เที่ยวนครพนมริมโขง เชื่อมโยงวัฒนธรรมเพื่อนบ้าน (ตอน 1)
นครพนม เมืองที่เคยได้รับการโหวตให้เป็น “เมืองน่าอยู่ที่สุดในโลก” เพราะเมืองริมลำน้ำโขงแห่งนี้มีบรรยากาศเนิบช้า น่าอยู่ ใครได้ไปสัมผัสก็จะรู้สึกเย็นกายเย็นใจ ที่สำคัญคือลำน้ำโขงที่ไหลเลียบตลอดริมฝั่งนครพนม ได้นำพาความชุ่มชื่นมาสู่คนถิ่นนี้ เชื่อมโยงไปถึงเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน ในฝั่งลาวซึ่งอยู่ตรงข้ามกัน โดยทุกวันนี้สามารถท่องเที่ยวเชื่อมโยงไปมาได้สบาย ด้วยสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 ทำให้นครพนม และเมืองท่าแขก กลายเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงที่ชิลมากๆ
เมื่อวันที่ 19-21 มีนาคม 2558 จังหวัดนครพนม โดยสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จังหวัดนครพนม ได้สร้างสรรค์ทริปดีๆ “เส้นทางท่องเที่ยวแม่น้ำโขง เชื่อมโยงวัฒนธรรมประเทศเพื่อนบ้าน ไทย ลาว” มีกิจกรรมแห่งความสุข ณ นครพนม เพื่อพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวริมแม่น้ำโขง โดดเด่นด้วยการตระเวนกราบพระธาตุสำคัญหลายองค์ เพื่อความเป็นสิริมงคลของชีวิต แถมยังได้ล่องเรือออกไปกลางลำน้ำโขง เพื่อบูชาพญานาค ซึ่งชาวนครพนมและพี่น้องฝั่งลาวต่างเคารพบูชามาหลายชั่วอายุคนแล้ว
เริ่มต้นทริปสุขสันต์ ด้วยการกราบไหว้ “พระธาตุท่าอุเทน” ในอำเภอท่าอุเทน ริมลำน้ำโขงนครพนม เป็นพระธาตุประจำคนเกิดวันศุกร์ และภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุซึ่งนำมาจากเมืองย่างกุ้งของพม่าในครั้งอดีต พระธาตุท่าอุเทนมีลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยม สร้างแบบก่ออิฐถือปูน สูง 15 เมตร โดยสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2454 เมื่อกราบพระธาตุ และถวายผ้าห่มองค์พระธาตุแล้ว ก็ควรเข้าวัดฟังเทศน์ฟังธรรม ถวายสังฆทานกันด้วยหากมีเวลา ยิ่งกว่านั้น นครพนมยังเคยเป็นส่วนหนึ่งของ “อาณาจักรศรีโคตรบูร” ซึ่งเคยกินอาณาเขตทั้งสองฝั่งโขงบริเวณนี้เลยในอดีต
อำเภอท่าอุเทน ยังเป็นถิ่นที่ตั้งชุมชนของชนเผ่า “ไทญ้อ” ซึ่งพวกเขามีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ที่เมืองหงสา แขวงไชยบุรี ประเทศลาวในครั้งอดีต ต่อมาจึงมีการอพยพข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาตั้งบ้านเมืองใหม่อยู่ที่เมืองไชยบุรี มาจวบจนปัจจุบัน
นี่คือบริเวณปากแม่น้ำสงคราม บริเวณตำบลไชยบุรี อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม โดยแม่น้ำสงครามได้ไหลออกมาบรรจบกับแม่นำ้โขง เกิดเป็นแม่น้ำสองสี สีเขียวสดใสที่เห็นคือแม่น้ำสงคราม ส่วนสีน้ำตาลด้วยตะกอนขุ่นข้นคือแม่น้ำโขง กลายเป็นแหล่งอาศัยของปลาชุกชุม หล่อเลี้ยงปากท้องและวิถีประมงของชาวไทญ้อที่นี่มาหลายชั่วอายุคนแล้ว
มาถึงตำบลไชยบุรีแล้วห้ามพลาด ชิม “ปลาส้ม” ที่อร่อยจนหยุดไม่ได้ เพราะความเปรี้ยวกำลังดี เนื้อนุ่ม กินกับข้าวเหนียว ข้าวสวยร้อนๆ แล้วหยิบหอมแดงเจียวกับกระเทียมเจียวกินตามเข้าปากไป โอ้โห แซ่บอีหลี แต่ถ้ายังกินไม่สะใจ เขาก็มีเป็นของฝากให้ซื้อกลับไปกินต่อที่บ้านด้วยนะจ๊ะ
พี่อุ๊ CEO แห่งบริษัท Win Win Smile Co., Ltd. นำนักท่องเที่ยว พร้อมผู้ประกอบการท่องเที่ยว และสื่อมวลชน นั่งรถสามล้อสกายแลป และปั่นจักรยาน ตามเส้นทางท่องเที่ยวริมน้ำอำเภอไชยบุรี ซึ่งปัจจุบันกำลังมีการปรับปรุงเป็นเส้นทางห้ามรถยนต์ผ่าน ปล่อยให้เป็นเส้นทางเดินเล่นชมวิวริมโขง เหมาะสำหรับการปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพ เกิดเป็นกิจกรรมใหม่สำหรับนักท่องเที่ยวจ้า
ทริปนี้ มีพี่น้องสื่อมวลชนจากเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน ประเทศลาว เข้ามาร่วมสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ริมโขงนครพนมด้วย นี่สิ ถึงจะเรียกว่าเป็นการเชื่อมโยงสายใยผู้คนและการท่องเที่ยวเข้าด้วยกันอย่างแท้จริง
เส้นทางปั่นจักรยานและเดินชมวิวริมลำน้ำโขง ตำบลไชยบุรี ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร กำลังจะมีการปรับปรุงใหม่
ปั่นจักรยานกันสนุก วิวทั้งสวย แถมยังมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ให้สัมผัสกันด้วยในเส้นทางนี้
เนื่องจากเมืองเก่าไชยบุรี (หรือตำบลไชยบุรี ปัจจุบัน) ความจริงแล้วเป็นเมืองโบราณที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมาก ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกโดยชาวไทญ้อ ที่อพยพมาจากแขวงไชยบุรี ประเทศลาว นับถึงปัจจุบันก็มีอายุไม่น้อยกว่า 204 ปีแล้ว ปัจจุบันจึงยังคงปรากฏซากโบราณสถานและวัดน้อยใหญ่ เป็นวัดโบราณที่เด่นด้วยศิลปะล้านช้างแบบลาว กระจายอยู่ตามริมโขงแถบนี้หลายสิบแห่ง ซึ่งทางจังหวัดนครพนมกำลังมีการบูรณะ พัฒนา เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ภายในปี 2558 นี้ล่ะ ใจเย็นๆ ได้เที่ยวกันแน่ โดยเฉพาะคนที่รักชอบเรื่องประวัติศาสตร์ อาทิ วัดไตรภูมิ และวัดกลาง เป็นต้น
ลักษณะเด่นของวัดโบราณที่ยังหลงเหลืออยู่ริมโขงตำบลไชยบุรีก็คือ สิม (คือ โบสถ์) แบบอีสาน ที่มีลักษณะเล็กๆ แต่ตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นแบบล้านช้าง แสดงถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรม พืช และสัตว์ ของแถบนี้ในอดีต ซึ่งส่วนใหญ่ผู้สร้างก็คือช่างพื้นบ้าน ลวดลายต่างๆ จึงสะท้อนวิถีประจำวันของชาวไทญ้อและชาวนครพนมเมื่อครั้งกาลก่อน
บ้านพนอม ตำบลพนอม อำเภอท่าอุเทน ยังมีแหล่งท่องเที่ยว Unseen ที่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้อยู่ด้วย นั่นคือ “แหล่งเรียนรู้ไดโนเสาร์ อำเภอท่าอุเทน” ซึ่งมีรอยเท้าไดโนเสาร์ อายุ 100 ล้านปี ฝังอยู่ในหินทรายสีแดงมากถึง 199 รอย แบ่งเป็นแนวยาวถึง 32 แนว โดยมีทั้งไดโนเสาร์กินพืชและกินเนื้อ ชนิดเด่นๆ เช่น อิกัวโนดอน, ออร์นิโธนิโมซอ (ไดโนเสาร์นกกระจอกเทศ), จระเข้ขนาดเล็ก ฯลฯ โดยเราสามารถเดินขึ้นไปชมได้อย่างสะดวกสบาย จะเห็นรอยเท้าของพวกมันปรากฏอยู่บนพื้นหินทรายอย่างชัดเจน เป็นรูปตีนสามนิ้ว Amazing มากๆ ลองนึกจินตนาการดูสิ ว่าครั้งหนึ่งเคยมีไดโนเสาร์เดินท่อมๆ อยู่ในภาคอีสานด้วย ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อล่ะ
ออกจากแหล่งเรียนรู้ไดโนเสาร์ท่าอุเทน เราก็มุ่งหน้าไปต่อที่ “วัดพุทธนิมิต” ตำบลหนองเทา อำเภอท่าอุเทน วัดนี้เป็นสถานปฏิบัติธรรมริมโขงในลักษณะวัดป่า แต่ส่วนหน้าสุดของวัด ก็มีพระอุโบสถอันสวยงามวิจิตรตระการตา แสดงถึงพลังศรัทธาของพุทธศาสนิกชนที่ร่วมกันก่อสร้าง ความโดดเด่นคือลวดลายตามช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง ของพระอุโบสถแห่งนี้ ได้เห็นแล้วอดไม่ได้ที่จะทำให้นึกถึงวัดร่องขุ่น จังหวัดเชียงราย ราวกับเป็นฝาแฝดกัน
ภายในพระอุโบสถของวัดพุทธนิมิต มีภาพจิตรกรรมฝาผนังแนวร่วมสมัยฝีมือชั้นครู สะท้อนถึงเรื่องราววิถีพื้นถิ่นในอดีต บวกกับปริศนาธรรม และพุทธประวัติ ชวนให้นั่งชมอยู่นานๆ ก็ไม่เบื่อ
เมื่อเดินจากพระอุโบสถ ลึกเข้าไปในพื้นที่ป่าด้านหลังวัด ใกล้แม่น้ำโขงเข้าไปเรื่อยๆ เราก็จะได้พบกับบรรยากาศอันวิเวก สงบสงัด เหมาะแก่การฝึกจิตปฏิบัติธรรมในลักษณะวัดป่าอย่างแท้จริง โดยท่านเจ้าอาวาสยังคงรักษาสภาพป่าไม้ และแม่ไม้ขนาดใหญ่ ต้นโตๆ หลายคนโอบ ไว้ได้อย่างสมบูรณ์
ในบริเวณริมลำน้ำโขงของวัดพุทธนิมิต กำลังมีการก่อสร้างพระปางสมาธิขนาดใหญ่ สูงไม่ต่ำกว่า 30-40 เมตร พร้อมกับมีการสร้างเขื่อนริมน้ำ และมีเส้นทางปั่นจักรยานเที่ยวริมลำน้ำโขง เตรียมต้อนรับเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ ในอำเภอท่าอุเทน ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกันภายในปี 2558 นี้ล่ะ
กลับจากอำเภอท่าอุเทน เข้าสู่ตัวเมืองนครพนม ก็ค่ำพอดี เราเลยชวนกันไปนั่งรถพ่วงเที่ยวเล่น ชมแสงสียามเย็น และความคึกคักของวิถีชีวิตริมโขงหน้าเมืองนครพนม
โชคดีมาเที่ยวตรงวันเสาร์ ที่ถนนเมืองเก่าริมโขงนครพนม เขาเลยมีการปิดถนน จัดเป็นถนนคนเดิน โดยเฉพาะตรงหน้าหอนาฬิกาเวียดนามอนุสรณ์ ถือเป็น Landmark สำคัญ มีสินค้าขายกันเพียบ ส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้าแฟชั่นวัยรุ่น ส่วนสินค้าพื้นบ้านวัฒนธรรมต่างๆ ยังไม่ค่อยมี
บ้านเก่าริมน้ำโขง ได้รับการฟื้นคืนชีวิต ตบแต่งหน้าตาใหม่จนสวดสดงดงาม ส่วนใหญ่กลายเป็นร้านอาหารวิวดี้ดี
ตระเวนเที่ยวกันมาตลอดวันแล้ว ได้เวลามานั่งชิลริมโขง ลิ้มลองอาหารพื้นเมืองอร่อยๆ พร้อมกับชมการแสดงของสาวเรณู ผู้ไท แห่งอำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม ที่ถือเป็นเอกลักษณ์เชิดหน้าชูตาจังหวัด จากนั้น ท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นายธวัช ศิริวัธนนุกูล ก็ได้กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการ “กิจกรรมท่องเที่ยวริมแม่น้ำโขง เชื่อมโยงวัฒนธรรมประเทศเพื่อนบ้าน” ในวันที่ 19-21 มีนาคม 2558 เพราะปัจจุบันนครพนมได้กลายเป็น “ประตูสู่อินโดจีน” และ HUB ของเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยง ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว 3 ก่อให้เกิดรายได้เข้าประเทศนับแสนล้านบาทต่อปี
หลังจากนั้น ก็มีการจัดพิธีบายศรีสู่ขวัญ บูชาพญานาคแห่งลำน้ำโขง และลอยเรือไฟ (ไหลเรือไฟ) แบบโบราณด้วย ยังความชื่นมื่นสุขใจให้แก่ผู้เข้าร่วมทริปทุกคน
การไหลเรือไฟแบบโบราณ ชาวบ้านอีสานจะช่วยกันสร้างเรือไฟขนาดเล็กขึ้นด้วยวัสดุธรรมชาติที่หาได้ โดยใช้หยวกกล้วย (ต้นกล้วย) ทำเป็นโครง แล้วน้ำใบตองกับดอกไม้ต่างๆ มาประดับให้งดงาม จากนั้นผู้ที่จะร่วมพิธี จะตัดผมและเล็บของตนออกมาเล็กน้อย นำไปใส่ในเรือไฟ เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ และมีการใส่เงินลงไปด้วย คล้ายๆ กับการลอยกระทงของคนไทยภาคกลางนั่นล่ะ
Special Thanks : จังหวัดนครพนม โดยสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จังหวัดนครพนม สนับสนุนการเดินทางเป็นอย่างดียิ่ง
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!