เที่ยวย้อนอดีต 3 วัง เพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์

2

“เขาวัง” หรือพระนครคีรี พระราชวังฤดูร้อนของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งสร้างเป็นกลุ่มของพระราชวังทรงยุโรปผสมศิลปะไทย และมีวัดประจำวัง ตั้งอยู่บนยอดเขากลางเมืองเพชรอย่างสวยงามโดดเด่น จากบนยอดเขานี้สามารถมองออกไปได้กว้างไกล สุดลูกหูลูกตา โดยเฉพาะในฤดูร้อนดอกลั่นทม (ดอกลีลาวดี) สีขาวที่มีอยู่นับพันๆ ต้นบนเขาวัง จะบานสะพรั่งพร้อมกันเป็นภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจมาก เวลาขึ้นไปอยู่บนเขานี้แล้ว จะมีลมพัดพรูตลอดเวลา ชื่นใจจริงๆ สมัยโบราณรัชกาลที่ 4 ท่านจะทรงเสลี่ยงคานหามขึ้นเขาวัง ส่วนข้าราชการชั้นสูงก็ขี่ม้า และไพร่พลต่างๆ ก็เดินตามขึ้นไป แต่สมัยนี้สะดวกแล้ว เขามีรถรางไฟฟ้า 2 คัน ให้ขึ้นจากด้านหลังเขาครับ

3

เล่ากันว่าตั้งแต่สมัยโบราณมาจนถึงยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น เมืองเพชรบุรีเป็นแหล่งผลิตน้ำตาลใหญ่ที่สุดของประเทศ เพราะสมัยก่อนน้ำตาลจะได้มาจากต้นตาล, อ้อย และมะพร้าว เท่านั้น เพชรบุรีเป็นแหล่งผลิตน้ำตาลโตนดที่ทำรายได้ภาษีให้หลวงปีละหลายล้าน (หลายล้านบาทสมัยโบราณ ก็คงเท่ากับเป็นพันๆ ล้านบาทต่อปีในสมัยนี้!) แต่ปรากฏว่า ข้าราชการที่เก็บภาษีน้ำตาลโตนดเมืองเพชรส่งภาษีที่เก็บได้เข้าคลังไม่ครบ รัชกาลที่ 4 จึงทรงประณีประณอม ด้วยการใช้กุศโลบายบอกว่า งั้นก็ไม่ต้องเอาเงินมาคืนหรอก ให้สร้างวังบนเขาวังขึ้นแทนละกัน! กลุ่มพระราชวังทั้งหมดที่เราเห็นตรงนี้ จึงเกิดขึ้นได้จริงเพราะภาษีน้ำตาลโตนดล้วนๆ เลยครับ แต่พอสร้างเสร็จปรากฏว่าบนเขาวังไม่มีแหล่งน้ำจืดเลย ต้องอาศัยชาวลาวโซ่งที่อยู่กันมากรอบๆ เขาวัง ช่วยกันหาบน้ำขึ้นมาบนเขาวังทุกวัน! ชาวลาวโซ่งจึงได้รับการยกเว้นภาษีจากหลวงเรื่อยมา

4

5

 บนเขาวังทุกวันนี้มีการบูรณะปรับปรุงดูแลภูมิทัศน์ให้อยู่ในสภาพดี เหมือนครั้งสุดท้ายที่เคยใช้งาน ต้อนรับกษัตริย์และพระราชินีจากเยอรมนี เครื่องเรือน ภาพวาด โต๊ะเก้าอี้ เครื่องถ้วยโถโอชามต่างๆ ล้วนมีความเป็นยุโรปทั้งสิ้น เล่ากันว่าครั้งกษัตริย์เยอรมนีเสด็จพักบนเขาวัง มีการสั่งให้ร้อยมาลัยดอกไม้สด ห้อยไว้ในทุกบานหน้าต่างบนเขาวังตลอดเวลา! กลิ่นนั้นหอมหวนมากจนกระทั่งกษัตริย์และราชินีเยอรมนี ทรงบันทม (นอนหลับ) ไม่ได้! เพราะกลิ่นนั้นหอมเกินไป! จึงต้องรื้อมาลัยดอกไม้บางส่วนออกกันเลยทีเดียว

6

1

“พระรามราชนิเวศน์” หรือพระราชวังบ้านปืน ซึ่งล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ทรงรับสั่งให้สถาปนิกเยอรมันสร้างขึ้น แต่ยังไม่ทันสร้างเสร็จ พระองค์ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน! รัชกาลที่ 6 ท่านจึงทรงเข้ามาสานต่อจนสร้างเสร็จ แต่ก็ไม่เคยมีการเสด็จมาประทับอย่างจริงจัง มีเพียงครั้งที่รัชกาลที่ 6 ทรงเสด็จมาทอดพระเนตรการฝึกเสือป่า อยู่เพียงไม่กี่วัน ทุกวันนี้เราจึงเห็นได้ว่าภายในพระราชวังบ้านปืนแทบไม่มีเครื่องเรือนอะไรเลย มีเพียงแค่พอใช้งานเท่านั้น เล่ากันว่าวังใหญ่โตมโหฬารนี้สร้างด้วยเงินทุนเพียง 900,000 บาท! ที่ใช้เงินน้อยกว่าวังอื่นๆ เพราะมีเพียงส่วนพื้นเท่านั้นที่ปูหินอ่อน (เป็นหินอ่อนจากเหมืองที่ดีที่สุดในโลก ของประเทศอิตาลี ซึ่งเหลือจากการสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม) ตัววังสร้างแบบยุโรป เป็นสองชั้นงดงามยิ่ง โดยสร้างอยู่ติดกับแม่น้ำเพชรบุรี อันเป็นแม่น้ำที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ท่านทรงโปรดมากที่สุด กว่าแม่น้ำสายใดในสยาม

7

 ครั้งแรกสร้างพระราชวังบ้านปืน มีการปั้นรูปพระรามถือคันศรตั้งไว้หน้าวัง โดยเขาเรียกคันศรนั้นว่า “ปืน” ต่อมามีการย้ายรูปปันนี้ออกไป แล้วนำพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 มาประดิษฐานแทน แต่ผู้คนก็ยังเรียกวังแห่งนี้ว่า “พระราชวังบ้านปืน” กันจนติดปากมาทุกวันนี้ เกร็ดประวัติศาสตร์อีกอย่าง ที่ไม่ค่อยมีใครรู้ก็คือ ที่วังนี้มีสนามเทนนิสแห่งแรกในเมืองไทยอยู่ด้วย! แต่ปัจจุบันถูกเปลี่ยนเป็นสวนแล้ว

8

12

“พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน” พระราชวังแห่งความรัก และความหวัง ที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ทรงโปรดให้สร้างขึ้นในบริเวณชายหาดที่สวยที่สุดของเพชรบุรี มีความร่มรื่น เงียบสงบ เดิมที่ตรงนี้ชาวบ้านเรียกว่า “ห้วยทราย” หมายถึงห้วยน้ำไหล ที่มีกวางเนื้อทรายมาลงกินน้ำอยู่เป็นประจำ พระราชนิเวศน์มฤคทายวันเป็นวังโบราณแห่งเดียว ที่ยังไม่มีการถอนสิทธิ์ความเป็นวังออกไป จึงยังคงมีสภาพเป็นเขตพระราชฐานส่วนพระองค์ออก เวลาเราเข้าไปเที่ยวจึงต้องปฏิบัติตามกฎต่างๆ อย่างเคร่งครัด

9

10

ที่นี่เป็นวังชายทะเลแห่งแรกของกษัตริย์ไทย สร้างด้วยไม้เป็นทรงโปร่งโล่งสบาย รับลมได้ตลอดวัน จากตำหนักด้านหน้า (ส่วนที่ผู้ชายอยู่) มีระเบียงทางเดินเชื่อมถึงกันตลอดไปยังตำหนักใน (ส่วนที่ผู้หญิงอยู่) และมีระเบียงทอดยาวไปลงทะเลด้วย เล่ากันว่ารัชกาลที่ 6 ทรงโปรดการเล่นน้ำทะเลที่นี่มาก เวลาทรงลงเล่นน้ำ จะมีข้าราชบริพารประมาณ 20 คน ล้อมรอบพระองค์ไว้ แต่ละคนถือสวิงตักแมงกะพรุน คอยระวังไม่ให้แมงกะพรุนหลุดรอดเข้าไปต้องพระองค์ได้

11

14

15

13

16

17

18

21

 “วัดใหญ่สุวรรณาราม” พระอารามหลวงที่ถือว่าสำคัญที่สุดในเมืองเพชรทุกวันนี้ วัดนี้มีอดีตยาวนานย้อนไปได้ถึงยุคกรุงศรีอยุธยาตอนปลายโน่น เป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชแตงโม พระอริยสงฆ์ชื่อดังที่สมเด็จพระเจ้าเสือทรงนับถือมาก พระองค์จึงโปรดให้รื้อท้องพระโรงจากอยุธยา มาประกอบขึ้นใหม่ถวายเป็นศาลาการเปรียญให้สมเด็จแตงโม ทุกวันนี้ก็ยังอยู่ในสภาพดีเยี่ยมอย่างไม่น่าเชื่อ! นักประวัติศาสตร์เชือ่กันว่าศาลาไม้หลังนี้เคยใช้เป็นท้องพระโรงออกว่าราชการของพระเจ้าเสือ ปัจจุบันจึงเป็นพระที่นั่งไม้เพียงหลังเดียวจากยุคกรุงศรีอยุธยาแท้ๆ ที่เหลือรอดจากการเผ่าของพม่ามาให้เราชม ภายในงดงามด้วยการเข้าเครื่องไม้ การลงรักปิดทอง และภาพวาดฝีมือชั้นครู ส่วนในพระอุโบสถวัดใหญ่ฯ ก็มีภาพเทพชุมนุมอันงดงาม สะท้อนเอกลักษณ์พุทธศิลป์ของกรุงศรีอยุธยาตอนปลายได้ชัดเจน

22

 

23

24

25

19

20

Traveler’s Guide

When to go : เที่ยวเส้นทาง 3 วัง ได้ตลอดปี แต่เดือนพฤษภาคม-ตุลาคม มีฝนตกบ้าง

How to go : รถยนต์จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2 หรือธนบุรี-ปากท่อ) ผ่านสมุทรสาคร สมุทรสงคราม อำเภอปากท่อ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 4 (แยกวังมะนาว) ถึงจังหวัดเพชรบุรี รวมระยะทาง 123 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมงครึ่ง หรือใช้ทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ผ่านนครปฐม ราชบุรี ไปยังเพชรบุรี รวมระยะทาง 166 กิโลเมตร จากนั้นถ้าจะไปหัวหินต่อ ก็เดินทางแค่ 66 กิโลเมตรเท่านั้น

Where to stay : แนะนำ The Regent Chalet Resort Beach หาดชะอำ โทร. 0-3250-8140-3 www.regent-chaam.com เป็นรีสอร์ทสไตล์บ้านพักเป็นหลังๆ ริมทะเล ร่มรื่นเงียบสงบดี

What to eat : ร้านอาหารพวงเพชร โทร. 0-3242-6753, 0-3241-1380 เมนูเด็ดมีเพียบ เช่น ผัดฉ่าหอยเสียบ, ปลากะพงทอดราดน้ำปลา, หมึกทอดกระเทียม, ต้มยำทะเล ฯลฯ / ร้านอยู่เย็น บัลโคนี่ ถนนแนบเคหาสน์ ริมหาดหัวหิน โทร: 0-3253-1191 อาหารยอดฮิต เช่น ฉู่ฉี่ปลาทู, ปลาทูต้มส้มใบมะขาม, ผัดฉ่าทะเลรวม, ห่อหมกทะเลมะพร้าวอ่อน, หอยตลับผัดฉ่า, กุ้งมรกต ฯลฯ

Souvenirs : อาหารทะเลแห้ง, โมบายเปลือกหอย, โปสการ์ด เสื้อยืด หัวหิน เพชรบุรี, หมวก และของที่ระลึกเก๋ไก๋ จากพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน, ผ้าโขมพัสตร์ หัวหิน, ผ้าบาติกเขาตะเกียบ ฯลฯ

More Info : บริษัท Great Happiness Co.,Ltd. โทร. 0-2153-8119-20, 08-6366-9708 แฟกซ์ 0-2153-8120 www.selfdrivethailand.com , www.facebook.com/selfdrivethailand

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *