TOP 22 of Pakistan, Once in a Lifetime!

ปากีสถาน (Pakistan) หนึ่งในดินแดนแห่ง Dreams Destination ที่ใครหลายคนฝันถึง ว่าสักวันจะได้ไปเยือน! เพราะถ้าสำรวจลงลึกจริงๆ แล้ว ปากีสถานคือประเทศที่รุ่มรวยด้วยอารยธรรมมานานหลายพันปี ด้วยจุดที่ตั้งอยู่ในตำแหน่งสำคัญยิ่งยวด เป็นจุดกึ่งกลางเชื่อมโลกตะวันออก-ตะวันตกบนเส้นทางสายไหมโบราณ (Ancient Silk Road) ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นถนนสาย Karakoram Highway ยาว 1,300 กิโลเมตร เชื่อมจีน-ปากีสถาน นำเราย้อนกลับไปสู่อู่อารยธรรม ที่ยังคงมีลมหายใจ อวลด้วยกลิ่นอายเสน่ห์ และรอยยิ้มของผู้คนที่เป็นมิตร

1. Faisal Mosque, Islamabad (มัสยิดไฟซาล ศูนย์รวมใจชาวปากีสถาน, อิสลามาบัต)

แหล่งท่องเที่ยวอันเป็น Landmark สำคัญที่สุดในกรุงอิสลามาบัต เมืองหลวงของปากีสถาน ก็คือ ‘มัสยิดไฟซาล’ เปรียบเสมือนมัสยิดกลางของประเทศ ที่พี่น้องชาวมุสลิมเข้ามาใช้ประกอบศาสนกิจ มัสยิดแห่งนี้เปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อปี ค.ศ. 1987 ออกทุนสร้างโดยกษัตริย์ซาอุดิอาระเบีย King Faisal จึงนำพระนามของพระองค์ใช้เป็นชื่อมัสยิดแห่งนี้ โดยใช้นายช่างชาวตุรกีออกแบบ ให้เป็นทรงเต็นท์ 8 เหลี่ยม ของชาวเบดูอิน หรือพวกเร่ร่อนซึ่งมาถึงบริเวณนี้เป็นพวกแรก มัสยิดไฟซาลมีความใหญ่โตโอฬารมาก ภายในจุคนได้ถึง 100,000 คน และบริเวณรอบนอกจุได้อีกกว่า 200,000 คน และมีเสามินาเร็ท (หอขาน) 4 ต้น ขนาบสี่มุม สูงต้นละ 79 เมตร ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวไปชมเป็นจำนวนมากแทบทุกวัน โดยการเข้าชมควรแต่งกายสุภาพ มิดชิด ไม่ส่งเสียงดัง และก่อนถ่ายภาพทุกครั้งควรขออนุญาตก่อน
2. Daman-e-Koh, Islamabad (ดามาน-อี-โกท จุดชมวิวพาโนรามาเหนืออิสลามาบัต)

จุดชมวิว Daman-e-Koh ป็นจุดชมวิวกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา ตั้งอยู่บนเทือกเขา Margalla Hills ทางตอนเหนือของกรุงอิสลามาบัต เมืองหลวงของปากีสถาน ยอดเขานี้สูงขึ้นมาจากตัวเมืองกว่า 500 ฟุต ทำให้เราชมวิวได้แบบสุดสายตาพาโนรามา แลเห็นทุ่งราบกว้างไกล และตัวเมืองที่แทบจะไม่มีตึกสูงระฟ้า ยกเว้นโรงแรมหรือห้างสรรพสินค้าบางแห่ง บนยอดเขานี้อากาศสดชื่นเย็นสบาย มีสวนร่มรื่น และม้านั่งให้พักผ่อนด้วย แต่ต้องคอยระวังพวกลิงที่อาจเข้ามาทักทายเราเป็นบางครั้งบางคราว จึงควรเก็บสิ่งของให้มิดชิดด้วยล่ะ
3. Taxila (เมืองเก่าตักศิลา มหานครแห่งศิลปะวิทยาการของโลกยุคโบราณในชมพูทวีป)

ตักศิลา หรือชื่อเดิม ตักสะสิลา คือเมืองโบราณอายุกว่า 3,500 ปี ที่เคยรุ่งเรืองถึงขีดสุดในแง่ของการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกๆ ของโลก รวมถึงยังเคยเป็นแคว้นที่เคยมีพระพุทธศาสนาเฟื่องฟูอย่างยิ่งในอดีตกาล เพราะตักศิลาคือ 1 ใน 16 แคว้นของชมพูทวีปโบราณ ที่เป็นศูนย์รวมของสรรพวิชาการต่างๆ ผู้คนจากทั้งเอเชียและยุโรปในยุคนั้น จึงส่งลูกหลานมาศึกษาหาความรู้กันที่นี่ กับอาจารย์ซึ่งเรียกว่า ‘ทิศาปาโมกข์’ จากหลักฐานการขุดค้นพบว่าเมืองตักศิลาแห่งแรกมีอายุย้อนไปได้กว่า 1,000 ปี ก่อนคริสตกาล และมีการสร้างซ่อมบูรณะซ้อนทับกันมาหลายยุคสมัย สำหรับซากตัวเมืองเก่าตักศิลาที่เห็นในปัจจุบัน สร้างขึ้นโดยชาว Bactrian-Greek ซึ่งเป็นทหารของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ที่เคยกรีฑาทัพผ่านมาในบริเวณเมื่อปีที่ 3 ก่อนคริสตกาล ส่วนหนึ่งได้ตั้งรกรากอยู่ที่นี่ แล้วนำศิลปะแบบกรีกเข้ามาผสมผสานกับเอเชีย จนเกิดเป็น ‘ศิลปะแบบคันธาระ’ ขึ้นในที่สุด (พระพุทธรูปสไตล์คันธาระ พระพักตร์จะเหมือนใบหน้าคนกรีกยุคโบราณ)

กล่าวกันว่าตักศิลาคือมหาวิทยาลัยที่สอนความรู้ในทางโลกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกยุคโบราณ ควบคู่กับมหาวิทยาลัยนาลันทา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกยุคนั้นเช่นเดียวกัน (อยู่ทางอินเดียตะวันออก) บุคคลสำคัญผู้เคยไปศึกษาที่เมืองตักศิลา เช่น พระเจ้าปเสนทิโกศล, หมอชีวกโกมาภัจจ์, องคุลีมาล รวมถึงเจ้าชายสิทธัตถะ ด้วย เมืองตักศิลารุ่งเรืองอยู่นานด้วยการสนับสนุนจากกษัตริย์ผู้ครองแคว้นที่นับถือพุทธ และรุ่งเรืองสุดขีดในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ทรงสร้างเจดีย์และวัดต่างๆ ขึ้นอย่างมากมาย จนกระทั่งศตวรรษที่ 5 พวกฮั่นขาว (White Huns) ซึ่งเป็นนักรบจีนมองโกลเผ่าหนึ่งจากเอเชียกลาง ก็ได้เข้าเผาทำลายเมืองตักศิลาจนราบเป็นหน้ากลอง เหลือไว้เพียงซากโบราณสถานและพิพิธภัณฑ์ให้เราไปรำลึกความหลังในปัจจุบัน โดยเมืองโบราณนี้ตั้งอยู่ห่างจากกรุงอิสลามาบัต ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ 32 กิโลเมตร ผ่านถนน Grand Trunk (GT Road) 4. Karakoram Highway : KKH (คาราโครัมไ​ฮเวย์ ถนนบนหลังคาโลกเชื่อมตะวันออกตะวันตกเป็นหนึ่งเดียว)

คาราโครัมไฮเวย์ ได้รับสมญานามว่าเป็น ‘สิ่งมหัศจรรย์อันดับ 8 ของโลก’ เพราะมันคือหนึ่งในถนนบนหลังคาโลก ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่สูงเกือบ 5,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล โดยสร้างขนานไปกับเส้นทางสายไหมโบราณ หรือ Ancient Silk Road เชื่อมโลกตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกัน คาราโครัมไฮเวย์มีความยาวประมาณ 1,300 กิโลเมตร สร้างขึ้นภายใต้ความร่วมมือของรัฐบาลปากีสถานและรัฐบาลจีน ที่มีแผนจะเปิดการค้าขายกันเต็มรูปแบบในอนาคตอันใกล้ โดยใช้ถนนสายนี้ขนส่งสินค้าและผู้คน แต่กว่าจะสร้างเสร็จก็ยากลำบากอย่างยิ่ง เพราะต้องสังเวยชีวิตคนงานก่อสร้างไปหลายร้อยคนเลย

คาราโครัมไฮเวย์ในเขตปากีสถาน มีระยะทางยาว 887 กิโลเมตร ส่วนในประเทศจีนยาว 413 กิโลเมตร ส่วนที่อยู่ในปากีสถานเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า China-Pakistan Friendship Highway หรือทางหลวงหมายเลข 35 (N-35) นั่นเอง มันเป็นถนนที่มีสภาพค่อนข้างดีเยี่ยม ผ่านภูมิประเทศหลากหลาย ทั้งที่ราบ แม่น้ำ หุบเขา และเทือกเขาหิมะสูงสลับซับซ้อน โดยเฉพาะที่ Khunjrab Pass สูง 4,735 เมตร เป็นจุดเชื่อมต่อพรมแดนปากีสถาน-จีน ในแคว้นซินเจียง และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เส้นทางสายคาราโครัมไฮเวย์ในเขตปากีสถานผ่านสถานที่น่าสนใจนับไม่ถ้วน อาทิ เส้นทางสายไหมโบราณ, จุดที่สองทวีปชนกันจนเกิดเทือกเขาหิมาลัย, ธารน้ำแข็งต่างๆ, หมู่บ้านและป้อมโบราณอายุนับพันปี ฯลฯ แต่สภาพรถที่จะใช้วิ่งบนเส้นทางนี้ควรตรวจเช็คให้ดีเยี่ยม เพราะบางช่วงถนนชันและคดเคี้ยว ส่วนผู้เดินทางอาจเกิดภาวะแพ้ความสูงเฉียบพลัน หรือ Acute Mountain Sickness (AMS) ได้ โดยเฉพาะที่บริเวณ Khunjerab Pass อาการคือปวดหัว คลื่นไส้ แน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย วิธีป้องกันคืออย่าเคลื่อนไหวเร็ว งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดบุหรี่ ดื่มน้ำอุ่น สูดอากาศบริสุทธิ์ ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น ให้รีบพักผ่อนแล้วลงสู่พื้นที่ตำกว่า
5. Khunjerab Pass, Karakoram Highway (จุดเชื่อมต่อคาราโครัมไฮเวย์ปากีสถานเข้าสู่แดนมังกร)

Khunjerab Pass คือยอดเขาส่วนสูงที่สุดของถนนสายคาราโครัมไฮเวย์ คือสูงกว่า 4,735 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ถือเป็นหนึ่งในถนนที่สูงที่สุดในโลก ซึ่งรถยนต์สามารถพาเราขึ้นไปถึงได้อย่างสบาย โดยจุดนี้จริงๆ แล้ว คือด่านพรมแดนกั้นปากีสถาน-จีน ออกจากกัน ในฝั่งปากีสถานคือแคว้น Gilgit-Baltistan ของเมือง Hunza-Nagar ส่วนฝั่งจีนคือแคว้นซินเจียง เรียกว่าทางหลวงสาย China National Highway 314 (G314) ซึ่งสามารถเดินทางต่ออีก 420 กิโลเมตร ก็ถึงเมืองคัชการ์ (Kashgar) และอีก 1,890 กิโลเมตร ก็ถึงเมืองอูรูมูฉี (Urumqi) ที่จุดนี้เอง รถจากปากีสถานซึ่งขับชิดซ้าย เมื่อข้ามพรมแดนเข้าเขตจีนแล้ว ก็จะต้องเปลี่ยนไปขับชิดขวา

เนื่องจากบริเวณ Khunjerab Pass เป็นถนนส่วนที่สูงที่สุดของคาราโครัมไฮเวย์ อากาศจึงหนาวเย็นจับขั้วหัวใจตลอดปี บางวันลมแรงมาก ใครจะไปเที่ยวต้องเตรียมอุปกรณ์กันหนาวไปให้เต็มอัตราศึกเลยนะ และโดยปกติจะใช้เวลา 1 วันเต็มในการเดินทางไปกลับ รับรองว่าตลอดทางจะได้ชมภูมิประเทศภูเขา โตรกผา ทุ่งหิมะ และสัตว์ป่าบางชนิด เช่น Golden Marmot เป็นกระรอกดินขนาดใหญ่จำพวกหนึ่ง ขุดโพรงอยู่ในดิน และชอบแอบขึ้นมาดูรถที่วิ่งผ่านไปมา รวมถึงถ้าโชคดีสุดๆ ก็จะพบ Himalayan Ibex สัตว์กีบจำพวกแพะภูเขาที่หายาก ตัวผู้มีเขาโง้งยาวสวยงามมาก เป็นต้น การขับรถเที่ยวชมธรรมชาติสู่ Khunjerab Pass ไปตาม Karakoran Highway จึงเป็นเรื่องน่าสนุก น่าตื่นเต้น ในทุกวินาที เพราะจะมอบประสบการณ์สุดพิเศษให้เราจดจำไปตลอดชีวิตแน่นอน
6. Continents Collided Point (จุดที่สองแผ่นเปลือกโลกชนกันจนเกิดเทือกเขาหิมาลัย, Karakoran Highway)

เมื่อขับรถอยู่บนคาราโครัมไฮเวย์ ระหว่างทางจากเมือง Gilgit มุ่งหน้าเมือง Hunza จะผ่านจุดที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในทางภูมิศาสตร์ ซึ่งใครหลายคนอยากไปเห็นสักครั้งกับตาตัวเอง! นั่นคือ จุดที่เมื่อ 55 ล้านปีก่อน อนุทวีปอินเดีย (Indian Plate) ได้เคลื่อนเข้าชนกับแผ่นทวีปยูเรเซีย (Urasian Plate) จากนั้นแผ่นอนุทวีปอินเดียก็มุดตัวลง พร้อมกับเคลื่อนที่ไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ก่อให้เกิดแรงเค้นมหาศาลสุดประมาณ ดันให้เปลือกโลกยูเรเซียส่วนนี้ค่อยๆ สูงขึ้น จนกลายเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน พุ่งทะยานสูงขึ้นไปในอากาศเกือบ 9 กิโลเมตร ทั้งในส่วนของเทือกเขาหิมาลัย, ยอดเขาเอเวอร์เรสต์, ยอดเขาต่างๆ ในเนปาล รวมถึงเทือกเขาทั้งหมดในภาคเหนือของปากีสถานด้วย โดยเฉพาะในแคว้น Gilgit-Baltistan บริเวณเมือง Hunza-Nagar ต่างก็ตั้งอยู่บนแผ่นเปลือกโลกเดียวกันทั้งหมด

ที่สำคัญคือ ปัจจุบันนี้อนุทวีปอินเดียยังไม่หยุดเคลื่อนที่ ยอดเขาต่างๆ ดังกล่าวจึงยังคงสูงขึ้นทุกวันๆ ค่าเฉลี่ยสูงขึ้นประมาณ 7 มิลลิเมตร/ปี เทือกเขาหิมาลัย และภูเขาต่างๆ ในปากีสถาน จึงเป็นเทือกเขาที่ในทางภูมิศาสตร์ถือว่ายังมีอายุน้อยมากเพียง 55 ล้านปี (เมื่อเทียบกับอายุของโลกคือประมาณ 4,500 ล้านปี) และยังสูงขึ้นไม่หยุดหย่อน! โดยปากีสถานเองก็มียอดเขาสูงเกิน 8,000 เมตร ที่สำคัญอยู่ถึง 5 ยอด คือ K2 (8,611 เมตร) Nanga Parbat (8,126 เมตร) Broad Peak (8,051 เมตร) Gasherbrum-I (8,068 เมตร) และ Gasherbrum-II (8,036 เมตร)
7. Ancient Silk Road, Karakoram Highway (เส้นทางสายไหมโบราณ, คาราโครัมไฮเวย์)

เส้นทางสายไหม หรือ Silk Road เป็นเส้นทางสำหรับติดต่อค้าขายของคนในโลกยุคโบราณ โดยมีทั้งเส้นทางสายไหมทางบกและทางทะเล แถมยังแตกเป็นเส้นทางสายย่อยๆ มากมายนับไม่ถ้วน แต่เส้นทางสายหลักเริ่มต้นจากกรุงปักกิ่งในสมัยราชวงศ์ฮั่น เมื่อประมาณ 114 ปี ก่อนคริสตกาล จุดประสงค์เพื่อใช้ค้าขายเป็นสำคัญ เส้นทางสายนี้เชื่อมตั้งแต่ประเทศจีน ผ่านเอเชียกลาง เข้าสู่ปากีสถาน (คือเส้นทางสายไหมสายตะวันตก) ไปยังอัฟกานิสถาน อิหร่าน ถึงเอเชียตะวันตก แล้วข้ามเรือไปสู่อิตาลี จนถึงกรุงโรมในที่สุด นับเป็นเส้นทางที่ทำให้เกิดการติดต่อสื่อสาร และหล่อหลอมผู้คนทั้งโลกเข้าด้วยกัน

เส้นทางสายไหมดั้งเดิมที่ว่านั้น ยังคงมีส่วนให้เห็นได้บนถนนสาย Karakoram Highway ช่วงจากเมือง Gilgit ไปเมือง Hunza ในปากีสถาน ด้านซ้ายมือบนเชิงผาอันแห้งแล้งมีแต่แผ่นหิน เราจะพบแนวเส้นทางเดินแคบๆ เลาะเลียบหน้าผาเป็นแนวยาวเหยียด นี่คือ Ancient Silk Road สายดั้งเดิม ที่เคยใช้กันมานานหลายพันปี ซึ่งชาวปากีสถานเรียกว่า ‘Kinu Kutto’  มันมีขนาดเพียงให้ขบวนคาราวานม้า ลา ล่อ และอูฐ รวมถึงผู้คนเดินสัญจรผ่านไปมาเท่านั้น (เทียบได้กับขนาดพอให้รถจี๊ปวิ่งได้แค่คันเดียว) จนกระทั่งล่วงเข้ายุคปัจจุบัน มีการสร้างถนนสาย Karakoram Highway เส้นทางสายไหมโบราณนี้จึงเลิกใช้กันไปโดยปริยาย โดยเมื่อปี ค.ศ.​ 2004 รัฐบาลนอร์เวย์ ร่วมกับรัฐบาลของเมือง Hunza-Nagar ได้ทำการบูรณะเส้นทางสายไหมโบราณบางช่วงขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์ทางโบราณคดีไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ว่าครั้งหนึ่งมันเคยรุ่งเรืองเพียงไร8. Sacred Rocks of Hunza (หินศักดิ์สิทธิ์ ร่องรอยภาพเขียนสีศตวรรษที่ 1 เมืองฮุนซา)

หินศักดิ์สิทธิ์แห่งเมืองฮุนซา เป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับชาวพุทธ เพราะเคยเป็นจุดแวะพักของนักแสวงบุญชาวพุทธ ในเขตหุบเขาฮุนซา ทางด้านชายฝั่งตะวันออกของแม่น้ำฮุนซา ซึ่งก็คือส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมยุคโบราณ เมื่อพวกเขาแวะพักที่บริเวณนี้ ก็ได้มีการขุดเจาะถ้ำ รวมถึงปลูกเพิงพักไว้ในบริเวณรอบๆ อีกทั้งมีการแกะสลักลายลงบนแผ่นผาโล่งเลี่ยน เพื่อเป็นบันทึกเรื่องราวหรืออนุสรณ์ โดยภาพสลักหลายร้อยภาพเหล่านี้ มีอายุย้อนไปได้ถึงศตวรรษที่ 1 เลยทีเดียว หินศักดิ์สิทธิ์นี้มีขนาดใหญ่โตจนคล้ายเนินย่อมๆ ลูกหนึ่ง สูงประมาณ 30 ฟุต และยาวกว่า 200 หลา โดยแบ่งร่องรอยออกเป็น 2 กลุ่มด้วยกัน คือกลุ่มด้านบน เป็นจำหลักภาษาพราหมี กล่าวถึงกษัตริย์ในยุคต่างๆ ส่วนลายจำหลักกลุ่มล่าง เป็นรูปฝูง Ibex หรือแพะภูเขา ที่มีเขาโง้งยาว รวมถึงมีรูปคนใส่ชุด Ibex และเจดีย์ทรงทิเบต ปรากฏอยู่ด้วย นับเป็นแหล่งโบราณคดีอันล้ำค่ายิ่ง

ปัจจุบันหินศักดิ์สิทธิ์นี้ตั้งอยู่ริมถนนสาย Karakoram Highway ในเมือง Karimabad โดยจากจุดนี้มองข้ามแม่น้ำ Hunza ไป บนภูเขาจะแลเห็นป้อม Baltit Fort และ Altit Fort รวมถึงยอดเขา Ladayfinger ทรงแหลมแปลกตา เป็นฉากหลังอย่างสวยงามมาก 9. Altit Fort and Baltit Fort, Hunza (ป้อมอัลติท และป้อมบัลติท เมืองฮุนซา)

ในบรรดาโบราณสถานที่เก่าแก่และสำคัญของแคว้น Gilgit-Baltistan ต้องถือว่า ‘ป้อม Altit’ แห่งเมืองฮุนซามีความเก่าแก่ที่สุด เพราะมีอายุกว่า 1,100 ปีแล้ว พอๆ กับหมู่บ้าน Altit ในหุบเขาฮุนซา ซึ่งเป็นหมู่บ้านแรกของแคว้นนี้ และเชื่อกันว่าสืบเชื้อสายมาจากชนเผ่า White Huns ซึ่งก็คือลูกหลานของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชแห่งมาซีโดเนีย (กรีก) ครั้งยาตราทัพข้ามเทือกเขาฮินดูกูช (เทือกเขาที่ขยายต่อจากเทือกเขาคาราโครัมในปากีสถานออกไปในอัฟกานิสถานอีก 800 กิโลเมตร) เข้าสู่ปากีสถาน เพื่อไปตีชมพูทวีป นั่นเอง

ป้อม Altit Fort สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 11 โดยกษัตริย์ผู้ครองแคว้นนี้ ซึ่งใช้คำนำหน้าพระนามว่า Mir อันเป็นคำในภาษาอาหรับ บ่งชี้ว่าศานาอิสลามได้แผ่เข้าสู่ดินแดนนี้แล้วในเวลานั้น จนถึงศตวรรษที่ 15 ศาสนาอิสลาม ก็ได้เข้ามามีอิทธิพลเหนือปากีสถานอย่างเต็มรูปแบบจนถึงปัจจุบัน ป้อมแห่งนี้จึงใช้เป็นที่ประทับของกษัตริย์ ทว่ามองเผินๆ อาจแลคล้ายป้อมของทิเบตหรือภูฏาน สาเหตุคือช่างผู้ออกแบบคือชาวทิเบต โครงสร้างที่ปรากฏออกมาจึงแลคล้าย Dzong (ซอง หรือป้อมปราการ) ของทิเบตด้วย ปัจจุบันป้อมนี้ได้รับการบูรณะโดยกองทุนความร่วมมือของ Aga Khan และรัฐบาลนอร์เวย์ ระหว่างทางขึ้นจะผ่านหมู่บ้านที่มีความสงบร่มรื่น และเคยเป็นหมู่บ้านของคนที่มีอายุยืนที่สุดในโลกด้วย ส่วนบนสุดของภูเขาเป็นตัวป้อม ภายในแบ่งซอยเป็นห้องหับเล็กๆ มากมาย และมองลงมาเห็นแม่น้ำฮุนซา หุบเขา รวมถึงหมู่บ้านที่เก่าแก่กว่า 1,000 ปี
10. Ancient Irrigation Cannel, Karimabad (คลองส่งน้ำโบราณ เมืองคาริมาบัต)

  ในเขตภาคเหนือของแคว้น Gilgit-Baltistan ปากีสถาน อันเป็นดินแดนที่มีแต่ภูเขาสูงสลับซับซ้อนนั้น สิ่งที่ผู้คนต้องการมากที่สุด นอกจากสะพาน ถนน อาหาร และยารักษาโรคแล้ว ‘น้ำ’ ก็คือหนึ่งปัจจัยเพื่อการยังชีพที่สำคัญที่สุด และดูเหมือนธรรมชาติจะเข้าใจ เอื้ออารีย์ให้มีน้ำจากการละลายของธารน้ำแข็งและหิมะ ในช่วงฤดูร้อน ฤดูใบไม้ผลิ และฤดูใบไม้ร่วง ลงสู่ห้วยธารต่างๆ อย่างเพียงพอ ชาวปากีสถานบนภูเขาสูงเข้าใจสิ่งนี้ และสั่งสมภูปัญญาในการผันน้ำจากการละลายของน้ำแข็งดังกล่าว ลงสู่คลองส่งน้ำโบราณ ลักษณะเป็นคลองขุดและคลองจากการกั้นด้วยคันหินให้เป็นแนวยาว เลียบหน้าผา ส่งน้ำลงมาจนถึงตัวหมู่บ้านที่พวกเขาอาศัย ได้กิน ได้ดื่ม ได้อาบ ได้ใช้รดน้ำพืชผักผลไม้ และใช้ทำอาหาร เช่นเดียวกับที่หมู่บ้าน Karimabad ในหุบเขา Hunza ที่ยังมีหลายหมู่บ้านได้ใช้น้ำประปาภูเขาจากธารน้ำแข็งเหล่านี้มาจนถึงปัจจุบัน โดยคลองส่งน้ำจะผ่านไปถึงหน้าบ้าน ให้พวกเขาจัดสรรเวลาใช้งาน ว่าช่วงเวลาใดจะใช้ซักล้าง ช่วงใดใช้ตักไว้เพื่อดื่มกิน ทุกเช้าและเย็น เราจึงเห็นชาวบ้านออกมาที่คลองส่งน้ำนี้อย่างคึกคัก นับเป็นการกินอยู่อย่างเข้าใจธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง
11. Ladyfinger Peak, Hunza, Karimabad (ยอดเขาเลดี้ฟิงเกอร์ ยอดเขาทะลุทะเลเมฆ, เขตฮุนซา เมืองคาริมาบัต)

ยอดเขา Ladyfinger หรือที่ในภาษาอูร์ดู (Urdu) ของปากีสถานเรียกว่า ‘Bubli Motin’ เป็นยอดเขารูปทรงประหลาด สะกดทุกสายตาที่ได้พบเห็นมาตลอดเวลาที่มันยืนตระหง่านทะลุทะเลเมฆอยู่ตรงนั้น ณ เมืองคาริมาบัต ในแคว้นกิลกิต-บัลติสถาน ด้วยรูปทรงแหลมชูชันตั้งขึ้นเหมือนพีระมิดหรือปลายหอก ไม่เคยมีหิมะปกคลุมเลย ในขณะที่เทือกเขาโดยรอบมีหิมะขาวห่มปกเกือบตลอดเวลา ทำให้ยอดเขา Ladyfinger ยิ่งเตะตากว่าใครๆ ตัวของมันเองมีความสูงกว่า 600 เมตร ตั้งอยู่บนระดับความสูงกว่า 6,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล อันเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขา Batura Muztagh ที่แตกตัวออกจากเทือกเขาคาราโครัม ไปทางตะวันตก

ยอดเขานี้มีตำนานรักแสนเศร้าเล่าสืบต่อกันมาหลายร้อยปีกล่าวว่า ในอดีตมีเจ้าชายชื่อ Kisar จากบัลติสถาน ได้มาพบรักและแต่งงานกับเจ้าหญิง Bulbi ที่เมืองฮุนซา แต่ต่อมาพระองค์ได้ข่าวจากบ้านเกิดว่า ชายาองค์แรกของพระองค์ชื่อ Langabrumo ได้ถูกกษัตริย์ต่างเมืองลักพาตัวไป จึงทรงรีบเตรียมตัวไปช่วย ก่อนออกเดินทางได้ทรงนำเจ้าหญิง Bulbi ขึ้นไปประทับอยู่บนภูเขา พร้อมด้วยประทานไก่และเมล็ดพืชไว้ให้ โดยรับสั่งว่าทุกปีให้ป้อนเมล็ดพืชหนึ่งเมล็ดแก่ไก่ เมื่อใดที่เมล็ดพืชหมดถุง เมื่อนั้นจะทรงกลับมา! แต่พระองค์ก็ไม่เคยกลับมาเลย และเชื่อกันว่าเจ้าหญิง Bulbi ก็ยังคงรอคอยเจ้าชายอยู่บนยอดเขา Ladyfinger แห่งนี้12. Hoper Glacier, Nagar Valler, Hunza, Gilgit-Baltistan (ธารน้ำแข็งโฮเปอร์, หุบเขาเนเกอร์ แคว้นกิลกิต-บัลติสถาน หนึ่งในธารน้ำแข็งเคลื่อนตัวเร็วที่สุดในโลก!

หนึ่งในสถานที่น่าตื่นตะลึงที่สุดทางธรรมชาติของปากีสถานภาคเหนือ ซึ่งเราไม่ควรพลาดชมด้วยประการทั้งปวง คือ ‘ธารน้ำแข็งโฮเปอร์’ หรือ Hoper Glacier (ป้ายบางที่สะกด Hopar บางที่สะกด Hopper) เพราะนี่คือธารน้ำแข็งที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุดแห่งหนึ่งด้วยการนั่งรถยนต์จากเมือง Hunza ข้ามแม่น้ำฮุนซาเข้าสู่เขตหุบเขา Nagar จากนั้นขับรถเลาะเลียบไปตามแม่น้ำเนเกอร์อีกราวๆ ชั่วโมงครึ่ง แล้วเดินขึ้นเขาไปอีกนิดเดียว ก็จะถึงจุดชมวิวธารน้ำแข็งโฮเปอร์แล้ว นี่คือธารน้ำแข็งอายุกว่า 100,000 ปี ที่ยังจับตัวเป็นน้ำแข็งอยู่ชั่วนาตาปี มันมีขนาดมหึมามาก และเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา

นักธรณีวิทยาได้เคยมาทำการศึกษาการเคลื่อนตัวของธารน้ำแข็ง Hoper  เมื่อปี ค.ศ. 1987 ปรากฏว่ามันเคลื่อนตัวได้เร็วถึง 110 ฟุต ในเวลาแค่ 3 เดือน จึงกลายเป็นหนึ่งในธารน้ำแข็งเคลื่อนตัวได้เร็วที่สุดในโลก แต่ก็เป็นที่หวั่นวิตกกันว่า หากภาวะโลกร้อนยังไม่ทุเลาเบาบางลง ภายในปี ค.ศ. 2035 ธารน้ำแข็งนี้อาจหดตัวจนแทบหายไปเลย! และชาวปากีสถานส่วนใหญ่ที่ใช้น้ำจืดจากการละลายของน้ำแข็ง อาจต้องประสบภาวะขาดน้ำก็เป็นได้ 13. Passu Bridge, Hunza (สะพานแขวนร้อยปี เมืองพัสสุ เขตฮุนซา)

ในบรรดาสะพานแขวนทั่วปากีสถาน คงไม่มีที่ใดจะมีชื่อเสียงโด่งดังเท่ากับ ‘สะพานแขวนพัสสุ’ (Passu Bridge) หรือ ‘สะพานฮุซไซนี’ (Hussani Bridge) เพราะนี่คือสะพานแขวนอายุเป็นร้อยปี ที่มีลักษณะน่าหวาดเสียวที่สุด และเคยกล่าวขานกันว่าเป็นสะพานแขวนสำหรับคนเดินที่อันตรายที่สุดในโลก! ฉายานี้อาจฟังน่ากลัว เพราะมันเคยพังมาแล้วไม่รู้กี่รอบ แต่ก็ได้รับการซ่อมแซมขึ้นใหม่ทุกครั้งจากชาวบ้าน ที่ใช้เดินสัญจรข้ามไปมาระหว่างหมู่บ้านฮุซไซนีสองฝั่งทะเลสาบอริท (Borith Lake) ในเมือง Passu เขตฮุนซา ที่ว่าอันตรายเพราะพื้นสะพานใช้การเรียงท่อนไม้แบบห่างๆ กัน ไม่ได้เรียงชิดติดกัน จึงมีช่องว่างขนาดใหญ่ให้ใจหวิวเล่นขณะเดินข้ามไป มองเห็นสายน้ำไหลอยู่ด้านล่างเรา มีเพียงคนใจกล้าเท่านั้นที่จะเดินข้ามสะพานแขวนแห่งนี้ไปได้จนสุดทาง!

เมื่อไม่นานมานี้นิตยสาร National Geographic ได้ส่งช่างภาพชื่อ Kieron Nelson ไปถ่ายภาพสะพานแขวนนี้ ซึ่งเขาเองก็เขียนลงในคำบรรยายภาพว่า “In northern Pakistan’s Hunza region, travelers cross what’s often called the most dangerous bridge in the world: the Hussaini Hanging Bridge, which looks almost as unforgiving as the landscape around it. The bridge is extremely old and very narrow, situated high above Borith Lake, it is missing many of the original wooden planks.”
14. Borith Lake, Gulmit, Hunza Valley, Gilgit-Baltistan (ทะเลสาบบอริท, เมืองกุลมิต หุบเขาฮุนซา, แคว้นกิลกิต-บัลติสถาน)

ทะเลสาบอริท เป็นทะเลสาบสวยงามและมีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งในภาคเหนือของปากีสถาน โดยเฉพาะช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน ซึ่งน่าไปเยือนที่สุด เพราะนอกจากจะมีน้ำสีเขียวอมฟ้าแบบเทอร์ควอยต์เต็มเปี่ยมอิ่มเอมแล้ว ยังมีห่านป่าและเป็ดป่านับหมื่นตัวบินอพยพมาหากินจากภาคใต้ของปากีสถานด้วย ตัวทะเลสาบบอริทเป็นน้ำกร่อย ตั้งอยู่บนความสูงประมาณ 2,600 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล จึงมีอากาศค่อนข้างเย็นสบายตลอดปี ส่วนการเข้าถึงทะเลสาบก็ง่ายนิดเดียว เพราะปัจจุบันมีทางรถจี๊ป ระยะทาง 2 กิโลเมตร จากหมู่บ้านฮุซไซนี (Husseini Village) ขึ้นเขามาจนถึงทะเลสาบ ซึ่งมีที่พักเป็นโรงแรมเล็กๆ น่ารักอยู่ริมทะเลสาบด้วย แต่คนที่ยังแข็งแรง และรักการผจญภัยกลางแจ้ง ก็อาจะเดินเทรกกิ้งนาน 2-3 ชั่วโมง ขึ้นมาจากหมู่บ้านกุลคิน (Ghulkin Village) ได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีเส้นทางเดินเทรกกิ้งจากทะเลสาบบอริท ไปสู่ธารน้ำแข็ง Ghulkin Glacier และ Passu Gar Glacier ได้ด้วย โดยต้องติดต่อไกด์ท้องถิ่นให้นำทางไปจะสะดวกและปลอดภัยสุด
15. Batura Glacier, Passu, Gilgit-Baltistan (ธารน้ำแข็งบาทูร่า, เมืองพัสสุ แคว้นกิลกิต-บัลติสถาน)

มันคือธารน้ำแข็งยาว 57 กิโลเมตร กว้างถึง 285 กิโลเมตร นับเป็นธารน้ำแข็งยาวอันดับ 5 ของโลก นอกเขตขั้วโลก โดยธารน้ำแข็งนี้ตั้งอยู่ระหว่างเทือกเขาใหญ่ 2 แห่ง คือเทือกเขา Batura สูง 7,795 เมตร และเทือกเขา Passu สูงกว่า 7,500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ธารน้ำแข็งบาทูร่าไหลจากทิศตะวันตกไปทางตะวันออก มันพัดพาตะกอนจำนวนมหาศาลลงไปด้วย ก่อให้เกิดหุบเขาสีเทาอันอุดมสมบูรณ์ที่มีพืชหลายชนิดใช้หล่อเลี้ยงปศุสัตว์ได้ นอกจากนี้ยังมีทะเลสาบสีเทอร์ควอยต์ขนาดเล็กอันเกิดจากการละลายของมัน กระจายอยู่ทั่วไปด้วย 16. Rakaposhi View Point, Nagar (จุดชมวิวราคาโปซี, เขตเมืองเนเกอร์)

บนถนนสาย Karakoram Highway อันน่าตื่นตาตื่นใจไปด้วยภูมิประเทศสุดตระการตา ช่วงระหว่างเมือง Gilgit สู่ Hunza ตรงจุดครึ่งทาง นักขับรถและนักเดินทางมักแวะพักเติมพลัง หรือยืดเส้นยืดสายคลายความอ่อนล้ากันที่ ‘จุดชมวิวราคาโปซี’ หรือ Rakaposhi View Point ซึ่งมีทั้งที่จอดรถ ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก ที่พัก รวมถึงเส้นทางเดินเลียบธารน้ำใสไหลเย็น อันเกิดจากการละลายของธารน้ำแข็งบนยอดเขาสูงลิบ นั่นคือ ‘ยอดเขาราคาโปซี’ (Rakaposhi Peak) ยอดเขาสูงอันดับ 27 ของโลก ที่ครองความสูงกว่า 7,788 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ระหว่างที่เราหยุดรถแวะพัก จีงได้ชมยอดเขายิ่งใหญ่นี้อยู่ใกล้แค่เอื้อม

จุดที่ร้านอาหารตั้งอยู่ คือระดับความสูงประมาณ 1,950 เมตรจากระดับน้ำทะเล ยอดเขาราคาโปซี และธารน้ำแข็ง Ghulmet Glacier จึงอยู่สูงจากเราขึ้นไปกว่า 6,000 เมตร และอยู่ห่างจากเราเป็นระยะทางกว่า 11 กิโลเมตร ทว่าด้วยขนาดอันใหญ่โตสุดอลังการของมัน เทือกเขาที่เห็นตรงหน้าจึงมิได้ลดทอนขนาดของมันลงไปเลยแม้แต่น้อย! ความพยายามในการพิชิตยอดเขาราคาโปซีเริ่มขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1938 แต่ก็มาประสบความสำเร็จครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1958 โดยทีมนักปีนเขาร่วมของปากีสถาน-อังกฤษ ผ่านขึ้นไปตามเส้นทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของยอดเขา สู่ส่วนที่เรียกว่า Monk’s Head และทีมถัดมาก็ขึ้นถึงยอดเขาได้อีกในปี ค.ศ. 1979 ครั้งนี้เป็นทีมนักปีนเขาร่วมระหว่างปากีสถาน-โปแลนด์ นับเป็นการนำชาวปากีสถานคนแรกขึ้นสู่ยอดเขาได้สำเร็จ ผ่านเส้นทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งถือว่ายากที่สุด!
17. Attabad Tunnels, Karakoram Highway (อุโมงค์อัตตาบัต อุโมงค์ยาวที่สุดในปากีสถาน, คาราโครัมไฮเวย์)

บนเส้นทางถนนสาย Karakoram Highway หรือ KKH ระหว่างเมือง Passu ขึ้นไปถึงยอดเขา Khunjerab Pass ที่ชายแดนปากีสถาน-จีน ระหว่างทางจะผ่านถนนช่วงที่ถือว่าน่าตื่นเต้นที่สุดช่วงหนึ่ง คือ ‘อุโมงค์อัตตาบัต’  เป็นอุโมงค์ยาวที่สุดในปากีสถาน ด้วยความยาวรวมกว่า 7 กิโลเมตร เชื่อมต่อด้วยอุโมงค์ถึง 5 ช่วง คือส่วนหนึ่งของทางหลวงสาย Karakoram Highway ที่ได้รับการซ่อมสร้างขึ้นใหม่ล่าสุด ยาว 24 กิโลเมตร จากเหตุการณ์ดินถล่มครั้งใหญ่จนทำให้ถนนเสียหาย รวมถึงยังเป็นเส้นทางที่สร้างขึ้นทดแทนถนนสายเดิมที่ถูกทะเลสาบอัตตาบัต (Attabad Lake) ท่วมทับไป

ภายในอุโมงค์อัตตาบัตมีไฟส่องสว่างและแผ่นสะท้อนแสงอย่างดี ถนนแบ่งเป็น 2 เลน วิ่งสวนทางกัน โดยต้องขับรถวิ่งชิดซ้ายตามกฎจราจรของปากีสถาน (เหมือนไทย) และควรจำกัดความเร็วไม่เกิน 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อความปลอดภัย รัฐบาลปากีสถานหวังว่า อุโมงค์อัตตาบัตจะกลายเป็นความหวังใหม่ในการท่องเที่ยว และการขนส่งเพื่อค้าขายกับจีน ผ่านทาง Karakoram Highway นั่นเอง

18. Attabad Lake, Gojal Valley, Hunza, Karakoram Highway (ทะเลสาบอัตตาบัต, หุบเขาโกจัล เมืองฮุนซา, เส้นทางสายคาราโครัมไฮเวย์)

การขับรถเที่ยวบนเส้นทางสาย Karakoram Highway หรือ KKH ของปากีสถาน นอกจากจะได้ชื่นชมกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของผู้คนชนเผ่าต่างๆ แล้ว ความยิ่งใหญ่ตระการตาของธรรมชาติ ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นเสมือนของรางวัลอันล้ำค่าให้ชีวิต เมื่อขับรถผ่านเมือง Hunza มุ่งหน้าสู่เมือง Passu และยอดเขา Khunjerab Pass ระหว่างทางจะผ่านทะเลสาบขนาดมหึมาที่มีแผ่นน้ำสีเขียวอมฟ้าเทอร์ควอยต์ เรียบนิ่งสนิทราวกับกระจกบานใหญ่ สะท้อนภาพขุนเขาและท้องฟ้าเบื้องบนลงมาเป็นภาพเสมือนจริงจนงามราวภาพฝัน ที่นั่นคือ ‘ทะเลสาบอัตตาบัต’ (Attabad Lake หรือ Gojal Lake) ที่เกิดจากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ปิดกั้นแม่น้ำ Hunza เมื่อปี ค.ศ. 2010 โดยก่อนหน้านี้มักเกิดดินพังถล่มทับเส้นทางถนนและแม่น้ำ รัฐบาลปากีสถานจึงสร้างเขื่อนแห่งนี้ขึ้นเพื่อแก้ปัญหา จนทะเลสาบอัตตาบัตกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตในปัจจุบัน

ทะเลสาบอัตตาบัตมีความยาวถึง 21 กิโลเมตร เลียบขนานไปกับถนนคาราโครัมไฮเวย์ ตัวทะเลสาบมีความลึกถึง 109 เมตร และจุน้ำได้มากกว่า 410,000,000  ลูกบาศก์เมตร นอกจากการชมวิวธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ตระการตาที่มีเทือกเขาขนาดมหึมาโอบล้อมทะเลสาบไว้แล้ว ยังมีกิจกรรมล่องเรือชมธรรมชาติด้วย โดยมีเรือไว้บริการมากมาย
19. Gilgit Barzar (ตลาดเมืองกิลกิต)

กิลกิต คือเมืองหลวงของแคว้น Gilgit-Baltistan ทางภาคเหนือของปากีสถาน ตัวเมืองตั้งอยู่บนจุดบรรจบของแม่น้ำ Gilgit และแม่น้ำ Hunza ตัวเมืองจึงเติบโตทอดขนานไปกับแม่น้ำที่ให้ความชุ่มฉ่ำแก่ชีวิต นักเดินทางในภาคเหนือของปากีสถานส่วนมากเริ่มต้นทริปกันที่เมืองนี้ โดยเฉพาะนักเดินเขาและนักปีนเขาที่มุ่งหน้าสู่เทือกเขาคาราโครัม และถนนสายคาราโครัมไฮเวย์สู่ชายแดนจีนที่ Khunjerab Pass ซึ่งก็คือส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมโบรารณนั่นเอง เมือง Gilgit จึงมีเสน่ห์มาถึงปัจจุบัน ยิ่งถ้าเราได้ไปเดินเที่ยวชมตลาดด้วยแล้ว ก็จะเข้าใจถึงวิถีชีวิตการกินอยู่ที่แท้จริงของชาวเมือง ได้เห็นอาหาร พืชผักผลไม้ ผ้าทอ สร้อยคอหินสี สินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงนิสัยใจคอของผู้คน ที่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยรอยยิ้ม นี่คือน้ำใจไมตรีของคนปากีสถานซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วไม่แพ้คนชาติใดในโลกเลย

20. Gilgit Old Bridge (สะพานไม้เมืองกิลกิต)

เมืองกิลกิต (Gilgit) เป็นเมืองใหญ่และสำคัญมากเมืองหนึ่งในภาคเหนือของปากีสถาน เพราะถือเป็นเมืองชุมทางของถนนหลายๆ สายที่มาพบกันของแคว้น Gilgit-Baltistan อีกทั้งยังมีสนามบินด้วย คนที่เดินทางมาจากเมืองหลวงคืออิสลามาบัต จึงต้องใช้เมืองกิลกิตเป็นเสมือนประตูสู่ภาคเหนือของประเทศนี้ ตัวเมืองกิลกิตตั้งอยู่บนที่ราบสูง เต็มไปด้วยเนินและที่ราบ มีบ้านเรือนและร้านรวงเรียงรายเต็มไปด้วยชีวิตชีวา และเมื่อเดินผ่านตลาดใหญ่ไปจนถึงริมแม่น้ำกิลกิตแล้ว ก็จะพบกับ ‘สะพานแขวนโบราณ’ ที่ชาวเมืองยังคงใช้งานกันอยู่ สะพานนี้ทอดข้ามแม่น้ำกิลกิตที่ถือว่าเป็นแควสายหนึ่งของแม่น้ำสินธุ (Indus River) แม่น้ำสายสำคัญของชมพูทวีป โดยเมื่อไหลผ่านตัวเมืองกิลกิตขึ้นทางทิศเหนือแล้ว ก็จะไปบรรจบกับแม่น้ำสินธุที่เมืองเล็กๆ ชื่อ Juglot

สะพานแขวนโบราณแห่งนี้ถือเป็นสิ่งก่อสร้างที่อยู่คู่เมืองกิลกิตมานาน ถ่ายภาพได้สวยในหลายมุม และเมื่อเดินไปถึงกลางสะพานแล้ว ก็จะมองเห็นวิวแม่น้ำกิลกิตได้กว้างไกล ชัดเจนเต็มตา

21. Phandar Lake, Phandar Valley, Ghizer District, Gilgit-Baltistan (ทะเลสาบแพนเดอร์, หุบเขาแพนเดอร์, เมือง Gahkuch)

ทะเลสาบแพนเดอร์ เป็นทะเลสาบสีฟ้าครามอันสวยงาม อาบอิ่มด้วยธรรมชาติ ทอดตัวอยู่อย่างนิ่งสงบในหุบเขาแพนเดอร์ ตำบลไกเซอร์ ทางด้านเกือบจะตะวันตกสุดของแคว้นกิลกิต-บัลติสถาน ซึ่งถ้าเดินทางต่อไปอีกไม่ไกล ก็จะถึงชายแดนอัฟกานิสถานแล้ว ชาวบ้านในแถบนั้นเรียกทะเลสาบแพนเดอร์ในอีกชื่อหนึ่งว่า Nango Chatt มันเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่มีความสำคัญมาก เพราะผู้คนได้อาศัยน้ำนี้ในการอุปโภคบริโภค โดยตัวทะเลสาบรับน้ำหลักๆ มาจากแม่น้ำไกเซอร์ ทะเลสาบมีความลึกสุดถึง 44 เมตร ยาว 900 เมตร และกว้าง 460 เมตร ทัศนียภาพโดยรอบโปร่งโล่งสบาย มีต้นไม้ขึ้นอยู่เป็นทิวตามชายฝั่ง ทำให้กลายเป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญ และมีนักถ่ายภาพเดินทางไปเยือนจำนวนมาก

การเดินทางมาที่ทะเลสาบแพนเดอร์ หากเริ่มต้นที่เมือง Gilgit ก็ต้องนั่งรถเลาะเลียบแม่น้ำ Gilgit ซึ่งขนานกับเทือกเขาฮินดูกูชไปทางตะวันตกสู่เมือง Gupis ประมาณ 112 กิโลเมตร เมื่อถึง Gupis แล้ว ต้องขับรถต่อไปอีกราวๆ 2 ชั่วโมง ก็จะถึงตัวทะเลสาบ ซึ่งมีทางเดินโดยรอบ แสงสวยทั้งในเวลาเช้า เย็น ส่วนช่วงกลางวันแดดอาจจะร้อนหน่อย แต่ก็ได้รสชาติในการเดินทางดีไปอีกแบบ รวมถึงวิวทิวทัศน์ระหว่างทางก็น่าตื่นตาสุดๆ
22. Kargah Buddha, Gilgit (พระยืนคาร์กาห์, เมืองกิลกิต)

ในบรรดาร่องรอยของพระพุทธศาสนาที่เคยรุ่งเรืองเฟื่องฟูในดินแดนปากีสถานครั้งอดีต ดูเหมือนว่า ‘พระยืนคาร์กาห์แห่งเมืองกิลกิต’ จะเป็นหนึ่งในแหล่งที่มีชื่อเสียงไม่น้อย เพราะแม้จะมีขนาดเล็ก แต่ก็ยังมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นประจักษ์พยานสำคัญของการตั้งมั่นแห่งพระพุทธศาสนาในดินแดนจุดเชื่อมต่อเอเชีย-ยุโรป ระหว่างเส้นทางสายไหมของปากีสถานนี้

พระยืนคาร์กาห์อยู่ห่างจากตัวเมืองกิลกิตไปราวๆ 10 กิโลเมตร ใกล้บริเวณที่เรียกว่า Kargah Nallah หรือหุบเขาคาร์กาห์ นั่นเอง องค์พระยืนได้รับการจำหลักขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 7 ในลักษณะแบบนูนต่ำสูง 50 ฟุต ปรากฏเด่นอยู่บนหน้าผาหินตั้งชัน อยู่สูงจากพื้นเบื้องล่างนับร้อยฟุต โดยเพิ่งค้นพบเมื่อปี ค.ศ. 1938-1939 ในการตามรอยบันทึกเก่าแก่ของเมืองกิลกิต ทั้งนี้ห่างจากองค์พระขึ้นไปตามแม่น้ำอีก 400 เมตร จะพบกับสถูปอีก 3 องค์ด้วย ในบันทึกกล่าวว่าเหตุที่ต้องสร้างองค์พระยืนคาร์กาห์ขึ้น ก็เพื่อขับไล่นางยักษิณีตนหนึ่ง ซึ่งเคยสิงสู่อยู่ในแถบหุบเขาคาร์กาห์นี้!
Special Thanks : บริษัท Prima Connection สนับสนุนและอำนวยความสะดวก ในการเดินทางทำสารคดีเรื่องนี้อย่างดีเยี่ยม
สนใจเดินทางท่องเที่ยวปากีสถาน กับผู้เชี่ยวชาญระดับมืออาชีพ ติดต่อ บริษัท Prima Connection 506/25 ถนนประชาอุทิศ แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กทม. 10310

โทร. 0-2158-9158 Fax 0-2158-9159 มือถือ 08-9885-8998

www.primaconnection.com 

www.primaconnection.com/ทัวร์ปากีสถาน/

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *