สัมผัสวัดเขาอ้อ สำนักตักศิลาแห่งไสยเวทย์ปักษ์ใต้ จ.พัทลุง

‘พัทลุง’ นามนี้คือดินแดนแสนสงบ แม้จะถูกจัดฐานะเป็นเมืองรองทางการท่องเที่ยว ทว่าคนที่เคยได้สัมผัส ‘พัทลุง’ อย่างลึกซึ้งแล้วจะรู้ว่า เมืองนี้มีเสน่ห์ น่ารัก น่าหลงใหล เป็นเมืองสงบเนิบช้า งดงามด้วยธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม และน้ำใจไมตรีของผู้คน อีกทั้งเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ ในน้ำมีปลาในนามีข้าว อยู่ติดกับทะเลน้อยและทะเลหลวง ซึ่งเป็นส่วนทิศเหนือของทะเลสาบสงขลา ห้วงน้ำใหญ่ที่ต่อเติมระบบนิเวศให้ยั่งยืนเมื่อกล่าวถึงแหล่งท่องเที่ยวทางศาสนาในพัทลุงแล้ว ชื่อ ‘วัดเขาอ้อ’ ต.มะกอกเหนือ อ.ควนขนุน ย่อมต้องโดดเด่นขึ้นมาเป็นที่หนึ่งอย่างแน่นอน ด้วยเหตุผลว่าวัดเขาอ้อคือศูนย์รวมของสรรพวิทยาการหลากหลายแขนงมานานหลายร้อยปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นไสยเวทย์ คาถาอาคม ยาสมุนไพรนานาชนิด ฯลฯ ก็ล้วนได้รับการคิดค้นสืบสานส่งต่อกันมาจากบูรพาจารย์วัดเขาอ้อในอดีต จนวัดแห่งนี้ได้รับการขนานนามให้เป็น ‘สำนักเขาอ้อ’ หรือ ‘สำนักตักศิลามหาเวทย์แห่งปักษ์ใต้’ เนื่องจากลูกศิษย์ลูกหาหลายท่านของวัดเขาอ้อ ล้วนเป็นผู้มีมนต์คาถาเข้มขลัง คงกระพันชาตรี มีวีรกรรมสำคัญจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะ ‘ขุนพันธ์’ (ท่านขุนพันธรักษ์ราชเดช) มือปราบหนังเหนียวแห่งปักษ์ใต้ ก็ได้เคยมาร่ำเรียนวิชาคาอาคม และอาบน้ำว่านในรางยาที่วัดเขาอ้อถึง 7 ครั้ง ครั้งละ 7 วัน ถือเป็นผู้เดียวในประวัติศาสตร์ที่ลงแช่ว่านอาบยาได้นานที่สุด ทำให้ขุนพัธ์กลายเป็นมือปราบหนังเหนียว และได้ออกปราบโจรผู้ร้าย เป็นที่ครั่นคร้ามไปทั่ว รอยพระพุทธบาทจำลอง บนเขาอ้อ จ.พัทลุงสำหรับผู้ที่มีความศรัทธาเป็นลูกศิษย์ลูกหาของวัดเขาอ้อ หรือนักท่องเที่ยวที่ชอบตระเวนไหว้พระ การมาเยือนวัดเขาอ้อสักครั้งในทริปพัทลุงถือว่าคุ้มสุดๆ เพราะจะได้พาตัวและหัวใจมาสัมผัสถึงถิ่นถึงที่ สำนักตักศิลาแห่งไสยเวทย์ที่เข้มขลังที่สุดของภาคใต้ ได้เดินขึ้นภูเขาไปกราบพระ นมัสการรอยพระพุทธบาทจำลอง และเดินเข้าไปภายในถ้ำฉัททันต์บรรพต ซึ่งเคยเป็นถ้ำที่เหล่าฤาษีและพราหมณ์ใช้บำเพ็ญพรตในอดีต ถือเป็นถ้ำศักดิ์สิทธิ์และบรรยากาศลึกลับมาก ภายในมีพระพุทธรูปปูนปั้นเรียงรายอยู่ตามผนัง และมีรางยาแช่ว่าน (จำลอง) ของท่านขุนพันธ์ ให้ชมด้วย ซึ่งของจริงในอดีตนั้นใช้เรือไม้ที่นอนได้ 2 คน นำเข้ามาตั้งไว้ในถ้ำ แล้วต้มน้ำว่านยา 108 ชนิดที่ปลุกเสกแล้ว มาเทลงในเรือไม้ให้นอนแช่ จนครบเวลาที่กำหนดตามพิธี
ปากทางเข้าถ้ำฉัททันต์บรรพต ซึ่งเคยใช้เป็นสถานที่บำเพ็ญพรตของฤาษีและพราหมณ์เมื่อหลายร้อยปีก่อนจริงๆ แล้วตามประวัติเล่ากันว่า สำนักเขาอ้อได้รับการก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 800 โดยพราหมณ์กลุ่มหนึ่งที่อพยพมาจากอินเดีย เนื่องจากในยุคนั้นศาสนาพุทธในชมพูทวีปกำลังรุ่งเรือง ศาสนาพราหมณ์ (ฮินดู) ที่เริ่มลดอิทธิพลลง จึงเคลื่อนออกจากชมพูทวีปมาหาฐานที่มั่นใหม่ เป็นยุคที่เรียกว่า ‘ดราวิเดียนยาตรา’ (ชาวดราวิเดียน คือชนพื้นเมืองดั้งเดิมของอินเดีย) โดยพราหมณ์เหล่านั้นได้ใช้ถ้ำที่เขาอ้อ เป็นศูนย์กลางถ่ายทอดสรรพวิชาวิทยาคมให้กับชนชั้นสูง ขุนนาง และลูกของกษัตริย์ จนกระทั่งถึงยุคที่ศาสนาพุทธได้เข้ามาตั้งมั่นที่เมืองนครศรีธรรมราชอย่างมั่นคงแล้ว และแผ่ลงมาถึงสำนักเขาอ้อด้วย เหล่าพราหมณ์จึงมอบวิชาพระเวทย์และวิทยาคมทั้งหมดไว้ให้กับ ‘พระอาจารย์ทอง’ วัดน้ำเลี้ยว และได้สืบทอดกันมาหลายร้อยปีจนถึงปัจจุบัน ทำให้วัดเขาอ้อมีความผสานผสมกลมกลืนของพุทธศาสนาและความเชื่อพิธีกรรมของพราหมณ์ อย่างเห็นได้ชัดเจนมากบรรยากาศภายในโถงถ้ำใหญ่ตรงกลาง ของถ้ำฉัททันต์บรรพต วัดเขาอ้อ จ.พัทลุงรางยาแช่ว่าน (จำลอง) ของขุนพันธ์ ภายในถ้ำฉัททันต์บรรพต วัดเขาอ้อ จ.พัทลุงบูรพาจารย์ผู้มีวิชาเข้มขลังของสำนักวัดเขาอ้อ ที่สืบสานสรรพวิชาอาคมมาถึงปัจจุบัน มีอยู่หลายท่านด้วยกัน ได้แก่ พราหมณ์ฤาษีพระอาจารย์ทอง, สมเด็จเจ้าจอมทอง, พระอาจารย์ไชยทอง, พระอาจารย์พรหมทอง, พระอาจารย์ทองในถ้ำ, พระอาจารย์ทองหน้าถ้ำ, พระอาจารย์ทองหูยาน, พระอาจารย์ทองเฒ่า และพระอาจารย์ปาล ซึ่งล้วนเป็นปรมาจารย์ของสำนักเขาอ้อทั้งสิ้น นอกจากความเชื่อเรื่องไสยเวทย์ สรรพวิทยาคม และเครื่องลางของขลังอันศักดิ์สิทธิ์ที่วัดเขาอ้อแล้ว ในแง่ของการท่องเที่ยว เราสามารถเข้าไปเที่ยวชมหรือกราบพระกันได้ตลอดปี โดยเฉพาะในช่วงเดือน 5 และเดือน 10 ของทุกปี ที่จะมีการจัด ‘พิธีไหว้ครูบูรพาจารย์เขาอ้อ’ มีการจัดพิธีสำคัญๆ ขึ้นมากมาย ตั้งแต่การแช่ว่านอาบยา (ปัจจุบันรับได้เพียงปีละ 6-12 คน) พิธีสะเดาะห์เคราะห์ต่อชะตา พิธีหุงข้าวเหนียวดำ และพิธีกินเหนียวกินมัน จะมีลูกศิษย์ลูกหาและผู้ศรัทธาจากทั่วประเทศหลั่งไหลเข้าร่วมงานดังกล่าว ตลอด 3 วัน 3 คืน จำนวนหลายพันคน นับว่าน่าตื่นตาตื่นใจและน่าตื่นเต้นมาก ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมหาดูได้ยาก และศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้ ถือว่ามีหนึ่งเดียวในภาคใต้และในเมืองไทยจริงๆ ในช่วงการจัดงานไหว้ครูบูรพาจารย์วัดเขาอ้อ จะมีพิธีแช่ว่านอาบยา โดยย้ายจุดจัดพิธีจากในถ้ำฉัททันต์บรรพต มาเป็นบริเวณเชิงเขาอ้อ ที่ต้องเดินขึ้นบันไดไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้นปรัมพิธีแช่ว่านอาบยา เดือนกุมภาพันธ์ 2562 ณ เชิงเขาอ้อ ปัจจุบันรางยาได้เปลี่ยนรูปแบบมาเป็นบ่อที่ลงไปอาบแช่พร้อมกันได้ 6 คน (ปีนี้รับได้ 12 คน) โดยใช้เวลาแช่ 3 วัน 3 คืน พักทุก 2-3 ชั่วโมง การลงนอนอาบแช่ว่านยา 108 ชนิด ต้องลงไปนอนทำสมาธิ สวดภาวนาบริกรรมคาถาให้ใจสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน เพื่อให้ได้ผลเข้มขลังคงกระพันชาตรีดีที่สุดตัวยาที่ใช้ในการแช่ว่านอาบยาวัดเขาอ้อ มีถึง 108 ชนิด โดยตัวยาหลักคือ บอระเพ็ด, ชิงช้าชาลี, ว่านหนามบ่อ, ว่านปลาไหลเผือก ฯลฯ นำมาต้มแล้วเทลงไปขณะร้อนๆ ในรางยา โดยอาจารย์เปลี่ยน หัทยานนท์ จะทำการบริกรรมคาถากำกับไว้ด้วย นอกจากนี้ยังห้ามไม่ให้สตรีเข้ามาในปรัมพิธีเด็ดขาด เพราะพิธีจะเสื่อมการนอนอาบน้ำว่านแช่ยาวัดเขาอ้อ ตลอด 3 วัน 3 คืน ผู้เข้าร่วมต้องนอนภาวนาบริกรรมคาถาอย่างมีสมาธิ และหลังจากเสร็จพิธีแล้ว ต้องอยู่ในศีลในธรรม รักษาศีล 5 อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะศีลข้อ 3 ห้ามละเมิดเด็ดขาด ถ้าพลาดพลั้งน้ำมันและยาต่างๆ จะออกจากตัวจนหมด ต้องกลับมาทำพิธีเกิดใหม่ให้บริสุทธิ์ แล้วแช่ว่านอาบยาลงคาถาใหม่อีกครั้ง อาจารย์เปลี่ยน หัทยานนท์ เจ้าพิธีแช่ว่านอาบยาฝ่ายฆราวาส โดยท่านเป็นศิษย์ก้นกุฎิคนสุดท้ายของพระอาจารย์ปาลวัดเขาอ้อ ท่านได้รับการถ่ายทอดวิชาสำคัญๆ มาครบถ้วน ทั้งวิชาหุงข้าวเหนียวดำ วิชาเสกน้ำมันงาให้แข็ง และวิชาแช่ว่านอาบยา เป็นต้น อาจารย์เปลี่ยนเล่าว่า ปัจจุบันตัวยาที่จะใช้ในพิธีกรรมนี้หายากขึ้นเรื่อยๆ เพราะป่าไม้ลดน้อยลง การเก็บว่านยา 108 ชนิด ต้องเดินทางไปไกลถึงจังหวัดสตูล ตรัง และนครศรีธรรมราช มีความยากลำบากมากในการบุกป่าฝ่าดงเข้าไป แต่ท่านก็ยังคงสืบทอดพิธีต่อไปมิให้สูญหาย เพื่อชนรุ่นหลังนอกจากผู้ศรัทธาจำนวน 12 คน ที่ได้เข้าพิธีนอนแช่น้ำว่านอาบยานั้น ในบริเวณวัดก็ยังมีการนำว่าน 108 ชนิด เช่นเดียวกับที่ใช้ในการอาบแช่ในรางยา มาต้มในกระทะใบบัวใหญ่ แจกจ่ายให้ผู้ศรัทธาที่มาเข้าร่วมงาน ถือว่าเป็นน้ำว่านศักดิ์สิทธิ์ ที่ช่วยให้สุขภาพดี ป้องกันสิ่งชั่วร้าย และมีพุทธคุณลึกล้ำเกินกว่าจะบรรยายได้หมด
ในบริเวณวัด มีการนวดพื้นบ้านเพื่อรักษาโรค และคลายปวดเมื่อยกันด้วย พ่อหมอทำงานไม่หยุดหย่อน เพราะมีคนมารอคิวกันตลอดวันเลยทีเดียวในช่วงเย็นของวันแรก วัดเขาอ้อได้จัด ‘พิธีสะเดาะเคราะห์ต่อชะตา’ ให้กับญาติโยมและลูกศิษย์ลูกหาที่มาเข้าร่วมพิธีไหว้ครูบูรพาจารย์วัดเขาอ้อในปี 2562 เพื่อทำให้เราบริสุทธิ์ทั้งกายใจเหมือนคนที่เกิดใหม่ จะได้ไปเข้าร่วมพิธีหุงข้าวเหนียวดำ และพิธีกินเหนียวกินมัน ในวันต่อๆ ไป พิธีสะเดาะเคราะห์ต่อชะตา วัดเขาอ้อ เดือนกุมภาพันธ์ 2562วันถัดมามีพิธีศักดิ์สิทธิ์จัดภายในพระอุโบสถวัดเขาอ้อ คือ ‘พิธีหุงข้าวเหนียวดำ’ ด้วยน้ำว่าน 108 ชนิด พร้อมกับลงคาถากำกับเอาไว้ (พิธีนี้ห้ามสตรีเข้ามาภายในพระอุโบสถ) นับเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่หาดูได้ยากมาก
ข้าวเหนียวดำที่ผ่านพิธีหุงด้วยน้ำว่านยา 108 ชนิด และเสกคาถากำกับมาตลอด 1 วันเต็ม บัดนี้สุกดีแล้ว จากนั้นต้องทิ้งไว้ให้เย็นตัว 1 คืน ก่อนนำมาปั้นเป็นก้อนกลมเล็กๆ ในวันต่อไปวันที่สาม วันสุดท้ายของพิธีในปี 2562 คือ ‘พิธีกินเหนียวกินมัน’ ซึ่งจัดขึ้นภายในพระอุโบสถวัดเขาอ้อ ให้ผู้ที่นอนแช่ว่านอาบยามาตลอด 3 วัน 3 คืน ได้มาลงคาถามะ อะ อุ กำกับที่ตัวไว้อีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับกินเหนียว (ข้าวเหนียวดำ) และกินมัน (น้ำมันงา) ที่ผ่านการปลุกเสกแล้ว ปีนี้มีผู้เข้าร่วมพิธีกว่า 400 คน ล้วนเป็นชายที่เชื่อมั่นศรัทธาในความเข้มขลังของวิทยาคมวัดเขาอ้อทั้งสิ้นเหล่าชายชาตรีทยอยเข้าร่วมพิธีกินเหนียวกินมัน ตามลำดับที่ได้รับ ทุกคนต้องถอดเสื้อและใส่กางเกงขาสั้น (หรือถกขากางเกงขึ้น) เพราะพิธีกรรมนี้ ต้องนำข้าวเหนียวดำปลุกเสกป้ายมือ ทาไปทั่วตัว โดยลูบขึ้น 3 ครั้ง ให้คาถาและความเข้มขลังต่างๆ แทรกซึมเข้าสู่ภายในร่างกาย ในขณะที่พระอาจารย์บริกรรมคาถากำกับ และใช้นิ้วโป้งกดไว้ที่สะดือผู้เข้าร่วมพิธีด้วยอาจารย์เปลี่ยน หัทยานนนท์ ทำการป้อนข้าวเหนียวดำ 3 คำ ให้ผู้เข้าร่วมพิธีแต่ละคน โดยแต่ละคำต้องท่องคาถา มะ อะ อุ กำกับลงไป ผู้เข้าร่วมพิธีต้องนั่งชันเข่า วางเท้าทั้งสองลงบนหนังเสือที่มีเหล็กกล้าวางอยู่ และมีหนังหมีวางไว้บนศรีษะ หลังจากเสร็จพิธีแล้วผู้เข้าร่วมพิธีต้องยึดมั่นในพระรัตนตรัย อยู่ในศีลในธรรม ยึดมั่นศีล 5 อย่างเคร่งครัด วิชาอาคมความขลังต่างๆ ของพิธีกรรมตลอด 3 วัน จึงจะอยู่กับกายสำหรับเหล่าลูกศิษย์ลูกหาและผู้ศรัทธาที่เป็นสตรี ไม่สามารถเข้าร่วมพิธีกินเหนียวกินมัน ในพระอุโบสถวัดเขาอ้อได้ ต่างก็มารอคอยกันเนืองแน่นที่หน้าต่างด้านนอก โดยถือบัตรคิวมารอรับกันอย่างเป็นระเบียบ เพื่อนำข้าวเหนียวดำที่ผ่านพิธีกรรมปลุกเสกอันศักดิ์สิทธิ์นี้ไปกิน ไปบูชา หรือนำไปให้ญาติสนิทมิตรสหายของตนศรัทธาวัดเขาอ้อไม่เคยเปลี่ยน ความเข้มขลังแห่งไสยเวทย์สำนักตักศิลาเขาอ้อไม่เคยตาย ทุกปีเรายังคงเดินทางมาสัมผัสพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์หนึ่งเดียวไม่เหมือนใครนี้ได้ ณ วัดเขาอ้อ ต.มะกอกเหนือ อ.ควนขนุน ดินแดนที่อวลด้วยประวัติศาสตร์ ธรรมชาติ และศรัทธา ผสมกลมกลืนกันอย่างสง่างามสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานพัทลุง – นครศรีธรรมราช โทร. 0-7534-6515-6

Special Thanks : ขอบคุณภาพถ่ายพิธีสะเดาะเคราะห์ต่อชะตา และภาพพิธีกินเหนียวกินมัน จากคุณสุเทพ ช่วยปัญญา เว็บไซต์ The Way News

20 ที่เที่ยวสุดประทับใจ ในเมืองพัทลุง

(1). เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย (อุทยานนกน้ำทะเลน้อย) อ.ควนขนุน อาณาจักรนกน้ำและทะเลบัวยิ่งใหญ่ที่สุดในภาคใต้ ทะเลน้อย ทะเลบัวผืนใหญ่สุดของภาคใต้ เนื้อที่กว่า 17,500 ไร่ กินอาณาเขตจังหวัดพัทลุง สงขลา และนครศรีธรรมราช จริงๆ แล้วทะเลน้อยคือส่วนด้านบนสุดของทะเลหลวงและทะเลสาบสงขลา แต่ทะเลน้อยมีน้ำจืดสนิทตลอดปี จึงเกิดทะเลบัวแดงนับล้านดอกเบ่งบานในช่วงฤดูหนาว-ต้นฤดูร้อน ประมาณเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ไปล่องเรือเที่ยวชมอาณาจักรแห่งสรรพชีวิตในเวิ้งน้ำกว้าง ตั้งแต่เช้าตรู่ ดูนกตื่นนอน เกี้ยวพาราสี ฟักไข่ เลี้ยงลูก แถมยังได้ชมทะเลบัวเบ่นบานรับแสงตะวันอุ่นยามเช้า สูดโอโซนสดชื่น พร้อมกับชมนกอพยพฤดูหนาวนับร้อยชนิด อย่างนกกระสาแดง, นกกระสานวล, นกอีโก้ง, นกเป็ดผี, นกกาน้ำเล็ก รวมถึงฝูงเป็ดแดงนับหมื่นตัว แถมยังมีควายดำน้ำกินหญ้า, ดงสาหร่ายข้าวเหนียว และยอที่ปากประ ทะเลน้อยอยู่ห่างจากตัวเมืองพัทลุง 32 กม. ไปตามถนนหมายเลข 4048 (พัทลุง-ควนขนุน) ที่นี่มีบ้านพักและร้านอาหารบริการด้วย (2). ถนนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา (หรือ สะพานเอกชัย) อ.ควนขนุน สะพานชมวิวสุดชิลแห่งทะเลน้อย
การเที่ยวชมทะเลน้อยที่พัทลุง นอกจากจะล่องเรือแล้ว เรายังสามารถขับรถชมวิวชิลๆ ไปตาม ‘ถนนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2560’ ได้อีกด้วย ถนนสายนี้แท้จริงแล้วมีลักษณะเป็นสะพานยกระดับอย่างดี เชื่อมต่อบ้านไสกลิ้ง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง กับบ้านหัวป่า อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา โดยตัวสะพานมีความยาวถึง 5.45 กิโลเมตร จึงกลายเป็นสะพานยาวที่สุดในเมืองไทย แทนที่สะพานติณสูลานนท์ จ.สงขลา ไปโดยปริยาย ตลอดแนวสะพานจะผ่านไปบนพื้นที่ชุ่มน้ำริมทะเลสาบสงขลาตอนบน เป็นทุ่งหญ้าฉ่ำน้ำที่มีลำคลองเล็กๆ ไหลผ่าน อุดมด้วยฝูงนก ควายน้ำ และธรรมชาติสดชื่นงามตา แถมบนขอบสะพานมีป้ายบอกชื่อชนิดนกต่างๆ ให้ความรู้กับนักท่องเที่ยวด้วย เพราะจะมีจุดจอดรถชมวิวถ่ายภาพจัดไว้ให้อย่างปลอดภัย
(3). เขาอกทะลุ อ.เมืองพัทลุง Landmark แห่งเมืองลุงเขาอกทะลุ คือภูเขาที่อยู่ในตราประจำจังหวัดพัทลุง มีความสำคัญเพราเป็น Landmark เด่นในเทศบาลเมือง มองจากจุดใดก็เห็นเด่นชัด เขาลูกนี้สูงประมาณ 250 เมตร มีทางเดินป่าปีนเขาขึ้นไปชมวิวเมืองพัทลุงจากด้านบนได้ ความพิเศษคือมีโพรงหินปูนเป็นช่องทะลุ รูปร่างวงกลมขนาดใหญ่เหมือนยักษ์มาเจาะรูไว้ ปู่ย่าตายายท่านแต่งนิทานอธิบายว่า อดีตมีพ่อค้าชื่อนายเมือง มีเมีย 2 คน ชื่อนางสินลาลุดีเป็นเมียหลวง และนางบุปผาเป็นเมียน้อย อยู่มาวันหนึ่งสองคนนี้ทะเลาะกัน นางสินลาลุดีกำลังทอผ้าอยู่จึงใช้ฟืมทอผ้าตีหัวนางบุปผาแตก ส่วนนางบุปผากำลังตำข้าว ก็ใช้สากเสียบอกอีกฝ่าย ตายด้วยกันทั้งคู่ นางสินลาลุดีจึงกลายเป็นเขาอกทะลุ และนางบุปผากลายเป็นเขาหัวแตก ตั้งเด่นอยู่ในเมืองพัทลุงมาตราบทุกวันนี้(4). เกาะสี่ เกาะห้า อำเภอปากพะยูน เกาะรังนกกลางทะเลหลวง
ไม่น่าเชื่อเลยว่าประเทศไทยเราจะเป็น 1 ใน 3 ประเทศที่ส่งออกรังนกมากที่สุดในโลก! และไม่น่าเชื่ออีกเช่นกันว่า รังนกคุณภาพดีที่สุดในโลกนั้นมาจากประเทศไทยนี่เอง! โดยเแหล่งผลิตที่ดีที่สุด อยู่ที่ “เกาะสี่ เกาะห้า ตำบลเกาะหมาก อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง เนื่องจากบริเวณนี้เป็นพื้นที่ 3 น้ำ คือน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ธรรมชาติอุดม มีนกแอ่นกินรังเข้ามาทำรังหากินในถ้ำไม่น้อยกว่า 80 แห่ง บนเกาะสี่ เกาะห้า ซึ่งเป็นเกาะสัมปทานรังนกมาตั้งแต่สมัย ร. 5 แม้ว่าปัจจุบันจะไม่ได้เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวถาวร แต่ถ้าขออนุญาตล่วงหน้า ก็สามารถนั่งเรือเข้าบางจุดได้ โดยลงเรือที่ท่าปากพะยูน หรือท่าเรือลำปำ บนเกาะมีอนุสาวรีย์ ร. 5 และผลิตภัณฑ์ของ บริษัท สยามรังนกทะเลใต้ ให้ชม ติดต่อเรือที่ เขาชันรีสอร์ท เกาะหมาก โทร. 08-9812-1276, 08-9611-9372 (5). หลาดใต้โหนด อ.ควนขนุน ตลาดนัดชุมชนคนเมืองลุง ถ้าเราอยากสัมผัสของฝากของกินงานศิลป์ถิ่นพัทลุง ขอบอกเลยว่าต้องไม่พลาด ‘หลาดใต้โหนด’ (ภาษาปักษ์ใต้ ‘หลาด’ ก็คือ ‘ตลาด’ นั่นเอง) เพราะตลาดนัดพื้นบ้านแห่งนี้ คือศูนย์รวมอาหารคาวหวานท้องถิ่นนับร้อยเมนู รวมถึงมีงานหัตถกรรมขึ้นชื่อของพัทลุงรวมมาครบในที่เดียว เดินเที่ยวกันเป็นชั่วโมงๆ ไม่เบื่อ หลาดใต้โหนด ตั้งขึ้นที่บ้านนักเขียนรางวัลซีไรต์ ปี 2539 คุณกนกพงศ์ สงสมพันธุ์  ซึ่งเสียชีวิตเมื่อปี 2549 ตั้งใจทำให้บ้านหลังนี้เป็นที่แลกเปลี่ยนความรู้ด้านศิลปะ เป็นที่อ่านหนังสือของชุมชน  ต่อมา ร้านใต้โหนด บ้านนักเขียน และเครือข่ายกินดี มีสุข จ.พัทลุง ได้จับมือกันตั้งเป็นตลาดท้องถิ่นด้วยแนวคิด  ของใช้ ของกิน งานศิลป์บ้านๆ’  เพื่อให้ชาวบ้านนำสินค้าปลอดสารพิษ อาหารพื้นถิ่น และงานฝีมือมาขาย เปิดทุกวันอาทิตย์ อยู่ที่บ้านจันนา อ.ควนขนุน ถ้ามาตามถนนสายเอเชีย ถึงสี่แยกโพธิ์ทอง อ.ควนขนุน เลี้ยวเข้าไปทาง อ.ศรีบรรพต ประมาณ 2.5 ก.ม. ตลาดอยู่ซ้ายมือเลยจ้า (6). นาโปแก อ.ควนขนุน ผืนนาแห่งการเรียนรู้วิถีเกษตรอินทรีย์พอเพียง
พัทลุงเป็นเมืองเนิบช้าน่ารัก เงียบสงบ มีเสน่ห์ของท้องทุ่งนาสีเขียวที่ทำให้เราสูดอากาศบริสุทธิ์กันได้เต็มปอด คนที่มาเยือนพัทลุงจึงรู้สึกสดชื่น และถูกกลืนไปกับวิถีนาไร่ที่สืบสานกันมาแต่บรรพบุรุษ เพราะพัทลุงเป็นเมืองอู่ข่าวอู่น้ำของภาคใต้อย่างแท้จริง วันนี้ที่ ‘นาโปแก’ อำเภอควนขนุน ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ในกระท่อมปลายนา ชวนให้เราเดินเที่ยวสัมผัสวิถีท้องทุ่ง ถ่ายภาพบนสะพานไม้ นาโปแกอยู่บนถนนเส้นทางเดียวกับไปทะเลน้อย คำว่า ‘นาโปแก’ เป็นภาษาพื้นบ้านท้องถิ่น ‘นา’ คือ ‘นาข้าว’ ส่วน ‘โปแก’ เป็นสำเนียงปักษ์ใต้ หมายถึง ‘พ่อของแม่ พ่อแก่ พ่อเฒ่า หรือคุณตา’ เมื่อรวมความหมายก็แปลว่า ‘ที่นาของคุณตา’ นั่นเอง ที่นี่มีแปลงปลูกข้าวสาธิต อุดมด้วยพันธุ์ข้าวพื้นเมือง เช่น ข้าวสังข์หยด ข้าวซ้อมมือโบราณ ฯลฯ นักท่องเที่ยวสามารถไปช่วยดำนา ไถนา เกี่ยวข้าว เลี้ยงควาย ขุดบ่อปลา แถมมีควายตัวเป็นๆ ให้ป้อนหญ้าได้ด้วย (เปิดจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-17.30 น. และเสาร์-อาทิตย์ เวลา 08.00-18.30 น. เข้าชมฟรี) (7). สวนไผ่ขวัญใจ ตลาดป่าไผ่สร้างสุข อ.ควนขนุน สวนไผ่สารพัดประโยชน์สุดชิล
ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวใหม่ แต่เป็นที่สนใจและกล่าวขานกันอย่างกว้างขวาง ณ ขณะนี้ที่อำเภอควนขนุน จ.พัทลุง เพราะ ‘สวนไผ่ขวัญใจ’ คือขวัญใจของนักท่องเที่ยวที่รักธรรมชาติ ต้องการสัมผัสวิถีท้องถิ่น รวมถึงยังเป็นขวัญใจของชาวบ้านรอบๆ ด้วย เพราะที่นี่ได้แบ่งปันความสุข การมีส่วนร่วม และกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างกว้างขวาง สวนไผ่แห่งนี้มีเนื้อที่กว่า 30 ไร่ ปลูกไผ่ไว้ไม่น้อยกว่า 41 ชนิด โดยไผ่ต้นแรกนำมาจาก จ.สุพรรณบุรี พื้นที่เดิมเป็นสวนมะพร้าว แล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสวนไผ่ร่มรื่นในปัจจุบัน เปิดทุกวันเสาร์ เวลา 09.00-18.00 น. มีชาวบ้านมาเปิดร้านค้ากันอย่างคึกคัก ขายของกินของใช้ งานหัตถกรรมน่ารักๆ เก๋ๆ นอกจากนี้เรายังได้สูดอากาศบริสุทธิ์ที่ป่าไผ่ปล่อยออกมาให้หายใจกันฟรีๆ ด้วยล่ะจ้า
(8). ศูนย์หัตถกรรมกระจูดวรรณี (VARNI) อ.ควนขนุน หัตถศิลป์จากธรรมชาติ สู่ระดับนานาชาติ
‘กระจูด’ เป็นพืชท้องถิ่นของภาคใต้ พบมากตามห้วยหนองคลองบึงและพื่้นที่ชุ่มน้ำต่างๆ โดยเฉพาะริมทะเลสาบสงขลาและทะเลน้อย จ.พัทลุง ชาวบ้านแต่โบราณจึงเรียนรู้สั่งสมภูมิปัญญา นำกระจูดมาตากแห่ง ทำเป็นเส้นเล็กๆ แล้วย้อมสี สานเป็นเสื่อกระจูด กระเป๋า กระบุง ตะกร้า ฯลฯ ใช้สอยประโยชน์หลากหลาย และวันนี้กระจูดเมืองพัทลุงได้พัฒนาไปอีกก้าวหนึ่งแล้วกับ ‘กระจูดวรรณี’ ศูนย์เรียนรู้หัตถกรรมกระจูดที่พัฒนาจากระดับพื้นบ้านสู่สากลได้อย่างสง่างาม เราสามารถเข้าชมขั้นตอนการผลิต ทดลองสาน และช้อปปิ้ง คุณมนัทพงศ์ เซ่งฮวด นักออกแบบรุ่นใหม่ของกระจูดวรรณีผู้สืบสานภูมิปัญญาจากคุณแม่ผู้เป็นครูช่างศิลปหัตถกรรมของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศปี 2556 เข้ามาช่วยดูแลเรื่องลวดลายการสานให้ดูทันสมัยขึ้น แต่ยังคงเอกลักษณ์ปักษ์ใต้ไว้อย่างสมบูรณ์ (โทร. 0-7461-0415  https://www.facebook.com/varni2529/) (9). ข้าวสังข์หยดอินทรีย์ กลุ่ม G10 อ.เขาชัยสน ข้าวท้องถิ่นเพื่อสุขภาพดีมีประโยชน์
ข้าวสังข์หยด เป็นพันธุ์ข้าวดั้งเดิมของจังหวัดพัทลุง ปลูกกันมาหลายชั่วอายุคนตั้งแต่โบราณแล้ว ข้าวพันธุ์นี้มีสีแดง เมื่อหุงสุกแล้วหอม เนื้อนุ่ม กินอร่อย แถมยังมีคุณค่าทางอาหารสูงมาก จนปัจจุบันปลูกขายแทบไม่ทัน เกษตรกรชาวพัทลุงได้จัดตั้งกลุ่มข้าวสังข์หยดอินทรีย์ที่ไม่ใช้สารเคมีหรือยาฆ่าแมลงใดๆ โดยเฉพาะ ‘กลุ่มข้าวสังข์หยด G10’ ต.ควนขนุน อ.เขาชัยสน ได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ในโครงการ TOP THAI RICE ของกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้วย เราสามารถติดต่อขอเข้าชมแปลงนา ขั้นตอนการปลูก และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งข้าวแพ็กถุง, สบู่, ยาสระผม, กาแฟ ฯลฯ มีการวิจัยออกมาแล้วว่า ถ้าเรากินข้าวสังข์หยดเป็นประจำร่างกายจะแข็งแรง เนื่องจากอุดมด้วยสารอาหารมากมายจริงๆ อาทิ มีวิตามิน บี 1 และ บี 2 ป้องกันอัมพฤก เหน็บชา โรคปากนกกระจอก, มีสังกะสีสูงที่สุดในข้าวไทยทุกชนิด, มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความชรา, สารสีแดงในข้าวสังข์หยดช่วยป้องกันโรคหัวใจ และโรคภูมพิแพ้ต่างๆ เป็นต้น (ติดต่อ โทร. 08-5473-2438, 0-7460-0387) (10). ร้านแบบไทย อ.เมืองพัทลุง อาหารสุขภาพ และนวดตำรับชาววัง

ที่นี่มิได้เป็นเฉพาะร้านอาหารสุขภาพที่โด่งดังมากเท่านั้น ทว่ายังเป็นร้านนวดไทยตำรับชาววังที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนใครอีกด้วย ร้านแบบไทยจึงเหมาะสำหรับคนที่รักสุขภาพ ต้องการดูแลกายใจในองค์รวม บรรยากาศของที่นี่สร้างด้วยอาคารไม้สถาปัตยกรรมไทยทั้งหมด ร่มรื่นด้วยแมกไม้ เงียบสงบเป็นส่วนตัว ใครที่ตระเวนเที่ยวมาทั้งวันแล้วรู้สึกหิว ขอเชิญที่ร้านอาหารด้านหน้า เขามีเมนูสุขภาพเสิร์ฟตลอดวัน โดยเป็นอาหารปลอดสารพิษ ไม่ใส่ผงชูรส เน้นไปทางพืชผักและปลาท้องถิ่น ผลไม้ตามฤดูกาล แถมยังมีเครื่องดื่มคลอโรฟิลด์ น้ำส้มคั้นสด น้ำอัญชัญ เย็นชื่นใจให้ลิ้มรสด้วย ส่วนคนที่อยากผ่อนคลายกายใจ แนะนำให้เดินไปที่เรือนไม้ข้างๆ ร้านอาหาร เป็นโรงนวดแบบไทยพื้นบ้านต้นตำรับปักษ์ใต้ของ ‘หมอทอง’ ครูนวดที่เคยเข้าไปอยู่ในราชสำนักมาก่อน การนวดสุดแปลกไม่เหมือนใครของแบบไทยคือ ให้หมอนวดตั้งแต่ 2-9 คน ขึ้นมาเหยียบคลายเส้นเราพร้อมๆ กัน! อันนี้แล้วแต่ว่าใครเมื่อยมากเมื่อยน้อย และทนได้มากแค่ไหน (ติดต่อ โทร. 0-7461-0986, 08-9876-2235, 0-7461-0988, 08-7570-5544) (11). วังเก่าเจ้าเมืองพัทลุง อ.เมืองพัทลุง ย้อนอดีตวันวานความรุ่งเรืองเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ
วังเก่าเจ้าเมืองพัทลุง อยู่ใกล้กับวัดวัง อำเภอเมืองพัทลุง เดิมใช้เป็นที่ว่าราชการและที่พำนักของเจ้าเมืองพัทลุง ลักษณะเป็นหมู่เรือนไทยภาคกลางสร้างด้วยไม้ผสมปูนอย่างงดงาม ส่วนที่เหลืออยู่คือวังเก่าสร้างสมัยพระยาพัทลุง (น้อย จันทโรจวงศ์) เป็นผู้ว่าราชการ ต่อมาตกทอดสู่นางประไพ มุตามะระ บุตตรีของหลวงศรีวรฉัตร ส่วนวังใหม่สร้างเมื่อ พ.ศ. 2432 โดยพระยาอภัยบริรักษ์ฯ (เนตร จันทโรจวงศ์) บุตรชายของเจ้าเมืองพัทลุง ปัจจุบันทายาทตระกูลจันทโรจวงศ์ได้มอบให้กรมศิลปากร ขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติของชาติและเป็นโบราณสถาน เปิดให้เข้าชมทุกวัน (ยกเว้นวันจันทร์-อังคาร) เวลา 09.00-12.00 น. และ 13.00-16.00 น. ด้านในมีห้องหับต่างๆ ทั้งห้องนอน ห้องรับแขก ห้องครัว ฯลฯ พร้อมด้วยเครื่องเรือนสมัยโบราณในสภาพดีเยี่ยม น่าชมมาก (12). วัดเขาอ้อ อ.ควนขนุน สำนักตักศิลาไสยเวทย์แห่งปักษ์ใต้หากจะกล่าวถึงสำนักไสยเวทย์ หรือแหล่งรวมสรรพวิทยาคมที่เข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในภาคใต้ของไทย คงจะไม่มีที่ใดมีชื่อเสียงเกินกว่า ‘วัดเขาอ้อ’ หมู่ 3 ต.มะกอกเหนือ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ไปได้อย่างแน่นอน เพราะวัดแห่งนี้มีประวัติสืบย้อนไปได้ยาวนานหลายร้อยปี แต่เดิมเป็น ‘สำนักเขาอ้อ’ ที่ก่อตั้งขึ้นโดยเหล่าพราหมณ์ผู้เรืองเวทย์ สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 800 แล้ว โดยเหล่าพราหมณ์ผู้เรืองวิทยาคมทั้งหลาย ได้มาชุมชนกันในถ้ำ บำเพ็ญพรตและสั่งสมวิชาอาคมถ่ายทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งในเรื่องของตำรับยาสมุนไพรรักษาโรค เวทมนต์คาถา โดยเฉพาะเรื่องคงกระพันชาตรีนั้นวัดเขาอ้อถือว่ามีชื่อเสียงที่สุด จึงมีลูกศิษย์ลูกหามากมายอยู่ทั่วประเทศ ทุกวันนี้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมวัด เข้าไปในถ้ำฉัททันต์บรรพต เดินขึ้นเขาไปนมัสการรอยพระพุทธบาท หรือเข้าร่วมพิธีสะเดาะห์เคราะห์, พิธีแช่น้ำว่านอาบยา, พิธีหุงข้าวเหนียวดำ และพิธีป้อนข้าวเหนียวดำ ซึ่งเชื่อกันว่าเมื่อได้กินข้าวเหนียวดำที่ผ่านการปลุกเสกนี้แล้ว จะประสบแต่โชคดี และส่งผลในเรื่องความหนังเหนียวคงกระพันชาตรี โดยพิธีแช่น้ำว่านอาบยาจะจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง คือเดือน 5 และ เดือน 10 ทุกปี พิธีแช่น้ำว่านอาบยา วัดเขาอ้อ อ.ควนขนุน จ.พัทลุงพิธีกวนข้าวเหนียวดำ วัดเขาอ้อ อ.ควนขนุน จ.พัทลุงพิธีสะเดาะห์เคราะห์ต่อชะตา วัดเขาอ้อ อ.ควนขนุน จ.พัทลุงพิธีป้อนข้าวเหนียวดำ วัดเขาอ้อ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง (ประกอบพิธีในพระอุโบสถ เข้าร่วมได้เฉพาะผู้ชาย)

(13). วัดวัง อ.เมืองพัทลุง แม้จะเป็นวัดเล็กๆ แต่ “วัดวัง ก็คือหนึ่งในวัดสำคัญที่สุดของพัทลุง ตั้งอยู่ที่หมู่ 4 บ้านลำปำ ตำบลลำปำ อำเภอเมืองพัทลุง เป็นโบราณที่เคยใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตามพงศาวดารเมืองพัทลุงกล่าวว่า พระยาพัทลุง (ทองขาว) เป็นผู้สร้างวัดนี้ มีการฉลองเมื่อวันจันทร์ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 พ.ศ. 2359 ต่อมาพระยาพัทลุง (ทับ) ได้ทำการบูรณะ โดยให้หลวงยกกระบัตร (นิ่ม) ไปรื้ออิฐจากกำแพงเมืองเก่าชัยบุรีมาสร้าง มีการฉลองวัดอีกครั้งเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 8 พ.ศ. 2403 ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถถือว่าเขียนโดยช่างชั้นครู เป็นช่างชุดเดียวกับผู้วาดภาพจิตกรรมฝาผนังในพระอุโบสถวัดพระแก้ว โดยนายช่างได้ใช้สีแดง น้ำเงิน ขาว และดำ เป็นหลัก โดยเฉพาะสีน้ำเงินนั้นทำมาจากต้นครามแท้ๆ แต่ยังอยู่มาได้หลายร้อยปีจนถึงปัจจุบัน (14). วัดเขียนบางแก้ว อ.เขาชัยสนวัดเขียนบางแก้ว เป็นวัดเก่าแก่ของพัทลุง สันนิษฐานว่าสร้างสมัยอยุธยาตอนต้น จุดเด่นคือพระธาตุบางแก้ว ซึ่งดูให้ดีจะรู้สึกว่าคล้ายกับจำลองแบบมาจาก พระบรมธาตุนคร (นครศรีธรรมราช) คนที่ชอบศึกษาประวัติศาสตร์ต้องชอบที่นี่ เพราะเชื่อกันว่าเป็นบริเวณที่เมืองเก่าพัทลุงเคยตั้งอยู่ มีการขุดค้นพบซากปรักหักพังของศิลาแลงจำนวนมาก รวมถึงพระพุทธรูปโบราณแบบดินเผา, หม้อ ไห จาน ชาม, เครื่องเคลือบจีน, เหรียญกษาปณ์, เงินพดด้วง, สร้อยหินสีลูกปัด, ตำราโบราณ, อาวุธโบราณ และวัตถุโบราณนับไม่ถ้วน ส่วนหนึ่งจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์วัดเขียนบางแก้วการเดินทางจากตัวเมืองพัทลุง ใช้ทางหลวงหมายเลข 4081 เลยอำเภอเขาชัยสนไป 7 กิโลเมตร ในเขตบ้านบางแก้วใต้ ตรง กม.14 มีป้ายบอกทางเข้าวัดอยู่ด้านซ้ายมือ ไปอีก 2.5 กิโลเมตร โดยวัดเขียนบางแก้ว ตั้งอยู่ริมทะเลสาบสงขลา บรรยากาศร่มรื่น สงบมาก (15). วัดวิหารเบิก อ.เมืองพัทลุง
วัดวิหารเบิก เป็นวัดโบราณที่สำคัญมากอีกวัดหนึ่งในจังหวัดพัทลุง โดยอยู่ฝั่งตรงข้ามกับวัดวัง ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นสมัยใด แต่กรมศิลปากรสันนิษฐานจากศิลปกรรมการสร้างพระอุโบสถ รวมถึงภาพจิรกรรมฝาผนังด้านในที่คล้ายคลึงกับวัดวัง จึงน่าจะสร้างขึ้นพร้อมๆ กัน สอดคล้องกับเรื่องเล่าว่าสองวัดนี้สร้างขึ้นพร้อมกันเพื่อแข่งขันกันว่าใครจะสร้างสวยกว่ากัน จุดเด่นของวัดวิหารเบิกคือพระอุโบสถศิลปกรรมยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่มีขนาดเล็ก และมีทางเข้าออกทางเดียวด้านหน้า ภายในประดิษฐานพระประฐานปางมารวิชัยสีทองเหลืองอร่าม งดงามด้วยพุทธลักษณะ ตามฝาผนังทุกด้านมีภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือชั้นครู วาดโดยพระอาจารย์สุ่น ซึ่งเป็นผู้วาดภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดวัง และพระอุโบสถวัดพระแก้ว กรุงเทพมหานคร ด้วย ปัจจุบันวัดวิหารเบิกได้รับการอนุรักษ์เป็นโบราณสถานของชาติ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2478 แล้ว (16). หาดแสนสุขลำปำ อ.ปากพะยูน แหล่งรวมความสุขริมทะเลสาบสงขลา
พัทลุงเป็นเมืองเงียบเรียบง่าย กินอยู่สบาย อากาศดีตลอดปี เพราะมีลมเย็นจากทะเลน้อยและทะเลสาบสงขลาพัดโชยมาชื่นใจ คนพัทลุงเขาน่าอิจฉามีที่เที่ยวนั่งพักผ่อนปิกนิก โดยเฉพาะ หาดแสนสุขลำปำ’ อยู่ห่างจากตัวเมืองพัทลุงไปทางตะวันออก 7 กม. ด้วยถนนสาย 4047 (พัทลุง-ลำปำ) มีสภาพเป็นสวนสาธารณะร่มรื่น และทางเดินเลียบชายฝั่งทะเลสาบสงขลา น่านั่งชิลกันทั้งวัน มองไปเบื้องหน้าเห็นวิวทะเลสาบกว้างไกล โปร่งโล่งสบาย และเมื่อมองออกไปลิบๆ จะเห็นเกาะสี่ เกาะห้า เป็นเกาะรังนก นอกจากนี้บริเวณหาดแสนสุขลำปำยังมีร้านขายอาหาร เครื่องดื่ม และรีสอร์ทไว้บริการด้วย (17). วัดถ้ำคูหาสวรรค์ อ.เมืองพัทลุง โถงถ้ำแห่งศรัทธา
ศาสนสถานสำคัญที่ตั้งอยู่กลางเมืองพัทลุงมาตั้งแต่โบราณก็คือ ‘วัดถ้ำคูหาสวรรค์’ (วัดสูง, วัดคูหาสวรรค์)บริเวณเชิงเขาเป็นที่สูงทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเชิงเขาคูหาสวรรค์ (เขาหัวแตก) ห่างจากสถานีรถไฟพัทลุงไปทางทิศตะวันตกเพียง 500 เมตรเท่านั้น มีบันทึกคร่าวๆ ว่าในอดีตเมืองพัทลุงเคยถูกโจรสลัดบุกปล้น วัดถ้ำคูหาสวรรค์จึงถูกทิ้งร้าง เพิ่งได้รับการบูรณะสมัยรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2432 เพื่อเตรียมรับเสด็จ ร. 5 เมื่อ รศ. 108 วัดถ้ำคูหาสวรรค์จึงกลายเป็นพระอารามหลวงแห่งแรกของพัทลุง จุดเด่นที่เราเข้าไปเดินชมได้ง่ายๆ คือในโถงถ้ำใหญ่มีพระพุทธรูปปางสมาธิและปางไสยาสน์ประดิษฐานเรียงรายอยู่ตามผนัง ส่วนเพดานหินตรงปากถ้ำ มีจารึกพระปรมาภิไธยย่อของพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ปรากฏอยู่ด้วย (18). ศรีปากประ อันดาคูรา บูติค รีสอร์ท และร้านอาหารวิวยอ อ.ควนขนุน ที่พักและร้านอาหารสุดชิล ชมวิวสุดประทับใจ 
ตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เป็นพื้นที่ธรรมชาติน่าชมอยู่ริมทะเลสาบสงขลาตอนบน สามารถล่องเรือออกมาจากทะเลน้อยผ่านคลองนางเรียม สู่ปากประ ซึ่งมียอตั้งอยู่กลางน้ำจำนวนมาก ยอเหล่านี้ใช้จับปลาลูกเบร่มาทำอาหารได้หลายเมนู บริเวณปากประนี้เองเป็นที่ตั้งของ ‘ศรีปากประ อันดาคูรา บูติค รีสอร์ท’ และ ‘ร้านอาหารวิวยอ’ อยู่ริมน้ำลมพัดเย็นชื่นใจตลอดวัน มองออกไปเห็นเวิ้งน้ำกว้างของทะเลสาบสงขลา โดยเฉพาะยามเช้าตรู่จะแลเห็นพระอาทิตย์ขึ้นคู่กับยอเหล่านี้ เรียกว่าเป็นอัศจรรย์แห่งแสงสียามอรุณเบิกฟ้าเลยก็ว่าได้ ที่พักของศรีปากประฯ สร้างกลมกลืนกับธรรมชาติ ซุ่มซ่อนอยู่ในไพรพฤกษ์เขียวของป่าชายเลน ส่วนร้านอาหารวิวยอก็มีเมนูพื้นบ้านรสเลิศให้ชิมตลอดวัน อาทิ ปลาดุกร้าทอด อาหารขึ้นชื่อของพัทลุง, ยำก้านบัว, ต้มกะทิกุ้งก้านบัว, ยำปลาลูกเบร่, ปลาหมอทอดขมิ้น, สะตอผัดกุ้งกะปิ, ปลาเนื้ออ่อนต้มส้ม ฯลฯ (ติดต่อ ศรีปากประ อันดาคูรา บูติค รีสอร์ท โทร. 09-1825-5294, 06-1149-9494 / ร้านอาหารวิวยอ โทร. 06-2232-5201, 09-4598-2944) (19). ร้านขนำ คอฟฟี่ อ.เมืองพัทลุงตระเวนเที่ยวพัทลุงกันมาทั่วแล้ว ถ้ารู้สึกเหนื่อย ร้อน หรืออยากพักผ่อนในบรรยากาศสบายตาสบายใจ มองเห็นเขาอกทะลุสัญลักษณ์เมืองพัทลุงอยู่ใกล้ๆ เราขอแนะนำให้ไปที่ ‘ร้านขนำ คอฟฟี่’ ต.ควนมะพร้าว อ.เมืองพัทลุง (โทร. 09-9970-6178 / www.facebook.com/KanamCoffee/ ) ชวนกันไปจิบกาแฟนั่งชิล พร้อมกับกินเค้กรสละเมียดไปด้วย บรรยากาศร้านสร้างได้กลมกลืนกับท้องทุ่ง เน้นวัสดุเป็นไม้ มีสะพานทางเดินเชื่อมส่วนต่างๆ เข้าหากัน พร้อมด้วยมุมถ่ายภาพเก๋ๆ เท่ห์ๆ มากมาย นี่ล่ะพัทลุงยุคใหม่ ที่เราต้องไม่พลาด! (20). โนรา – หนังตะลุง ศิลปะการแสดงเอกลักษณ์แดนใต้
ถ้ามาเที่ยวพัทลุง แล้วไม่ได้ชมการแสดงพื้นบ้านอันมีเอกลักษณ์อย่าง “โนรา และ “หนังตะลุง ก็เหมือนกับว่ามาไม่ถึง เพราะศิลปะการแสดงสองอย่างนี้ซึมซาบอยู่ในวิถีชีวิตของคนพัทลุงมานับร้อยๆ ปีแล้ว ตั้งแต่ยุคอดีตที่ไม่มีทีวีวิทยุ ยามค่ำก็ได้มหรสพเหล่านี้ปลอบประโลมใจ ดูแล้วสนุก เฮฮา ครื้นเครง ได้หัวเราะทำให้หายเหนื่อยจากการทำงาน โนรา หรือ มโนราห์ เป็นละครรำละครร้องเรื่องยาว คล้ายละครชาตรีของภาคกลาง แต่มีท่ารำที่เน้นการต่อตัว ดัดตัว และมีเครื่องแต่งกายสีสันฉูดฉาดด้วยลูกปัด และเทริดสวมหัว (มงกุฎทรงสูง) บทร้องมีทั้งขบขัน สองแง่สองง่าม ส่วน หนังตะลุง เป็นหุ่นเงาที่ได้รับอิทธิพลมาจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย สนใจหาชมได้ที่หลาดใต้โหนด อำเภอควนขนุน หรือสอบถาม ททท. พัทลุง ก่อนล่วงหน้า ว่าช่วงใดจะมีการแสดง สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานพัทลุง – นครศรีธรรมราช โทร. 0-7534-6515-6