต่ถ้าลายจุดสีจางลงแสดงว่ามันกำลังอารมณ์ไม่ดีแล้วล่ะจากเรือนสกุณาสามารถมองเห็นนกน้ำหลายชนิดลงหากินในป่าชายเลน อย่างในภาพนี้คือ ฝูงนกกาบบัว (Painted Stork) ซุ่มส่องดูนกน้ำจากระยะไกลด้วยกล้อง Telescope ที่มีกำลังขยายสูง เป็นกิจกรรม Eco-Tourism ที่ไม่รบกวนธรรมชาตินอกจากต้นโกงกางใบใหญ่และโกงกางใบเล็กแล้ว ป่าชายเลนบางปูยังมี ต้นแสมทะเล (Avicennia marina) เป็นพืชเด่นอีกด้วย ในภาพนี้จะเห็นได้ชัดเจนเลยว่าบนพื้นดินเลนรอบต้นแสมจะมีรากอากาศเป็นแท่งแหลมๆ นับไม่ถ้วนผุดขึ้นมา เพื่อให้ต้นไม้ใช้หายใจ ดึงออกซิเจนเข้าสู่กระบวนการสังเคราะห์แสง พวกมันจึงทนน้ำท่วมและน้ำขึ้นน้ำลงทุกวันได้อย่างน่าอัศจรรย์ได้เวลาทำกิจกรรมรักษ์โลก ร่วมกันปลูกต้นลำพูทะเลเสริมสร้างแนวป่าชายเลนบางปูให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น แม้จะต้องเดินอย่างยากลำบากในดินเลน แต่สมาชิกของเราก็สนุกและมีความสุขถ้วนหน้าเหล่าสมาชิก BCG Mini Caravan สบ๊าย สบาย สไตล์ราย็องฮิ  ร่วมกันปลูกต้นลำพูด้วยความชื่นมื่นสุขใจ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมรักษ์โลก ปลูกต้นลำพูเสริมสร้างระบบนิเวศป่าชายเลนบางปูให้สมบูรณ์แข็งแรงยิ่งขึ้น เพราะป่าชายเลนทำหน้าที่เป็นเสมือนกำแพงธรรมชาติสีเขียวป้องกันคลื่นลมแรง ดักขยะทะเล ช่วยดักตะกอนอินทรีย์ให้กลายเป็นแผ่นดินใหม่งอกออกไปในทะเลได้ในอนาคต แถมยังเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ เพิ่มความอุดมให้ห่วงโซ่อาหารของอ่าว ก ไก่ (อ่าวไทยตอนบน) ได้เป็นอย่างดี

ที่สำคัญคือ ป่าชายเลนสามารถดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้มากกว่าป่าบกถึง 3 เท่าคุณวสุมน เนตรกิจเจริญ นายกสมาคม TEATA และ คุณศิรินุช สุทธิรัตน์ ผู้อำนวยการกองตลาดภาคตะวันออก ททท. ร่วมกันปลูกต้นลำพูในป่าชายเลนบางปูผลงานน่าภาคภูมิใจของเหล่าสมาชิก BCG Mini Caravan สบ๊าย สบาย สไตล์ราย็องฮิหลังจากปลูกต้นลำพูเสร็จก็เที่ยงพอดี เราจึงทานอาหารเที่ยงกันที่บางปู โดยมีการจัดเป็นอาหารจานเดียวที่ประหยัดและลดการใช้ทรัพยากรต่างๆ ลงได้มาก เพื่อให้เป็นการท่องเที่ยวที่สมดุล และปลดปล่อยคาร์บอนน้อยที่สุด ตามหลักบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism) 3ล  คือ ลดทรัพยากร (ต้นน้ำ) ลดพลังงาน (กลางน้ำ) และลดขยะ (ปลายน้ำ) ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งแนวคิดนี้ทั้งตัวนักท่องเที่ยว (Demand Side) และผู้ประกอบการ (Supply Side) สามารถปฏิบัติได้จริงเย็นวันแรกเราเดินทางมาถึงจังหวัดระยองก่อนพระอาทิตย์ตก แวะชมชุมชนประมงปากน้ำระยอง และกินอาหารมื้อเย็นกันที่ ร้านแหลมเจริญซีฟู้ด มีเมนูขึ้นชื่อคือ “ปลากะพงทอดราดน้ำปลา” ต้นตำรับ ที่ใช้น้ำปลาแท้อย่างดีของระยอง ราดบนปลากะพงทอดกรอบนอกนุ่มใน กินกับข้าวสวยร้อนๆ นั่งรับลมทะเลไปด้วย นับเป็นอาหารท้องถิ่นที่ไม่ต้องขนส่งทางไกล เข้าหลัก Low Carbon Menu อีกต่างหากปลากะพงทอดราดน้ำปลา ร้านแหลมเจริญซีฟู้ดวันที่สองของทริป ขบวนรถยนต์ไฟฟ้า EV ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ เคลื่อนขบวนออกจากโรงแรม Kameo Grand ระยอง มุ่งหน้าสู่จุดหมายต่อไปจุดหมายแรกของวันที่สอง คือ “ศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนพระเจดีย์กลางน้ำ” ที่เดินทางได้ง่ายมาก เพราะอยู่ในเขตเมืองระยองนั่นเอง ในอดีตจุดนี้เป็นเกาะในแม่น้ำระยอง เข้าถึงได้ด้วยเรือเท่านั้น ทว่าภายหลังมีการสร้างสะพานเชื่อมเข้าไป ทำให้ขับรถยนต์ไปถึงได้เลย มีการพัฒนาให้เป็นสวนสาธารณะเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ (Recreation Garden) และมีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนอย่างดี (Mangrove Trail) พร้อมอาคารนิทรรศการให้ความรู้ (Learning Center) ระบบนิเวศและความสำคัญของป่าชายเลนในแม่น้ำระยอง เรียกว่ามาจุดเดียวครบเลย
คุณวัชรพล สารสอน ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานระยอง ให้การต้อนรับคณะอย่างอบอุ่นด้านข้างอาคารนิทรรศการมีป่าชายเลนผืนใหญ่ และพื้นที่สำหรับกิจกรรมปล่อยปูคืนสู่ธรรมชาติปูดำ หรือ ปูทะเล (Serrated Mud Crab) ตัวเขื่อง ที่ทางศูนย์ฯ รับซื้อมาจากชาวบ้าน เพื่อนำมาปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในวันนี้ เพื่อนพ้องน้องพี่ร่วมกันปล่อยปูดำคืนสู่ป่าชายเลนพระเจดีย์กลางน้ำระยอง ตอกย้ำแนวคิดการท่องเที่ยวแบบ Low Carbon Tourism และ BCG Modelท่านนายกสมาคม TEATA, ท่าน ผอ. ททท. สำนักงานระยอง และท่าน ผอ. กองตลาดภาคตะวันออก ททท. ร่วมกันปล่อยปูดำคืนสู่ป่าชายเลนพระเจดีย์กลางน้ำระยองในบริเวณเดียวกันนั้นเองเมื่อเดินมานิดเดียวก็จะพบกับ แม่น้ำระยอง และสะพานงาช้าง ที่ต่อเนื่องไปยังเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติยาวที่สุดเส้นหนึ่งในเมืองไทย คือเมื่อสร้างเสร็จจะยาวกว่า 7 กิโลเมตร สามารถเดินต่อเนื่องเข้าไปชมระบบนิเวศป่าชายเลน มีหอดูนก เส้นทางเดินริมน้ำ และป้ายสื่อความหมายธรรมชาติต่างๆ ให้ความรู้ในแนว Eco-Tourism และ Green-Tourism เพื่อให้ผู้คนเห็นความสำคัญของป่าชายเลน คอนโดปูแบบดั้งเดิมของชาวระยอง คือการนำเศษไม้ต่างๆ มากองสุมกันไว้แบบง่ายๆ เพื่อให้ปูดำเข้ามาหลบภัยอาศัยหากิน ออกลูกออกหลานให้จับกินจับขายได้อย่างไม่หมดสิ้น นับเป็นการใช้สอยธรรมชาติอย่างเข้าใจ ควบคู่กับการอนุรักษ์ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ลุ่มลึกและน่าชื่นชมเส้นทางเดินขึ้นสู่สะพานงาช้าง จัดทำไว้อย่างดี พื้นทางเดินเรียบ และมีราวกันตกสองข้างด้านบนของสะพานงาช้าง เป็นจุดชมวิวมุมสูงที่ห้ามพลาดจากด้านบนของสะพานงาช้าง  มองลงมาเห็นเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนเลียบแม่น้ำระยองสถานที่สำคัญที่สุดจุดหนึ่งของบริเวณนี้คือ “พระเจดีย์กลางน้ำ”  ซึ่งมีรูปลักษณ์คล้ายคู่แฝดของพระสมุทรเจดีย์เมืองสมุทรปราการ สร้างขึ้นมานานหลายชั่วอายุคนแล้ว เพื่อใช้เป็น Landmark ให้คนเรือได้สักการระ และสังเกตว่าแล่นเรือมาถึงเมืองระยองแล้ว เดิมทีพระเจดีย์องค์นี้ตั้งอยู่บนเกาะกลางแม่น้ำระยอง เข้าถึงได้เฉพาะทางเรือเท่านั้น แต่ภายหลังได้มีการสร้างสะพานเชื่อมเข้ามาทำให้ขับรถยนต์เข้าถึงได้ ปัจจุบันด้านหน้าพระเจดีย์กลางน้ำ มีท่าเรือเล็กๆ ให้นักท่องเที่ยวได้เหมาเรือท้องแบนล่องเที่ยวแม่น้ำระยอง ค่าบริการลำละ 300 บาท/1 ชั่วโมงวันนี้เรามีโอกาสชิมขนมพื้นบ้านหายากของชาวระยองคือ “ขนมนิ่มนวล”  ให้รสสัมผัสนิ่มนวลสมชื่อ ชิ้นก็พอดีคำ ทำจากข้าวเหนียวคั่วจนสุก นำมาโม่เป็นแป้ง นวดกับน้ำเชื่อมที่เคี่ยวจนเข้มข้นจนแป้งนิ่ม สอดไส้ด้วยมะพร้าว เพิ่มความหอมละมุนด้วยกลิ่นดอกมะลิสด ลักษณะคล้ายขนมถั่วแปบ กินคู่กับเครื่องดื่มเย็นๆ ใส่ในภาชนะพื้นบ้านเรียกว่า “ติหมา” ทำด้วยกาบหมาก หรือใบจาก นับเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ

ติหมา ภาชนะใส่น้ำแบบพื้นบ้านดั้งเดิมของชาวระยองเดินทางต่อไปถึงจุดหมายที่สองของวันนี้คือ “อุทยานการเรียนรู้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” วัดลุ่มมหาชัยชุมพล (พระอารามหลวง) หรือเรียกสั้นๆ ว่า “วัดลุ่ม”วัดลุ่มเคยเป็นที่ตั้งประทับแรมของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อครั้งเป็นพระยาตาก  ทรงนำทหารกล้า 500 คน ตีฝ่าวงล้อมพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยา มุ่งสู่หัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันออก โดยผ่านเส้นทางจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี จนมาถึงเมืองระยอง ตั้งค่ายชุมพลบริเวณวัดลุ่ม ซึ่งบริเวณนี้มี “ต้นสะตือใหญ่ อายุ 300 ปี” ที่ใช้ผูกช้างศึกประจำพระองค์ ชื่อ “พังคีรีบัญชร” พระองค์ยังได้ประทับนั่งใต้ต้นสะตือนี้ เรียกประชุมคณะกรรมการเมืองและราษฎรชาวระยอง ประกาศเจตจำนงในการกอบกู้เอกราชคืนจากพม่า ต้นสะดือวัดลุ่มจึงเป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญของประวัติศาสตร์ชาติไทย และของเมืองระยองด้วยภายในวัดลุ่มมี “ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน” สร้างเป็นศาลาทรงจัตุรมุข ด้านในมีพระบรมรูปหล่อขนาดเท่าองค์จริง นั่งประทับและยืนถือดาบ จากศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินวัดลุ่ม เดินออกมาทางประตูหลังวัดก็ถึง “อุทยานการเรียนรู้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” หรือ TKF Park เป็นอาคารสองชั้นด้านในติดแอร์เย็นฉ่ำ“อุทยานการเรียนรู้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช”  เป็นอาคารจัดแสดงพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อครั้งทรงตั้งกองทัพที่จังหวัดระยอง เพื่อหมายกอบกู้เอกราชของชาติไทย หลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ให้พม่า (พ.ศ. 2310) ท่ีนี่เราจะได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระปรีชาสามารถของพระองค์ โดยมีห้องนิทรรศการ 6 โซน คือ โซน 1 โหมโรงเจ้าตากสิน, โซน 2 อวสานสิ้นอโยธยา, โซน 3 มุ่งบูรพาสรรหาไพร่พล, โซน 4 ประกาศตนองค์ราชันย์, โซน 5 สร้างเขตขันธ์กรุงธนบุรี และโซน 6 ถิ่นคนดีเมืองระยอง “อุทยานการเรียนรู้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช”  เปิดให้เข้าชมทุกวันอังคาร-วันอาทิตย์  วันละ 4 รอบ ตั้งแต่เวลา 09.00 -16:00 น. หยุดทุกวันจันทร์  เข้าชมได้ฟรี  ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ในการเข้าชมแต่ละรอบจะมีวิทยากรนำชม ให้ความรู้เกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชอย่างละเอียด รวมเวลาชมครบทุกห้องประมาณ 45 นาที ที่ไม่น่าเบื่อเลยแม่แต่น้อยรูปหล่อเท่าพระองค์จริง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชห้องฉายภาพยนตร์สั้นเหตุการณ์ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยา ชาวระยองได้ยินข่าวการมาถึงของพระยาตากผู้มากความสามารถ และหมายรวบรวมไพร่พลกลับไปกอบกู้กรุงศรีอยุธยาห้องฉายภาพยนตร์เหตุการณ์ที่ชาวระยองเข้าสวามิภักดิ์กับพระยาตาก และพระองค์สถาปนาตนเองขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ เพื่อกอบกู้เอกราชและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนสืบไป ขอบอกว่าห้องนี้มีพื้นที่นั่งสั่นได้และมีลมพ่นเข้าใส่ผู้ชม ทำให้เรารู้สึกฮึกเหิมเหมือนอยู่ในเหตุการณ์จริง อีกทั้งอาวุธจำลองที่จัดแสดงไว้ ก็เป็นการนำอาวุธจริงในสมัยนั้นมาจำลองด้วยแบบและขนาดเท่าของจริงด้วยห้องสุดท้ายจำลองท้องพระโรงสมัยกรุงธนบุรี ให้เราได้หมอบกราบเข้าเฝ้าพระองค์ท่าน บรรยากาศดูขรึมหลังสุดๆ ใกล้เที่ยงแล้วคณะ BCG Mini Carava สบ๊าย สบาย สไตล์ราย็องฮิ  ด้วยรถยนต์ไฟฟ้า EV เดินทางต่อไปที่ “วิสาหกิจชุมชนเกาะกก” ถนนกรอกยายชา ตำบนเนินพระ อำเภอเมืองระยอง เพื่อสัมผัสการท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT หรือ Community-based Tourism) ที่ประสบความสำเร็จในระดับประเทศ จนได้เป็นต้นแบบศึกษาเรียนรู้ดูงานในนาม “เกาะกก Model” เกาะกกวันนี้ชูประเด็นการท่องเที่ยว “สวน นา ป่า เล” เพราะสภาพภูมิศาสตร์ของชุมชนมีความหลากหลาย ทั้ง “สวนผลไม้” โดยเฉพาะสวนมะม่วงอกร่องปลูกบนพื้นทราย ผลผลิตออกในเดือนมีนาคม ถัดมาคือ “นาข้าวออร์แกนิก” ที่ไม่ใช้สารเคมี และคัดเลือกพันธุ์ข้าวพิเศษที่อุดมคุณค่าทางอาหารเพื่อผู้บริโภค ส่วนป่าก็คือ “ป่ากลางเมือง” ที่มีการอนุรักษ์ป่าชุมชนเต็มไปด้วยไม้ใหญ่และพืชสมุนไพรเพื่อการเรียนรู้ อีกทั้งสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนได้ และสุดท้าย “ทะเล” คือพื้นที่เกาะกกมีบางส่วนติดต่อกับทะเล ชายหาด ป่าชายเลน และชุมชนประมงพื้นบ้าน ที่ทำประมงในระยะไม่เกิน 3 กิโลเมตรจากชายฝั่ง เกิดการท่องเที่ยวเชื่อมโยงเติมเต็มความหลากหลายของ Tourism Eco System ตอบสนองการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ BCG ได้อย่างครบวงจรป่ากลางเมือง แหล่งท่องเที่ยวเชื่อมโยงของวิสาหกิจชุมชนเกาะกก ที่เป็นทั้งแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ไม้ท้องถิ่น และแหล่งปลูกพืชสมุนไพรนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนวิถีสวน นา ป่า เล ของชาวเกาะกก จึงนำเราสู่ร้านอาหารกลางทุ่งนาวิวหลักล้าน “ก๋วยเตี๋ยวเรือชาวนา ณ ระยอง”  ที่เปิดดำเนินการโดยคนเกาะกกแท้ๆ อาหารเที่ยงมื้อนี้จึงหลากหลาย และสะท้อนความเป็นพื้นบ้านระยองอย่างแท้จริง ไม่ต้องขนส่งทางไกลในคอนเซปต์ Low Carbon Menu ทั้งต้มไก่กระวาน น้ำพริกกะปิแท้ หมูผัดใบชะมวง ปลาช่อนผัดพริกขิง รวมถึงมีกุ้ง ปูม้า และหมึกย่าง จิ้มน้ำจิ้มซีฟู้ดอร่อยสุดฟินอิ่มท้องกันแล้ว ก็ได้เวลารับฟังข้อมูลการดำเนินงานและการแปรรูปผลิตภัณฑ์มากมายของ วิสาหกิจชุมชนเกาะกก ซึ่งแท้จริงแล้วคือการนำ แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพ่อหลวงรัชกาลที่ 9  มาปฏิบัติใช้จริงอย่างเป็นรูปธรรม จนทำให้มีชื่อเสียงระดับประเทศ คว้ารางวัลมากมาย รวมถึงนำพาชุมชนผ่านวิกฤตโควิต-19 ได้อย่างปลอดภัย และอีกหัวใจสำคัญ คือการจับมือกับพันธมิตรหน่วยง่านต่างๆ เข้ามาช่วยพัฒนาสินค้าชุมชน นำวัตถุดิบที่มี ทั้งข้าวออร์แกนิกและพืชสมุนไพร สร้างสรรค์เป็นสินค้าแปลกใหม่ ที่มี Packaging สวยงาม ดูทันสมัย เข้ากับวิถีคนรุ่นใหม่ได้ดีเยี่ยม
Rice Me หรือ Snack Bar คือสินค้าโด่งดังที่สุดและขายดีที่สุดอย่างหนึ่งของวิสาหกิจชุมชนเกาะกก พัฒนาขึ้นจากกระยาสารทพื้นบ้านให้มีรูปแบบทันสมัย รวมถึงปรับสูตรใส่ข้าวไรซ์เบอร์รี่ น้ำผึ้ง ถั่ว และธัญพืชที่อุดมคุณค่าทางอาหารมากมายลงไป กวนให้เข้ากันตอนร้อนๆ แล้วปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง ตัดเป็นแท่งบรรจุห่ออย่างสะอาด ทั้งให้พลังงานสูงและมีคุณค่าทางอาหารมากมายเข้าชมการสาธิตทำ Rice Me Snack Bar ของชาวเกาะกกRice Me Snack Bar มีส่วนผสมอุดมคุณค่าทางอาหารหลายอย่าง หลักๆ ใช้ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ผสมกับน้ำผึ้ง แอปปริคอต ข้าวโอ๊ต และเม็ดมะม่วงหิมพานต์ เป็นขนมกินเล่นที่หนักท้องอิ่มนาน ปัจจุบันสายวิ่งนิยมกินกันมาก หรือจะกินแบบราดนม หรือ topping ต่างๆ ก็ยิ่งดี
ไอศครีมข้าวไรซ์เบอร์รี่ของเกาะกก รสหวานนุ่มนวล อุดมคุณค่าทางอาหาร เวลารับประทานสามารถโรยหน้าด้วยข้าวไรซ์เบอร์รี่คั่วได้ด้วยนอกจาก Rice Me Snack Bar แล้ว เกาะกกยังมีผลิตภัณฑ์ชุมชนอีกมากมายที่ขายดิบขายดี  ทั้งคุกกี้ข้าวไรซ์เบอร์รี่, หมอนสมุนไพร HORM HERB, ข้าวกล้องไรซ์เบอร์รี่, ข้าวกล้องหอมนิล, ข้าวกล้องสังข์หยด, ข้าวหอมมะลิ และลูกประคบสมุนไพรสด ซึ่งอย่างสุดท้ายนี้นักท่องเที่ยวสามารถ DIY ทดลองทำเอง เพื่อนำกลับบ้านได้เลยช้อปป้ิงช่วยกระจายรายได้ให้ชุมชนเกาะกก
จากชุมชนเกาะกกที่มีทั้ง สวน นา และป่า ได้เวลาขับรถ EV ต่อไปชมทะเลที่อยู่ใกล้แค่นิดเดียว คือ “กลุ่มประมงพื้นบ้าน บ้านตากวน” ตำบลเนินพระ อำเภอเมืองระยอง ซึ่งถือเป็นกลุ่มประมงชายฝั่ง ที่ทำประมงด้วยเรือเล็ก  ในระยะไม่เกิน 3 กิโลเมตรจากชายฝั่ง อาหารทะเลที่ได้จึงสดใหม่ทุกวัน ไม่ต้องแช่น้ำยารักษาความสด ปลอดภัยต่อทั้งชาวประมงและผู้บริโภค นับเป็นการสนับสนุนวิถีประมงพื้นบ้านให้คงอยู่
ที่กลุ่มประมงพื้นบ้าน บ้านตากวน มีชายฝั่งทะเลเงียบสงบเป็นธรรมชาติ เหมาะมาพักผ่อนและขับรถยนต์เลียบชายหาด แวะนั่งกินอาหารทะเลสดอร่อยในร้านริมหาด โดยจากตลาดประมงพื้นบ้าน บ้านตากวน เราสามารถขับรถต่อไปยัง หาดแสงจันทร์ หาดสุชาดา ที่สวยงามไม่แพ้กันวิถีการซ่อมเรือประมงตามแบบพื้นบ้าน ณ บ้านตากวนตลาดอาหารทะเลสดบ้านตากวน  จะซื้อใส่ลังน้ำแข็งกลับบ้าน หรือโทรให้เขาส่งถึงบ้านเลยก็ได้ มีกุ้ง หอย ปู ปลา หมึก และของทะเลสดๆ หลากหลายขายกันทุกวัน ขับรถ EV จากชุมชนประมงพื้นบ้าน บ้านตากวน ผ่านหาดแสงจันทร์และหาดสุชาดา ไม่นานเราก็มาถึง “เส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน เทศบาลตำบลเนินพระ” เป็นการอนุรักษ์ป่าชายเลนผืนสุดท้ายในบริเวณนี้เอาไว้ สภาพป่าด้านในจัดว่ารกชัฏและดิบทึบ ร่มครึ้ม ให้ความรู้สึกลึกลับ สัมผัสได้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ โดยเฉพาะต้นโกงกางยักษ์ที่นี้มีความใหญ่โตสูงนับสิบเมตร มีอายุนับร้อยปี ถือเป็นป่าต้นโกงกางที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดระยอง มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร นำเราเข้าไปยังหอชมวิว สูงประมาณ 16 เมตร ซึ่งด้านบนสุดจะมองเห็นภูมิทัศน์ผืนป่าชายเลนและท้องทะเลระยอง
ระบบนิเวศป่าชายเลนที่ยังบริสุทธิ์และอุดมสมบูรณ์  จะมีพรรณไม้หลายชั้นเจริญเติบโตทับซ้อนกันไป ทั้งไม้พื้นล่าง ไม้ชั้นกลาง และไม้ขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่เป็นหลังคาของป่า ซึ่งการสังเคราะห์แสงของพืชเหล่านี้จะต้องดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่ต้นพืช (เหมือนการดูดซับก๊าซเรือนกระจก) และผลที่ได้อย่างหนึ่งคือการปล่อยก๊าซออกซิเจนออกมาให้สิ่งมีชีวิตหายใจอีกด้วย หอชมวิวสูง 16 เมตร ใหม่เอี่ยมยังไม่เปิดอย่างเป็นทางการจากด้านบนสุดของหอชมวิวมองลงมาเห็นเรือนยอดของต้นโกงกางยักษ์ และเส้นทางเดินเป็น Platform ไม้ยกระดับอย่างดีความงามแปลกตาของผืนป่าโกงกางเมื่อมองจากมุมสูงเย็นย่ำของวันที่สอง หลังจากตระเวนเที่ยวทำกิจกรรมรักษ์โลกมากมายในระยอง เราก็ได้เวลาพักผ่อนทานอาหารเย็นกันที่ “ร้าน Wooden Spoon” เป็นร้านเปิดใหม่เสิร์ฟอาหารสไตล์ฟิวชั่นในบรรยากาศโมเดิร์นน่านั่ง โดยการ renovate บ้านสไตล์วินเทจให้กลายเป็นร้านอาหารสวยหรูริมแม่น้ำระยอง มีทั้งโซน Indoor และ Outdoor ให้เลือกนั่งได้ตามใจชอบเลย ฟิวชั่นเมนูน่าชิมของที่นี่มีให้เลือกเพียบ อาทิ สลัดผลไม้, สลัดเต้าหู้นิ่ม, ข้าวผัดกิมจิ, ซี่โครงย่าง, Fruit Cake และอื่นๆ อีกมากมายวันที่สามของการเดินทางในแนวรักษ์โลก ขบวน Mini Caravan สบ๊าย สบาย สไตล์ราย็องฮิ ยังคงมุ่งหน้าสู่จุดหมายปลายทางที่เข้มข้นด้วยแนวคิด Low Carbon Tourism นั่นคือ “สวนพฤกษศาสตร์ระยอง” (Rayong Botanic Garden) ตำบลชากพง อำเภอแกลง จังหวัดระยอง

(ขอบคุณภาพจาก ททท. สำนักงานระยอง)
สวนพฤกษศาสตร์ระยองอยู่ในความดูแลขององค์การสวนพฤกษศาสตร์  ซึ่งมีอยู่หลายแห่งในเมืองไทย สภาพภูมิประเทศของที่นี่เป็น พื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetland) มีความสำคัญในระดับประเทศ และอยู่ภายใต้การดูแลของสนธิสัญญาพื้นที่ชุ่มน้ำโลก (Ramsar Convention) ที่ไทยได้เซ็นต์สัญญาเข้าร่วม ทำให้บึงน้ำธรรมชาติขนาด 3,800 ไร่ แห่งนี้ ซึ่งเดิมทีชาวบ้านเรียกว่า “บึงสำนักใหญ่” ได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดี จนสามารถทำหน้าที่เป็นแหล่งเก็บกักน้ำธรรมชาติ ใช้ในการประมง เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (Eco-Tourism) และที่สำคัญคือเก็บรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์ท้องถิ่นเอาไว้ได้อย่างยอดเยี่ยม

(ขอบคุณภาพจาก ททท. สำนักงานระยอง)ไฮไลท์ที่ห้ามพลาดชมของสวนพฤกษศาสตร์ระยอง คือบริเวณที่เป็นป่าเสม็ดขาวยืนต้นอยู่กลางบึงน้ำ ให้ความรู้สึกลึกลับจนได้ฉายาว่า “ป่าอะเมซอนแห่งภาคตะวันออก”

(ขอบคุณภาพจาก ททท. สำนักงานระยอง)กิจกรรมท่องเที่ยวที่นี่มีมากมาย ตั้งแต่การล่องเรือยนต์เที่ยวศึกษาธรรมชาติ, พายเรือคายัค พายซับบอร์ดชมธรรมชาติ, ปั่นจักรยานและเดินในเส้นทางศึกษาธรรมชาติ (Nature Trail) ซึ่งมีทั้งการดูนกและศึกษาพรรณไม้ แถมยังจัดว่ามีจุดถ่ายภาพสวยๆ แสนโรแมนติก ให้คู่รักมาเก็บภาพประทับใจร่วมกันด้วย

(ขอบคุณภาพจาก ททท. สำนักงานระยอง)นกปากห่าง (Openbill Stork) เป็นนกน้ำขนาดใหญ่ที่พบเห็นได้ไม่ยากในสวนพฤกษศาสตร์ระยอง อาหารหลักของมันคือหอยชนิดต่างๆ นกปากห่างจึงช่วยควบคุมประชากรหอยในธรรมชาติ ไม่ให้มีมากเกินไป

(ขอบคุณภาพจาก ททท. สำนักงานระยอง)มาถึงสวนพฤกษศาสตร์ระยองแล้วก็ต้องนั่งฟังข้อมูลความน่าสนใจของที่นี่กันหน่อยทดลองชิม “สมูทตี้ใบชะมวง” ซึ่งชาวบ้านในแถบนี้คิดพัฒนาขึ้นมาเสิร์ฟนักท่องเที่ยว ใครที่เคยกินแกงหมูใบชะมวงลองเปลี่ยนมาดื่มสมูทตี้ใบชะมวงดูบ้าง แปลกดี แต่มีคำเตือนว่าถ้าดื่มน้อยๆ พอดีๆ จะเป็นยาระบาย แต่ถ้าดื่มมากเกินไป จะกลายเป็นยาถ่ายท้อง!จากสวนพฤกษศาสตร์ระยอง เราขับรถ EV เที่ยวต่อเนื่องไปยัง 4 ชุมชนที่อยู่รอบๆ ซึ่งได้อาศัยความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติในบึงสำนักใหญ่ หากินกันมาหลายชั่วอายุคน อย่างเช่นที่ “กลุ่มจักสานกระจูดบ้านกวี” บ้านมาบเหลาชะโอน ตำบลชากพง อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เป็นหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว (OTOP Village Champion – OVC) สืบสานวิถีการทอกระจูดมากว่า 200 ปี โดยนำวัตถุดิบเป็นต้นกระจูดที่ขึ้นอยู่ดาษดื่นในบึงน้ำแถบนี้ มาสานเป็นเสื่อ กระบุง ตะกร้า กระเป๋า ฯลฯ ด้วยภูมิปัญญาที่สืบสานส่งต่อกันมา
เที่ยงแล้ว ขบวนคาราวานของเราเดินทางมาถึง “กลุ่มเกษตรผลิตไม้กฤษณา” (สวนหอมมีสุข) ตำบลกระเฉด อำเภอเมืองระยอง เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Agro-Tourism) ที่โด่งดัง เพราะโดดเด่นด้วยสวนไม้กฤษณา (Agarwood) นับหมื่นต้น ที่สามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม ได้กว่า 40 ชนิด ส่งขายไปทั้งในและต่างประเทศ ทำรายได้มหาศาล อย่างน้ำมันกฤษณาสกัดบริสุทธิ์ก็ขายได้ถึงราคากิโลกรัมละ 500,000 บาทแต่ก่อนจะไปชมกิจการของสวนหอมมีสุข เราก็ต้องไปชิมอาหารอร่อยๆ ในมื้อเที่ยงเพื่อเติมพลังกันก่อน ร้านอาหารของเขาตั้งอยู่ในสวนร่มรื่นอยู่ติดกับบึงน้ำใหญ่ ให้ความรู้สึกโปร่งโล่งสบายดีแท้ ชุดอาหาร Low Carbon ของท้องถิ่น มียำผักกูดเป็นพระเอก ตามมาด้วยปลาทะเลต้มเค็มหวาน ตบท้ายด้วยข้าวเหนียวสังขยาอร่อยๆน้องหมาพันธุ์ซามอยด์ (Samoyed) ของสวนหอมมีสุข ที่แสนเป็นมิตรและสุดน่ารัก ออกมารับแขกที่กำลังช้อปปิ้งสินค้าผลิตภัณฑ์แปรรูปจากไม้กฤษณาผลิตภัณฑ์แปรรูปกว่า 40 ชนิด จากไม้กฤษณา เน้นไปในด้านสุขภาพและความงาม มีตั้งแต่โฟมล้างหน้า, เซรั่มบำรุงผิวหน้า, น้ำมันกฤษณาเข้มข้น, น้ำมันนวดแก้ปวดเมื่อย, สบู่กฤษณา, ครีมบำรุงผิวกฤษณา, ยาหม่องกฤษณา ฯลฯ นับเป็นการใช้ทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ มาต่อยอดสร้างมูลค่าได้มหาศาล ตามหลัก BCG Bio-Circular Economyบ่ายวันสุดท้ายของการเดินทาง ก่อนกลับบ้านเราแวะเข้าไปช๊าตไฟฟ้าเพิ่มให้รถยนต์ EV กันที่ “สถานีอัดประจุไฟฟ้า Elex by EGAT” ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่ด้านหน้าโรงพยาบาลกรุงเทพ สาขาพัทยา เพื่อตอกย้ำและสนับสนุนการเติบโตของการใช้รถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงความพยายามในการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ในอนาคต ซึ่งเป้าหมายที่แท้จริงคือการเดินไปให้ถึงวิถีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Carbon Neutral นั่นเอง สิ่งนี้ไม่ไกลเกินฝันถ้าเราช่วยกันอย่างจริงจัง ในทริปนี้แม้จะเป็นการเดินทางสั้นๆ เพียง 3 วัน 2 คืน แต่เราก็ได้เรียนรู้สิ่งใหม่มากมายเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ “หลัก 4จ” หรือ 4 จุดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีผลต่อภาวะโลกรวน คือ การเดินทาง, ที่พัก, อาหาร และขยะ เพราะในการเดินทางแต่ละครั้ง 4 ปัจจัยหลักนี้เองที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ถ้าตัวนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการมีจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม ปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการท่องเที่ยว วิธีการกิน และลดปริมาณขยะตั้งแต่ต้นทาง สังคม Low Carbon ก็จะเกิดขึ้นได้จริง และโลกเราก็จะน่าอยู่ขึ้นกว่านี้มาก เพราะการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของทุกคนสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.) หรือ TEATA โทร. 08-3250-9394 และ www.teata.or.th

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *