เที่ยวสุดยอด Unseen กาฬสินธุ์ ถิ่นอีสาน (ตอน 1)

กาฬสินธุ์ 1

เมื่อเอ่ยถึงชื่อ “ทุ่งกุลาร้องไห้” หลายคนคงร้องอ๋อ เพราะจำได้ว่าสมัยเด็กๆ ครูเคยสอนว่าเป็นเขตแห้งแล้งของภาคอีสาน รวมกว้างๆ อยู่ในเขตจังหวัดสุรินทร์, มหาสารคาม, บุรีรัมย์, ศรีสะเกษ, ยโสธร, ร้อยเอ็ด และบางส่วนของกาฬสินธุ์ ความทรงจำจากหนังสือเรียนสมัยเด็ก ทำให้ใครหลายคนไม่อยากย่างกรายไปอีสาน ทว่านั่นคือความเข้าใจผิดมาก!

เพราะแท้จริงแล้วทุ่งกุลาร้องไห้ที่อาจจะดูเปลี่ยวเหงาในฤดูแล้ง เมื่อได้ไปเยือนในฤดูฝน ภาพอีกภาพหนึ่งจะปรากฏให้เห็น เป็นภาพแห่งความเขียวขจีในผืนนานับล้านไร่! เนื่องจากดินบริเวณนี้เหมาะเจาะอย่างยิ่งสำหรับการปลูกข้าวหอมมะลิพันธุ์ดีเกรด Premium ส่งขายไปทั่วไทยและทั่วโลก!

ทริปนี้เราได้มาเยือนส่วนเสี้ยวหนึ่งของทุ่งกุลาร้องไห้ “กาฬสินธุ์ ถิ่นไดโนเสาร์” และอดีตเมืองโบราณอาณาจักรฟ้าแดดสงยาง สถานที่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยรุ่งเรืองเฟื่องฟูที่สุดแห่งหนึ่งบนผืนดินอีสาน ลองมาชมกันซิว่า วันนี้กาฬสินธุ์ยังสบายดีอยู่ไหมจ๊ะ? ฮาฮาฮากาฬสินธุ์ 21. พระธาตุยาคู หรือพระธาตุใหญ่ อำเภอกมลาไสย เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองโบราณอาณาจักรฟ้าแดดสงยาง (อายุประมาณ 2,200 ปี) ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงเหลี่ยมก่ออิฐ สร้างซ้อนทับบูรณะกันมาถึง 3 สมัย ชาวบ้านเชื่อว่าภายในบรรจุพระธาตุอัฐิของพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่ชาวเมืองฟ้าแดดสงยางเคารพนับถือ สังเกตได้จากเหตุการณ์เมื่อเมืองเชียงโสมชนะสงคราม ได้ทำลายทุกอย่างในเมืองฟ้าแดดสงยาง แต่ไม่ทำลายพระธาตุยาคู ปัจจุบันจึงเป็นโบราณสถานที่ยังคงสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ โดยชาวบ้านจะจัดให้มีงานบุญบั้งไฟช่วงเดือนพฤษภาคมทุกปี เพื่อเป็นการขอฝนและความร่มเย็นแก่หมู่บ้าน

ส่วนคำว่า “ยาคู” แท้จริงมาจากคำในภาษาอีสานว่า “ญาคู” หมายถึง “พระสงฆ์ผู้ใหญ่ในวัด” นั่นเองกาฬสินธุ์ 3

ในบริเวณใกล้ๆ องค์พระธาตุยาคูมีพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็ก จัดแสดงใบเสมาหินทรายขนาดใหญ่ ที่ขุดค้นพบในบริเวณเมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง และรอบๆ พระธาตุยาคู โดยค้นพบมากถึง 130 แผ่น นับเป็นแหล่งที่ขุดพบมากที่สุดในเมืองไทยก็ว่าได้ บ่งบอกถึงความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา ความยิ่งใหญ่ของเมืองฟ้าแดดสงยาง และยังเผยให้เห็นถึงรูปแบบวิธีคิดของคนในอดีตอีกด้วยกาฬสินธุ์ 4 กาฬสินธุ์ 52. ไม่ห่างจากพระธาตุยาคูมากนัก ณ ทางเข้าของเมืองฟ้าแดดสงยางโบราณ ปัจจุบันคือที่ตั้งของ “วัดโพธิ์ชัยเสมาราม” หรือ “วัดบ้านก้อม” เป็นวัดเก่าที่ชาวบ้านได้นำใบเสมาหินทรายที่ขุดพบในเขตเมืองฟ้าแดดสงยางมารวบรวมไว้ ลักษณะเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่น่าสนใจมาก ใบเสมาบางอันขนาดใหญ่กว่า 2 เมตร สูงท่วมหัวคน! จำหลักเป็นภาพนูนต่ำเรื่องราวพุทธประวัติตอนต่างๆ และเรื่องชาดก

อาทิ ตอนพระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากกรุงกบิลพัสดุ์ พร้อมด้วยพระเจ้าสุทโธทนะ ภาพแสดงให้เห็นพระราหุลและพระนางยโสธราพิมพา เข้าเฝ้าสักการะด้วยการสยายพระเกศา (ผม) เช็ดพระบาทพระพุทธเจ้า เรียกว่า “เสมาหินพิมพาพิลาป” ซึ่งใบเสมาหลักจริงได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่นแล้ว ใครที่รักชอบเรื่องโบราณคดี มาวัดบ้านก้อมไม่ผิดหวังแน่นอนครับ
กาฬสินธุ์ 6 กาฬสินธุ์ 7 กาฬสินธุ์ 8 กาฬสินธุ์ 9

3. มาลัยไม้ไผ่ ประณีตศิลป์แห่งชนเผ่าผู้ไทย บ้านกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ ณ ที่นี้คือชุมชนเผ่าผู้ไทยอันมีอัตลักษณ์เฉพาะตน งดงาม น่าชื่นชม โดยเฉพาะเมื่อย่างเข้าเดือนเก้าและเดือนสิบ ในช่วงบุญข้าวประดับดินและบุญข้าวสาก ตามวิถีฮีต 12 ของชาวอีสาน ผู้ไทยบ้านกุดกว้าก็จะรวมตัวกันสืบสานงานประเพณี “มาลัยไม้ไผ่” ซึ่งถือเป็นวิจิตรศิลป์เพื่อพุทธบูชาแห่งชาวกุดหว้าทั้งมวล
กาฬสินธุ์ 10 กาฬสินธุ์ 11

นอกจากมาลัยไม้ไผ่ดอกเล็กๆ แล้ว ชาวกุดหว้ายังประดิษฐ์มาลัยวิจิตรศิลป์อันตระการตา ขึ้นมาประกวดประชันกันด้วยกาฬสินธุ์ 12

เมื่อใกล้ถึงกำหนดวันงานบุญพวงมาลัย คณะกรรมการหมู่บ้านจะนำมาลัยไม้ไผ่ไปแจกจ่ายให้ชาวบ้าน ใช้เป็นเครื่องผูกร้อยพืชพรรณธัญญาหารตามฤดูกาล หรือสิ่งของอุปโภคบริโภค พร้อมด้วยดอกไม้ ธูป เทียน เป็นเครื่องไทยธรรม นำไปประกอบพิธีแห่มาลัยไม้ไผ่รอบโบสถ์ ก่อนจะนำมาแขวนรวมกันเป็นต้นกัลปพฤกษ์ถวายเป็นพุทธบูชากาฬสินธุ์ 13 กาฬสินธุ์ 14

ยิ้มง่ายๆ งามๆ แสนจริงใจ ของสาวผู้ไทยบ้านกุดหว้า
กาฬสินธุ์ 15

สาวผู้ไทยบ้านกุดหว้าในช่วงงานมาลัยไม้ไผ่ จะแต่งกายสวยสุดๆ โดยจะสวมเสื้อแขนกระบอกเข้ารูปสีดำหรือครามเข้ม พาดเฉวียงบ่าด้วยผ้าไหมแพรวาลายงามวิจิตร อีกทั้งยังตกแต่งเรือนกายด้วยดอกมาลัยไม้ไผ่ มีตั้งแต่เข็มกลัด, ต่างหู, ปิ่นปักผม ซึ่งล้วนสร้างสรรค์ขึ้นจากไม้ไผ่ไร่ในหมู่บ้าน นำมาจักสานอย่างประณีตบรรจง
กาฬสินธุ์ 16

ดอกมาลัยไม้ไผ่ ประดิษฐ์จากไม้ไผ่ไร่ซึ่งตัดทิ้งไว้ 15 วัน ให้แห้งสนิทดีซะก่อน จากนั้นนำมาตัดเป็นท่อนๆ ผ่าซีก เหลาให้บาง ความกว้างและยาวขึ้นอยู่กับขนาดดอก โดย 1 ดอก ใช้ไม้ไผ่ที่เหลาแล้ว 6 ชิ้น นำมาหักพับสลับฟันปลาแบ่งระยะความห่างช่องไฟให้พอดี สวยงาม เท่าๆ กัน พร้อมกับผ่าออกเป็นซี่เล็กๆ นำมาประกบเข้าคู่อย่างประณีต จนมีรูปร่างเป็นดอกไผ่ ใช้แขวนในพิธีทำบุญพวงมาลัยนั่นเองกาฬสินธุ์ 17 กาฬสินธุ์ 18

เข็มกลัดดอกไผ่
กาฬสินธุ์ 19

ต่างหูดอกไผ่กาฬสินธุ์ 20

ปิ่นปักผมดอกไผ่กาฬสินธุ์ 21

เมื่อพร้อมแล้ว ชาวบ้านก็จะนำขบวนมาลัยไม้ไผ่มาจัดขบวน เดินแห่แหนร่ายรำกันไปอย่างสนุกสนาน 3 รอบโบสถ์วัดกกต้องกุดกว้า ทั้งลูกเด็กเล็กแดง ผู้สาว แม่ใหญ่ ต่างมาร่วมงานกันอย่างชื่นมื่นอิ่มบุญกาฬสินธุ์ 22 กาฬสินธุ์ 23

ชาวบ้านกุดหว้า ออกมาร่วมงานมาลัยไม้ไผ่ พ่อเพลงหมอแคนต่างแสดงฝีมือกันเต็มที่ เพราะงานนี้มีปีละครั้งเดียว
กาฬสินธุ์ 24

4. วัดวังคำ บ้านนาวี ตำบลสงเปือย อำเภอเขาวง เป็นวัดสำคัญที่สุดของชาวผู้ไทยในเขตอำเภอเขาวง ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างขึ้นในเนื้อที่ 8 ไร่ เมื่อปี พ.ศ. 2539 สิ่งสำคัญที่สุดในวัดคือ นอกจากมีองค์พระธาตุอันศักดิ์สิทธิ์แล้ว ยังมีวิหารที่จำลองแบบมาจากวัดเชียงทอง (มรดกโลก) ณ เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว หากได้ไปเยือนในยามค่ำคืน จะมีการเปิดไฟแสงสีประดับอย่างน่าตื่นตา อีกทั้งผนังด้านนอกส่วนหลังวิหาร มีการจำลองแบบต้นไม้แห่งชีวิต Tree of Life ประดับกระจกสี เฉกเช่นเดียวกับวัดเชียงทองอีกด้วย
กาฬสินธุ์ 25 กาฬสินธุ์ 26

ภายในวิหารวัดวังคำ งามอลังการดุจเทพนฤมิตร! เด่นด้วยสีแดงชาติและสีทองสุกปลั่งเหลืองอร่าม ทว่าภายในวิหารนี้ห้ามมิให้สตรีเข้าไปนะครับ เข้าได้เฉพาะผู้ชายเท่านั้นกาฬสินธุ์ 27

ในการไปเยือนวัดวังคำ ศูนย์กลางชุมชนชาวผู้ไทยบ้านนาวี หากมีการติดต่อล่วงหน้า และเข้าเยี่ยมชมเป็นหมู่คณะ เขาก็จะมีการจัดงานต้อนรับอย่างเอิกเริก ทั้งในส่วนของชุดผู้ไทยที่มีการใช้ผ่าเบี่ยงพาดบ่า เป็นผ้าไหมแพรวาลวดลายวิจิตร รวมถึงการจำลองวิถีชีวิตของชาวผู้ไทยในแง่มุมต่างๆ ให้ชมกันอย่างใกล้ชิดครับกาฬสินธุ์ 28 กาฬสินธุ์ 29

สาธิตการประดิษฐ์ขันหมากเบ็ง หรือที่คนไทยภาคกลางเรียกว่าพานบายศรีนั่นเอง โดยขันหมากเบงนี้ชาวบ้านจะใช้ในขบวนแห่ในงานประเพณี หรือนำไปถวายวัดเป็นพุทธบูชา
กาฬสินธุ์ 30

สาวน้อยน่ารักชาวผู้ไทย โปรยยิ้มหวานต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือน พร้อมกับการแต่งกายย้อนยุคอันมีเอกลักษณ์
กาฬสินธุ์ 31

สาธิตการทำเครื่องจักสาน อีกหนึ่งสาขางานประณีตศิลป์ที่ชาวผู้ไทยบ้านนาวีชำนาญกาฬสินธุ์ 32 กาฬสินธุ์ 33 กาฬสินธุ์ 34

ข้าวแดกงา ขนมพื้นบ้านของชาวผู้ไทยบ้านนาวี เป็นการนำข้าวเหนียวและงาที่เพิ่งเก็บเกี่ยวใหม่ๆ มาตำรวมกันอย่างง่ายๆ จนได้แผ่นแป้งที่เห็น แล้วนำถั่วลิสงกับถั่วแดงใส่เป็นไส้ จากนั้นม้วนเป็นแท่งกลม กินเป็นขนมทานเล่นได้อร่อยดี เพราะเป็นของธรรมชาติล้วนๆ ทว่าขนมแดกงาจะมีให้ชิมเฉพาะช่วงฤดูหนาวเท่านั้น ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวบ้านเพิ่งเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จใหม่ๆ ข้าวและงาที่ได้จึงหอมหวลเป็นพิเศษกาฬสินธุ์ 35

แม่ใหญ่ชาวผู้ไทย ยิ้มหวานอย่างภาคภูมิในชุดประจำชนเผ่าของตน หวังว่าวัฒนธรรมการแต่งกายอันงดงาม มีเอกลักษณ์เช่นนี้ จะมีให้เราเห็นต่อไปอีกนานๆ นะครับ
กาฬสินธุ์ 36

ขบวนแห่รอบวิหารวัดวังคำ จัดเต็มมากันในชุดผู้ไทยสวยสุดๆ พร้อมด้วยขันหมากเบ็ง ต้นดอกไม้ และเครื่องพุทธบูชานานาชนิด
กาฬสินธุ์ 37

แห่ต้นดอกไม้ รอบวิหารวัดวังคำ 3 รอบ ก่อนนำต้นดอกไม้เข้าไปถวายสักการะหน้าพระประธานในวิหารกาฬสินธุ์ 38 กาฬสินธุ์ 39 กาฬสินธุ์ 40 กาฬสินธุ์ 41 กาฬสินธุ์ 42

แม่ใหญ่แห่งบ้านนาวี ยังคงมีรอยยิ้มเปื้อนหน้า เมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามาชื่นชมวัฒนธรรมอันดีงามของตนกาฬสินธุ์ 43

หลังจากพระอาทิตย์ลาลับขอบฟ้าไปแล้ว เหล่านักท่องเที่ยวก็ยังไม่หนีหายไปไหน แต่มารวมตัวกันทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ โดยหมอขวัญผู้ไทยแห่งบ้านนาวี เป็นพิธีที่สะท้อนความโอบอ้อมอารี ความห่วงใย และความรักที่มีต่อกันกาฬสินธุ์ 44

ตอนผูกข้อไม้ข้อมือ เราต้องถือไข่ต้มไว้ด้วย 1 ฟอง เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งโชคดีและความสมบูรณ์พูนสุขกาฬสินธุ์ 45

เสร็จจากพิธีบายศรีสู่ขวัญ ก็ได้เวลาที่นักท่องเที่ยวทุกคนรอคอย คือการนั่งล้อมวงกินพาแลง (อาหารเย็น) ด้วยกัน แน่นอนว่าอาหารมื้อนี้ล้วนเป็นเมนูพื้นบ้านแสนอร่อยของชาวผู้ไทย ป้าดดดด! น้ำลายไหล!กาฬสินธุ์ 46เราคือแขกผู้เข้าไปเยือนชุมชนชาวผู้ไทย แห่งบ้านนาวี อำเภอเขาวง เราได้ประจักษ์แล้วถึงความน่ารัก ความโดดเด่น และความเข้มแข็งของชุมชน ที่ยังคงใส่ใจสืบสานภูมิปัญญาจากปู่ย่าตาทวด นี่คืออีกหนึ่งชุมชนน่ารัก แห่งดินแดนอีสานอันแสนกว้างใหญ่ ซึ่งเรามิอาจปฏิเสธได้เลยว่า พวกเขาคือทูตแห่งวัฒนธรรม ผู้เก็บรักษาสมบัติล้ำค่าจากอดีต ให้ข้ามผ่านกาลเวลาไปสู่อนาคตได้อย่างแท้จริง
กาฬสินธุ์ 47

logo123-300x300Special Thanks : ขอขอบคุณ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภูมิภาคภาคอีสาน และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม สนับสนุนการเดินทางเป็นอย่างดี สอบถามเพิ่มเติม โทร. 0-4322-7714-5

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *