เที่ยวนครพนมริมโขง เชื่อมโยงวัฒนธรรมเพื่อนบ้าน (ตอน 2)

52

หลังจากเราได้เที่ยวชมเส้นทางท่องเที่ยวริมโขง ของอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนมกันไปในวันแรกแล้ว (เรื่องตอนที่ 1) ทริปเส้นทางท่องเที่ยวแม่น้ำโขง เชื่อมโยงวัฒนธรรมประเทศเพื่อนบ้าน ไทย-ลาว ระหว่างวันที่ 19-21 มีนาคม 2558 ก็ยังดำเนินต่อไปอย่างสนุกสนาน เต็มอิ่มกับจุดหมายทางด้านศาสนา วัฒนธรรม ผสานกับความเชื่อความศรัทธาเกี่ยวกับตำนาน “พญานาค” ที่ชาวนครพนมเคารพกันมาหลายชั่วอายุคน

54

หลังจากตะวันขึ้นริมโขง มองเห็นได้ชัดเจนจากฝั่งไทยไปทางฝั่งเมืองท่าแขก แขวงคำม่วนของลาว อากาศตอนเช้าๆ อย่างนี้เย็นสบายมาก เหมาะสำหรับการตื่นเช้ามาตักบาตรริมโขง โดยธรรมเนียมของชาวอีสานแล้ว เป็นการตักบาตรข้าวเหนียว คือการตักบาตรเฉพาะการใส่ข้าวเหนียวเท่านั้น ส่วนกับข้าวจะนำไปถวายวัดทีหลัง เรียกว่า จังหัน แต่ด้วยวิถีชีวิตของคนปัจจุบันที่เปลี่ยนไป ต้องรีบไปทำงาน ไม่มีเวลาไปถวายจังหันที่วัด ก็สามารถถวายกับข้าวและปัจจัยได้เลย ไม่ถือว่าผิดอะไร

55 56 57

จุดที่นักท่องเที่ยวนิยมไปตักบาตรยามเช้ากันตรงริมโขง ก็คือบริเวณหน้า “วัดมหาธาตุ” อันเป็นที่ตั้งของ “พระธาตุนคร” ซึ่งเป็นองค์พระธาตุประจำคนเกิดวันเสาร์ กราบขอพระองค์พระธาตุแล้ว ถ้ามีโอกาส อย่าลืมถวายผ้าห่มองค์พระธาตุด้วย ชีวิตจะได้ร่มเย็น มีสิ่งปกปักษ์รักษาตัวเรา หรือใครจะเข้าไปฟังเทศน์ฟังธรรม ถวายสังฆทานร่วมด้วยก็ได้ สมแล้วที่ นครพนมเป็นจังหวัดที่มีพระธาตุประจำวันเกิด ครบ 7 วัน และเป็นเมืองพุทธริมโขงที่เนิบช้า สงบร่มเย็นจริงๆ

58 59.1 59

ในทริปนี้ ท่านบัวมิน จ้วงลาสี หัวหน้าห้องการพัวพันต่างประเทศ แขวงคำม่วน ประเทศลาว ได้ให้เกียรติอย่างสูง มาร่วมสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงวัฒนธรรมสองฝั่งโขงกับเราด้วย โดยท่านได้เป็นประธานถวายปัจจัยสังฆทาน ณ วัดมหาธาตุ

61

หลังจากอาหารเช้าแสนอร่อย ก็ได้เวลาสำคัญ ร่วมกันล่องเรือชมแม่น้ำโขง พร้อมกับประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์ บูชาพญานาคกลางลำน้ำโขง โดยพวกเราได้ล่องเรือแม่โขงพาราไดซ์ เป็นเรือสำราญทันสมัย โอ่โถง บริการนักท่องเที่ยวเพียงลำเดียวในขณะนี้ เราจะล่องเรือจากหน้าเมืองนครพนม ลอดใต้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว 3 จนไปถึงหน้าวัดพระพุทธบาทเวินปลา แล้วประกอบพิธีบูชาพญานาคกัน ณ จุดนั้น

62

 บายศรีพญานาค พร้อมด้วยพานพุ่มหมากเบ็งแบบอีสาน จากฝีมือกลุ่มแม่บ้านดอนนางหงส์ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ได้รับการนำมาจัดวางอย่างสวยงามไว้เรียบร้อยแล้วบนดาดฟ้าเรือสำราญ แม่โขงพาราไดซ์

6364

 ท่านผู้ช่วยผู้อำนวยการการท่องเที่ยว สำนักงานนครพนม สกลนคร มุกดาหาร พี่สาวคนสวยของเรา ก็มาร่วมล่องเรือด้วย สังเกตหน้าตาอิ่มเอิบมีความสุข เพราะวันนี้เราจะมาประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์เพื่อมงคลชีวิตร่วมกัน

65

สาวน้อยนักท่องเที่ยวที่ร่วมทริปไปด้วย กำลัง Happy กับการนั่งชิล ชมวิวสวยๆ กลางแม่น้ำโขง อย่างนี้ก็ต้องแช๊ะ ชักภาพไปแชร์กันต่อให้เยอะๆ แล้วล่ะ

66

ภาพอันคุ้นตา วิถีชีวิตความผูกพันของคนกับแม่น้ำโขง แม้ว่าทุกวันนี้ปลาในลำน้ำโขงจะลดปริมาณลงมาก ทว่าก็ยังมีเหลือให้ชาวประมงพื้นบ้านจับกินจับขาย เลี้ยงปากท้องและครอบครัวได้ ส่วนฝั่งแผ่นดินที่เห็น คือเมืองท่าแขก แขวงคำม่วนของลาว ซึ่งยังไม่มีตึกสูง จึงยังแลร่มเย็นด้วยแนวต้นไม้เขียวสดชื่นสะอาดตา

67

เริ่มล่องเรือออกจากหน้าเมืองนครพนม ผ่านตลาดอินโดจีน และท่าเรือด่านศุลกากร ของเรือข้ามฟากไทย-ลาว

68.1

Landmark และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญริมโขงนครพนมแห่งหนึ่งก็คือ “วัดนักบุญอันนา หนองแสง” ซึ่งเป็นโบสถ์ของพี่น้องชาวคริสเตียนเชื่อสายไทย-ญวน (เวียดนาม) ที่อพยพหนีภัยสงครามเข้ามาตั้งรกรากอยู่ในนครพนมกันนานแล้ว ตอนเย็นๆ เวลาล่องเรือเที่ยว จะเห็นโบสถ์ที่มีหอคอยแหลมคู่ เปิดไฟสวยงาม เคียงคู่กับท้องฟ้าเปล่งแสงสียามอัสดง บรรยาากศคลาสสิกมากๆ

69

ท่านพราหมณ์เร่ิมประกอบพิธีบูชาพญานาคกลางลำน้ำโขง ตามความเชื่อและธรรมเนียมของชาวนครพนม ที่เชื่อถือ ศรัทธากันมาหลายชั่วอายุคน บรรยากาศของพิธีเต็มไปด้วยกลิ่นอายความศักดิ์สิทธิ์

7071.1

เมื่อพิธีของพ่อพราหมณ์จบลง ผู้ที่เข้าร่วมพิธีทุกคนก็ได้มีโอกาสอธิษฐาน บูชาองค์พญานาคแห่งลำโขง ด้วยการโปรยข้าวตอกดอกไม้ลงสู่แม่น้ำใหญ่สายนี้

7172

เรือแม่โขงพาราไดซ์ค่อยๆ แล่นลอดผ่านใต้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว 3 ซึ่งเปิดไปแล้วอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 11 เดือน 11 ปี 2011 ในเวลา 11.11 น. เชื่อมโยงการท่องเที่ยว การค้า การลงทุน ของอนุภูมิภาคอินโดจีนเข้าด้วยกัน ทำรายได้ให้ไทยในปี 2014 ไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท! ตรงตามคำทำนายของนครพนมในอดีต ว่าเมื่อถึงยุคหนึ่ง ในลำน้ำโขงนครพนมจะมีก้อนหินใหญ่ลอยผุดขึ้นเหนือน้ำ เมื่อมาตีความกันในปัจจุบัน ก็น่าจะเป็นสะพานแห่งนี้นี่เอง

737475

เรือของเราไม่สามารถแล่นไปจนถึงหน้าวัดพระพุทธบาทเวินปลาได้ตามแผน เพราะฤดูนี้ลำน้ำโขงลดระดับต่ำเกินไป อาจติดแก่งหินได้ เราจึงประกอบพิธีลอยบายศรีบูชาพญานาคกัน เมื่อเรือลอดผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว 3 ไปแล้ว

7778

ล่องเรือชมบรรยากาศในลำน้ำโขงกันมากว่า 3 ชั่วโมง ก็ได้เวลาขึ้นมาหม่ำอาหารเที่ยงอร่อยๆ แล้วนั่งรถต่อไปสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ แถบ “เมืองโบราณริมโขง บ้านหนองจันทน์” ตำบลท่าค้อ อำเภอเมืองนครพนม ซึ่งริมลำน้ำโขงในบริเวณนี้ แท้จริงในอดีตคือส่วนเสี้ยวหนึ่งของอาณาจักรศรีโคตรบูร ที่กินอาณาเขตทั้งสองฝั่งโขงปัจจุบัน ทุกวันนี้มีการสำรวจพบซากโบราณสถานเก่าแก่ โดยเฉพาะวัด สิม (โบสถ์) ซากเจดีย์น้อยใหญ่ และวัตถุโบราณที่อยู่ใต้ดินในที่ทำกินของชาวบ้านนับไม่ถ้วน ซึ่งกรมศิลปากรณ์ได้มาทำการสำรวจไว้หมดแล้ว ทว่ายังไม่ได้บูรณะอย่างจริงจัง ในอนาคตอันใกล้นี้ จังหวัดนครพนมจะพัฒนาแหล่งประวัติศาสตร์โบราณคดีบ้านหนองจันทน์ ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ คงไม่นานเกินรอครับ

79

ภายในพระอุโบสถวัดหนองจันทน์ ซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างจากริมโขงมากนัก มีพระพุทธรูปโบราณสมัยอาณาจักรศรีโคตรบูร อยู่เป็นจำนวนมาก สังเกตให้ดีจะเห็นร่องรอยอดีตความขลัง ของศิลปะล้านช้างลาว โดยเฉพาะพระพักตร์พระพุทธรูป ที่ต่างจากยุครัตนโกสินทร์ของสยาม (องค์สีทองที่อยู่ข้างๆ) อย่างชัดเจน

80

ภายในวัดหนองจันทน์ มีบ่อน้ำโบราณอายุหลายร้อยปี ลึกหลายสิบเมตร ก้นบ่อยังมีน้ำผุดขึ้นมา ไม่เคยเหือดแห้ง โดยขอบบ่อนี้มีการเรียงอิฐซ้อนกันลงไปตามผนัง เพื่อเสริมความแข็งแรงไม่ให้พังถล่ม เป็นอิฐสมัยเก่าของจริง

81

จากหน้าวัดหนองจันทน์ ในอดีตแม่น้ำโขงเคยกินอาณาเขตเข้ามาถึงตรงนี้ ทว่าปัจจุบันตะกอนได้สะสมกัน จนเกิดเป็นแผ่นดินใหม่งอกออกไปกว้างเกือบกิโลเมตร เป็นดินอุดมสมบูรณ์ที่ชาวบ้านมาปลูกพืชไร่และยาสูบกัน พ้นจุดนี้ไปก็คือแม่น้ำโขง และฝั่งตรงข้ามที่เห็นคือประเทศลาว (เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน) อันเป็นที่ตั้งของ “พระธาตุศรีโคครบอง” ซึ่งประชาชนสองฟากฝั่งเคารพศรัทธา คู่กับองค์พระธาตุพนม และพระธาตุริมโขงอีกหลายองค์

82

ความ Unseen อย่างหนึ่งภายในวัดหนองจันทน์คือ จอมปลวกรูปพญานาค เราไม่เคยเห็นจอมปลกรูปทรงพิสดารแบบนี้ที่ไหนมาก่อนเลย!!!

83

ออกเดินทางต่อไป จนถึง “พระธาตุมรุกขนคร” อดีตที่ตั้งเมืองศรีโคตรบูรโบราณ ก่อนย้ายมาอยู่ที่ตัวอำเภอเมืองนครพนมในปัจจุบัน พระธาตุองค์นี้ตั้งอยู่ในอำเภอธาตุพนม ห่างจากตัวเมืองนครพนมประมาณ 40 กิโลเมตร มีลักษณะคล้ายองค์พระธาตุพนมย่อส่วน คือสูงเพียง 50.9 เมตร สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2536 เพื่อฉลองวาระพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชย์ครบ 50 ปี

84

บนหน้าบันพระอุโบสถวัดพระธาตุมรุกขนคร มีรูปปั้นครุฑ ที่ว่ากันว่าสวยงามที่สุดองค์หนึ่งในเมืองไทย ด้วยท่วงท่าลีลาอันสง่างาม มีพลัง มีอำนาจ มีความแข็งแกร่ง ราวกับมีชีวิตจริง โดยเฉพาะดวงตาของครุฑองค์นี้ ไม่ว่าเราจะเดินไปในทิศทางใด ก็จะรู้สึกราวกับว่าดวงตาท่านจะมองตามเราไปในทุกที่ได้อย่างอัศจรรย์!

85

กลุ่มแม่บ้าน บ้านดอนนางหงส์ เป็นกลุ่มที่มีฝีมือด้านการทำบายศรีพานพุ่ม (หมากเบ็ง) เอาไว้บูชาพระและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของชาวอีสาน แม่บ้านได้มาให้ความรู้กับนักท่องเที่ยว ทดลองทำหมากเบ็งอันเล็กๆ ด้วยตนเอง เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่นน่ารัก น่าสืบสานต่อไปไม่ให้สูญหาย

8687.1

ออกจากพระธาตุมรุกขนครแล้ว เรายังเดินทางต่อไปที่ “หมู่บ้านวัฒนธรรมไทกวน” บ้านนาถ่อนทุ่ง อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม โดยชาวไทกวนถือเป็น 1 ใน 8 เผ่า ของนครพนม เป็นชุมชนโบราณผู้ทำหน้าที่ดูแลปกป้ององค์พระธาตุพนม จึงมีภูมิปัญญาด้านการตีดาบ สืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน กลายเป็นอาชีพหลักอย่างหนึ่งของหมู่บ้าน มีออร์เดอร์ตีดาบตีมีดสั่งมาจากทั่วประเทศ ทว่าทุกวันนี้เหลืออยู่แค่ไม่เกินสองสามบ้านแล้ว ที่ยังคงตีดาบด้วยมือและเตาแบบโบราณจริงๆ เพราะวิธีนี้แม้จะได้มีดดาบคุณภาพดีเยี่ยมกว่า แต่ก็กินเวลา และแรงกำลังมาก จนไม่ทันกับใบสั่งซื้อ

878889

มีดาบ มีดอีโต้ มีดพร้า คุณภาพเยี่ยม จากฝีมือการตีแบบโบราณล้วนๆ เมื่อมาซื้อกันถึงแหล่งถึงที่แบบนี้แล้ว ราคาจึงถูกมาก ถ้าได้ไปเที่ยวก็ช่วยกันอุดหนุนให้กำลังใจชาวบ้านด้วยล่ะ เพื่อเป็นการต่ออายุภูมิปัญญานี้ไม่ให้สูญหาย

90

 ชุดพื้นบ้านแบบดั้งเดิมของชาวไทกวน นครพนม ของสตรีจะใช้สีดำและเหลืองเป็นหลัก โดยมีเครื่องประดับเงินต่างๆ ช่วยเพิ่มความงามล้ำ

9192

สาวน้อยชาวไทกวน มายืนต้อนรับนักท่องเที่ยว และฟ้อนรำสวยๆ ให้เราชมอย่างอ่อนช้อย น่าประทับใจเหลือเกิน

93

94

 ผลิตภัณฑ์งานฝีมือพื้นบ้านแบบ Hamnmade ของชาวไทกวน มีการประยุกต์ใช้วัสดุสมัยใหม่ มา Re-Design จนกลายเป็นกระเป๋าที่ผสมกลมกลืนระหว่างความ Modern และลวดลายเฉพาะตัว ได้งามจริงๆ ราคาก็ไม่แพงนะ

95

เย็นวันนั้น เรากลับเข้าตัวเมืองนครพนม เพื่อชิม ต้มเส้น อาหารอิทธิพลเวียดนาม ที่เข้ามาผสมกลมกลืนกับอาหารพื้นถิ่นนครพนม เมนูมีให้เลือกหลากหลาย ทั้งโจ๊ก, ข้าวต้ม, ต้มเส้นหมูยอ ฯลฯ เส้นเหนียวนุ่ม น้ำซุปอร่อยหอมขึ้นจมูก แนะนำร้านอาหารข้าวต้มเส้น 99 (โทร.  0-4251-4585)

96

เช้าวันสุดท้าย ของทริปสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวแม่น้ำโขง เชื่อมโยงวัฒนธรรมเพื่อนบ้านสองแผ่นดิน เราได้เข้าไปกราบสักการะองค์พระธาตุที่ว่ากันว่า สำคัญและศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในภาคอีสาน คือ “พระธาตุพนม” อันเป็นพระธาตุประจำวันเกิดคนวันอาทิตย์ โดยประวัติเล่าว่า สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 8 ในยุคที่อาณาจักรศรีโคตรบูรกำลังรุ่งเรืองสุดขีด เป็นพระธาตุที่ใช้ประดิษฐาน พระอุรังขธาตุ หรือกระดูกส่วนพระอุระ (ส่วนอก) ของพระพุทธเจ้า หากแม้นได้มากราบเพียงครั้งเดียวก็เป็นมงคลยิ่งแล้ว แต่ใครได้มากราบครบ 7 ครั้ง ก็จะถือว่าเป็นลูกพระธาตุอย่างแท้จริง

979899100

Special Thanks : จังหวัดนครพนม โดยสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จังหวัดนครพนม สนับสนุนการเดินทางเป็นอย่างดียิ่ง

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *