ปีนผาหามุมมองใหม่ แหลมตุ๊กตา

logo-castawayแหลมตุ๊กตา 2

การติดเกาะไม่ใช่เรื่องน่ากลัวเสมอไป! เพราะถ้าเราได้ติดเกาะกับเพื่อนรู้ใจ ที่ชอบลุย ชอบผจญภัยในแนวเดียวกัน การติดเกาะก็คงสนุก มีสีสัน และได้รสชาติของชีวิตสุดๆ

เกิดมาไม่เคยติดเกาะสักที แต่คราวนี้ทาง อพท. หรือ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ในโครงการ Castaway @Low Carbon Island 2016 เขาชวนมาติดเกาะหมาก จังหวัดตราด ทำกิจกรรมผจญภัย ทั้งพายเรือคายัค ดำน้ำดูปะการัง เดินป่าขึ้นเขา แถมยังมีภารกิจพิเศษให้ไปปีนผาหามุมมองใหม่ซะอีก ผมเลยต้องสืบเสาะดูว่า บนเกาะหมากแห่งนี้ยังมีซอกมุมไหนนะ ที่เป็น Unseen จริงๆ อยู่บ้าง!?
แหลมตุ๊กตา 3 แหลมตุ๊กตา 4

แหลมตุ๊กตา เป็นแหลมหินขนาดใหญ่ตั้งอยู่ทางชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะหมาก จะว่าไปแล้วเป็นจุดที่อยู่ค่อนข้างโดดเดี่ยว ห่างไกลจากศูนย์กลางความเจริญของเกาะพอสมควร แหลมตุ๊กตาจึงเป็นบริเวณที่เงียบสงบ มีเพียงบังกะโลเล็กๆ ไม่กี่หลังตั้งเรียงรายอยู่ใต้ทิวมะพร้าวสูงลิ่ว
แหลมตุ๊กตา 5

ตรงส่วนด้านตะวันตกสุดของแหลมตุ๊กตา มีลักษณะเป็นหน้าผาหินขนาดใหญ่ ที่ดูๆ ไปก็สามารถปีนป่ายสำรวจหามุมมองใหม่ได้ คนซุกซนอย่างพวกเรา เลยชวนกันไปดูซิว่าจะมีอะไรซุ่มซ่อนอยู่บ้าง นอกจากวิวสวยๆ ที่สามารถมองออกไปเห็นเกาะระยั้งใน ระยั้งนอก ได้แล้วแหลมตุ๊กตา 6

จากบังกะโลที่พัก เราชวนกันเดินเลียบชายหาดเงียบสงบ เวิ้งว้าง ไปจนถึงแนวหน้าผาหิน หมอนกสาวนักเดินทางขาลุย เพื่อนร่วมทีมของเรา เป็นผู้นำการสำรวจในเช้าวันนี้ หน้าผาหินแหลมตุ๊กตาแม้จะลาดชัน แต่ก็มีซอกหลืบและแง่งหิน ให้ยึดจับสำหรับปีนป่ายได้ไม่ยาก เพียงแต่รองเท้าที่ใช้ต้องเป็นแบบหุ้มข้อ พื้นดอกยางใหญ่ และแต่งตัวให้ทะมัดทะแมง เหมาะสำหรับการปีนป่ายโดยไม่มีอะไรเกะกะ
แหลมตุ๊กตา 7

เห็นลีลาการปีนหน้าผาหินของหมอนกแล้วช่วยให้รู้สึกมั่นใจ ปีนตามไปได้อย่างไม่รู้สึกกลัวล่ะ จากด้านหน้าที่ติดทะเล เราค่อยๆ วางมือเท้าอย่างระวัง วกไปทางด้านขวา ผ่านดงต้นเตยทะเล เลาะไปจนเข้าสู่บริเวณที่เป็นร่องหลืบ ขนาบด้วยหน้าผาใหญ่สูงชันสองด้าน โดยมีร่องลึกคั่นกลาง ถ้าจะข้ามไปก็ต้องโดด หรือใครขายาวหน่อยก็อาจจะก้าวพ้น!
แหลมตุ๊กตา 8

พอปีนไต่มาสุดร่องหลืบผา เราก็ต้องตะลึง! เมื่อได้เห็นแท่งหินรูปหอคอยแหลมขนาดมหึมาตั้งตระหง่านอยู่ในทะเลตรงหน้า! มันคือประติมากรรมธรรมชาติ ที่ต้องใช้เวลานานไม่รู้เท่าไหร่ สลักเสลาด้วยคลื่นลม และแดดร้อนแรง จนผาหินสึกกร่อน ผุพัง เปลี่ยนรูปลักษณ์จนน่าอัศจรรย์ได้ขนาดนี้!
แหลมตุ๊กตา 9

เราค่อยๆ ปีนไต่ผาหินสูงขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ได้มุมถ่ายภาพที่กว้างและอลังการยิ่งขึ้น โดยใช้หอคอยหินยักษ์เป็นพระเอกแล้วใช้น้ำทะเลใสกับฟ้าสีครามเข้มในวันนี้ช่วยแต่งเติมองค์ประกอบให้ภาพดูมีเสน่ห์ ยามนี้เสียงน้ำทะเลที่สาดซัดเข้ามากระทบโขดหินดังซ่าๆ แล้วแตกเป็นฟองขาว ช่างมีพลัง! ทำให้มนุษย์ตัวเล็กๆ อย่างเราต้องยอมสยบ เพราะธรรมชาติมีพลังยิ่งใหญ่เสมอ และมีเรื่องราวให้ค้นหาไม่จบสิ้นจริงๆ
แหลมตุ๊กตา 10

การปีนไต่สูงขึ้นเรื่อยๆ ตรงจุดนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนตอนแรก! เพราะผาหินไม่ได้มั่นคงดังที่คิด หินที่เราจับหรือวางเท้าพร้อมจะแตกหรือร่วงหล่นออกมาได้ตลอดเวลา!!! เราจึงต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูง เนื่องจากวันนี้เป็นการปีนสำรวจด้วยมือเปล่า ไม่มีอุปกรณ์พิเศษใดๆ ช่วยเลย! โดยเฉพาะก้อนหินที่จะใช้วางมือวางเท้านั้น เริ่มจะมีพื้นที่แคบลงทุกทีๆ!
แหลมตุ๊กตา 11

และแล้ว เมื่อเหงื่อพอซึมหลัง เราก็ปีนไต่ขึ้นมาจนถึงส่วนบนสุดของแหลมหินกลางทะเล ณ แหลมตุ๊กตา มองกลับไปทางด้านทิศตะวันออก เห็นแนวชายฝั่งเขียวครึ้มทอดยาวออกไป แต่ถ้ามองไปทิศอื่น ก็จะเห็นทะเล เกาะแก่ง และความงามของท้องทะเลสีคราม รวมถึงความเงียบสงบ ปราศจากสิ่งรบกวนของอารยธรรมยุคใหม่ ช่างเป็นมุมที่ให้ความรู้สึก โดดเดี่ยว เวิ้งว้าง แปลกแยก โบราณ และงดงามอย่างลึกลับ!แหลมตุ๊กตา 12

แต่ทันใดนั้น! เมื่อเราปีนต่อขึ้นไปอีกนิดเดียว บนส่วนยอดสุดของผาหินก็พบกับช่องทะลุ หรือโพรงถ้ำเล็กๆ ที่มองลอดผ่านได้สองด้าน มองออกไปเห็นเกาะระยั้งในตั้งอยู่ใกล้แค่เอื้อม นี่ถ้ามีเวลาพอ ได้กลับมาช่วงเย็นย่ำอัสดง ก็อาจจะได้เห็นพระอาทิตย์ตกลงในช่องนี้ก็เป็นได้แหลมตุ๊กตา 13 แหลมตุ๊กตา 14

หลังจากผ่านการปีนป่ายที่ค่อนข้างหวาดเสียวกันมาแล้ว ก็ได้เวลาพักผ่อน นั่งชมวิวสวยๆ แล้วแอบอิจฉาตัวเอง ที่ได้มาอยู่ในมุม Unseen แบบนี้ จะมีสักกี่คนนะที่ได้มาพบประติมากรรมธรรมชาติอันยิ่งใหญ่เหมือนเราตอนนี้?
แหลมตุ๊กตา 15

ค่อยๆ ปีนกลับลงมาจากผาหินสูง เพื่อเดินสำรวจตรงโขดหินของแหลมตุ๊กตา เราพบว่าที่นี่คืออาณาจักรใหญ่ของหอยนางรมธรรมชาติ นับหมื่นๆ ตัว เกาะฝังตัวติดอยู่กับโขดหินในระดับน้ำขึ้นน้ำลงท่วมถึง คนเกาะหมากเล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนเวลาเขามาแงะหอยนางรมกิน ก็จะมีเหล็กแหลมหัวงอๆ อันหนึ่งเรียกว่า “สับปะนก” ใช้ทุบเปลือกหอย แล้วแงะเนื้อมันออกมากินสดๆ พร้อมกับยอดกฐินอ่อน บีบมะนาวลงไปนิด เขาว่าหวานอร่อย เนื้อหอยละลายในปาก ฮาฮาฮาแหลมตุ๊กตา 16 แหลมตุ๊กตา 17 แหลมตุ๊กตา 18

ในบริเวณเดียวกัน เรายังพบหอยนมสาว และหอยตาวัว เป็นจำนวนมาก เกาะอยู่กับโขดหิน ตัวใหญ่บ้างเล็กบ้าง แลน่ารักดี บ่งบอกว่าธรรมชาติของแหลมตุ๊กตายังอุดมสมบูรณ์ไม่ใช่น้อย
แหลมตุ๊กตา 19

เพลิดเพลินกับการปีนป่ายผจญภัยผาหินอยู่เกือบชั่วโมง แดดก็เริ่มร้อนจัด คงได้เวลากลับที่พักก่อนเนอะ หมอนกเลยนำเราปีนข้ามร่องน้ำ กลับเข้าไปยังแผ่นดินใหญ่ของเกาะหมากอีกครั้ง แต่อย่างที่บอกไว้แต่แรก คือต้องปีนอย่างช้าๆ ระมัดระวังมาก เพราะตอนนี้ดูเหมือนพื้นรองเท้าเราจะลื่นด้วยแหละ
แหลมตุ๊กตา 20

หมอนก สาวนักผจญภัยที่แม้หนุ่มๆ หลายคนยังต้องอายแหลมตุ๊กตา 21

ลาก่อนแหลมตุ๊กตา ความงามของเธอช่างมีเสน่ห์ตรึงใจเหลือเกิน ขอให้คนที่มาเยือนแหล่งธรรมชาติแสนบริสุทธิ์นี้ ช่วยกันปกปักรักษาสภาพดั้งเดิมไว้

“เราจะไม่ทิ้งอะไรไว้นอกจากรอยเท้า เราจะไม่เก็บอะไรไปนอกจากความทรงจำดีๆ และภาพถ่ายสวยๆ” 

บ้ายบาย…logo รวมขอขอบคุณ : อพท. หรือ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) และพี่น้องชาวเกาะหมากที่น่ารักทุกท่าน ที่ร่วมมือ ร่วแรงร่วมใจสร้างสรรค์กิจกรรมดีๆ นี้ขึ้น สอบถามโทร. 0-2357-3580-402Nikon logo 1Special Thanks : บริษัท Nikon Sales (Thailand) Co., Ltd. สนับสนุนกล้องถ่ายภาพระดับมืออาชีพ D4 และกล้องถ่ายภาพใต้น้ำ AW130 เพื่อการเก็บภาพสวยๆ เหล่านี้มาฝากเพื่อนๆ ทุกคน สนใจสอบถาม โทร. 0-2633-5100

https://goo.gl/GeqdbB

#LowcarbonAtkohmak #CastawayAtkohmak #ติดเกาะโลว์คาร์บอน

พิชิตเขาแผนที่ จุดสูงสุดเกาะหมาก!

เกาะหมาก 2เขาแผนที่ 2

คุณเชื่อหรือไม่ว่า จริงๆ แล้วธรรมชาตินั้นอยู่รอบๆ ตัวเรา ทว่าบางครั้งเรากลับไม่ได้สังเกต เพราะเรามัวแต่ไปสนใจกับสิ่งอื่นอยู่ และหลายครั้งที่เราทำตัวเหินห่างจากธรรมชาติเหลือเกิน จนถูกเทคโนโลยีความทันสมัย บดบังสายตา คล้ายกับว่าเราอยู่แยกออกจากธรรมชาติโดยสิ้นเชิง!

ผมเป็นคนหนึ่งที่เกิด โต และทำงานอยู่ในเมือง แต่โชคดีที่ได้ท่องเที่ยวพบเห็นธรรมชาติอยู่บ่อยครั้ง หากไม่ได้ไปสัมผัสธรรมชาติเลย ก็จะรู้สึกว่าชีวิตเหี่ยวเฉา ไม่มีสีสันเสียนี่กระไร!
เขาแผนที่ 3.1

โชคดี ได้มาเที่ยว “เกาะหมาก” จังหวัดตราด กับ อพท. หรือ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ในโครงการ Castaway @Low Carbon Island 2016 นี่คือโอกาสสำคัญ ที่ผมจะได้สัมผัสเกาะหมากในแง่มุมที่คนทั่วไปไม่ค่อยได้รับรู้!

เพราะผมกำลังจะได้เดินป่าขึ้นไป พิชิตยอดเขาสูงสุดของเกาะหมาก ณ “เขาแผนที่” นั่นเอง
เขาแผนที่ 3

แต่ภารกิจเดินป่าพิชิตเขาแผนที่ (หรือที่ชาวบ้านเรียกกันอีกชื่อว่า เขาบ้านแหลม) ของผม จริงๆ แล้วเป็นมากกว่าการเดินป่าธรรมดา! เพราะคราวนี้เราจะเพิ่มคุณค่าให้กับการท่องธรรมชาติ โดยทีมของเราจะเดินขึ้นภูเขาไปช่วยกันทำแผนที่เส้นทางศึกษาธรรมชาติอย่างคร่าวๆ เพื่อให้นักท่องไพรคนอื่นได้มาเดินตามรอย

ทริปนี้ไม่เปลี่ยวเหงาแน่นอน เพราะได้ คุณหมอนก นักเดินป่าขาลุย ผู้ไม่เคยกลัวความยากลำบาก จากเว็บไซต์เพื่อนนักสะพายเป้ มาเป็นเพื่อนร่วมทีม แถมยังมีน้องพริกผู้ช่วยประสานงาน และหนุ่มแบงค์ไกด์ในพื้นที่ มาช่วยนำทางด้วย ชักจะสนุกแล้วสิเขาแผนที่ 4

จุดเริ่มต้นเดินป่าขึ้นเขาแผนที่ อยู่ใกล้กับแหลมตุ๊กตา ทางด้านปลายตะวันตกสุดของเกาะหมาก จริงๆ แล้วจุดนี้ถือเป็นป่าบริสุทธิ์แบบดั้งเดิม หรือ Virgin Forest ผืนสุดท้ายของเกาะหมาก (เนื้อที่ประมาณ 500 ไร่ จากเนื้อที่เกาะหมากทั้งหมด 9,000 ไร่) บริเวณเชิงเขาเป็นป่าดิบแล้งร่มครึ้ม ปกคลุมด้วยไม้พุ่มและพืชคลุมดินหลายชนิด อย่างดอกโคลงเคลงสีชมพู ซึ่งออกดอกให้ชมกันตลอดปี
เขาแผนที่ 5.1

ทางเดินช่วงแรกของเขาแผนที่ค่อนข้างชัน พื้นทางเป็นหินก้อนใหญ่ๆ คล้ายเราเดินย้อนขึ้นไปตามร่องน้ำ จุดนี้จึงร่มครึ้มและมีความชื้นสูง เราพบ เฟินสามร้อยยอด (Lycopodium) ขึ้นอยู่เป็นดงใหญ่ พวกมันเป็นเฟินโบราณ ที่มีรูปร่างหน้าตาเปลี่ยนแปลงไปน้อยมากนับแต่อดีต และช่วยดูดซับความชุ่มชื้นไว้ให้ผืนป่าได้เป็นอย่างดี
เขาแผนที่ 5.2

ในบริเวณเดียวกับที่พบเฟินสามร้อยยอด เรายังจ๊ะเอ๋กับ เฟินก้างปลา ซึ่งมีแผ่นใบสวยงาม แตกออกเป็นหยักถี่ๆ เสมอกัน ไล่เรียงตั้งแต่ปลายไปจนถึงโคนใบอย่างมีระเบียบ นี่ก็เป็นพืชคลุมดินที่ช่วยเก็บความชื้นได้ยอดเยี่ยมเช่นกัน
เขาแผนที่ 5

ตรงตีนเขาแผนที่ในฤดูฝน จะมี ดอกพุดป่าสีขาว เป็นพุ่มบานอยู่จำนวนมาก ช่วยเพิ่มชีวิตชีวาให้ผืนป่า แม้จะเป็นดอกไม้ที่ไม่มีกลิ่นหอม แต่ก็เป็นหนึ่งในความหลากหลายของพรรณพืชที่ธรรมชาติมอบให้คนเกาะหมากเป็นของขวัญเขาแผนที่ 6.1

จากเชิงเขา เดินเลาะร่องน้ำขึ้นมาไม่นาน เราก็เลี้ยวซ้ายผ่านป่าร่มครึ้ม จนไต่สูงขึ้นทีละน้อยๆ สภาพป่าจึงโปร่งขึ้นต้นไม้มีขนาดเล็กลง และกระจายห่างกัน แสดงให้รู้ว่าชั้นดินบริเวณนี้ค่อนข้างตื้น มีธาตุอาหารน้อยลง และเริ่มมีหินโผล่บนผิวดินมากขึ้น เผยถึงลักษณะของป่าบนเกาะ ที่มักต้องทนร้อน แล้ง และลมแรงจากทะเล

พืชที่น่าสนใจชนิดแรกที่เราจัดให้เป็น จุดศึกษาธรรมชาติที่ 1 ก็คือ ต้นจิก (Barringtonia sp.) เขาแผนที่ 6.2

เดินถัดจากจุดแรกมาไม่ไกล ก็ถึง จุดศึกษาธรรมชาติที่ 2 คือ ต้นยมหิน (Chukrasia tabularis) พืชที่มักพบตามภูเขาหิน หรือป่าเกาะที่ค่อนข้างแห้งแล้ง
เขาแผนที่ 6.3

พืชที่น่าสนใจอีกชนิดในป่าตีนเขาก็คือ เฟินกระแตไต่ไม้ (Drynaria quercifolia) หรือ Oak-leaf Fern จัดเป็นเฟินอิงอาศัยขนาดใหญ่ ที่สามารถขึ้นอยู่บนต้นไม้หรือบนหินก็ได้ พวกมันมีชีวิตทรหดอดทน มีเหง้าหรือหัวกลมๆ พร้อมรากยึดเกาะตัวเองเข้ากับเจ้าบ้าน อาหารก็มีใบสังเคราะห์แสง รวมทั้งดูดซับไนโตรเจนจากอากาศ และดูดกินธาตุอาหารบางส่วนจากพืชเจ้าบ้าน เฟินกระแตไต่ไม้จะค่อยๆ เติบโตขยายขนาด และเพิ่มจำนวน คืบคลานขึ้นไปอย่างช้าๆ จนได้ฉายาว่า “กระแตไต่ไม้” ในที่สุด
เขาแผนที่ 6

เดินมาได้ยังไม่ถึงครึ่งชั่วโมง เราก็ถึง หน้าผาชมวิวแรกบนเขาแผนที่ เป็นหน้าผาหินโล่งๆ ขนาดใหญ่ หันหน้าออกไปทางทิศตะวันตก ขอบอกว่าตอนกลางวันจะร้อนจัด ถ้าให้ดีควรขึ้นมาเที่ยวตอนเช้าหรือบ่ายๆ แดดร่มลมตก จะดีที่สุด

เราขอนั่งพักชื่นชมวิวสวยๆ จากมุมสูงกันตรงนี้สักระยะ หายใจหายคอพอให้หายเหนื่อย มองออกไปเห็นเกาะระยั้งใน เกาะระยั้งนอก และแหลมตุ๊กตา ทอดตัวอยู่อย่างนิ่งสงบ ทำให้รู้สึกว่า ณ บัดนี้ มีตัวเรากับธรรมชาติเพียงลำพัง ความเจริญแบบเมืองๆ อื่นใด ไม่สามารถเข้ามากร้ำกรายเราได้อีกแล้ว ช่างหามุมสงบแบบนี้ยากจริงๆ
เขาแผนที่ 7

เขาแผนที่ช่างงามเหลือเกิน!เขาแผนที่ 8

ตรงหน้าผาชมวิวแรกบนเขาแผนที่ มีศาลศักดิ์สิทธิ์ตั้งอยู่ด้วย ชาวบ้านในบริเวณนี้ รวมถึงคนเรือที่ออกทะเล ก็มักจะส่งใจขึ้นมาสักการะท่าน ขอให้เดินทางโดยปลอดภัย เราก็เช่นกัน วันนี้ได้ขึ้นมากราบไหว้ขอพรท่าน ให้ช่วยคุ้มครอง และให้งานทุกอย่างของเราสำเร็จด้วยดี ด้วยเถิด เจ้าประคุณ…
เขาแผนที่ 9

เนื่องจากวันนี้เราเดินขึ้นเขากันแต่เช้า จึงมีเวลาสำรวจพรรณไม้ค่อนข้างเยอะ บริเวณหน้าผาชมวิวแรก เราพบ ดอกช้างน้าว (Ochna integerrima) สีเหลืองสดใส เป็นพืชทนแล้งชนิดหนึ่งที่ต้องเข้าป่าเท่านั้นจึงจะได้เห็น เราจึงจัดให้ช้างน้าว เป็น จุดศึกษาธรรมชาติที่ 3เขาแผนที่ 10

ส่วน จุดศึกษาธรรมชาติท่ี 4 อยู่ตรงข้ามกับต้นช้างน้าวเลย กำลังผลิดอกสะพรั่งจำนวนมาก มันคือ ดอกเข็มป่าสีขาว (Ixora sp.) ซึ่งเรายังไม่ทราบชนิดแน่นอน คงต้องรอนักพฤกษศาสตร์ตัวจริงมาช่วยจำแนกชนิดต่อไป
เขาแผนที่ 11

นอกจากการ Plot จุดศึกษาธรรมชาติ จากเชิงเขาขึ้นสู่ยอดเขาของทีมเราแล้ว สิ่งที่เราตั้งใจทำอีกอย่างคือ การวัดระยะรวมของเส้นทางเดิน ว่ารวมแล้วยาวกี่เมตร? รวมถึงระยะห่างระหว่างจุดศึกษาธรรมชาติแต่ละจุดด้วย เพื่อจะได้ใช้ทำหนังสือคู่มือ แผ่นป้าย หรือโบรชัวร์ แจกคนที่สนใจศึกษาเส้นทางสายนี้ต่อไปในอนาคตครับ
เขาแผนที่ 12พักตรงหน้าผาชมวิวที่ 1 กันจนเรี่ยวแรงกลับมาอีกครั้ง ก็เริ่มเดินศึกษาธรรมชาติต่อ หนทางช่วงถัดไปยังชันอยู่ แต่น้อยกว่าช่วงแรก พื้นทางยังเป็นหินสลับกับดินขรุขระ เดินต้องคอยระวังสะดุดล้มอยู่ตลอดเวลา ป่าสองฝั่งค่อนข้างโปร่ง มีแต่ต้นไม้เตี้ย แคระแกรน บ่งบอกถึงสภาพอากาศร้อนแรงและธาตุอาหารในดินที่ไม่ค่อยบริบูรณ์นัก

จุดศึกษาธรรมชาติที่ 5 คือ กล้วยไม้อิงอาศัย (Epiphytic Orchid) หรือเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ กล้วยไม้ที่เกาะอยู่ตามต้นไม้นั่นล่ะครับ เจ้าพวกนี้ถือว่าเป็นพืชที่มีความอดทนสูง เพราะต้องดูดไนโตรเจนจากอากาศมาเป็นอาหาร ความชื้นก็ได้จากน้ำค้างหรือตามเปลือกไม้ แถมยังต้องสร้างรากยึดเกาะอันเหนียวแน่น รวมถึงใช้ความพยายามเลื้อยพันตัวเองเข้ากับลำต้นไม้ด้วย แต่ที่ยากกว่า คือกว่ามันจะเติบโตขึ้นได้ เมล็ดกล้วยไม้พวกนี้ต้องปลิวมาตามลม มาตกลงยังจุดที่มีปัจจัยเติบโตทุกอย่างลงตัว เหมาะเหม็งจริงๆ ไม่งั้นเมล็ดก็จะเหี่ยวเฉาตายไป
เขาแผนที่ 13

จุดศึกษาธรรมชาติที่ 6 เราพบพืชประหลาดที่เรียกว่า จุกโรหินี หรือโกฐพุงปลา (Dischidia major) ชื่อสามัญภาษาอังกฤษคือ Milkweed เพราะมันจะมีน้ำยางขาวอยู่ภายในนั่นเอง บางคนคิดว่าจุกโรหินีคือกล้วยไม้ที่เหี่ยวเฉาตายแล้ว ทว่านั่นคือความเข้าใจผิด เพราะจริงๆ แล้วจุกโรหินีคือพืชใกล้ชิดกับ Hoya (นมตำเลีย)

จุกโรหินี เป็นไม้เลื้อยอิงอาศัย มีน้ำยางขาวคล้ายน้ำนม ยาพื้นบ้านใช้ ทั้งต้น ต้มน้ำดื่ม แก้ปวดท้อง เนื่องจากโรคกระเพาะอาหารอักเสบ รากแก้ท้องเสีย แก้อ่อนเพลีย บำรุงกำลัง แก้หอบหืดได้เขาแผนที่ 14

เดินขึ้นมาใกล้ถึงยอดเขาเต็มที ป่าโปร่งขึ้นเรื่อยๆ แดดก็ร้อนจัด แต่ทีมเราไม่หวั่น ยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าต่อไป จุดศึกษาธรรมชาติที่ 7 คือ หัวร้อยรู (Hydnophytum formicarium) เป็นพืชอิงอาศัยที่ขึ้นอยู่บนคาคบไม้สูง เกาะอยู่บนต้นไม้อื่น เมื่อโตเต็มที่มันจะมีขนาดเท่าลูกมะพร้าวใหญ่ๆ เลยทีเดียว โดยเราจะพบมันได้ในป่าที่ค่อนข้างแห้งแล้งเขาแผนที่ 15

หัวร้อยรู จัดเป็นพืชที่อยู่ร่วมกับมด (Myrmecophyte) ชนิดหนึ่ง ถ้าผ่าออกดู มักมีมดดำอาศัยอยู่เต็มหัว โดยเนื้อภายในจะนิ่มๆ เป็นสีน้ำตาลไหม้ เมื่อจะนำมาใช้ทำยาสมุนไพร ต้องแช่น้ำทิ้งไว้จนกว่ามดจะออกไปหมดก่อน ความสัมพันธ์ของมดและหัวร้อยรู ที่อยู่ด้วยกันแบบพึ่งพา มีศัพท์เทคนิคทางวิชาการเรียกว่า Symbiosis หรือ Mutualism นั่นเองเขาแผนที่ 16

ในตำรายาไทย หัวร้อยรูอยู่ใน “พิกัดมหากาฬทั้ง 5” ใช้ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้พิษอักเสบ ช้ำบวม แก้พิษไข้ ไข้กาฬ ประดงผื่นคัน น้ำเหลืองเสีย ส่วนหัวของหัวร้อยรูเองมีฤทธิ์บำรุงหัวใจ ขับพยาธิ แก้พิษในข้อในกระดูก แก้พิษประดง แก้ข้อเข่าข้อเท้าบวม เขาแผนที่ 17

ระหว่างทางพบดอกไม้ป่าชนิดหนึ่งกำลังบานพอดี แต่เสียดายไม่รู้จักชื่อ คงจะต้องเก็บไว้เป็นการบ้านที่เราต้องค้นหาคำตอบต่อไป นี่ล่ะคือเสน่ห์อย่างหนึ่งของการล่องไพร มันจะตั้งคำถามใหม่ๆ ให้เราหาคำตอบอยู่ตลอดเวลา จึงสอนให้เราเป็นคนกระตือรือล้น ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคเล็กหรือใหญ่ที่ขวางอยู่เขาแผนที่ 18

จุดศึกษาธรรมชาติที่ 8 คือ มอสและไลเคน (Moss and Lichen) จุดนี้สอนเราให้รู้จักความสำคัญของพืชจิ๋วที่อยู่รอบข้าง เพื่อให้เราหยุด แล้วก้มมองลงไปยังก้อนหิน หรือเปลือกไม้รอบๆ ตัวบ้าง เพราะสิ่งที่อยู่ระหว่างการเดินทาง ย่อมน่าสนใจไม่แพ้จุดหมายปลายทางสุดท้ายนะครับ

ความสำคัญของพืชจิ๋วพวกมอสและไลเคน นอกจากจะเป็นพืชเล็กๆ ที่ช่วยดูดซับน้ำไว้สร้างความชุ่มชื้นให้ป่าแล้ว พวกมันยังเป็นดัชนีบ่งชี้คุณภาพอากาศได้ด้วย ตัวอย่างเช่น ถ้าเราพบมอสเขียวๆ ขึ้นปกคลุมก้อนหิน ก็แสดงว่าบริเวณนั้นชุ่มชื้นเย็นฉ่ำดี และถ้าบริเวณใดพบไลเคนมากๆ โดยเฉพาะไลเคนแบบใบและเส้น ก็แสดงว่าอากาศบริสุทธิ์มากเขาแผนที่ 19

ในบริเวณนี้ เรายังพบพืชชั้นต่ำที่ไม่มีท่อลำเลียงจำพวกหนึ่ง ขึ้นปะปนอยู่กับมอสและไลเคนด้วย คือ ลิเวอร์เวิร์ตแผ่นแบน (Thallose Liverwort) พืชพวกลิเวอร์เวิร์ตนี้ จริงๆ แล้วคือพืชจำพวกแรกๆ ของโลก ที่ปรับตัวขึ้นจากน้ำทะเลมาอยู่บนบกเมื่อประมาณ 400 ล้านปีก่อน โดยมันมีบรรพบุรุษร่วมกับสาหร่ายนั่นเองเขาแผนที่ 20

ไลเคนแบบแผ่น (หรือแบบด่างดวง) ขึ้นปกคลุมเปลือกไม้บนเขาแผนที่ จริงๆ แล้วไลเคน (Lichen) คือพืชมหัศจรรย์! มันคือการรวมตัวของสาหร่ายและเชื้อรา ที่มาอยู่ร่วมกัน โดยสาหร่ายช่วยสังเคราะห์แสงสร้างอาหาร ส่วนเชื้อราสามารถขยายตัวเพิ่มจำนวนได้รวดเร็ว นับเป็นการพึ่งพิงพึ่งพาได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่ายที่น่าเอาตัวอย่างจริงๆ นะครับเขาแผนที่ 21

คุณหมอนก เก็บภาพไลเคนบนเปลือกต้นไม้อย่างตั้งอกตั้งใจ
เขาแผนที่ 22

เมื่อเพ่งพินิจดูใกล้ๆ มอสที่เคยดูเหี่ยวเฉาในฤดูแล้ง เมื่อได้รับน้ำฝนก็จะกลับฟูขึ้น และดูสดใสเขียวสดอีกครั้ง เพราะจริงๆ แล้วมอสสามารถกักเก็บน้ำได้มากว่าน้ำหนักตัวเองหลายเท่า ถือเป็นพืชพื้นฐานที่ช่วยดูดซับน้ำไว้ให้ป่า แล้วสามารถทยอยปล่อยออกมารวมตัวกันเป็นห้วยธารได้อย่างน่าอัศจรรย์!
เขาแผนที่ 23ในบริเวณ จุดศึกษาธรรมชาติที่ 9 เส้นทางจะค่อนข้างคดโค้งจนใกล้ไปถึงยอดเขา ผ่านป่าร่มครึ้มอีกหย่อมหนึ่ง มันคือ “ป่ากะพ้อ” หรือ “ป่าต้นพ้อเขา” (Licuala sp.) พืชพวกนี้จัดอยู่ในตระกูลปาล์มจีบ แผ่นใบมีขนาดใหญ่ ปลายใบแตกเป็นแฉกซี่ย่อยๆ เรียงตัวกันเหมือนพัดกลมๆ โดยก้านใบของมันจะแตกขึ้นมาตั้งแต่โคนต้น และก้านใบมักมีความคมมากด้วย ต้องระวังอย่าไปจับต้องโดยไม่จำเป็น แถมบางชนิดก้านใบยังมีหนามแหลมอีกต่างหาก!
เขาแผนที่ 24

ใบของต้นพ้อเขา หรือกะพ้อเขาเขาแผนที่ 25.1

ในเมื่อใกล้จะถึงยอดเขาเต็มทน และอากาศยามบ่ายก็ร้อนสุดๆ เราเลยถือโอกาสพักเอาแรง ขนมและน้ำที่เตรียมมาช่วยเพิ่มน้ำตาลในกระแสเลือดอีกครั้ง ทั้งหมอนก, น้องพริก, นายแบงค์กับน้องสาวตัวน้อย ที่ขึ้นมาช่วยเรา ต่างก็มีความสุขแบบเรียบง่าย ยามใช้ชีวิตอยู่ติดดินกับธรรมชาติบนเขาแผนที่เขาแผนที่ 25

พ้นจากดงกะพ้อออกมา ทางเดินจะผ่านจอมปลวกใหญ่ อย่าไปทำร้ายเขานะ ให้เราเดินหลบไป เคารพธรรมชาติด้วย เพราะแท้จริงแล้ว จอมปลวกคือคอนโดมิเนียมขนาดยักษ์ใต้ดิน ของแมลงที่ช่วยย่อยสลายเศษซากอินทรีย์วัตถุในป่า ให้ธาตุอาหารกลับคืนสู่ระบบนิเวศน์อีกครั้งเขาแผนที่ 26

จุดศึกษาธรรมชาติที่ 10 ซึ่งถือเป็นจุดสุดท้ายของ Nature Trail เขาแผนที่ ที่ทีมของเราช่วยกันทำก็คือ “กล้วยไม้บนหิน” (Lithophytic Orchid) ลองมาเรียนรู้วิถีชีวิตของก้อนหินก้อนหนึ่ง ที่ถูกกล้วยไม้หลายชนิดขึ้นปกคลุมหนาแน่น ราวกับสวนหินแสนสวย นี่ถ้าได้มาพบตอนมันกำลังออกดอก คงวิเศษมากเลยนะเขาแผนที่ 27

กล้วยไม้บนหิน จริงๆ แล้วถือเป็นกล้วยไม้อิงอาศัยจำพวกหนึ่ง มันต้องปรับตัวเอาชีวิตรอดอยู่ในสภาพแวดล้อมอันขาดแคลน คือแทบจะไม่มีพื้นดิน ในภาพนี้จะเห็นว่ามันอาศัยอยู่บนกอของมอสที่พอกักเก็บความชื้นไว้ได้บ้าง แถมยังมีรากยึดเกาะเหนียวแน่น มีรากอากาศดูดไนโตรเจนจากอากาศ และต้องทนแล้ง ทนร้อน ทนไอเค็มจากทะเล และทนทานต่ออุณหภูมิของกลางวัน กลางคืน ที่ต่างกันหลายองศาเซลเซียส ทุกวันๆ ช่างน่าอัศจรรย์เหลือเกิน!
เขาแผนที่ 28.1ภารกิจเดินป่าทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติของทีมเรา เสร็จสิ้นลงในยามบ่ายแก่ แต่ช่วงฤดูนี้แดดยังร้อนแรง เราเลยแยกย้ายกันนอนพักเอาแรง มุมใครมุมมัน ชีวิตติดดินแบบนี้ มีความสุขจริงๆ เลย เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม ฮาฮาฮา
เขาแผนที่ 28.2

หมดสภาพเมื่อเจออากาศร้อน! ขอพักนิดนึง เดี๋ยวตอนเย็นค่อยออกไปหามุมสวยๆ บนยอดเขาเก็บภาพพระอาทิตย์ตก
เขาแผนที่ 28

นี่ล่ะครับ หน้าตาของยอดเขาแผนที่ (เขาบ้านแหลม) เกาะหมาก จังหวัดตราด นี่คือจุดสูงที่สุดของเกาะหมาก ความสูงประมาณ 110 เมตร จากระดับน้ำทะเลเบื้องล่าง บนเขามีแต่ไม้พุ่มกับไม้ยืนต้นเตี้ยๆ พื้นเป็นหินระเกะระกะ

เขาแผนที่ 29.1

ทั้งอุปกรณ์ถ่ายภาพ อาหาร น้ำ และเครื่องนอน แบกขนกันขึ้นมาสำหรับค่ำคืนอันแสนพิเศษบนเขาแผนที่ คุณหมอนกเตรียมตัวถ่ายภาพแล้ว เอ… จะมีนกบินมาให้รัวชัตเตอร์บ้างไหมนะ?
เขาแผนที่ 29

หมอนกคนสวยสาวอึด เริ่มเก็บภาพธรรมชาติบนยอดเขาแผนที่เขาแผนที่ 30

มองจากไกลๆ นึกว่านกอินทรีย์หรือเหยี่ยว แต่พอใช้เลนส์ 600 มิลลิเมตรส่องดู มันก็คืออีกาดีๆ นี่เองครับเขาแผนที่ 32

จากยอดเขาแผนที่ มองลงมาเบื้องล่างจะเห็นเรือสปีตโบ๊ท และเรือประมงของชาวบ้าน แล่นผ่านไปมาเกือบตลอดวัน
เขาแผนที่ 33

เย็นย่ำใกล้ค่ำลงทุกที แสงอาทิตย์ที่เคยร้อนรุ่มมาตลอดวัน บัดนี้เริ่มอ่อนแรงลงทุกขณะ เปลี่ยนอุณหภูมิสีแสงให้กลายเป็นเฉดสีเหลือง ส้ม ชมพู และม่วง อย่างน่าประทับใจ ถือเป็นช่วงเวลาทองของช่างภาพ มุมใครมุมมันล่ะครับ!เขาแผนที่ 34 เขาแผนที่ 35 เขาแผนที่ 36 เขาแผนที่ 37 เขาแผนที่ 38

แสงสุดท้ายบนยอดเขาแผนที่ เราจะไม่มีวันลืมเลย
เขาแผนที่ 39

แคมป์แบบง่ายๆ ของเรา 3 คน ปูผ้าใบรองพื้น มีฟลายชีทขึงกันน้ำค้าง กินกันตรงนี้ นั่งคุยกันตรงนี้ และนอนกันตรงนี้ ใครหุงข้าวด้วยหม้อสนามเป็นมั่ง ยกมือด่วน!!!เขาแผนที่ 40

มื้อนี้กินกันแบบง่ายๆ เนอะเรา อาหารแบบป่าๆ กินเพื่ออยู่ ไม่ได้อยู่เพื่อกินเนอะ ฮาฮาฮา
เขาแผนที่ 41 เขาแผนที่ 42

น้องพริก ขอแสดงฝีมือหุงข้าว ผลออกมาคืออร่อยจริงๆ ด้วย นุ่มหอมกำลังดี ไม่มีแฉะ ไม่มีไหม้เลย เก่งสุดๆ น้องพี่เขาแผนที่ 43

มืดแล้ว เสียงหรีดเรไรดังระงม ผสานกับเสียงนกตบยุง (Nightjar) ที่ร้องเป็นจังหวะดัง “จุ้ง จุ้ง จุ้ง…” อยู่ไม่ห่างแคมป์ของเรานี่เอง บรรยากาศคลาสสิกสุดๆ ยากจะบรรยายเป็นตัวอักษรได้!
เขาแผนที่ 44

ท้องร้องจ๊อกๆ หิวๆๆๆ เหนื่อยกันมาทั้งวัน ได้เวลาหม่ำข้าวเติมแรง ไข่ต้ม กุนเชียงทอด น้ำพริกเผา และหอยลายผัดเผ็ด กินกับข้าวสวยร้อนๆ ใครจะลืมอาหารมื้อนี้ลงล่ะจ๊ะ!เขาแผนที่ 45

อิ่มแล้วเอนกายนอนพักผ่อนกายา ชีวิตกลางป่ายามค่ำคืนดูเผินๆ อาจเหงา แต่ไม่ใช่ เพราะเรามีมิตรภาพของเพื่อนที่นอนอยู่เคียงข้าง มีเสียงแมลงและยุงร้องขับกล่อมเหมือนเพลงไพเราะ ผสานกับเสียงลมทะเลที่พัดตึงตอนหัวค่ำ จนผ้าใบตีผึบผับ ถ้ายังไม่หลับ แสงไฟดวงน้อยจะช่วยให้อุ่นใจ นอนพูดคุยกันไปอย่างสนุกเฮฮา
เขาแผนที่ 46

ดึกสงัด ลมนิ่งสนิท อากาศบนเขาเริ่มร้อนอบอ้าว ตามมาด้วยเสียงยุงร้องวี้ๆ อยู่รอบตัว! แถมยังมีค้างคาวแม่ไก่ตัวเบ้อเริ่ม บินผ่านไปมาอยู่เหนือหัว ชวนให้ขนลุกตลอดคืน

หนึ่งราตรีบนเขาแผนที่ท่ามกลางคืนพระจันทร์เต็มดวง เป็นค่ำคืนแห่งความพิเศษในหมู่มิตร ที่เราจะไม่มีวันลืมไปตลอดชีวิต ขอขอบคุณธรรมชาติ หรืออะไรก็ตามท่ีนำเรามาพบกัน
เขาแผนที่ 47 เขาแผนที่ 48

นี่คือแผนที่เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติเขาแผนที่ ระยะทาง 340 เมตร มีจุดแวะศึกษาธรรมชาติ รวม 10 จุด ซึ่งเราขอท้าให้คุณมาสัมผัสด้วยตัวเอง นี่คือหนึ่งในตัวแทนความอุดมของเกาะหมาก จังหวัดตราด เกาะเงียบสงบแสนงาม ที่ผมเดินทางมาเพื่อจะ “หลงรัก” และหวังว่าคุณก็จะหลงรักด้วยเช่นกัน
logo รวมขอขอบคุณ : อพท. หรือ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) และพี่น้องชาวเกาะหมากที่น่ารักทุกท่าน ที่ร่วมมือ ร่วแรงร่วมใจสร้างสรรค์กิจกรรมดีๆ นี้ขึ้น สอบถามโทร. 0-2357-3580-402
Nikon logo 1Special Thanks : บริษัท Nikon Sales (Thailand) Co., Ltd. สนับสนุนกล้องถ่ายภาพระดับมืออาชีพ D4 และกล้องถ่ายภาพใต้น้ำ AW130 เพื่อการเก็บภาพสวยๆ เหล่านี้มาฝากเพื่อนๆ ทุกคน สนใจสอบถาม โทร. 0-2633-5100

https://goo.gl/GeqdbB

#LowcarbonAtkohmak #CastawayAtkohmak #ติดเกาะโลว์คาร์บอน

ภารกิจตามหาหญ้าทะเล ฮาเฮ เกาะหมาก จ.ตราด

logo-castawayอ่าวผ่อง 2

เคยมีคนกล่าวไว้ว่า ตราดคือเมืองเกาะครึ่งร้อย และเป็นสวรรค์แห่งทะเลตะวันออก ที่อาบอิ่มด้วยคลื่นลมเห่กล่อม ผสานน้ำทะเลสีครามสดใส เคียงคู่หาดทรายขาวสะอาดตา วันนี้เราจะพาตัวเองล่องเรือโล้คลื่นสู่ เกาะหมาก หนึ่งในเกาะแสนงามแห่งเมืองตราด เพื่อดำดิ่งลงไปยังโลกใต้ทะเลอันสวยงาม น่าพิศวง และมีเรื่องราวให้ค้นหาไม่รู้จบ

ทริปนี้พิเศษกว่าทุกครั้ง เพราะ Go Travel Photo ได้รับเกียรติจาก อพท. หรือ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ให้เข้าร่วมในโครงการ Castaway @Low Carbon Island 2016 ทำหน้าที่อาสารักษ์โลก สัมผัสธรรมชาติสงบงาม และวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมบนเกาะหมากแห่งนี้

อ่าวผ่อง 3

มาเที่ยวเกาะหมากคราวนี้ เรามีภารกิจพิเศษพกติดตัวมาด้วย เพราะเราได้ยินมาว่า ที่ “อ่าวผ่อง” ทางด้านทิศใต้ของเกาะหมาก ซึ่งอยู่ติดกับท่าเรืออ่าวนิด เป็นจุดดำน้ำตื้นชมปะการังที่น่างดงามมาก แถมยังมีแนวหญ้าทะเลอยู่ด้วย! โห ถ้าจริงก็ดีนะสิ เพราะหญ้าทะเลเหลืออยู่ไม่มากแล้วในเมืองไทย หวังว่าจะได้เห็นกับตาตัวเองสักครั้ง
อ่าวผ่อง 4

อ่าวผ่อง ที่เราเห็นในแว๊บแรก ทำให้หลงรักในทันที เพราะถึงแม้จะเป็นเวิ้งอ่าวเล็กๆ ยาวไม่กี่ร้อยเมตร ทว่าจุดเด่นคือความสงบ หาดทรายเป็นสีทอง เนื้อละเอียดเนียน เดินนุ่มเท้า วันนี้ฟ้าใสเป็นใจกับการดำน้ำตามหาหญ้าทะเลจริงๆ เลย
อ่าวผ่อง 5

พวกเราเป็นคนชอบกิจกรรมมันส์ๆ จะทำอะไรทีก็ต้องไม่ธรรมดา เลยขอเพิ่มดีกรีความสนุกก่อนจะไปดำน้ำที่อ่าวผ่อง ด้วยการพายเรือคายัคระยะทางสักครึ่งกิโลเมตร เริ่มต้นจากทะเล ไทม์ รีสอร์ท ไปอ่าวผ่อง โดยครั้งนี้ได้สาวสวยขาลุย “คุณหมอนก” จากเว็บไซต์เพื่อนนักสะพายเป้ มาเป็นเพื่อนร่วมทาง ก่อนพายเรือก็ต้องเตรียมความพร้อมกันหน่อยล่ะ
อ่าวผ่อง 6

แม้จะเป็นการพายเรือคายัคระยะทางสั้นๆ แต่มากางแผนที่ดูเส้นทาง และจุดหมาย กันไว้ก่อน ก็ดีเหมือนกัน
อ่าวผ่อง 7

น่าจะใช้เวลาพายเรือไม่เกิน 30 นาที ถ้าคลื่นลมไม่แรงเกินไป พร้อมแล้วก็ลุยกันเลยยยยยอ่าวผ่อง 8

การพายเรือคายัค เป็นหนึ่งในกิจกรรมการท่องเที่ยวทางน้ำที่ถือว่า “เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” เพราะไม่ได้ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อะไรเลยสู่ชั้นบรรยากาศโลก เสียงก็เงียบ พายเรือไปอย่างอิสระเสรี จะหยุดแวะชมธรรมชาติตรงไหนก็ได้ตามใจชอบ นับว่าเหมาะสุดๆ แล้ว สำหรับเกาะคาร์บอนต่ำอย่างเกาะหมากครับ

แต่วันนี้ดูเหมือนคลื่นลมจะค่อนข้างแรง เรือคายัคของผมกับหมอนกเลยโดนคลื่นซัดไปคนละทางสองทาง ฮาฮาฮา สุดท้ายก็ต้องใช้วิธีผูกเชือกโยงเรือเข้าไว้ด้วยกัน แล้วพายไปพร้อมๆ กันดีกว่าเนอะอ่าวผ่อง 9

ใช้เวลาประมาณ 30 นาที ตามที่กะไว้ ในที่สุดเรือคายัคลำน้อยสองลำก็มาจอดเกยหาดอยู่ที่อ่าวผ่อง อย่างปลอดภัย โดยมี คุณไมเคิล ซึ่งเป็นชาวยุโรปที่มาทำธุรกิจรีสอร์ทเล็กๆ อยู่ที่อ่าวผ่อง แถมยังเป็นนักถ่ายภาพใต้น้ำฝีมือฉกาจ รวมทั้ง คุณเนม เจ้าของทะเล ไทม์ รีสอร์ท (อ่าวทองหลาง) ที่อยู่ติดกัน มายืนรอรับอยู่ด้วยความเป็นห่วง

ก่อนจะเปลี่ยนชุดลงไปดำน้ำ เราได้พูดคุยกันถึงความสมบูรณ์ของพื้นที่ คุณไมเคิลเล่าว่า แนวปะการังหน้าอ่าวผ่องเคยถูกภาวะปะการังฟอกขาว หรือ Coral Bleching จากน้ำทะเลที่ร้อนขึ้น (ผลจากภาวะโลกร้อน) ส่วนหนึ่งจึงตายไป แต่โชคดีที่ปัจจุบันบางส่วนเริ่มฟื้นตัวแล้ว จึงมีปลาเล็กปลาน้อย และปะการังเกิดใหม่ ค่อยๆ เติบโตขึ้น
อ่าวผ่อง 10.1

บริเวณหัวหาดด้านหนึ่งของอ่าวผ่อง ยามน้ำลดจะเห็น แนวหินภูเขาไฟ (Volcanic Rock) จำนวนมากผุดขึ้นมา ลักษณะเป็นหินสีน้ำตาลเกือบดำ เนื้อเป็นรูพรุนจำนวนมาก เพราะหินลาวานี้มีฟองอากาศอยู่ภายใน และเย็นตัวลงอย่างรวดเร็ว นี่เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า เมื่อ 200 กว่าล้านปีก่อน บริเวณนี้เป็นแหล่งธรณีภูเขาไฟที่ดุเดือดไม่ใช่เล่น คงอย่างนี้นี่เอง ในบริเวณจังหวัดตราดและจันทบุรี จึงมีหินอัญมณีมีค่าและหินภูเขาไฟหลงเหลืออยู่มากมาย อย่างที่เกาะขามที่อยู่ใกล้เกาะหมากก็มีเหมือนกันครับอ่าวผ่อง 10.2

แนวหินภูเขาไฟผุดยามน้ำลง ที่อ่าวผ่องอ่าวผ่อง 10

เอาล่ะ ตอนนี้ได้เวลาดำน้ำตามหาหญ้าทะเลกันแล้ว ตื่นเต้นจัง! หมอนกคนสวยของเรา โดดน้ำตามคุณไมเคิลลงไปก่อนเลย วันนี้ถ้าภารกิจไม่สำเร็จ เราสัญญากับตัวเองไว้แล้วว่าจะไม่หยุดแน่นอน!อ่าวผ่อง 11

แม้วันนี้บนผิวน้ำคลื่นจะค่อนข้างแรง น้ำไม่ใสเคลียแบบ 100 เปอร์เซนต์ แต่ก็ยังพอมองเห็นป่าใต้น้ำได้บ้าง ไม่ห่างจากฝั่งมากนัก ในบริเวณน้ำลึกไม่เกิน 1.50 เมตร สิ่งแรกที่เตะตานักดำน้ำมือสมัครเล่นอย่างผมก็คือ “สาหร่ายทุ่น” (Sargassum) เป็นสาหร่ายสีน้ำตาล ที่มีลำต้นยาวตั้งตรง พลิ้วไหวโอนเอนไปมาตามกระแสคลื่น ทำให้จุดนี้เราต้องว่ายน้ำซิกแซกไปมาหลบพวกมัน น่าสนุกดีครับ เหมือนผจญภัยในป่าใต้น้ำไม่มีผิดเลย!อ่าวผ่อง 12

ในบริเวณเดียวกับที่พบสาหร่ายทุ่น เรายังพบ สาหร่ายเห็ดหูหนู (Lobophora) งอกงามอยู่เป็นจำนวนมาก ลักษณะของมันเนื้อจะนิ่มๆ เหมือนวุ้น มีแผ่นใบกลมๆ เหมือนหูหนูขนาดใหญ่ การที่เราพบสาหร่ายในน้ำตื้นทั้งสองชนิดนี้ ถือว่าดี เพราะนอกจากมันจะช่วยสังเคราะห์แสงเพิ่มออกซิเจนให้ทะเลแล้ว ยังเป็นตัวดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย เพราะในกระบวนการสังเคราะห์แสงของมัน ต้องใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากอ่าวผ่อง 13

ดำน้ำตีขาสู้คลื่นห่างจากฝั่งออกมาประมาณ 30-40 เมตร ช่วงแรกนี้ปะการังที่พบส่วนใหญ่เป็นปะการังแข็ง (Hard Coral) หลากชนิด อย่างในภาพนี้คือ ปะการังรังผึ้ง (Honey Comb Coral) รูปแบบหนึ่งอ่าวผ่อง 14

ปะการังรังผึ้งรูปแบบหนึ่ง กำลังเติบโตขึ้นบนโขดปะการังเดิมที่ตายลงเพราะภาวะน้ำทะเลร้อนในอดีตอ่าวผ่อง 15

รูปแบบชีวิตอันหลากหลายใต้ท้องทะเลที่อ่าวผ่อง ปะการังรังผึ้ง แบบนี้แม้กอจะไม่ใหญ่ แต่ถ้าสังเกตให้ดี จะพบว่ามีสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ไปพึ่งพิงอิงอาศัยอยู่มากมาย แนวปะการังจึงเป็นสังคมสิ่งมีชีวิตใต้น้ำ ที่มีห่วงโซ่อาหารซับซ้อนมากอ่าวผ่อง 16

ปะการังดาวสีทอง (Golden Star Coral) สีส้มสดใส ที่เห็นนี้จริงๆ แล้วปะการังไม่ใช่พืช แต่เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง ที่ดูดหรือกรอกกินสารอาหารและแพลงก์ตอนจากน้ำทะเล ปะการังบางชนิดอาศัยอยู่ในโครงสร้างหินปูนแข็ง รูปร่างคล้ายต้นไม้ ใบไม้ จึงทำให้หลายคนเข้าใจผิด คิดว่าปะการังเป็นพืช แต่จริงๆ แล้วพวกมันเป็นสัตว์จำพวกหนึ่งนะจ๊ะ อิอิอ่าวผ่อง 17

ปะการังรังผึ้งรูปแบบหนึ่ง ที่อ่าวผ่อง รูปร่างสวยงามแปลกตาเหลือเกินอ่าวผ่อง 18

ในบริเวณน้ำตื้นของอ่าวผ่อง ช่วงที่น้ำลึกไม่เกิน 1.50 เมตร เราพบ ปลิงทะเล (Lolly Sea Cucumber) อยู่บ้างพอสมควร จริงๆ แล้วปลิงทะเลเป็นญาติใกล้ชิดกับดาวทะเลและหอยเม่น มันเคลื่อนที่ด้วยการยืดหดกล้ามเนื้อ ทำนองคืบคลานไปมา เพราะมันไม่มีกระดูกสันหลัง โดยมันจะใช้หนวดที่ปากคุ้ยเขี่ยซากอินทรีย์และอาหารบนพื้นทราย เลน กิน การพบปลิงทะเลในบริเวณใดมากๆ จึงเท่ากับว่า มีเทศบาลคอยช่วยทำความสะอาดพื้นทะเลให้นั่นเองอ่าวผ่อง 19ปะการังรังผึ้ง (Honey Comb Coral) ก้อนกลมเกือบเท่าลูกฟุตบอล ลายสวยน่ารัก เป็นปะการังแข็งชนิดหนึ่งที่พบได้มากมายบริเวณอ่าวผ่อง กว่าจะขยายขนาดขึ้นเป็นกอใหญ่ๆ ได้ มันต้องใช้เวลาหลายสิบปีทีเดียว

อ่าวผ่อง 20

เพลิดเพลินกับการดำน้ำตื้นไปเรื่อยๆ ก็ไปจ๊ะเอ๋ เข้ากับกอ ปะการังสมองร่องลึก (Large Brain Coral) ที่ทำให้ขนลุกได้เหมือนกัน คงเพราะรูปร่างของมันเหมือนกับสมองของคนเราไม่ผิดเลยนะสิ! แต่จริงๆ แล้วไม่มีอันตรายหรอกนะ แค่เราคิดไปเอง ไม่น่ากลัวอะไร เราจะเห็นหนอนสีดำขนาดเล็กอาศัยอยู่ในร่องของปะการังสมองด้วยอ่าวผ่อง 21

ปะการังสมองร่องลึก (Large Brain Coral) ขนาดเท่าหัวผักกะหล่ำใหญ่ๆ
อ่าวผ่อง 22

การดำน้ำตามหาหญ้าทะเลในวันนี้ที่อ่าวผ่อง เรามีคุณไมเคิลเป็น Dive Leader หรือผู้นำดำน้ำ เพราะเขาอาศัยอยู่ที่นี่ จึงมีความเชี่ยวชาญ รู้ว่าตรงไหนมีอะไร แต่ที่สำคัญคือ คุณไมเคิลได้ช่วยเราเก็บภาพ VDO ใต้น้ำด้วย ดีใจมากๆ ครับอ่าวผ่อง 23

ในจุดดำน้ำหลักจุดแรก ซึ่งเป็นเหมือนดงปะการังแข็งพื้นที่กว้าง เราพบ หอยมือเสือ (Giant Clam) ซึ่งเป็นหอยทะเลขนาดใหญ่ที่สุดชนิดหนึ่ง กระจายอยู่มากมาย แม้มันจะยังโตไม่เต็มที่ จนถึงขนาด 100-120 เซนติเมตร แต่ก็ถือเป็นหอยมือเสือวัยรุ่น ที่บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวผ่องได้เป็นอย่างดี และจะช่วยให้ท้องทะเลบริเวณนี้ในอนาคตมีความอุดม มีคุณค่า มีห่วงโซ่อาหารที่ไม่ขาดตอนอ่าวผ่อง 24

ว่ากันว่า พบหอยมือเสือที่ใด น้ำในบริเวณนั้นถือว่าสะอาด เพราะหอยมือเสือจะมีชีวิตอยู่ได้ในบริเวณที่น้ำค่อนข้างคื้น ใสสะอาด ตะกอนน้อย เนื่องจากตัวของมันเองแม้จะเป็นสัตว์ แต่ช่างน่าอัศจรรย์ กลับมีสาหร่ายชนิดหนึ่งไปอาศัยอยู่ในเนื้อของมันด้วย หอยมือเสือจึงต้องเปิดปากออกมา ให้สาหร่ายสังเคราะห์แสงสร้างอาหาร เป็นการอาศัยแบบพึ่งพากัน ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย (Symbiosis) คือสาหร่ายได้ที่อยู่อาศัย และหอยมือเสือได้อาหารจากสาหร่าย
อ่าวผ่อง 25

การสังเคราะห์แสงของสาหร่ายที่อยู่ในเนื้อหอยมือเสือ ถือว่ามีประโยชน์ต่อระบบนิเวศน์ทางทะเลอย่างมาก เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มออกซิเจนให้น้ำทะเลแล้ว ยังช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาเก็บไว้ด้วย หรือที่ในทางนิเวศน์วิทยาเรียกว่า Carbon Sink นั่นเอง หอยมือเสือจึงไม่ได้มีไว้กินอย่างเดียวตามที่หลายคนเข้าใจผิด

“ทุกสิ่งทุกอย่างในธรรมชาติล้วนมีหน้าที่ และเชื่อมโยงกันเป็นวงจร ห่วงโซ่อันเปราะบาง”
อ่าวผ่อง 26

ถ้าสังเกตให้ดี นอกจากหอยมือเสือแล้ว เรายังพบ หอยมือแมว (Crocus Giant Clam) ด้วย ถ้าไม่รู้จักมองผ่านๆ ก็อาจนึกว่าเป็นชนิดเดียวกับหอยมือเสือ (Giant Clam) วิธีสังเกตง่ายๆ ในความต่าง คือ หอยมือแมวขนาดจะเล็กกว่า ยาวเพียง 10-15 เซนติเมตร (ไม่เกิน 20 เซนติเมตร) และมักฝังตัวอยู่ในกอหรือโขดปะการังแข็ง ไม่ได้เห็นเป็นตัวเด่นขึ้นมาเหมือนหอยมือเสือ อ่าวผ่อง 27

หอยมือแมว (Crocus Giant Clam) อยู่ในตระกูลเดียวกับหอยมือเสือ แต่ตัวเล็กกว่า ทว่ามันสามารถช่วยสังเคราะห์แสง ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เช่นกัน
อ่าวผ่อง 28

ปะการังสีทอง ที่อ่าวผ่อง ชนิดนี้ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเป็นสีทองตามธรรมชาติ หรือเกิดจากภาวนะน้ำทะเลร้อนขึ้น???อ่าวผ่อง 29

ปะการังโขด (Hump Coral) สีม่วงอมชมพูสวยงาม พบกระจายอยู่ทั่วไปที่อ่าวผ่อง
อ่าวผ่อง 30

ปะการังโขด (Hump Coral) สีชมพูอ่อนที่อ่าวผ่อง บางจุดพบว่ามีขนาดใหญ่ แผ่ออกไปหลายสิบตารางเมตรเลยทีเดียว จะเห็นว่า นอกจากมีลูกปลาเล็กๆ แอบไปใช้เป็นที่หลบภัยแล้ว ยังมีหอยไปฝังตัวอยู่ในเนื้อของปะการังโขดด้วยอ่าวผ่อง 31

เมื่อดำน้ำห่างจากฝั่งออกมาเรื่อยๆ จนถึงระยะน้ำลึกราวๆ 3 เมตร ก็พบ ปะการังโขด (Hump Coral / Mountain Coral) ขนาดใหญ่และกินพื้นที่กว้างขึ้น ปะการังโขดบางกอมีสีส้ม ชมพู ม่วง ผสานกันไปมา สวยงามมากอ่าวผ่อง 32

ฝูงปลาเล็กปลาน้อย ว่ายวนหากินอยู่ในแนวปะการังแข็งของอ่าวผ่อง
อ่าวผ่อง 33

ปะการังดอกเห็ด (Mushroom Coral) แม้พบได้ทั่วไป เป็นปะการังที่หาง่าย แต่ก็มีรูปร่างสวยงามเตะตา ดึงดูดความสนใจเราให้ว่ายน้ำเข้าไปดูใกล้ๆ ได้ทุกครั้ง พวกมันเป็นปะการังที่เติบโตขึ้นเป็นกอเดี่ยวๆ เส้นผ่าศูนย์กลาง 20-30 เซนติเมตร แต่ถ้าโตอยู่ใกล้กันหลายๆ อัน บางครั้งมันก็รวมตัวเป็นกอใหญ่ก็มี จัดเป็นปะการังน้ำตื้นที่โดดเด่นมากชนิดหนึ่งของอ่าวผ่องครับ
อ่าวผ่อง 34ปะการังเขากวาง (Staghorn Coral) ในลักษณะการเติบโตขึ้นเป็นพุ่ม (Table) รูปร่างคล้ายโต๊ะขนาดใหญ่ การที่พบเห็นมันเป็นสีเหลืองทองขนาดนี้ เป็นดัชนีบ่งชี้ได้ชัดเจนว่าน้ำทะเลของภาคตะวันออกร้อนขึ้น อันเป็นผลมาจากปี 2016 เป็นปีที่โลกต้องประสบภาวะโลกร้อน และปะการังฟอกขาว รุนแรงที่สุดปีหนึ่ง!!!

อ่าวผ่อง 35

กว่าปะการังเขากวางแต่ละกิ่งจะงอกงามขึ้นได้ขนาดนี้ มันต้องใช้เวลาหลายสิบปี เพราะแต่ละปีมันงอกยาวได้แค่ไม่กี่มิลลิเมตรเท่านั้น! ดังนั้นเวลาไปดำน้ำดู เราต้องระวังไม่จับต้อง และระวังไม่ให้ตีนกบดำน้ำของเราไปโดนมันจนหัก!
อ่าวผ่อง 36

ในบริเวณปะการังใต้น้ำกลุ่มที่ 2 ซึ่งคุณไมเคิลนำเราดำน้ำดู โชคดีไปพบกับ กอปะการังโขดรูปหัวใจ!!! ที่มีปะการังรังผึ้งกลมสวยคล้ายลูกบอลอยู่ตรงกลางพอดิบพอดี ช่างน่าพิศวงในประติมากรรมธรรมชาติใต้น้ำชิ้นนี้ เปรียบไป ก็คล้ายกับหัวใจแห่งมหาสมุทรที่ไข่มุกแสนงามประดับอยู่ตรงกลาง นี่คือของขวัญล้ำค่าสำหรับมนุษย์ตัวเล็กๆ อย่างเรา

ผมถือว่า นี่คือ Unssen ของอ่าวผ่อง และเกาะหมาก อย่างหนึ่งเลยล่ะ!
อ่าวผ่อง 37

ปะการังรังผึ้งที่อ่าวผ่อง
อ่าวผ่อง 38

ปะการังโขดขนาดเล็ก กำลังเริ่มก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆ อ่าวผ่อง 39

ปะการังแผ่น เติบโตขึ้นเคียงคู่กับปะการังโขด ปะการังรังผึ้ง และชุมชนหอยเม่นหนามยาว ทำหน้าที่คล้ายชุมชนใต้น้ำ ให้หมู่กุ้ง หอย ปู ปลา เข้ามาหลบอาศัย หากิน และขยายพันธุ์ต่อไปอ่าวผ่อง 40

ปะการังสมอง (Brain Coral) เป็นหนึ่งในชนิดปะการังโดดเด่นที่สุดบริเวณอ่าวผ่อง รวมถึงรอบๆ เกาะหมาก และท้องทะเลภาคตะวันออกของไทย รูปร่างอันชวนพิศวงของมัน คงทำให้หลายคนรู้สึกขนลุกได้ไม่น้อย!
อ่าวผ่อง 41

ในที่สุด หลังจากดำน้ำกันมาชั่วโมงกว่า ผ่านกลุ่มปะการังเด่นๆ มา 2 กลุ่ม คุณไมเคิลก็นำเราว่ายน้ำกลับเข้าสู่บริเวณน้ำลึกไม่เกิน 2 เมตร ณ จุดนี้คือ แหล่งหญ้าทะเลที่เราตามหา! มันคือผืนพรมสีเขียวใต้น้ำใส แผ่กว้างออกไปหลายสิบตารางเมตร จนยากจะวัดให้ชัดเจนได้ว่ามีพื้นที่เท่าใดแน่ แต่นั่นคงไม่สำคัญเท่ากับ การได้เห็นหญ้าทะเลของจริงกับตาตัวเองสักครั้งในระยะใกล้ชิดแบบเผาขนขนาดนี้ คือสิ่งพิสูจน์ว่า เกาะหมากยังเป็นสวรรค์ของคนรักทะเลอย่างแท้จริงอ่าวผ่อง 42

หญ้าทะเลที่อ่าวผ่องขึ้นเบียดเสียดกันอย่างหนาแน่น สมบูรณ์มาก และแทบไม่มีร่องรอยความเสียหายเลย ดีใจจัง! โดยตามธรรมชาติแล้ว หญ้าทะเล หรือ Sea Grass คืออาหารของ เต่าทะเล (Sea Turtle) และ พะยูน (Dugong) รวมทั้งยังเป็นแหล่งอาศัย หลบภัย หากิน สืบพันธุ์ ของกุ้ง หอย ปู ปลา รวมถึงม้าน้ำตัวจิ๋วด้วย นอกจากนี้ หญ้าทะเลยังช่วยสังเคราะห์แสง เพิ่มออกซิเจนให้ท้องทะเล เป็นการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากักเก็บไว้ในตัวและผืนดินข้างใต้ ได้อย่างน่าอัศจรรย์อ่าวผ่อง 43

หญ้าทะเลที่อ่าวผ่อง มีชื่อชนิดว่า หญ้าชะเงาใบฟันเลื่อย ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Cymodocea serrulata เป็นหญ้าทะเล 1 ใน 12 ชนิด ที่พบในเมืองไทยของเรา แหล่งหญ้าทะเลอันมีคุณค่านี้ล่ะ คือพืชที่ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ในปริมาณมหาศาล มหาสมุทรจึงเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนใหญ่ที่สุดอีกแห่ง อย่างที่เรามิอาจมองข้าม!
อ่าวผ่อง 44

ไม่น่าเชื่อเลยว่า กลางกอหญ้าทะเล เราจะพบสังคมการอยู่ร่วมกัน ของหญ้าทะเล สาหร่ายทะเล ปะการังเขากวาง และโขดปะการังแข็ง อย่างกลมกลืน ราวกับมีใครไปแอบจัดสวนไว้ใต้ทะเล ยังไงยังงั้นเลย ฮาฮาฮา

อ่าวผ่อง 45

ตรงบริเวณชายขอบของแหล่งหญ้าทะเลอ่าวผ่อง เราสามารถพบ หอยจอบ หรือหอยซองพลู (Comb Pen Shell) ฝังตัวอยู่ในพื้นทรายเป็นจำนวนมาก โดยมันจะฝังปลายด้านหนึ่งที่เป็นทรงแหลม ลึกลงไปในพื้นทราย ปล่อยไว้เพียงปากอีกด้านหนึ่งที่มนกว่าโผล่พ้นพื้นขึ้นมา ขอเตือนว่า เปลือกนี้ค่อนข้างคม ถ้าเดินลุยน้ำไปเหยียบเข้า ก็อาจเกิดแผลได้!

ตามปกติแล้ว หอยจอบจะกรองกินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร ซึ่งแพลงก์ตอนบางชนิดมีพิษด้วย การเอาเนื้อหรือเอ็นหอยจอบมากิน จึงอาจท้องเสียได้ ขอแนะนำให้ตัดปัญหา ไม่กินมันเลยจะดีกว่านะครับ
อ่าวผ่อง 46

จากจุดที่พบหญ้าทะเล ถ้าว่ายน้ำหันหัวออกทะเล ไปจนถึงระดับความลึกราวๆ 3 เมตร จะพบไฮไลท์อีกอย่างหนึ่งของอ่าวผ่อง นั่นคือ “ซากเรือจม” เป็นเรือประมงขนาดกลาง ชื่อ Thaitanic ซึ่งมาอับปางลงตรงนี้เมื่อหลายปีที่แล้ว ทว่าซากเรือที่พบไม่ได้มีลักษณะเป็นเรือเต็มลำชัดเจน เพราะถูกคลื่นลมถาโถมพัดไปมาจนพัง แตกออกเป็นชิ้นๆ กระจัดกระจาย นับเป็นจุดดำน้ำที่น่าตื่นเต้น ให้อารมณ์ของการผจญภัยเล็กๆ และเป็นจุดสิ้นสุดเส้นทางดำน้ำของเราในวันนี้ด้วย
อ่าวผ่อง 47ผลจากการดำน้ำตื้นที่อ่าวผ่องในวันนี้ ทำให้ทีมของเราช่วยกันสรุปวาดแผนที่ เส้นทางศึกษาธรรมชาติใต้น้ำ หรือ Underwater Trail แบบคร่าวๆ ได้ แม้จะไม่ละเอียดนัก (เพราะเราไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล) แต่เราก็ภูมิใจ ที่ได้ดำดิ่งลงไปพิสูจน์ให้เห็นสรรพชีวิตใต้ทะเลกับตาตัวเอง โดยเฉพาะหญ้าทะเลที่ดูได้อย่างใกล้ชิด

เราหวังว่า สมบัติทางธรรมชาติอันล้ำค่านี้จะคงอยู่คู่คนเกาะหมาก คนตราด และคนไทย ไปอีกนานแสนนานเลยนะจ๊ะ
logo รวม

ขอขอบคุณ : อพท. หรือ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) และพี่น้องชาวเกาะหมากที่น่ารักทุกท่าน ที่ร่วมมือ ร่วแรงร่วมใจสร้างสรรค์กิจกรรมดีๆ นี้ขึ้น สอบถามโทร. 0-2357-3580-402
Nikon logo 1Special Thanks : บริษัท Nikon Sales (Thailand) Co., Ltd. สนับสนุนกล้องถ่ายภาพระดับมืออาชีพ D4 และกล้องถ่ายภาพใต้น้ำ AW130 เพื่อการเก็บภาพสวยๆ เหล่านี้มาฝากเพื่อนๆ ทุกคน สนใจสอบถาม โทร. 0-2633-5100

https://goo.gl/GeqdbB

#LowcarbonAtkohmak #CastawayAtkohmak #ติดเกาะโลว์คาร์บอน

เกาะหมาก สวรรค์วันพักผ่อนแห่งทะเลบูรพา

เกาะหมาก 2

ก่อนที่ Go Travel Photo จะได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพาบล็อกเกอร์ไปปล่อยเกาะ ที่เกาะหมาก จังหวัดตราด ของ อพท. (องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน องค์การมหาชน) ระหว่างวันที่ 19-22 เมษายน 2559 เราจึงอยากพาแฟนๆ ไป Say Hello กับเกาะอันแสนน่ารักแห่งนี้ก่อนเลย
เกาะหมาก 3 เกาะหมาก 4

ขอต้อนรับสู่เกาะหมาก เกาะเงียบสงบที่ไม่ต่างจากโอเอซิส หรือสรวงสวรรค์แห่งน่านน้ำทะเลตะวันออก เพราะวันนี้ขณะที่หลายเกาะพัฒนาไปจนสูญเสียความเป็นธรรมชาติ ทว่าเกาะหมากยังคงสงบงามตามวิถี แถมยังเป็นต้นแบบการท่องเที่ยวแบบ Low Carbon หรือปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ น่าชื่นชมจริงๆ
เกาะหมาก 5

วิถีชีวิตดั้งเดิมบนเกาะหมาก ล้วนผูกพันอยู่กับสวนมะพร้าวและสวนหมาก ทว่าด้วยเวลาที่เปลี่ยนไป หลังจากมีการนำยางพาราเข้าปลูกบนเกาะ ป่าหมากก็หายไป เหลือแต่ป่ามะพร้าวต้นสูงลิ่วใบลู่ลม ที่ยังคงพอสะท้อนวิถีชีวิตแบบเดิมๆ ของคนบนเกาะหมากให้เราได้เห็น
เกาะหมาก 6

อ่าวขาว เป็นหนึ่งอ่าวที่สวยและสงบที่สุดทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะหมาก น้ำทะเลเป็นสีฟ้าครามสดใส ลงเล่นน้ำได้สบายใจ มีรีสอร์ทเล็กๆ อยู่ด้วย เหมาะสำหรับการหลบความวุ่นวายไปพักผ่อนจริงๆ
เกาะหมาก 7

อ่าวขาวในวันฟ้าใส แทบไม่มีคนไทย แต่เป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย
เกาะหมาก 8

เสน่ห์ของทิวมะพร้าวโอนเอนลงทักทายผืนทะเลที่ อ่าวขาว
เกาะหมาก 9

อ่าวแดง อยู่ติดกับอ่าวขาว บริเวณนี้เต็มไปด้วยก้อนหินสีส้มอมแดง ไม่มีหาดทราย ถัดเข้ามาเป็นป่ามะพร้าวเก่า ยังไม่มีรีสอร์ทมาสร้างอยู่ เหมาะเป็นเส้นทางปั่นจักรยานหรือเก็บภาพมุม Unseen สวยๆเกาะหมาก 10

อาทิตย์อัสดงลงจุมพิตผืนทะเล ที่ Banana Sunset Resort หนึ่งในจุดชมวิวแสงสุดท้ายของวัน ที่สวยที่สุดบนเกาะหมาก
เกาะหมาก 11

เกาะหมากเป็นสวรรค์ของช่างภาพ ทั้งมือใหม่และมือโปร ที่ Banana Sunset Resort ชมอาทิตย์อัสดงได้งดงามมากเกาะหมาก 12

Sunset แสนประทับใจที่ Banana Sunset Resort
เกาะหมาก 13

ที่ Banana Sunset Resort มีสะพานไม้เล็กๆ ยื่นลงไปในทะเล เหมาะจะชวนคนรักไปนั่งทำโรแมนติกกันชะมัด
เกาะหมาก 14

แสงสุดท้ายอันน่าประทับใจที่ Banana Sunset Resortเกาะหมาก 15

ความงามของแสงสีบนฟากฟ้าที่ Maka Thani Resort
เกาะหมาก 16

พระอาทิตย์ตื่นนอน ค่อยๆ ลอยอ้อยอิ่งขึ้นทักทายพวกเรา ที่ Maka Thani Resort
เกาะหมาก 17

แสงยามเช้าอันอ่อนโยนที่ Maka Thani Resort
เกาะหมาก 18

อรุณเบิกฟ้าที่สะพานเรือด้านหน้า Maka Thani Resort
เกาะหมาก 19

นกแอ่นบ้านตัวน้อยน่ารัก ตื่นแต่เช้ามารับลมทะเลแสนสดชื่นของเกาะหมาก
เกาะหมาก 20

หอยนมสาว ถูกคลื่นพัดขึ้นมาเกยหาดที่ พลับพลา Resortเกาะหมาก 21

อ่าวผ่อง อยู่ติดกับท่าเรืออ่าวนิด มองเห็นไกลๆที่สุดเส้นขอบฟ้าตรงนั้น ก็คือแหลมดุ่น (แหลมกะดุ่น)
เกาะหมาก 22

หาดทรายสีทองของอ่าวผ่องเกาะหมาก 23

อ่าวผ่องวันนี้ยังเงียบสงบ เป็นมุมส่วนตัวที่จะไปนั่งๆ นอนๆ เอกเขนกได้สบายโดยไม่มีใครกวนเกาะหมาก 24

อ่าวผ่องไม่ได้สวยน่าหลงใหลเฉพาะบนบกนะจ๊ะ แต่โลกใต้ทะเลยังมีชีวิตชีวา เต็มไปด้วยหมู่ปลา ปะการัง เหมาะไปดำน้ำทักทายโลกแห่งสรรพชีวิตที่ไม่ค่อยมีใครได้พบเห็นเกาะหมาก 25

ปะการังเขากวางที่อ่าวผ่องหอยมือแมว 2

ใต้น้ำหน้าอ่าวผ่อง เต็มไปด้วยหอยมือเสือ และหอยมือแมว ซึ่งปัจจุบันที่อื่นหายากแล้ว ทว่าที่นี่ยังได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดี พวกมันจึงค่อยๆ ขยายพันธุ์ รอให้เราเข้าไปเรียนรู้ เพื่อให้เกิดความรักความเข้าใจในธรรมชาติมากขึ้นเกาะหมาก 26

ไม่น่าเชื่อเลยว่า ที่อ่าวผ่องจะมีแนวหญ้าทะเลขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น และอุดมสมบูรณ์มาก จึงมั่นใจได้เลยว่า ในอดีตน่าจะเคยมีทั้งเต่าทะเลและพยูน (คนภาคตะวันออกเรียก หมูดุด) แวะเวียนหากินอยู่แถวนี้ด้วย
เกาะหมาก 27

หญ้าทะเลในน้ำใสแจ๋วไร้ตะกอนรบกวน ที่อ่าวผ่อง
เกาะหมาก 28

แม้จะได้รับการพัฒนาไปมาก แต่ชายหาดบางแห่งของเกาะหมากก็ยังมีป่าชายเลนหลงเหลืออยู่เหมือนกัน อย่างที่อ่าวทองหลาง ยังมีแนวป่าต้นโกงกางใบเล็กขึ้นอยู่ ให้เป็นที่กำบังคลื่นลม และอนุบาลสัตว์ทะเลวัยอ่อน ตัวเล็กๆ น่ารัก
เกาะหมาก 29

แหลมตุ๊กตา ทางปลายสุดด้านตะวันตกของเกาะหมาก มองออกไปในทะเล เห็นเกาะระยั้งในและเกาะระยั้งนอก อยู่ไม่ไกลแล้วล่ะจ้า น่าพายเรือคายัคออกไปเที่ยวจริงๆ เลย
เกาะหมาก 30

แหลมตุ๊กตา เป็นชายหาดเวิ้งว้าง ธรรมชาติบริสุทธิ์ อยู่ทางปลายสุดด้านตะวันตกของเกาะหมากเกาะหมาก 31

อ่าวทองหลาง อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะหมาก เป็นอ่าวที่คลื่นลมสงบ ชาวเกาะจึงนำเรือเข้ามาจอดหลบคลื่นลมเกาะหมาก 32

มุมส่วนตัวที่อ่าวทองหลาง เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม 5555555เกาะหมาก 33

แหลมสน ตั้งอยู่ทางปลายสุดตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะหมาก สงบเงียบ ไม่มีใครไปรบกวน จากแหลมสนมองออกไปเห็นเกาะกระดาดตั้งอยู่ตรงเส้นขอบฟ้า ต้องหาเวลานั่งเรือไปเที่ยวซะแล้ว
เกาะหมาก 34

อ่าวตาโล่ง เป็นชายหาดยาวเหยียดหลายกิโลเมตรทางด้านทิศเหนือสุดของเกาะหมาก เป็นชุมชนประมงดั้งเดิม ที่ปัจจุบันยังมีวิถีประมงพื้นบ้านให้สัมผัส โดยชาวบ้านส่วนหนึ่งหารายได้เสริม ทำสวนยางพารา จึงมีโรงยางให้ชมด้วยเกาะหมาก 35

ทิวมะพร้าวต้นสูงลิ่วล้อลมทะเล ที่อ่าวตาโล่งเกาะหมาก 36

อ่าวตาโล่ง เป็นเส้นทางปั่นจักรยาน Off Road รอบเกาะหมาก ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติชอบมาก
เกาะหมาก 37

เส้นทางปั้นจักรยานเที่ยว ผ่านอ่าวตาโล่ง และผ่านโรงทำน้ำมันมะพร้าวเก่าของเกาะหมาก ซึ่งปัจจุบันเลิกกิจการไปแล้วเกาะหมาก 38.1

จักรยาน คือพาหนะยอดฮิตของคนบนเกาะหมาก รวมถึงนักท่องเที่ยวที่มาเยือนด้วย เพราะนอกจากจะเงียบ ไม่ปลดปล่อยมลพิษแล้ว ยังทำให้เราได้ออกกำลังกาย ปั่นช้าๆ เนิบๆ ชมธรรมชาติ แวะตรงโน้นตรงนี้ พูดคุยกับชาวบ้านเปี่ยมรอยยิ้มเกาะหมาก 38

นอกจากจะมีแหล่งท่องเที่ยวแบบชิลชิลแล้ว เกาะหมากยังมีจุดท่องเที่ยวสไตล์ผจญภัยเล็กๆ Soft Adventure ด้วยล่ะ แอบกระซิบดังๆ เลยว่า อยู่ตรง “เขาแผนที่” (ชาวบ้านเรียก เขาบ้านแหลม) แม้ทางเดินขึ้นจะค่อนข้างชัน แต่ระยะทางไม่ไกล เดินไม่เกิน 1 ชั่วโมง ถึงยอดเขาแล้วครับเกาะหมาก 39

บนเขาแผนที่ ส่วนหนึ่งปกคลุมด้วยป่าดิบแล้ง (Dry Evergreen Forest) เต็มไปด้วยต้นพ้อเขา ซึ่งเป็นปาล์มชนิดหนึ่ง มีใบแตกเป็นแฉกกลมคล้ายพัด สวยงามมาก ให้บรรยากาศแปลกดีแฮะ
เกาะหมาก 40

ใบของต้นพ้อเขา (กะพ้อเขา) ที่พบระหว่างทางเดินขึ้นเขาแผนที่เกาะหมาก 41

เดินขึ้นเขาแผนที่มาครึ่งทาง ก็พบกับหน้าผาชมวิวจุดแรก ว้าว! โล่ง กว้าง มองได้ไกลสุดสายตา เห็นเกาะระยั้งใน และเกาะระยั้งนอก ด้วยนะ ตรงนี้มีลักษณะเป็นหน้าผาหินโล่งๆ ตอนกลางวันร้อนฉ่าเลยทีเดียวล่ะ 55555เกาะหมาก 42

เมื่อขึ้นไปถึงยอดเขาแผนที่แล้ว แนวป่ารกก็หายไป กลายเป็นลานหินกับไม้พุ่มค่อนข้างโล่ง เหมาะเป็นจุดชมสุดยอดพระอาทิตย์ตก เพราะเขาแผนที่คือยอดเขาสูงสุดบนเกาะหมากนั่นเองจ้าเกาะหมาก 43

หนึ่งมุม Unseen บนเกาะหมาก ณ แหลมดุ่น (แหลมกะดุ่น)เกาะหมาก 44

หาดหินแดงแหลมดุ่นเกาะหมาก 45

หาดหินแดงแหลมดุ่น มีมุมให้ไปสำรวจผจญภัยเพียบ!
เกาะหมาก 46

หาดหินแดงแหลมดุ่น
เกาะหมาก 47

บรรยากาศแสนโรแมนติก ยามอัสดงที่แหลมดุ่นเกาะหมาก 48

เวลาแห่งความสุขมีให้แบ่งปันกันไม่รู้จบ ณ แหลมดุ่น
เกาะหมาก 49

หน้าร้อนนี้ ถ้ายังคิดไม่ออก ไม่รู้จะไปพักผ่อนนอนเล่นหลบร้อนที่ไหน “เกาะหมาก” อาจเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ช่วยเติมเต็มพลังชีวิตของคุณให้เต็มเปี่ยม สุขล้น ไปกับธรรมชาติและความสงบของทะเลตะวันออก ที่งามราวต้องมนต์เลยล่ะ

https://goo.gl/GeqdbB

#LowcarbonAtkohmak #CastawayAtkohmak #ติดเกาะโลว์คาร์บอน