Balloon International Festival 2010 @นครนายก

2

สำหรับโลกยุคปัจจุบันที่ทุกอย่างจะดูทันสมัยไปซะหมด และเทคโนโลยีล้ำยุคได้เข้ามาชี้นำชีวิตของเรา การเดินทางด้วยพาหนะต่างๆจึงรวดเร็ว ไม่ต้องเสียเวลาเหมือนในอดีต แต่เราก็ต้องแลกมาด้วยการใช้พลังงานที่ปลดปล่อยก๊าซเรือกระจกออกมาสร้างภาวะโลกร้อน ถ้ามานั่งคิดดูให้ดี ก็เหลือพาหนะอยู่ไม่กี่แบบที่ยังคงใช้พลังงานธรรมชาติอย่างแท้จริง โดยเฉพาะพลังงานลม “บอลลลูน” (Balloon) คือหนึ่งในพาหนะชนิดนั้น ที่มนุษย์ตัวเล็กๆอย่างเราคิดค้นขึ้นมา ด้วยความหวังว่าจะบินได้เหมือนนก !

3

สำหรับคนไทย บอลลูนอาจเป็นพาหนะแปลกประหลาดราวกับจานบินแห่งฟากฟ้า ทว่าสำหรับประเทศในแถบยุโรปและอเมริกา เขารู้จักพาหนะชนิดนี้มาตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1700 แล้ว กระทั่งล่วงเข้าถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 บอลลูนจึงมีการพัฒนาให้ล้ำยุค สามารถใช้ขนส่งคน ส่ิงของ สอดแนมทางทหาร และใช้เพื่อการพาณิชย์หรือท่องเที่ยวในเวลาต่อมา แต่ถ้าจะถามว่าชาติใดสามารถคิดค้นบอลลูนได้เป็นชาติแรกของโลก คำตอบคือ “จีน” นั่นเอง ส่วนพี่ไทยก็คงจะมีโคมลอยแถวภาคเหนือเท่านั้นล่ะที่พอจะใกล้เคียงบอลลูนบินได้ของยุโรปมากที่สุด

            บอลลูนแบ่งเป็นหลายประเภท อาทิ บอลลูนลมร้อน (Hot Air Balloon) ที่เติมลมร้อนเข้าไปจึงบินได้ แต่บินไม่ค่อยสูงนัก ส่วนที่บินได้สูงจริงๆ และมีการปรับระดับความสูงขึ้นลงได้ อีกทั้งยังบินได้ไกลมากก็คือ บอลลูนก๊าซ (Gas Balloon) ที่ใช้ก๊าซฮีเลียม (ปัจจุบันไม่ค่อยนิยมเนื่องจากติดไฟง่ายเกินไป) ไฮโดรเจน (ได้รับความนิยมสูง แต่ราคาแพง) โพรเพน (เป็นก๊าซเติมบอลลูนที่ปลอดภัยกว่าสองชนิดแรก) ฯลฯ อัดเข้าไปในลูกบอลลูนเส้นใยสังเคราะห์ ซึ่งเจ้าพวกนี้เองที่มาทำการบินอยู่ในจังหวัดนครนายกของเรา

4

5

6

7

8

การบินบอลลูนในเมืองไทยยังรู้จักกันในหมู่คนจำกัด ไม่แพร่หลาย เพราะผู้ที่จะเป็นเจ้าของและทำการบินได้ต้องมีงบประมาณส่วนตัวสูงลิบ เข้าขั้นสิบล้านบาท ส่วนนักท่องเที่ยวที่อยากได้รับประสบการณ์บินบอลลูนสักครั้งในชีวิต ก็ต้องควักกระเป๋าจ่ายครั้งละไม่ต่ำกว่า 6,000-8,800 บาท ต่อการบินบอลลูนเพียง 1 ชั่วโมง ด้วยเหตุนี้เองงานเทศกาลบอลลูนนานาชาติจึงเปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้สัมผัสบอลลูนของจริงอย่างใกล้ชนิด

9

ในเช้าตรู่วันที่อากาศดี ฟ้าปลอดโปร่ง ลมไม่แรงจัด นักบินบอลลูนจะทำการตรวจข่าวพยากรณ์อากาศ จากนั้นก็ปล่อยบอลลูนตรวจอากาศลูกเล็กๆ เรียกว่า Spy Ball ขึ้นสู่ท้องฟ้า เพื่อดูว่าลมบนแรงแค่ไหนและพัดไปทางทิศใด เมื่อเห็นว่าเหมาะสมแล้ว นักบินพร้อมทีมลูกเรือก็จะช่วยกันกางบอลลูนขึ้น โดยบอลลูนแต่ละลูกจะแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ ส่วนของลูกโป่งอัดก๊าซหรือลมร้อน และส่วนตะกร้าผู้โดยสารที่ห้อยอยู่ด้านใต้ การเตรียมการทั้งสองส่วนนี้จะทำพร้อมกันอย่างรวดเร็วตั้งแต่เช้าตรู่ เพื่อแข่งกับอุณหภูมิอากาศที่ร้อนขึ้นเรื่อยๆ เพราะหากปล่อยให้สาย เที่ยง หรือบ่ายแล้ว อากาศเมืองไทยเราจะร้อนเกินไป บอลลูนจะลอยไม่ค่อยขึ้น หรือถ้าลอยขึ้นก็บินไปไหนไม่ได้ไกล เนื่องจากการที่บอลลูนบินได้ก็ด้วยเหตุที่มีความต่างของอุณหภูมิภายนอกและในบอลลูนนั่นเอง พูดง่ายๆคือ บอลลูนเบากว่าอากาศภายนอก มันจึงล่องลอยไปไหนมาไหนได้พร้อมกระแสลม

10

11

เมื่อตะกร้าถูกติดสลิงขึงไว้กับลูกบอลลูนที่พองตัวขึ้นเต็มที่แล้ว กัปตันก็จะเติมก๊าซร้อนเข้าไปจนเต็ม ทำให้บอลลูนสีสดใสค่อยๆลอยขึ้นอย่างช้าๆ ผู้โดยสารที่มาคอยอยู่แล้วจึงต้องรีบขึ้นบอลลูนให้ทัน วันนี้โชคไม่ดี เราไม่สามารถปล่อยตัวบอลลูนจากหน้าเขื่อนขุนด่านปราการชลได้ เนื่องจากเกิดลมหมุนในอากาศ จึงต้องมาปล่อยตัวกันบริเวณสนามกีฬาจังหวัดนครนายก เมื่อลูกโป่งยักษ์ค่อยๆลอยขึ้นเหนือพื้นอย่างเชื่องช้า ทีแรกจะเกิดความรู้สึกหวิวเล็กน้อย แต่เมื่อผ่านไปสักพักเราก็จะชินกับสายลมอ่อนๆ บนท้องฟ้าใส ได้เห็นวิวภูเขา ทุ่งนา บ้านเรือนผู้คน มีฝูงนกออกบินหากินในยามเช้า พร้อมกับแสงอาทิตย์อ่อนๆ สาดส่องมาอาบบอลลลูนและตัวเราจนอบอุ่น ขณะที่บอลลูนถูกพัดพาไปตามกระแสลม ดูวิวไปเพลินๆ และถ่ายภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึก ก็ลองมาสำรวจในตะกร้าผู้โดยสารกันบ้าง ตะกร้าของบอลลูนสานขึ้นจากหวายเส้นใหญ่เป็นทรงสี่เหลี่ยม สูงประมาณ 150 เซนติเมตร ถ้าเป็นตะกร้าเล็กจะจุคนได้ไม่เกิน 4 คน แต่ถ้าเป็นตะกร้าใหญ่ก็ไม่เกิน 6 คน

12

13

14

15

16

17

การบินระยะทางใกล้ๆ จะใช้ก๊าซ 2 ถัง ส่วนการบินไกลๆ อย่างการบินข้ามเทือกเขาแอลป์ในยุโรป ก็ต้องใช้ถังก๊าซไม่น้อยกว่า 4 ถัง และมีการสำรวจจุดลงไว้ล่วงหน้า บนบอลลูนของเรายังมีเครื่องวัดความสูง และความเร็วลมอยู่ด้วย บวกกับประสบการณ์ของกัปตัน จึงไม่ต้องกังวล เพราะเขาคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ทำให้เราสนุกกับการล่องลอยไปพร้อมกระแสลมครั้งนี้ สิ่งที่รู้สึกได้ก็คือ “ความอิสระเสรี” มีเพียงตัวเรากับความสูงและความเวิ้งว้างของอากาศรอบๆตัว ไม่มีกระจกกั้นเหมือนนั่งเครื่องบิน ได้สูดอากาศบริสุทธิ์เบื้องบน ผิวหนังได้สัมผัสความเย็นของอากาศ อีกทั้งได้ชมวิวรอบตัวแบบ 360 องศา สุดสายตาพาโนรามา สุดยอดจริงๆเลย

18

ก่อนจะลงจอดบนพื้น กัปตันบอลลูนชาวอเมริกาที่ไปอาศัยอยู่ในอิตาลีมกว่าสิบปี และปัจจุบันเป็นครูสอนบินบอลลูนด้วยบอกว่า ในโลกปัจจุบันนี้มีพาหนะอยู่เพียง 2 อย่างที่ยังอาศัยพลังธรรมชาติเพื่อการเดินทางอย่างแท้จริง คือ เรือใบและบอลลูน โดยทั้งสองอย่างนี้พึ่งพลังงานลมด้วยกันทั้งคู่ ถ้าเราสามารถนำพลังงานสะอาดชนิดนี้มาทดแทนน้ำมันได้ก็คงดี

19

20

ประมาณ 1 ชั่วโมงที่ล่องลอยอยู่บนท้องฟ้า ไปพร้อมกับบอลลูนอีกเกือบยี่สิบลูก และเพื่อนๆที่ขึ้นบินบอลลูนพร้อมกัน มันช่างรวดเร็วเหมือนฝัน ทำไมนะ เวลาแห่งความสุขจึงหมดไปอย่างรวดเร็วเช่นนี้ แต่มันก็เป็นสุดยอดประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิต ที่ลืมไม่ลงจริงๆ

21

1841

 

Traveller’s Guide

Best season : ปัจจุบันบินได้ตลอดปีในช่วงเากาศเหมาะสม แต่ดีที่สุดคือฤดูหนาว-ต้นฤดูร้อน ประมาณปลายเดือนตุลาคม-ต้นเดือนมีนาคม โดยเทศกาลงานบอลลูนนานาชาติ จะหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันไปตามจังหวัดต่างๆ ที่มี location เหมาะสม โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่

More info : บริษัท เอิร์ท วินด์ แอนด์ ไฟร์ จำกัด โทร. 0-5329-2224 เว็บไซต์ www.thailandadventuresports.com

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *