Passport น่าน PLUS แพร่ 12 เมืองต้องห้ามพลาด (ตอน 4)
วันสุดท้ายของการท่องเที่ยวในแคมเปญ Passport น่าน Plus แพร่ ของ ททท. สำนักงานแพร่ ทำให้เรารู้สึกใจหาย เพราะหลายวันที่ผ่านมาเราได้สัมผัสเรื่องราวน่ารู้ และสถานที่ท่องเที่ยวอันหลากหลายเหลือเกิน จนทำให้รู้สึกว่า เราได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของล้านนาถิ่นนี้ไปแล้ว!
ยามเช้าอากาศสดชื่น เราขับรถจากที่โรงแรม Come Moon Loft ผ่านชุมชนเชตวัน ตรงไปสุดที่ริมแม่น้ำยม จนได้พบกับแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่ง คือ “โรงเรียนป่าไม้แพร่ (เดิม)” ซึ่งเป็นอาคารสถาปัตยกรรมไม้สัก แกะสลักลวดลายแบบขนมปังขิงอย่างสวยงามตามแฟชั่นนิยมสมัยรัชกาลที่ 5 โดยอาคารโบราณหลังนี้แท้จริงแล้วเคยเป็นที่ทำการของ บริษัท อีส ทีค (East Asia Teak) ซึ่งเข้ามาสัมปทานทำไม้สักในภาคเหนือของสยามนั่นเอง
ภายในอาคารด้านล่าง มีนิทรรศการเล็กๆ ให้ชม บอกเล่าเรื่องราวกิจการทำไม้สักในจังหวัดแพร่ ซึ่งกลายเป็นต้นกำเนิดของการจัดตั้งกรมป่าไม้ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยอธิบดีกรมป่าไม้คนแรกของสยามเป็นฝรั่งชื่อ เอช. เอ. สเลด (H.A. Slade) เป็นเจ้ากรมระหว่างปี พ.ศ.2439-2444
ภาพที่หาชมไม่ได้อีกแล้ว! เป็นการล่องไม้ซุงนับพันๆ หมื่นๆ ท่อนลงมาตามลำน้ำยม เพื่อลงไปรวมไว้ที่จังหวัดนครสวรรค์ แล้วส่งออกไปต่างประเทศ กิจการสัมปทานทำไม้ในอดีตนั่นเองคือส่วนหนึ่งที่ทำให้หัวเมืองทางเหนือของสยามร่ำรวยมหาศาล! ทว่าในขณะเดียวกันป่าไม้ธรรมชาติก็หดหายไปจนน่าใจหายเช่นกัน!
จากป่าไม้ที่สยามเคยมีกว่า 80 เปอร์เซนต์ของเนื้อที่ประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5 ทุกวันนี้เราเหลือป่าไม้แค่ 30 เปอร์เซนต์เท่านั้น! งั้นคงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทำไมเมืองไทยอากาศจึงได้ร้อนนัก!!!
ไม่ไกลจากโรงเรียนป่าไม้แพร่ (เดิม) เราขับรถสูดอากาศยามเช้าเย็นสบายหลังฝนตกใหม่ๆ ไปเที่ยวต่อกันที่ “บ้านประทับใจ” ตำบลป่าแมต อำเภอเมืองแพร่ ตั้งอยู่ริมถนนสายแพร่-ลอง (ทางหลวงหมายเลข 1023) โทร. 0-5452-2245, 08-9851-2981
เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น. ค่าเข้าชม คนไทย 40 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท
ลวดลายแกะสลักไม้สักทองอันประณีตงดงาม ที่หน้าจั่วบ้านประทับใจ สะท้อนถึงฝีมือเชิงช่างไม้ชั้นยอดของคนล้านนา ที่สามารถเนรมิตไม้สักให้กลายเป็นลวดลายอันวิจิตรพิสดารได้ถึงเพียงนี้!
จุดเด่นของบ้านประทับใจ คือมีเสาไม้สักทองกว่า 130 ต้น ซึ่งแต่ละต้นมีอายุกว่า 300 ปี เส้นรอบวง 2-3 คนโอบ! ที่รองรับน้ำหนักทั้งหมดของตัวบ้านขนาดใหญ่เอาไว้ โดยบ้านหลังนี้เป็นเรือนไทยประยุกต์หลังคาสูง ต่อเนื่องกันถึง 3 หลัง มีหน้าจั่วแบบกาแล สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2515
โคนเสาไม้สักทองแต่ละต้นที่บ้านประทับใจ มีการแกะสลักเป็นลวดลายต่างๆ อย่างงดงาม เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับป่าไม้ ช้าง การทำไม้ซุง และวิถีชีวิตของชาวแพร่ในอดีต
ที่ชั้นล่างของบ้าน มีการนำข้าวของเครื่องใช้ของคนแพร่ในอดีตมาจัดแสดงไว้ให้ชมด้วย
บนชั้นสองของบ้านประทับใจ มีพื้นที่กว้างขวางใหญ่โตมาก ส่วนหนึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของเจ้าบ้าน และอีกส่วนเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเครื่องเรือนที่ทำด้วยไม้สักทองทั้งหมด อลังการมาก!
เครื่องเล่นแผ่นเสียงโบราณ จัดแสดงให้ชมบนชั้นสองของบ้านประทับใจ
จากบ้านประทับใจ เราขับรถออกไปนอกเมือง ตามถนนที่มุ่งหน้าตรงสู่พระธาตุช่อแฮ (ทางหลวงหมายเลข 1022) พอดีระหว่างทาง เหลือบไปเห็นทางซ้ายมือมีป้าย “ร้าน API ” (อภิ) ก็เลยต้องรีบชะลอรถ เลี้ยวเข้าไปซะหน่อย เพราะที่นี่เป็นจุดประทับตรา Passport ของ ททท.
ร้าน API จริงๆ หาง่ายมาก อยู่ทางไปวัดพระธาตุช่อแฮ ติดกับปั๊มน้ำมัน PT ป่าแดง ถ้ามาจากตัวเมืองแพร่ ร้านอยู่ฝั่งซ้ายมือ จอดรถได้ทั้งด้านข้างและด้านหน้าริมถนน
ชื่อร้าน API จริงๆ แล้วมาจากชื่อ คุณเบล อภิสิทธิ์ เจ้าของร้าน ซึ่งปัจจุบันเปิดมาได้ครบหนึ่งขวบปีแล้ว มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก ทั้งในเรื่องของกาแฟหอมอร่อย และเบเกอร์รี่ Home Made ทำเองสดอร่อยทุกวัน จากฝีมือเจ้าของร้านเลยล่ะ
ประทับตราในสมุด Passport ของเรา ที่ร้าน API
ภายในร้าน API ออกแบบตกแต่งให้ดูโปร่งโล่งสบายตา โต๊ะเก้าอี้มีวางไม่แน่นจนเกินไป ผนังด้านหน้าและด้านข้างร้านเป็นประจกใส แลโปร่งดี ส่วนฝาผนังแบบปูนเปลือยและอิฐมอญก็ช่วยให้หรูเรียบ ตามมาด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้อย่างดี ที่ลงทุนไปไม่น้อย สร้างสรรค์ให้บรรยากาศน่านั่งชิลกันนานๆ ได้ไม่เบื่อเลย
นับเป็นจุดแวะแห่งใหม่บนเส้นทางไปพระธาตุช่อแฮ ที่แนะนำเลยว่า ต้องไม่พลาด!
ร้าน API มีเมนูเครื่องดื่มและเค้กอร่อยๆ ให้เลือกชิมมากมาย
ด้านหน้าร้าน API เป็นกระจกใสแลโปร่งสบายตา เชิญชวนให้เราเข้าไปลิ้มลองกาแฟหอมกรุ่น
ครัวซองต์เนยสดของร้าน API สุดยอดมากๆ! ทั้งเนื้อนุ่ม ทั้งหอมกรุ่น ได้กินตอนร้อนๆ เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอมจ้า
ชีสเค้ก ของร้าน API เนื้อนุ่มแน่นกำลังดี กลิ่นหอมติดจมูกติดลิ้น แถมรสชาติก็หวานกำลังดีด้วย
เมื่อเต็มอิ่มกับกาแฟร้าน API แล้ว ก็ขับรถตรงต่อไปอีกแค่ไม่กี่กิโลเมตร ในที่สุดเราก็มาถึง “วัดพระธาตุช่อแฮพระอารามหลวง” อันเป็นสถานที่ประดิษฐานองค์พระธาตุช่อแฮ พระธาตุประจำคนเกิดปีเสือ (ปีขาล)
นับเป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองแพร่มาช้านาน สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.1879-1881 สมัยพระมหาธรรมราชาธิราช (ลิไท) โดยขุนลั๊วะอ้ายก้อม ใช้ประดิษฐานพระเกศาธาตุและพระบรมสารีริกธาตุพระศอกซ้ายของพระพุทธเจ้า ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองศิลปะเชียงแสน สีทองอร่าม งดงามจับใจมาก
ภายในพระอุโบสถวัดพระธาตุช่อแฮ บางเดือนก็จะมีการจัดพิธีสะเดาะเคราะห์ต่อชะตาแบบล้านนาด้วย
ห่างจากพระธาตุช่อแฮไม่ไกล คือที่ตั้งของ “วัดพระธาตุดอยเล็ง” ซึ่งถือเป็นจุดชมวิวเมืองแพร่จากมุมสูงอันตระการตา โดยคำว่า เล็ง เป็นภาษาถิ่นเหนือ ตรงกับภาษากลางหมายถึง จ้อง มอง ดู นั่นเอง เส้นสีขาวที่เห็นในภาพคือบันไดเดินขึ้นเขา!!! แต่ไม่ต้องตกใจ ใครเดินไม่ไหว รถยนต์ก็ขึ้นถึงจ้า โอว โล่งอก!
จากตีนเขามีถนนสองเลนแคบๆ ขึ้นไปถึงยอดเขา อันเป็นที่ประดิษฐานองค์พระธาตุดอยเล็ง อย่าลืมเปลี่ยนมาใช้เกียร์ต่ำด้วยรถยนต์จะได้มีแรง เพราะทางบางช่วงค่อนข้างชันทีเดียว
จุดชมวิวแรกของพระธาตุดอยเล็ง อยู่ทางด้านซ้ายมือขณะขับรถขึ้นเขา
บันไดวัดใจสำหรับเดินขึ้นไปนมัสการพระธาตุดอยเล็ง
ตรงใกล้ถึงยอดเขา มีลานจอดรถ และบันไดแค่ 97 ขั้น ให้เดินออกำลังกาย ขึ้นไปกราบขอพรพระธาตุดอยเล็ง
พระธาตุดอยเล็ง ถือเป็นพระธาตุที่ตั้งอยู่สูงสุดในบรรดาพระธาตุทั้งหมดของจังหวัดแพร่
ขึ้นมาถึงยอดเขาแล้ว ก็ต้องกราบพระขอพรกันหน่อยล่ะ
จากพระธาตุดอยเล็ง มองลงไปเห็นที่ตั้งของวัดพระธาตุช่อแฮด้วย
จากบนยอดเขาที่ประดิษฐานพระธาตุดอยเล็ง มองเห็นวิวได้กว้างไกลแบบสุดสายตาพาโนรามาเลยล่ะ โดยเราจะมองเห็นได้ไกลถึง 3 อำเภอ คือ อำเภอสูงเม่น อำเภอร้องกวาง และอำเภอเมืองแพร่
ในช่วงบ่ายของวันนั้น ก่อนบินกลับบ้าน เราใช้เวลาขับรถเที่ยวชมวิวไปจนถึงอำเภอลอง เพื่อตามหาจุดประทับตราสุดท้ายในสมุด Passport ของเราที่ “ร้านกาแฟแห่ระเบิด” (โทร. 08-9485-1978)
ร้านกาแฟแห่ระเบิด อำเภอลอง มีกิมมิคสุดเท่ห์เป็นลูกระเบิดขนาดใหญ่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แขวนไว้เป็นสัญลักษณ์เรียกแขก ฮาฮาฮา แต่ไม่ต้องกลัว ข้างในไม่มีดินระเบิดอยู่แล้ว
ร้านนี้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในเรื่องเครื่องดื่มอร่อย และยังเป็น Art Gallery อีกด้วย ร้านสร้างด้วยไม้ ตกแต่งอย่างสวยงาม มีลูกเล่น โดยนำเรื่องราวของ “คนแพร่แห่ระเบิด” มาเป็นจุดขาย เพราะแพร่เป็นจุดที่ถูกเครื่องบินรบอเมริกันทิ้งระเบิดเยอะมากสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทว่าระเบิดส่วนหนึ่งด้าน ไม่ระเบิด ชาวบ้านจึงเก็บมาถอดดินปืนออก แล้วแห่นำไปถวายวัดเพื่อใช้ทำระฆังซะเลย!!!
ทริปกิน เที่ยว เลี้ยวลดสัมผัสเรื่องราวสนุกๆ ของ น่าน แพร่ สองจังหวัดสุดเจ๋งแห่งล้านนาตะวันออก ของเราจบลงตรงนี้ แต่ความประทับใจในน้ำใจไมตรีของคนน่าน แพร่ ก็ยังตรึงอยู่ในใจเราเสมอ วิถีชีวิตที่ยังคงเนิบช้า ธรรมชาติที่ยังคงอาบอิ่ม และวัฒนธรรมที่ยังคงมีลมหายใจของทั้งสองจังหวัดนี้ คือเสน่ห์เมืองเหนือที่ห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง
และตอนนี้ ก็ได้เวลานำสมุด Passport ของเรา ไปขอรับของรางวัลที่ ททท. สำนักงานแพร่ แล้วล่ะจ้า ฮาฮาฮา
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานแพร่ น่าน อุตรดิตถ์ โทร. 0-5452-1127
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!