วิ่งคลายชลบุรี ครั้งที่ 143 ประจำปี 2553
กลับมาแล้วอีกครั้ง กับงานเทศกาลหนึ่งเดียวในโลก ที่ยิ่งใหญ่และไม่เหมือนใครจริงๆ นั่นคือ “ประเพณีวิ่งควาย จังหวัดชลบุรี” ประจำปี 2557 วันที่ 4-10 ตุลาคม โดยปีนี้จัดเป็นปีที่ 143 แล้ว บ่งบอกให้เห็นว่า ประเพณีวิ่งควายและคนชลบุรีต่างผูกพันกันมาหลายชั่วอายุคนแล้ว ต้องขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รวมถึงภาครัฐ ภาคเอกชน เจ้าของควาย และคนเมืองชล ที่ยังเห็นคุณค่าประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น แล้วอนุรักษ์เอาไว้ให้เราได้ชมกันอย่างสนุกสนาน
เล่ากันว่าประเพณีวิ่งควายถือกำเนิดขึ้นในจังหวัดชลบุรีเมื่อร้อยกว่าปีก่อนโน้น โดยจัดก่อนวันออกพรรษา 1 วัน สมัยนั้นเป็นช่วงนอกฤดูทำนา ควายได้พัก เจ้าของก็จะขี่มาวัด หรือใช้ลากเกวียนมาวัดเพื่อรอทำบุญออกพรรษา พอมรวมตัวกันเยอะ จึงเกิดการประกวดประขันควายใครสวยกว่า แข็งแรงกว่า แล้วกลายเป็นการแข่งขันวิ่งควายขึ้นในที่สุด ปัจจุบันจัดกันในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11
Miss Buffalo น้องนางบ้านนา คู่ขวัญเจ้าทุนแสนน่ารัก ปีนี้มาในชุดสีสันสดใส พร้อมด้วยการตกแต่งเจ้าทุยอย่างงดงามตระการตา พาไปร่วมขบวนพาเหรตวิ่งควาย ขอบอกว่าสาวเมืองชลเธอสวยไม่เป็นรองใครเหมือนกันนะเนี่ย
ปีนี้มีควายจากทั่วจังหวัดชลบุรี และบางจังหวัดในภาคอีสานเข้าร่วมกว่า 700-800 ตัว เรียกว่ามากันทุกอายุ ทุกเพศ ทุกวัย สังเกตเจ้าตัวเล็กที่อายุน้อย จะมีขนเป็นสีน้ำตาลอ่อน และเขาสั้นนิดเดียว ส่วนตัวที่โตเต็มที่ขนมักจะเป็นสีดำขลับ เขายาวโง้งสวย ตามแบบฉบับควายไทย ซึ่งเป็น Water Buffalo ที่ได้ชื่อว่ามีรูปร่างลักษณะสวยงามที่สุดในโลก ปีนี้นอกจากจะมีการแข่งวิ่งควายแล้ว ยังมีการประกวดสุขภาพควาย, การประกวดพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ และการตกแต่งควายสวยงามด้วยล่ะ
ก่อนแข่งวิ่งควายในรุ่นต่างๆ เจ้าของควายต้องพาเจ้าทุยแสนรัก เดินไปเดินมา จากจุด Start ไปจุด Finish ก่อน เพื่อให้เจ้าทุยคุ้นชินกับสภาพสนาม เคยชินกับดินบนพื้น และไม่ตื่นกับผู้คนมากมายที่มาคอยเชียร์อยู่สองฝั่งลู่วิ่ง นอกจากนี้ยังถือเป็นการ Warm Up ร่างกายควายและจ็อกกี้ (นักขี่ควายแข่ง) อีกด้วย พอได้เหงื่อสักนิด คราวนี้ก็เครื่องร้อน พร้อมแข่งกันล่ะ
แม้แต่จ็อกกี้ควายก็ยังต้องเดินซ้อม Warm Up ร่างกายก่อนแข่งขันจริงด้วยเหมือนกัน
งานวิ่งควายยังมีกิจกรรมอนุรักษ์กีฬาพื้นบ้านเมืองชลอีกหลายอย่างให้ชม สนุกทั้งนั้น โดยเฉพาะการแข่งขันปีนเสาอาบน้ำมัน เพื่อขึ้นไปเก็บเงินที่อยู่บนยอดเสา กว่าจะสำเร็จก็เล่นเอาเหงื่อตก! ใช้เวลาไม่น้อยกว่าครึ่งชั่วโมง เพราะเสาลื่นมาก เขาบอกว่าเทคนิคสมัยโบราณให้เอาขี้เถ้าผสมกับทรายละเอียด ทามือก็จะมีแรงฝืด ปีนขึ้นไปถึงยอดเสาได้สำเร็จ!
และแล้วก็ได้เวลาที่รอคอย เมื่อกรรมการที่เส้นปล่อยตัวให้สัญญาณ ควายในรุ่นต่างๆ ก็พุ่งทะยานออกจากคอก ห้อตะบึงวิ่งไปข้างหน้าอย่างไม่คิดชีวิต โดยมีจ็อกกี้ควายหวดไม้หวายเสียงดังเพี๊ยะๆ อยุ่บนหลัง เห็นแล้วน่าสงสารน้องควายของเราเหมือนกัน แข่งกันในแต่ละรอบใช้เวลาแค่ไม่ถึงนาที! ไม่นึกเหมือนกันว่าควายไทยจะ Speed ดี วิ่งได้เร็วถึงปานนี้! แต่พอถึงเส้นชัย กว่าจะเบรกให้หยุดได้ก็ยาก คนดูต้องหลบกันกระเจิง!
การถ่ายภาพวิ่งควายถือว่าปราบเซียน! เพราะช่างภาพทุกคนจะเจอปัญหาว่า จะ Focus ภาพยังไงให้ทัน? เพราะควายวิ่งเร็วเหลือเกิน แถมยังเคลื่อนที่เข้าหากล้องด้วย แนะนำว่าถ้าใครใช้กล้องโปรๆ หน่อย ก็ให้ปรับ Mode การ Focus ไปที่ Continueous แทน Single แล้วใช้การ Focus แบบหลายจุด จากนั้นปรับการวัดแสงจาก Mode Manual (ถ้าใครชอบใช้) มาเป็น Auto เมื่อควายวิ่งเข้ามาด้วยความเร็ว ให้กดย้ำปุ่มชัดเตอร์เบาๆ ไปเรื่อยๆ เพื่อเป็นการกระตุ้น Continueous Focus ของเลนส์ (โฟกัสต่อเนื่อง) สลับกับการรัวชัตเตอร์ ต่อเนื่องเป็นชุดใน Speed สูงสุดที่กล้องทำได้ ภาพนี้ผมใช้กล้อง Nikon D3 ยิงได้ 11 ภาพต่อวินาที! ไม่มีหลุดโฟกัสเลยสักภาพเดียว!
การแข่งขันวิ่งควายเมืองชล แบ่งเป็นหลายรุ่นหลายประเภทนะครับ ไล่ตั้งแต่ควายซุปเปอร์จิ๋ว, ควายรุ่นจิ๋วพิเศษ, ควายรุ่นจิ๋วเล็ก, ควายรุ่นจิ๋วใหญ่, ควายรุ่นใหญ่ ฯลฯ ที่เห็นเขาโง้งๆ ยังกับวงเดือน ตัวดำขลับคล้ายกระทิงขนาดนี้ ขอบอกได้เลยว่าเป็นประเภทใหญ่สุด Super Heavy Weight ตัวใหญ่สุด เวลาควายวิ่งกันไม่คิดชีวิตแบบนี้ ช่างภาพต้องระวังตัวด้วย คอยหาทางหนีทีไหล่ให้ดี และต้องยืนอยู่ในจุดปลอดภัยด้วยครับ
จ็อกกี้ควายปีนี้ มีเด็กสุดอายุแค่สิบกว่าขวบ แต่แรงจริง ขอบอก ชนะแล้วชนะอีก โตขึ้นต้องรุ่งแน่น้อง! ขนาดผู้ใหญ่ยังอายเลย
น้องควายเผือก (อีสานเรียก “ควายด่อน”) แสนน่ารัก ขนจะเป็นสีขาวหรือสีชมพูเรื่อๆ เขาว่าเกิดจากการผ่าเหล่าทางพันธุกรรม จึงทำให้ขนไม่เป็นสีดำหรือน้ำตาลเข้มเหมือนพ่อแม่
คุณลุงเป็นคนบ้านบึงแท้ๆ เกิดในชลบุรีแท้ๆ ทำนามาหลายชั่วอายุคน วันนี้เอาควายเมืองชลสายพันธุ์แท้มาโชว์อย่างภาคภูมิใจ
ควายเมืองชล หรือควายพันธุ์ชลบุรีแท้ๆ จะมีลักษณะที่เห็นตามในภาพ คือมีร่างกายกำยำล่ำสัน กล้ามเนื้อเป็นมัดๆ สังเกตง่ายๆ ขนตามตัวจะยาวกว่าควายถิ่นอื่น และขนสีดำสนิท เลื่อมเป็นมัน แลคล้ายกระทิง! เจ้าของบอกว่า ถ้าเลี้ยงแบบปล่อยธรรมชาติ ให้นอนเล่นปลักเล่นโคลนตามประสา ขนควายจะยิ่งดำเลื่อมสวยงามมาก นับเป็นเอกลัษณ์ของควายเมืองชล ที่ควรจะช่วยกันอนุรักษ์พันธุ์ไว้ไม่ให้สูญหาย
Special Thanks : ขอขอบคุณ กองประชาสัมพันธ์ในประเทศ ฝ่ายโฆษณาและประชาสัมพันธ์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ ททท. สำนักงานพัทยา (ชลบุรี) สนับสนุนการเดินทางทริปนี้เป็นอย่างดียิ่ง
สอบถามเพิ่มเติม โทร. 0-3842-7667, 0-3842-8750, 0-3842-3990
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!