เที่ยวบ้านท่าสว่าง ถิ่นผ้าไหม 1,416 ตะกอ! จ.สุรินทร์
“กลุ่มทอผ้ายกทอง จันทร์โสมา” แห่งบ้านท่าสว่าง ตำบลท่าสว่าง อำเภอเมืองฯ จังหวัดสุรินทร์ เป็นหมู่อาคารเรือนไทยหลายหลังในสวนสวยแมกไม้ใหญ่ร่มรื่น ที่นี่มีทั้งส่วนอาคารพิพิธภัณฑ์ของสะสม ของท่านอาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย แกนนำกลุ่มจันทร์โสมา ที่มีจุดเด่นในการอนุรักษ์และฟื้นฟูผ้ายกทองชั้นสูงแบบราชสำนักไทยโบราณ โดยการนำใยไหมเส้นเล็กละเอียด (ไหมน้อย) มาย้อมสีธรรมชาติ ด้วยเทคนิคโบราณผสานกับการออกแบบลวดลายที่วิจิตรเหมือนในอดีต เช่น ลายเทพพนม ลายหิ่งห้อยชมสวน ลายก้านขดเต้นรำ ลายครุฑยุดนาค ฯลฯ ผสานกับลายผ้านุ่งที่คนสุรินทร์นิยมอยู่แล้ว คือ ลายอัมปรม ลายสาคู ลายสมอ ลายละเบิก ลายลูกแก้ว มีการใช้เส้นไหมกะไหล่ทองปั่นควบกับเส้นไหม ถักทอเป็นผ้าไหมยกทองอันวิจิตรงดงามอย่างเหลือเชื่อ ยิ่งกว่านั้นบ้านท่าสว่างยังได้รับการสนับสนุนจากสำนักพระราชวัง และมูลนิธิในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ จนได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ทอผ้าไหมมอบให้กับผู้นำเอเปค เมื่อปี พ.ศ. 2546 บ้านท่าสว่างจึงเป็นที่รู้จักนับแต่นั้น
สาวน้อยแห่งบ้านท่าสว่าง วันนี้มาช่วยคุณป้าคุณน้าย้อมสีธรรมชาติสวยๆ ให้เราชมด้วย
คุณยายใช้เส้นใยจากใบไม้มาเตรียมไว้มัดเส้นไหม เตรียมลงย้อมในหม้อสีที่ต้มไว้เดือดๆ โดยย้อมทีละมัดๆ อย่างประณีต
จากทางเข้าด้านหน้า เราค่อยๆ เดินชมนกชมไม้เข้ามาสู่โรงย้อมผ้าสีธรรมชาติ ที่มีชาวบ้านกำลังช่วยกันนำเส้นไหมลงย้อมในหม้อบนเตาฟืนควันฉุย หม้อสีครามให้สีน้ำเงินสดใส หม้อน้ำต้มครั่งได้สีแดงชาติเตะตา หม้อน้ำจากต้นเขให้สีเหลืองแจ่มกระจ่างตา สีส้มได้จากดอกคำแสด สีเขียวมะกอกได้จากแก่นขนุน สีดำได้จากผลมะเกลือ สีน้ำตาลได้จากต้นหมาก และสีม่วงได้จากต้นหว้า เป็นต้น เมื่อนำผืนผ้าสีธรรมชาติมาทอผสมผสานกับไหมยกทองโบราณ ด้วยลวดลายที่มีความพิเศษของ อาจารย์วีรธรรม แล้ว ก็ยิ่งทำให้ผ้าไหมบ้านท่าสว่างกลายเป็นแพรพรรณอันเล่อค่าจนไม่น่าเชื่อ
สีธรรมชาติจากพรรณไม้ต่างๆ นำมาจากมใบไม้, เปลือกไม้, แก่นไม้ แช่น้ำทิ้งไว้ค้างคืน แล้วนำมาเติมน้ำต้มให้เดือดควันฉุย จากนั้นนำมัดเส้นไหมหรือฝ้ายมาย้อมหลายครั้ง จนสีติดดี ได้สีเข้มตามต้องการ นี่คือเทคนิคการย้อมแบบร้อน
พอย้อมสีเส้นไหมเสร็จแล้ว ก็นำมาตากให้แห้งในที่ร่มลมโกรก
จากเรือนย้อมผ้า เราสาวเท้าเข้าไปที่เรือนทอผ้า และก็ต้องตื่นตาอีกครั้งกับกี่ทอผ้าขนาดยักษ์ของที่นี่ เพราะกี่ทอผ้าแต่ละอันของบ้านท่าสว่างนั้นมีความสูงกว่า 2-3 เมตร! สูงเท่าตึกเกือบสองชั้น! แต่ละกี่ต้องใช้คนช่วยกันทอ 4-5 คน! เพราะผ้าไหมบ้านท่าสว่างมีมากถึง 1,416 ตะกอ! จึงต้องอาศัยทักษะและทีมเวิร์กขั้นสูง เพราะต้องมีคนช่วยยกตะกอ 2-3 คน คนสอดไม้ 1 คน และคนทออีก 1คน เป็นความซับซ้อนทางด้านเทคนิคการทอ จนได้ผลงานเพียงวันละ 6-7 เซนติเมตรเท่านั้น! ช่างทอซึ่งเป็นคุณป้าคุณยายเล่าให้ฟังว่า ผ้าลายพิสดารที่อยู่บนกี่นี้ล้วนมีคนสั่งทอทั้งสิ้น ผืนหนึ่งยาว 3 เมตร ราคาก็ไม่ต่ำกว่า 1.5-2.5 แสนบาท! และต้องช่วยกันทุ่มเทแรงกายแรงใจทอนานหลายเดือนเลยทีเดียว เราสอบถามท่านว่ามีลูกหลานรุ่นใหม่มาร่ำเรียนสืบทอดวิชาทอผ้าบ้างหรือไม่? คุณป้ามองหน้ากันแล้วยิ้ม ตอบว่า “แทบไม่มีคนรุ่นใหม่มาสืบทอดวิชาทอผ้าเลย! สักวันมันคงสูญหายแน่นอน” เรื่องนี้จะจริงหรือไม่ เราไม่แน่ใจ แต่คงเป็นการบ้านที่ผู้รับผิดชอบต้องช่วยกันอนุรักษ์สืบสานมรดกของชาติแขนงนี้ไว้ให้ได้
กี่ทอผ้ายักษ์แห่งบ้านท่าสว่าง แต่ละอันสูงกว่า 3 เมตร! ไม่ต่างจากตึก 3 ชั้น ที่มีทั้งชั้นล่าง ชั้นกลาง ชั้นบน ใช้ช่างทอที่มีความชำนาญสูงช่วยกันกี่ละไม่ต่ำกว่า 4-5 คน นับเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านขนานแท้ ที่สร้างความซับซ้อนบนผืนผ้าขึ้นมาได้
เสน่ห์ของสีธรรมชาติ คือ Colour Variation เป็นความหลากหลาย ความต่างของสีที่ไม่เท่ากันเลยในการย้อมแต่ละครั้ง ได้สีเข้มอ่อนตามการย้อม การผสม และวัสดุธรรมชาติที่ก่อกำเนิดสี ยิ่งใช้ยิ่งสวย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาก
หม้อหมักคราม ต้องหมั่นดูแลเพื่อไม่ให้ครามเน่า ชาวบ้านเรียกว่าครามยังมีชีวิต ถ้าครามเน่าเสีย หรือครามตายแล้ว จะเรียกว่า ครามหนีไปแล้ว!
ลวดลายอันสวยงาม สลับซับซ้อน และวิจิตรพิสดาร ของผ้าไหมยกดิ้นทองบ้านท่าสว่าง ส่วนใหญ่จะเป็นการทำตามออร์เดอร์ โดยเฉพาะส่งเข้าวัง
นี่คือความสลับซับซ้อนของกี่ทอผ้าบ้านท่าสว่าง จริงๆ ยังมีลึกลงไปใต้ดินอีก โดยมีช่างประจำอยู่ด้านล่าง ไม้ไผ่ซี่เล็กๆ ที่เห็นเรียกว่า “ตะกอ” ย่ิงมีจำนวนตะกอมาก ความซับซ้อนของลายก็ยิ่งสุดยอด!
พอเดินชมสาธิตวิธีการทอผ้าไหมยกดิ้นทองในโรงทอแล้ว ก็ได้เวลาออกมาเดินช้อปปิ้งผ้าไหมบ้านท่าสว่าง อุดหนุนชาวบ้าน
สอบถามเพิ่มเติม ททท. สำนักงานจังหวัดสุรินทร์ โทร. 0-4451-4447-8
Traveler’s Guide :
การเดินทางสู่บ้านท่าสว่าง อยู่ในอำเภอเมืองจังหวัดสุรินทร์ โดยอยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศเหนือ 10 กิโลเมตร ใช้ถนนสายเกาะลอย-เมืองลิง (ทางหลวงชนบท สร.4026) จากตัวเมืองสุรินทร์ เป็นถนนลาดยางตลอด
เปิดให้เข้าชมเวลา 08.00-17.00 น. โทร. 08-9202-7009, 0-4455-8489-90 (อาจารย์วีระธรรม ตระกูลเงินไทย, คุณสุมาลี ติดใจดี)
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!