เที่ยวศรีสะเกษ อาณาเขตแห่งความสุข

“แดนปราสาทขอม หอมกระเทียมดี มีสวนสมเด็จ เขตดงลำดวล หลากล้วนวัฒนธรรม เลิศล้ำสามัคคี” นี่คือคำขวัญประจำจังหวัด “ศรีสะเกษ” หนึ่งในจังหวัดอีสานใต้ ที่สามารถเที่ยวเชื่อมโยงกับจังหวัดสุรินทร์-บุรีรัมย์ ได้อย่างง่ายดาย ที่ผ่านมาศรีสะเกษถูกมองว่าเป็นเมืองรองที่คนผ่านเลย แต่ถ้าใครได้ไปสัมผัสรับรองว่าต้องหลงรักแน่นอน
กลางเมืองศรีสะเกษในวันนี้ มีวงเวียน “อนุสาวรีย์แม่ศรีสระผม” เป็นสัญลักษณ์สื่อถึงที่มาของชื่อจังหวัดได้อย่างดี โดยตำนานหนึ่งเล่าว่า พระยาแกรกเจ้าเมืองเขมรพบเนื้อคู่เป็นธิดาเจ้าเมืองลาว ชื่อพระนางศรี ต่อมาพระยาแกรกเดินทางกลับเขมรทิ้งนางศรีไว้ที่เมืองลาว พระนางศรีจึงออกเสด็จตามพระสวามีไปขณะที่ยังทรงพระครรภ์ ระหว่างเดินทางทรงพบทำเลแห่งหนึ่งเป็นสระน้ำใส พระนางจึงได้ประสูติพระโอรส และทรงชำระล้างพระวรกายที่นี่ สระนั้นจึงได้ชื่อว่า “ศรีสะเกษ” มาจนทุกวันนี้

เดิมศรีษะเกษชื่อ “เมืองขุขันธ์” ได้เจริญสืบเนื่องมาจนกลายเป็นที่อยู่อาศัยของ 4 ชนเผ่า คือ ลาว เขมร กวย และเยอ นับเป็นดินแดนเก่าแก่ที่รุ่มรวยด้วยศิลปะวัฒนธรรม และมีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ให้ชมมากมายศรีสะเกษมีแหล่งท่องเที่ยว Unseen อีสาน อยู่แห่งหนึ่งซึ่งไม่ควรพลาดชมด้วยประการทั้งปวง คือ “วัดป่าศรีมงคลรัตนาราม” อยู่ที่บ้านสิม หมู่ 8  ตำบลโคกจาน อำเภออุทุมพรพิสัย วัดนี้มีความพิเศษสุดๆ เพราะภายในวิหารหลักมีการสร้างเป็นถ้ำวังบาดาลของพญานาค ที่อยู่เคียงคู่คุ้มครองและคอยค้ำจุนพระพุทธศาสนา ด้วยความศรัทธาเลื่อมใสในคำสอนของพระพุทธองค์มาแต่ครั้งพุทธกาล นอกจากองค์พระประธานสีขาวผ่องน่าเลื่อมใสควรค่าแก่การกราบไหว้แล้ว เรายังได้ตื่นตากับความวิจิตรอลังการของสถาปัตยกรรม และความเพียรของช่างที่เนรมิตให้เกิดถ้ำวังบาดาลจำลอง เต็มไปด้วยหินงอกหินย้อยน้อยใหญ่ประดับไฟแสงสีต่างๆ อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ อีกทั้งยังมีรูปปั้นพญานาคราชหลายตนเลื้อยพันอยู่ตามส่วนต่างๆ ของโถงถ้ำด้วยความละเอียดประณีตของรูปปั้นพญานาคาราชในวัดป่าศรีมงคลรัตนาราม ทำให้รูปปั้นเหล่านี้เหมือนมีชีวิตจริงๆ พุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธา หลั่งไหลกันเข้ามาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัดป่าศรีมงคลรัตนาราม นับพันนับหมื่นคนทุกวัน
ภายในวัดป่าศีมงคลรัตนาราม ยังมีองค์พระปางสมาธิขนาดมหึมาประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง ให้เราได้สักการะด้วย เดินทางต่อไปในดินแดนที่อวลด้วนกลิ่นอายพระพุทธศาสนาอันร่มเย็นของศรีสะเกษ ณ “วัดสระกำแพงใหญ่” ตำบลสระกำแพงใหญ่ อำเภออุทุมพรพิสัย ชื่นชมพระอารามโอ่โถงงามตา อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของโบราณสถานสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในเขตอีสานใต้ คือ “ปราสาทสระกำแพงใหญ่” ปราสาทสระกำแพงใหญ่เป็นปราสาทลึกลับ ที่ยังไม่รู้วันเดือนปีที่สร้าง แต่ก็คงความสำคัญในฐานะเทวสถานพราหมณ์ ซึ่งได้กลายเป็นวัดพุทธลัทธิมหายานในกาลต่อมา องค์ประกอบสำคัญของปราสาทมีด้วยกัน 4 ส่วน คือ “บาราย” (สระน้ำ) อยู่ห่างออกไปราว 500 เมตร แต่ปัจจุบันไม่เหลือสภาพแล้ว, ถัดมาคือ “ระเบียงคต” เป็นกำแพงศาสนสถานล้อมรอบสี่ด้าน พร้อมด้วยซุ้มประตูเข้าออก, มี “บรรณาลัย หรือ วิหาร” 2 หลัง ใช้เป็นที่เก็บคัมภีร์ทางศาสนา ซึ่งถือว่าสำคัญไม่น้อยกว่ารูปเคารพ, และส่วนสุดท้าย คือ “ปรางค์” สร้างด้วยหินศิลาแลง 4 หลังเมื่อปี พ.ศ. 2532 มีการค้นพบปฏิมากรรมสำริดกะไหล่ทอง ขนาดใหญ่ สูง 140 เซนติเมตร ซึ่งนักโบราณคดีสันนิษฐานว่าเป็นรูปของ นันทิเกศวร หรือ นันทีศวร  ซึ่งปัจจุบันได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมายแล้วปราสาทสระกำแพงใหญ่ ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2478ภายในวัดสระกำแพงใหญ่ ยังมีวิหารต่างๆ ให้เข้าไปกราบไหว้ และเก็บภาพพุทธศิลป์งามล้ำอีกนับไม่ถ้วน องค์พระประธานสไตล์พม่าในวัดสระกำแพงใหญ่ จำลองแบบมาจากพระมหามัยมุนี หุ้มทองคำน่าเลื่อมในศรัทธา โบราณสถานสำคัญอีกแห่งหนึ่งของศรีสะเกษ คือ “ปราสาทบ้านปราสาท” ตั้งอยู่ที่หมู่ 12 วัดปราสาทพนาราม บ้านปราสาท อำเภอห้วยทับทัน แม้จะมีขนาดไม่ใหญ่โต ทว่าก็เป็นปราสาทขอมที่สวยงามไม่แพ้ที่ใดๆ สร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 16 สมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ตัวปราสาทมีปรางค์อิฐ 3 องค์ ใช้ประดิษฐานเทพตรีมูรติ คือ พระพรหม (ผู้สร้าง) พระวิษณุ (ผู้ปกป้องรักษา) และพระศิวะ (ผู้ทำลายเพื่อการเกิดใหม่) ทุกปีในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 จะมีงานไหว้พระธาตุที่นี่ด้วย
ศรีสะเกษเป็นเมืองเกษตร ซึ่งปลูกพืชผักผลได้หลากหลายไม่แพ้จังหวัดใดๆ ในเมืองไทย พูดแบบนี้ไม่ได้โม้! เพราะเขามีทั้งสุดยอดทุเรียน สุดยอดกระเทียม สุดยอดไม้มะดัน และพืชผักผลไม้อีกนานาชนิด จึงมี “ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ” ของกรมวิชาการเกษตร ตั้งอยู่ นอกจากจะเป็นแหล่งศึกษาวิจัยพืชพรรณใหม่ๆ แล้ว ยังเป็น แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Agro-Tourism) ที่น่าสนใจมาก เพราะมีดอกไม้สวยๆ ผลไม้อร่อยๆ และเส้นทางปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพพร้อมสรรพ สุขใจเมื่อได้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติที่ ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษอาหารในเมืองศรีสะเกษ เป็นเสน่ห์อีกอย่างที่ช่วยเติมเต็มการท่องเที่ยวของเราให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น จากเช้าจรดค่ำจึงมีเมนูอร่อยๆ ให้เลือกชิมกันเพียบ เริ่มตั้งแต่มื้อเช้าที่ “ร้านจรวด” (โทร. 08-4833-9099) ตั้งอยู่ที่วงเวียนแม่ศรี ติดทางเข้าวัดพระโต ในเทศบาลเมืองศรีสะเกษเลยร้านจรวด เปิดตั้งแต่เวลา 6.00-14.00 น.ทุกวัน เน้นขายอาหารเช้าหลากหลายเมนู Signature ของร้าน คือ โจ๊กต่างๆ กินคู่กับชากาแฟ ไข่กระทะ และปาท่องโก๋ ทำให้ร้านนี้มีชื่อเสียงมานาน ได้ชิมทีไรอิ่มทั้งใจอิ่มทั้งท้องเมนูเด็ดอีกอย่างของร้านจรวดที่คนสั่งกันเยอะ คือ เนื้อปลากะพงลวกจิ้ม และข้าวต้มปลากะพง มีน้ำจิ้มเต้าเจี้ยวกินคู่กัน เนื้อปลาจัดว่าสด นุ่มละลายในปาก ถ้าจานเดียวไม่พอ ก็ต่อจานสองได้เลยจ้าร้านอาหารอีกแห่งที่ทำให้ศรีสะเกษวันนี้ดูมีสีสันขึ้นอย่างผิดหูผิดตาก็คือ “Cafe De Tree”  ร้านน่านั่งที่ตกแต่งด้วยสไตล์วินเทจย้อนยุคแบบยุโรป พร้อมด้วยอาหารคาวหวาน เค้กอร่อยๆ และเครื่องดื่มหนักเบาครบครัน อีกทั้งยังเหมาะกับคนชอบถ่ายภาพเป็นที่สุด เพราะมีมุมกิ๊ปเก๋ให้ชักภาพกันได้ไม่หยุด
ร้าน Cafe De Tree เปิดตั้งแต่เวลา 7.00-22.00 น. ติดต่อโทร. 08-1280-8388
ร้านอาหารไทยพื้นบ้าน ที่มีชื่อเสียงน่าไปลิ้มลองแห่งหนึ่งในอำเภอเมืองศรีสะเกษ คือ “ร้านสีเขียว” อยู่เลขที่ 54/831 หมู่ 10 ถนนมหาราช เทศบาลเมืองศรีสะเกษ เปิดเวลา 10.00-22.00 น. ร้านสีเขียวเปิดมากว่า 30 ปีแล้ว เจ้าของ คือ คุณป้าพวงแก้ว อาชวินรุจิรดา (ป้าเขียว) ซึ่งได้แนะนำว่าเมนูที่ใครมาร้านต้องสั่งมาทาน คือเมนูเด็ด 5 จาน ได้แก่ 1. แจ่วฮ้อน 2. อุหน่อไม้สด 3. ป่นปลาทู 4. ปลาเนื้ออ่อนนึ่งแจ่ว และ 5. ออร์เดิร์ฟอีสาน

อย่างเมนู ปลาเนื้ออ่อนนึ่งแจ่ว จะใช้เฉพาะปลาเนื้ออ่อนสดๆ จากแม่น้ำ ทานคู่กับเครื่องเคียง คือ ดอกแค บวบ ฟักทอง และดอกสลิด ในจังหวัดศรีสะเกษมีร้านสีเขียวแห่งเดียวที่ขายเมนูนี้ เพราะเป็นปลาหายากและราคาแพงนั่นเองอุหน่อไม้สด แบบพื้นบ้านแท้ๆเมี่ยงคำในแก้วช๊อตน่ารักๆ กินพอดีคำ เรียกน้ำย่อยได้ดีเยี่ยมป่นปลาทู กินคู่กับผักดองและผักสดต่างๆออร์เดิร์ฟอีสาน เหมาะทานเล่นเรียกน้ำย่อย คู่กับเครื่องดื่มที่เราชอบปิดท้ายทริปศรีสะเกษสุดอิ่มแปล้กันที่ร้านอาหารพื้นบ้านขึ้นชื่อลือชาในอำเภอห้วยทับทัน “กี่ไก่ย่าง” พิเศษที่เป็นไก่ย่างไม้มะดัน ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือนแน่นอน ไก่ย่างไม้มะดันห้วยทับทัน ทำจากไก่พื้นเมืองสามสายเลือด ใช้ไม้มะดันเป็นไม้เสียบไก่ รสชาติจึงออกเปรี้ยวหวานพอเหมาะเข้ากับสูตรเครื่องปรุง เนื่องจากเมื่อปิ้งไฟได้ความร้อนกำลังดี ความเปรี้ยวหวานของไม้มะดันจะซึมซาบเข้าสู่เนื้อไก่ ทำให้ได้รสชาติเป็นเอกลักษณ์มาก จะกินเปล่าๆ หรือกินคู่กับน้ำจิ้มแจ่วรสเด็ด ก็อร่อยเหาะไปเลยจ้าสอบถามเพิ่มเติม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานศรีสะเกษ-สุรินทร์ โทร. 0-4451-4447-8

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *