ปราสาทรวงข้าว ปราสาทแห่งศรัทธากาฬสินธุ์
“หลงรักอีสาน” นี่คือความรู้สึกของฉันเมื่อได้ไปเยือนแผ่นดินอันมีเสน่ห์นี้ เพราะอีสานเป็นดินแดนแห่งรอยยิ้ม ความโอบอ้อมอารี และวัฒนธรรมอันรุ่มรวย หยั่งรากลึกสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน แม้วันนี้โลกจะเปลี่ยนไป วัฒนธรรมเก่าแก่หลายอย่างเริ่มเลือนหาย ทว่าคนอีสานก็ยังรักบ้านเกิด พากันสืบสานภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ
เช่นเดียวกับเมื่อสายลมหนาวมาเยือนต่อกับต้นฤดูร้อน ผืนนาอีสานถึงกาลเก็บเกี่ยวเสร็จเรียบร้อย ลอมฟางถูกกองทับสูงส่งกลิ่นหอม วัวควายได้เวลาพักจากการหว่านไถ ทว่าชาวบ้านต้อน ตำบลเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ กลับยังไม่ได้พักผ่อน ต่างมารวมตัวกันที่วัดเศวตวันวนาราม ร่วมแรงร่วมใจกันจัดงาน “บุญบายศรีสู่ขวัญข้าวคูนลาน” เพื่อรำลึกบุญคุณพระแม่โพสพผู้ให้ชีวิต อีกทั้งยังเป็นโอกาสที่พวกเขาร่วมแรงร่วมมือกันจัดสร้าง “ปราสาทรวงข้าว” ขึ้นเป็นตัวแทนแห่งศรัทธา ปรากฏเป็นสิ่งมหัศจรรย์แห่งขวัญข้าว เพียงแห่งเดียวบนผืนดินสยาม!
ปราสาทรวงข้าว คืองานศิลป์แห่งวิถีศรัทธาสามัคคีของชาวบ้านกาฬสินธุ์ ในการประกอบพิธีบุญบายศรีสู่ขวัญข้าวคูนลาน หรือบุญคูนลานตามวิถีฮีตสิบสองของชาวอีสาน ซึ่งจะประกอบพิธีหลังฤดูเก็บเกี่ยว เพื่อระลึกถึงคุณพระแม่โพสพ อีกทั้งยังเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูต่อแผ่นดินที่ให้ผลผลิตเพื่อการยังชีพ ให้เกิดสิริมงคลแก่ชีวิต และการเพาะปลูก ตลอดจนเพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป
ด้วยรวงข้าวน้อยที่งอกงามขึ้นจากผืนดินอีสานกาฬสินธุ์ คือตัวแทนแห่งความอุดมของธรรมชาติ ที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คน บัดนี้ได้รับการนำมาเนรมิตเป็นงานศิลป์ประจำท้องถิ่นในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี เพื่อสร้างเป็น ปราสาทรวงข้าว
ชาวบ้านและพระสงฆ์จะช่วยกันนำรวงข้าวมามัดเป็นกำๆ แล้วนำไปผูกติดกับโครงไม้ไผ่ที่ขึ้นรูปไว้เป็นปราสาทรวงข้าว
ปราสาทรวงข้าว ในประเพณีบุญบายศรีสู่ขวัญข้าวคูนลาน มีจุดเริ่มต้นสร้างครั้งแรกเมื่อ ปี พ.ศ. 2537 โดยในขณะนั้น เมื่อถึงช่วงเวลาประกอบพิธีบุญคูนลาน แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังนวดข้าวไม่เสร็จ จึงนำมัดข้าวที่ยังไม่ได้แยกเมล็ดข้าวออกจากฟางมาถวายวัด จนเกิดแนวคิดการนำมามัดรวมสร้างเป็นปราสาทรวงข้าวขึ้น จนมีการพัฒนารูปแบบให้งดงาม น่าศรัทธา ดังเช่นปัจจุบัน โดยระยะเวลาในการสร้างปราสาทรวงข้าวแต่ละครั้ง ใช้เวลาถึง 2 เดือนทีเดียว
สวยสง่า เปี่ยมด้วยพลังแห่งศรัทธาในทุกอณู สะท้อนถึงความผูกพันของผู้คน ธรรมชาติ และพระพุทธศาสนา
ชาวบ้านในละแวกวัดเศวตวันวนาราม นำกับข้าวมาเตรียมตักบาตรในยามเช้าตรู่
ตามปกติแล้ว งานบุญบายศรีสู่ขวัญข้าวคูนลาน จะจัดกันไม่ต่ำกว่า 4 วัน โดยวันแรก ชาวบ้านจะนำข้าวเปลือกมากองรวมกันที่วัดในปราสาทรวงข้าว แล้วรับบริจาคจตุปัจจัยตลอดวัน มีพิธีทำบุญตักบาตร 108 และบูชาข้าวเปลือกมงคลคูนลาน พร้อมด้วยขบวนแห่พานบายศรี แห่ปราสาทรวงข้าวจำลอง และแห่เครื่องบูชาพระแม่โพสพ ปิดท้ายด้วยการแสดงบวงสรวงบูชาพระแม่โพสพสมโภชกันอย่างสนุกสนานชื่นบาน
ในวันถัดไป ก็จะมีการทำบุญตักบาตร, บายศรีสู่ขวัญข้าวคูนลาน รวมถึงการแข่งเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ บริเวณหนองสาหร่าย ซึ่งอยู่ติดกับวัดเศวตวันวนาราม นั่นเอง
หนุ่มสาวหน้าใสในชุดพื้นเมืองโบราณกาฬสินธุ์ มาร่วมทำบุญตักบาตรกันอย่างชื่นบาน
ร่วมทำบุญตักบาตรสืบสานพลังแห่งศรัทธา ณ วัดเศวตวันวนาราม ในงานบุญคูนลาน
ตักบาตรเสร็จแล้ว ก็ได้เวลาฟังเทศน์ฟังธรรม รับศีลรับพร ให้ชีวิตมีแต่มงคลตลอดไปนะจ๊ะ
จากนั้นก็ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ หน้าตาอาหารพื้นบ้านแท้ๆ เห็นแล้วน่าทานไปซะทุกสิ่งอย่าง อุดมด้วยพืชผักพื้นบ้านที่ส่วนใหญ่ปลอดสารพิษทั้งนั้นเลยล่ะ
สาวงามหนุ่มหล่อ ก็ต้องมาถ่ายภาพคู่กับปราสาทรวงข้าวไว้เป็นที่ระลึก
การได้มาร่วมงานบุญคูนลาน และเห็นปราสาทรวงข้าวอันงดงามตั้งอยู่ตรงหน้า ทำให้เราสำนึกในทันทีว่า แท้จริงแล้วข้าวมิใช่เป็นเพียงแค่อาหาร หรือเป็นข้าวในกระสอบที่ใช้เงินทองแลกเปลี่ยนซื้อขายกันเท่านั้น! ข้าวคือแม่ คือผลผลิตแห่งพระแม่ธรณีที่คอยหล่อเลี้ยงชีวิตผองเราชาวไทยมาหลายชั่วอายุคน และปราสาทรวงข้าว ก็คือตัวแทนแห่งความนอบน้อม ความขอบคุณ ต่อพระคุณของเมล็ดข้าว แม้เพียงเมล็ดเดียวก็สูงค่ายิ่งแล้ว
คำว่า “หลงรักอีสาน” คือคำที่จะตรึงอยู่ในใจฉันไปอีกนาน เพราะวันนี้ ฉันมีความสุขเหลือเกินที่ได้มาเยือน ปราสาทรวงข้าว แห่งกาฬสินธุ์ ถิ่นคนงามน้ำใจดี บ้ายบาย.Special Thanks : ขอขอบคุณ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภูมิภาคภาคอีสาน และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม สนับสนุนการเดินทางเป็นอย่างดี สอบถามเพิ่มเติม โทร. 0-4322-7714-5
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!