Passport น่าน PLUS แพร่ 12 เมืองต้องห้ามพลาด (ตอน 3)
วันที่สามของการเดินทางท่องเที่ยว ตามแคมเปญ Passport น่าน Plus แพร่ 12 เมืองต้องห้ามพลาดพลัส ของ ททท. สำนักงานแพร่ ยังมีอีกหลายจุดหมายปลายทางรอเราอยู่ นี่จึงเป็นอีกหนึ่งวันอันน่าจดจำสำหรับคนชอบเที่ยว อยู่ไม่ติดบ้านอย่างพวกเรา ฮาฮาฮา
เราเริ่มทักทาย ทำความรู้จักเมืองแพร่กับแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์สำคัญที่ “คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่” (โทร. 0-5452-4158, 0-5453-2485-8) เปิดให้ชมเวลา 08.30-16.30 น. ทุกวัน
คุ้มแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ถนนคุ้มเดิม (หน้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่) สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2435 โดยเจ้าหลวงพิริยะชัยเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองเมืองแพร่องค์สุดท้าย โดยอาคารหลังนี้สร้างอย่างโอ่โถง มีประตูหน้าต่างรวมกันมากถึง 72 บาน งดงามด้วยศิลปกรรมไม้ฉลุ ตัวอาคารไม่มีการฝังเสาเข็มเลยสักนิดเดียว แต่ใช้ไม้ซุงท่อนเป็นไม้เนื้อแข็งวางเป็นฐานรากแทน!
คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ จัดแบ่งห้องภายในให้ชมอย่างเป็นระเบียบ สวยงาม ทั้งห้องนอน, ห้องอาหาร, ห้องรับแขก, ห้องจัดแสดงอาวุธ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีส่วนจัดแสดงประวัติของ “เจ้าแม่บัวไหล” พระชายาในเจ้าพิริยเทพวงษ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่องค์ที่ 22 และเป็นแม่เจ้าหลวงแห่งนครแพร่ด้วย โดยเจ้าแม่บัวไหลเป็นผู้ที่มีความสามารถด้านการเย็บปักถักร้อยมาก ได้ปักผ้าม่าน หมอนขวาน รวมถึงผ้าคลุมรถดิ้นทองผืนแรกของสยาม ถวายรัชกาลที่ 5 เป็นที่โปรดปรานมาก
ตัวเมืองแพร่นั้นไม่ใหญ่โต จึงขับรถวนเที่ยวได้สบาย เข้าซอยโน้นออกซอยนี้ พอเที่ยวคุ้มเจ้าหลวงเสร็จ ก็มุ่งหน้าต่อไปยังบ้านวงศ์บุรี แต่ก่อนถึงเราขอแวะดื่มกาแฟหอมกรุ่นกันก่อน ที่ “ร้านเณอบาร์ Coffee & Cake” ถนนคำลือ (โทร. 08-6922-3899) โดยร้านนี้ เป็นจุดประทับตราใน Passport ททท. ด้วย
ร้านเณอบาร์ หรือ Je Bar เป็นภาษาฝรั่งเศส แปลว่า “บาร์ของฉัน”
ประทับ Passport กันไปพร้อมรอยยิ้ม
มุมเล็กๆ ในช่วงเวลาน่าจดจำที่ร้านเณอบาร์
มีมุมเก๋ไก๋ น่ารัก ให้เลือกมากมายตามใจชอบ ทั้งในห้องแอร์ และด้านนอก
นอกจากกาแฟรสนุ่มกลมกล่อมแล้ว ร้านเณอบาร์ยังมีเบเกอร์รี่สดใหม่ให้ชิมทุกวันด้วยนะ
การชงกาแฟให้อร่อย คือศิลปะชั้นสูงอย่างหนึ่ง จริงไหม?
กาแฟเย็น และเค้กช็อกโกแลต ที่หน้าตาดูดีมาก เช่นเดียวกับรสชาติที่ไม่หวานเกินไป ลงตัวดีจริง
เค้กหน้าผลไม้ใหม่สดทุกวัน ที่ร้านเณอบาร์ แพร่
เค้กของร้านเณอบาร์ น่าหม่ำมากๆ
เค้กช็อกโกแลตร้านเณอบาร์ ไม่ได้ลองจะเสียใจ!
จากร้านเณอบาร์ เดินไปแค่ไม่กี่สิบเมตร ก็ถึง “บ้านวงศ์บุรี” ถนนคำลือ (โทร. 0-5462-0153) เรือนไม้ลายฉลุสุดอลังการ ในสไตล์ขนมปังขิง หรือ Gingerbread แบบยุโรป ประกอบกับเมืองแพร่คือแหล่งใหญ่ของไม้สักเมืองเหนือ จึงมีไม้เหลือเฟือมาฉลุลายประกอบเป็นบ้านที่มีสถาปัตยกรรมงดงามอย่างน่าทึ่ง ถึงเพียงนี้!
บ้านวงศ์บุรี เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 09.00-17.00 น. ค่าเข้าชมคนไทย 30 บาท และมีร้านอาหารในบริเวณด้านข้างด้วย เมนูแนะนำคือ ข้าวซอยไก่ และข้าวซอยหมูหมัก
บ้านวงศ์บุรี สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2450 โดยพรหม (หลวงพงษ์พิบูลย์) และเจ้าสุนันตาวงศ์บุรี ธิดาเจ้าบุรี (พระยาบุรีรัตน์) เป็นบ้านไม้สองชั้นแบบยุโรปประยุกต์ หลังคามีสองชั้น ทรงปั้นหยา ภายในจัดแสดงเครื่องเรือนโบราณ ในลักษณะที่เหมือนกับยังมีคนอยู่อาศัยจริงในยุคอดีต จึงตกแต่งอย่างสวยงาม หรูหราโอ่อ่ามาก
ห้องนั่งเล่น ภายในบ้านวงศ์บุรี
จากบ้านวงศ์บุรี ขับรถเที่ยวเล่นเย็นใจไปช้าๆ เข้าสู่ถนนวิชัยราชา กระทั่งพบกับเรือนไม้สุดอลังการอีกแห่งของเมืองแพร่ นามว่า “คุ้มวิชัยราชา” (หรือ คุ้มเจ้าโว้ง) โทร. 08-1562-4425
คุ้มวิชัยราชา เป็นบ้านไม้สักเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี ของพญาแสนศรี สืบทอดมาจากยุคของพระเจ้าวิชัยราชา เป็นเรือนไม้สักทรงมะนิลา ที่เคยเสื่อมโทรมเพราะขาดทุนทรัพย์บูรณะ ปัจจุบันได้รับการซ่อมแซมเพียงบางส่วน งามเด่นตั้งแต่ลายฉลุหน้าจั่ว บังลม ระเบียง หน้าต่างบานกระทุ้ง ราวบันได ตลอดจนช่องลมเหนือประตูหน้าต่าง ฯลฯ นับเป็นอาคารโบราณที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง
คุ้มวิชัยราชา เคยมีประวัติที่น่าสนใจคือ วีรกรรมความกล้าของพระวิชัยราชา ที่ยอมเสี่ยงนำคนไทยจากภาคกลางขึ้นไปซ่อนไว้บนเพดานบ้าน ในสมัยที่เมืองแพร่มีกบฎเงี้ยว
ปัจจุบันภายในคุ้มวิชัยราชา ทั้งชั้นล่างและชั้นบนว่างเปล่า ไม่มีเครื่องเรือนจัดแสดง สะท้อนถึงยุครุ่งเรือง และยุคเสื่อมถอยของเมืองแพร่ ตามกาลเวลาและสถานการณ์บ้านเมืองในแต่ละสมัย ทว่าการได้มีโอกาสเดินเข้าไปชมภายใน แม้เพียงนิดเดียว ก็ถือเป็นการย้อนอดีตอันมีคุณค่า ได้ชื่นชมสถาปัตยกรรมที่คนแพร่และคนสยามควรหวงแหน
จุดประทับตราใน Passport ของ ททท. จุดต่อไป คือ “ร้าน Gingerbread House Gallery” ตั้งอยู่ในใจกลางเมืองแพร่ ตรงบริเวณสี่แยกหน้าสถานีตำรวจ (โทร. 08-6885-6551) เปิดเวลา 08.00-18.00 น. ทุกวัน
ประทับตราใน Passport ของ ททท. ที่ร้าน Gingerbread House Gallery
ร้าน Gingerbread House Gallery ไม่ได้ขายเฉพาะกาแฟ แต่ยังมีเครื่องดื่มอื่นๆ รวมถึงอาหารหลัก พร้อมด้วยห้องพัก ร้านขายของที่ระลึกจำพวกผ้าย้อมฮ่อมพื้นเมือง และ Art Gallery ที่ชั้นสองด้วย จึงกลายเป็นแหล่งพบปะของ Artist นักสถาปัตย์ และช่างภาพ ต่างมานั่งเสวนากันอยู่เป็นประจำ
ภายในร้าน Gingerbread House Gallery ออกแบบตกแต่งอย่างมีดีไซน์ ให้ความรู้สึกอบอุ่นด้วยไม้และแสงไฟโทนสีเหลืองอ่อนอุ่นๆ
มุมจำหน่ายของที่ระลึกกิ๊บเก๋มีดีไซน์ ของ Gingerbread House Gallery
ภายในร้าน Gingerbread House Gallery มีบรรยากาศไม่ต่างอะไรจากแกลเลอร์รี่จัดแสดงงานศิลป์จริงๆ เลยล่ะ
ห้องพักของ Gingerbread House Gallery แม้จะเล็ก แต่ก็มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน เป็นการผสมผสานความ Modern เข้ากับกลิ่นอายล้านนาตะวันออกได้อย่าลงตัวจริงๆ
ร้าน Gingerbread House Gallery ในยามค่ำคืน Lighting แสงไฟสวยมากๆ
บนชั้นสองของร้าน Gingerbread House Gallery เป็นห้องพักขนาดเล็กกะทัดรัด น่ารัก แค่ไม่กี่ห้อง อยากมาพักต้องรีบจองล่วงหน้านะจ๊ะ
หนึ่งแห่งท่องเที่ยวที่ถือว่า ห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวงในตัวเมืองแพร่ก็คือ “วัดจอมสวรรค์” ถนนยันตรกิจโกศล ตำบลในเวียง เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 5 ประมาณ พ.ศ.2437 โดยชาวเงี้ยวผู้เข้ามาทำกิจการค้าขายจนร่ำรวยในเมืองแพร่ ต่อมาเกิดกบฏเงี้ยว วัดจึงถูกทิ้งร้าง กระทั่งได้รับการบุณณะโดยชาวไทยใหญ่
วัดจอมสวรรค์ เป็นวัดที่โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมศิลปะพม่าแบบไทยใหญ่ หลังคาซ้อนลดหลั่นกันหลายชั้น ประดับประดาด้วยลายไม้แกะสลัก และลายฉลุอย่างวิจิตรงดงาม ทั้งภายนอกและภายใน
กลุ่มเจดีย์แบบพม่าภายในวัดจอมสวรรค์ แม้จะดูทรุดโทรมไปตามกาลเวลา แต่ก็ยังคงสัมผัสได้ถึงความขลัง ความงาม และพลังศรัทธาข้ามกาลเวลา!
ภายในวัดจอมสวรรค์ งดงามน่าตื่นตาด้วยเสาไม้สักสีทองอร่ามหลายสิบต้น ฝาผนังและเพดานอลังการด้วยลายไม้แกะสลักวิจิตรพิสดาร! จนทำให้รู้สึกราวกับว่าได้ไปเยือนวัดวังเวียงของพม่าแท้ๆ อย่างไรอย่างนั้น!
เครื่องจองพารา คือ การสร้างปราสาทจำลองเพื่อรับเสด็จพระพุทธเจ้า ที่เสด็จกลับลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในวันออกพรรษา ตามความเชื่อของชาวไทยใหญ่ มีจัดแสดงให้ชมภายในวัดจอมสวรรค์
พระพุทธรูปศิลปะพม่าภายในกุฏิเจ้าอาวาสวัดจอมสวรรค์
พ่อเฒ่าคำอ่อง (ชาวเงี้ยว) ได้ร่วมมือกับพ่อฮ่อยกันตี (ต้นตระกูลเจริญกุศล) สร้างวัดจอมสวรรค์ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2437 ใช้เวลาสร้างประมาณ 5 ปี จึงแล้วเสร็จ
คัมภีร์ใบลานจารภาษาล้านนาหลายร้อยเล่ม ได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างดีที่วัดจอมสวรรค์
ทุกปีจะมีการทอผ้าห่มธาตุวัดจอมสวรรค์ ใครมีฝีมือการทอก็ไปช่วยกันได้เพื่อสร้างบุญกุศลแรงกล้า
ไม่ห่างจากวัดจอมสวรรค์ ถ้าขับรถไปเรื่อยๆ ตามถนนยัตรกิจโกศล สองข้างทางจะพบร้านขาย ผ้าย้อมฮ่อม บ้านทุ่งโฮ้ง อันมีชื่อเสียง ยาวเหยียดต่อเนื่องกันไปกว่าหนึ่งกิโลเมตร นับเป็นแหล่งใหญ่ของผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมฮ่อมเมืองไทย ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนารูปแบบขึ้นมาก จนน่าสวมใส่ ไม่ทำให้รู้สึกเชยเหมือนที่ใครหลายคนบ่นเมื่อสมัยก่อนแล้วล่ะ
ร้านขายผ้าหม้อฮ่อม บ้านทุ่งโฮ้ง
มีเสื้อผ้าหญิงชายที่ตัดเย็บจากผ้าย้อมฮ่อม ให้เลือกกันละลานตา ที่บ้านทุ่งโฮ้ง
ถ้ามีเวลาเยอะ นอกจากร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าหม้อฮ่อม เราสามารถแวะเข้าชมไปชมขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่การหมักฮ่อมในหม้อ (ขั้นตอนคล้ายการย้อมครามของภาคอีสาน) การย้อมเส้นใย ไปจนถึงการทอ
เส้นฝ้ายที่ย้อมสีฮ่อมเรียบร้อยแล้ว รอตากให้แห้ง แล้วนำไปทอต่อไปจ้า
เที่ยวเมืองแพร่กันมาทั้งวัน ตอนค่ำต้องออกไปเดินเล่น พร้อมกับหาอะไรอร่อยๆ หม่ำกันให้อิ่มแปล้ไปเลย ที่ “ตลาดประตูชัย” ในอำเภอเมือง โดยเฉพาะวันอาทิตย์แรกของเดือน จะมีร้านมาขายเยอะที่สุด
ชาวต่างชาติเฮฮา บ้าน I ไม่มีตลาดริมถนนแบบนี้ ตลาดประตูชัยเมืองแพร่บ้าน You Amazing จริงๆ เลย!
ลูกชิ้นป้ิงตลาดประตูชัย เมนูกินเล่น ที่กินไปกินมาก็อิ่มจริงได้เหมือนกัน ฮาฮาฮา
ที่พักอุ่นสบายของเราในคืนนี้ “คำมูลลอฟท์ โฮเทล” (Come Moon Loft Hotel) ที่พักเปิดใหม่เอี่ยมแค่ 6 เดือน ตั้งอยู่ในชุมชนเชตวัน อำเภอเมืองแพร่ (โทร. 09-0328-3203, 0-5462-0148)
โลโก้แสนน่ารักของ Come Moon Loft
Come Moon Loft เป็นหนึ่งใน จุดประทับตราใน Passport ของ ททท.
คุณเอ๋ เจ้าของ Come Moon Loft ประทับตราใน Passport ของ ททท. ให้เราด้วยตัวเอง พร้อมเล่าว่า ที่ใช้ชื่อ คำมูลลอฟท์ ก็เพราะคุณแม่ของคุณเอ๋เป็นชาวแพร่แท้ๆ ชื่อของท่านคือ คำมูล จึงใช้ชื่อนี้เลยเพื่อความโชคดี
Come Moon Loft Hotel ตั้งอยู่ในชุมชนเชตวัน ซึ่งแม้จะอยู่ในอำเภอเมืองแพร่ก็จริง แต่ไม่ได้อยู่ใจกลางเมือง จึงเงียบสงบมาก โดยรอบเป็นบ้านเรือนของชาวบ้านที่อาศัยกันแบบพี่น้อง ต่อเนื่องมาหลายสิบปีแล้ว
ห้องพักสไตล์ Loft Hotel ที่เน้นความหรูเรียบ ทว่ามีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ราคาคืนหนึ่งก็ไม่แพงเลย แค่ 590 บาทเท่านั้น เหลือเชื่อ!
ตกแต่งน่ารักแบบนี้ ขอนอนไปเลยหลายๆ คืนจ้า
นอกจากที่พักแล้ว Come Moon Loft ยังมีร้านคาเฟ่เล็กๆ จำหน่ายเครื่องดื่มต่างๆ และยังใช้เป็นห้องอาหารเช้าสำหรับแขกที่เข้ามาพักด้วย
มุมสุดกิ๊บเก๋ ในห้องอาหารของ Come Moon Loft
บรรยากาศของ Come Moon Loft Hotel เมื่อมองจากชั้นบนลงไป เป็นความงามบนความเรียบง่าย ที่ผสานกับความ Modern ได้อย่างลงตัวจริงๆ
คืนนี้เราคงหลับฝันดี เพื่อพรุ่งนี้จะได้มีแรง มีเวลา ออกไปไล่ล่าฝัน เก็บเกี่ยวเรื่องราวสนุกๆ ในจังหวัดแพร่กันต่อจ้า…
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานแพร่ น่าน อุตรดิตถ์ โทร. 0-5452-1127
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!