ดูเหยี่ยวอพยพ ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร

มีคนเคยบอกว่า ธรรมชาติคือครูที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เราสามารถเรียนรู้บทเรียนอันมีค่ามากมายจากธรรมชาติ ทั้งในด้านสว่างและด้านมืด แม้แต่พระพุทธองค์เองก็ยังทรงเรียนรู้สัจธรรมความจริงจากธรรมชาติ แล้วนำมาประกาศ เพื่อให้ปุถุชนที่ยังไม่ได้ละวางทางโลกสามารถใช้ชีวิตอย่างเป็นสุข สำหรับตัวผมเอง เป็นคนที่นิยมเรียนรู้ชีวิตและโลกกว้างจากการท่องไปในธรรมชาติ หลายครั้งได้เห็นแง่มุมสุดจะงดงาม ซึ่งผู้คนทั่วไปมิอาจเข้าไปพานพบ และบางครั้งก็พบกับความโหดร้ายที่ธรรมชาตินำเราเข้าไปเผชิญ แต่ก็นั่นล่ะ ทั้งหมดคือ “บทเรียนชีวิต” ที่ครูธรรมชาติสอนให้เราเข้าใจโลกและชีวิตมากขึ้น

_DSC0445

ทุกปีในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม บริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร จะเกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติอันน่าชม ของการอพยพครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดรูปแบบหนึ่งในเมืองไทยเรา คือเหยี่ยวสิบๆ ชนิดจากซีกโลกเหนือแถบมองโกเลียและไซบีเรีย นับแสนๆตัว! จะพากันบินอพยพลงสู่ซีกโลกใต้ เพื่อหนีความหนาวเย็นลงมาหากิน โดยบินผ่านเหนือผืนดินของทวีปเอเชียลงสู่หมู่เกาะอินโดนีเซีย และมีบางกลุ่มที่บินเหินฟ้ายาวไกลไปถึงออสเตรเลียเลยก็มี พวกมันอาศัยความทรงจำจากเหยี่ยวรุ่นบรรพบุรุษ ที่ฝังอยู่ในส่วนลึกสุดของยีนส์และเซลล์สมอง บวกกับสัญชาติญาณดิบและแรงแม่เหล็กโลกที่จับได้ บินจากเหนือลงใต้โดยไม่ผิดพลาดผิดเพี้ยน บินมาพร้อมกันทั้งเหยี่ยวตัวผู้ ตัวเมีย และตัวเด็กๆ สู่ดินแดนที่ไม่รู้จัก ดำเนินเป็นจังหวะแห่งธรรมชาติเช่นนี้มั่นคงมานับร้อยนับพันชั่วรุ่น สืบสานเผ่าพงษ์เหยี่ยวให้อยู่คู่โลกต่อไป

7

9

 ก่อนไปดูเหยี่ยวอพยพในช่วงเวลาดังกล่าว เราลองมาทำความรู้จักกับนกชนิดนี้กันนิดหน่อยก่อนดีกว่า “เหยี่ยว” (ในภาษาอังกฤษใช้หลายคำด้วยกัน เช่น Falcon, Hawk, Kite, Kestrel แล้วแต่ขนาดและลักษณะ) พวกมันเป็นนกนักล่าที่ปราดเปรียวที่สุดบนฟากฟ้า ธรรมชาติได้มอบเครื่องมือสำหรับการล่าไว้ให้พวกมันครบ ทั้งสายตาที่มองได้กว้างไกล ขนาดไกลเป็นกิโลเมตรยังเห็นได้! แถมยังมีกรงเล็บแหลมคมไว้จับเหยื่อ นอกจากนี้ยังมีจงอยปากงองุ้มใช้จิก คาบ และฉีกเหยื่อได้อย่างง่ายดาย รวมทั้งยังมีเรียวปีกแผ่กว้าง บินได้ไกล บินได้สูง บินแบบฉลัดเฉวียนราวนักกายกรรมก็ได้ และสุดท้ายคือมีกรงเล็บอันทรงพลัง ใช้จับเหยื่อได้มั่นคง ไม่มีโอกาสหนีรอดเลย! นี่ล่ะครับนักล่าที่ชื่อเหยี่ยว ซึ่งในเมืองไทยของเรามีอยู่เกือบ 60 ชนิดเลยทีเดียว ทั้งเหยี่ยวขนาดใหญ่และเหยี่ยวขนาดเล็ก ลืมบอกไปว่าอาหารโปรดของพวกมันคือหนู งู กิ้งก่า และนกขนาดเล็ก เรียกว่าเป็นสัตว์ที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร ช่วยควบคุมประชากรสัตว์เล็กให้สมดุล ถ้าวันใดเหยี่ยวลดจำนวนหรือหมดไป ก็จะเกิดผลกระทบทางธรรมชาติเป็นลูกโซ่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

8

ปกติในเมืองไทยเรามีเหยี่ยวที่อยู่ประจำถิ่นตลอดปีหลายชนิดด้วยกัน พบเห็นได้ไม่ยากอย่างเหยี่ยวแดง, เหยี่ยวรุ้ง นกออก เหยี่ยวนกเขาหงอน เหยี่ยวนกเขาชิครา เหยี่ยวผึ้ง เหยี่ยวนกกระจอกเล็ก และเหยี่ยวปีกแดง เป็นต้น เหยี่ยวบางพวกชอบอยู่โดดเดี่ยว ออกล่าตัวเดียว แต่บางพวกก็ชอบรวมฝูงเป็นร้อยตัว นักดูนกบอกว่าการจำแนกชนิดเหยี่ยวถือว่ายาก (ถ้าไม่ชำนาญจริง) เพราะลวดลายสีสันบนตัวพวกมันคล้ายๆ กัน ต้องอาศัยประสบการณ์จดจำนานหลายปี อีกทั้งต้องมีอุปกรณ์พวกกล้องส่องทางไกลคุณภาพดีช่วยอีกแรงหนึ่ง ส่วนเครื่องแต่งกายก็ควรเป็นสีพราง อย่างสีเขียวเข้ม น้ำตาล หรือเทาเข้มๆ ให้ตัวเรากลืนไปกับธรรมชาติ

12

การเริ่มต้นดูเหยี่ยวทั้งประจำถิ่นและอพยพ อย่างแรกคงต้องทำการบ้านสักนิดว่าพวกมันอยู่ที่ไหน? จะพบเห็นได้บ่อยที่สุดในเดือนอะไร? ส่วนช่วงเวลาที่เหมาะในการเฝ้าดูคือตอนเช้าและสาย ประมาณ 08.00-10.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แดดยังไม่ร้อนจัด เหยี่ยวจะบินค่อนข้างต่ำ ไม่ห่างพื้นมาก แต่พอเร่ิมใกล้เที่ยงไปถึงบ่ายแก่ๆ ราวๆ 11.00-16.00 น. แดดที่ร้อนจัดจะทำให้เกิดมวลอากาศร้อนลอยตัวขึ้นสูง ลักษณะเป็นวงกลม เหยี่ยวจึงใช้มวลอากาศนี้ช่วยประหยัดแรงไม่ต้องกระพือปีกมาก ลอยตัวขึ้นพร้อมอากาศร้อน บางครั้งในระดับสูงลิบหลายกิโลเมตรจากพื้นดิน การเฝ้าสังเกตพวกมันจึงทำได้ยาก ยกเว้นช่วงฤดูอพยพผ่าน ที่จะมาพร้อมกันนับพันๆ ตัว และมักบินผ่านยอดเขาต่างๆ ให้เห็นแบบไม่อายกันเลยครับ

13

 บนเขาเรดาห์ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อันเป็นเขตรอยต่อกับจังหวัดชุมพร ผมและเพื่อนๆ ขับรถขนอุปกรณ์ถ่ายภาพนกขึ้นไปดักรอเก็บภาพฝูงเหยี่ยวอพยพครั้งยิ่งใหญ่ ทว่าโชคร้าย วันแรกที่ไปถึงฝนถล่มหนักราวพายุ ทำให้เราต้องถอนทัพลงมาตั้งหลักใหม่ วันที่สองฟ้าเร่ิมเป็นใจ พวกเราจึงได้ทีรีบขึ้นไปเฝ้ารอพวกมันแต่เช้า นอกจากพวกเรายังมีกลุ่มชาวบ้าน นักดูนกมืออาชีพ มือสมัครเล่น นักท่องเที่ยว และนักเรียนนักศึกษาอีกเป็นร้อยคน บางคนมีแค่กล้องอันเล็กๆ ผิดกับบางคน (รวมทั้งพวกเรา) ที่มีกล้องและเลนส์อันยาวเท่าแขนไว้เก็บภาพนกโดยเฉพาะ จึงเกิดความเหลื่อมล้ำในการมองเห็นอย่างชัดเจน ไม่นานนักเหยี่ยวฝูงแล้วฝูงเล่าก็ปรากฏตัวออกจากกลุ่มเมฆบนท้องฟ้า โดยใช้มวลอากาศร้อนพาพวกมันโผผินไป กลุ่มละเป็นร้อยๆตัว ทว่าพวกมันบินสูงอยู่เหนือยอดเขาเรดาห์ขึ้นไปบนท้องฟ้าหลายกิโลเมตร ภาพที่ได้จึงเล็กจิ๋ว

14

10

15

11

หนึ่งสัปดาห์ผ่านไป พวกผมเปลี่ยนโลเกชั่นดูนกเหยี่ยวไปยังเขาดินสอในจังหวัดชุมพร ซึ่งจุดนี้มีความยากลำบากกว่าเขาเรดาห์ที่ประจวบฯ เพราะรถขึ้นไม่ถึงยอด เราจำเป็นต้องพาตัวเอง แบกอุปกรณ์ถ่ายภาพหนักอึ้งนับสิบกิโลกรัมเดินขึ้นเขาไปเป็นระยะทาง 1.5 กิโลเมตร ยอมรับว่าเหนื่อย หนัก แต่ก็มีความสุข เพราะนี่คือชีวิตอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งเราเลือกแล้ว และโชคดีที่เพื่อนๆ ใจดีช่วยแบกอุปกรณ์ให้ด้วย บนยอดเขาเราพบนักดูนกหลายสิบคน บ้างมาจากมาเลเซีย สิงคโปร์ และแถบยุโรป ได้พบเพื่อนใหม่ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน และแล้วธรรมชาติก็ให้รางวัลแก่เรา มีเหยี่ยวนับร้อยตัวบินโฉบผ่านไปในระยะที่สามารถเก็บภาพได้ไม่ยาก ภาพยุงที่เคยเห็นที่เขาเรดาห์ในจังหวัดประจวบฯ บัดนี้ปรากฏเด่นชัดในช่องมองภาพของกล้องและเลนส์ คือภาพเหยี่ยวอพยพแผ่ปีกร่อนลมแสนสง่างาม บางตัวบินฉวัดเฉวียนอย่างเสรี เริงร่า บ้างก็มีการเกี้ยวพาราศรี และบ้างก็ทะเลาะเบาะแว้งกัน ไม่ต่างจากสังคมมนุษย์เลยสักนิดเดียว

4

5

6

ธรรมชาติสอนให้เรารู้จักรอคอยจังหวะอันเหมาะเจาะ รอคอยด้วยความเข้าใจและอดทน เพื่อให้ได้พานพบสิ่งที่ดีที่สุด ณ สถานที่และห้วงเวลาอันดีที่สุด ตราบใดที่เราไม่ละความพยายาม ตราบนั้นรางวัลชีวิตคงอยู่ไม่ไกล จงอย่ายอมแพ้เหมือนเหยี่ยวเหล่านี้ จงสู้ และบินฝ่าระยะทางยาวไกลแห่งชีวิต มิฉะนั้นคุณก็จะเป็นผู้แพ้ และไม่มีสิทธิ์ได้โผบินอีกเลย!

3

1841

ขอขอบคุณ บริษัท Nikon Sales (Thailand) Co., Ltd. สนับสนุนเลน์ 500 มิลลิเมตร f4 Nan0 สุดยอดเลนส์ระดับมืออาชีพ เพื่อการบันทึกภาพนกโดยเฉพาะ

สนใจติดต่อ โทร. 0-2633-5100 / แฟ็กซ์ 0-2633-5191 (Office) / 0-2633-5192 (Service) www.nikon.co.th

Bird Watching Guide :

เขาดินสอ จังหวัดชุมพร จากตัวเมืองชุมพร-อำเภอปะทิว ใช้ทางหลวงหมายเลข 3180 ประมาณ 20 กิโลเมตร ผ่านหมู่บ้านสะพลีถึงสี่แยกต้นมะขาม เลี้ยวขวาไปผ่านอ่าวบางสน แล้วจะมีซอยแยกซ้ายขึ้นเขาดินสอได้เลย สอบถามเพิ่มเติมที่ ททท. สำนักงานชุมพร-ระนอง โทร. 0-7750-1831-2 , 0-7750-2775-6

เขาเรดาห์ ตำบลบ้านไชยราช อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ช่วงรอยต่อประจวบฯ-ชุมพร ถ้ามาจากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ก่อนถึงศูนย์บริการทางหลวงเขาโพธิ์ จะเห็นซอยเลี้ยวซ้ายเข้าเขาเรดาห์ สนใจติดต่อ อบต. ไชยราช โทร. 0-3269-4619 และ ททท. ประจวบคีรีขันธ์ โทร. 0-3251-3885, 0-3251-3871, 0-3251-3854

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *