พิชิตเขาแผนที่ จุดสูงสุดเกาะหมาก!
คุณเชื่อหรือไม่ว่า จริงๆ แล้วธรรมชาตินั้นอยู่รอบๆ ตัวเรา ทว่าบางครั้งเรากลับไม่ได้สังเกต เพราะเรามัวแต่ไปสนใจกับสิ่งอื่นอยู่ และหลายครั้งที่เราทำตัวเหินห่างจากธรรมชาติเหลือเกิน จนถูกเทคโนโลยีความทันสมัย บดบังสายตา คล้ายกับว่าเราอยู่แยกออกจากธรรมชาติโดยสิ้นเชิง!
ผมเป็นคนหนึ่งที่เกิด โต และทำงานอยู่ในเมือง แต่โชคดีที่ได้ท่องเที่ยวพบเห็นธรรมชาติอยู่บ่อยครั้ง หากไม่ได้ไปสัมผัสธรรมชาติเลย ก็จะรู้สึกว่าชีวิตเหี่ยวเฉา ไม่มีสีสันเสียนี่กระไร!
โชคดี ได้มาเที่ยว “เกาะหมาก” จังหวัดตราด กับ อพท. หรือ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ในโครงการ Castaway @Low Carbon Island 2016 นี่คือโอกาสสำคัญ ที่ผมจะได้สัมผัสเกาะหมากในแง่มุมที่คนทั่วไปไม่ค่อยได้รับรู้!
เพราะผมกำลังจะได้เดินป่าขึ้นไป พิชิตยอดเขาสูงสุดของเกาะหมาก ณ “เขาแผนที่” นั่นเอง
แต่ภารกิจเดินป่าพิชิตเขาแผนที่ (หรือที่ชาวบ้านเรียกกันอีกชื่อว่า เขาบ้านแหลม) ของผม จริงๆ แล้วเป็นมากกว่าการเดินป่าธรรมดา! เพราะคราวนี้เราจะเพิ่มคุณค่าให้กับการท่องธรรมชาติ โดยทีมของเราจะเดินขึ้นภูเขาไปช่วยกันทำแผนที่เส้นทางศึกษาธรรมชาติอย่างคร่าวๆ เพื่อให้นักท่องไพรคนอื่นได้มาเดินตามรอย
ทริปนี้ไม่เปลี่ยวเหงาแน่นอน เพราะได้ คุณหมอนก นักเดินป่าขาลุย ผู้ไม่เคยกลัวความยากลำบาก จากเว็บไซต์เพื่อนนักสะพายเป้ มาเป็นเพื่อนร่วมทีม แถมยังมีน้องพริกผู้ช่วยประสานงาน และหนุ่มแบงค์ไกด์ในพื้นที่ มาช่วยนำทางด้วย ชักจะสนุกแล้วสิ
จุดเริ่มต้นเดินป่าขึ้นเขาแผนที่ อยู่ใกล้กับแหลมตุ๊กตา ทางด้านปลายตะวันตกสุดของเกาะหมาก จริงๆ แล้วจุดนี้ถือเป็นป่าบริสุทธิ์แบบดั้งเดิม หรือ Virgin Forest ผืนสุดท้ายของเกาะหมาก (เนื้อที่ประมาณ 500 ไร่ จากเนื้อที่เกาะหมากทั้งหมด 9,000 ไร่) บริเวณเชิงเขาเป็นป่าดิบแล้งร่มครึ้ม ปกคลุมด้วยไม้พุ่มและพืชคลุมดินหลายชนิด อย่างดอกโคลงเคลงสีชมพู ซึ่งออกดอกให้ชมกันตลอดปี
ทางเดินช่วงแรกของเขาแผนที่ค่อนข้างชัน พื้นทางเป็นหินก้อนใหญ่ๆ คล้ายเราเดินย้อนขึ้นไปตามร่องน้ำ จุดนี้จึงร่มครึ้มและมีความชื้นสูง เราพบ เฟินสามร้อยยอด (Lycopodium) ขึ้นอยู่เป็นดงใหญ่ พวกมันเป็นเฟินโบราณ ที่มีรูปร่างหน้าตาเปลี่ยนแปลงไปน้อยมากนับแต่อดีต และช่วยดูดซับความชุ่มชื้นไว้ให้ผืนป่าได้เป็นอย่างดี
ในบริเวณเดียวกับที่พบเฟินสามร้อยยอด เรายังจ๊ะเอ๋กับ เฟินก้างปลา ซึ่งมีแผ่นใบสวยงาม แตกออกเป็นหยักถี่ๆ เสมอกัน ไล่เรียงตั้งแต่ปลายไปจนถึงโคนใบอย่างมีระเบียบ นี่ก็เป็นพืชคลุมดินที่ช่วยเก็บความชื้นได้ยอดเยี่ยมเช่นกัน
ตรงตีนเขาแผนที่ในฤดูฝน จะมี ดอกพุดป่าสีขาว เป็นพุ่มบานอยู่จำนวนมาก ช่วยเพิ่มชีวิตชีวาให้ผืนป่า แม้จะเป็นดอกไม้ที่ไม่มีกลิ่นหอม แต่ก็เป็นหนึ่งในความหลากหลายของพรรณพืชที่ธรรมชาติมอบให้คนเกาะหมากเป็นของขวัญ
จากเชิงเขา เดินเลาะร่องน้ำขึ้นมาไม่นาน เราก็เลี้ยวซ้ายผ่านป่าร่มครึ้ม จนไต่สูงขึ้นทีละน้อยๆ สภาพป่าจึงโปร่งขึ้นต้นไม้มีขนาดเล็กลง และกระจายห่างกัน แสดงให้รู้ว่าชั้นดินบริเวณนี้ค่อนข้างตื้น มีธาตุอาหารน้อยลง และเริ่มมีหินโผล่บนผิวดินมากขึ้น เผยถึงลักษณะของป่าบนเกาะ ที่มักต้องทนร้อน แล้ง และลมแรงจากทะเล
พืชที่น่าสนใจชนิดแรกที่เราจัดให้เป็น จุดศึกษาธรรมชาติที่ 1 ก็คือ ต้นจิก (Barringtonia sp.)
เดินถัดจากจุดแรกมาไม่ไกล ก็ถึง จุดศึกษาธรรมชาติที่ 2 คือ ต้นยมหิน (Chukrasia tabularis) พืชที่มักพบตามภูเขาหิน หรือป่าเกาะที่ค่อนข้างแห้งแล้ง
พืชที่น่าสนใจอีกชนิดในป่าตีนเขาก็คือ เฟินกระแตไต่ไม้ (Drynaria quercifolia) หรือ Oak-leaf Fern จัดเป็นเฟินอิงอาศัยขนาดใหญ่ ที่สามารถขึ้นอยู่บนต้นไม้หรือบนหินก็ได้ พวกมันมีชีวิตทรหดอดทน มีเหง้าหรือหัวกลมๆ พร้อมรากยึดเกาะตัวเองเข้ากับเจ้าบ้าน อาหารก็มีใบสังเคราะห์แสง รวมทั้งดูดซับไนโตรเจนจากอากาศ และดูดกินธาตุอาหารบางส่วนจากพืชเจ้าบ้าน เฟินกระแตไต่ไม้จะค่อยๆ เติบโตขยายขนาด และเพิ่มจำนวน คืบคลานขึ้นไปอย่างช้าๆ จนได้ฉายาว่า “กระแตไต่ไม้” ในที่สุด
เดินมาได้ยังไม่ถึงครึ่งชั่วโมง เราก็ถึง หน้าผาชมวิวแรกบนเขาแผนที่ เป็นหน้าผาหินโล่งๆ ขนาดใหญ่ หันหน้าออกไปทางทิศตะวันตก ขอบอกว่าตอนกลางวันจะร้อนจัด ถ้าให้ดีควรขึ้นมาเที่ยวตอนเช้าหรือบ่ายๆ แดดร่มลมตก จะดีที่สุด
เราขอนั่งพักชื่นชมวิวสวยๆ จากมุมสูงกันตรงนี้สักระยะ หายใจหายคอพอให้หายเหนื่อย มองออกไปเห็นเกาะระยั้งใน เกาะระยั้งนอก และแหลมตุ๊กตา ทอดตัวอยู่อย่างนิ่งสงบ ทำให้รู้สึกว่า ณ บัดนี้ มีตัวเรากับธรรมชาติเพียงลำพัง ความเจริญแบบเมืองๆ อื่นใด ไม่สามารถเข้ามากร้ำกรายเราได้อีกแล้ว ช่างหามุมสงบแบบนี้ยากจริงๆ
ตรงหน้าผาชมวิวแรกบนเขาแผนที่ มีศาลศักดิ์สิทธิ์ตั้งอยู่ด้วย ชาวบ้านในบริเวณนี้ รวมถึงคนเรือที่ออกทะเล ก็มักจะส่งใจขึ้นมาสักการะท่าน ขอให้เดินทางโดยปลอดภัย เราก็เช่นกัน วันนี้ได้ขึ้นมากราบไหว้ขอพรท่าน ให้ช่วยคุ้มครอง และให้งานทุกอย่างของเราสำเร็จด้วยดี ด้วยเถิด เจ้าประคุณ…
เนื่องจากวันนี้เราเดินขึ้นเขากันแต่เช้า จึงมีเวลาสำรวจพรรณไม้ค่อนข้างเยอะ บริเวณหน้าผาชมวิวแรก เราพบ ดอกช้างน้าว (Ochna integerrima) สีเหลืองสดใส เป็นพืชทนแล้งชนิดหนึ่งที่ต้องเข้าป่าเท่านั้นจึงจะได้เห็น เราจึงจัดให้ช้างน้าว เป็น จุดศึกษาธรรมชาติที่ 3
ส่วน จุดศึกษาธรรมชาติท่ี 4 อยู่ตรงข้ามกับต้นช้างน้าวเลย กำลังผลิดอกสะพรั่งจำนวนมาก มันคือ ดอกเข็มป่าสีขาว (Ixora sp.) ซึ่งเรายังไม่ทราบชนิดแน่นอน คงต้องรอนักพฤกษศาสตร์ตัวจริงมาช่วยจำแนกชนิดต่อไป
นอกจากการ Plot จุดศึกษาธรรมชาติ จากเชิงเขาขึ้นสู่ยอดเขาของทีมเราแล้ว สิ่งที่เราตั้งใจทำอีกอย่างคือ การวัดระยะรวมของเส้นทางเดิน ว่ารวมแล้วยาวกี่เมตร? รวมถึงระยะห่างระหว่างจุดศึกษาธรรมชาติแต่ละจุดด้วย เพื่อจะได้ใช้ทำหนังสือคู่มือ แผ่นป้าย หรือโบรชัวร์ แจกคนที่สนใจศึกษาเส้นทางสายนี้ต่อไปในอนาคตครับ
พักตรงหน้าผาชมวิวที่ 1 กันจนเรี่ยวแรงกลับมาอีกครั้ง ก็เริ่มเดินศึกษาธรรมชาติต่อ หนทางช่วงถัดไปยังชันอยู่ แต่น้อยกว่าช่วงแรก พื้นทางยังเป็นหินสลับกับดินขรุขระ เดินต้องคอยระวังสะดุดล้มอยู่ตลอดเวลา ป่าสองฝั่งค่อนข้างโปร่ง มีแต่ต้นไม้เตี้ย แคระแกรน บ่งบอกถึงสภาพอากาศร้อนแรงและธาตุอาหารในดินที่ไม่ค่อยบริบูรณ์นัก
จุดศึกษาธรรมชาติที่ 5 คือ กล้วยไม้อิงอาศัย (Epiphytic Orchid) หรือเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ กล้วยไม้ที่เกาะอยู่ตามต้นไม้นั่นล่ะครับ เจ้าพวกนี้ถือว่าเป็นพืชที่มีความอดทนสูง เพราะต้องดูดไนโตรเจนจากอากาศมาเป็นอาหาร ความชื้นก็ได้จากน้ำค้างหรือตามเปลือกไม้ แถมยังต้องสร้างรากยึดเกาะอันเหนียวแน่น รวมถึงใช้ความพยายามเลื้อยพันตัวเองเข้ากับลำต้นไม้ด้วย แต่ที่ยากกว่า คือกว่ามันจะเติบโตขึ้นได้ เมล็ดกล้วยไม้พวกนี้ต้องปลิวมาตามลม มาตกลงยังจุดที่มีปัจจัยเติบโตทุกอย่างลงตัว เหมาะเหม็งจริงๆ ไม่งั้นเมล็ดก็จะเหี่ยวเฉาตายไป
จุดศึกษาธรรมชาติที่ 6 เราพบพืชประหลาดที่เรียกว่า จุกโรหินี หรือโกฐพุงปลา (Dischidia major) ชื่อสามัญภาษาอังกฤษคือ Milkweed เพราะมันจะมีน้ำยางขาวอยู่ภายในนั่นเอง บางคนคิดว่าจุกโรหินีคือกล้วยไม้ที่เหี่ยวเฉาตายแล้ว ทว่านั่นคือความเข้าใจผิด เพราะจริงๆ แล้วจุกโรหินีคือพืชใกล้ชิดกับ Hoya (นมตำเลีย)
เดินขึ้นมาใกล้ถึงยอดเขาเต็มที ป่าโปร่งขึ้นเรื่อยๆ แดดก็ร้อนจัด แต่ทีมเราไม่หวั่น ยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าต่อไป จุดศึกษาธรรมชาติที่ 7 คือ หัวร้อยรู (Hydnophytum formicarium) เป็นพืชอิงอาศัยที่ขึ้นอยู่บนคาคบไม้สูง เกาะอยู่บนต้นไม้อื่น เมื่อโตเต็มที่มันจะมีขนาดเท่าลูกมะพร้าวใหญ่ๆ เลยทีเดียว โดยเราจะพบมันได้ในป่าที่ค่อนข้างแห้งแล้ง
หัวร้อยรู จัดเป็นพืชที่อยู่ร่วมกับมด (Myrmecophyte) ชนิดหนึ่ง ถ้าผ่าออกดู มักมีมดดำอาศัยอยู่เต็มหัว โดยเนื้อภายในจะนิ่มๆ เป็นสีน้ำตาลไหม้ เมื่อจะนำมาใช้ทำยาสมุนไพร ต้องแช่น้ำทิ้งไว้จนกว่ามดจะออกไปหมดก่อน ความสัมพันธ์ของมดและหัวร้อยรู ที่อยู่ด้วยกันแบบพึ่งพา มีศัพท์เทคนิคทางวิชาการเรียกว่า Symbiosis หรือ Mutualism นั่นเอง
ในตำรายาไทย หัวร้อยรูอยู่ใน “พิกัดมหากาฬทั้ง 5” ใช้ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้พิษอักเสบ ช้ำบวม แก้พิษไข้ ไข้กาฬ ประดงผื่นคัน น้ำเหลืองเสีย ส่วนหัวของหัวร้อยรูเองมีฤทธิ์บำรุงหัวใจ ขับพยาธิ แก้พิษในข้อในกระดูก แก้พิษประดง แก้ข้อเข่าข้อเท้าบวม
ระหว่างทางพบดอกไม้ป่าชนิดหนึ่งกำลังบานพอดี แต่เสียดายไม่รู้จักชื่อ คงจะต้องเก็บไว้เป็นการบ้านที่เราต้องค้นหาคำตอบต่อไป นี่ล่ะคือเสน่ห์อย่างหนึ่งของการล่องไพร มันจะตั้งคำถามใหม่ๆ ให้เราหาคำตอบอยู่ตลอดเวลา จึงสอนให้เราเป็นคนกระตือรือล้น ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคเล็กหรือใหญ่ที่ขวางอยู่
จุดศึกษาธรรมชาติที่ 8 คือ มอสและไลเคน (Moss and Lichen) จุดนี้สอนเราให้รู้จักความสำคัญของพืชจิ๋วที่อยู่รอบข้าง เพื่อให้เราหยุด แล้วก้มมองลงไปยังก้อนหิน หรือเปลือกไม้รอบๆ ตัวบ้าง เพราะสิ่งที่อยู่ระหว่างการเดินทาง ย่อมน่าสนใจไม่แพ้จุดหมายปลายทางสุดท้ายนะครับ
ความสำคัญของพืชจิ๋วพวกมอสและไลเคน นอกจากจะเป็นพืชเล็กๆ ที่ช่วยดูดซับน้ำไว้สร้างความชุ่มชื้นให้ป่าแล้ว พวกมันยังเป็นดัชนีบ่งชี้คุณภาพอากาศได้ด้วย ตัวอย่างเช่น ถ้าเราพบมอสเขียวๆ ขึ้นปกคลุมก้อนหิน ก็แสดงว่าบริเวณนั้นชุ่มชื้นเย็นฉ่ำดี และถ้าบริเวณใดพบไลเคนมากๆ โดยเฉพาะไลเคนแบบใบและเส้น ก็แสดงว่าอากาศบริสุทธิ์มาก
ในบริเวณนี้ เรายังพบพืชชั้นต่ำที่ไม่มีท่อลำเลียงจำพวกหนึ่ง ขึ้นปะปนอยู่กับมอสและไลเคนด้วย คือ ลิเวอร์เวิร์ตแผ่นแบน (Thallose Liverwort) พืชพวกลิเวอร์เวิร์ตนี้ จริงๆ แล้วคือพืชจำพวกแรกๆ ของโลก ที่ปรับตัวขึ้นจากน้ำทะเลมาอยู่บนบกเมื่อประมาณ 400 ล้านปีก่อน โดยมันมีบรรพบุรุษร่วมกับสาหร่ายนั่นเอง
ไลเคนแบบแผ่น (หรือแบบด่างดวง) ขึ้นปกคลุมเปลือกไม้บนเขาแผนที่ จริงๆ แล้วไลเคน (Lichen) คือพืชมหัศจรรย์! มันคือการรวมตัวของสาหร่ายและเชื้อรา ที่มาอยู่ร่วมกัน โดยสาหร่ายช่วยสังเคราะห์แสงสร้างอาหาร ส่วนเชื้อราสามารถขยายตัวเพิ่มจำนวนได้รวดเร็ว นับเป็นการพึ่งพิงพึ่งพาได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่ายที่น่าเอาตัวอย่างจริงๆ นะครับ
คุณหมอนก เก็บภาพไลเคนบนเปลือกต้นไม้อย่างตั้งอกตั้งใจ
เมื่อเพ่งพินิจดูใกล้ๆ มอสที่เคยดูเหี่ยวเฉาในฤดูแล้ง เมื่อได้รับน้ำฝนก็จะกลับฟูขึ้น และดูสดใสเขียวสดอีกครั้ง เพราะจริงๆ แล้วมอสสามารถกักเก็บน้ำได้มากว่าน้ำหนักตัวเองหลายเท่า ถือเป็นพืชพื้นฐานที่ช่วยดูดซับน้ำไว้ให้ป่า แล้วสามารถทยอยปล่อยออกมารวมตัวกันเป็นห้วยธารได้อย่างน่าอัศจรรย์!
ในบริเวณ จุดศึกษาธรรมชาติที่ 9 เส้นทางจะค่อนข้างคดโค้งจนใกล้ไปถึงยอดเขา ผ่านป่าร่มครึ้มอีกหย่อมหนึ่ง มันคือ “ป่ากะพ้อ” หรือ “ป่าต้นพ้อเขา” (Licuala sp.) พืชพวกนี้จัดอยู่ในตระกูลปาล์มจีบ แผ่นใบมีขนาดใหญ่ ปลายใบแตกเป็นแฉกซี่ย่อยๆ เรียงตัวกันเหมือนพัดกลมๆ โดยก้านใบของมันจะแตกขึ้นมาตั้งแต่โคนต้น และก้านใบมักมีความคมมากด้วย ต้องระวังอย่าไปจับต้องโดยไม่จำเป็น แถมบางชนิดก้านใบยังมีหนามแหลมอีกต่างหาก!
ในเมื่อใกล้จะถึงยอดเขาเต็มทน และอากาศยามบ่ายก็ร้อนสุดๆ เราเลยถือโอกาสพักเอาแรง ขนมและน้ำที่เตรียมมาช่วยเพิ่มน้ำตาลในกระแสเลือดอีกครั้ง ทั้งหมอนก, น้องพริก, นายแบงค์กับน้องสาวตัวน้อย ที่ขึ้นมาช่วยเรา ต่างก็มีความสุขแบบเรียบง่าย ยามใช้ชีวิตอยู่ติดดินกับธรรมชาติบนเขาแผนที่
พ้นจากดงกะพ้อออกมา ทางเดินจะผ่านจอมปลวกใหญ่ อย่าไปทำร้ายเขานะ ให้เราเดินหลบไป เคารพธรรมชาติด้วย เพราะแท้จริงแล้ว จอมปลวกคือคอนโดมิเนียมขนาดยักษ์ใต้ดิน ของแมลงที่ช่วยย่อยสลายเศษซากอินทรีย์วัตถุในป่า ให้ธาตุอาหารกลับคืนสู่ระบบนิเวศน์อีกครั้ง
จุดศึกษาธรรมชาติที่ 10 ซึ่งถือเป็นจุดสุดท้ายของ Nature Trail เขาแผนที่ ที่ทีมของเราช่วยกันทำก็คือ “กล้วยไม้บนหิน” (Lithophytic Orchid) ลองมาเรียนรู้วิถีชีวิตของก้อนหินก้อนหนึ่ง ที่ถูกกล้วยไม้หลายชนิดขึ้นปกคลุมหนาแน่น ราวกับสวนหินแสนสวย นี่ถ้าได้มาพบตอนมันกำลังออกดอก คงวิเศษมากเลยนะ
กล้วยไม้บนหิน จริงๆ แล้วถือเป็นกล้วยไม้อิงอาศัยจำพวกหนึ่ง มันต้องปรับตัวเอาชีวิตรอดอยู่ในสภาพแวดล้อมอันขาดแคลน คือแทบจะไม่มีพื้นดิน ในภาพนี้จะเห็นว่ามันอาศัยอยู่บนกอของมอสที่พอกักเก็บความชื้นไว้ได้บ้าง แถมยังมีรากยึดเกาะเหนียวแน่น มีรากอากาศดูดไนโตรเจนจากอากาศ และต้องทนแล้ง ทนร้อน ทนไอเค็มจากทะเล และทนทานต่ออุณหภูมิของกลางวัน กลางคืน ที่ต่างกันหลายองศาเซลเซียส ทุกวันๆ ช่างน่าอัศจรรย์เหลือเกิน!
ภารกิจเดินป่าทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติของทีมเรา เสร็จสิ้นลงในยามบ่ายแก่ แต่ช่วงฤดูนี้แดดยังร้อนแรง เราเลยแยกย้ายกันนอนพักเอาแรง มุมใครมุมมัน ชีวิตติดดินแบบนี้ มีความสุขจริงๆ เลย เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม ฮาฮาฮา
หมดสภาพเมื่อเจออากาศร้อน! ขอพักนิดนึง เดี๋ยวตอนเย็นค่อยออกไปหามุมสวยๆ บนยอดเขาเก็บภาพพระอาทิตย์ตก
นี่ล่ะครับ หน้าตาของยอดเขาแผนที่ (เขาบ้านแหลม) เกาะหมาก จังหวัดตราด นี่คือจุดสูงที่สุดของเกาะหมาก ความสูงประมาณ 110 เมตร จากระดับน้ำทะเลเบื้องล่าง บนเขามีแต่ไม้พุ่มกับไม้ยืนต้นเตี้ยๆ พื้นเป็นหินระเกะระกะ
ทั้งอุปกรณ์ถ่ายภาพ อาหาร น้ำ และเครื่องนอน แบกขนกันขึ้นมาสำหรับค่ำคืนอันแสนพิเศษบนเขาแผนที่ คุณหมอนกเตรียมตัวถ่ายภาพแล้ว เอ… จะมีนกบินมาให้รัวชัตเตอร์บ้างไหมนะ?
หมอนกคนสวยสาวอึด เริ่มเก็บภาพธรรมชาติบนยอดเขาแผนที่
มองจากไกลๆ นึกว่านกอินทรีย์หรือเหยี่ยว แต่พอใช้เลนส์ 600 มิลลิเมตรส่องดู มันก็คืออีกาดีๆ นี่เองครับ
จากยอดเขาแผนที่ มองลงมาเบื้องล่างจะเห็นเรือสปีตโบ๊ท และเรือประมงของชาวบ้าน แล่นผ่านไปมาเกือบตลอดวัน
เย็นย่ำใกล้ค่ำลงทุกที แสงอาทิตย์ที่เคยร้อนรุ่มมาตลอดวัน บัดนี้เริ่มอ่อนแรงลงทุกขณะ เปลี่ยนอุณหภูมิสีแสงให้กลายเป็นเฉดสีเหลือง ส้ม ชมพู และม่วง อย่างน่าประทับใจ ถือเป็นช่วงเวลาทองของช่างภาพ มุมใครมุมมันล่ะครับ!
แสงสุดท้ายบนยอดเขาแผนที่ เราจะไม่มีวันลืมเลย
แคมป์แบบง่ายๆ ของเรา 3 คน ปูผ้าใบรองพื้น มีฟลายชีทขึงกันน้ำค้าง กินกันตรงนี้ นั่งคุยกันตรงนี้ และนอนกันตรงนี้ ใครหุงข้าวด้วยหม้อสนามเป็นมั่ง ยกมือด่วน!!!
มื้อนี้กินกันแบบง่ายๆ เนอะเรา อาหารแบบป่าๆ กินเพื่ออยู่ ไม่ได้อยู่เพื่อกินเนอะ ฮาฮาฮา
น้องพริก ขอแสดงฝีมือหุงข้าว ผลออกมาคืออร่อยจริงๆ ด้วย นุ่มหอมกำลังดี ไม่มีแฉะ ไม่มีไหม้เลย เก่งสุดๆ น้องพี่
มืดแล้ว เสียงหรีดเรไรดังระงม ผสานกับเสียงนกตบยุง (Nightjar) ที่ร้องเป็นจังหวะดัง “จุ้ง จุ้ง จุ้ง…” อยู่ไม่ห่างแคมป์ของเรานี่เอง บรรยากาศคลาสสิกสุดๆ ยากจะบรรยายเป็นตัวอักษรได้!
ท้องร้องจ๊อกๆ หิวๆๆๆ เหนื่อยกันมาทั้งวัน ได้เวลาหม่ำข้าวเติมแรง ไข่ต้ม กุนเชียงทอด น้ำพริกเผา และหอยลายผัดเผ็ด กินกับข้าวสวยร้อนๆ ใครจะลืมอาหารมื้อนี้ลงล่ะจ๊ะ!
อิ่มแล้วเอนกายนอนพักผ่อนกายา ชีวิตกลางป่ายามค่ำคืนดูเผินๆ อาจเหงา แต่ไม่ใช่ เพราะเรามีมิตรภาพของเพื่อนที่นอนอยู่เคียงข้าง มีเสียงแมลงและยุงร้องขับกล่อมเหมือนเพลงไพเราะ ผสานกับเสียงลมทะเลที่พัดตึงตอนหัวค่ำ จนผ้าใบตีผึบผับ ถ้ายังไม่หลับ แสงไฟดวงน้อยจะช่วยให้อุ่นใจ นอนพูดคุยกันไปอย่างสนุกเฮฮา
ดึกสงัด ลมนิ่งสนิท อากาศบนเขาเริ่มร้อนอบอ้าว ตามมาด้วยเสียงยุงร้องวี้ๆ อยู่รอบตัว! แถมยังมีค้างคาวแม่ไก่ตัวเบ้อเริ่ม บินผ่านไปมาอยู่เหนือหัว ชวนให้ขนลุกตลอดคืน
หนึ่งราตรีบนเขาแผนที่ท่ามกลางคืนพระจันทร์เต็มดวง เป็นค่ำคืนแห่งความพิเศษในหมู่มิตร ที่เราจะไม่มีวันลืมไปตลอดชีวิต ขอขอบคุณธรรมชาติ หรืออะไรก็ตามท่ีนำเรามาพบกัน
นี่คือแผนที่เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติเขาแผนที่ ระยะทาง 340 เมตร มีจุดแวะศึกษาธรรมชาติ รวม 10 จุด ซึ่งเราขอท้าให้คุณมาสัมผัสด้วยตัวเอง นี่คือหนึ่งในตัวแทนความอุดมของเกาะหมาก จังหวัดตราด เกาะเงียบสงบแสนงาม ที่ผมเดินทางมาเพื่อจะ “หลงรัก” และหวังว่าคุณก็จะหลงรักด้วยเช่นกัน
ขอขอบคุณ : อพท. หรือ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) และพี่น้องชาวเกาะหมากที่น่ารักทุกท่าน ที่ร่วมมือ ร่วแรงร่วมใจสร้างสรรค์กิจกรรมดีๆ นี้ขึ้น สอบถามโทร. 0-2357-3580-402
Special Thanks : บริษัท Nikon Sales (Thailand) Co., Ltd. สนับสนุนกล้องถ่ายภาพระดับมืออาชีพ D4 และกล้องถ่ายภาพใต้น้ำ AW130 เพื่อการเก็บภาพสวยๆ เหล่านี้มาฝากเพื่อนๆ ทุกคน สนใจสอบถาม โทร. 0-2633-5100
#LowcarbonAtkohmak #CastawayAtkohmak #ติดเกาะโลว์คาร์บอน
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!