แต่งงานบนหลังช้าง จ.สุรินทร์ พิธีซัตเต แห่งเดียวในโลก (ตอน 2)
หลังจาก “พิธีฮาวปลึงจองได” หรือ “พิธีบายศรีสู่ขวัญ” เจ้าบ่าวเจ้าสาวทั้ง 60 คู่ เมื่อวันที่ 13 กุมพาพันธ์ 2563 เสร็จเรียบร้อยแล้ว ในวันถัดมาซึ่งเป็นวันแห่งความรัก 14 กุมภาพันธ์ งานใหญ่อีกงาน ณ บ้านตากลาง อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ก็รออยู่ คือ “การแต่งงานและจดทะเบียนสมรสบนหลังช้าง” แห่งเดียวในโลก
คุณธมนวรรณ เจริญวงศ์พิสิฐ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสุรินทร์ พร้อมด้วยผู้มีเกียรติหลายท่าน เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในวันแห่งความรักอันยิ่งใหญ่นี้
ยามเช้าอากาศกำลังดี ขบวนแห่เจ้าบ่าวบนหลังช้างทั้ง 60 เชือก อันคึกคักเปี่ยมสีสัน ก็เริ่มเคลื่อนขบวนผ่านศูนย์คชศึกษา ไปสู่ Elephant World เพื่อพบกับเจ้าสาวแสนสวยที่รออยู่
ความงดงามและความยิ่งใหญ่ของขบวนแห่เจ้าบ่าวบนหลังช้างทั้ง 60 เชือก ภาพนี้คือภาพประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง เพราะมีเพียงแห่งเดียวในโลก ที่บ้านตากลาง อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์
ช้างของเจ้าบ่าวหมายเลข 1 เป็นช้างพลายแก่งายาว ซึ่งหาได้ยากยิ่งแล้วในปัจจุบัน
ช้างของเจ้าบ่าวหมายเลข 12 ก็เป็นช้างพลายที่มีขนาดใหญ่มากเช่นกัน
ความสวยงามน่าประทับใจของขบวนช้าง ที่ทยอยนำเจ้าบ่าวเข้าสู่ Elephant World บ้านตากลาง
เจ้าสาวทั้ง 60 คน นั่งรอขบวนเจ้าบ่าวด้วยใจระทึก
เจ้าสาวในชุดชาวกูยอันวิจิตรงดงาม จุดเด่นอยู่ที่ “จะลอม” หรือมงกุฎใบตาลเอกลักษณ์เฉพาะ
เจ้าสาวชาวกัมพูชา ในพิธีซัตเต 2563 สวยงามเปี่ยมด้วยอัตลักษณ์ของชาวกูย
โบกมือให้ขบวนเจ้าบ่าวที่เดินเข้าสู่ Elephant World
ความรักอบอวลไปทั่วบริเวณงานซัตเต
เจ้าบ่าวในชุดชาวกูย คาดหัวด้วยด้ายสามสี (แดง น้ำเงิน และขาว) ส่วนเจ้าสาวแต่งกายชุดชาวกูย สวมมงกุฎใบตาล ทำให้เรียกกันว่า “เจ้าสาวมงกุฎใบตาล”
เมื่อสวมแหวนหางช้างให้กันแล้ว เจ้าบ่าวก็มอบดอกกุหลาบสีแดงเป็นตัวแทนแห่งความรักให้เจ้าสาว
จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายเรียบร้อยแล้ว สำหรับคู่เบอร์ 14 ในวันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ พอดิบพอดีเลยนะจ๊ะ ยินดีด้วยจริงๆ
พ่อหมอช้างชาวกูยรุ่นสุดท้าย ซึ่งครั้งหนึ่งในอดีตเคยเข้าป่าไปคล้องช้างจับช้างป่าจริงๆ บัดนี้เหลือเพียงเรื่องเล่าอันทรงคุณค่า และวันนี้ท่านได้มาเป็นผู้นำประกอบพิธีซัตเต 2563
พ่อหมอช้างชาวกูยแห่งบ้านตากลาง เดินไปรับขบวนบ่าวสาวเข้าสู่ปรัมพิธีซัตเต
แม่เฒ่าชาวกูยแห่งบ้านตากลาง ยืนรอรับขบวนบ่าวสาวที่ซุ้มดอกไม้สวยงาม โดยมีการกั้นประตูเงินประตูทองก่อนเข้าสู่ปรัมพิธีซัตเต
พ่อหมอช้างนำขบวนผ่านซุ้มดอกไม้ประตูเงินประตูทอง ตามแบบวัฒนธรรมชาวกูย
ผู้เฒ่าผู้แก่ เดินนำเจ้าบ่าวเจ้าสาวเข้าสู่ปรัมพิธีซัตเต ใน Elephant World บ้านตากลาง
“ซัตเต” คือการผูกข้อไม้ข้อมือเพื่อบายศรีสู่ขวัญในวันแต่งงานตามวัฒนธรรมชาวกูย การแต่งกายฝ่ายเจ้าสาวนุ่งผ้าซิ่นลายไหมของชาวกูย เสื้อแขนกระบอกสีอ่อน ผ้าสไบสีแดง สวมศีรษะด้วย “จะลอม” ซึ่งเป็นมงกุฎทำจากใบตาล ส่วนเจ้าบ่าวนุ่งโสร่งไหมผ้ากระเนียว เสื้อแขนยาว ผ้าไหมพาดบ่า มีด้ายมงคล 3 สี สวมศีรษะ
เมื่อประกอบพิธีซัดเตเสร็จแล้ว ก็จะมีการเลี้ยงอาหารช้างด้วย
พิธีซัตเต มีด้วยกัน 4 ขั้นตอน
ขั้นที่ 1 “จีเจาะกะมอล” การไปทาบทาม บอกเล่าว่าลูกชายมารักชอบลูกสาว
ขั้นที่ 2 “จีเมาะกะมอล” การที่ฝ่ายเจ้าบ่าวไปตกลงค่าสินสอดทองหมั้นกับฝ่ายเจ้าสาว
ขั้นที่ 3 “จีโต๊ะ” การไปหมั้นหมาย มีอุปกรณ์ คือ หมาก พลู เหล้า บุหรี่ ทองหมั้น หรือเงิน ถ้าตกลงค่าสินสอดทองหมั้นเท่าไหร่ ให้นำมาวางในวันหมั้น ส่วนที่ขาดให้นำมาในวันซัตเต หรือวันแต่งงาน
ขั้นที่ 4 “ซัตเต” คือพิธีแต่งงาน
อุปกรณ์ประกอบ “พิธีซัตเต” มีดังนี้
– อะลิเครื่องมาด คือหมูที่ฆ่าแล้วแต่ยังไม่ชำแหละ เมื่อเจ้าบ่าวนำมาส่งจะต้องแบ่งปันกัน
– อะลิกะมูย คือ หมูเครื่องเซ่น ทางฝ่ายเจ้าบ่าวนำมาเซ่นผีบรรพบุรุษ โดยไม่ต้องแบ่งฝ่ายเจ้าสาว
– น้ำตาลอ้อย ทำจากน้ำอ้อยบรรจุในใบตาล ใช้ไหว้ญาติผู้ใหญ่
– กระบุง 1 คู่ ในกระบุงบรรจุข้าวเปลือก มีหินลับมีดวางอยู่ข้างข้าวเปลือก
– เต่าน้ำจืด 1 ตัว
– ปลาแห้ง (พอสมควร)
– พานบายศรี (มีด้ายมงคลไว้ผูกข้อมือ)
– ไก่ต้มทั้งตัว (ใช้เซ่นผีบรรพบุรุษ)
– ผ้าไหมใหม่ (สำหรับไหว้พ่อแม่เจ้าบ่าว คนละชุด และผลัดเปลี่ยนในพิธีอาบน้ำ 1 ชุด
ความสุขและความชื่นมื่นในพิธีซัตเต 2563
พิธีฮาวปลึงจองได และพิธีซัตเต ตามวิถีวัฒนธรรมชาวกูยบ้านตากลาง จังหวัดสุรินทร์ คือการสืบสานวัฒนธรรมอันดีของชาติไทยไว้มิให้สูญหาย และช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวในเขตอีสานใต้แห่งนี้ ให้คึกคัก มั่งคั่ง ยืนยืน ตลอดไป
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงาน จ.สุรินทร์ โทร. 0-4451-4447
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!