Passport น่าน PLUS แพร่ 12 เมืองต้องห้ามพลาด (ตอน 1)
ล้านนาตะวันออก ถิ่นนี้ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแสนน่ารัก อาบอิ่มด้วยธรรมชาติ ป่าเขา สายน้ำ รวมถึงวิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว “น่าน และแพร่” จึงเป็น 2 จังหวัดแห่งล้านนาตะวันออก ที่น่าเที่ยว น่าเยี่ยมเยือนกันได้ตลอดปี
แต่เรามีข่าวดีข่าวด่วนมากบอก เมื่อ ททท. สำนักงานแพร่ จัดแคมเปญ Passport น่าน Plus แพร่ 12 เมืองต้องห้ามพลาดพลัส ให้เราท่องเที่ยวสัมผัสวิถีสองจังหวัดใหญ่แห่งล้านนาตะวันออก เรียนรู้จิตวิญญาณที่แท้จริงของเขา ผ่านสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ธรรมชาติ วัฒนธรรม และชุมชน พร้อมกับตามล่ารางวัลมากมาย โดยการนำสมุด Passport เล่มน้อย ไปประทับตราตามจุดที่กำหนด แค่จังหวัดละ 3 แห่ง (รวม 6 แห่ง) เท่านี้ก็นำไปขอรับรางวัลที่ ททท. สำนักงานแพร่ ได้แล้วจ้า
แคมเปญ Passport น่าน Plus แพร่ มีให้เราร่วมสนุกกันระหว่างเดือน พฤษภาคม ถึงเดือนกันยายน 2559 เลยนะจ๊ะ
จุดรับสมุด Passport น่าน Plus แพร่ 12 เมืองต้องห้ามพลาดพลัส ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวของเทศบาลเมืองน่าน ซึ่งอยู่ในใจกลางเมือง ตรงข้ามกับวัดภูมินทร์ และเป็นจุดขึ้นรถรางเที่ยวรอบเมืองด้วยล่ะ
หรือเราจะไปหยิบสมุด Passport ตามจุดประทับตราทุกแห่งที่ระบุไว้ในสมุด ก็ได้เช่นกันจ้า
ไม่รอช้ารับ สมุด Passport แล้ว ก็เริ่มไปเที่ยวกันเลยดีกว่า เดินข้ามถนนจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวของเทศบาลเมืองน่านมาอีกฝั่ง ก็ถึง “วัดภูมินทร์” แล้วล่ะ หยุดอ่านข้อมูลในสมุด Passport ให้ได้ความรู้ก่อน จะได้เที่ยวสนุก
วัดภูมินทร์ เป็นวัดหลวง สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2139 ในสมัยพระเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ เจ้าผู้ปกครองน่าน ความโดดเด่นคือ พระอุโบสถเป็นอาคารทรงจตุรมุข ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย 4 องค์ หันหน้าออกสู่ประตูทั้ง 4 ทิศ หาได้ยากยิ่ง สะท้อนถึงความเชื่อในเรื่องพระพุทธเจ้าสี่พระองค์ของชาวพุทธล้านนาในอดีต
ยิ่งกว่านั้นพระอุโบสถหลังนี้ยังได้รับการยกย่องว่า เป็นหนึ่งในสุดยอดศิลปกรรมไทลื้อ ที่เรียกว่า “วิหารซด” เป็นรูปแบบการสร้างวิหารหรือโบสถ์ให้หลังคาซ้อนลดหลั่นกันลงมาหลายชั้น ไม่เน้นความสูง รวมถึงมีการประดับกระจกสีด้วย
ภายในวิหารวัดภูมินทร์เหลืองอร่ามงามด้วยสีทองคำเจิดจรัส ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ 4 องค์ ซึ่งเคยได้รับการยกย่องให้เป็น แหล่งท่องเที่ยว Unseen Thailand ของ ททท. มาแล้ว
ภาพปู่ม่าน ย่าม่าน ต้นกำเนิดกระซิบรักอมตะ วาดขึ้นโดยศิลปินพื้นบ้านฝีมือชั้นครูนามว่า หนานบัวผัน ซึ่งเป็นผู้เดียวกับที่วาดภาพจิตรกรรมในวัดหนองบัว คาดว่าภาพปู่ม่าน ย่าม่าน วาดขึ้นในช่วงปี พ.ศ.2410-2417 ระหว่างการบูรณะซ่อมแซมวัดภูมินทร์ในสมัยเจ้าอนันตฤทธิวรเดชครองเมืองน่าน ซึ่งตรงกับปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาพนี้เป็นเอกลักษณ์ของผู้วาดคือหนานบัวผันโดยแท้ เพราะวาดด้วยขนาดเท่าคนจริง และใบหน้าคนมีคิ้วโก่ง ปากเป็นกระจับ ดังที่หนานบัวผันชอบ
เมื่อชมวัดภูมินทร์เสร็จแล้ว ก็ได้เวลา นั่งรถรางเที่ยวรอบเมืองน่าน วันเสาร์-อาทิตย์ เขามีรอบเวลา 09.30 / 10.30 / 13.30 / 15.30 น. โดยเราสามารถโทรจองได้ ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเทศบาลเมืองน่าน โทร. 0-5475-1169 ส่วนวันจันทร์-ศุกร์ มี 2 รอบ เวลา 09.30 และ 15.30 น. ค่าบริการคนละ 30 บาทเท่านั้น
นั่งรถรางเที่ยวชมความสวยงาม และเรื่องราวประวัติศาสตร์น่าสนใจของเมือง Slow Town น่าน ที่เราหลงรัก
วัดพระเกิด อำเภอเมืองน่าน (โทร. 08-1765-2710) แม้จะเป็นวัดไม่ใหญ่โต แต่ก็มีชื่อเสียงมาตั้งแต่ พ.ศ.2554 แล้ว เพราะเป็นต้นกำเนิดงานหัตถกรรมพื้นบ้าน “ตุงก้าคิง” เป็นภาษาไทยใหญ่หมายถึง “ธง” โดยผู้ที่คิดค้นทำตุงก้าคิงขึ้นคนแรกก็คือ อาจารย์คำรบ วัชราคม อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคน่าน
นักท่องเที่ยวหรือคนทั่วไปที่สนใจ สามารถเข้ามาฝึกทำตุงก้าคิงที่วัดพระเกิดได้สบายมาก โดยป้าติ๋มและป้าไก่ สองผู้นำจะคอยช่วยให้ความรู้ แต่ถ้าจะให้ได้ชมชัวร์ๆ ก็ควรโทรติดต่อป้าทั้งสองก่อนนะจ๊ะ
ป้าไก่ สาธิตการทำตุงก้าคิงให้เราชม พร้อมกับเล่าว่า ตุงก้าคิงมี 2 ประเภท คือ ตุงมงคล ใช้เพื่อถวายวัดในงานมงคลต่างๆ อาทิ สงกรานต์, ปักเจดีย์ทราย, ถวายเป็นพุทธบูชา, ใช้ในห้องพระ ฯลฯ และอย่างที่สองคือ ตุงอวมงคล ซึ่งใช้ในงานเรือนทาน, งานศพ ฯลฯ
การทำตุงก้าคิง ต้องตัดกระดาษสีมาเติมรายละเอียดหน้าตาในตุงให้ครบถ้วน แล้วติดสัญลักษณ์ตัวสัตว์ในปีนักษัตรลงไป ให้ตรงกับปีเกิดของเรา
การทำตุงก้าคิง วัสดุหลักใช้กระดาษสาสีขาวอย่างหนา แล้วเปะกระดาษสีลงไปประดับให้ครบถ้วนทั้งสองด้าน หน้าหลัง ดังนั้นลายของทั้งสองด้านจึงต้องเหมือนและตรงกัน
การตอกลายตุงก้าคิงที่วัดพระเกิด ปัจจุบันมีคนที่ทำเป็นไม่กี่คน ลูกหลานคนไหนสนใจไปช่วยกันสืบสานไว้ได้นะจ๊ะ
ตุงก้าคิงแต่ละผืน จะมีความสุงเท่ากับ (หรือใกล้เคียง) เจ้าของผู้ทำ เพื่อใช้เป็นตัวแทนคนคนนั้น แล้วนำไปแขวนไว้ในโบสถ์วัดพระเกิด จนกว่าผืนตุงจะเปื่อยยุ่ยไปเองตามกาลเวลา นับเป็นการสะเดาะเคราะห์วิธีหนึ่ง ตามความเชื่อของชาวบ้านพระเกิด เพราะมีอยูที่นี่ที่เดียวในภาคเหนือ
หลังจากถวายตุงก้าคิงกับท่านเจ้าอาวาสแล้ว ก็ได้เวลานำเข้ามาแขวนภายในโบสถ์วัดพระเกิด โดยตุงนี้จะแขวนอยู่ภายในโบสถ์นานจนกระดาษจะเปื่อยไปเอง ในภาพนี้ ป้าติ๋มและป้าไก่ ช่วยกันโชว์ตุงก้าคิง 3 ยุค ซึ่งมีการพัฒนาความสวยงามและลวดลายขึ้นตามลำดับ รุ่น 1 หน้าตาน่ารักมาก เป็นแบบง่ายๆ มีแต่ตา ปาก และจมูก
ตุงก้าคิง ที่แขวนอยู่บนผนังโบสถ์วัดพระเกิด แบ่งกลุ่มตามปีนักษัตร
พระประธานในโบสถ์วัดพระเกิด งดงามน่าเลื่อมใส ขนาบข้างด้วยพญานาคสองตน
พิพิธภัณฑ์ชุมชนบ้านพระเกิด เป็นสถานที่เก็บรวบรวมวัตถุโบราณล้ำค่าน่าชมของชุมชน ก่อตั้งขึ้นโดย อาจารย์คำรบ วัชราคม ชาวพัทลุง ผู้เดินทางมาทำงานอยู่ที่น่าน ในตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคน่าน ทว่าปัจจุบันท่านได้ลาโลกไปแล้ว ฝากไว้แต่ผลงานการอนุรักษ์ภูมิปัญญาของชุมชนวัดพระเกิดแห่งนี้
ภายในพิพิธภัณฑ์ชุมชนบ้านพระเกิด รวบรวมและจัดแสดงวัตถุโบราณและพระพุทธรูปล้ำค่าจำนวนมาก
พิพิธภัณฑ์ชุมชนบ้านพระเกิด ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยอาจารย์คำรบ วัชราคม เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวันจากวัดพระเกิด เราตระเวนเที่ยวน่านกันต่อที่ “โฮงเจ้าฟองคำ” ถนนสุมนเทวราช (โทร. 0-5471-0537, 08-9560-6988) ที่นี่เป็นหนึ่งใน โฮง หรือ เรือนไม้เก่าโบราณ ที่ถือว่างดงามที่สุดของเมืองน่านในปัจจุบัน
ประวัติเล่าว่า เดิมโฮงเจ้าฟองคำ เป็นบ้านพักของเจ้าศรีตุมมา หลานของเจ้ามหาวงศ์ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 11 สร้างขึ้นราว พ.ศ.2384-2400 แล้วตกทอดมาเป็นของเจ้าฟองคำ แต่เดิมตัวโฮงเป็นไม้สักประกอบด้วยวิธีใส่สลักไม้ หลังคามุงแป้นเกล็ด ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นกระเบื้องดินขอ ด้านล่างเป็นที่สาธิตการทอผ้า ส่วนบนบ้านเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ชมอย่างดี คล้ายเราได้ย้อนกลับไปสู่ยุคอดีตครั้งที่เมืองน่านยังเป็นอาณาจักร หรือประเทศอิสระไม่ขึ้นกับสยามที่บางกอก
ห้องพระภายในโฮงเจ้าฟองคำที่ด้านล่างของโฮงเจ้าฟองคำ มีการสาธิตทอผ้า และปักลายผ้าแบบโบราณล้านนาให้ชมทุกวัน
จุดประทับตรา Passport ของ ททท. จุดแรกในวันนี้ คือ ร้านฮักน่าน เบค คาเฟ่ ถนนข้าหลวง ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน (โทร. 08-1777-0141) เป็นร้านกาแฟเล็กๆ น่ารัก ตกแต่งย้อนยุคสไตล์วินเทจ
ภายในร้านฮักน่าน เบค คาเฟ่ น่ารักด้วยการใช้โทนสีอบอุ่น แต่เด่นสุดที่กระเบื้องปูพื้นลายเก๋ไม่ซ้ำกัน ช่วยให้บรรยากาศดูสนุก น่านั่ง พร้อมกับสั่งเครื่องดื่มและเค้กอร่อยๆ มาชิมกันเลย
กระเบื้องปูพื้นของร้านฮักน่าน เบค คาเฟ่ สวยงาม หลากหลาย ไม่เหมือนใคร
เอาล่ะ ได้เวลาเอา สมุด Passport มาให้ทางร้านประทับตรา นี่ถือเป็นจุดแรกของเราเลยนะเนี่ยะ
ตราประทับ Passport น่าน Plus แพร่ ของแต่ละร้านจะไม่เหมือนกัน เพราะมีชื่อของร้านกำกับอยู่ด้วย ใครคิดจะมั่ว งานนี้มั่วไม่ได้นะจ๊ะ ขอบอก ฮาฮาฮา
ประทับ Passport แล้ว ก็ได้เวลาสั่งเครื่องดื่มมาดับร้อนกันเลย
คุณนัท เจ้าของร้านฮักน่าน เบค คาเฟ่ ลงมือชงกาแฟอร่อยๆ ให้เราดื่มด้วยตัวเองเลยล่ะ วันนี้ขอเป็นเอสเปรสโซ่เย็นละกันนะพี่
เค้ก Home Made รสนุ่ม และเอสเปรสโซ่เย็น ของร้านฮักน่าน เบค คาเฟ่ ช่วยเพิ่มพลังให้เราออกไปเที่ยวน่านได้ต่อ
จากในตัวเมืองน่าน เราขับรถออกไปเที่ยวนอกเมืองกันบ้าง ที่ “หอศิลป์ริมน่าน” โดยใช้ถนนน่าน-ท่าวังผา (ทางหลวงหมายเลข 101) ตรง กม.20 (โทร. 08-1989-2912)
หอศิลป์ริมน่าน เป็นของ คุณวินัย ปราบริปู ศิลปินชาวน่าน ในเนื้อที่กว่า 13 ไร่ ประกอบด้วยอาคารหอศิลป์ สตูดิโอ และบ้านพักรับรอง ใช้เป็นสถานที่รวมงานศิลป์ร่วมสมัย จัดแสดงผลงานของคุณวินัยเกือบ 200 ชิ้น ในแบบกึ่งถาวร เปิดให้เข้าชมทุกวันพฤหัสบดี-วันอังคาร เวลา 09.00-17.00 น. ค่าเข้าชม 20 บาท/คน
จากหอศิลป์ริมน่าน เราขับรถสบายๆ ไปกราบพระที่ “วัดพระธาตุแช่แห้ง” พระธาตุประจำคนเกิดปีกระต่าย (ปีเถาะ) พุทธสถานศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองน่านมาช้านาน ตั้งอยู่บนเนินสูงเรียกว่า ภูเพียงแช่แห้ง ซึ่งเป็นที่ตั้งตัวเมืองน่านเดิม องค์พระธาตุเป็นสีทองอร่ามงามเด่นด้วยทรงระฆัง คล้ายพระธาตุหริภุญชัยเมืองลำพูน
พระประธานในโบสถ์วัดพระธาตุแช่แห้ง มีขนาดใหญ่มาก พุทธศิลป์งามล้ำน่าเลื่อมใสศรัทธายิ่งนัก
บางคนสงสัยว่า ทำไมพระธาตุแห่งนี้จึงชื่อว่า แช่แห้ง แช่แล้วทำไมแห้ง? ทำไมไม่เปียก? คำตอบอยู่ที่ตำนานเล่าว่า ในอดีตสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เคยเสด็จมาที่นี่ มีคนนำผลไม้มาถวายพระพุทธเจ้า แต่ผลไม้นั้นแห้งแข็งมาก ท่านจึงทรงนำไปแช่น้ำให้นิ่มก่อนจึงเสวยได้ พระพุทธองค์จึงทรงทำนายว่า ต่อไปในอนาคตจะมีพระพุทธศาสนาสถิตมั่นคงขึ้นในดินแดนนี้ และมีองค์พระธาตุสำคัญประดิษฐานอยู่
กราบพระเสร็จแล้ว เราก็กลับเข้าเมืองน่าานอีกครั้ง แต่ด้วยความที่เราเป็นคนรักแมว เลยไปหาที่นั่งชิลกันแถวริมลำน้ำน่าน ที่ “ร้านสุดกองดี” หรือ Cafe’ Soodgongdee ที่มีชื่อเสียงในบรรยากาศร้านน่ารัก แถมยังมีกาแฟอร่อยๆ ให้ชิมด้วย
ร้านสุดกองดี เป็นร้านกาแฟบนเรือนไม้ยกเสาสูง โดยคำว่า “สุดกอง” จริงๆ แล้วแปลว่า “สุดซอย” นั่นเอง หมายความว่าร้านนี้อยู่สุดซอยพอดี ฮาฮาฮา หรืออีกความหมายหนึ่ง “กอง” ในภาษาเหนือแปลว่า “รอคอย” นั่นก็หมายถึง สิ้นสุดการรอคอยที่สุดกองดีไงจ๊ะ
ร้านสุดกองดี เป็น จุดประทับตราใน Passport น่าน Plus แพร่ ของ ททท. ด้วย
บรรยกาศอันร่มรื่นใต้เงาไม้ใหญ่ริมลำน้ำน่าน บนดาดฟ้าชั้นสองของร้านสุดกองดี ชิลมากๆ โดยเฉพาะยามเย็น
ภายในร้านสุดกองดี มีรูปวาดแมวและตุ๊กตาแมวตัวเล็กตัวน้อยตกแต่งอยู่ทุกที่ แถมยังมีน้องเหมียวตัวจริงที่เจ้าของร้านเลี้ยงไว้ออกมาเดินรับแขกด้วยนะ ฮาฮาฮา
น้ำอัญชัญเย็นชื่นใจ ที่ร้านสุดกองดี
เค้ก Home Made แสนอร่อยของร้านสุดกองดีจุดประทับตรา Passport ททท. จุดต่อมาคือ “บ้านๆ น่านๆ ห้องสมุด & เกสต์โฮม” ของคุณครูต้อม
บ้านๆ น่านๆ เป็นเรือนไม้เก่าสองชั้นแสนคลาสสิก ที่ครูต้อมซื้อมาจากญาติสนิท แล้วดัดแปลงให้เป็นที่พัก ห้องสมุด ร้านกาแฟ ในสไตล์ Relax นั่งชิลอ่านหนังสือ ซดกาแฟกันได้ทั้งวัน เปิดเวลา 08.30-18.00 น. (โทร. 08-9859-5898)
ครูต้อม หญิงเก่งผู้มากความสามารถ เจ้าของบ้านๆ น่านๆ ซึ่งเป็นทั้งห้องสมุด ร้านกาแฟ และห้องพักแบบอบอุ่น เป็นกันเอง คนที่รักการอ่านมาเที่ยวที่นี่ มีหนังสือดีๆ ประเทืองปัญญาให้อ่านนับร้อยๆ เล่มจ้า
บ้านๆ น่านๆ เป็นจุดประทับตราใน Passport ของ ททท. ด้วยล่ะ
นั่งอ่านหนังสือตามที่ชอบกันได้ทั้งวัน ที่บ้านๆ น่านๆ ศูนย์รวมหนอนหนังสือตัวจริง
มุมจำหน่ายหนังสือดีๆ ที่คัดสรรมาแล้ว เพื่อการปลูกปัญญา
ห้องพักที่บ้านๆ น่านๆ มีทั้งแบบเตียงเดี่ยวและเตียงคู่ คืนละไม่กี่ร้อยบาท ในสไตล์กันเองเหมือนอยู่บ้าน
บรรยากาศโถงรวมให้นั่งพักผ่อน บนเรือนของบ้านๆ น่านๆ สวย เรียบ เงียบสงบ เหมาะหนีจากความวุ่นวายของเมืองใหญ่มาพักผ่อนอย่างแท้จริง
ใครสนใจเรื่องสมุนไพรธรรมชาติ ที่บ้านๆ น่านๆ เขามีผลิตภัณฑ์สมุนไพรหลายชนิดจำหน่ายด้วยนะจ๊ะ
หลังจากตระเวนเที่ยวน่านกันมาทั้งวัน เมื่ออาทิตย์ลาลับ เราก็ชวนกันมาเดินเที่ยวที่ “กาดข่วงเมืองน่าน” เพราะยามหัวค่ำแบบนี้คงไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการเดินปล่อยอารมณ์ชมสีสันของชีวิตเนิบช้า เดินหาอาหารพื้นเมืองอร่อยๆ กินเติมพลัง พูดคุยกับคนน่าน ที่ดูใจเย็น ใจดี ยิ้มง่าย น่ารักซะจริงๆ แต่กาดข่วงเมืองน่านที่ด้านข้างวัดภูมินทร์ เขามีเฉพาะคืนวันเสาร์และอาทิตย์เท่านั้นนะจ๊ะ เริ่มตั้งแต่เวลา 17.00-22.00 น. จ้า
ภารกิจตามล่าประทับตราในสมุด Passport น่าน Plus แพร่ ของ ททท. สำนักงานแพร่ ยังไม่สิ้นสุด วันต่อๆ ไป เราจะออกตระเวนกิน เที่ยว สัมผัสวิถีเรื่องราวอีกมากมายของจังหวัดน่าน แพร่ ไปพร้อมๆ กันนะจ๊ะ
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานแพร่ น่าน อุตรดิตถ์ โทร. 0-5452-1127
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!