ภารกิจตามหาหญ้าทะเล ฮาเฮ เกาะหมาก จ.ตราด
เคยมีคนกล่าวไว้ว่า ตราดคือเมืองเกาะครึ่งร้อย และเป็นสวรรค์แห่งทะเลตะวันออก ที่อาบอิ่มด้วยคลื่นลมเห่กล่อม ผสานน้ำทะเลสีครามสดใส เคียงคู่หาดทรายขาวสะอาดตา วันนี้เราจะพาตัวเองล่องเรือโล้คลื่นสู่ “เกาะหมาก“ หนึ่งในเกาะแสนงามแห่งเมืองตราด เพื่อดำดิ่งลงไปยังโลกใต้ทะเลอันสวยงาม น่าพิศวง และมีเรื่องราวให้ค้นหาไม่รู้จบ
ทริปนี้พิเศษกว่าทุกครั้ง เพราะ Go Travel Photo ได้รับเกียรติจาก อพท. หรือ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ให้เข้าร่วมในโครงการ Castaway @Low Carbon Island 2016 ทำหน้าที่อาสารักษ์โลก สัมผัสธรรมชาติสงบงาม และวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมบนเกาะหมากแห่งนี้
มาเที่ยวเกาะหมากคราวนี้ เรามีภารกิจพิเศษพกติดตัวมาด้วย เพราะเราได้ยินมาว่า ที่ “อ่าวผ่อง” ทางด้านทิศใต้ของเกาะหมาก ซึ่งอยู่ติดกับท่าเรืออ่าวนิด เป็นจุดดำน้ำตื้นชมปะการังที่น่างดงามมาก แถมยังมีแนวหญ้าทะเลอยู่ด้วย! โห ถ้าจริงก็ดีนะสิ เพราะหญ้าทะเลเหลืออยู่ไม่มากแล้วในเมืองไทย หวังว่าจะได้เห็นกับตาตัวเองสักครั้ง
อ่าวผ่อง ที่เราเห็นในแว๊บแรก ทำให้หลงรักในทันที เพราะถึงแม้จะเป็นเวิ้งอ่าวเล็กๆ ยาวไม่กี่ร้อยเมตร ทว่าจุดเด่นคือความสงบ หาดทรายเป็นสีทอง เนื้อละเอียดเนียน เดินนุ่มเท้า วันนี้ฟ้าใสเป็นใจกับการดำน้ำตามหาหญ้าทะเลจริงๆ เลย
พวกเราเป็นคนชอบกิจกรรมมันส์ๆ จะทำอะไรทีก็ต้องไม่ธรรมดา เลยขอเพิ่มดีกรีความสนุกก่อนจะไปดำน้ำที่อ่าวผ่อง ด้วยการพายเรือคายัคระยะทางสักครึ่งกิโลเมตร เริ่มต้นจากทะเล ไทม์ รีสอร์ท ไปอ่าวผ่อง โดยครั้งนี้ได้สาวสวยขาลุย “คุณหมอนก” จากเว็บไซต์เพื่อนนักสะพายเป้ มาเป็นเพื่อนร่วมทาง ก่อนพายเรือก็ต้องเตรียมความพร้อมกันหน่อยล่ะ
แม้จะเป็นการพายเรือคายัคระยะทางสั้นๆ แต่มากางแผนที่ดูเส้นทาง และจุดหมาย กันไว้ก่อน ก็ดีเหมือนกัน
น่าจะใช้เวลาพายเรือไม่เกิน 30 นาที ถ้าคลื่นลมไม่แรงเกินไป พร้อมแล้วก็ลุยกันเลยยยยย
การพายเรือคายัค เป็นหนึ่งในกิจกรรมการท่องเที่ยวทางน้ำที่ถือว่า “เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” เพราะไม่ได้ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อะไรเลยสู่ชั้นบรรยากาศโลก เสียงก็เงียบ พายเรือไปอย่างอิสระเสรี จะหยุดแวะชมธรรมชาติตรงไหนก็ได้ตามใจชอบ นับว่าเหมาะสุดๆ แล้ว สำหรับเกาะคาร์บอนต่ำอย่างเกาะหมากครับ
แต่วันนี้ดูเหมือนคลื่นลมจะค่อนข้างแรง เรือคายัคของผมกับหมอนกเลยโดนคลื่นซัดไปคนละทางสองทาง ฮาฮาฮา สุดท้ายก็ต้องใช้วิธีผูกเชือกโยงเรือเข้าไว้ด้วยกัน แล้วพายไปพร้อมๆ กันดีกว่าเนอะ
ใช้เวลาประมาณ 30 นาที ตามที่กะไว้ ในที่สุดเรือคายัคลำน้อยสองลำก็มาจอดเกยหาดอยู่ที่อ่าวผ่อง อย่างปลอดภัย โดยมี คุณไมเคิล ซึ่งเป็นชาวยุโรปที่มาทำธุรกิจรีสอร์ทเล็กๆ อยู่ที่อ่าวผ่อง แถมยังเป็นนักถ่ายภาพใต้น้ำฝีมือฉกาจ รวมทั้ง คุณเนม เจ้าของทะเล ไทม์ รีสอร์ท (อ่าวทองหลาง) ที่อยู่ติดกัน มายืนรอรับอยู่ด้วยความเป็นห่วง
ก่อนจะเปลี่ยนชุดลงไปดำน้ำ เราได้พูดคุยกันถึงความสมบูรณ์ของพื้นที่ คุณไมเคิลเล่าว่า แนวปะการังหน้าอ่าวผ่องเคยถูกภาวะปะการังฟอกขาว หรือ Coral Bleching จากน้ำทะเลที่ร้อนขึ้น (ผลจากภาวะโลกร้อน) ส่วนหนึ่งจึงตายไป แต่โชคดีที่ปัจจุบันบางส่วนเริ่มฟื้นตัวแล้ว จึงมีปลาเล็กปลาน้อย และปะการังเกิดใหม่ ค่อยๆ เติบโตขึ้น
บริเวณหัวหาดด้านหนึ่งของอ่าวผ่อง ยามน้ำลดจะเห็น แนวหินภูเขาไฟ (Volcanic Rock) จำนวนมากผุดขึ้นมา ลักษณะเป็นหินสีน้ำตาลเกือบดำ เนื้อเป็นรูพรุนจำนวนมาก เพราะหินลาวานี้มีฟองอากาศอยู่ภายใน และเย็นตัวลงอย่างรวดเร็ว นี่เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า เมื่อ 200 กว่าล้านปีก่อน บริเวณนี้เป็นแหล่งธรณีภูเขาไฟที่ดุเดือดไม่ใช่เล่น คงอย่างนี้นี่เอง ในบริเวณจังหวัดตราดและจันทบุรี จึงมีหินอัญมณีมีค่าและหินภูเขาไฟหลงเหลืออยู่มากมาย อย่างที่เกาะขามที่อยู่ใกล้เกาะหมากก็มีเหมือนกันครับ
แนวหินภูเขาไฟผุดยามน้ำลง ที่อ่าวผ่อง
เอาล่ะ ตอนนี้ได้เวลาดำน้ำตามหาหญ้าทะเลกันแล้ว ตื่นเต้นจัง! หมอนกคนสวยของเรา โดดน้ำตามคุณไมเคิลลงไปก่อนเลย วันนี้ถ้าภารกิจไม่สำเร็จ เราสัญญากับตัวเองไว้แล้วว่าจะไม่หยุดแน่นอน!
แม้วันนี้บนผิวน้ำคลื่นจะค่อนข้างแรง น้ำไม่ใสเคลียแบบ 100 เปอร์เซนต์ แต่ก็ยังพอมองเห็นป่าใต้น้ำได้บ้าง ไม่ห่างจากฝั่งมากนัก ในบริเวณน้ำลึกไม่เกิน 1.50 เมตร สิ่งแรกที่เตะตานักดำน้ำมือสมัครเล่นอย่างผมก็คือ “สาหร่ายทุ่น” (Sargassum) เป็นสาหร่ายสีน้ำตาล ที่มีลำต้นยาวตั้งตรง พลิ้วไหวโอนเอนไปมาตามกระแสคลื่น ทำให้จุดนี้เราต้องว่ายน้ำซิกแซกไปมาหลบพวกมัน น่าสนุกดีครับ เหมือนผจญภัยในป่าใต้น้ำไม่มีผิดเลย!
ในบริเวณเดียวกับที่พบสาหร่ายทุ่น เรายังพบ สาหร่ายเห็ดหูหนู (Lobophora) งอกงามอยู่เป็นจำนวนมาก ลักษณะของมันเนื้อจะนิ่มๆ เหมือนวุ้น มีแผ่นใบกลมๆ เหมือนหูหนูขนาดใหญ่ การที่เราพบสาหร่ายในน้ำตื้นทั้งสองชนิดนี้ ถือว่าดี เพราะนอกจากมันจะช่วยสังเคราะห์แสงเพิ่มออกซิเจนให้ทะเลแล้ว ยังเป็นตัวดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย เพราะในกระบวนการสังเคราะห์แสงของมัน ต้องใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก
ดำน้ำตีขาสู้คลื่นห่างจากฝั่งออกมาประมาณ 30-40 เมตร ช่วงแรกนี้ปะการังที่พบส่วนใหญ่เป็นปะการังแข็ง (Hard Coral) หลากชนิด อย่างในภาพนี้คือ ปะการังรังผึ้ง (Honey Comb Coral) รูปแบบหนึ่ง
ปะการังรังผึ้งรูปแบบหนึ่ง กำลังเติบโตขึ้นบนโขดปะการังเดิมที่ตายลงเพราะภาวะน้ำทะเลร้อนในอดีต
รูปแบบชีวิตอันหลากหลายใต้ท้องทะเลที่อ่าวผ่อง ปะการังรังผึ้ง แบบนี้แม้กอจะไม่ใหญ่ แต่ถ้าสังเกตให้ดี จะพบว่ามีสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ไปพึ่งพิงอิงอาศัยอยู่มากมาย แนวปะการังจึงเป็นสังคมสิ่งมีชีวิตใต้น้ำ ที่มีห่วงโซ่อาหารซับซ้อนมาก
ปะการังดาวสีทอง (Golden Star Coral) สีส้มสดใส ที่เห็นนี้จริงๆ แล้วปะการังไม่ใช่พืช แต่เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง ที่ดูดหรือกรอกกินสารอาหารและแพลงก์ตอนจากน้ำทะเล ปะการังบางชนิดอาศัยอยู่ในโครงสร้างหินปูนแข็ง รูปร่างคล้ายต้นไม้ ใบไม้ จึงทำให้หลายคนเข้าใจผิด คิดว่าปะการังเป็นพืช แต่จริงๆ แล้วพวกมันเป็นสัตว์จำพวกหนึ่งนะจ๊ะ อิอิ
ปะการังรังผึ้งรูปแบบหนึ่ง ที่อ่าวผ่อง รูปร่างสวยงามแปลกตาเหลือเกิน
ในบริเวณน้ำตื้นของอ่าวผ่อง ช่วงที่น้ำลึกไม่เกิน 1.50 เมตร เราพบ ปลิงทะเล (Lolly Sea Cucumber) อยู่บ้างพอสมควร จริงๆ แล้วปลิงทะเลเป็นญาติใกล้ชิดกับดาวทะเลและหอยเม่น มันเคลื่อนที่ด้วยการยืดหดกล้ามเนื้อ ทำนองคืบคลานไปมา เพราะมันไม่มีกระดูกสันหลัง โดยมันจะใช้หนวดที่ปากคุ้ยเขี่ยซากอินทรีย์และอาหารบนพื้นทราย เลน กิน การพบปลิงทะเลในบริเวณใดมากๆ จึงเท่ากับว่า มีเทศบาลคอยช่วยทำความสะอาดพื้นทะเลให้นั่นเองปะการังรังผึ้ง (Honey Comb Coral) ก้อนกลมเกือบเท่าลูกฟุตบอล ลายสวยน่ารัก เป็นปะการังแข็งชนิดหนึ่งที่พบได้มากมายบริเวณอ่าวผ่อง กว่าจะขยายขนาดขึ้นเป็นกอใหญ่ๆ ได้ มันต้องใช้เวลาหลายสิบปีทีเดียว
เพลิดเพลินกับการดำน้ำตื้นไปเรื่อยๆ ก็ไปจ๊ะเอ๋ เข้ากับกอ ปะการังสมองร่องลึก (Large Brain Coral) ที่ทำให้ขนลุกได้เหมือนกัน คงเพราะรูปร่างของมันเหมือนกับสมองของคนเราไม่ผิดเลยนะสิ! แต่จริงๆ แล้วไม่มีอันตรายหรอกนะ แค่เราคิดไปเอง ไม่น่ากลัวอะไร เราจะเห็นหนอนสีดำขนาดเล็กอาศัยอยู่ในร่องของปะการังสมองด้วย
ปะการังสมองร่องลึก (Large Brain Coral) ขนาดเท่าหัวผักกะหล่ำใหญ่ๆ
การดำน้ำตามหาหญ้าทะเลในวันนี้ที่อ่าวผ่อง เรามีคุณไมเคิลเป็น Dive Leader หรือผู้นำดำน้ำ เพราะเขาอาศัยอยู่ที่นี่ จึงมีความเชี่ยวชาญ รู้ว่าตรงไหนมีอะไร แต่ที่สำคัญคือ คุณไมเคิลได้ช่วยเราเก็บภาพ VDO ใต้น้ำด้วย ดีใจมากๆ ครับ
ในจุดดำน้ำหลักจุดแรก ซึ่งเป็นเหมือนดงปะการังแข็งพื้นที่กว้าง เราพบ หอยมือเสือ (Giant Clam) ซึ่งเป็นหอยทะเลขนาดใหญ่ที่สุดชนิดหนึ่ง กระจายอยู่มากมาย แม้มันจะยังโตไม่เต็มที่ จนถึงขนาด 100-120 เซนติเมตร แต่ก็ถือเป็นหอยมือเสือวัยรุ่น ที่บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวผ่องได้เป็นอย่างดี และจะช่วยให้ท้องทะเลบริเวณนี้ในอนาคตมีความอุดม มีคุณค่า มีห่วงโซ่อาหารที่ไม่ขาดตอน
ว่ากันว่า พบหอยมือเสือที่ใด น้ำในบริเวณนั้นถือว่าสะอาด เพราะหอยมือเสือจะมีชีวิตอยู่ได้ในบริเวณที่น้ำค่อนข้างคื้น ใสสะอาด ตะกอนน้อย เนื่องจากตัวของมันเองแม้จะเป็นสัตว์ แต่ช่างน่าอัศจรรย์ กลับมีสาหร่ายชนิดหนึ่งไปอาศัยอยู่ในเนื้อของมันด้วย หอยมือเสือจึงต้องเปิดปากออกมา ให้สาหร่ายสังเคราะห์แสงสร้างอาหาร เป็นการอาศัยแบบพึ่งพากัน ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย (Symbiosis) คือสาหร่ายได้ที่อยู่อาศัย และหอยมือเสือได้อาหารจากสาหร่าย
การสังเคราะห์แสงของสาหร่ายที่อยู่ในเนื้อหอยมือเสือ ถือว่ามีประโยชน์ต่อระบบนิเวศน์ทางทะเลอย่างมาก เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มออกซิเจนให้น้ำทะเลแล้ว ยังช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาเก็บไว้ด้วย หรือที่ในทางนิเวศน์วิทยาเรียกว่า Carbon Sink นั่นเอง หอยมือเสือจึงไม่ได้มีไว้กินอย่างเดียวตามที่หลายคนเข้าใจผิด
“ทุกสิ่งทุกอย่างในธรรมชาติล้วนมีหน้าที่ และเชื่อมโยงกันเป็นวงจร ห่วงโซ่อันเปราะบาง”
ถ้าสังเกตให้ดี นอกจากหอยมือเสือแล้ว เรายังพบ หอยมือแมว (Crocus Giant Clam) ด้วย ถ้าไม่รู้จักมองผ่านๆ ก็อาจนึกว่าเป็นชนิดเดียวกับหอยมือเสือ (Giant Clam) วิธีสังเกตง่ายๆ ในความต่าง คือ หอยมือแมวขนาดจะเล็กกว่า ยาวเพียง 10-15 เซนติเมตร (ไม่เกิน 20 เซนติเมตร) และมักฝังตัวอยู่ในกอหรือโขดปะการังแข็ง ไม่ได้เห็นเป็นตัวเด่นขึ้นมาเหมือนหอยมือเสือ
หอยมือแมว (Crocus Giant Clam) อยู่ในตระกูลเดียวกับหอยมือเสือ แต่ตัวเล็กกว่า ทว่ามันสามารถช่วยสังเคราะห์แสง ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เช่นกัน
ปะการังสีทอง ที่อ่าวผ่อง ชนิดนี้ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเป็นสีทองตามธรรมชาติ หรือเกิดจากภาวนะน้ำทะเลร้อนขึ้น???
ปะการังโขด (Hump Coral) สีม่วงอมชมพูสวยงาม พบกระจายอยู่ทั่วไปที่อ่าวผ่อง
ปะการังโขด (Hump Coral) สีชมพูอ่อนที่อ่าวผ่อง บางจุดพบว่ามีขนาดใหญ่ แผ่ออกไปหลายสิบตารางเมตรเลยทีเดียว จะเห็นว่า นอกจากมีลูกปลาเล็กๆ แอบไปใช้เป็นที่หลบภัยแล้ว ยังมีหอยไปฝังตัวอยู่ในเนื้อของปะการังโขดด้วย
เมื่อดำน้ำห่างจากฝั่งออกมาเรื่อยๆ จนถึงระยะน้ำลึกราวๆ 3 เมตร ก็พบ ปะการังโขด (Hump Coral / Mountain Coral) ขนาดใหญ่และกินพื้นที่กว้างขึ้น ปะการังโขดบางกอมีสีส้ม ชมพู ม่วง ผสานกันไปมา สวยงามมาก
ฝูงปลาเล็กปลาน้อย ว่ายวนหากินอยู่ในแนวปะการังแข็งของอ่าวผ่อง
ปะการังดอกเห็ด (Mushroom Coral) แม้พบได้ทั่วไป เป็นปะการังที่หาง่าย แต่ก็มีรูปร่างสวยงามเตะตา ดึงดูดความสนใจเราให้ว่ายน้ำเข้าไปดูใกล้ๆ ได้ทุกครั้ง พวกมันเป็นปะการังที่เติบโตขึ้นเป็นกอเดี่ยวๆ เส้นผ่าศูนย์กลาง 20-30 เซนติเมตร แต่ถ้าโตอยู่ใกล้กันหลายๆ อัน บางครั้งมันก็รวมตัวเป็นกอใหญ่ก็มี จัดเป็นปะการังน้ำตื้นที่โดดเด่นมากชนิดหนึ่งของอ่าวผ่องครับ
ปะการังเขากวาง (Staghorn Coral) ในลักษณะการเติบโตขึ้นเป็นพุ่ม (Table) รูปร่างคล้ายโต๊ะขนาดใหญ่ การที่พบเห็นมันเป็นสีเหลืองทองขนาดนี้ เป็นดัชนีบ่งชี้ได้ชัดเจนว่าน้ำทะเลของภาคตะวันออกร้อนขึ้น อันเป็นผลมาจากปี 2016 เป็นปีที่โลกต้องประสบภาวะโลกร้อน และปะการังฟอกขาว รุนแรงที่สุดปีหนึ่ง!!!
กว่าปะการังเขากวางแต่ละกิ่งจะงอกงามขึ้นได้ขนาดนี้ มันต้องใช้เวลาหลายสิบปี เพราะแต่ละปีมันงอกยาวได้แค่ไม่กี่มิลลิเมตรเท่านั้น! ดังนั้นเวลาไปดำน้ำดู เราต้องระวังไม่จับต้อง และระวังไม่ให้ตีนกบดำน้ำของเราไปโดนมันจนหัก!
ในบริเวณปะการังใต้น้ำกลุ่มที่ 2 ซึ่งคุณไมเคิลนำเราดำน้ำดู โชคดีไปพบกับ กอปะการังโขดรูปหัวใจ!!! ที่มีปะการังรังผึ้งกลมสวยคล้ายลูกบอลอยู่ตรงกลางพอดิบพอดี ช่างน่าพิศวงในประติมากรรมธรรมชาติใต้น้ำชิ้นนี้ เปรียบไป ก็คล้ายกับหัวใจแห่งมหาสมุทรที่ไข่มุกแสนงามประดับอยู่ตรงกลาง นี่คือของขวัญล้ำค่าสำหรับมนุษย์ตัวเล็กๆ อย่างเรา
ผมถือว่า นี่คือ Unssen ของอ่าวผ่อง และเกาะหมาก อย่างหนึ่งเลยล่ะ!
ปะการังโขดขนาดเล็ก กำลังเริ่มก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆ
ปะการังแผ่น เติบโตขึ้นเคียงคู่กับปะการังโขด ปะการังรังผึ้ง และชุมชนหอยเม่นหนามยาว ทำหน้าที่คล้ายชุมชนใต้น้ำ ให้หมู่กุ้ง หอย ปู ปลา เข้ามาหลบอาศัย หากิน และขยายพันธุ์ต่อไป
ปะการังสมอง (Brain Coral) เป็นหนึ่งในชนิดปะการังโดดเด่นที่สุดบริเวณอ่าวผ่อง รวมถึงรอบๆ เกาะหมาก และท้องทะเลภาคตะวันออกของไทย รูปร่างอันชวนพิศวงของมัน คงทำให้หลายคนรู้สึกขนลุกได้ไม่น้อย!
ในที่สุด หลังจากดำน้ำกันมาชั่วโมงกว่า ผ่านกลุ่มปะการังเด่นๆ มา 2 กลุ่ม คุณไมเคิลก็นำเราว่ายน้ำกลับเข้าสู่บริเวณน้ำลึกไม่เกิน 2 เมตร ณ จุดนี้คือ แหล่งหญ้าทะเลที่เราตามหา! มันคือผืนพรมสีเขียวใต้น้ำใส แผ่กว้างออกไปหลายสิบตารางเมตร จนยากจะวัดให้ชัดเจนได้ว่ามีพื้นที่เท่าใดแน่ แต่นั่นคงไม่สำคัญเท่ากับ การได้เห็นหญ้าทะเลของจริงกับตาตัวเองสักครั้งในระยะใกล้ชิดแบบเผาขนขนาดนี้ คือสิ่งพิสูจน์ว่า เกาะหมากยังเป็นสวรรค์ของคนรักทะเลอย่างแท้จริง
หญ้าทะเลที่อ่าวผ่องขึ้นเบียดเสียดกันอย่างหนาแน่น สมบูรณ์มาก และแทบไม่มีร่องรอยความเสียหายเลย ดีใจจัง! โดยตามธรรมชาติแล้ว หญ้าทะเล หรือ Sea Grass คืออาหารของ เต่าทะเล (Sea Turtle) และ พะยูน (Dugong) รวมทั้งยังเป็นแหล่งอาศัย หลบภัย หากิน สืบพันธุ์ ของกุ้ง หอย ปู ปลา รวมถึงม้าน้ำตัวจิ๋วด้วย นอกจากนี้ หญ้าทะเลยังช่วยสังเคราะห์แสง เพิ่มออกซิเจนให้ท้องทะเล เป็นการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากักเก็บไว้ในตัวและผืนดินข้างใต้ ได้อย่างน่าอัศจรรย์
หญ้าทะเลที่อ่าวผ่อง มีชื่อชนิดว่า หญ้าชะเงาใบฟันเลื่อย ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Cymodocea serrulata เป็นหญ้าทะเล 1 ใน 12 ชนิด ที่พบในเมืองไทยของเรา แหล่งหญ้าทะเลอันมีคุณค่านี้ล่ะ คือพืชที่ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ในปริมาณมหาศาล มหาสมุทรจึงเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนใหญ่ที่สุดอีกแห่ง อย่างที่เรามิอาจมองข้าม!
ไม่น่าเชื่อเลยว่า กลางกอหญ้าทะเล เราจะพบสังคมการอยู่ร่วมกัน ของหญ้าทะเล สาหร่ายทะเล ปะการังเขากวาง และโขดปะการังแข็ง อย่างกลมกลืน ราวกับมีใครไปแอบจัดสวนไว้ใต้ทะเล ยังไงยังงั้นเลย ฮาฮาฮา
ตรงบริเวณชายขอบของแหล่งหญ้าทะเลอ่าวผ่อง เราสามารถพบ หอยจอบ หรือหอยซองพลู (Comb Pen Shell) ฝังตัวอยู่ในพื้นทรายเป็นจำนวนมาก โดยมันจะฝังปลายด้านหนึ่งที่เป็นทรงแหลม ลึกลงไปในพื้นทราย ปล่อยไว้เพียงปากอีกด้านหนึ่งที่มนกว่าโผล่พ้นพื้นขึ้นมา ขอเตือนว่า เปลือกนี้ค่อนข้างคม ถ้าเดินลุยน้ำไปเหยียบเข้า ก็อาจเกิดแผลได้!
ตามปกติแล้ว หอยจอบจะกรองกินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร ซึ่งแพลงก์ตอนบางชนิดมีพิษด้วย การเอาเนื้อหรือเอ็นหอยจอบมากิน จึงอาจท้องเสียได้ ขอแนะนำให้ตัดปัญหา ไม่กินมันเลยจะดีกว่านะครับ
จากจุดที่พบหญ้าทะเล ถ้าว่ายน้ำหันหัวออกทะเล ไปจนถึงระดับความลึกราวๆ 3 เมตร จะพบไฮไลท์อีกอย่างหนึ่งของอ่าวผ่อง นั่นคือ “ซากเรือจม” เป็นเรือประมงขนาดกลาง ชื่อ Thaitanic ซึ่งมาอับปางลงตรงนี้เมื่อหลายปีที่แล้ว ทว่าซากเรือที่พบไม่ได้มีลักษณะเป็นเรือเต็มลำชัดเจน เพราะถูกคลื่นลมถาโถมพัดไปมาจนพัง แตกออกเป็นชิ้นๆ กระจัดกระจาย นับเป็นจุดดำน้ำที่น่าตื่นเต้น ให้อารมณ์ของการผจญภัยเล็กๆ และเป็นจุดสิ้นสุดเส้นทางดำน้ำของเราในวันนี้ด้วย
ผลจากการดำน้ำตื้นที่อ่าวผ่องในวันนี้ ทำให้ทีมของเราช่วยกันสรุปวาดแผนที่ เส้นทางศึกษาธรรมชาติใต้น้ำ หรือ Underwater Trail แบบคร่าวๆ ได้ แม้จะไม่ละเอียดนัก (เพราะเราไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล) แต่เราก็ภูมิใจ ที่ได้ดำดิ่งลงไปพิสูจน์ให้เห็นสรรพชีวิตใต้ทะเลกับตาตัวเอง โดยเฉพาะหญ้าทะเลที่ดูได้อย่างใกล้ชิด
เราหวังว่า สมบัติทางธรรมชาติอันล้ำค่านี้จะคงอยู่คู่คนเกาะหมาก คนตราด และคนไทย ไปอีกนานแสนนานเลยนะจ๊ะ
ขอขอบคุณ : อพท. หรือ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) และพี่น้องชาวเกาะหมากที่น่ารักทุกท่าน ที่ร่วมมือ ร่วแรงร่วมใจสร้างสรรค์กิจกรรมดีๆ นี้ขึ้น สอบถามโทร. 0-2357-3580-402
Special Thanks : บริษัท Nikon Sales (Thailand) Co., Ltd. สนับสนุนกล้องถ่ายภาพระดับมืออาชีพ D4 และกล้องถ่ายภาพใต้น้ำ AW130 เพื่อการเก็บภาพสวยๆ เหล่านี้มาฝากเพื่อนๆ ทุกคน สนใจสอบถาม โทร. 0-2633-5100
#LowcarbonAtkohmak #CastawayAtkohmak #ติดเกาะโลว์คาร์บอน
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!