Madagascar เกาะมหัศจรรย์แห่งมหาสมุทรอินเดีย
ชาวมาดากัสการ์เชื่อว่า “ต้นเบาบับ” (Baobab) คือต้นไม้ของพระเจ้า หรือ Tree of God เพราะมันเป็นพรรณไม้อายุยืนนับพันปีที่ทั้งพิลึกพิลั่น และเปี่ยมคุณประโยชน์ที่สุดบนเกาะมาดากัสการ์! นอกจากผลจะกินได้แล้ว เปลือกยังใช้ทำเชือก เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย ฟืน แถมลำต้นอวบป่องแสนน่ารักของมัน ยังเก็บกักน้ำให้สัตว์และผู้คนได้ดื่มกิน เคยมีบันทึกว่าเบาบับเพียง 1 ต้น กักเก็บน้ำได้มากสุดถึง 120,000 ลิตร! จุดชมต้นเบาบับได้เจ๋งสุดในมาดากัสการ์คือที่ “ถนนแห่งต้นเบาบับ” (Avenue du Baobao) อยู่ห่างขึ้นไปทางเหนือราว 15 กิโลเมตร จากเมืองมูรุนดาฟ (Morondava) เป็นถนนเชื่อมต่อไปเมืองเบโล-เซอร์-ชิริบินา (Belo-sur-Tsiribina) คนที่คลั่งไคล้ใหลหลงธรรมชาติต่างมุ่งหน้าไปที่นั่น เพื่อชมต้นเบาบับยักษ์นับร้อยเรียงรายเคียงคู่อาทิตย์อัสดง เป็นภาพมหัศจรรย์ซึ่งไม่มีที่ใดเหมือน!
มีนิทานเล่าว่า เบาบับเป็นพันธุ์ไม้ชนิดแรกที่อุบัติขึ้นบนโลก แต่เมื่อมันเห็นต้นปาล์มมีรูปร่างเพรียวงาม มันก็อยากจะสูงกว่า ต่อมามีต้นไม้อื่นผลิดอกสีแดง เจ้าเบาบับก็อิจฉา และเมื่อมันเห็นต้นไทรใหญ่มีผลดก มันก็อยากจะเป็นอย่างเขา พระเจ้าจึงพิโรธทรงถอนต้นเบาบับขึ้นมา แล้วปักยอดลงดิน รากชี้ฟ้า เพื่อให้เบาบับรู้จักพอใจในสิ่งที่ตนมี ทุกวันนี้ต้นเบาบับยามผลัดใบทิ้งหมดในฤดูแล้งจึงแลเหมือนรากชี้ฟ้า!
รอยยิ้มสดใส ของสองสาวน้อยแห่งมาดากัสการ์
ถนนต้นเบาบับอันแสนแปลกตา
สระบัวที่อยู่ข้างๆ ถนนต้นเบาบับ
ถนนต้นเบาบับในแสงสุดท้ายอันน่าประทับใจของวัน
มาดากัสการ์ (Madagascar) คือเกาะใหญ่อันดับ 4 ของโลก ซึ่งนักธรณีวิทยาเรียกว่าเป็นทวีปน้อย! เพราะมาดากัสการ์เป็นส่วนของแผ่นดินที่หลุดออกจากแอฟริกาเมื่อ 165 ล้านปีก่อน จึงมีสัตว์แปลกๆ วิวัฒนาการอยู่จำเพาะเพียงแห่งเดียวในโลก คือ “ลีเมอร์” (Lemur) สัตว์ตระกูลวานรที่มีสายวิวัฒนาการเก่าแก่ที่สุด! มีตั้งแต่ตัวเท่าคนไปจนถึงตัวเท่าหนู! ถ้าอยากดูต้องไปที่ “เขตอนุรักษ์เอกชนเบเรนตี้” (Berenty Private Reserve) ทางตอนใต้ของมาดากัสการ์ ห่าง 80 กิโลเมตร จากเมืองฟอร์ดโดแฟงก์ (Ford Dauphin) บริเวณนี้เป็นพื้นที่กึ่งทะเลทราย มีป่าหนาม (Spiny Forest) แห่งสุดท้ายให้ชม
Mouse Lemur เป็นลีเมอร์ขนาดเล็กที่สุดของโลก ออกหากินเฉพาะตอนกลางคืน ดูน่าตาน่ารักเหมือนมิกกี้เมาส์ไม่มีผิดเลยนะ
เบเรนตี้ เป็นบ้านของลีเมอร์เด่น 3 ชนิด คือ ซิฟาก้า (Sifaka) ลีเมอร์หางแหวน (Ring-tailed Lemur) และลีเมอร์สีน้ำตาล (Brown Lemur) ทั้งหมดหากินเป็นฝูงเล็กๆ อยู่ในพื้นที่เดียวกันอย่างสงบ โดยเฉพาะซิฟาก้าที่ชอบลงมาโดดหย๋องแหย๋งอยู่บนพื้นอย่างน่ารัก เรียกว่า “ซิฟากาเริงระบำ” (Sifaka Dance) นักชีววิทยาสันนิษฐานว่า ลีเมอร์รุ่นแรกมาถึงมาดากัสการ์โดยติดมากับเศษสวะลอยน้ำ หรือเศษของแผ่นดินในคราวที่ทวีปลอเรเซีย (Laurasia) และกอนด์วานา (Gondwana) แยกออกจากกันใหม่ๆ เมื่อ 250 ล้านปีก่อน พวกมันวิวัฒนาการแยกออกไปกว่า 70 สายพันธุ์ กระทั่งมนุษย์มาถึงมาดากัสการ์เมื่อ 2,000 ปีก่อน ลีเมอร์จึงสูญพันธุ์ไปกว่า 16 ชนิด เพราะถูกล่า และมนุษย์ทำลายป่าของพวกมันซะเหี้ยน!
Sifaka Dance คือลีลาท่าทางการเคลื่อนที่ของตัวซิฟาก้า แทนที่มันจะเดินแบบธรรมดาๆ ไม่! แต่มันกลับใช้วิธีกระโดดหย๋องๆ ไปมาแทน เพราะเท้ามันมีสปริงดีมาก
ป่าหนามผืนสุดท้ายของมาดากัสการ์ ที่เบเรนตี้นี่อาจเป็นสถานที่หนึ่งบนพื้นพิภพ ซึ่งลึกลับ โดดเดี่ยว และพิสดารที่สุดเท่าที่เราจะจินตนาการได้! มันคืออาณาจักรของหินผาแหลมคมราวใบมีดนับล้านๆ พุ่งชูขึ้นสู่อากาศ มีกำแพงผาสูงชัน หลืบถ้ำ และร่องเหวลึกนับร้อยเมตรล้อมรอบ พืชและสัตว์ของที่นี่ต้องปรับตัวให้อยู่ในสภาพอากาศสุดขั้ว เพราะอุณหภูมิของทิวาและราตรีต่างกันถึง 20 องศาเซลเซียส! มันคือเทือกเขาหินปูนยาวที่สุดในโลก “ซิงงีแห่งเบมาราห์” (Tsingy de Bemaraha) ประเทศมาดากัสการ์ หรือที่นักท่องธรรมชาติรู้จักกันในนิกเนม “Grand Tsingy” เทือกเขาหินปูนแห่งนี้อยู่ห่างจากชายฝั่งตะวันตกของมาดากัสการ์ 60-80 กิโลเมตร ใกล้เมืองมูรุนดาฟกลางที่ราบสูงเบมาราห์ ทางตอนเหนือของแม่น้ำมานัมโบโล มันมีพื้นที่กว่า 1,520,000,000 ตารางเมตร! ทอดตัวในแนวเหนือ-ใต้ยาว 200 กิโลเมตร สูง 150-700 เมตร แผ่กว้างเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด!
คำว่า “ซิงงี” (Tsingy) เป็นภาษามาลากาซีของชนพื้นเมืองดั้งเดิมมาดากัสการ์ แปลว่า “เข็ม” เพราะหินปูนมีลักษณะตั้งแหลมชูชัน เกิดจากการทับถมของซากปะการังในบริเวณน้ำตื้นใกล้ทวีปแอฟริกา เมื่อผืนดินถูกแรงเค้นยกตัวขึ้นเป็นเกาะมาดากัสการ์ ซากฟอสซิลจึงเปลี่ยนเป็นเทือกเขาหินปูนยาวที่สุดในโลก องค์การ UNESCO จึงประกาศให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ เมื่อ พ.ศ. 2533
สำรวจถ้ำใต้พิภพ ที่เทือกเขาหินปูนยักษ์แกรนด์ ซิงงี่
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!