เรื่องเล่าจากเชียงคาน เรือนไม้โบราณริมโขง

 

เชียงคาน 2

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ชื่อของ “เชียงคาน” อำเภอน้อยริมโขง แห่งจังหวัดเลย ได้กลายเป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่นักท่องเที่ยวไทย ถึงขนาดเป็นแหล่งท่องเที่ยวฮอตฮิต คลื่นนักท่องเที่ยวหลั่งไหลไปชื่นชม จนบางปีในฤดูหนาวเชียงคานล้น หนาแน่นเกินความสามารถที่จะรับนักท่องเที่ยวได้ไหว! บางคนจึงมองว่า เชียงคานกำลังถูกกระแสบริโภคนิยมจากภายนอกทำให้เปลี่ยนไป จนสูญเสียตัวตนที่เคยน่ารัก ดีงาม

แต่ลึกๆ เชียงคานยังมีลมหายใจ ยังมีจิตวิญญาน มีเรื่องเล่า ความเป็นมา แอบซ่อนอยู่อีกมากมายในแต่ละตรอกซอกซอย การเที่ยวชมเชียงคานให้ละเอียดอย่างเนิบช้า ด้วยการเดินหรือปั่นจักรยาน พูดคุยกับชาวบ้านพร้อมรอยยิ้ม จะทำให้เราพานพบ “เชียงคาน” ในอีกแง่มุมหนึ่งอย่างแน่นอน…
เชียงคาน 3

คนเชียงคานดั้งเดิมแล้วอพยพข้ามโขงมาจากเมืองสานะคาม (เมืองชนะสงคราม) ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง หรือประเทศลาวในปัจจุบัน ณ บ้านเวินคำ โดยย้ายมาอยู่ที่ฝั่งผืนดินสยามบริเวณ บ้านท่านาจัน แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น “เมืองเชียงคาน” จนกลายมาเป็นอำเภอเชียงคาน ส่วนใหญ่คนที่นี่มีชื่อสายจากคนหลวงพระบาง จึงนำวิถีวัฒนธรรม การใส่บาตรข้าวเหนีว ภาษาการพูดด้วยสำเนียงอ่อนหวาน และนำอาหารการกินอร่อยๆ ติดตัวมาด้วย
เชียงคาน 4

คนเชียงคานแท้ๆ ต้องตื่นแต่เช้า หุงข้าวเหนียว เพื่อรอใส่บาตรในยามเช้าตรู่ จากนั้นยามสายจึงค่อยนำกับข้าวไปถวายเพลที่วัด ทว่าวิถีชีวิตของคนยุคใหม่ที่เปลี่ยนไป เร่งรีบมากขึ้น มีเวลาน้อยลง ทำให้วัฒนธรรมการใส่บาตรข้าวเหนียวเชียงคาน ถึงกาลต้องเปลี่ยนไป!
เชียงคาน 5

จุดเด่นของเมืองเชียงคานที่ไม่มีใครกล้าปฏิเสธในความงามก็คือ ทัศนียภาพริมโขงที่เห็นแล้วทำให้รู้สึกโปร่ง โล่ง สบายใจ หายใจหายคอได้เต็มปอด สายน้ำโขงที่ไหลเอื่อยๆ อยู่ชั่วนาตาปีไม่เคยเหือดแห่ง คือเส้นเลือดหลัก หล่อเลี้ยงชีวิตคนสองฝั่งน้ำนี้มาหลายชั่วรุ่น

การขนส่งทางน้ำจากเมืองหลวงพระบางลงมายังเชียงคาน ทำให้เมืองนี้เติบโต รุ่งเรืองขึ้นในฐานะเมืองท่าขนาดใหญ่ที่สุดของลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ทว่าหลังจากลาวเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง สยามเลิกค้าขายกับลาว เมืองเชียงคานจึงซบเซาลง ทว่าเมื่อการท่องเที่ยวเพิ่มบทบาทมากขึ้น เชียงคานจึงเปลี่ยนจาก “เมืองท่าสู่เมืองเที่ยว” ในที่สุด

เชียงคาน 6

บรรยากาศยามเช้าเย็น ริมฝั่งโขงเชียงคาน คือภาพตระการตาของธรรมชาติแสงสีบนฟากฟ้า ที่จะประทับใจเรา มิรู้ลืมเชียงคาน 7

นอกจากตัวเมืองเชียงคานที่เด่นด้วยเรือนไม้เก่ายาวเหยียดอยู่ริมโขงแล้ว ใกล้ๆ กันยังมีภูทอก เป็นจุดชมทะเลหมอกตระการตา โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวและหน้าฝน ตื่นเช้าจากเชียงคานนั่งรถขึ้นภูทอก ได้ชมทะเลหมอกแสนสดชื่นเชียงคาน 8

คนเชียงคานเองก็น่ารัก ยิ้มง่าย ใจดี มีอัธยาศัยไมตรี พร้อมต้อนรับผู้มาเยือน หากเรามีเวลาได้นั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับชาวเชียงคาน ก็จะได้รับรู้ถึง “เรื่องเล่าที่ซ่อนเร้น” หรือ The Untold Story of Chiangkhan ซึ่งมีมิติมุมมองลุ่มลึก หลากหลาย ทั้งในเรื่องวิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรม ภาษา อาหาร และอีกมากมาย

การฟ้อนแบบเชียงคาน ก็คือการฟ้อนหลวงพระบางอย่างหนึ่ง ซึ่งได้รับการดัดแปลงให้สอดรับกับยุคสมัยเชียงคาน 9

คงมีน้อยคนนักที่จะรู้ว่า ณ ถนนเชียงคาน ซอย 4 (ล่าง) ที่บ้านของ คุณตาคูณ จูงใจ จะมีเรื่องราวของศิลปะการตัดกระดาษสีที่แทบจะหาดูไม่ได้แล้ว โดยคุณตาคูณ เคยได้รับรางวัลครูศิลป์แห่งแผ่นดิน ประเภทการตัดกระดาษสี (Decorative Paper Cutting) จากศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ SACICTเชียงคาน 10

กระดาษสีที่ตัดออกมาแล้ว จะมีทั้งเป็นแผ่นรูปดาว ดอกมะลิ และเป็นพวงห้อยระย้า เพื่อใช้ในพิธีมงคลต่างๆ หากจะมีใครสนใจไปสืบทอดไว้ก็ไม่เสียหลาย เพราะนี่คือมรดกของแผ่นดินเชียงคาน และเมืองไทย ที่ประเมินค่ามิได้
เชียงคาน 11

คุณตาคูณเล่าว่า ในอดีตไม่มีกรรไกร ต้องใช้มีดพร้ากับฆ้อนตอกลงบนกระดาษสี จึงต้องเชี่ยวชาญจริงๆเชียงคาน 12

ที่บ้านของ คุณลุงเสี่ยน อ้วนคำ ซอย 16 (ล่าง) ท่านคือผู้เชี่ยวชาญการ “สานกระติ๊บข้าวเหนียว” คุณภาพเยี่ยม สานมาทั้งชีวิต สองมือของท่านจึงเคลื่อนไหวด้วยความแคล่วคล่องอย่างอัตโนมัติ อีกทั้งท่านเป็นคนใจดี ยิ้มง่าย ชอบพูดคุยกับลูกหลานที่ไปเยือน นี่คือหนึ่งในปราชญ์แห่งเชียงคานที่แทบไม่มีใครพูดถึง
เชียงคาน 13

คุณลุงเสี่ยน ตรวจสอบผลงานการสานกระติ๊บข้าวเหนียวอย่างตั้งใจ ละเอียดถี่ถ้วนเชียงคาน 14

ใกล้ๆ กับบ้านของลุงเสี่ยน ซอย 16 (ล่าง) คือบ้านของ คุณตาอ้วน และคุณยายสมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญการ สานกระติ๊บข้าวเหนียว และหวดนึ่งข้าวเหนียว ผลงานของท่านละเอียดประณีต มีออร์เดอร์สั่งเข้ามาไม่ขาด สะท้อนถึงวัฒนธรรมอีสานที่ยังต้องการใช้งานหัตถกรรมประเภทนี้ในชีวิต ทว่าช่างฝีมือเหล่านี้ต่างหาก ที่กำลังลดลง และล้มหายตายจากบ้านเมืองของเราไปเรื่อยๆ

คุณตาอ้วนเล่าว่า มีนักท่องเที่ยวฝรั่งซื้อกระติ๊บข้าวเหนียวของท่านไปถึงอเมริกาและยุโรปด้วย น่าภูมิใจจริงๆเชียงคาน 15

คนทั่วไปรู้จักผีตาโขน แห่งอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย แต่ใครจะรู้บ้างว่าจังหวัดนี้ยังมีอีกหนึ่งผีที่แสนน่ารัก “ผีขนน้ำ”บ้านนาซ่าว อำเภอเชียงคาน แม้จะดูเผินๆ ภายนอกคล้ายผีตาโขน แต่ในรายละเอียดต่างกันมาก เพราะผีขนน้ำคืองานบุญเดือนหก ก่อนลงมือทำการเกษตร ประมาณเดือนพฤษภาคมเชียงคาน 16 ชาวบ้านนาซ่าว ซึ่งเป็นชาวไทยพวน เชื่อว่า ผีขน คือ วัว ควาย ที่ตายไปแล้ว แต่วิญญาณยังคงวนเวียนอยู่ตามห้วย หนอง คลอง บึงรอบหมู่บ้าน เมื่อชาวบ้านไปตักน้ำกลับมา ผีขนก็จะตามมาด้วย โดยได้ยินแต่เสียงกระดิ่งกระดึงที่ผูกคอมันไว้ ในอดีตเมื่อมีการละเล่นแห่ผีขนน้ำแล้ว ฝนมักจะตก ทุกวันนี้การเล่นผีขนน้ำจึงกลายเป็น “ผีขอฝน” นั่นเอง

ลายที่วาดบนหน้ากากผีขนน้ำมักจะน่ารัก ประดับด้านบนด้วยผ้าริ้วเป็นสีสดใส แสดงถึงสายฝนและความอุดมสมบูรณ์เชียงคาน 17 ผีขนน้ำบ้านนาซ่าว สืบทอดกันมาถึงรุ่นที่ 6 หรือ 7 แล้ว ทว่าคนนอกอำเภอเชียงคานแทบไม่รู้จักประเพณีการละเล่นผีขนน้ำเลย นับเป็นอีกหนึ่งประเพณี UNSEEN of Chiangkhan อย่างแท้จริงเชียงคาน 18

หน้ากากผีขนน้ำบ้านนาซ่าว ทำจากไม้นุ่น หรือไม้งิ้ว นำมาสลักให้เป็นรูปใบหน้า แล้วทาสีวาดลายตามต้องการ ส่วนหน้ากากผีตาโขนที่เราคุ้นเคย ทำจากหวดนึ่งข้าวเหนียว แค่นี้ก็ต่างกันแล้ว

ทุกวันนี้นักท่องเที่ยวที่ไปเยือนบ้านนาซ่าว สามารถทดลองทำหน้ากากผีขนน้ำได้ด้วยตนเอง สนใจติดต่อ คุณวิชิต ทำทิพย์ โทร. 08-8548-1688เชียงคาน 19เชียงคานในฤดูหนาว อากาศหนาวเย็นยะเยือกจับใจ ผู้คนที่นี่จึงเรียนรู้การทำ “ผ้าห่มนวม” ขึ้นใช้เอง และจำหน่ายเป็นสินค้ามีชื่อเสียง โดยเฉพาะที่ โรงหีบฝ้ายบ่วยเฮียงในตลาดเชียงคาน เป็นโรงหีบฝ้ายแห่งแรกของเชียงคาน มีทั้งหน้าร้านจำหน่าย และเปิดให้เข้าชมโรงงาน ขั้นตอนวิธีผลิตอย่างละเอียด ตั้งแต่การหีบฝ้าย (แยกเมล็ดฝ้ายออกจากปุยฝ้าย), การขึ้นเส้นโครงผ้าห่ม, การบุฝ้าย, การตีฝ้าย จนกลายเป็นผ้าห่มแสนอุ่นสบาย
เชียงคาน 20

ผ้าห่มนวมเชียงคานไม่ได้มีแต่ที่ร้านบ่วยเฮียง แต่ยังมีที่ร้านนิยมไทย (อยู่ระหว่างซอย 13 และ 14 ล่าง), ร้านไดเฮง (ซอย 12 บน), บ้านคุณป้าคำหล้า สิงห์หล้า (ซอย 10 บน) ฯลฯ
เชียงคาน 21

หนึ่งวัฒนธรรมอันแสนน่ารัก ดีงาม ที่บรรพบุรุษชาวหลวงพระบางนำมาสู่เชียงคานเมืองริมโขง ก็คือ “ประเพณีผาสาดลอดเคราะห์” (หรือ ปราสาทลอยเคราะห์) ที่เชื่อกันว่าเป็นเหมือนการสะเดาะห์เคราะห์ นำโชคร้าย สิ่งไม่ดีออกจากตัวด้วยการทำกระทงกาบกล้วยทรงสี่เหลี่ยม ประดับประดาอย่างงดงาม เพื่อไปลอยในแม่น้ำโขงเชียงคาน 22

กระทงผาสาดลอยเคราะห์ ตามแบบประเพณีนิยมดั้งเดิม นอกจากเชื่อว่าจะนำเคราะห์โศรก โรคภัย สิ่งไม่ดีทั้งปวงออกจากตัวเราแล้ว ยังช่วยให้มีโชคดีติดตามมาด้วยเชียงคาน 23

ทุกวันนี้นักท่องเที่ยวที่สนใจในประเพณีผาสาดลอยเคราะห์ สามารถทดลองทำ แล้วนำไปลอยในแม่น้ำโขงได้ด้วยตัวเอง หรือติดต่อที่บ้านป้านาง ซอย 8 (ล่าง) ช่วยกันสืบสานสิ่งดีๆ ไม่ให้สูญหายนะจ๊ะเชียงคาน 24

เมื่อทำกระทงผาสาดลอยเคราะห์เรียบร้อยแล้ว ก็ได้เวลาลงเรือล่องโขง ออกไปหาจุดเหมาะๆ ลอยเคราะห์ไปกับสายน้ำเชียงคาน 25

นั่งเรือชมธรรมชาติสองฝั่งโขง พร้อมกับผาสาดลอยเคราะห์ในมือ ที่เราประดิษฐ์ขึ้นด้วยตนเองอย่างภาคภูมิใจเชียงคาน 26

ลอยผาสาดลอยเคราะห์กลางแม่นำ้โขง เชียงคาน ครั้งหนึ่งในชีวิตที่ต้องจดจำ เชื่อกันว่าเมื่อลอยไปแล้ว ห้ามมอง ต้องปล่อยสิ่งไม่ดี โชคร้าย ความเศร้าโศรกไปกับกระทงนั้นเชียงคาน 27

กลับจากผาสาดลอยเคราะห์เข้าฝั่งเชียงคาน แสงอาทิตย์ก็คล้อยต่ำเย็นย่ำอ่อนแรง เปลี่ยนบรรยากาศริมโขงให้อ่อนหวาน เนิบช้า สงบเย็น นี่ล่ะเสน่ห์แท้จริงของเมืองริมโขงอย่างเชียงคาน ที่เราสัมผัสได้ตลอดปีเชียงคาน 28

เมื่ออาทิตย์อัสดง สายน้ำโขงเชียงคานก็ถูกแต่งแต้มเปลี่ยนเฉดสีไปตามธรรมชาติสร้างสรรค์ สีของฟากฟ้าสะท้อนลงมาเจือเป็นเนื้อเดียวกับสีสายน้ำโขง บ่งบอกเรื่องราวธรรมชาติ และชีวิตสองฟากฝั่ง โรแมนติกอย่าบอกใครเชียว
เชียงคาน 29

เชียงคานเป็นเมืองรุ่มรวยด้วยวัฒนธรรมอย่างแท้จริง ไม่ได้มีแต่ถนนคนเดินไว้ให้ช้อปปิ้งอย่างที่หลายคนเข้าใจผิด โรงเรียนเชียงคาน คือแหล่งสืบทอดการรำเบิ่งโขง พร้อมด้วยการแต่งกายอย่างคนหลวงพระบาง บรรพบุรุษของชาวเชียงคาน ลีลาอ่อนช้อย และเนื้อเพลงอันน่าฟัง สะท้อนถึงความผูกพันของผู้คนกับสายน้ำโขง มาหลายชั่วรุ่นเชียงคาน 30

งามอย่างเชียงคาน กับลีลาการรำเบิ่งโขงอันอ่อนหวาน ที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้พบเห็นเชียงคาน 31

นักเรียนของโรงเรียนเชียงคานทุกคน สามารถรำเบิ่งโขงได้ และในหนึ่งสัปดาห์ ต้องแต่งชุดประจำถิ่นของเชียงคาน เพื่อช่วยกันอนุรักษ์สืบสานอัตลักษณ์ ตัวตน คนเชียงคาน ให้คงอยู่ไปอีกนานแสนนานเชียงคาน 32

การเที่ยวสัมผัสเชียงคานอย่างมีคุณค่า ควรหาโอกาสไปที่บ้าน “อาจารย์สมโภช ดนตรีไทย” (โทร. 09-3449-3399, 09-4558-9388) อยู่ที่ซอย 10 (บน) เป็นแหล่งเรียนรู้ดนตรีไทยและดนตรีสากล ซึ่งผู้ใหญ่และเด็กรุ่นใหม่ในเชียงคานสนใจมาก การเที่ยวชมเป็นหมู่คณะก็สามารถทำได้ เพียงแต่ต้องติดต่อล่วงหน้า ไปร่วมกันซึมซับสัมผัสเสียงดนตรีอันไพเราะ เปี่ยมด้วยจิตวิญญาณความเป็นไทย แล้วคุณจะรักเมืองไทยมากขึ้นอย่างแน่นอนเชียงคาน 33

ที่บ้านป้านาง (ซอย 8 ล่าง) เวลามีแขกไปใครมาเยือน ตอนเย็นๆ ก็จะมีจัดเลี้ยงอาหารพื้นเมือง เสร็จแล้วก็ร่วมวงฟ้อนรำกันสนุกสนาน บางวันอาจารย์สมโภชก็มาร่วมบรรเลงด้วย สร้างความประทับใจไปอีกนานแสนนานเชียงคาน 34

แม้วันเวลาจะล่วงเลยไปนานเพียงไร จิตวิญญาณที่แท้จริงอย่างหนึ่งของเชียงคาน ซึ่งไม่เคยเปลี่ยนก็คือ “เรือนไม้เก่าริมโขง” ไล่ตั้งแต่ซอย 0 ถึงซอย 20 นับเป็นหนึ่งในชุมชนเรือนไม้เก่าริมแม่นำ้โขงที่โดดเด่นที่สุดในสยาม แม้หลายหลังจะถูกทิ้งร้าง ทว่าส่วนใหญ่ยังมีชีวิต มีลมหายใจ ส่งต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น
เชียงคาน 35

เรือนไม้เก่าริมโขงเชียงคาน บริเวณถนนศรีเชียงคาน ถือเป็นหัวใจของเมืองน้อยน่ารักแห่งนี้เชียงคาน 36

เรือนไม้เก่าบางหลัง ด้านที่ติดถนนศรีเชียงคานอาจจะปิดประตูบานพับไม้ไว้มิดชิด แต่เมื่อเดินไปที่ถนนชายโขงตรงริมแม่น้ำ เรายังเห็นผู้คนเปิดบ้านใช้ชีวิต รับลมแม่น้ำพัดพรูเข้ามาสร้างความชื่นใจ เป็นโลกสองด้านที่เราต้องเปิดใจรับรู้เชียงคาน 37

รถสามล้อสกายแลป คือพาหนะสุดเท่ห์ที่ผู้คนใช้เป็นรถรับส่งสาธารณะ ขนคนขนของ รับใช้ชุมชนนี้มาเนิ่นนาน เป็นพาหนะเอกลักษณ์เมืองชายโขงที่เข้าคู่กับเรือนไม้เก่าได้ลงตัว นั่งเที่ยวชมเชียงคานและแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง อย่างแก่งคุดคู้, ภูทอก, พระพุทธบาทภูควายเงิน, ภูช้างน้อย ฯลฯ ได้สบายมากๆ
เชียงคาน 38

เชื่อหรือไม่ว่าเชียงคานในอดีตเป็นเมืองท่าที่รุ่งเรืองมาก ถึงขนาดมีโรงหนังถึง 3 แห่ง คือ ราชาภาพยนตร์, สุวรรณรามา และพรเทพ โดยเฉพาะบนถนนซอย 9 ที่ตรงขึ้นมาจากท่าเรือเก่า ไปสู่ตลาดเชียงคาน แม้แต่คนฝั่งลาวยังนั่งเรือมาชมเวลามีโปรแกรมหนังใหม่ๆ ดังๆ เข้าฉายในวิก แต่เมื่อถึงยุคมีม้วนเทปวีดีโอ แผ่นซีดี ดีวีดี จนมาถึงยุคดูหนังฟรีทางอินเตอร์เน็ท โรงหนังทั้งหมดก็ปิดตัวลงอย่างถาวร สะท้อนสัจธรรมความเปลี่ยนแปลง ไม่หยุดนิ่งของโลกใบนี้เชียงคาน 39

คุณลุงเจ้าของโรงหนังราชาภาพยนตร์ เปิดที่พักเก๋ไก๋น่ารัก พร้อมกับนำเครื่องฉายภาพยนตร์ เก้าอี้ไม้เก่า และโปสเตอร์หนังสุดรัก มาตกแต่งคล้าย Mini Theater หรือโรงหนังขนาดย่อมในด้านล่างของที่พักแบบไม่เหมือนใครจริงๆเชียงคาน 40

โรงหนังสุวรรณรามา ซอย 9 (บน) ทางเข้าตลาดเชียงคาน ปัจจุบันผันตัวเองไปเป็นร้านอาหาร และคอร์ตแบตมินตัน แต่ก็ยังคงมีกลิ่นอายโรงหนังเก่าในอดีตให้สัมผัส ทั้งม้วนฟิล์มเก่า, เก้าอี้ไม้, เครื่องฉายหนัง, โปสเตอร์ภาพยนตร์ เป็นเสน่ห์ของเมืองเล็กๆ ริมโขง ที่ทำให้ผู้มาเยือนคนแล้วคนเล่าหลงรักจนหมดใจเชียงคาน 41เรือนไม้เก่าของเชียงคาน ถือเป็นมรดกทางสถาปัตยกรรมท้องถิ่นอันทรงคุณค่ายิ่ง แต่ละหลังเปี่ยมด้วยเรื่องราวน่าค้นหา อย่าง “บ้านตาสิงห์คำ” (ซอย 19 ล่าง ถนนศรีเชียงคาน) ที่เก่าแก่กว่า 150 ปีเป็นอย่างน้อย เป็นเรือนหลังเดียวในเชียงคาน ที่มีเสาใต้ถุนเป็นปูนทรงสี่เหลี่ยมแบบยุโรป บนตัวบ้านก็กว้างขวาง และหลังบ้านยังมียุ้งฉางข้าวแบบโบราณให้ชมด้วย

เชียงคาน 42

เรือนไม้เก่าอายุนับร้อยปีของตาสิงห์คำ เต็มไปด้วยเรื่องเล่าในทุกอณูของตัวบ้าน
เชียงคาน 43 บ้านตาอูบ ปากซอย 14 (ล่าง) ถนนศรีเชียงคาน คือเรือนไม้โบราณอันทรงคุณค่า แสดงให้เห็นถึงวิธีการสร้างเรือนของคนเชียงคานในอดีต ที่นิยมใช้ไม้ไผ่ขัดแตะแล้วฉาบปูนบางๆ ปิดทับเป็นฝาผนัง แม้ปัจจุบันบ้านหลังนี้จะปิดร้าง แต่ก็ยังทำหน้าที่เป็น Landmark ของเชียงคาน ที่ได้รับความสนใจจากผู้คนไม่เสื่อมคลายเชียงคาน 44

ด้านหลังบ้านตาอูบ ปัจจุบันกลายเป็นที่จอดรถสาธารณะ ทว่าตัวบ้านนั้นยังคงโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมท้องถิ่นอันมีเอกลักษณ์ สมควรได้รับการอนุรักษ์ ฟื้นฟูให้เป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนเพื่อการเรียนรู้ต่อไปเชียงคาน 45

เรือนไม้เก่าเชียงคานทุกหลังมีอดีต มีเรื่องเล่า พร้อมให้เราเข้าไปเรียนรู้ ถ้าเราเปิดใจอย่างเต็มที่เชียงคาน 46

ซอย 9 คือหัวใจหลักของเชียงคานในอดีต เพราะท่าเรือเก่าอยู่ที่ริมน้ำซอย 9 พอขึ้นฝั่งมาก็จะพบกับร้านค้าของชาวจีน ที่มีทั้งร้านโชห่วย ร้านกาแฟ ร้านขายยา รวมถึงโรงหนัง และโรงแรมเล็กๆ เรียงราย จากถนนชายโขง ผ่านถนนศรีเชียงคาน ขึ้นไปยังตลาดเชียงคาน แม้แต่โรงแรมพูลสวัสดิ์ ซึ่งเป็นโรงแรมแห่งแรกของเชียงคาน มี 9 ห้อง ก็อยู่ในซอย 9 นี้เช่นกันเชียงคาน 47

เรือนไม้เก่าเชียงคาน แม้เก่าก็เพียงตัวบ้าน ทว่ารอยยิ้มของผู้เป็นเจ้าของ ที่พร้อมบอกเล่าเรื่องราวให้เราฟังนั้น ไม่ได้เก่าไปด้วยเลย แต่เปี่ยมด้วยเสน่ห์วิถีชุมชน ที่ไม่ยอมละทิ้งบ้านเรือนของตนไปไหนไกลเชียงคาน 48 เชียงคาน 49

เชียงคานบุรี เรือนไม้ 3 ชั้นเพียงแห่งเดียวของเชียงคาน เป็นโรงแรมสร้างใหม่บริเวณซอย 11 (ล่าง) พอขึ้นไปชั้นบนสุด จะมองเห็นวิวตัวเมืองได้สวยงาม ใครจะไปพักต้องจองนะจ๊ะ จะบอกให้เชียงคาน 50

โรงแรม White House (อยู่ระหว่างซอย 5-6 ล่าง ถนนศรีเชียงคาน) เป็นตึกฝรั่งทรงโคโลเนียลสีขาวอันสวยงาม สะท้อนวันเวลาท่ีฝรั่งเศสเคยมีอิทธิพลเหนือล้านช้าง หรือลาวในอดีต แถมยังแผ่อิทธิพลข้ามโขงมาถึงเมืองเชียงคานด้วย ปัจจุบัน Whit House คือโรงแรมน่าพัก ที่พาเราย้อนกลับไปสู่อดีตได้ราวกับ Time Capsuleเชียงคาน 51

เชียงคานเป็นเมืองพุทธ เมืองสงบ ที่ผู้คนยังคงยึดมั่นในพระพุทธศาสนาอย่างเต็มเปี่ยม วัดวาอารามกว่า 10 แห่งในย่านริมโขง ทำให้คนใกล้วัด ไม่ลืมทำบุญสุนทาน และในขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญด้วย เด่นที่สุดคือ “วัดศรีคุณเมือง” อยู่ระหว่างซอย 6-7 (ล่าง) ใกล้แม่น้ำโขง
เชียงคาน 52

วัดศรีคุณเมือง เดิมชื่อ วัดใหญ่ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2119 เป็นวัดที่โดดเด่นด้วยพุทธศิลป์แบบล้านช้าง (ลาว) เห็นได้จากหลังคาโบสถ์ที่ลดหลั่นกันลงมาในทรงเตี้ยแบบล้านช้าง, พระพุทธรูปไม้จำหลักปิดทอง และภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบล้านช้างแท้ๆ นับเป็นศูนย์กลางรวมใจรวมศรัทธาของชาวเชียงคานเชียงคาน 53 พระประทานในโบสถ์วัดศรีคุณเมือง สร้างด้วยศิลปกรรมล้านช้างแท้ๆ เป็นทองสำริด เชียงคาน 54

วัดศรีคุณเมือง ที่เชียงคาน แท้จริงแล้วเป็นชื่อวัดเดียวกับ วัดสีคุนเมือง ของเมืองหลวงพระบางในประเทศลาว เป็นวัดที่ราชวงศ์ลาวให้การอุปถัมป์ เมื่อผู้คนอพยพลงมาสร้างบ้านแปงเมืองอยู่ ณ ที่ปัจจุบัน จึงนำชื่อวัดในบ้านเกิดมาด้วยเชียงคาน 55

วัดมหาธาตุ คือวัดใหญ่อีกแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่กลางเมืองเชียงคานใกล้ริมโขง บริเวณซอย 14 สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2197 เป็นวัดที่เก่าแก่มาก เด่นด้วยพระอุโบสถไม้หลังเก่าศิลปะล้านช้าง เชื่อกันว่าเจดีย์ขาวที่วัดมหาธาตุนี้ สร้างอุดรูพญานาคไว้ เพราะเชื่อว่าเป็นทางผ่านของพญามุจลินทร์นาคราช ที่เข้ามากราบไหว้หลวงพ่อใหญ่ แล้วกลับลงสู่แม่น้ำโขงเชียงคาน 56

นอกจากความเชื่อเรื่องพญานาคแล้ว วัดมหาธาตุยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง และวัตถุโบราณเก็บรักษาไว้ อีกทั้งยังมีส้วมฝรั่ง ที่เป็นห้องน้ำก่ออิฐถือปูนทรงโคโลเนียล เพราะจุดนี้เคยใช้เป็นที่ตั้งที่ว่าการเมืองเชียงคานเก่า สมัยพระยาศรีอรรคฮาตเชียงคาน 57

ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดมหาธาตุ เป็นฝีมือช่างพื้นบ้านสกุลช่างล้านช้าง แม้ทุกวันนี้จะลบเลือนไปมาก แต่ก็ยังพอเห็นเค้าโครงกลิ่นอายความงามของพุทธศิลป์แห่งศรัทธา
เชียงคาน 58

หลวงพ่อใหญ่แห่งวัดมหาธาตุ ที่เชื่อกันว่าท่านศักดิ์สิทธิ์มาก
เชียงคาน 59

เชียงคานเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายสุดๆ ทั้งในแง่วัฒนธรรม ชุมชน งานประเพณี เชิงเกษตร และธรรมชาติ โดยเฉพาะที่ “ภูทอก” แหล่งชมทะเลหมอกใกล้เชียงคาน มองออกไปเห็นแม่น้ำโขงและฝั่งลาวได้ชัดเจน ยิ่งถ้าเป็นฤดูหนาวด้วยแล้ว ทะเลหมอกจะแน่นเป็นผืนพรมคล้ายปุยนุ่นทีเดียว เชียงคาน 60

แก่งคุดคู้ อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงคานไปทางตะวันออก 2 กิโลเมตร เป็นแก่งใหญ่กลางแม่น้ำโขง ที่จะเผยตัวขึ้นมาอย่างชัดเจนในยามฤดูแล้ง ปัจจุบันมีร้านอาหาร จุดชมวิว และบริการล่องเรือเที่ยวชมธรรมชาติลำน้ำโขง ชิลสุดๆเชียงคาน 61

ตำนานแก่งคุดคู่เล่าว่า ในอดีตมีพรานคนหนึ่งรูปร่างสูงใหญ่ ชื่อ ตาจึ่งขึ่งดังแดง ไล่ตามควายเงินมาจากฝั่งลาว โดยหมายจะยิงมันให้ได้ แต่พอมาถึงแก่ง ก็มีพ่อค้าจากหลวงพระบางถ่อเรือมาถึงพอดี ควายเงินตกใจ เผ่นหนีขึ้นไปซ่อนอยู่ที่ปลักบนภูควายเงิน พรานโกรธมากจึงนำหินมาก่อเรียงขวางลำน้ำ เพื่อไม่ให้ใครถ่อเรือผ่านไปได้อีก พระอินทร์จึงแปลงร่างลงมาเป็นเณรน้อย ออกอุบายให้พรานใช้ไม้ไผ่ทำคานแบกหิน ทว่าไม้ไผ่ไม่แข็งแรงพอ จึงหักลงมาบาดคอตายในท่านอนคุดคู้ บริเวณนี้จึงได้ชื่อว่า “แก่งคุดคู้” มาจนทุกวันนี้เชียงคาน 62

เวลาไปเที่ยวแก่งคุดคู้ นอกจากกุ้งแพ (กุ้งฝอยแม่น้ำโขง ชุบแป้งทอดเป็นแพ กินกับน้ำจิ้มแสนอร่อย) แล้ว สิ่งหนึ่งที่ห้ามพลาดชิมคือ มะพร้าวแก้วแก่งคุดคู้ ผลิตกันที่นี่มาช้านาน มีหลายเจ้า ขอเข้าชมการผลิตได้ เอกลักษณ์คือเนื้อมะพร้าวต้องนุ่ม รสชาติหวานนวลๆ กินเล่นได้เพลินๆ จ้าเชียงคาน 63

การผลิตมะพร้าวแก้วแก่งคุดคู้ ต้องใช้เนื้อมะพร้าวคุณภาพดี ทำความสะอาด แล้วผ่ารีดเป็นแผ่นบางๆ ก่อนนำไปเชื่อม
เชียงคาน 64

การเชื่อมมะพร้าวแก้ว แก่งคุดคู้ ของกินเล่นยอดฮิตที่เหมาะจะซื้อเป็นของฝากกลับบ้านเชียงคาน 65

ใครที่สนใจวิถีท่องเที่ยวเชิงเกษตร หรือ Agro-Tourism แนะนำให้ไปเที่ยวที่ “สวนผลไม้บ้านบุฮม” อยู่ห่างจากเชียงคานไปทางตะวันออก 14 กิโลเมตร ตามถนนเส้นเลียบโขงอันสวยงาม เราจะเห็นสวนมะม่วง สวนฝรั่ง สวนแก้วมังกร สวนกระท้อน สวนมะขามหวาน และอีกสารพัดสวน ให้เข้าชม ชิม และซื้อกลับบ้าน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันตลอดปีเชียงคาน 66

มะม่วงบ้านบุฮม มีพ่อค้ามาซื้อเหมากันไปถึงที่เลย รสชาติหวานอร่อยสุดยอด เพราะดินแถวริมโขงมีแร่ธาตุเยอะมากเชียงคาน 67

เชียงคานมีอาหารอร่อย เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครอยู่หลายอย่าง เช่น ที่ซอย 0 มี “ข้าวหลามยาว” ซึ่งเมื่อก่อนยาวมากถึง 1.5 เมตร (เกือบ 2 เมตรก็มี!) ถือเป็นข้าวหลามที่ยาวที่สุดในเมืองไทย เอกลักษณ์คือเนื้อข้าวเหนียวจะนุ่ม หอม หวานอ่อนๆ มีทั้งข้าวเหนียวดำและข้าวเหนียวขาว เหมาะจะกินเล่นจิ้มนมข้นหวาน ที่นี่ทำขายตอนเช้าเท่านั้นจ้าเชียงคาน 68

น่าเสียดายที่ทุกวันนี้ไม้ไผ่ยาวๆ ในบ้านเราแทบไม่มีแล้ว หรือถ้ามีก็อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ เข้าไปตัดมาใช้งานไม่ได้ ข้าวหลามยาว ซอย 0 เชียงคาน เลยต้องรับซื้อไม้ไผ่มาจากฝั่งลาวแทนเชียงคาน 69

เมื่อปิ้งข้าวหลามจนสุกดีแล้ว ก่อนหม่ำก็ต้องมาเหลาเปลือกให้บางเฉียบ จนสามารถใช้มือปอกข้าวหลามกินได้ทันที นี่คือเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครของข้าวหลามยาวเชียงคาน
เชียงคาน 70

เที่ยวชมเชียงคานกันมาจนเหนื่อยแล้ว ได้เวลาเติมพลัง กับ “ข้าวปุ้นน้ำแจ่ว” ซึ่งเป็นอาหารที่ได้รับอิทธิพลมาจากลาว (ต้นตำรับคือเวียดนาม) แท้จริงแล้วก็คือเส้นขนมจีน ใส่น้ำซุป และเครื่องในหมู เนื้อหมู กินกับผักแกล้ม พริก กะปิ มะนาว คล้ายๆ เฝอ (ก๋วยเตี๋ยว) เวียดนามนั่นล่ะ

เชียงคาน 71

ข้าวปุ้นน้ำแจ่ว คืออาหารเช้ายอดฮิตของคนเชียงคาน ชื่อดังสุดคือ ข้าวปุ้นน้ำแจ่วป้าบัวหวาน ซอย 14 (บน)เชียงคาน 72

ส้มตำด้องแด้ง แห่งร้านจิตส้มตำ ปากซอย 21 (บน) ใกล้โรงพยาบาลเชียงคาน เป็นส้มตำเจ้าเด่นเจ้าดัง รสชาติแซ่บถึงใจ สั่งได้ตามต้องการ มีตำทุกประเภทให้เลือก โดยเฉพาะส้มตำด้องแด้ง ซึ่งมีต้นกำเนิดที่นี่เชียงคาน 73

จุ่มนัวยายพัด หรือสุกี้หลวงพระบาง ขายอยู่ที่ซอย 10 (ล่าง) รสชาติอร่อยกลมกล่อม ลูกค้าแน่นตลอดวัน ขายมาหลายสิบปี ร้านนี้ยังมีขนมหวานแบบไทยๆ ให้กินล้างปากด้วย โดยเฉพาะลอดช่อง, กล้วยบวชชี, ฟักทองแกงบวช สุดยอด!!!เชียงคาน 74

ตื่นเช้าเดินไปเที่ยวตลาดเชียงคาน ถ้าหิวขึ้นมา ก็เดินไปชิม “ปาท่องโก๋ยัดไส้” กินคู่กับกาแฟ โอวัลติน ชาร้อน ต้อนรับวันใหม่ให้สดชื่นอิ่มท้องเชียงคาน 75

มีคนเคยบอกว่า ตลาดเช้าคือสิ่งที่สะท้อนวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นนั้นๆ ได้ดี มันคือความจริง เพราะในตลาดเช้าเชียงคาน จะมีพืชพักผลไม้ในท้องถิ่นมาขายหลากหลายตามฤดูกาล รวมถึงพืชผัก ข้าวเหนียว แกง อ่อม หมก แหนม ฯลฯ อุดมสมบูรณ์ คนที่อยากใส่บาตรข้าวเหนียว ตื่นเช้าเอากระติ๊บมาซื้อข้าวเหนียวร้อนๆ ที่นี่ได้เลย
เชียงคาน 76

เชียงคาน เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย ของเรื่องราว ชีวิต วัฒนธรรม และธรรมชาติงามริมโขง เรือนไม้เก่าทุกหลังล้วนมีอดีต เรื่องเล่า ที่พร้อมให้เราเข้าไปเรียนรู้ เชียงคานไม่ได้มีแต่ถนนคนเดิน แม้เชียงคานจะเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่นั่นคือการปรับตัวตามวิวัฒนาการของเมืองที่ได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยว คำถามคือ เราจะทำอย่างไรที่จะช่วยกันรักษาเชียงคานให้คงอยู่ พร้อมกับรักษาอัตลักษณ์ตัวตนไว้ได้ด้วย

เชียงคานไม่ใช่เมืองที่ถูกแช่แข็งไว้ในกาลเวลา แต่เป็นเมืองที่มีความเติบโตไปตามยุคสมัย วันนี้เชียงคานยังน่านัก เต็มไปด้วยเรื่องราวของชีวิตที่หมุนไป ไม่หยุดหย่อน เราจึงต้องเคารพความเป็นเชียงคาน ไปเรียนรู้ในสิ่งที่เขาเป็น อย่าให้เขาต้องเปลี่ยนเพื่อคนนอก

นี่คือเมืองแห่งเรือนไม้เก่าริมโขง ที่ฉันหลงรักจนหมดใจ ในความน่ารักและรอยยิ้มที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

 

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *