อพท ชวนเที่ยวเชื่อมโยง ตราด-เกาะกง กัมพูชา
“สุดปลายทางคือความเชื่อมโยง” นี่คือวลีเด็ดของ อพท. ตราด ที่ยังก้องอยู่ในความทรงจำของผม เพราะทุกวันนี้เราเปิดเสรีอาเซียนแล้ว การเดินทางเชื่อมโยงทั้งท่องเที่ยวและติดต่อธุรกิจค้าขาย ภายในกลุ่ม 10 ประเทศอาเซียน จึงเป็นไปได้แทบไร้ขีดจำกัด เรียกว่า ASEAN One Destination เลยทีเดียว คือหมายความว่า ไม่ว่าเราจะไปเริ่มต้นเดินทางท่องเที่ยว ณ จุดใดในอาเซียน ก็จะสามารถเชื่อมโยงถึงกันได้เสมอ
คุณสุธารักษ์ สุนทรวิภาต รักษาการผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง ของ อพท. ได้กล่าวว่า ตราด เป็นอีกหนึ่งจังหวัดชายแดนสุดปลายทางบูรพา (ทิศตะวันออก) ของสยาม เชื่อมโยงเข้าสู่จังหวัดเกาะกง ของกัมพูชา โดยสองพื้นที่นี้มีความคล้ายคลึงกันทั้งด้านชีวิตชุมชน ที่ยังผูกพันอยู่กับวิถีเกษตรและประมง รวมถึงมีอาณาเขตติดทะเล ธรรมชาติสวยสดงดงาม การเดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงตราด-เกาะกง โดย อพท. (องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) จึงเป็นการเปิดประตูสู่มิติใหม่อย่างแท้จริง
การเดินทางของเราเริ่มต้นขึ้น ณ “พิพิธภัณฑสถานเมืองตราด” เป็นอาคารไม้โบราณทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างยิ่ง เพราะเคยทำหน้าที่เป็นศาลากลางจังหวัดหลังเก่า ทว่าเมื่อมีการย้ายศูนย์ราชการไป อาคารหลังนี้ก็ถูกทิ้งทรุดโทรม เพิ่งมีการบูรณะให้กลับมีชีวิตฟื้นคืนสภาพ จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์บอกเล่าเรื่องราวของเมืองตราดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กรมศิลปากรจึงได้อนุรักษ์เรือนไม้หลังนี้ให้เป็นโบราณสถานเรียบร้อยแล้วเพียงก้าวย่างแรกขึ้นสู่อาคารด้านบน ก็ทำให้เรารู้สึกเหมือนเดินย้อนคืนสู่อดีต คงเพราะแทบทุกส่วนสัดล้วนสร้างด้วยไม้ จึงทำให้เย็นสบาย อีกทั้งตามชายคาและหัวเสาก็มีการฉลุลายไม้เอาไว้ บ่งบอกถึงความประณีตบรรจงในงานช่างสมัยก่อน ชวนให้จินตนาการไปถึงห้วงเวลาที่อาคารนี้ยังเป็นศาลากลางจังหวัด คงจะมีผู้คนขึ้นมาเดินกันขวักไขว่เพื่อติดต่อราชการแบบหัวกระไดไม่แห้งทีเดียวจากระเบียงทางเดินด้านหน้าที่โปร่งโล่งสบาย ตอนนี้ก็ถึงเวลาเดินไปทางซ้าย เพื่อเข้าสู่ห้องนิทรรศการภายในที่ติดแอร์เย็นฉ่ำ และมีบอร์ดนิทรรศการ พร้อมแสง สี เสียง ให้ชมอย่างดีเยี่ยมภายในนี้แบ่งห้องนิทรรศการเป็น 6 โซน คือ มรดกธรรมชาติและวัฒนธรรมแห่งตราด, ผู้คนเมืองตราด ภูมิศาสตร์ อากาศ ทรัพยากรธรรมชาติ, ลำดับทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์เมืองตราด, เหตุการณ์สำคัญสมัยในหลวงรัชกาลที่ 5 อาทิ การพระราชทานพระแสงราชศาสตราประจำเมือง และการเสด็จประพาสเมืองตราด ฯลฯ, ยุธนาวีที่เกาะช้าง และบรรยากาศตลาดเก่าเมืองตราด จากวันวานถึงวันนี้ชีวิตคนตราดสมัยก่อน กินอยู่กันอย่างเรียบง่าย ตั้งเป็นชุมชนใหญ่สุดในเขตอำเภอเมืองใกล้แม่น้ำตราด เกิดมีย่านตลาดการค้าอันคึกคัก ที่มีชาวจีนเป็นฟันเฟืองหลักในด้านเศรษฐกิจจะว่าไปแล้ว ตราดในสมัยก่อนถือเป็น HUB หรือเมืองศูนย์กลางการค้าขายของชายทะเลตะวันออกเลยทีเดียว เพราะทำเลที่ตั้งอยู่ติดทะเล จึงมีเรือ พ่อค้าวาณิชย์ และผู้คนหลายเชื้อชาติ เข้ามาตั้งรกรากอาศัยอยู่ปะปนกันอย่างกลมกลืน เกิดเป็นเบ้าหลอมทางวัฒนธรรมที่นำมาสู่อัตลักษณ์ความเป็น ‘เมืองตราด’ ทุกวันนี้ คือมีทั้งชาวจีน ชาวชอง ชาวมุสลิม ชาวญวน (เวียดนาม) และไทย รวม 5 เชื้อชาติอาศัยเหมือนญาติ ร่วมกันสร้างตราดขึ้นหากสืบคืนไปให้ดีจะพบว่าแท้จริงแล้วตราดเป็นดินแดนที่เก่าแก่มาก เนื่องจากมีร่องรอยของผู้คนเข้ามาอาศัยตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์แล้ว ดังปรากฏการขุดพบ ‘กลองมโหระทึก’ หล่อด้วยสำริด อายุตั้งแต่ 500-1,000 ปีก่อนคริสตกาล อยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งที่แหล่งโบราณคดีบ้านท้ายไร่ ตำบลวังกระแจะ อำเภอเมืองตราด และแหล่งโบราณคดีบ้านสามง่าม ฯลฯ ซึ่งลวดลายดาวแฉกรัศมีบนกลองนี้บ่งบอกถึงอิทธิพลของวัฒธรรมดองซอน (เป็นวัฒนธรรมในยุคสำริด กำเนิดขึ้นในพื้นที่ราบลุ่มใกล้แม่น้ำแดงของเวียดนามเหนือ) ที่พบได้ทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ช่วง 4,000 ปีก่อนคริสตกาลค่อยๆ เดินไล่ชมไปทีละห้องอย่างตั้งใจ บางห้องก็จัดแสดงหม้อไหจานชามแบบจีนจากยุคอดีตที่ขุดพบตามวัดต่างๆ ในเมืองตราดมีมุมจัดแสดงสินค้าพื้นถิ่นที่ทำรายได้ให้ตราดในอดีต คือเครื่องเทศต่างๆ โดยเฉพาะกระวาน หรือ Cardamom, กานพลู และพริกไทย ที่เป็นทั้งพืชสมุนไพรและใช้ประกอบอาหาร ส่งออกไปในหลายสิบประเทศทั่วโลกจำลองบรรยากาศตลาดเก่าในอดีตใกล้ๆ แม่น้ำตราดเดินทางกันต่อไปในอำเภอเมืองตราด ไม่ไกลจากพิพิธภัณฑสถานเมืองตราด นั่งรถต่อไปแค่ไม่กี่อึดใจเราก็มาถึงวัดเก่าแก่ที่สุดของตราด คือ ‘วัดบุปผาราม’ (วัดปลายคลอง) โดยประวัติกล่าวว่าสร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2175 (บางตำราว่า พ.ศ. 2191 บางตำราว่า 2195) ในรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง สมัยกรุงศรีอยุธยา เล่าสืบต่อกันมาว่าในครั้งที่มีการเสาะหาพื้นที่สร้างวัด เมื่อชาวบ้านเดินทางมาถึงจุดนี้ก็ได้กลิ่นดอกไม้หอมตลบอบอวลไปทั่ว แต่หาที่มาของกลิ่นไม่พบ จึงถือเป็นนิมิตรดี ช่วยกันสร้างวัดขึ้น แล้วตั้งชื่อให้ว่า ‘วัดบุปผาราม’ แปลว่า ‘อารามแห่งดอกไม้’ ชื่อไพเราะไม่ใช่เล่นเลย นับแต่นั้นวัดบุปผารามก็ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของคนตราดเรื่อยมาจุดห้ามพลาดชมของวัดบุปผารามมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นศาลกาการเปรียญไม้ศิลปะอยุธยา ที่สร้างขึ้นด้วยเงินเพียง 1,500 บาท, พระบุทอง-เงิน และพระพุทธรูปทรงเครื่อง, วิหารพระพุทธไสยาสน์, พิพิธภัณฑ์, พระอุโบสถซึ่งมีภาพจิตรกรรมฝาผนังพระพุทธเจ้าปางแสดงธรรมอันงดงาม, กุฎิเดี่ยวสำหรับพระภิกษุสงฆ์ปฏิบัติกัมมัฏฐาน ที่มีความกว้างเพียง 2 เมตร ยาว 4.50 เมตร, อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน รวมถึงหอระฆังสูงอันมีเอกลักษณ์ความเก่าแก่ของพระอุโบสถเก่าศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่ผ่านกาลเวลามานับร้อยปี กำลังได้รับการบูรณะ เพื่อให้กลับมาสวยงามดังเดิมบนศาลาการเปรียญมีรูปหล่อโลหะของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โดยทรงถอดพระมาลา (หมวก) ออก วัดบุปผารามอาจจะเป็นแห่งเดียวในเมืองไทยก็ได้ ที่มีรูปหล่อลักษณะนี้อยู่กุฎิไม้โบราณของพระสงฆ์ เพื่อใช้ในการปฏิวัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน มีขนาดกว้างเพียง 2 เมตร ยาว 4.50 เมตร เรียกว่าขนาดพระสงฆ์พออยู่ได้รูปเดียว เพื่อแสวงหาความสงบวิเวกอย่างแท้จริงพระบุเงินบุทองศิลปะพม่า และพระพุทธรูปทรงเครื่องเหลืองอร่ามงามตาภายในพระอุโบสถหลังเก่า ประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่และศักดิ์สิทธิ์ พร้อมด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างท้องถิ่น สะท้อนเรื่องราววิถีชีวิตและศิลปะจีนที่เข้ามาเจือปน พระประธานในพระอุโบสถหลังเก่า พระพักตร์อิ่มเอิบเปี่ยมเมตตา น่าเลื่อมใสมาก เบื้องหลังพระประธานมีภาพจิตรกรรมฝาผนังรูปดอกไม้เครือเถา ให้เข้าคู่กับชื่อวัดบุปผารามภาพจิตรกรรมฝาผนังไฮไลท์ของวัดบุปผาราม พระพุทธเจ้าปางแสดงธรรมภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดบุปผาราม งดงามด้วยศิลปะจีนที่เข้ามาเจืออยู่กับศิลปะไทย บ่งบอกได้ถึงผู้บูรณะที่ต้องมีเชื้อสายจีนแน่นอนพิพิธภัณฑ์วัดบุปผาราม เก็บรักษาโบราณวัตถุล้ำค่าไว้นับพันๆ ชิ้น เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาอดีตความเป็นมาของเมืองตราดนี้จานชามเครื่องเคลือบแบบจีนโบราณที่มีลวดลายวิจิตรสวยงาม ภายในพิพิธภัณฑ์วัดบุปผารามจากอำเภอเมืองตราด เราใช้ทางหลวงหมายเลข 3 แล่นไปทางตะวันออกมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึง ‘ชุมชนบ้านไม้รูด’ อำเภอคลองใหญ่ ซึ่งเป็นชุมชนวิถีประมงเข้มแข็ง ที่ทาง อพท. ได้เข้าไปเป็นพี่เลี้ยง ให้ชาวบ้านสามารถดำเนินวิถีชีวิตของตนไปได้ ควบคู่กับ การท่องเที่ยวแนวนิเวศพิพิธภัณฑ์ หรือ Eco Museum คือนักท่องเที่ยวจะต้องเข้าไปอย่างเคารพชุมชน มีการเข้าไปพักค้างแรมกับชาวบ้าน กินอาหารพื้นถิ่น และทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน เรียกว่าเป็นการท่องเที่ยวที่ต้องลงไปใช้ชีวิตกับชาวบ้านจริงๆ ที่เขาเรียกว่าเป็นแนว Experiences ให้ได้ประสบการณ์ตรง มาบอกเล่ากัน
ชุมชนบ้านไม้รูด มีความโดดเด่นในเรื่องการจับปูม้า ปูทะเล และปูดำที่อยู่ตามป่าชายเลน เพราะเขามีภูมิปัญญาท้องถิ่นสั่งสมกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ จึงมีความเข้าใจในวิถีทะเลอย่างลึกซึ้ง ทุกวันเราจะเห็นภาพของเรือประมงที่แล่นเข้ามา ขนถ่ายกุ้งหอยปูปลาสดๆ ที่จับได้ขึ้นมาขาย บางบ้านนั่งแกะปูเตรียมส่งให้ร้านที่จะมารับซื้อ เป็นวิถีเรียบง่าย สงบงาม ที่ทำรายได้ให้อย่างยั่งยืน ตราบที่คนไม้รูดยังดูแลทะเลไว้อย่างดี
อพท. คือหน่วยงานหลักที่เป็นพี่เลี้ยงชาวบ้านไม้รูด ให้จัดตั้ง ‘ธนาคารปู’ เพื่ออนุรักษ์พันธุ์ปูม้าไว้ในทะเลตราดมิให้สูญหาย หากชาวประมงรายใดจับปูไข่นอกกระดองได้มาขาย ก็จะไม่มีการรับซื้อ แต่มีข้อตกลงของชุมชนเป็นกฎกติการ่วมกันว่า ต้องนำแม่ปูไข่นอกกระดองไปให้ธนาคารปู เพื่อฟักและอนุบาลเป็นตัวอ่อน แล้วปล่อยคืนลงสู่ทะเลต่อไป ขอปรบมือให้เลยครับ
ธนาคารปูของบ้านไม้รูด ตั้งอยู่ในบริเวณสะพานปลา โดยการนำแม่ปูไข่นอกกระดองมาเลี้ยง ให้มีการสลัดไข่ลงในถังอนุบาล แม่ปูแต่ละตัวจะมีไข่ได้มากถึง 100,000-200,000 ฟอง แต่เมื่อปล่อยคืนสู่ทะเลแล้ว อัตราการรอดก็คงจะไม่เกิน 10 เปอร์เซนต์ เพราะลูกปูตัวจิ๋วเหล่านี้มีลักษณะเป็นแพลงก์ตอนที่ล่องลอยไปในน้ำ จึงตกเป็นอาหารของสัตว์ทะเลอื่นๆ ตามห่วงโซ่อาหาร เติมเต็มระบบนิเวศน์ทะเลตราดให้สมบูรณ์ต่อไปมีกิจกรรมสนุกๆ และได้ประโยชน์สำหรับคนที่มาเยือนบ้านไม้รูด คือ ‘การปล่อยปูคืนสู่ทะเล’ แต่ที่นี่เขาไม่ได้ปล่อยปูตัวโตๆ ทว่าปล่อยลูกปูตัวจิ๋วเท่าหัวเข็มหมุด ที่ฟักออกจากแม่ปูไข่นอกกระดอง แล้วนำมาอนุบาลไว้ระยะหนึ่งที่ธนาคารปู การปล่อยปูจะใช้วิธีต่อท่อตรงลงสู่น้ำทะเล ในช่วงเวลาที่น้ำลงต่ำสุด เพื่อให้กระแสน้ำพัดพาเหล่าลูกปูนับล้านๆ ตัว ออกไปสู่ผืนทะเลกว้างในอ่าวตราดต่อไป
แม่ปูไข่นอกกระดอง ที่ธนาคารปูบ้านไม้รูดนำมาเลี้ยง รอให้ไข่ฝักออกเป็นตัวดูกันชัดๆ เลยครับ แม่ปูไข่นอกกระดอง คือตัวเมียที่ท้องแก่เต็มที่ จะมีไข่ไม่ต่ำกว่า 200,000 ฟอง ฟูออกมาแบบนี้ และเมื่อไข่สุกเป็นสีดำสนิท ลูกปูกตัวน้อยก็จะฟักออกจากไข่ ว่ายน้ำล่องลอยไปในทะเลภาพเปรียบเทียบปูม้าตัวผู้ (ตัวบน ขาสีฟ้า) กับแม่ปูม้าไข่นอกกระดอง (ตัวล่าง ขาสีส้ม)
จากอบต.บ้านไม้รูด และสะพานปลา ถ้าเดินมาอีกแค่ไม่กี่ร้อยเมตร เราก็จะได้ตื่นตากับธรรมชาติหาดทรายอันเงียบสงบเป็นธรรมชาติของ ‘หาดไม้รูด’ ซึ่งมีลักษณะเป็นอ่าวรูปครึ่งวงกลม ทอดยาวหลายร้อยเมตร แต่ที่พิเศษสุดเป็น Unssen เลยก็คือ ที่ปลายสุดหาดด้านทิศตะวันออกจะมี ‘หาดทรายสองสี’ ทอดตัวท้าทายทุกสายตา คือมีทั้งส่วนที่เป็นทรายสีขาวสะอาดเนื้อละเอียดยิบ และทรายสีน้ำตาลอมแดงเนื้อหยาบกว่า ทั้งสองมาบรรจบกัน อยู่ติดกับแนวโขดหินและป่าละเมาะร่มรื่น น่ามาพักผ่อนหย่อนใจที่สุด
ดูกันชัดๆ หาดทรายสองสีบ้านไม้รูด อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด มีเนื้อทรายสองแบบมาบรรจบกันอย่างน่าอัศจรรย์
จากแนวโขดหินริมทะเล มองกลับเข้าไปบนฝั่ง จะเห็นหาดทรายสองสีได้แจ่มเต็มตา โดยเฉพาะในยามน้ำลดช่วงกลางวัน
เดินถัดจากหาดทรายสองสีเลียบชายหาดไปทางตะวันออกอีกราวๆ 300 เมตร เราก็มาถึงอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ + ธรรมชาติ ที่น่าสนใจ และ Amazing มากๆ นั่นคือ ‘บ่อญวน’ เป็นบ่อน้ำจืดธรรมชาติที่ผุดขึ้นมาอยู่ติดชายหาดหลังวัดไม้รูดเลยล่ะ โดยน้ำจืดบ่อนี้มีรสจืดสนิท และไม่เคยเหือดแห้ง!
ประวัติบันทึกไว้ว่าในอดีตยุคจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ครั้งที่ญวน (เวียดนาม) ทำสงครามขับไล่ฝรั่งเศสออกจากประเทศตน ซึ่งขณะนั้นฝรั่งเศสตั้งฐานทัพอยู่ที่เกาะกง กัมพูชา ระหว่างตั้งทัพอยู่ที่เกาะกงเกิดขาดแคลนอาหารและน้ำ คนบ้านไม้รูดจึงได้ช่วยหาเสบียงกรังให้ มีนายทหาร 10 คน ออกหาแหล่งน้ำ ด้วยวิธีโบราณคือถือกะลามะพร้าวไปคว่ำไว้ตรงจุดที่ตนคิดว่ามีน้ำอยู่ จนกระทั่งไปพบบ่อญวนเข้า ทหารกว่า 300 คน จึงได้ดื่มน้ำจากบ่อนี้ นับเป็นเรื่องจริงที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก
หลังจากเยี่ยมชมธนาคารปูม้า กิจกรรมของชาวบ้าน รวมถึงหาดทรายสองสี และบ่อญวนอายุกว่า 70 ปีแล้ว ก็ได้คิวพักเที่ยงชิมอาหารท้องถิ่นอร่อยๆ เขาบอกว่าหาทานยาก นั่นคือ ‘ก๋วยเตี๋ยวกั้ง’ ซึ่งหลายคนอาจรู้สึกกลัว ไม่กล้ากิน คงเพราะหน้าตารูปร่างของกั้งมันออกจะแปลกๆ สักหน่อย แต่ขอบอกว่า ถ้าได้ชิมแล้วจะติดใจต้องต่อชามสอง! เนื่องจากเนื้อกั้งสดใหม่จากทะเลนี้ มีความเหนียวนุ่ม เนื้อหวาน ไม่คาว ไม่ต่างจากการกินเนื้อกุ้งเลย ในแต่ละชามนั้นนอกจากเนื้อกั้งที่ใส่กันไม่อั้นแล้ว ยังมีเนื้อปลา กุ้ง และหมึก เสริมเติมทัพเข้ามาอีก ร้านนี้อยู่ที่ฝั่งตรงข้ามธนาคารปูนั่นเอง (ชื่อร้านป้านา)ชุมชนบ้านไม้รูด เขาไม่ได้มีชื่อเสียงเฉพาะก๋วยเตี๋ยวกั้งหรอกนะครับ แต่ยังมีกะปิแท้อย่างดี บรรจุในแพ็กเกจสวยงาม รอให้เราไปอุดหนุนกระจายรายได้
ตบท้ายของหวานแบบบ้านๆ แต่เลิศรสในมื้อนั้น ด้วยขนมจากบ้านไม้รูด ที่ใส่มะพร้าวเยอะ เข้มข้น หอมหวนชวนรับประทานเป็นอย่างยิ่ง ปิ้งมาใหม่ๆ สดๆ ร้อนๆ แหม กินกันไปคนละเกือบสิบอัน ฮาฮาฮาอิ่มหนำกันโดยทั่วหน้า ก็ได้เวลาโบกมือลาอำเภอคลองใหญ่และบ้านไม้รูด เลียบทะเลตะวันออกใกล้ด่านชายแดนบ้านหาดเล็กเข้าไปทุกขณะ ลองสังเกตให้ดีทางด้านซ้ายมือจะเห็นจุดท่องเที่ยวเป็น Landmark ใหม่ล่าสุด คือ จุดถ่ายภาพ TRAT ตั้งอยู่บนเนินเขาด้านซ้ายมือ เพราะจุดนี้ถือเป็น ‘จุดแคบที่สุดในประเทศไทย’ มีความกว้างจากชายทะเลขึ้นไปถึงสันเขา (จุดแบ่งเขตแดนไทย-กัมพูชา) กว้างเพียง 450 เมตร ลบล้างข้อมูลเก่าที่เคยเรียนกันมาว่า จุดแคบสุดในเมืองไทยอยู่ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทว่าก่อนจะถึงจุดถ่ายภาพนี้ ก็ต้องเดินขึ้นบันไดไปหลายสิบขั้น เป็นบันไดค่อนข้างชัน เล่นเอาหอบแฮ๊กนิดๆ เหมือนกันนะ จากริมทางหลวงหมายเลข 3 ที่มุ่งหน้าจากอำเภอเมืองตราด-ด่านชายแดนบ้านหาดเล็ก มองไปทางซ้ายจะเห็น Landmark TRAT จุดแคบสุดในประเทศไทยอย่างเด่นชัด จอดถ่ายรูปกันสักนิด อย่าผ่านเลยจากบนเนินเขา Landmark จุดแคบสุดในเมืองไทย มองออกไปในทะเลตะวันออก แลเห็นเกาะกูดทอดตัวอยู่ที่เส้นขอบฟ้าสีครามอย่างนิ่งสงบ สวยงาม เย้ายวนให้ออกไปสัมผัสในที่สุดก็มาถึงแล้ว ‘ด่านชายแดนบ้านหาดเล็ก’ เป็นจุดผ่านแดนถาวรเชื่อมต่ออำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด – จังหวัดเกาะกง ของกัมพูชา ขอเตือนว่าอย่าลืมเอา Passport ติดตัวไปด้วยล่ะ เพราะต้องใช้ประทับตราตรวจคนเข้าเมืองผ่านแดน ทั้งฝั่งไทยและกัมพูชาวันนี้ตลาดชายแดนบ้านหาดเล็กในฝั่งไทยดูคึกคักผิดหูผิดตา คงเพราะตรงกับช่วงฤดูผลไม้ภาคตะวันออกสุกงอมพอดี มีทั้งทุเรียนนานาพันธุ์ เงาะ มังคุด มะไฟ และอีกสารพัดผลไม้ บวกกับอาหารทะเลตากแห้ง อย่างกุ้งแห้งราคาไม่แพง รอให้ไปอุดหนุนเดินลึกจากริมถนนใหญ่เข้าไปตามซอยในตลาดชายแดน ก็มีเครื่องมือช่าง, เครื่องใช้ไฟฟ้า, โทรศัพท์, กระเป๋าแบรนด์เนม, รองเท้า, เสื้อผ้า, แว่นตา, นาฬิกา, น้ำหอม และอีกนานาสารพัดสินค้าราคาไม่แพงให้จับจ่าย เป็นเสน่ห์ของการกระจายรายได้ ก่อนข้ามแดนเข้าสู่เกาะกงของกัมพูชา หรือใครจะไปเที่ยวเกาะกงก่อน แล้วค่อยมาแวะช้อปปิ้งในตอนขากลับบ้านก็ดีเหมือนกันตลาดชายแดนบ้านหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด สวรรค์ของนักช้อปราคาประหยัดเมื่อเดินไปสุดตลาดบ้านหาดเล็ก ก็จะไปจรดกับชายทะเลน้ำสีมรกตเคียงคู่ฟ้าสีครามเมื่อรถของเราแล่นผ่านด่านตรวจเอกสารของทั้งฝั่งไทยและกัมพูชามาแล้ว ก็เข้าสู่เขตแดนของ ‘จังหวัดเกาะกง’ โดยสมบูรณ์ ภาพแรกที่เห็นคือธงชาติคู่ไทย-กัมพูชา พร้อมพี่ทหารชักธงต้อนรับ ฮาฮาฮา จากจุดผ่านแดนมาแค่ไม่กี่ร้อยเมตร ทางขวามือคืออาคารทรงโรมันขนาดใหญ่ ไม่ต้องสงสัย นี่คือคาสิโนและโรงแรมหรูห้าดาวของเกาะกง สำหรับนักเดินทางอย่างเราซึ่งมีจุดหมายอยู่ที่อื่น ก็สามารถจอดรถแวะเข้าห้องน้ำ หรือเดินเข้าไปช้อปปิ้งสินค้า Duty Free ด้านในได้นะครับ เขา Open มาก
ฝั่งตรงข้ามคาสิโนเกาะกง เป็นซอยเล็กๆ ที่มีร้านค้าปลอดภาษีของชาวบ้านเรียงรายสองฟากฝั่ง แต่ดูๆ ไป ไม่คึกคักเท่าฝั่งไทย อีกทั้งสินค้าก็คล้ายๆ กับบ้านเราด้วย แนะนำว่าซื้อของที่นี่ต้องต่อราคาให้ดี และสามารถใช้เงินไทยซื้อได้เลย ไม่จำเป็นต้องแลกเงินเรียวของกัมพูชาแต่อย่างใดถึงแล้ว ‘เกาะกง’ หรือ ‘เมืองปัจจันตคีรีเขตร’ ดินแดนซึ่งเคยเป็นของไทย และรัชกาลที่ 4 ทรงมีพระบรมราชโองการให้เกาะกงเป็นส่วนหนึ่งของเมืองตราด โดยพระราชทานนามว่า ‘ปัจจันตคีรีเขตร’ ให้คล้องจองกับชื่อเมืองประจวบคีรีขันธ์ เพราะทั้งสองเมืองนี้ตั้งอยู่บนแนวเส้นรุ้ง (เส้นละติจูด) เดียวกัน
ต่อมาในสมัยพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 เมื่อฝรั่งเศสยึดเมืองตราดไว้เป็นประกัน หากไทยต้องการคืนจะต้องแลกเปลี่ยนด้วยการยอมยกดินแดนประเทศกัมพูชา ในส่วนมณฑลบูรพา คือ เมืองพระตะบอง, เมืองเสียมราฐ และเมืองศรีโศภณ ให้ ทว่าต่อมาฝรั่งเศสก็มิได้คืนเมืองปัจจันตคีรีเขตร (เกาะกง) ให้สยามตามเงื่อนไข จนกระทั่งเกาะกงกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศกัมพูชามาจนปัจจุบันจากด่านชายแดนบ้านหาดเล็ก วิ่งรถไปราวๆ 30 นาที ก็ถึงแม่น้ำเกาะกง เป็นแม่น้ำใหญ่ที่ไหลไปออกทะเล แต่เดี๋ยวก่อน ขณะข้ามสะพานเหลียวมองไปทางด้านขวา จะพบกับ ‘เจดีย์ขุนช้างขุนแผน’ โบราณสถานอายุกว่า 900 ปี ที่คนเกาะกงนับถือศรัทธาว่าศักดิ์สิทธิ์มาก จึงมีชาวบ้านมากราบไหว้ขอพรให้สมหวัง ค้าขายร่ำรวย ทำมาค้าขึ้น
ตำนานเล่าว่า มีลูกสาวชาวบ้านชื่อ ทับทิม เป็นหญิงที่รักของขุนแผน ส่วนขุนช้างที่มีรูปร่างไม่งามทว่าร่ำรวยเงินทอง ครอบครัวของทับทิมจึงจับนางแต่งงานกับขุนช้าง หลังจากนั้นด้วยความที่ไม่ได้รักขุนช้าง เธอจึงไปรักกับผู้บัญชาการทหารชื่อ คุณเพ็ญ เมื่อขุนช้างรู้จึงนำความไปกราบทูลพระมหากษัตริย์ จึงมีพระบรมราชโองการให้ประหารตัดร่างนางทับทิมออกเป็นสองท่อน! ร่างของเธอถูกฝังไว้ ณ ลานประหาร หลังจากนั้นขุนช้างรู้สึกผิด อยากให้วิญญาณของเธอไปเกิดใหม่ จึงสร้างเจดีย์ขึ้นเพื่อรำลึกถึงความรักที่มีต่อนาง เป็นเจดีย์สูงประมาณ 4 เมตร ภายในบรรจุข้าวของมีค่าและพระพุทธรูปไว้ โดยเจดีย์นี้ยังคงยืนหยัดอยู่มาถึงปัจจุบัน อยู่ห่างจากตัวเมืองเกาะกงเพียง 1 กิโลเมตร คนละฝั่งแม่น้ำกันจากเจดีย์ขุนช้างขุนแผน ข้ามสะพานเกาะกงมาก็ถึงตัวเมืองเกาะกงแล้ว เชื่อหรือไม่ว่าสะพานแห่งนี้สร้างขึ้นโดยความช่วยเหลือของทหารช่างไทย เมื่อปี ค.ศ. 2007ยามเย็นย่ำอาทิตย์อัสดง นั่งเหม่อมองแสงสีบนฟากฟ้าจากฝั่งตัวเมืองเกาะกง เต็มไปด้วยความโรแมนติกและคลาสสิกสุดๆ นี่ถ้าชวนคนพิเศษของเราไปด้วยก็คงวิเศษเลยยามโพล้เพล้อาทิตย์เพิ่งลาลับ ก่อนท้องฟ้าจะมืดสนิทชวนกันไปเก็บภาพสะพานเกาะกง เริ่มเปิดไฟสะท้อนน้ำวิบวับมลังเมลือง แลแปลกตาดีไฮไลท์ของการท่องเที่ยวเชื่อมโยงตราด-เกาะกง ในทริปนี้ คือการล่องเรือเข้าสู่น้ำตกที่โดยส่วนตัวขอบอกเลยว่า ยิ่งใหญ่และสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งใน ASEAN เลยทีเดียว! (ความเห็นส่วนตัวล้วนๆ ครับ ฮาฮาฮา) นั่นคือ การเดินทางสู่ ‘น้ำตกตาไต’ ที่ต้องล่องเรือของชาวบ้านเข้าไปประมาณ 30 นาที
น้ำตกตาไตอยู่ห่างจากตัวเมืองเกาะกงไปทางตะวันออกประมาณ 20 กิโลเมตร มีถนนสองเลนลาดยางอย่างดีไปจนถึงท่าเรือ โดยค่าล่องเรือเขาคิดคนละ 50 บาท แต่ถ้ามากันไม่กี่คน หรือไม่อยากแจมกับนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่น อยากจะเหมาลำก็ต่อรองราคากันเองได้ที่ท่าเรือมีแผงขายผลไม้นานาชนิด รีบปรี่เข้าไปซื้อชิม อ้าว! มาจากฝั่งไทยทั้งนั้นเลย ฮาฮาฮาได้เวลาผจญภัยเที่ยวท่องล่องเรือชมธรรมชาติกันแล้ว วันนี้พลขับนายท้ายของเราเป็นหนุ่มน้อยชาวเกาะกง ที่มาช่วยพ่อขับเรือเครื่อง หน้าตาเข้มขรึมและผิวพรรณที่กร้านแดดลมของเขา นับว่าหล่อเหลาเอาการในสไตล์หนุ่มเขมรแท้ วันนี้เรามากันหลายคน เลยต้องใช้เรือประมาณ 4 ลำ ลำหนึ่งนั่งได้ไม่เกิน 10 คน เพื่อความปลอดภัย (ในเรือมีเสื้อชูชีพให้ครับ)
ระหว่างทางเข้าน้ำตก ช่างเป็นเวลา 30 นาทีที่เต็มไปด้วยความสุข เพราะธรรมชาติแมกไม้สีเขียวสองฟากฝั่งนั้นอุดมสมบูรณ์ยิ่งนัก น้ำใสแจ๋วเย็นเจี๊ยบ อากาศปลอดโปร่งโล่งสบายหายใจได้เต็มปอด ถ่ายภาพกันสนุกเลยน้ำใสไหลเย็นของแม่น้ำเกาะกง คือสายน้ำที่ถือกำเนิดมาจากเทือกเขาบรรทัด ทอดยาวกางกั้นชายแดนไทย-กัมพูชา และกินอาณาบริเวณเข้ามาในเกาะกงด้วย โดยแม่น้ำสายนี้เป็นน้ำกร่อย จึงมีทั้งต้นโกงกาง ป่าจาก และพืชหลายชนิดที่ทนน้ำกร่อยได้งอกงามอยู่หนาแน่นรกชัฏ
รากหายใจของต้นไม้ในเขตชายคลองน้ำกร่อยชูขึ้นเหนือผิวน้ำริมตลิ่งตื้น สะท้อนผิวน้ำวูบไหวไปมาราวกับภาพศิลปะของศิลปินเอกที่ชื่อ “ธรรมชาติ”วิถีชีวิตชาวบ้านเกาะกง ยังคงมีเรือแจวตามแบบ Slow Life ให้เห็น น่ารักจริงๆ
นักท่องเที่ยวชาวกัมพูชาที่กลับจากเที่ยวน้ำตกตาไต โบกไม้โบกมือทักทายเราพร้อมรอยยิ้ม เห็นแล้วอบอุ่นหัวใจจังธรรมชาติพิสุทธิ์ได้กลืนกินหัวใจพวกเราไปจนหมดสิ้นแล้วพ้นโค้งน้ำสุดท้ายมา ในที่สุด “น้ำตกตาไต” ก็ปรากฏต่อสายตาเรา เผยความงามบริสุทธิ์ออกมาให้เห็นทีละน้อยๆ ช่างยิ่งใหญ่เหลือเกิน!น้ำตกตาไตแห่งเกาะกง กัมพูชา เห็นกับตาแล้ววันนี้ ขอตั้งฉายาให้เลยว่า “น้ำตกไนแองการ่าแห่งเกาะกง” เพราะแม่น้ำทั้งสายทิ้งตัวลดระดับลงผ่านแก่งหินยักษ์ เสียงน้ำดังสนั่น ละอองน้ำเย็นฉ่ำปลิวว่อนเป็นละอองไอไปทั่ว ถ้าใครเคยไปเที่ยวน้ำตกคอนพะเพ็งที่เมืองปากเซ ของลาวใต้มาแล้ว จะรู้สึกเลยว่า น้ำตกตาไตเป็นฝาแฝดกับน้ำตกคอนพะเพ็ง ฮาฮาฮาต้นฤดูฝนแบบนี้ สายน้ำที่น้ำตกตาไตไหลถาโถมอิ่มเอมเย็นฉ่ำ ปิดแก่งหินใหญ่มากมายไว้ใต้ม่านน้ำขาว แต่ถ้ามาเท่ียวช่วงฤดูแล้ง น้ำน้อย จะเห็นแผ่นหินเรียงรายจนขึ้นไปเดินเที่ยวได้เลยล่ะ
น้ำตกตาไต เป็นน้ำตกขนาดใหญ่มากจริงๆ แบ่งเป็น 2 ชั้น ชั้นแรกสูงราวๆ 5-6 เมตร และชั้นที่สองสูง 12-15 เมตร ปัจจุบันถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่คนยังรู้จักน้อย แต่ก็มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทว่าการจัดการยังไม่ดีเท่าที่ควร ระหว่างทางยังพบขยะทิ้งอยู่ในป่าสองข้างทางน้ำตกมากมาย น่าเป็นห่วงมากๆ ครับ! กลัวว่าถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป น้ำตกตาไตอันยิ่งใหญ่และงดงามจะหมองลงน่ะสิ
จากจุดจอดเรือ มีทางเดินป่าระยะทางประมาณ 300 เมตร เลียบตลิ่งขึ้นไปจนถึงหัวน้ำตกชั้นแรก ซึ่งถ่ายภาพได้ใกล้ชิด มองข้ามไปอีกฝั่งจะเห็นเพิงพักของชาวบ้านที่มาปลูกไว้แบบชั่วคราว เพื่อใช้เป็นแคมป์ตกปลาด้านหน้าน้ำตกตาไต มีจุดถ่ายภาพเจ๋งๆ แจ่มๆ ให้เลือกนับไม่ถ้วน แต่ต้องระวังลื่นด้วยล่ะ! แนะนำให้ถอดรองเท้าเลยดีกว่า ชัวร์ดีน้ำตกตาไต มีตำนานเล่าว่า ผู้ชายชื่อตาไต (ตาไท) และลูกชายได้ไปหาปลาที่น้ำตกนี้ เพราะเป็นจุดที่น้ำจืดและน้ำเค็มมาบรรจบกัน แต่อยู่ดีๆ ก็มีพายุฝนตกหนักจนน้ำท่วมฉับพลันพัดลูกตาไตหายไป หลังจากนั้น 4-5 วัน มีคนพบลูกตาไตในจุดที่หายไปนั่นเอง เด็กชายเล่าว่า มีคนพาเขาไปในสถานที่ลี้ลับ เพื่อหนีอะไรสักอย่างที่กำลังตามฆ่าเขา แต่ก็มีนักบวชปรากฏตัวขึ้นเพื่อช่วยเหลือ หลังจากตาไตและเมียรู้เรื่อง จึงเชื่อว่าฤาษีได้มาช่วยลูกชายตนไว้ นับแต่นั้นมา น้ำตกแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า “น้ำตกตาไต” หรือ “น้ำตกฤาษี”ม่านน้ำสีขาวอันอ่อนโยน ของน้ำตกตาไตยามต้นฤดูฝน
ม่านน้ำของน้ำตกตาไตแผ่กว้างออกนับร้อยเมตร ขวางลำน้ำไว้ทั้งสาย ยิ่งใหญ่มากการเดินทางของเราในทริปนี้สิ้นสุดลงแล้ว ทว่าความประทับใจในการท่องเที่ยวแบบเชื่อมโยงยังคงไม่จบสิ้น เหมือนดังที่ อพท. หรือ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ได้กล่าวไว้ไม่มีผิด เพราะมันคือการเชื่อมโยงวิถีชีวิตชุมชน ธรรมชาติ และวัฒนธรรมอันหลากหลายเข้าด้วยกัน ผ่านการเดินทางเรียนรู้โลกกว้างในอาเซียน ดินแดนที่อุดมสมบูรณ์และหลากหลาย จนทั่วโลกอิจฉา ฮาฮาฮาค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.dasta.or.th / โทร. 0-2357-3580-7
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!